วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/9




พระอาจารย์

1/9 (25530310B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

10 มีนาคม 2553




พระอาจารย์ –  ก็อธิบายให้ฟังง่ายๆ อีกที เรื่องของ...อัตตา กับ สักกาย(สักกายะ)  

ลักษณะของอัตตาคือ...ครั้งแรกที่เราเจอน่ะ หรือว่ารับผัสสะแรก แล้วจิตมันมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรก  ตรงนั้นน่ะ เป็นลักษณะที่มันเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่เจตนา นั่นเป็นจิตที่เกิดมาในอาการที่ควบคุมไม่ได้ เป็นธรรมชาติของมันจริงๆ ...ตรงนั้นน่ะเป็นอัตตา กิเลสตัวตนที่แท้จริง

แต่ว่าถ้าไม่รู้ทันหรือเห็นลักษณะตรงนั้น ปุ๊บ มันจะมีอาการปรุงต่อทันที ปรุงต่อไป แล้วก็ให้ความเห็นต่อไป  ...ตรงนั้นน่ะความเป็นเราจะเกิดขึ้นมา แทรกแซงขึ้นมา ให้ค่าเกิดการให้ค่าตามอารมณ์นั้นๆ  ดีมั่ง-ไม่ดีมั่ง ต้องทำยังงี้ ต้องเข้าไปบอกต้องเข้าไปจัดการอะไร ใช่-ไม่ใช่ ...มันจะเริ่มมีการเข้าไปประกอบกระทำตามมา...ด้วยความเป็นเรา

แต่ว่าถ้ารู้ทันขณะแรกบ่อยๆ  ไอ้ที่ต่อหลังมานี่มันจะเริ่มมีความหมายน้อยลง มันจะเริ่มให้ความหมายหรือให้ความสำคัญในการปรุงแต่งต่อมานี่น้อยลง ...เพราะในขณะที่รู้ขณะแรกน่ะ พอรู้ปั๊บ เห็นอารมณ์แรก ขณะแรกที่เห็นปั๊บ มันจะเห็นความดับไปของมันทันทีอยู่แล้วในขณะแรก  แล้วมันจะคลายออกทันทีอยู่แล้ว อารมณ์ในตอนแรกที่รู้นี่

เพราะรู้แรกนี่มันจะเป็นรู้ที่...ถ้าสติรู้ทันรู้แรกนี่มันจะเป็นความรู้ที่เป็นกลางที่สุด  แต่ถ้าไม่รู้ตรงนั้นปุ๊บนี่ มันจะมีความหลงเข้ามาแทรก ความเข้าไปมีเข้าไปเป็นต่อเนื่องก่อเกิดขึ้นมาทันที ...ความเป็นเราก็ก่อเกิด


โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ โยมก็งงๆ เหมือนกัน  อย่างเวลาฆ่ามดฆ่าเห็บฆ่าหมัดฆ่าอะไรที่มันอยู่ในบ้านเราอย่างนี้น่ะค่ะ  เราจะวางใจอย่างไร หรือว่าเราก็ไม่ทำอะไรแล้วปล่อยมันเลยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ถ้าทำก็ต้องเสวยวิบากกรรม   


โยม –  อ๋อ ... แล้วหลวงพ่อเจ้าคะ ที่มันมาอยู่กับเรา มันเป็นเพราะวิบากด้วยรึเปล่าเจ้าคะ มันถึงมีมาที่ใกล้ๆ เราแล้วก็มากัดเรา มาอะไรเราอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –   เป็นวิบากของเราน่ะแหละ   


โยม  เป็นวิบากของเราด้วย  

พระอาจารย์ –   อือ ที่เราเคยทำเขาไว้ 


โยม –   อ๋อ...แล้วถ้าเราไปทำต่อ มันก็จะต่อกันไป  

พระอาจารย์ –   ก็คือ ถ้าทำก็มีวิบากกรรม...ก็ต้องยอมรับ ก็แค่ยอมรับ ...ถ้าจะทำก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีอะไร ก็อยู่แค่นั้น 


โยม –  แต่เห็นแบบเขาก็ชอบพูดกันว่า ปล่อยไปมันก็เหมือนเราโง่ ปฏิบัติธรรมแบบโง่ๆ คือปล่อยให้มันมาทำร้ายเราอะไรอย่างนี้ค่ะ   

พระอาจารย์ –   ถ้าทำก็มีวิบาก ก็ต้องยอมรับ ...แต่อย่าไปคิดมาก  


โยม   ถ้าคิดมากมันจะเศร้าหมองอะไรอย่างนี้ใช่ไหมคะ 

พระอาจารย์ –  เวลามันส่งผลก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่มาหลบเลี่ยงลี้หนีหน้า หรือว่ามาแก้เอาตอนนั้น ...เพราะมันก็เป็นผลมาจากการกระทำของเราทั้งหมด


โยม –  หลวงพ่อคะ หลวงพ่อมีวิหารธรรมของตัวเองไหมเจ้าคะ ว่าหลวงพ่อปกติใช้วิหารธรรมยังไงเจ้าคะ  

พระอาจารย์ –  ไม่มี อิสระเป็นอิสระ เป็นเอกภาพ


โยม –  แล้วแต่ก่อนที่หลวงพ่อภาวนา มีมั้ยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  แต่ก่อนน่ะ เราอยู่กับผู้รู้    


โยม  อยู่กับผู้รู้  

พระอาจารย์ –  อือ เป็นวิหารธรรม คือมีสติเป็นเครื่องอยู่  รู้...รู้เป็นเครื่องอยู่ อยู่กับรู้ เป็นปกติอยู่กับรู้ ... แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น


โยม –  ก่อนอยู่กับผู้รู้นั่น ก็ไม่ผิดใช่มั้ยเจ้าคะที่หลวงพ่อทำมา     

พระอาจารย์ –  มันก็เป็นอุบาย แล้วมันก็ค่อยๆ ปล่อยออกไปเรื่อยๆ ปล่อยจนเป็น...สุดท้ายน่ะมันจะเป็นอิสระ คือความเป็นเอกภาพของจิตกับขันธ์น่ะ...มันขาดกันโดยสิ้นเชิง มันจะขาด...คือหมายความว่าขันธ์ก็ดำเนินไป

ความหมายของขันธ์นี่ไม่ใช่แค่รูปขันธ์นะ รวมทั้งนามขันธ์ด้วย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ...ก็ปล่อยเขาเป็นอิสระของเขา ไม่ได้มีการควบคุมบังคับ หรือว่าต้องให้อยู่อย่างนั้น ไม่มีอันนี้ หรือต้องมีเฉพาะตรงนั้น ไม่มีอย่างนี้

เพราะนั้นก็มีครบหมด ความคิด ความปรุง ความรู้สึก อารมณ์ ...มันก็มี แล้วก็ไม่ได้ห้ามอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน  ต่างอันเขาก็อยู่ดำเนินไปตามเหตุปัจจัย จิตก็รับรู้ไปตามธรรมชาติ  ก็รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง...รู้ขันธ์ เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็นอย่างนี้ จึงเรียกว่าต่างคนต่างเป็นอิสระ  

ไม่ใช่เรารู้อะไรแล้วนี่ รู้แล้วไปตัด รู้แล้วไปคุม รู้แล้วไปเพิ่ม อย่างเนี้ย เห็นมั้ย มันจะไม่อิสระ จะเกิดความไม่เป็นอิสระของขันธ์


โยม – ของโยมเนี่ย ทุกวันนี้มันรู้ พอเรารู้แล้วเราก็หยุด พอเราจะทำอะไร แล้วพอเรารู้แล้วมันก็ไม่อยากทำ  พอมันไม่อยากทำแล้วมันยังไงต่อไปเจ้าคะหลวงพ่อ เพราะทำอะไรมันก็มีแต่ความอยาก ไอ้นี้ก็อยาก...มันก็เป็นกิเลส มันก็เลย...  

พระอาจารย์ – ก็แล้วจะให้ทำยังไง     


โยม   (หัวเราะ) ก็ใช้ชีวิตแบบว่า มันก็ไม่มีอะไรทำไปเลยเจ้าค่ะ 

พระอาจารย์ –   อือ ใช้ชีวิตเหมือนไม่มีอะไรทำ ...แล้วมันเป็นไงล่ะ 


โยม –  มันแค่ไม่ชินน่ะค่ะ แต่มันก็ดีนะคะ    

พระอาจารย์ –  อือ   


โยม –  มันก็ไม่เสียหายอะไรนะเจ้าคะ 

พระอาจารย์ –   ก็ใช่น่ะสิ ...ก็แล้วจะไปกังวลอะไรล่ะ 


โยม  มันก็คืออย่างนี้เลยใช่ไหมเจ้าคะ เราก็ตั้งหน้าตั้งตารู้อย่างเดียวไปเรื่อยๆ อย่างนี้ 

พระอาจารย์ –  ก็รู้ไป  ก็แค่นั้นน่ะ  จะเอาอะไรล่ะ...ถามว่าจะเอาอะไร  มันก็แค่นั้น ใช่มั้ย จะไปเอาอะไร ...พอเริ่มจะเอา ก็แค่รู้ พอเริ่มจะเอาก็รู้แล้ว ...แล้วไม่ต้องกลัวมันจะไม่ได้ทำอะไร มันก็ใช้ชีวิตได้อยู่นี่ เข้าใจรึเปล่า มันก็ใช้ชีวิตได้ ใช่มั้ย


โยม –  ค่ะ แล้วหลวงพ่อเจ้าคะ ถ้าสมมุติว่าโยมรู้สึกว่าโยมหลับไม่สนิท โยมตื่นมา โยมจะ...คืออยากจะทำอะไรขึ้นมา คือจะทำสมถะได้มั้ย เพราะรู้สึกว่ามันเหนื่อยเจ้าค่ะ    

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นน่ะ ไม่ต้องไปคิดมันด้วยซ้ำ  


โยม –  ถ้าไม่ต้องงั้นก็... 

พระอาจารย์ –   อือ นอนต่อไปเลย 


โยม   ถ้าโยมจะทำสมถะ อยากจะให้มันมีกำลังจิตขึ้นมา ก็ไม่เป็นไรใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –   อือ  ก็ทำไปก่อน ถ้ายังอยากทำน่ะ ถ้ามันยังละไม่ได้ในความอยากนั้นน่ะ เข้าใจมั้ย  ถ้าเรายังละความอยากนั้นไม่ได้ ก็ทำไป...แล้วก็รู้อยู่  แต่ถ้าละได้...ละ  ละ...โดยที่ว่าไม่ทำตามความอยาก แค่นั้นเอง


โยม –  ทุกอย่างเลยใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ทุกอย่าง ไม่มีเงื่อนไข...ถ้าขึ้นชื่อว่าอยาก พระพุทธเจ้าไม่มีเว้นวรรคให้กับความอยาก   


โยม –  มันเป็นการเหมือนเลี้ยงเชื้อความเคยชินกับความอยากไว้   

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ...พอไม่ทำแล้วรู้สึกว่ามันขาดอะไรไป


โยม   แล้วเราก็ไม่ได้ดูมัน

พระอาจารย์ –   ท่านไม่ให้มันเหลือเชื้อเลยน่ะ ...ไม่ได้ว่า ไม่มีข้ออ้างว่าอันนี้เป็นการทำสมถะ ด้วยความอยากให้จิตมันมีกำลังหรืออะไรก็ตาม  ถ้าขึ้นชื่อว่า...อยากให้มันมีหรืออยากให้มันเป็นนี่ ท่านบอกเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น ...ท่านไม่ละเว้นเลยน่ะ

เรามาละเว้นเอาเอง  ...ครูบาอาจารย์ละเว้นในฐานที่เป็นอุบายให้เท่านั้นเอง แล้วเราไปยึดในการกระทำ ว่า...'ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้' ขึ้นมา


โยม –  คือความจริงมันหลงคิดไปเรื่อยๆ    

พระอาจารย์ –   อือ รู้เมื่อไหร่ก็รู้เมื่อนั้น ห้ามไม่ได้ ... บอกแล้วไง รู้เมื่อไหร่ก็รู้เมื่อนั้น  ถ้ารู้เมื่อไหร่มันก็จะหยุดที่ตรงนั้นน่ะ ...มันห้ามไม่ได้นี่ มันอดไม่ได้ใช่มั้ยในการคิดปรุงแต่ง  แค่รู้...มันก็หยุด แล้วมันก็จะค่อยๆ ทุเลาลง ในการที่ว่าไปหาเหตุหาผล    


โยม –  แต่มันก็ต้องได้เหตุผลก่อน มันถึงจะหยุด   

พระอาจารย์ –  เป็นธรรมดา สันดาน นิสัย...มันเป็นความเคยชินน่ะ ...เพราะว่าการเล่าเรียนมาก็ตาม การปฏิบัติมาก็ตาม เรามักจะต้องรู้ตามเหตุผลก่อน มันต้องมีเหตุมีผลก่อนถึงจะทำอย่างนั้น ...มันเป็นความเคยชินน่ะ

แต่พอบอกว่าไม่ต้องไปหาเหตุหาผล ไปเอาถูกเอาผิดอะไรกับมันนี่ จิตมันจะยอมรับไม่ได้  กลัวโง่มั่ง กลัวไม่เข้าใจมั่ง กลัวไปไม่ได้มั่ง กลัวไม่เกิดปัญญามั่ง ...มันจะมีความพวกนี้ที่มาคอยสะกิดเราอยู่ตลอด จะต้องไปคิดปรุงแต่งหาเหตุหาผลกับมัน

แล้วมันจะค่อยๆ น้อยลงเอง  น้อยลงในแง่ที่ว่าไม่เอาถูกเอาผิด ...คือไม่รู้เอาอะไร รู้แค่เดี๋ยวนี้ รู้อยู่ที่รู้  จริงๆ ท่านให้กลับมารู้ที่รู้นั่นแหละ ถ้ารู้เดี๋ยวนี้ ตรงนี้  เห็นมั้ย ตอนนี้ก็รู้ได้นี่ ใช่มั้ย  รู้ๆๆ รู้อยู่ๆ

มันมีกำลังตรงไหน มันต้องอาศัยกำลังตรงไหนในการที่กลับมารู้อยู่แค่นี้  ...จะเอากำลังมากกว่านี้ไปทำอะไร เอาไปแบกเหรอ เอาไปหามเป็นจับกังรึเปล่า ฮึ นึกว่าจะเอาไปเป็นจับกัง เอาแรง ...ท่านให้รู้แค่นี้ ท่านบอกว่ารู้พอดี รู้ในขณะปัจจุบันนี่ คือความรู้ที่พอดีแล้ว เป็นรู้ที่พอดีแล้ว

ถ้านอกกว่านี้ไปนี่มันเกิน ถ้ามันเกินแล้วมันจะมีผลข้างเคียง มันจะมีอานิสงส์...สุขและทุกข์ตามมา  ถ้าสุขก็หมายความว่าถ้ามันมีกำลังมากแล้วมันจะมีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา  ถ้าเป็นทุกข์ก็คือเวลามันไม่เกิดอาการนั้น หงุดหงิด คิดว่าตก คิดว่าเสื่อม

เห็นมั้ย คือถ้าได้อะไร มันก็ต้องเสียอะไร ใช่รึเปล่า ... ถ้าจะเอาจิตมีกำลัง เวลาไม่มีกำลังก็หมายความว่าจิตไม่ดี จิตเสียแล้ว  จิตมีกำลังก็ว่าเป็นสุข พอจิตไม่มีกำลังก็ว่าเป็นทุกข์ เห็นมั้ย

ไม่ว่าจะได้อะไร  ...มันจะต้องเป็นธรรมที่มีคู่อยู่ตลอด  คือได้สุขมา เดี๋ยวก็ต้องเป็นทุกข์เกิดขึ้นแล้วเวลาไม่ได้ ...เพราะไม่มีอะไรคงอยู่  เข้าใจมั้ย

กับการที่มันมีอยู่แล้ว ...เท่าที่มี เท่าที่เป็น นี่คือความพอดี  รู้พอดีๆ รู้ที่เป็นธรรมดา ปกติ เข้าใจมั้ย  รู้จักคำว่ายินดีพอใจในสิ่งที่มีและเป็นมั้ย  ไม่ใช่โลภมาก ...พอบอกโลภมากมันก็อ้างนู่นอ้างนี่ ว่าได้ยินมาว่าต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้  จิตถ้าไม่ได้อย่างนั้น ถ้าไม่ได้อย่างนี้ก่อน จะไม่ไปไหน จะไปไม่รอด หรือว่าไปไม่ไกล เห็นมั้ย

แต่จริงๆ น่ะ ความหมายของธรรม คือความหมายเดียวกับธรรมดา คือความหมายเดียวกับธรรมชาติ เข้าใจมั้ย เป็นปกติ  เนี่ย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำรงอยู่นี่ธรรมชาติทั้งหมด ต้นไม้ลมฟ้าอากาศ เขาดำรงอยู่โดยความเป็นปกติใช่รึเปล่า มีใครไปทำอะไร ไปเพิ่มไปลดให้เขามั้ย ไปทำให้เขามากขึ้นหรือน้อยลงมั้ย เนี่ย คือเขามี เขาเป็นอยู่แล้วตามธรรมชาติด้วยความเป็นปกติ ดำเนินไปด้วยความเป็นปกติ

เพราะนั้นสตินี่ต้องให้กลับมาดำเนินไปให้เป็นปกติ ...แต่เราไม่ชอบความเป็นปกติแค่นั้นเอง นี่คือปัญหา...ปัญหาอยู่ตรงนี้  เพราะเข้าใจว่าปกตินี่มันไม่ได้อะไร น้อยไป ...มันมักจะตำหนิว่าไอ้ตรงนี้น้อยไป มันไม่น่าจะมีปัญญาได้ มันไม่น่าจะพ้นทุกข์ได้ถ้าอยู่แค่นี้ เข้าใจมั้ย

มันก็เลยจะต้องทำอันนั้นอันนี้ซะก่อน ให้จิตมันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เห็นมั้ย จิตมันมีการคาดหวัง คาดเดา คาดคะเน คะเนเอาทั้งสิ้นน่ะ ... แต่หนีความเป็นจริงตรงนี้

เดี๋ยวนี้...มันมีอยู่ตลอดเวลา 'ปกติ' มันมีอยู่แล้ว...ไม่ต้องทำด้วย  แค่กลับมาดูก็จะเห็น แค่กลับมาดูก็เห็นแล้ว ...ระลึกรู้ตรงนี้ รู้ว่ามีกาย รู้ว่ามีจิตกำลังฟัง รู้ว่าจิตกำลังตรึก  มันก็เห็นอยู่แล้วอาการที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน เห็นมั้ย

ถามว่ามันต้องใช้กำลังตรงไหน ในการที่จะกลับมารู้ปัจจุบันเนี่ย ใช่รึเปล่า มันไม่มีหรอกกำลัง มีแต่ว่าขยันกลับมารู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ  เพราะฉะนั้นเวลารู้ กลับมาเห็นนี่ อะไรก็ได้ที่รู้อยู่ตรงนี้ 

หมายความว่าจิตอยู่ในอาการไหนก็ได้ในขณะที่รู้ปัจจุบัน อารมณ์ไหนก็ได้ ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ หงุดหงิดก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ รำคาญก็ได้ หนักก็ได้ เบาก็ได้ ...อะไรก็ได้ที่อยู่ในปัจจุบันแล้วรู้ตรงนั้นน่ะ ได้หมด เข้าใจมั้ย  ไม่ใช่ว่าต้องรู้ที่ไม่มีอะไร รู้เบาๆ หรือว่ารู้แบบมั่นคง หรือว่าโปร่ง


โยม –  ถ้ารู้ของมันเอง แล้วมันก็จะกลับมา พอแล้ว ใช่ไหมคะ   

พระอาจารย์ –  พอแล้ว รู้แค่นี้ พอแล้ว  เผลอก็รู้ว่าเผลอ แค่นั้นพอแล้ว ช่างมัน  ไม่ต้องหาว่าถูกหรือไม่ถูก ก็แค่รู้ รู้เฉยๆ ...พอคิดว่าจะหาว่าถูกไม่ถูก..ก็รู้อีก รู้ว่าเราหาถูกหาผิดอีกแล้ว ก็รู้ว่ามีอาการนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว 

นี่คือรู้ไปตามอาการ อะไรก็ได้ ...ที่มันเกิดอาการใหม่ๆ เกิดขึ้นน่ะ เป็นอาการที่เราจะให้มีการกระทำหรือมีการค้นหา  ก็รู้ว่ามีอาการนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว ... มันสงสัย ตรงนี้คือความลังเลสงสัย


โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ คนอื่นๆ ที่เขาไม่ได้ฟังธรรมนี่  บางทีหนูคุยกับเขา ทำไมเหมือนเขาก็มีสติ เขาก็รู้สึกตัว รู้ว่าโกรธอย่างนี้  แต่เขาก็ไม่ได้ฟังธรรมอย่างนี้ เขารู้ถูกไหมคะ    

พระอาจารย์ –  คือเป็นการรู้ที่เขาแค่รู้ตามสัญชาติญาณ เป็นการรู้ตามวิญญาณ เข้าใจมั้ย  คนทุกคนทั่วไปเขาก็รู้แหละ ทำไมมันจะไม่รู้ ...แต่มันรู้ตามวิญญาณให้มันรู้ ไม่ใช่รู้โดยสติ  คนละอย่างกัน

มันจะต้องแยกออกว่ารู้ยังไงด้วย ... ทั่วไปมันก็รู้ทั้งนั้นแหละเวลาเกิดอารมณ์อะไร จะด่าใครก็รู้ว่ากำลังโกรธแล้วก็ด่าไป มันก็รู้ตัวนะอย่างนั้น  แต่มันเป็นรู้แบบรู้ไปตามความหลงนั้นๆ ...รู้แล้วหลงไปตามสิ่งรู้นั้นๆ


โยม – จริงๆ ถ้าเขารู้ตัวอย่างนี้ ก็เหมือนธรรมะมันไม่ยากเลยนะคะหลวงพ่อ    

พระอาจารย์ –   ก็ใช่  แต่ว่ามันทำไม่ต่อเนื่องไง  มันทำแบบยกเว้นบางอารมณ์ มันมียกเว้นน่ะ เผื่อเลือก มันจะรู้แต่ไอ้บางอารมณ์เท่านั้น แต่บางอารมณ์มันไม่ยอมรู้น่ะ มันไม่ทั่ว ...ต้องรู้ทุกเรื่องน่ะ ไม่ใช่ไปละเว้นบางเรื่อง หรือว่าขณะไม่มีอะไรก็ไม่รู้

รู้หมดน่ะ รู้อยู่เป็นนิจ เป็นเนืองๆ ...ไม่ใช่ว่าไอ้นี่ได้ ไอ้นี่ไม่ได้ ไอ้นี่ตั้งใจแล้วรู้แต่เรื่องที่เป็นทุกข์ หรือรู้แต่อารมณ์ที่ไม่ดี  แม้แต่ความสุขก็ต้องรู้ อารมณ์ที่ดีก็ต้องรู้  ไม่มีอะไรก็รู้ ... รู้กระทั่งว่าอาการที่จะไปทำอาการอะไรในจิตก็ต้องรู้ ...รู้หมดน่ะ รู้หมด ไม่ใช่รู้แค่อารมณ์แค่จับต้องได้แค่นั้น รู้หมด  


โยม –  หลวงพ่อคะ พวกหนูน่ะไม่ได้ทำสมถะ ก็เน้นรู้ๆ ไปอย่างนี้ แล้วมันจะมีพวกวิปัสสนูมั้ยคะ  

พระอาจารย์ –  ไม่มีหรอก รู้ไปเหอะ    


โยม  วิปัสสนูมันเฉพาะสมถะเหรอคะ   

พระอาจารย์ – ไม่เกี่ยวน่ะ มันอยู่ที่กำลังของเจตนา การกระทำที่ใส่เจตนาอะไรแรงเกินไป มันล้ำหน้า มันล้ำด้วยเจตนาแล้วก็ทำขึ้นมา ...ล้ำโดยสติก็เป็นวิปัสสนู ล้ำทางสมาธิก็เป็นวิปัสสนู

แต่ลักษณะการเจริญสติอย่างที่ดำเนินอยู่อย่างนี้ ไม่มีทางล้ำหรอก หรือว่าสติจะเกินลิมิทหรอก ยังไงก็ไม่เกิน มันได้แค่นั้นแหละ  เพราะว่ามันมีสิ่งปัจจัยที่ดึงจิตเราออกไปมากกว่าอยู่แล้ว อย่างมีการกระทบ มันมีผัสสะการกระทบมา สติมันไม่สามารถจะรู้ได้ต่อเนื่อง ...ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ที่มันไม่ต่อเนื่องนั่นแหละ สติไม่ต่อเนื่อง


โยม –  อ้าว แต่ถ้าหนูทำในรูปแบบแล้ว รู้ลมเข้าลมออกอย่างนี้น่ะค่ะหลวงพ่อ มันจะไม่มีวันที่ลมเข้าลมออกต่อเนื่องจนเกิด...    

พระอาจารย์ –  ไม่มีทางอ่ะ เชื่อเรา  


โยม –   คือแต่ก่อนตอนหนูนั่งสมาธิครั้งแรกๆ มันก็เงียบนิ่งไป มันก็อะไรไป  แต่ทุกวันนี้มันก็ไม่มีที่ว่าเราจะมีความนิ่งได้ขนาดนั้นเลย  เพราะว่าเรา...เดี๋ยวมันก็หลงคิด เราก็ไปรู้ว่าเราหลงคิด แป๊บเดียวเราก็หลงไปคิดๆๆ ตลอด ทั้งวันทั้งคืนเลยน่ะค่ะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  อือ   


โยม  มันเหมือนว่า ขณะหนึ่ง อย่างที่บอกน่ะค่ะ ก็คือที่มันผุดคิด หลงคิดๆๆ ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงเลยน่ะค่ะหลวงพ่อ ...อย่างนี้มันก็ไม่มีโอกาสให้เราได้สงบเลย ทั้งๆ ที่ว่าเราก็ยังอยากสงบอยู่เหมือนกัน อย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –   อือ ... แล้วทำไม แล้วมีปัญหาอะไรกับมัน 


โยม –   ก็มีปัญหาว่ามันจะไม่มีวันสงบเลยเหรอคะ อย่างแต่ก่อนที่มันได้สงบ  

พระอาจารย์ –  ใช่ ... เพราะจิตไม่เคยหยุดนิ่งเลย   


โยม –  อ๋อออ   

พระอาจารย์ –   ธรรมชาติของจิตที่แท้จริงไม่เคยหยุดนิ่ง  


โยม   อ้อ เราก็ไม่ควรสงบเอาอะไรเนาะ   

พระอาจารย์ –   ก็นั่นน่ะสิ  ...ก็เราถูกปลูกฝังมาเองว่าความสงบถูกต้อง ความสงบดี ... นี่มันเป็นการเข้าไปควบคุมจิตในลักษณะหนึ่งสภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง...ได้ชั่วคราว ไปขัดขืนธรรมชาติของจิตได้ชั่วคราว แค่นั้นเอง

พระพุทธเจ้าถึงบอกเป็นแค่หินทับหญ้า ...หญ้านี่มันไม่เคยหยุดการเติบโต เฉกเช่นเดียวกันกับจิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ถ้าเราไม่เข้าใจเมื่อไหร่นี่ เห็นมั้ย เราจะมีปัญหากับความไหวของจิต ใช่ป่าว  เพราะเราไปคิดว่าต้องหยุดไหวถึงจะดี...ดีกว่าไม่ไหว


โยม –   คือมันไหวแบบเยอะมาก จนหนูเหนื่อยไปหมดเลยน่ะค่ะ ก็รู้ว่ามันไม่พอใจจริงๆ น่ะค่ะ

พระอาจารย์ – เออ ... ทำไม   


โยม –   ก็มันแบบว่า...(หัวเราะ) 

พระอาจารย์ –   มันไม่ได้ดั่งใจ


โยม   ก็มันกระทบอะไร แบบว่ามันก็แรง อารมณ์มันรุนแรง 

พระอาจารย์ –  แปรปรวน  รวดเร็ว


โยม –  ใช่ ...ที่อย่างหลวงพ่อพูดถึงผู้หญิง ..ก็มี หนูก็สังเกต ความเป็นฮอร์โมนอะไรอย่างนี้  แล้วความเป็นผู้หญิงนี่ มันทำให้มันแรงน่ะค่ะ แรงไปหมดทุกอย่างเลย  แต่มันก็เห็นชัด ...แต่ว่ามัน..มันเยอะอ่ะ

พระอาจารย์ –  รู้ไปเหอะ ...รู้ไป  สำคัญให้รู้อยู่ เข้าใจมั้ย  จะเยอะจะน้อยไม่ว่า ขอให้รู้ ...มันสำคัญว่ามันไม่รู้น่ะสิ   มันรู้รึเปล่า...ในขณะที่มันเกิดน่ะ  เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน  ไม่ใช่ว่าคิดว่ารู้อยู่ หรือว่า 'เอ น่าจะรู้อยู่นะ' ... อย่างนี้มันยังไม่ใช่น่ะ

มันต้องรู้ต้องเห็นกันต่อหน้าต่อตาเลยน่ะ จับได้คาหนังคาเขา ประมาณนั้น ... ต้องรู้อยู่อย่างนั้น  แต่เราไม่ได้ตำหนิว่ามันมากหรือมันน้อย หรือมันบ่อยหรือมันถี่ แต่ให้รู้อยู่ ยังไงก็ให้รู้อยู่กับมัน ให้เห็นอยู่ ไม่เป็นไร...ไม่เป็นไร


โยม – กิเลสทุกตัวที่เรามี เราจะต้องรู้มันจนเรารู้จักมันจริงๆ เลยหรือเจ้าคะ   

พระอาจารย์ –  อือ ... ถึงจะเข้าใจกับมัน ต้องเรียนรู้กับมันทุกตัว เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจมัน ไม่เรียนรู้เท่าทันกับมันนะ เราจะเป็นทุกข์กับมันอยู่ เพราะยังไม่แจ้ง ...ดูเพื่อเรียนรู้มัน ศึกษาวิจัย


โยม  ทุกอย่าง  

พระอาจารย์ –  เออ ก็บอกแล้วไง อะไรก็รู้ๆ ...รู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับมัน    


โยม –  ก็มันจะมีตัวล่าสุดเนี่ยค่ะ ที่หนูต้องมาหาหลวงพ่อ มันกระวนกระวาย คือที่หนูรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสงบเท่าไหร่ ...มันทำใจไม่ได้ (หัวเราะ)    

พระอาจารย์ –   โลภ ...เกิดจากความโลภมาก ไม่สันโดษในธรรม เข้าใจมั้ย  คือไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่มีและเป็นในปัจจุบัน แล้วมีความทะยานอยาก...โดยอ้างว่า การที่ทะยานอยากออกไปน่ะ ผลของมันดีกว่านี้ ผลของมันจะดีกว่านี้ แค่นั้นเอง

แล้วก็ไปเป็นทุกข์กับที่เราคะเนเอา ...เป็นเรื่องของความปรุงของจิตทั้งนั้น แล้วเราก็เชื่อมัน ให้ค่ากับความเห็นนี้ โดยไม่ยอมทิ้งความเห็นนี้ แล้วมันก็จะฝืนกับความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ แค่นั้นเอง มันเลยไม่ลงตัว

แต่ถ้ายอมรับความเป็นจริงซะ ยังไงก็ยังงั้น มากก็มาก น้อยก็น้อย แรงก็แรง เบาก็เบา ขอให้รู้..บอกแล้วไง ขอให้รู้ เหมือนกับตาเราเห็นมันอยู่อย่างนี้  ไม่ใช่ 'เอ๊ะ นี่เรารู้ป่าว ...เอ บางทีเราก็ว่าเราเห็น'  อย่างนี้ แปลว่าไม่เห็นแล้ว เข้าใจมั้ย ไม่มีสติในขณะนั้นแล้ว

ต้องรู้ในขณะนั้น รู้ในขณะนั้นจริงๆ แล้วไม่ว่า...มันจะมากก็ได้ น้อยก็ได้ ไม่ว่ากัน  ...ถ้ารู้อยู่ไม่มีปัญหา ให้มันเรียนรู้ตรงๆ

สงบ-ไม่สงบนี่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก บทมันจะสงบขึ้นมานี่ไม่ต้องถามหาเลย เขาสงบโดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องด้วยซ้ำ มันจะวาง...เวลาบทที่มันจะวางหรือว่าคลายจากอารมณ์นี่ หรือว่าเกิดจิตที่มันต้องการการพักตัวของมันนี่ เขาจะเป็นไปของเขาเองเลย ...ไม่ได้เกิดจากความอยากหรือไม่อยากของเรา 


โยม –   อย่างนี้มันเหมือนที่เขาคุยกันว่า “ติดดี” ใช่ไหมคะ พอเริ่มภาวนาได้นิดนึงก็ “กระแดะ” คืออยากสงบอะไรประมาณอย่างนี้ (หัวเราะ) 

พระอาจารย์ –   ไม่ได้เรียกว่ากระแดะ เขาเรียกว่า “ดัดจริต” เข้าใจมั้ย ... เข้าใจคำว่า “ดัดจริต” มั้ย ... จริตของเรานี่มันมีอยู่แล้ว ไอ้ความที่ทุกคนมันมีอยู่...ธรรมชาติของจิตมันเป็นจริต ...จริตของมันมีอยู่แล้ว อย่างนี้ ก็คือจริตของจิต เข้าใจมั้ย

จะไปทางนี้หรือจะไปทางโน้น จะมากขึ้นหรือจะน้อย หรือจะฟุ้ง มันเป็นธรรมดาของมันอยู่แล้ว ...แต่เราไม่พอใจจริตนี้ ก็เลยไปดัดมัน  นั่นแหละเราถึงเรียกว่าดัดจริต ไปดัดจริตของจิต เข้าใจมั้ย ไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขจริต เห็นยัง โดยเข้าใจว่าอย่างนี้ถึงจะดีกว่า 

อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง โดยเข้าใจว่าเป็นธรรม ...ถ้าไม่ดัดมันถ้าไม่แก้มัน ถ้ามันไม่อยู่อย่างนี้แปลว่าไม่ใช่  อย่างเนี้ย เป็นความเห็นเอาเองนะ แล้วก็ไปดิ้นรนขัดขวางจริตของจิต อย่างนี้มันไปดัดจริต ...อย่าไปดัดมัน

แต่ว่าไม่ใช่ว่าไม่ดัดมันแล้วก็ปล่อยปละละเลย เข้าใจมั้ย  ไม่ดัด...แต่ให้ดู ด้วยสติ...รู้  ขึ้นก็รู้ ลงก็รู้  มากก็รู้ น้อยก็รู้  ออกไปก็รู้ ไปทำอะไรก็รู้ อย่างนี้ ... เพราะนั้นให้กลับมารู้กับมัน โดยไม่มีเงื่อนไข แค่นั้นเอง ถึงจะเรียกว่าการเจริญสติ ...ไม่ใช่รู้แบบปล่อยปละละเลยน่ะ

หรือว่าพอมารู้ ตั้งใจรู้ เห็นมันปุ๊บ เอาแล้ว...ไม่พอใจ...อย่างนี้  แบบรู้แล้ว 'ไม่ชอบเลย ต้องทำอะไรกับมัน มันไม่ดีเลย อารมณ์อย่างนี้ไม่ดี' ... อย่างนี้ไม่ใช่  นี่เรียกว่ารู้แบบหนีความเป็นจริงของจิต เข้าใจมั้ย ... มันไม่ดีก็ไม่ดี ก็รู้กับมัน ...จะไปทำอะไรกับมันล่ะ มันควบคุมได้รึเปล่าล่ะ ก็รู้...เพื่อจะมาเห็นว่ามันควบคุมไม่ได้ 


โยม  มันแบบอย่างนี้ค่ะหลวงพ่อ สมมุติว่าหนูเข้าไปข้างในไม่ได้ แต่หนูไปเปิดข้างนอกให้มันมีผลกระทบต่อจิตใจได้ อย่างไม่สบายใจ ไปเปิดเพลงฟังอะไรอย่างนี้ ไอ้ที่ไปเปิดก็ไม่ต้องเสียใจว่าผิด   ฟังเพลงอีกแล้วอย่างนี้

พระอาจารย์ –  เออ ก็มันทำไปแล้วน่ะ จะไปเสียใจได้ยังไง เสียใจก็ทุกข์เปล่าๆ ก็มันทำไปแล้ว ผลออกมาแล้ว มันผ่านไปแล้ว


โยม –   แล้วมันก็มาคิดว่าที่ทำอยู่นี่ถูกหรือผิด  

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ก็ให้ทัน ให้ทันพวกนี้...คือไปคิดในสิ่งที่ล่วงมาแล้ว  นี่มันก็ต้องรู้เท่าทัน มันแก้ไขไม่ได้ หรือว่าข้างหน้าจะทำยังไงต่อก็ทำไม่ได้  รู้ลงไปเดี๋ยวนี้ว่าทำแล้วก็ทำแล้ว รับผลแล้วก็รับผลแล้ว ...ก็แค่รู้และเท่าทันตรงนี้บ่อยๆ ไม่ต้องกลัวผิดกลัวถูกหรอก   


โยม –   แล้วถ้าบางทีมันจำเป็นจริงๆ อย่างเหล้าเบียร์นี่ไม่ทานอยู่แล้วนะเจ้าคะ แล้วบางทีมันจำเป็นในการเข้าสังคม หนูก็คิดว่าหนูก็ปล่อยไป ไม่ได้คิดอะไรมากแล้วก็ไม่ได้มาเศร้าหมอง ก็มารู้ว่าถ้าไม่มาอะไรเหมือนเดิมนี่ก็ไม่เป็นไรใช่มั้ยเจ้าคะหลวงพ่อ 

พระอาจารย์ –   ไม่เป็นไร ไม่เกี่ยวหรอก ...ก็บอกแล้วไง เนี่ย ศีลทั้งหลายทั้งปวงนี่ ถ้าเรารักษาไม่เป็นนี่ มันจะกลายเป็นสีลัพพตปรามาสไป


โยม  แต่ก่อนหนูเคร่งกว่านี้อีก ทุกวันนี้หนูก็เลยคิดว่าที่ผ่านมาไม่น่าจะถูก  

พระอาจารย์ –  ไม่เกี่ยวน่ะ เข้าใจมั้ย ... มันเกี่ยวอยู่ที่ว่าเราไปให้ค่ามันอีกรึเปล่าในการกระทำนั้นๆ ถ้ายังให้ค่าอยู่เมื่อไหร่ มีผล เป็นอกุศลทันที  


โยม –  ก็ดูที่ใจรักษาที่ใจใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –   แค่นั้น รู้ทันในปัจจุบันแล้วจบ จบก็จบ...ในใจก็ต้องจบ ... แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไปเจตนาล่วงเกินอะไร มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ  

อย่าไปเอามาเป็นพันธนาการ หรือเอามาเป็นกฎหมาย หรือว่าเป็นระเบียบบังคับกายกับจิตของเรา ...ถ้าอย่างนั้นน่ะไม่ถูก ผิดหมดแหละ กระดิกไม่ได้เลยแหละ ...ทำแล้วก็จบ แค่นั้น อย่าไปคิดมาก แค่นั้นเอง มันก็ผ่าน 

แต่ถ้ายังขึ้นมาจดจำอยู่...ที่พูดขึ้นมานี่  เขาเรียกเป็นสัญญาอุปาทาน เข้าใจมั้ย 

ถ้าเป็นสัญญาธรรมดาไม่เป็นอะไร เราก็จะดูออก ...เหมือนว่าเราเห็นอะไร นั่งรถมาเห็นรถผ่านมาสีนั้นสีนี้จดจำได้ หรือตามเส้นทางนั้นผ่านอะไรมาจำได้ใช่มั้ย แล้วไม่มีความรู้สึกอะไร  อย่างนี้เขาเรียกว่าสัญญาเฉยๆ เป็นสัญญาที่ไม่มีอุปาทาน

แต่พอคิดเรื่องกินเหล้าขึ้นมา มันไม่ใช่อาการนี้  มันมีอุปาทานในสัญญานั้น 

เพราะนั้นพอรู้ว่ามันเป็นแค่สัญญา แล้วมันมีอุปาทาน ก็รู้เฉยๆ เดี๋ยวมันก็ดับไป ... อย่าไปกังวลเพิ่ม อย่าไปคิดแก้ คิดอะไร หาถูกหาผิดกับสัญญาอุปาทาน หรือไปแก้สัญญาอุปาทาน ...เพราะความเป็นจริงน่ะมันดับไปหมดแล้ว เหล้าก็ไม่ได้กินแล้ว ตัวก็ไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้นแล้ว มาอยู่ตรงนี้แล้ว 

นั่นมันเป็นแค่รูปของสัญญา แล้วเรายังให้ความสำคัญกับรูปนี้ที่ล่วงไปแล้ว...ด้วยสัญญานี้ขึ้นมา มันให้ค่าเป็นอุปาทาน แล้วก็พยายามจะไปตำหนิมัน ไปหาถูกหาผิดกับไอ้สิ่งที่มันดับไปแล้ว ...จะไปหาถูกหาผิดกับความจดจำ...รูปที่อยู่ในความจดจำนี่

เพราะนั้นก็บอกว่าให้รู้เฉยๆ ก็คือมันขึ้นมาก็รู้  แล้วมันพยายามจะให้ค่าหาถูกหาผิดก็ให้รู้  อย่าไปทำอะไรกับมัน ...ถ้าเรารู้กับมันเฉยๆ พอมันมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น เดี๋ยวสัญญานี้ก็จะดับอยู่แล้ว มันไม่อยู่ตลอดเวลาหรอก 

แต่ถ้าเรายังให้ค่า ไปหาถูกหาผิดอยู่  ตรงนี้เรียกว่าติดข้อง...ยึด เกิดความติดข้องแล้ว  ตรงนี้แหละผิดศีลแล้ว


โยม –    ทุกวันนี้โยมก็จะมาติดข้อง..เหมือนกับว่ากลัวหลวงพ่ออย่างนี้เจ้าค่ะ โยมก็เหมือนกับว่าไม่ได้คิด แต่ก็มีแบบ 'เอ๊ หลวงพ่อจะว่ามั้ยนะ' อะไรอย่างนี้มากกว่า จะถูกมั้ยอย่างที่หลวงพ่อบอก ถ้าเป็นอย่างนี้จะต้องรู้อะไรลงไปเจ้าคะ

พระอาจารย์ –   ไม่มีรู้อะไรลงไป แค่รู้สิ่งที่มันปรากฏ แล้วก็...ช่างมัน ...  ก็รู้ตรงนั้น แล้วก็ปล่อย ไม่ต้องคิดต่อ รู้ว่ามีความรู้สึกนี้เกิดขึ้น ก็แค่เห็นว่าความรู้สึกนี้  แล้วก็ไม่ต้องไปจดจำหรือไม่ต้องไปว่าอะไรกับมันน่ะ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป แค่นั้นเอง

 ก็ไม่รู้จะรู้ให้รู้อะไร เข้าใจเปล่า หรือจะเอาถูกเอาผิดอะไรกับมัน ... การมาพูดกับเราก็ไม่ต้องคิดมาก พูดก็พูด  ไม่ต้องคิดมากว่าเราจะมีความเห็นยังไงต่อ หรือว่าจะว่าถูกหรือว่าผิด หรือเราจะตำหนิ หรือเราจะโทษหรืออะไร  

มันคิดไปเอง เข้าใจมั้ย ...พอเราคิดหรือเราปรุงต่อไปอย่างนี้ มันก็เลยเกิดความเศร้าหมองลังเล สงสัย กังวล  ทั้งที่ว่าความจริงก็ไม่มีอะไร ไปยึดมั่นถือมั่นในภาพลักษณ์หรือว่าค่านิยมแค่นั้นเอง ...ต้องมาเรียนรู้ เนี่ย เรียนรู้ว่าถ้าอย่างนี้แล้วเป็นทุกข์ ใช่ป่าว


โยม –  ใช่เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –   ก็ให้...สติก็ให้จดจำอาการนี้ไว้ ว่าอาการนี้ ที่เป็นอย่างนี้...นี่มันเป็นทุกข์  ถ้าเป็นอย่างนี้อีกก็ทุกข์อีก ...เออ แล้วมันก็จะเรียนรู้ว่าถ้าอย่างนี้อีกก็ทุกข์อีก จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อไม่ได้เป็นอย่างนี้ ก็คือ...วาง ไม่ต้องไปให้ค่าให้ความสำคัญอะไร  เห็นความไร้สาระ กับสิ่งที่คนเขาให้สาระหรือเราเคยให้สาระมาก่อน 

ก็ต้องมาเรียนรู้กับไอ้การที่เราให้สาระให้ค่าอย่างนี้ มันมีแต่ทุกข์อ่ะ  ถ้ายังไม่วางความเห็นนี้ ความรู้สึกนี้กับการให้ค่า ให้คุณค่ากับเรื่องนี้ ความเห็นอย่างนี้ ...โยมก็ต้องเป็นทุกข์ตลอดเวลา จากการให้ค่าอย่างนี้ ...ก็ต้องเรียนรู้ไปอย่างนี้ จนกว่ามันจะยอมรับ แล้วก็วาง คลาย

แรกๆ มันยังไม่ถึงขั้นวางหรอก มันจะค่อยๆ คลาย เข้าใจมั้ย คลายออกไปทีละเล็กทีละน้อยๆ คลายออกไปได้ ...อย่าไปคิดว่ามันยากหรือทำไม่ได้ หรือมันจะไม่เป็นไป  

เราก็บอกแล้วว่าจิตน่ะมันดำเนินอยู่แล้ว พัฒนาการมันมีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้การพัฒนาของมันนี่ เรายังจับต้องเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้  แต่ใจที่มันทะยานออกไปนี่มันเกิน มันเกินอยู่เท่านั้นเอง ... คือมันก็ดำเนินไปอยู่ แต่ใจมันไปหวังผลตรงนู้นแล้ว แล้วก็ไม่ได้สักทีๆ อย่างนี้

ทั้งที่ใจมันก็ดำเนินอยู่ เข้าใจมั้ย  จิตมันก็กำลังพัฒนาอยู่ สติก็กำลังพัฒนาอยู่ เรียนรู้อยู่  แต่ว่าผลนี่มันยังไม่เป็นปฏิสัมพันธ์ตามความอยากอย่างที่เราต้องการเห็น แค่นั้นเอง

เพราะนั้นก็ให้เห็นว่านี่อยากอีกแล้ว อยากแก้อีกแล้ว อยากให้เร็วๆ อยากหาถูกหาผิด ...หยุดซะ รู้ทัน แล้วก็ช่างมันๆ เอาแค่ตรงนี้ ...วนไปวนมา สะสมไปสะสมมา กังวลไปกังวลมา อยู่อย่างนี้ ...นี่คือฐานของเราในขณะนี้ นี่คือความจริง ...แล้วอย่าไปบอกว่ามันถูกว่ามันผิด


โยม ใช่  ... แต่มันมีเหตุ หนูก็ฟังธรรมมา แต่มันมีเหตุให้จิตมันก็น้อมที่จะมาดู แต่มันยังดูไม่ออกน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  กังวล  ลังเล กับสงสัย แค่นั้นเอง นะ ...เพราะเรารู้มาก เราจำมามาก เราถูกปลูกฝังมามาก มันเลยคิดเอา คะเนเอา คาดเอา ... พวกนี้เป็นเรื่องหลอกลวงของอาการของจิตที่มันหลอกให้เราลุ่มหลง ลุ่มหลงไปกับมัน

ก็ต้องเท่าทัน แล้วก็ไม่เอามัน รู้ทันแล้วก็ไม่เอามัน  อย่าเชื่อมัน ...ที่เป็นทุกข์นี่เพราะเราเชื่อมัน เข้าใจมั้ย ...ถ้าเราไม่เชื่อมันนี่ ไม่เป็นทุกข์หรอก  มันจะคิดเท่าไหร่ มันจะกังวลเท่าไหร่ มันจะลังเลเท่าไหร่  ถ้าเราไม่เชื่อตามมันนะ มันจะไม่มีปัญหาเลย

แต่นี่มันบอกให้เราซ้าย...เราก็ซ้าย มันบอกให้เราขวา...เราก็อดที่จะขวากับมันไม่ได้ ... ตรงนี้ต่างหากที่เป็นทุกข์ เพราะยังให้คุณค่ากับความเห็นต่างๆ นานา    


โยม –   จนถึงทุกวันนี้มันเพิ่งจะเริ่มเองน่ะค่ะหลวงพ่อ  จริงๆ หนูก็จะเห็นว่าหนูมีตัวเดียวกับมันอยู่ตลอดเลยน่ะค่ะ 

พระอาจารย์ –   มันถลำเข้าไปน่ะ มันถลำเข้าไประหว่างตัวอัตตากับสักกาย มันยังปนกันอยู่ มันยังแยกไม่ออก มันไปสำคัญว่าเป็นตัวเราตลอดเวลา ...ก็จนกว่าจะชัดเจนขึ้นมา สติมันจะเริ่มแยกแยะออก มันจะเห็นว่าคนละเรื่องกัน...ตัวตนกับตัวเรา    


โยม –  มันต้องใช้สมถะไหมคะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –   ไม่เกี่ยว 


โยม   คือมันก็เห็น  ถึงไม่มีสมถะเลย ธรรมดาปกติมันก็เห็นนะเจ้าคะทุกวันนี้ 

พระอาจารย์ –  ก็ใช่น่ะสิ 


โยม –   แต่มันเห็นเบาๆ

พระอาจารย์ –  เออ ก็พอแล้ว   


โยม –  มันไม่เห็นแยกออกมาว่ามีผู้รู้อะไรอย่างเนี้ยค่ะ

พระอาจารย์ –  พอแล้ว...พอแล้ว เห็นเบาๆ แค่นี้แหละ  เห็นแบบแยกแยะอะไรไม่ออกชัดเจน แค่นั้นแหละ ... อาศัยการที่ว่าชำนาญ บ่อยๆ  อย่าใจร้อน เข้าใจมั้ย ...ไอ้ที่เห็นอย่างที่ว่าชัดเจนนั่น มันถูกปรุงแต่งขึ้นมาให้เห็น เข้าใจรึยัง มันไม่ได้เห็นตามความเป็นจริง 

แต่ถ้าเห็นตามความเป็นจริง มันจะเห็นอย่างเนี้ย อย่างที่เราไม่ชอบนี่แหละ อย่างที่เราไม่ต้องการจะเห็นอย่างนี้ เข้าใจรึเปล่า ...มันขัดใจพ่อตาแม่ยายที่มันไม่ถูกใจลูกเขย ประมาณนั้นน่ะ เป็นอย่างเงี้ย 'ก็อิชั้นอยากจะดูอย่างงั้น มันดันมาให้เห็นอย่างเงี้ย ...ชั้นอยากได้ดำ เธอมาขาวทำไม' อะไรอย่างนี้

เพราะนั้นเห็นตามความเป็นจริงนี่ มันเห็นแค่นิดเดียว เห็นโดยไม่ชัดเจนนี่แหละ เห็นทั่วๆ เห็นเบาๆ ...พอแล้ว  ใจเย็นๆ อย่าใจร้อน   


โยม   สงสัยดูหนังมากไปหน่อย ที่พอมันนั่นแล้วต้องแยกร่างออกมานั่งดูตัวเอง  

พระอาจารย์ –  มาหาเราก็ตบกะโหลกที แล้วก็เข้า...กลับไปรวมกันใหม่  อย่ามาออก อย่ามาทะเล่อทะล่า  มันอยู่ยังไงก็อยู่ยังงั้น อย่าไปสร้างภาพให้จิต ...อย่าไปเมคอัพ อย่าไปเฟค(Fake) เข้าใจรึยัง 

ที่เราต้องการนี่คือเฟคจิตทั้งหมดเลย...โดยคิดจากไอ้ที่จดจำมาว่าจะต้องเป็นยังงี้  แล้วก็วาดภาพไว้เป็นเปลาะๆ ๆ เลย ... จริงๆ น่ะเป็นการหลอกจิต

ถ้าตามความเป็นจริงมันจะมีอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ... ก็ต้องเรียนรู้จากตรงนี้ ขณะนี้  มันเบาๆ จับอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันหรอก เห็นมั้ย  แล้วตรงนี้มันจะเกิดความเป็นปัจจัตตังขึ้นมา  

ถ้าอย่างที่พวกเราทำน่ะ มันจะไม่ใช่ปัจจัตตัง  มันจะเป็นเรื่องของกู...กับของกู  กูเห็น...กูรู้  เข้าใจมั้ย ...มันคนละเรื่องกับปัจจัตตัง  


โยม –  อ๋อ ถ้ามันเห็นตามจริงอย่างนี้ มันไม่มีการสั่งสมความเป็นกูเลยเนอะ      

พระอาจารย์ –  อือ ก็มันเห็นแบบจับอะไรไม่ได้น่ะ มันเลยไม่มีความรู้สึกว่าเป็นของเราหรือตัวเราเลย ว่าใครเห็นวะ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าเราเห็นอะไร    


โยม –  ไอ้ที่อยากเห็น...ก็คือตัวเรา...ตัวอยากเห็น

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นไอ้ตัวนั้นน่ะ ตัว "เรา" ที่เห็นน่ะ ไอ้ตัวกูของกู ตัวเราของเรา กูเห็นกูรู้นี่น่ะ ...ตัวนี้คือมานะ เข้าใจมั้ย  มันไปสะสมมานะอัตตาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว 

แล้วพวกเราก็ชอบกันจัง แต่ละคนนี่ชอบนัก นักภาวนาน่ะ จะต้องเอาชัดอย่างนั้นเลย และอดทนไม่ได้ที่จะทิ้งมัน เสียดาย...เสียดาย ไม่กล้าทิ้งด้วย

พอไม่ทำก็...อย่างนั้นแระ อย่างนี้แระ ...'จะช้า จะไม่ได้อะไร'  แล้วเห็นมั้ย มันเสียดาย มันไม่กล้าทิ้ง มันไม่กล้าไม่ทำ อดไม่ได้ที่จะต้องทำ 

พอมารู้ตามจริงอย่างนี้...ถามว่ารู้ตอนไหนก็ได้ ใช่มั้ย  ...แล้วถ้า "ทำ" อย่างนั้นน่ะ ไปทำตอนทำงานได้มั้ย มันได้ตลอดเวลามั้ย แล้วมันจะตรงกับความหมายของคำว่าอกาลิโกมั้ย ... ธรรมก็คืออกาลิโก ใช่ป่าว ไม่มีกาลเวลา สถานที่ และบุคคล

ถ้าจะไปเอาสมถะหรือกำหนดให้เห็นชัดๆ แบบนั้นทำงานได้มั้ย  ทำได้แต่ทำงานไม่ได้ บอกให้เลย  คุยก็ไม่ได้ พูดคุยก็ไม่ได้ สังสรรค์ก็ไม่ได้ 

แต่ถ้ารู้อย่างนี้ รู้เดี๋ยวนี้ รู้เบาๆ อย่างนี้ ทำอะไรได้หมดตลอดเวลา ...พูดคุยก็เป็นปกติ จะเที่ยวก็ได้ เล่นก็ได้ รู้เมื่อไหร่ก็รู้เมื่อนั้น รู้เมื่อไหร่ก็รู้เมื่อนั้นแหละ ก็จะเห็นอาการนั้นๆ ในขณะนั้นน่ะ 

ไม่ต้องเอาถูกเอาผิด รู้ตรงนั้นก็เห็นเลยว่ากำลังสนุก กำลังทำอะไรก็รู้ได้ กินเหล้าก็รู้ได้ เป็นไรไป ก็รู้ว่ากำลังกิน กินแล้วเป็นยังไง ดูจิตซิ มึน ซึม หรือว่าปวดหัว ...เออ ก็รู้ไป เข้าใจมั้ย  หรือไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไรอย่างนี้  รู้ไปตรงๆ แค่นั้นเอง

แล้วมันจะค่อยๆ สะสม...จากอาการเห็นต่างๆ นานา ตามความเป็นจริงนี่แหละ มาประมวลผลเอาเองด้วยปัจจัตตัง ...ไม่ใช่เราไปประมวลผลให้มัน 

อย่างเนี้ย ที่เราเป็นอยู่นี่ เรายังอยากประมวลผลให้มันอยู่ อยากจะรวมความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นความเห็นที่ถูกต้องที่สุด ชัดเจนที่สุด ...ด้วยความอยากกกก ทั้งหมดเลย ...เป็นเรื่องของความอยาก แค่นั้นเอง

มันอดไม่ได้ ...เหมือนหมางับกระดูก  รู้จักมั้ย  หมานี่เอากระดูกโยนให้มันเนี่ย มันงับเลย


โยม   อ๋อ มันต้องขึ้นทันทีเลยใช่มั้ยคะ 

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่  หมายความว่า กระดูกนี่ไม่มีเนื้อมีหนังอะไรหรอก แต่มันอดไม่ได้ที่จะงับ  คือเรานี่เหมือนกับหมางับกระดูก อดไม่ได้ที่จะต้องไปทำอย่างนั้น 

ทั้งๆ ที่มันไม่ได้มีรสมีชาติ ...มันไม่ได้อะไรหรอก ไม่ใช่มรรคผลโดยตรงหรอก เข้าใจมั้ย  แต่อดไม่ได้ที่จะไปทำ ...ยังเสียดาย เข้าใจว่ามีคุณค่า ในการทำสิ่งนั้นๆ 

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงก็เห็นอยู่แล้ว...ว่ามันรู้ได้ตลอดเวลา กำลังก็ไม่ต้องใช้อะไรมากมาย  ...แต่มันยังคิดว่าไอ้นี่สำคัญ สำคัญในการกระทำ หรือกำลังของจิตอะไรก็ตาม


(ต่อแทร็ก 1/10)