วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/35 (4)


พระอาจารย์
1/35 (25530526E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/35  ช่วง 3

โยม –  ครูบาอาจารย์สมัยก่อนตอนที่ไม่เรียนอภิธรรมหรืออ่านหนังสือ บางองค์ที่ท่านมารู้โสดาบัน...เป็นพระอริยะเจ้าได้ด้วยจิตดวงเดียวเท่านั้น กับการที่หลวงพ่อบอกว่าไม่ต้องยึดว่าอันนี้มันคืออะไร จิตเป็นเอกเท่านั้น  

พระอาจารย์ –  แม่น้ำร้อยสาย ฝนทุกเม็ดที่ตกมาบนโลกนี้ สุดท้ายมาลงมหาสมุทร ...ไม่ว่าจะทำมาแบบไหน วิธีการไหน อุบายไหน กำหนดอย่างไร ปฏิปทาในจิตอย่างไร

สุดท้ายต้องเห็นเหมือนกัน กลับมาลงร่องเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเจโตวิมุติ เจโตกึ่งปัญญาวิมุติ หรือปัญญาวิมุติ ...วิธีการเดินเข้าสู่ร่องนี้ ที่เราพูดนี่ มีร้อยแปดวิธี หลากหลายวิธี ที่จะเข้ามาสู่ร่องนี้

แต่ถ้ายังไม่ถึงร่องนี้ คนที่ยังไม่ถึงร่องนี้ แล้วเอาคำพูด วิธีที่กำลังเดินทางนี้มาพูด ตรงนี้คือความขัดแย้ง แต่ครูบาอาจารย์ที่ถึงอริยมรรคอริยผลจริงๆ ท่านจะเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันหมด

นี่ จะไม่มีปัญหาอะไรเลยๆ ...เราไม่ได้ว่าใครนะ เราไม่ได้ว่าคนใดคนหนึ่งนะ ...ถ้ายังเห็นว่าขัดแย้งอยู่ ให้รู้เลยว่าอันนั้นเป็นทิฏฐิหรือมานะที่เกิดจากความเห็น

ถ้าคิดว่าใช่หรือไม่ใช่ ถ้าคิดว่าถูกหรือผิด ให้รู้ว่า เราบอกให้เลยว่า เป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา

จะละเอียด จะฟังดูดี จะน่าเลื่อมใส จะประณีต โดยภายในและภายนอกคำพูดก็ตาม ...เราบอกว่าเป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา

สัมมาทิฏฐิที่แท้จริง สัมมาทิฏฐิสูงสุดในอริยมรรคขั้นสูงสุด ...คือไม่มีความเห็น ไม่มีคอมเมนต์...No comment.

โยมมองดูสิ ตาเห็นรูปมั้ย รอบตัวเลยนี่ ต้นไม้ ...โยมไม่สุขไม่ทุกข์เลยนะ เพราะโยมไม่มีการให้ค่า โยมไม่เคยไปตำหนิมันว่าสูงหรือต่ำ

แต่ถ้าไปจดจ่ออยู่แล้วไปพิจารณาว่ามันสูงหรือต่ำ โยมเริ่มมีความเห็นแล้ว ...เห็นมั้ย ทุกข์เกิดแล้วนะ ความถูกผิดเกิดแล้วนะ 

แต่ถ้าโยมมองเห็นอยู่ แล้วมันก็ตั้งอยู่ โยมจะไม่รู้สึกอะไรเลย ...เพราะโยมไม่ไปให้ความเห็นอะไรกับมัน โยมอยู่ด้วยจิตที่เป็นกลางกับทุกสรรพสิ่งโดยไม่มีความเห็น


โยม –  มันไปคิดไปโน่น ไปนี่ ไปนั่นเรื่อยเลย

พระอาจารย์ –  ท่านก็บอกว่าตัดป่าให้หมดสามทาง กามภพ รูปภพ อรูปภพ...แตะเมื่อไหร่เป็นเรื่อง


โยม –  แสดงว่าเรายึดหลักทำไปรู้ไปในปัจจุบัน ไม่ว่าสภาวะอะไรที่เกิดขึ้น จิตมันจะจำ ปัญญาจะสร้างความเข้าใจของเขาเอง ...แต่ถ้าครั้งนึงเกิดลังเลสงสัยขึ้นมา นั่นหมายความว่าผิดทางไปรึเปล่า 

พระอาจารย์ –  ไม่ผิดทาง


โยม –  มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นปกติ 

พระอาจารย์ –  เป็นปกติยันพระอรหันต์ บอกให้ ความสงสัยในธรรม มีไปถึงพระอรหันต์ ...ท่านเรียกว่าอุทธัจจะ ลังเลในธรรม ...ใช่หรือไม่ใช่ ชัดหรือไม่ชัด ช้าหรือเร็ว ขวางรึเปล่า นี่ มียันพระอรหันต์

แต่วิจิกิจฉาเบื้องต้นที่ละได้ หรือละขาดคือเห็นว่าไม่มีวิธีอื่นนอกจากนี้ที่เข้าสู่อริยมรรค...ณ ที่นี้ ...ทำ-ไม่ทำอะไรไม่รู้  ถ้าอยู่ตรง "นี้" ไม่ออกนอก "นี้" ไป ...แล้วมันมีความยอมรับโดยใจ

ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร ใครบอกว่าอย่างนั้น ใครบอกว่าต้องอย่างนี้ ใครบอกว่าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ได้อะไร แล้วยังไขว้เขวลังเลสงสัย อย่างนั้นเขาเรียกว่ายังละวิจิกิจฉาตัวนี้ไม่ได้

แต่ว่าเบื้องต้นถ้าละได้ปุ๊บนี่ จะไม่หวั่นไหวไปตามคำพูดหรือความเห็นใดเลย นี่เรียกว่าละวิจิกิจฉาได้ขาดเลยในการปฏิบัติ 

แต่ไม่ขาด คือดูไปดูมามันเริ่มไม่ชัดแล้ว เริ่มออกไป หรือเริ่มลังเล มีวิตกเกิดขึ้นนิดๆ หน่อยๆ ...อันนี้เป็นอุทธัจจะในธรรม แต่ก็ยังไม่ออกนอกหลักของการอยู่ตรงนี้เลย เข้าใจมั้ย อย่างนี้ต่างหาก

เพราะนั้นอย่าไปสงสัย พอสงสัยไม่ว่าขั้นใดขั้นหนึ่ง ภูมิใดภูมิหนึ่ง จิตใดดวงหนึ่ง ...พอรู้ว่าสงสัย ก็ไม่สงสัย ...พอรู้ว่าสงสัย ก็จงกลับมาโง่ต่อ ตรงนี้แหละ อยู่ตรงนี้แหละ ไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น

ไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่ได้กูก็ไม่ทำ ไม่รู้ก็ไม่รู้โว้ย จะอยู่อย่างนี้ โง่เข้าไป  แล้วมันก็จะบอกว่า นี้ไปไม่รอดนะ ติดข้องนะ...กูไม่สน ไม่เอา แค่นั้นเอง สุดท้ายจนเหลือแต่จิตล้วนๆ หนึ่งจริงๆ

พอเหลือหนึ่งจริงๆ แล้วนี่ เหมือนโยมนี่ตั้งเข็มไว้ เอาปลายเข็มขึ้นนี่นะ โยมตั้งไว้นะ เราโยนเม็ดงาไปกระสอบนึง แล้วเอาปลายเข้มนี่ตั้งรับ ถามว่ารับเม็ดงานี่สักเม็ดได้มั้ย

ต้องหมดจดถึงขนาดนั้น ไม่มีความเห็นใดความเห็นหนึ่งตั้งอยู่ได้ ...นี่ ขนาดนี้ยังไม่จบนะ นี่ยังไม่จบเลยนะ ...เพราะนั้นไปสาอะไรกับที่ว่าถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ ช้าหรือเร็ว บอกให้เลย

แม้แต่เมล็ดงาทั้งกระสอบโยนมา ยังรับตั้งอยู่บนเข็มไม่ได้เลย นั่นแหละคือความหมดจดเบื้องต้น ...ตรงนั้นถึงขั้นที่จะเรียกว่าขั้นประหารนะ ไม่ใช่ว่าละเลิกด้วยความเข้าใจ หรือว่าปัจจัตตัง ยังไม่พอ ยังไม่ขาด

แม้แต่พระอริยะเบื้องต้นขึ้นมานี่ ยังไม่ขาดเลย ยังไม่เรียกว่าประหารโดยสิ้นเชิงเลย ...จะไปเห็นการละการเลิก การตัดจริงๆ นี่ หรือการออกขาดจากอารมณ์จริงๆ นี่ ในขั้นของพระอนาคาทั้งสิ้น

ถึงจะเหลือกายเดียวจิตเดียว เอกังจิตตัง เอโกธัมโม เอโกปุริโส ชายคนเดียวหญิงคนเดียว ไม่เกาะเกี่ยวแล้ว หรือภาษาท่านก็เรียกว่าอนาคาริก...อนาคามี แปลจากความหมายของคำว่าอนาคาริก

อนาคาริก หรือคนไม่มีบ้าน คืออนาคาริก ผู้ไม่มีบ้าน...ผู้ไม่มีบ้านในความหมายของจิตคือผู้ไม่มีภพ ไม่มีภพที่อยู่ คือไม่หาบ้านอยู่น่ะ  มันมีบ้านอยู่บ้านเดียว ไม่หาใหม่แล้ว

แต่ว่าบ้านของท่านน่ะก็คือเข็ม ที่อะไรตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ...คือไม่หาใหม่ ไม่มีอะไรมาสอดแทรกได้แล้ว นั่นน่ะคือผู้มีภพเดียวและไม่สร้างบ้านใหม่ ...ขนาดนี้ยังไม่จบเลย

ส่วนพระอรหันต์นั่นก็หมายความว่า ไม่มีคำพูด เหมือนนกบินไปในอากาศ ไม่มีร่องรอย มาเหมือนไม่มา ไปเหมือนไม่ไป อยู่ก็เหมือนไม่อยู่ ไม่อยู่ก็เหมือนอยู่

อันนี้เรียกว่าไปแบบไร้รูปไร้นาม อยู่ก็อยู่แบบไร้รูปไร้นาม ...เออ มันอยู่ยังไงวะ (หัวเราะ) อยู่แบบไม่มีที่ตั้ง แต่มันก็อยู่ได้ ...พูดให้ฟัง อย่าคิดมาก

เพราะนั้นเบื้องต้นของพวกเราคือให้เท่าทัน อย่าคิดมาก ทุกอย่าง...อย่าปรุงต่อ อย่าหาถูก อย่าเอาผิด ...ถ้าหาถูกก็จะได้ผิด ถ้าคิดว่าผิดเดี๋ยวก็ต้องได้ถูก มันจะมีให้เลือกทั้งสองอย่างนั่นแหละ

ถ้าเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าคิดว่าเอาแต่ถูกแล้วจะไม่มีผิดนะ ถ้าบอกว่าถูก มันก็มีผิดเกิดขึ้นแล้ว บอกให้เลย ...แต่ถ้าไม่เอาเลย ยังไงก็ช่างหัวมันเถอะ ถูกผิดก็ละไปเรื่อยๆ

ความให้ค่าตามบัญญัติสมมุตินี่ก็จะน้อยลงๆ ...แล้วก็ทำไปเถอะ จะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ อย่างมากก็โดนเขาตีหัว อย่างมากก็โดนด่า...จบไป

ไม่เอาถูกผิดอะไรเป็นมาตรฐานมาก แล้วก็เรียนรู้กับปัจจุบัน หรืออาการขณะนั้นที่รับรู้ไปเรื่อยๆ ...มันจะเกิดหิริและโอตตัปปะในตัวของมันเอง ไม่ได้เกิดเพราะว่าตัวเราคอยบอกว่านี่ถูกนั่นผิดนะ

หิริโอตตัปปะมันจะเกิดจากการที่เราเรียนรู้กับการที่เขามาตีเราแล้วเราชกกลับ มาตีอีกเราชกอีก เราไม่รู้ว่าถูกเราไม่รู้ว่าผิด แต่มันจะจำเอง ทำไปกูก็โดนชกน่ะ ...มันเกรงกลัวบาปเอง มันเกรงกลัวในการกระทำนี้เอง

นี่คือจิตเขาเรียนรู้อย่างนี้ ตามอาการจริงนะ ...ไม่ได้บอกว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิดนะ หรือว่าพูดว่า ค่ะ จ้ะ ครับ ไม่มีปัญหาก็ได้ ครับผมๆ แล้วเขาสบายใจ ...มันก็รู้เองว่านี่ ทำอย่างนี้แล้วดี

ศีลมันไม่ได้ว่าถูกหรือผิด...แต่มันรู้อย่างนี้ ...ถ้ามีสติอยู่นี่ มันจะคัดเองว่ากายกริยาวาจาไหนควรหรือไม่ควรแก่งานนั้นๆ หรือสังคมนั้นๆ

เวลาโยมกับผู้หญิงนี่ ใส่เข้าไปเถอะ ผู้ชายเดินมาปั๊บนี่ คำพูดจะเปลี่ยนเลย เข้าใจมั้ย มันจะเปลี่ยนไปเองเลย มันจะเกิดความพอดีขึ้นในอีกแบบหนึ่งแล้ว

มันจะรู้ว่าถ้าพูดอย่างนี้แล้วจะมีเรื่อง พูดอย่างนี้แล้วจะโดนด่า พูดอย่างนี้แล้วจะมีปัญหา เห็นมั้ย มันก็จะปรับ ...นี่ เห็นมั้ย หิริและโอตตัปปะ คือเกิดด้วยสติและสัมปชัญญะ

ไม่ใช่มาคอยว่า ชั้นจะทำอย่างนี้ดีมั้ย ชั้นไม่ทำอย่างนี้ดีกว่ามั้ย ...ไม่ได้เอาบัญญัติหรือสมมุติมาเป็นตัวมาตรฐาน หรือเอาเป็นข้อ เป็นวรรคเป็นตอนมาเป็นตัวกฎเกณฑ์คอยกำหนด

นี่ วันนี้ถามเรื่องเหตุปัจจัย ก็พูดไปตามเหตุปัจจัย คืออย่างนี้ เพราะนั้นมันไม่แน่ไม่นอน ไม่ตายตัว สมาธิ ศีลสมาธิปัญญานี่คล่องแคล่วว่องไวไหวพริบ ไม่ใช่ทื่อๆ บื้อๆ

เราว่าไม่รู้อะไรนี่ แต่มันคล่องไปหมดแหละ อยู่ได้ในทุกที่ทุกสถาน ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ...อย่างมากก็เจ็บ แล้วก็เอาบทที่เจ็บนั่นแหละมาเรียนรู้ เพื่อครั้งต่อไป

เราไม่บอกถูก เราไม่บอกผิด แต่ทุกข์เท่านั้นที่จะสอนจิต ทุกข์เท่านั้นที่จะให้เกิดปัญญา ...สุขไม่เกิดหรอก สุขไม่เคยสอน อย่าเอาดี-ไม่ดี...ไม่เอา ยังไงก็ทุกข์

ทุกลมหายใจแหละ มันอยู่กับทุกข์ กายนี้เป็นทุกข์ รู้ว่ากายนั่งอยู่ รู้ว่าจิตเป็นยังไงหรือไม่เป็นยังไง ชื่อก็บอกว่ากาย ชื่อเรียกว่าจิต ...แต่เราชื่ออีกชื่อหนึ่งว่านี่คือทุกข์

ถ้าเอาชื่อกายออกกำหนดจิตออกนี่ คือเราบอกว่าไว้เลยว่านี่คือกำหนดทุกข์ ...คือตัวกายนี่แหละ ตัวความหมายที่แท้จริงของกายนี่คือทุกข์

เพราะนั้นการที่เรารู้กายรู้จิตนี่ คือการกำหนดทุกข์อยู่ในตัว รู้ทุกข์คือตรงกับอริยสัจข้อไหน กิจที่พึงกระทำต่ออริยสัจ...เบื้องต้นคือรู้ทุกข์ เนี่ย คือกายกับจิตนี่

ถ้าเปลี่ยนชื่อกายกับชื่อจิตออกนี่ ชื่อจริงไม่ใช่นามแฝงมันก็คือทุกข์ นี่ล่ะทุกข์ ...บางคนก็มาถามว่ารู้ทุกข์กำหนดทุกข์ ก็ไม่เห็นมันทุกข์เลย ...ก็มึงดูอยู่นี่ ไอ้นี่แหละคือทุกข์ ...ไม่ใช่ดูกายนะนี่ นี่คือดูทุกข์อยู่ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นไม่ใช่ทุกข์ในความหมายที่ว่าเจ็บปวดรวดร้าว เวทนาอะไร อาการของมันนี่แหละคืออาการทุกข์ ...กายนี่คืออาการทุกข์ จิตนี่คืออาการทุกข์


...................................



แทร็ก 1/35 (3)


พระอาจารย์
1/35 (25530526E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/35  ช่วง 2 

โยม –  แล้วชีวิตประจำวันเราก็เจริญสติด้วย  

พระอาจารย์ –  ก็ทำไปพร้อมกัน นะ เพราะพระพุทธเจ้าท่านพูดไว้หมด อย่าประมาทในบุญ ...แล้วโยมจะรู้มั้ยล่ะว่าชาติหน้าโยมไม่มาเกิดแล้ว

ถ้าโยมมีความรู้ปัจจัตตังจำเพาะจิตนี้ โยมก็ไม่ทำบุญแล้ว ไม่ต้องอาศัยบุญแล้วว่าเป็นที่พึ่งแล้ว แต่ตอนนี้คติที่ไปของโยมยังไม่แน่นอน ก็ทำไปเถอะ อานิสงส์มันมีอยู่ 

เอาไว้เป็นเสบียงกรังต่อไปในภายภาคหน้า ไม่ต้องมานั่งลำบาก ...เพราะไอ้คนที่เกิดมาลำบากนี่ มันจะมีใจที่ไปทำภาวนาบ้างมั้ย คนที่ต้องดิ้นรนหากินไปวันๆ ยังแทบไม่รอดนี่ มันจะมีกำลังแบ่งภารกิจ มีใจกับการภาวนามั้ย

นั่น บุญก็ยังถือว่าเป็นเครื่องสนับสนุน ...เกิดมามีรถมีบ้านช่อง มีการงานหน้าที่  มีอะไรที่พอไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจมาก ...นี่คือเราอยู่ด้วยบุญ เป็นอานิสงส์อยู่นะ บุญจึงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกอยู่

แต่เมื่อมีปัญญาปุ๊บ เราก็ทำ ไม่ทิ้ง แต่ไม่ใส่เจตนาความอยากหรือไม่อยากจนเกินไป ...คือรู้จัก ทำเป็นแล้ว ทำเป็นแล้ว ทำแล้วไม่ติด ทำบุญแต่ไม่ติดบุญแล้ว มันก็ได้อานิสงส์ด้วย

แล้วถ้าเราทำบุญโดยที่ไม่ติดบุญ นะ ทำแล้วไม่ติดว่าจะได้อะไร ใครจะใช้ ใครจะไม่ได้ใช้ หรือเราจะได้อะไร ไม่ได้อะไร ...อานิสงส์แห่งบุญนั้น จะเป็นปรมัตถบารมี หรือเป็นปรมัตถ์ทานขั้นสูงสุด 

สูงสุดในแง่ไหน ...คือไม่ต้องไปรอรับผลข้างหน้า ส่งผลในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ เป็นปรมัตถจิต

เพราะนั้นเวลาทำ...ก็ทำ ...เราไม่ปฏิเสธการทำบุญ ก็ทำไป แล้วไม่ต้องปรุงแต่ง ...คือถ้ามีปัญญามากขึ้นแล้ว ทำแล้วทำเลย จบแล้วจบเลย

ใครจะใช้ ใครจะไม่ได้ใช้ กูจะได้รับผลบุญยังไง มีความสุขหรือไม่มีความสุข ไม่มีการต่อด้วย ...จะรับผลในปัจจุบันขณะนั้น คือจิตจะปล่อยทันที รวมลงสงเคราะห์เป็นปรมัตถ์   


โยม –  แล้วถ้าอย่างที่คิดต่อไปอีกว่า คนบางคนที่เขาสร้างโบสถ์สร้างวิหารที่สวยงามเป็นร้อยๆ ล้าน แล้วก็ปล่อยให้สกปรก นี่มีอกุศลตรงนั้น บาปเลยไหมเจ้าคะ    

พระอาจารย์ –  ก็บาปก็อยู่ตรงนั้นแหละ อยู่ที่การคิดไม่ดี


โยม –  เราคิดไม่ดีจริงๆ   

พระอาจารย์ –  บาปที่เรานั่นแหละ ไม่ได้อยู่ที่คนทำ


โยม –  แล้วอย่างนี้ เห็นอีกคิดอีก นี่ก็บาปไปเรื่อย

พระอาจารย์ –  ก็เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น ถ้าเห็นน่ะมันเป็นขณะนั้น ไม่เป็นไร ทิ้งไป คิดใหม่ก็รู้อีก ห้ามไม่ได้ ...ห้ามได้รึเปล่า


โยม –  ไม่ได้   

พระอาจารย์ –  ไม่ได้แล้วจะไปคิดให้มันทำไมล่ะ อย่าไปคิดควบคุมมัน อย่าไปคิดดับมัน มันไม่ดับหรอก เอาจนอย่างนี้...คือมันขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี

มันขึ้นมาก็ได้ ไม่ขึ้นก็ได้ ขึ้นมาก็ไม่มียินดี ไม่มียินร้าย ...แต่ถ้ายังขึ้นแล้วยังยินร้าย แปลว่าเรายังให้ค่าอยู่ ...ดูเข้าไปจนกว่าว่า “เรื่องของมึง”


โยม –  ตอนนี้ก็เริ่ม “เรื่องของมึง” หน่อยๆ แล้วค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ จนเห็นเหมือนอากาศน่ะ ความคิดก็เป็นแค่สักแต่ว่า


โยม –  แล้วเราก็ไม่ได้ไปทำตรงนั้น ถ้าว่าสกปรกก็ขึ้นไปทำความสะอาด 

พระอาจารย์ –  ก็แค่นั้น ใครจะทำ ใครจะไม่ทำ บุญบาปอยู่ที่ความเจตนาของคนนั้นๆ

จนสุดท้ายบอกแล้วว่า พอเห็นอาการที่ปัญญามันมากขึ้น จิตสักแต่ว่าจิต ธรรมสักแต่ว่าธรรม กายสักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ร้าย

จะมาก็ได้ จะมากก็ได้ จะตั้งอยู่นานก็ได้ จะตั้งซ้ำซากๆๆ ก็เป็นสักแต่ว่าอาการเท่านั้น ไม่พาเราขึ้นไม่พาเราลงด้วยอาการยินดีหรือยินร้าย

แต่ถ้าเรายังยินดียินร้ายก็ให้รู้ให้ทัน ...หงุดหงิดกับมันอีกแล้ว หงุดหงิดกับความคิดเช่นนี้อีกแล้ว หงุดหงิดกับความเห็นอีกแล้ว ...มันห้ามไม่ได้

แต่ให้ทันความหงุดหงิด ความรำคาญ ความไม่พอใจ  พอมันมีความไม่พอใจแล้วมันมีความทะยานอยากจะไปทำอะไรกับมันสักหน่อย ...เห็นมั้ย ปัจจยาการมันจะต่อเนื่องออกมาเลย

เพราะนั้น สติเท่านั้นจึงจะเท่าทัน ...ถ้ามันยังดื้อด้านรำคาญใจปุ๊บ อย่าไปสนใจ อย่าไปสนใจความคิดความเห็นนั้นเลย ...กลับมาตั้ง ถอยๆๆ ถอยไปอยู่กับกายซะ

แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้กับอาการพวกนั้น เหมือนมองไม่เห็น อย่างนี้ แกล้งไม่เห็นมันซะ กลับมารู้อยู่กับกาย   


โยม –  ก็ต้องมีสติที่จะไปรู้ตรงนั้น ไม่งั้นมันก็จะหลงไป   

พระอาจารย์ –  ใช่ แล้วมันก็จะคอยดึงเราเข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน ...พวก จส.๑๐๐ น่ะ (หัวเราะกัน)


โยม –  มันก็แค่คำว่า “นี้” จริงๆ   

พระอาจารย์ –  ใช่ ลองดู ลองแค่ปรารภอยู่ที่ “นี้” หรือว่าตรึกอยู่ที่ “นี้”  อยู่ตรงนี้ แล้วจะรู้เลย ทุกข์มันเกิดไม่ได้เลย

แต่ถ้ามีความคิดเมื่อไหร่ ...เราจะรู้สึกความฝืด ความขัด ความดิ้น ความทะยาน ความหวงแหน ความตระหนี่ ความอาลัยอาวรณ์ มันจะเกิดเป็นเวทนาทันทีที่มีความคิดความเห็น

แต่เราบอกให้เรียนรู้แค่นั้นเอง นะ ให้เข้าใจว่าจริงๆ มันทำเอาไม่ได้ ...สติเท่านั้นถึงจะอารักขาจิตได้ สติสัมปชัญญะหรือว่าญาณทัสสนะเท่านั้น ถึงจะอารักขาจิตอยู่ใน “นี้” ได้..ด้วยปัญญา

แต่ที่พูดนี่มันเป็นลักษณะธรรม เป็นแค่ขณะหนึ่งวาระหนึ่ง ...แต่พอออกไป มันก็ทำไม่ได้ ไม่ได้ตลอดเวลา แต่มันต้องอาศัยการประมวลไปทีละเล็กทีละน้อย ด้วยสติสัมปชัญญะ

แล้วมันจะกลับมาเองๆ มันจะกลับมาด้วยตัวเอง ไม่ได้กลับด้วยการกระทำ แต่ตอนที่มัน... จุดที่มันดับตรงนั้นน่ะคือตรงนี้ ลักษณะนั้นแล้วเห็นอาการดับไป หรือเห็นความไม่ตั้งอยู่ได้ของมัน

หรือแม้แต่การเริ่มต้น เราเน้นเพียงแต่ว่าตอนคิด รู้ทันคิด รู้ทันอารมณ์ รู้ทันตอนอารมณ์ดับ แต่เราไม่ค่อยเน้นตอนที่ว่าก่อนมันจะเกิด ก่อนที่มันจะคิด

เห็นมั้ย ก่อนที่มันจะคิดนี่ มันไม่มีอะไร แล้วมันค่อยคิด ...ก่อนที่จะมีอารมณ์ มันต้องไม่มีอะไรก่อน แต่เราไม่เห็น... ไม่ทัน


โยม –  ไปเห็นตอนเอาอีกแล้ว

โยม (อีกคน) –  แล้วถ้าไปดับตรงที่ทวารที่ว่าเห็น หรือได้ยินเสียงล่ะคะ  

พระอาจารย์ –  นั่น จงใจเกินไปๆ ...รู้ได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น กลับมาตั้งหลักอยู่ที่กาย ไม่ต้องลังเล ไม่ต้องคิดว่าจะต้องวางอยู่ตรงไหน วางเป็นกลางๆ รู้ปกติ อยู่กับความเป็นปกติ

ไม่ได้อยู่ที่ตา ไม่ได้อยู่ที่หู ไม่ได้อยู่ที่จมูก ไม่ได้อยู่ที่กาย ...แต่อยู่ที่ปกติ เป็นฐานของศีลก่อน นะ ความตั้งมั่นเกิดขึ้นปุ๊บ เวลาจิตมันแล่นไปในอาการทางตา ทางหู ทางจมูก...ค่อยว่ากัน

ให้มันแล่นไปก่อน อย่าไปจงใจดักรู้ อย่าดักรู้ ให้รู้ก่อนๆ ...สติต้องตามหลังนะ สติจริงๆ สติปัฏฐานต้องตามหลัง จนถึงเป็นมหาสตินั่นน่ะ ถึงจะพร้อมกัน หรือว่าสมดุล หรือว่าสมังคี

หรือเรียกว่ามรรคสมังคี หรือเรียกว่าอริยมรรครวมลงเป็นหนึ่ง คือพร้อมกันน่ะ แม้แต่สัมมาสติยังไม่เรียกว่าดักรู้เลยนะ แต่พร้อมกันหมดเลย รวมลงเป็นหนึ่งในที่อันเดียว

แต่สติปัฏฐาน ต้องมีอะไรก่อนถึงรู้ ตาเห็นรูปแล้วค่อยรู้ อย่าไปรู้ที่ลูกตาแล้วค่อยรู้รูป...ไม่ใช่ ถ้าอย่างนี้จงใจ ถ้าอย่างนี้จะเห็นลักษณะเกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก จะเป็นสมถะ

เพราะมันไม่ได้อยู่ในฐานของศีล เข้าใจมั้ย หรือความเป็นปกติ ...เราไม่คิดว่าจะรู้ตรงไหนน่ะ หรือต้องไปรู้ตอนไหนน่ะ ...ตอนไหนก็ได้ ผิดปกติเมื่อไหร่ก็รู้ ผิดปกติออกมามากแค่ไหนก็รู้

ผิดปกติเร็วก็รู้เร็ว ผิดปกติช้าก็รู้ช้า สติเขาจะพัฒนาตรงนั้นไปเรื่อยๆ ...จนขณะแรกที่ผิดปกติ ตรงนั้นถึงเรียกว่าสัมมาสติ แล้วไม่มีการจงใจรู้แล้ว ไม่มีการตั้งใจรู้แล้ว ไม่มีการระวังแล้ว ไม่ได้มีการน้อมแล้ว

มันเป็นสติที่ไม่มีอาการ คือมันรู้เอง คิดปั๊บแว้บเดียว...รู้เลย ไม่ได้ยุ่งกับมันด้วย มันรู้เองน่ะ มันเห็นเลย แค่เห็น ยังไม่ทันได้ เอ๊ะ อ๊ะ...หายไปแล้ว

ยังไม่รู้เลยเป็นรูป ยังไม่รู้เลยเป็นนาม ยังไม่รู้เลยอารมณ์นี้เรียกว่าอะไร หรืออารมณ์นี้เป็นอะไร หรือมันจะไปให้ค่าอะไร แค่เอ๊ะ ก็เสร็จแล้ว อย่างนี้เขาเรียกว่าสัมมาสติ ไม่มีการจงใจ ไม่มีอัตตา

เมื่อไม่มีการจงใจหรือเมื่อไม่มีอัตตา นั่นแหละคือมันเข้าไปละอัตตา มันเห็นจิตเป็นอนัตตา นั่นล่ะคือการละอัตตาของจิตหรืออัตตาอุปาทาน ด้วยสัมมาสติ หรือสติในองค์มรรคที่แท้จริง

ไม่งั้นท่านไม่เรียกว่าสัมมานะ ...ถ้าสัมมา ขึ้นชื่อว่าสัมมาแล้วนี่ เรียกว่าอยู่ในองค์มรรคที่แท้จริงแล้ว


ผู้ถาม –  หลวงพ่อครับ ถึงจุดนั้นแล้วนี่ ก็ไม่รู้แล้วว่าเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นอะไร 

พระอาจารย์ –  ไม่รู้แล้ว ไม่แยกแยะแล้ว เป็นสักแต่ว่า    


ผู้ถาม –  สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  

พระอาจารย์ –  something anything just one  คือมันไม่ได้มี meaning หรือ naming เกิดขึ้นแล้ว ตรงนั้นน่ะถึงว่า ขณะเกิดและขณะดับพร้อมกัน


ผู้ถาม –  เพราะอย่างสติปัฏฐานนี่เรายังรู้ว่าเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิตเป็นธรรม 

พระอาจารย์ –  มันยังมีบัญญัติและสมมุตินั้นอยู่ ...เพราะนั้นเมื่อเพิกถอนบัญญัติและสมมุติออก ตรงนั้นเป็นวิมุติ จะเป็นวิมุติทันที

แต่จะเป็นวิมุติได้ต้องเป็นสัมมาสตินะ ...ไม่ใช่ไปทำให้วิมุตินะ หรือไปทำเพิกถอนความเห็น ความคิด อันนั้นมันเป็นหนึ่งในระบบของสังขารหมด

ในปรมัตถจิตหรือปรมัตถธรรมนี่ มันจะไม่มีภาษาบัญญัติ มันจะไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้น ยังไม่เกิดอาการใดๆ ทั้งสิ้น


(ต่อแทร็ก 1/35  ช่วง 4)



วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/35 (2)


พระอาจารย์
1/35 (25530526E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/35  ช่วง 1

โยม –  แต่เดี๋ยวนี้มันอยู่เปล่าๆ เยอะเกินไป

พระอาจารย์ –  ใครว่า


โยม –  ตัวเองบอกค่ะ

พระอาจารย์ –  อย่าไปเชื่อมัน อย่าไปเชื่อ “เรา” อย่าไปเชื่อ “เราว่า” อย่าไปเชื่อเราว่ามันอยู่เปล่าๆ มากไป ...ไอ้นี่คือความปรุงอันหนึ่ง มันมีความเห็นอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แล้วเราไม่รู้แล้ว ...แล้วเราก็เชื่อมันอีก


โยม –  แต่ตอนแรกคิดว่า...เอ๊ เรา ignore ปัญหาไปรึเปล่า   

พระอาจารย์ –  อย่าไปคิด ก็พูดอยู่นี่ว่าคิดอีกแล้ว เข้าใจมั้ย ...อย่าไปเชื่อความคิดนี้ความคิดนั้น มันเป็นแค่ความปรุงของจิตอย่างนึง ...จริง-ไม่จริงก็ไม่รู้ อย่าไปเชื่อ


โยม –  คือพอหลานตายแล้วไม่ร้องไห้ รู้สึกควบคุมอารมณ์ได้ว่า เออ นี่มันเกิดแก่เจ็บตาย เป็นเรื่องธรรมดา   

พระอาจารย์ –  มันเป็นยังไง รู้ยังไง...พอแล้ว  มันรู้ยังไง มันเป็นยังไง...พอแล้ว ...อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเห็นอะไร ถูกหรือผิด อย่าเอาถูกเอาผิดของบัญญัติหรือสมมุติมากำหนดจิตที่เป็นปรมัตถ์ 


โยม –  พอเวลาเราอยู่ในเหตุการณ์นั้น เราก็จัดการของมันไป  

พระอาจารย์ –  ทำได้ด้วยตัวเอง


โยม –  ตอนเรามาอยู่คนเดียว หรือมาอยู่ที่ที่วิเวก คือกลับมาถึงบ้านแล้วอย่างนี้ค่ะ เราก็..เอ ตกลงเราไปบังคับมันให้ไม่นึกคิด หรือไม่ให้มันเศร้า หรือไม่ให้มันร้องไห้ หรืออะไรหรือเปล่า 

พระอาจารย์ –  นั่นแหละคือกำลังปรุงแต่งอยู่ หาถูกหาผิด 


โยม –  ค่ะ แต่จิตมันก็ทำงานของมันดีอยู่แล้ว   

พระอาจารย์ –  มันดีอยู่แล้ว มันพอดีของมันอยู่แล้ว


โยม –  ไปหาเรื่องโทษมันอีก  

พระอาจารย์ –  โยมดู...นี่ เรายกแก้ววางอย่างนี้ ผิดรึเปล่า หรือว่าถูกมันอยู่ตรงนี้  


โยม –  ค่ะ อ๋อ สาธุค่ะ 

พระอาจารย์ –  ความเป็นจริงเขาบอกอะไรมั้ย ...เข้าใจมั้ย คนนึงบอกว่าถูกก็ได้ อีกคนบอกว่าผิดก็ได้ ...แต่ถามว่าความเป็นจริงเขาบอกมั้ย

ให้ดูตามความเป็นจริง ไม่ใช่ดูตามความเห็นของเรา หรือของใคร ...อย่าเชื่อใคร จิตเขาบอก เขาแสดงธรรมตามความเป็นจริงอยู่แล้ว ...เรามักจะเกิน เรามักจะขาด เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นกลับมาที่ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร ไม่ได้อะไร โง่ท่าเดียว บอกให้เลยแต่ไอ้ความอวดรู้ อยากฉลาด อยากตรง อยากชัด อยากใช่ นั่นน่ะมันมี


โยม –  กลัวผิด   

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย ชื่อก็บอกแล้วว่ากลัวผิด แล้วก็มีความปรุงออกมา เป็นภาษา เป็นบัญญัติ ...แล้วเราก็เชื่อหมดแหละ  "เรา" เหมือนควายที่พร้อมจะให้ถูกจูง ด้วยความคิดและความปรุง


โยม –  กิเลส  

พระอาจารย์ –  แน่นอน ตลอดเวลาด้วย ...เรารู้ทันมัน เดี๋ยวมันจะฉลาดขึ้นหนึ่งสเต็ป บอกให้เลย  ตอนนี้เราบอกแล้ว มันเริ่มมีเล่ห์เหลี่ยมที่จะไปปรุงในทางที่จะไม่ให้เราทันมันอีกแล้ว คอยดูสิ

มันจะหลุดไปรอดมาอยู่อย่างนี้...เพราะนั้นสติเท่านั้นที่จะเข้าไปเท่าทัน ...แล้วบอกให้ ถ้าเท่าทันแล้วต้องกล้าที่จะทิ้งมัน...กล้ามั้ยล่ะ กล้าที่จะทิ้งมั้ยความเห็นว่าเราถูกเราผิดน่ะ หรือว่าใช่หรือไม่ใช่อยู่นี่ 

กล้ามั้ยที่จะทิ้งความคิดความรู้สึกตรงนี้...ด้วยความที่ว่าไม่ต้องสนใจมันเลย ...มารู้ตรงนี้ รู้เดี๋ยวนี้ รู้อย่างนี้ เท่านั้นเอง ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน


โยม –  แต่บางทีมันแอบมา    

พระอาจารย์ –  แอบก็..รู้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละ ...ถ้ารู้แล้วต้องทิ้ง อย่าอ้อยอิ่ง อย่าให้มันเอิบอาบ อย่าให้มันซาบซ่านออกมาเป็นความหมาย คำพูดหรือความเห็น

ไม่อย่างนั้นมันจะพาเราไปแจ๊ดๆ แล้วก็ทำนั่นทำนี่ ไปเมาท์กัน คุยกัน...แต่ละคนนี่ คุยกันเรื่องสภาวธรรม เรื่อยเปื่อยไปหมด อะไรก็ไม่รู้   


โยม –  แต่บางทีมันก็ โอเค อยู่กับธรรมะก็ดีกว่าไปอย่างอื่น

พระอาจารย์ –  ก็ได้ ...แต่เราบอกให้ จิตมักจะมีอย่างหนึ่งคือข้ออ้าง มันจะมีข้ออ้างมาสนับสนุนการกระทำคำพูดของมันว่า "กูดี กูยังดีอยู่" ...มันเป็นตัวที่มาปลอบประโลมจิต

แล้วก็มาทำให้เรามีอาการอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอ เพราะนั้นบอกแล้ว อวิชชาปัจจยาสังขารา ...สำคัญนะ

ถ้าไม่เท่าทันสังขารเมื่อไหร่ มันคาบไปกินหมด โดยอภิปุญญาภิสังขารมาร เทวบุตรมาร สังขารมาร เป็นมารที่มากางกั้นการรู้ตามความเป็นจริงทั้งหมดเลย

ขันธมาร...ท่านเรียกขันธ์ ท่านเปรียบเทียบขันธ์ ท่านเรียกว่าเป็นขันธมารนะ เป็นมารที่มาฉุดรั้งปกปิด ...เลื่อนลอย ทำให้เคลื่อนคล้อยไป ด้วยขันธ์นี่แหละ ขันธ์ทั้งห้านี่แหละ

เพราะนั้นตั้งแต่รูปยันนาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไป ...พอมันปรากฏหรือว่าปรุงขึ้นมา หรือว่าจับนั่นผสมนี่ขึ้นมาเป็นความหมาย มีความหมายขึ้นมา

มันกระโดดปั๊บงับเลย เหมือนปลางับเหยื่อเลย ...จริงจังไปหมด ด้วยอำนาจของทิฏฐิสวะ หรือความเห็นผิดที่ออกมาจากอาสวะภายใน

เมื่อเกิดเป็นความเห็นที่เรียกว่าทิฏฐิสวะขึ้นมา มันจะเกิดกามาสวะขึ้นมา คือทะยานไปหาอารมณ์ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ เพื่อให้เกิดเวทนาใดเวทนาหนึ่ง

เห็นมั้ย เริ่มต้นจากทิฏฐิสวะก่อน ด้วยความเศร้าหมอง ด้วยความเห็นนี่แหละ มันจะเกิดไปหากามาสวะในอารมณ์ ...มันเริ่มอิมเมจขึ้นแล้ว ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วสุข ถ้าทำอย่างนี้แล้วทุกข์

ถ้าทำอย่างนี้สุขน้อย ถ้าทำอย่างนี้สุขมาก ถ้าทำอย่างนี้ได้ธรรมสูง ถ้าทำอย่างนี้ได้ธรรมต่ำ ถ้าทำอย่างนี้ได้ธรรมที่ละเอียดประณีต ...มันเริ่มมีเวทนาที่มันคาดหมายเอาไว้ด้วยกามาสวะ

เมื่อให้ความเห็นของทิฏฐิสวะ กับกามาสวะมากขึ้นๆๆ  มันเกื้อกูลกันๆ ด้วยความคิด ความเห็น ความเชื่อ ...เมื่อเชื่อปุ๊บ มันจะเกิดภวาสวะ...ภวาสวะแปลว่า ความทะยานไปในภพนั้นๆ

คือมีการเริ่มเข้าไปกระทำแล้ว เริ่มเข้าไปกระทำแล้ว ...จิตมันจึงมีการแสวงหาภพอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มาทดแทนไอ้ตอนนี้ที่ไม่มีอะไร หรือปัจจุบันนี่

มันเซ็งอ่ะ มันเซ็ง มันไม่เห็นมีอะไรให้ดู มันน่าเบื่อ เออ มันน่าเบื่อ ...เพราะว่าเราคุ้นเคยกับสีสัน กับความตื่นเต้นเร้าใจ กับอารมณ์ที่มันมีรสชาติของชีวิต ชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องมีรสชาติ

อารมณ์พวกนี้คือรสชาติที่มาปรุงแต่งจิต...สีสัน พวกนี้ แล้วเราคุ้นเคยกับสีสันมาตั้งแต่เกิด พอเริ่มมาปฏิบัติแล้วอยู่เฉยๆ บ่ดาย อยู่เฉยๆ บื้อๆ ทื่อๆ ...มันเริ่มหง่อมแล้ว

มันเริ่มหง่าวแล้ว มันเริ่มเหงาแล้ว มันเริ่มเซ็งแล้ว มันก็เริ่มมีความปรุงแต่งมาสนับสนุนซัพพอร์ทว่า ไอ้นี่ไม่ได้อะไร ไอ้นี่จะแย่ ไอ้นี่จะอย่างนั้นอย่างนี้

มันจะเกิดอาการตัณหาเข้ามาสอดแทรก มันจะปรุงได้ทั้งเป็นอภิสังขาร หรือปรุงได้ในส่วนของสังขารจิต ...ต้นตอมาจากอาสวะ ด้วยการสร้างความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา


โยม –  แล้วถ้าเกิดว่าเราอยาก สมมุติว่าอยากทำบุญ อยากใส่บาตร อยากไปกราบครูบาอาจารย์อะไรอย่างนี้คะ อันนี้คือ...

พระอาจารย์ –  ก็เป็นกิเลสทั้งนั้นแหละ...แต่ทำไปเหอะ ...พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า บาปอย่าทำ ทำแต่บุญ ถึงแม้ไอ้ทำแต่บุญน่ะมันก็คือกิเลส...แต่ว่าท่านอนุญาต เพราะมันมีอานิสงส์

แต่สุดท้ายคือชำระจิตให้บริสุทธิ์ ...ตอนนี้เราถึงขั้นตอนที่ต้องเน้น จะเน้นเอาตรงไหนล่ะ เข้าใจคำว่าไปเน้นมั้ย หรือว่าเห็นสาระสำคัญสูงสุด

เมื่อเราให้สาระสูงสุดตรงที่ทำจิตให้บริสุทธิ์ หรือว่าปัญญาเป็นที่สุดของปัญญา เราจะให้ค่าหรือให้ความสำคัญกับสาระขั้นกลางขั้นต่ำน้อยลง


โยม –  หรือควบคู่กันไป

พระอาจารย์ –  ให้มันควบคู่กันไปก็ได้ 

แต่ว่าพอควบคู่กันไปด้วยการชำระจิตให้บริสุทธิ์นี่ บอกให้เลย มันจะทำแบบตามเหตุปัจจัยซะมากกว่า ไม่ได้ทำไปแบบ..ถ้าไม่ได้ทำแล้วกินไม่ได้นอนไม่หลับ ประมาณนั้น

แต่ไอ้ทำก็ทำ แต่ไม่ใช่ทำแล้วว่า อู้ย ชาติหน้าขอให้รวยๆ ...จะไม่มีความปรารถนา หรือว่าทำเพื่อให้คนเขาเคารพยกย่องด้วยการนับถือ หรือว่าปรารถนาจะได้บุญเป็นที่ตั้ง

แต่ทำเพราะว่าเป็นบุญ (หัวเราะ) ไม่รู้ทำยังไง ก็ทำไปอย่างงั้นน่ะ ...มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้มากขึ้น แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าต้องทำอย่างนี้หรือไม่ทำ

ถ้าปัญญามันถูกชำระมากขึ้นแล้วนะ จิตมันถูกชำระให้ขาวรอบมากขึ้นแล้วนะ บาปก็ไม่ทำ บุญก็ละ  คือพูดง่ายๆ กูก็ละทั้งบุญ แล้วกูก็ละทั้งบาป ...ไม่งั้นจิตไม่ขาวรอบ บอกให้นะ

จิตจะขาวรอบนี่ไม่ใช่ขาวรอบด้วยบุญนะ หรือว่าขาวรอบแล้วยังมีบุญ ...มันบริสุทธิ์แล้ว ขึ้นชื่อว่าบริสุทธิ์แล้วนี่ มันจะมีอะไรแขวนลอยอยู่ในนั้นได้มั้ย

อย่าว่าแต่บาปเลย บุญก็ไม่มี ...ไม่มีแม้แต่อณูหนึ่งแห่งความปรารถนา หรือการปรารภ ...บอกแล้วไง คำว่าหมดจด ขาวรอบคือความหมดจด


โยม –  แล้วปุถุชนที่ยังไม่ได้บวช แล้วเรามีจิตที่อยาก เช่นการทำห้องน้ำวัด ห้องน้ำสาธารณะอย่างนี้ค่ะ ที่เราคิดว่าถ้าเราทำเราคิดว่าคนจะได้ใช้ประโยชน์ ...อันนี้คือการปรุงรึเปล่าเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ปรุง 


โยม –  ที่เราอยากทำ  

พระอาจารย์ –  ก็ทำ


โยม –  เราอยากให้มีห้องน้ำ มีเมรุเผาศพ  

พระอาจารย์ –  กุศล ...เออ ก็ดี ก็ทำ ทำไป 


(ต่อแทร็ก 1/35  ช่วง 3)