วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/8






พระอาจารย์

1/8 (25530310A)

10  มีนาคม 2553




พระอาจารย์ –    อิตถินทรีย์เนี่ย คิดเล็กคิดน้อย ...มันจะเป็นอย่างนี้ เป็นอุปนิสัยประจำขันธ์เลย 


โยม  อยากให้มันเปลี่ยนได้ในภพนี้ชาตินี้   

พระอาจารย์ –  เปลี่ยนไม่ได้...เปลี่ยนไม่ได้ แล้วก็ไม่ต้องไปเปลี่ยน เข้าใจมั้ย  เพราะมันไม่เคยทำให้เป็นทุกข์กับเราเลย  ถ้าเราไม่ไปเป็นทุกข์กับมัน แค่นั้นเอง ...สุดท้ายก็แค่นั้นแหละ ก็แค่ความคิดก็สักแต่ว่าคิด  อยากคิดก็คิดไปเด่ะ ก็ไม่ทุกข์กับความคิดก็จบ เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าเราไปมีปัญหากับมันว่า 'ทำไมยังคิดวะ ทำไมยังฟุ้งซ่านอยู่วะ' ...เนี่ย เราไปมีปัญหากับความคิด  ทั้งๆ ที่ความคิดเขาไม่ได้ว่าอะไรหรอก ...อย่าไปเดือดร้อนกับมัน แค่นั้นเอง  ต้องฉลาดกว่ามัน อย่าให้มันฉลาดกว่าเรา


โยม – ตอนนี้หนูก็ดูแค่เห็นว่าหลงคิดไปบ่อย  ตอนนี้หลงไปอีกแล้วๆ ...ก็กลับมา    

พระอาจารย์ –  เออ แค่นั้นแหละ ...  ต่อไปน่ะ นั่งเฉยๆ ก็ให้มันคิดไปเลย จะไม่มีปัญหาอะไรเลย  อยากคิดก็คิดไปเด่ะ เพราะไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไรกับความคิดเลย  ก็ไม่มีปัญหาอะไร ... เพราะงั้นไม่ต้องไปคิดว่าจะต้องให้น้อยลงหรือว่ามากขึ้นหรือว่าไม่มีเลย  


โยม –  แค่คิดแล้วไม่ได้ให้ค่า แค่เห็นแล้วก็วาง ๆ    

พระอาจารย์ –  แค่นั้นแหละ ๆ อย่าไปเดือดร้อนกับมัน ... มันไม่มีตัวไม่มีตน มันไม่เจ็บ มันไม่ปวด มันไม่ได้มาทุบ ไม่ได้มาถองอะไรเราเลย ใช่ป่าว  มันไม่มีมือ มันไม่มีตีน อะไรเลยทั้งสิ้น ...มันก็ลอยไปลอยมาแค่นี้ ไม่มีอะไรเลย เพราะนั้นมันไม่ได้เป็นทุกข์อยู่แล้ว


โยม  แต่ทุกทีใจมันไม่เป็นกลางฮ่ะ มันไม่ชอบ 

พระอาจารย์ –   ก็ให้ทันตรงนั้นน่ะ ตรงที่เราจะเข้าไปกำหนดกฎเกณฑ์กับมัน ไปตั้งกฎเกณฑ์ หรือตั้งเป้า หรือไปมีเงื่อนไข หรือไปมีปัญหา แค่นั้นเอง  

หยุด... คำว่าหยุดคือหยุด หยุดมีเงื่อนไข หยุดสร้างปัญหา หยุดมีเป้าหมาย หยุดหมด ... รู้อยู่เท่าที่มันรู้น่ะ เท่าที่มีกับเท่าที่เป็น ...แล้วก็ยอมรับว่าสุดท้ายแล้ว มันก็เป็นเช่นนั้นเอง


โยม –  ก็ทำแค่นี้ไป

พระอาจารย์ –  แค่นี้เอง ... เป็นการทำที่ไม่ได้ทำ  แต่ไม่ได้ทำก็เหมือนทำ เพราะว่ามรรคมันเจริญ ... ไอ้ที่ว่าไม่ได้ทำก็เหมือนทำนี่ คือจิตมันดำเนินไปในองค์มรรคอยู่แล้ว  ไม่ได้ทำก็เหมือนทำ ไม่ทำก็เหมือนทำ  ต้องหยุด...มันจึงจะเป็นการเดินของมรรค


โยม – ที่ผ่านมาที่หนูเล่าก็ไม่มีอะไรต้องแก้ไขใช่ไหมคะ   

พระอาจารย์ –  ไม่มี ...เพียงแต่ว่าเราอย่าไปสงสัยมาก  อย่าไปกังวล อย่าไปวิตกว่าใช่หรือไม่ใช่  หรือว่าหาทางแก้มัน หรือว่าไปตำหนิว่ามันไม่ดี เข้าใจมั้ย  


โยม  ค่ะ  

พระอาจารย์ –   ถ้ามันไม่ดีน่ะ มันไม่เกิด เข้าใจป่าว ... คือถ้ามันไม่พอดี มันจะไม่เกิด เพราะมันเกิดขึ้นมานี่มันพอดีแล้ว มันจึงเกิด  เพราะนั้นมันพอดีแล้วนะ มันจึงเกิดอาการขึ้นมา ...แต่เวลามันเกิดแล้ว ใจเราไม่พอดี... ใจไม่รับรู้ด้วยความเป็นกลาง แค่นั้นเอง

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด เราถือว่าพอดี...ไม่พอดีไม่เกิดนะ  เนี่ย (เสียงของสัมผัส)  ถ้าไม่พอดีไม่มีทางเกิดเสียง เข้าใจมั้ย  ถ้าอย่างนี้ถือว่าพอดี มันถึงเกิด ...แต่ว่าเราชอบหรือไม่ชอบในอาการที่เกิดนี้ เท่านั้นเอง


โยม –   ที่ผ่านมาก็เห็นตัวเองยอมรับได้มากขึ้น  อย่างเมื่อก่อนถ้าเครื่องบินดีเลย์สามชั่วโมงนี่ โกรธมากค่ะ  แต่เดี๋ยวนี้พอเครื่องบินดีเลย์สามชั่วโมง ก็คิดว่า เออ มันคงมีเหตุที่ต้องให้เป็นแบบนี้  ก็อยู่กับมันได้น่ะค่ะ   

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นลักษณะนี้เนี่ย...คือเรียนรู้แล้วก็ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข ลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ... สุดท้ายจนกระทั่งถึงวาระที่ร่างกายเราแตกดับน่ะ เข้าใจมั้ย   ขันธ์น่ะจะแตกดับ สุดท้ายแล้วจิตก็จะรับรู้เวลาขันธ์จะแตกดับนี่ ก็รับรู้เหมือนว่า...เป็นธรรมดา ไม่มีอะไร ก็เป็นธรรมดา

เหมือนกับแต่ก่อนโยมหงุดหงิดรำคาญเป็นทุกข์เวลาเครื่องบินดีเลย์ แล้วก็เริ่มยอมรับได้  เออ ทุกข์ก็น้อยลงๆ จนถึงว่าเป็นเรื่องธรรมดาของเขา เราแก้ไขอะไรไม่ได้ ... เหมือนกัน  ต่อไปเวลาขันธ์เราจะตาย เราก็นั่งมองเหมือนกัน ...เออ กำลังจะบอกลากันไป เป็นธรรมดา ก็เป็นเรื่องปกติเลย อย่างนี้


โยม –  อย่างนี้ก็เหมือนจิตที่มันเคยขมวดเกลียวมา ถ้าเขาจะคลายตัว เขาก็คลายของเขาเองมาเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –   ใช่ เขาคลายมาตามลำดับขั้น นะ  จนถึงขั้นที่ว่าปล่อยวางได้โดยสิ้นเชิง  แต่พวกเรายัง...ยังไม่สิ้นเชิง ยังไม่ถึงขั้นสิ้นเชิง


โยม   ยังแค่เพิ่งเริ่มคลาย 

พระอาจารย์ –  บางเรื่องบางราวยังเหมือนกับเป็นหมางับกระดูกอยู่ เข้าใจมั้ย 


โยม –   ค่ะ  

พระอาจารย์ –  แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่หมาเดินเมินเฉยกับกระดูกน่ะ  เพียงแต่ว่ามันยังไม่เป็นแบบตายตัวเท่านั้นเอง ... แต่ว่ามันก็จะค่อยๆ พัฒนา บอกแล้ว มรรคเขาก็ดำเนินไปอย่างนี้  

เพราะนั้นต้องแยกให้ออก อย่างที่อธิบายให้เข้าใจถึง...อัตตากับสักกาย(สักกายะ) 

อัตตานี่ไม่ต้องเลิกละเพิกถอนเลย...เป็นตัวจริง  เพราะขณะที่รู้ครั้งแรก จิตแรกที่รู้ว่ามีอะไรก็ตามหรือไม่มีอะไรก็ตาม...ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ใจรับรู้ ความคิด อารมณ์ก็ตาม 

ขณะแรกที่เกิดขึ้นแล้วรับรู้ ...ถ้าเรารับรู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง เราจะเห็นความดับไปของอัตตาในขณะนั้น ... เพราะนั้นมันจะเป็นการละอัตตาในขณะแรกเลย   คือจะไปเห็นความหมายของคำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน 

เพราะนั้นแม้แต่อัตตาตัวแรกที่เกิด... คืออัตตาตัวแรกนี่เป็นตัวที่เราควบคุมไม่ได้ ทำอะไรกับมันไม่ได้นี่  ...มันยังมีความดับไปเป็นธรรมดาเลย  โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร  แค่รู้นี่ เห็นปุ๊บมันก็ไม่มีอะไรอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรเลย มันก็ดับ ตรงเนี้ย

เพราะนั้นการดับ ... การที่ปล่อยให้อัตตามันเกิดขึ้นแล้วเห็นมัน เท่าทันมัน เรียกว่าเข้าไปเรียนรู้ความดับไปของอัตตาโดยปริยายอยู่แล้ว โดยไม่ต้องทำอะไร

 แต่ตัวที่ต้องระวังคือ สักกาย คือให้ค่าต่อมา การให้ค่าต่อมา ... ตัวแรกที่รู้ ลักษณะนี้ก็รู้ด้วยวิตก เข้าใจมั้ย  ตัวที่คิดปรุงแต่งออกมา ตัวนี้เขาเรียกว่าวิจาร มีการวิจารอารมณ์นี้ต่อเนื่องออกมาแล้วให้ค่า ให้สังเกตดูเพราะนั้นสติจะต้องมาคอยดู คอยเห็นตรงนี้ให้ทัน ๆ


โยม –  แล้วอย่างเวลาเราเกี่ยวข้องกับผู้อื่น แล้วพอทำอะไรเสร็จ พูดอะไรเสร็จ เรารู้สึกได้ถึงความมีมานะอัตตา แล้วเหมือนกับมันมีตัวมานะเข้ามา  ก็คือรู้ไปอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ต้องทำอะไรใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องทำอะไร ให้รู้...ดู    


โยม  หลังๆ โยมก็จะเห็นตรงนี้บ่อย  พอพูดอะไรจบไปปุ๊บ เอ๊อะ มันเหมือนกับเห็นตัวมานะอัตตาขึ้นมา เห็นความที่แบบไปดีกว่าคนอื่น ไปยึดในความคิดที่ถูกกว่าคนอื่นอะไรอย่างนี้ฮ่ะ  ก็แค่รู้สึก ดูแล้วก็วางเหมือนกัน ใช่ไหมฮะ

พระอาจารย์ –  ดู...แล้วก็จะเห็นเองว่า อัตตาตรงนั้นก็ดับไป มานะตัวนั้นก็ดับไป ในขณะที่ดูเห็นมันอย่างนั้นน่ะ  เพราะขณะที่มันเกิดน่ะเราไม่เท่าทันการปรุงแต่ง การให้ค่า  

เพราะอารมณ์พวกนี้บางทีละเอียดนะ มันละเอียด ...ไอ้ลักษณะที่ดีใจเสียใจด้วยการคิด หรือเป็นทุกข์เป็นสุข นี่ยังหยาบอยู่นะ ...ถ้าเป็นความถือตัวถือตน ความเหนือกว่า ต่ำกว่า สูงกว่า ลักษณะอย่างนี้มันละเอียด  


โยม –  มานะอัตตานี่โยมจะเห็นหลังจากที่มันเกิดขึ้นแล้วตลอด    

พระอาจารย์ –  ใช่ ...แล้วมันจะขยับเอง ให้เห็นว่าตั้งแต่เหตุแรกที่เกิด ... แต่ตอนนี้เราไปเห็นผล  

เพราะนั้นเมื่อเวลาเห็นผลเมื่อไหร่ปุ๊บ เรียกว่าเราต้องเสวยวิบากแล้ว เข้าใจมั้ย  วิบากคือว่าพอรู้ว่ามีมานะหรือมีอัตตาหรือว่ามีความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ตนปุ๊บ  พอเรารู้ปุ๊บตรงนั้น...ปั๊บวิบากคือทุกข์เลย จะเห็นทุกข์ของอารมณ์นั้น

เพราะนั้นเราไม่ทันเหตุให้เกิดทุกข์ เข้าใจมั้ย  สติยังไม่ทันเหตุที่เกิดทุกข์ตัวนี้ ... แต่เรามาเห็นทันตอนที่เป็นผลคือเสวยวิบาก ... ก็คือจะต้องรับผลแล้ว ก็รับผลเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้างแล้วแต่  

สุขก็มีนะ บางอารมณ์ที่เราสุขสบายหรือว่าโปร่ง แล้วเรามารับรู้...สบายใจ อย่างนี้  เราไม่เห็นว่าเหตุแรกที่เราเข้าไปจับคือตรงไหน ยังไม่เห็นเหตุแรกแห่งการเกิดอุปาทานทุกข์ หรือว่าความเข้าไปหลงน่ะ

แต่เรามาเห็นตอนที่ อ้อ รับผลแล้ว  เพราะนั้นก็ต้องรับผล เสวยวิบาก ... แล้วไม่ต้องทำอะไรกับวิบากนะ ก็แค่รู้เฉยๆ  ก็เห็นว่าเออไม่ดี เออดี อย่างนี้ ...ก็รู้ แล้วไม่ต้องทำอะไร  

อย่าไปตำหนิมัน อย่าไปคิดแก้มัน มันแก้ไม่ได้แล้ว ... มันแก้ไม่ได้แล้วนะ คือผลนี่ต้องรับน่ะ...ต้องกิน คุณต้องกินให้หมดน่ะ ยังไงก็ต้องกิน

เหมือนเขาตำส้มมาให้คุณกินจานนึงนี่  เขาจะตำมารสชาติไม่เป็นสัปปะรดก็ตาม หรือตำมาให้อร่อยสุดก็ตาม  คุณต้องกินให้หมด เลือกไม่ได้แล้ว เขาตำมาแล้ว ...จะเอากลับคืนมาเป็นมะละกอ แยกคืนมาเป็นปูเค็ม น้ำปลา น้ำตาล มันแยกคืนไม่ได้แล้วนะ เข้าใจมั้ย

มันเสียของมาแล้ว มันปรุงมาแล้วน่ะ คุณต้องกิน ... ถ้าโยนทิ้ง เดี๋ยวเขาก็ต้องทำให้คุณกินใหม่ เข้าใจมั้ย  ... ก็กิน แล้วก็กล้ำกลืนฝืนทน อร่อยก็ต้องกิน ไม่อร่อยก็ต้องกิน  อย่างนี้ เป็นวิบาก การเสวยวิบาก ... แล้วครั้งต่อไป ไวขึ้นเอง


โยม –  เดี๋ยวนี้ยังแค่ทัน  เมื่อก่อนนี้พอทันว่ามีมานะอัตตานี่ ยังฟุ้งซ่านต่อไปอีกว่า 'เอ๊ะ เราทำไมเป็นคนอย่างนี้ จะทำอะไรอย่างนี้' ...  เดี๋ยวนี้ไม่ต่อแล้วค่ะ เพราะจำที่หลวงพ่อบอกว่า ร่างกายก็ยังบังคับการเคลื่อนไหวได้แค่นิดหน่อย นอกนั้นบังคับไม่ได้หมด โยมพอจำประโยคนี้ได้ โยมก็ค่อนข้างจะปล่อยเกือบทุกอย่างไป   

พระอาจารย์ –  อย่าไปควบคุมมัน อย่าเข้าไปเป็นเจ้าของมัน ...ตรงนี้มันจะเรียนรู้ถึงการที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นไปตามเหตุและปัจจัยล้วนๆ ...เราไม่เกี่ยว 

เหมือนกับพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกนี่  เราไม่เกี่ยวเลย  ไม่มีพระเจ้ามากำหนดด้วย ...เป็นเหตุปัจจัยของธรรมชาติล้วนๆ และเป็นกฎของความเป็นจริง ที่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันหมด คือไตรลักษณ์ เข้าใจมั้ย  

ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติจริงๆ  หรือว่าเป็นธรรมชาติที่เราปรุงแต่งก็ตาม  เห็นมั้ย มีธรรมชาติสองอย่าง ธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติจริงๆ กับธรรมชาติที่เราปรุงแต่งขึ้น...นี่อย่างนี้ (เสียงขยับของ) เกิดจากการปรุงแต่งขึ้น ไปสร้างขึ้น ผสมขึ้น จับมันมารวมกันหรือไม่รวมกัน แล้วมันออกมาเป็นรูปร่างไหนก็ตาม  

แต่ไม่ว่าธรรมชาติที่แท้จริง หรือธรรมชาติที่เกิดจากเราปรุงแต่งก็ตาม  ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ... สุดท้ายอยู่ในเงื่อนไขนี้หมด ไม่ว่าอะไร  คือควบคุมไม่ได้ เป็นทุกข์ แล้วก็แปรปรวน แค่นั้นเอง


โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ ในขณะที่สติปัญญาเราไม่กล้ามากนี่ เราจะแยกแยะในแต่ละการกระทำว่าเป็นเหตุปัจจัยที่ประชุมมาพร้อมแล้ว หรือว่าเป็นจากความอยากนี่  มันจะแยกความอยากกับเหตุปัจจัยที่แท้จริงอย่างไร    

พระอาจารย์ –  อย่าไปแยก...นี่มันแยกด้วยความคิดน่ะ ด้วยการพิจารณา  แล้วมันจะสับสนน่ะ  อย่าไปคิด อย่าไปคิดเลย  ดูอย่างเดียว...รู้กับเห็น ด้วยสติกับสัมปชัญญะ ... สติคือรู้   สัมปชัญญะคือเห็นทั่ว

เมื่อสติกับสัมปชัญญะพัฒนาแก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเรียกว่าญาณทัสนะ  ญาณก็แปลว่าหยั่งรู้ ทัสนะก็แปลว่าเห็นชอบ เข้าใจมั้ย ...ก็เกิดจากการรู้และเห็นอย่างเดียวเท่านั้น

เพราะนั้นญาณทัสสนะไม่ได้เกิดจากการคิดเลย ไม่มีคำว่าคิดหรือว่าวิจารเข้ามาเกี่ยวข้องเลยนะ หรือว่าพิจารณา ไม่ได้เกี่ยวเลยนะ ... พวกนี้มันเป็นแค่อุบายสำหรับเด็กหรือว่าคนที่ยังลังเลสงสัย หรือว่ายังไม่เข้าใจ หรือว่าฟุ้งซ่านมากแค่นั้นเอง 

แต่ถ้าเราเข้าใจถึงหลักแล้ว เข้าใจถึงหลักของสติหรือว่าการกำหนดรู้ทุกข์ตามความเป็นจริงแล้วนี่ ไม่ต้องย้อนกลับไปพิจารณาอะไรทั้งสิ้นน่ะ ...ทำให้มันสั้นที่สุด  คำว่าสั้นที่สุดคือ รู้ตรงไหน...ละตรงนั้น หรือว่ามีเท่าไหร่ก็รู้เท่าที่มันมี เห็นเท่าที่เห็น ...มันเห็นตอนที่เป็นวิบาก ก็รู้ พอแล้ว เข้าใจมั้ย 

อย่างที่ได้ตำส้มมาจานนึงแล้วนี่ ...กินไปคำนึง รสชาติไม่เป็นสัปปะรดเลยนะ  แล้วมานั่งคิดว่า...'มันจะต้องใส่ปลาร้ากี่ตัววะ หรือมันใส่น้ำปลากี่ช้อน หรือมันใส่ปลาร้าก่อน หรือมันใส่ปลาร้าทีหลัง แล้วมันตำกี่ทีวะเนี่ย'

ถามว่า คิดเอาแล้วมันจะรู้มั้ยเนี่ย ฮะ ...มันก็ได้แต่คาดเดาเอาน่ะ  มันจะไม่จริงเลยว่าทำไมรสชาตินี้มันถึงไม่เป็นสัปปะรด แล้วจะเชื่อได้มั้ย มานั่งเพ่งคิดว่ามันจะต้องตำ 5 ที มันจะต้องใส่ปลาร้าทีหลัง  ทั้งที่ความจริงอาจจะไม่ใช่อย่างนี้ก็ได้

แต่...ถ้าจะรู้จริงน่ะ กินๆ เข้าไปให้หมด กินเข้าไปให้หมดจาน  เมื่อสั่งใหม่ ...ตอนเขาจะตำใหม่ โยมต้องวิ่งเข้าไปดูในครัว อย่างนี้ ...ไม่ต้องถาม ไม่ต้องคิดพิจารณา  ก็แค่ดูเขา...ขอดูหน่อยค่ะ

โยมก็จะเห็นว่า เออ ขบวนการตำส้มจานนี้เขาทำอย่างไร รสชาติมันถึงสัปปะรังเค หรือว่าอร่อยอย่างนี้ เข้าใจมั้ย ... ก็ด้วยการ เห็นกับรู้ ตามความเป็นจริง ในขณะที่เขากำลังตำ กำลังหยิบของมาใส่ นี่เรียกว่าเห็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว เข้าใจมั้ย ...ไอ้ตำส้มจานนี้คือวิบาก คือผล

เพราะนั้นเมื่อมาทันตอนวิบาก เขาตำเสร็จแล้วนี่ ยังไงๆ ไม่มีทางเห็นเหตุหรอก


โยม –   ต้องรับวิบาก 

พระอาจารย์ –   ต้องรับลูกเดียว แล้วก็คอยสังเกตใหม่ ... ไม่ต้องกลัวไม่เห็น เข้าใจมั้ย  มันซ้ำซากอยู่นั่นแหละ บอกให้  อย่าไปกลัวช้า อย่าไปกลัวไม่เข้าใจ อย่าไปกลัวว่าจะไม่มีปัญญา ... อารมณ์ไหนความทุกข์ไหนที่ยังไม่แจ้ง มันจะซ้ำอยู่นั่นแหละ ให้กลับมาเรียนรู้ใหม่

ติดในเรื่องกาม เดี๋ยวมันก็ซ้ำอยู่ในเรื่องนั้นแหละ  ให้มารู้ใหม่ อยู่อย่างนั้น  ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่รู้กับมัน  ติดในเรื่องความโกรธ เดี๋ยวมันก็ต้องมีผัสสะมากระทบให้เราต้องโกรธ อยู่นั่นแหละ  ขยันรู้เข้าไปเถอะ

แล้วจะเห็นว่า อ้อ จับขโมยได้แล้ว ..อ้อ ตอนนี้เอง อ้อ ตอนนี้เอง  เราเข้าไปมีอุปาทานตอนนี้ เราเข้าไปหมายมั่นเอาตอนนี้ แค่นั้นเอง ... ด้วยการรู้กับเห็น เนืองๆ สม่ำเสมอ บ่อยๆ  อย่าเบื่อ อย่าท้อถอย   จะเกิดกี่ครั้ง ร้อยครั้ง ก็ต้องรู้ร้อยครั้ง ... รู้บ่อยๆ เดี๋ยวมันจะแจ้งขึ้นมาเอง


โยม  หลวงพ่อ แต่มีบางช่วงที่ดูๆ มันอย่างนี้ แล้วมีช่วงที่จิตมันเบื่อมาก มันเบื่อจนไม่รู้จะเอาตัวไปอยู่ที่ไหน แล้วทุกข์มากค่ะหลวงพ่อ  ไม่ว่าจะคิดจะมองไปเรื่องไหน มันทุกข์ หาทางออกไม่ได้ ทั้งเบื่อทั้งทุกข์  แต่พอวันที่หาย โยมก็จับไม่ได้ว่ามันหายไปจากอะไรค่ะ มันเป็นอยู่พักนึง แล้วเวลาหายก็หายเอง

พระอาจารย์ –  อือฮึ...จบ  


โยม – แต่มันจะมีสลับกันอย่างนี้เป็นช่วงๆ ใช่มั้ยคะ    

พระอาจารย์ –   จบ เข้าใจมั้ย มันเกิดยังไง ก็รู้ว่าเป็นยังงั้น ... มันเกิดก็รู้ว่ามันเกิด มันตั้งอยู่ก็รู้ว่ามันตั้งอยู่ มันดับก็รู้ว่ามันดับ ...จบ  ไม่ต้องไปปรุงต่อ ไม่ต้องไปหาเหตุหาผล ไม่ต้องไปบอกว่าอะไร เพราะอะไร มันถูกหรือมันผิด มันควรหรือมันไม่ควร  


โยม –  ก็ทุกข์ก็อยู่กับทุกข์ แล้วก็ดูเขาไป  

พระอาจารย์ –  จบตรงนั้นให้ได้  ...ไม่ต่อ ไม่ยืดเยื้อ ไม่อ้อยสร้อย ไม่คลอเคลีย ไม่เสียดาย ไม่กังวล ไม่สงสัย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หาความถูกความผิด ไม่อะไรทั้งสิ้น ... มันเป็นยังไงคือเป็นยังงั้น  เข้าใจความหมายนี้มั้ย ...จบ 

โง่ เห็นมั้ย โง่ที่สุดเลย โง่ ... เพราะอะไร  เพราะจิตธรรมดามันไม่รู้อะไร ใจจริงๆ มันไม่รู้อะไร  เราก็พยายามจะให้มันรู้ให้ได้  

มันมีหน้าที่อย่างเดียวคือรู้ในสิ่งที่ปรากฏต่อหน้ามันเท่านั้น นั่นน่ะคือใจ  มันไม่รู้อะไรหรอก เข้าใจยัง ... ไอ้ที่มันรู้อะไรนั่นคือความปรุงแต่ง  แล้วเราเข้าใจว่าไอ้ที่ความปรุงแต่งหรือว่าต้องรู้อะไรนั่นเรียกว่าปัญญา 

เนี่ย ไม่ใช่ปัญญา มันเป็นความติดข้อง ...เป็นความวิจาร เป็นการที่ว่าคิดไปเรื่อยเปื่อย ... ใครคิดไปได้ละเอียดลออ แล้วมาเรียบเรียงคำพูดให้มันละเอียดถี่ถ้วนหน่อยก็ว่าเก่ง ก็ว่ารู้ดี ก็ว่ารู้ทั่ว ... แต่เราบอกว่าฟุ้งซ่าน เข้าใจมั้ย คือความฟุ้งซ่านอย่างหนึ่ง ...แม้จะเป็นธรรม ท่านก็เรียกว่าฟุ้งซ่านในธรรม 

รู้เท่าที่มันมี มันเป็นเท่าที่มันเป็น นั่นแหละคือหน้าที่ของจิต รู้เท่าที่เห็นอยู่ต่อหน้า แค่นี้  อะไรก็ไม่รู้ด้วย อะไรก็ไม่รู้ มันไม่รู้ด้วย ...หน้าที่ของมันคือรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น แค่นั้นเอง นั่นน่ะคือใจ ... ไม่ต้องไปหาความหมาย ไม่ต้องไปบอกว่ามันถูกมันผิด  มันคือความจริง มันรู้ตามความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่

เพราะนั้นตรงนี้ ท่านเรียกว่าจิตสักแต่ว่าจิต กายสักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่ว่าเวทนา ธรรมสักแต่ว่าธรรม  ...คือคุณเป็นยังไงคุณก็เป็นยังงั้นน่ะ ฉันไม่ยุ่งกับคุณ เห็นมั้ย  ถ้ารู้เท่าทันมันแล้ว เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีค่าแค่...สักแต่ว่า

ไม่ได้ว่าต้องอะไรกับมันเลย ไม่ต้องไปทะนุถนอม ไม่ต้องไปตบหัวลูบหลังหรือเข้าไปดูแลรักใคร่ทะนุบำรุง หรือว่าทำให้มันเสื่อมลง ทรามลง ... คือไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเขาเลย เขาเป็นยังไงเขาก็เป็นของเขายังงั้น เขาเกิดมายังไงเขาก็ไปของเขายังงั้นแหละ

จบให้ได้อย่างนั้น นั่นแหละคือสัมมาทิฏฐิ  ... จะต้องเห็นตามความเป็นจริง และจะต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้ว เขามีแค่นี้ ... เขามีแค่นี้จริงๆ เราไม่ต้องไปเพิ่ม เราไม่ต้องไปลด มันรู้แค่ไหนคือรู้แค่นั้น

อย่ากลัวโง่ ... เพราะว่าเราสอนให้โง่  ถ้าโง่ ยิ่งโง่...มันจะยิ่งเข้าสู่ตัวฐานของใจมากขึ้น เข้าใจมั้ย  แล้วไอ้ตัวโง่ตัวสุดท้ายนั่นแหละ นั่นแหละคือความรู้ที่มีอยู่กับมัน 

นั่นน่ะคืออัปปมาโน อัปปมาโนพุทโธ อัปปมาโนธัมโม อัปปมาโนสังโฆ  คือตัวที่เรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ...พอแล้ว  ตรงนั้นน่ะคือความรู้อันประเสริฐ คือวิชชา ที่สุดของความรู้

กับไอ้การที่เราไปรู้เป็นเรื่องเป็นราว ... ถามว่าโยมจะรู้มั้ยว่า ต้นไม้เนี่ย มันมีอะไรเป็นองค์ประกอบ  แล้วอยากรู้มั้ย เอ้า ถ้าอยากรู้ โยมไปหาอ่านได้ ศึกษาได้ ถามผู้รู้ได้  เอ้า แล้วต้นนี้ล่ะ สงสัยอีกว่ามันมีอะไรประกอบถึงเป็นอย่างนี้ อยากรู้มั้ย ไปหาศึกษาก็รู้ได้  อ่ะแล้วไม้อันนี้ล่ะ อยากรู้มั้ยมันมาจากไหน

เข้าใจมั้ย มันจะไม่มีคำว่าจบเลย ถ้าไปไล่รู้มันหมดทุกเรื่องนี่น่ะ ... ตายมาอีกกี่ชาติ เกิดมาอีกกี่ชาติ มันก็มีของใหม่ๆ ความปรุงแต่งใหม่ๆ ที่มาที่ไปมาจากไหนก็ไม่รู้ เข้าใจมั้ย  จะไปตามรู้รายละเอียดมันได้หมดไหม

อย่างโยมยืนหลงทางอยู่ในป่า แล้วจะออกนอกป่า ... ถามว่า โยมจะต้องตัดต้นไม้ทั้งป่ามั้ย เพื่อจะได้ออกจากป่า  หรือเอาแค่ตัดพอเป็นทางเดิน แล้วก็เดินออกจากป่า ... อันไหนจะเป็นงานที่ควร หรือตามกำลังของเรา

หรือว่าโยมเป็นพระพุทธเจ้า ...ถ้าพระพุทธเจ้าท่านถางป่าเลย เข้าใจมั้ย  กำลังท่านเยอะ บารมีท่านสูง ความสามารถ ความเข้มแข็งของท่าน ...ท่านต้องทำอย่างนั้น คือเอาจนหมดน่ะ  

แต่พวกเรา...แค่เนี้ย รู้เท่าที่รู้ คือกำลังของเรา...ถางแค่ทางเดิน ไปได้ก็ไปแล้ว ไม่ต้องกังวลว่าป่ามันจะต้องเป็นไง

เพราะนั้นเราไม่จำเป็นจะต้องไปรู้อะไรมากกว่านี้หรอก  รู้แค่นี้ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นยังไง แค่นั้นเอง  แล้วก็รู้ตามความเป็นจริง คือรู้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของมัน  แค่นี้ พอแล้ว ...แค่นี้ก็เพียงพอต่อการที่จะเข้าสู่มรรคผลนิพพาน หรือเข้าสู่อริยมรรคแล้ว

นอกนั้นเป็นความเกิด เป็นความสุดโต่ง ทั้งในฝ่ายของกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ด้วยความอยากและไม่อยาก ทั้งนั้นน่ะ ... ไอ้ที่รู้น่ะมันอยากรู้ ไม่ใช่รู้ไปทำอะไรหรอก รู้ด้วยความอยาก  ก็มันอยากรู้อ่ะ ไม่รู้แล้วมันกินไม่ได้นอนไม่หลับ อะไรประมาณนั้น เข้าใจมั้ย

ก็พยายามหักหาญความอยากรู้อยากเข้าใจอะไรอย่างนี้ เพราะเข้าใจไปก็ไม่มีประโยชน์ ... เพราะบทเวลาที่จิตมันจะดำเนินหรือว่าเข้าไปแยกแยะธรรม เขาดำเนินของเขาเอง นะ  เขาจะมีการวิจยะธรรมของเขาเอง ...ไม่ใช่เราไปวิจยะ แต่จิตเขาจะวิจัยจิตเอง ไม่ใช่เราไปทำ


การดำเนินไปก็ต้องอดทนหน่อยนะ ต้องอดทน  เพราะมันเป็นสิ่งที่มันหนีไม่พ้น...ในทุกสิ่งที่ปรากฏ มันไม่ใช่ความผิดของใคร ไม่ใช่ความผิดของเรา ไม่ใช่ความผิดของอะไรทั้งสิ้น  มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยล้วนๆ 

มันมายังไงก็พยายามรับรู้กับมัน เท่าที่จะยอมรับกับมันได้ แก้ไปเท่าที่จะแก้ได้ แค่นั้นเอง  ไม่ต้องหวังผลอะไรมากกว่านี้ มันก็ได้เท่านี้ดีที่สุดแล้ว ...แล้วมรรคมันก็จะค่อยดำเนินไป

อะไรเสื่อม อะไรเสีย อะไรจะพัง อะไรจะดับ อะไรจะแตก อะไรจะหัก ไม่ต้องเสียดายมัน ...เสียดายอย่างเดียวว่าจิตเราจะแตกจะหักกับมันรึเปล่า  ตรงนั้นเป็นใหญ่เลย เป็นประธาน  อย่าให้หัก อย่าให้แตก อย่าให้ไปแตกกับมัน อย่าให้ไปหักกับมัน อย่าให้ไปขึ้นกับมัน อย่าให้ไปลงกับมัน ตรงนั้นสำคัญ

ส่วนอื่นมันควบคุมไม่ได้หรอก ส่วนอื่นมันห้ามไม่ได้  มันจะแตก มันจะหัก ของมันจะแตก ฝนฟ้ามันจะตก แดดจะออก จะร้อน จะไม่ร้อนนี่ ...เราไม่ต้องไปปรารภเลย ไม่ต้องไปกังวล  เพราะว่ามันห้ามไม่ได้อยู่แล้ว  

สำคัญอยู่ว่าใจของเราน่ะ มันไปแตกไปดับกับเขามั้ย มันไปขึ้นไปลงกับเขามั้ย ตรงนี้สำคัญ ... ให้คอยกลับมาสังเกตจุดนี้ แล้วเราจะไม่ขึ้นไม่ลงกับมันเอง

แต่การที่จะทำให้ภายนอกมันไม่ขึ้นไม่ลง มันทำไม่ได้ๆ ... ใครที่ว่าทำได้เขาก็ทำได้เท่าที่เขาทำนั่นแหละ แต่ว่าผลเป็นยังไงเราไม่ต้องไปหวัง ... ใจเราก็อยู่เหนือกับการกระทำภายนอกทั้งหลายทั้งปวง

เจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นธรรมดา เป็นทุกข์  มันต้องมีอย่างนี้...ขันธ์น่ะ  เกิดมาปั๊บเนี่ย กากบาทกลางหัวได้เลย...ทุกข์ตั้งแต่เกิดยันตาย  ไม่มีทางหรอกที่ใครไม่เป็นทุกข์...ถ้าเกิดมาแล้วนี่ เป็นอย่างนี้  ทุกข์มากทุกข์น้อยว่ากันไป ...แต่ยังไงก็ทุกข์เป็นที่ตั้ง อยู่กับทุกข์ตลอดเวลา ไม่ต้องหนีมันเลย

มองมันเหมือนกับเป็นเพื่อนน่ะ ไม่ได้มองเป็นศัตรูนะ ...ไม่ได้มองขันธ์เป็นศัตรู มองทุกขเวทนาเป็นศัตรู ไม่ได้มองความเจ็บความตายความพลัดพรากเป็นศัตรู ... แต่มองเหมือนเป็นเพื่อน สนิทเลย  เพราะมันจะต้องอยู่กับเราอย่างนี้  คบกันเป็นเสี่ยวไปเหอะ ไม่ต้องไปคิดว่า 'เฮ้ย มึงทำไมเป็นยังงี้วะ เฮ้ย มันยั้งงั้นยังงี้ ทำไมมันไม่ได้ยังงั้น ทำไมไม่ได้ยังงี้'  นี่ มันจะเป็นศัตรูกัน

เพราะนั้นอยู่ด้วยกันแบบสันติซะเลย ... เมื่อมันไม่ฟังเรา เราก็จับมือผูกเสี่ยวเป็นสันติ อยู่ด้วยกัน มาก็มา ไปก็ไป  ยอมรับได้โดยไม่มีเงื่อนไข แค่นั้น สบาย ... ก็จะมองเห็นเวลาร่างกายแตกดับ ก็บอกแล้ว เหมือนกับขนนกปลิวไปปลิวมา เป็นความรู้สึกแค่นั้นเองจริงๆ

จิตที่วางได้ หรือว่าเหนือกว่าทุกข์แล้ว หรือเห็นทุกข์เป็นเรื่องธรรมดานะ ... อาการที่เราว่าเป็นทุกข์หนักหนาสาหัส รับไม่ได้กับมัน  ก็เหมือนแค่ขนนก หรือว่าใบไม้ร่วงที่ปลิวไปปลิวมา ไม่มีความหนักความเบาตรงไหนเลย   

ความหนักความเบามันเป็นการที่เราให้ค่ากับมันเท่านั้นเอง ...แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นแค่สักแต่ว่า เป็นความจริงที่ปรากฏขึ้นอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ... แล้วมันก็จะค่อยๆ ดีขึ้น จิต...ที่มันอยู่เหนือภาวะนั้นได้ สำคัญที่สุดนะ

เพราะนั้นอะไรก็ตามเกิดขึ้น...กลับมาปรารภที่ใจ  คอยสังเกตที่นี่ที่เดียว ...จึงจะออก จึงจะหลุด จึงจะพ้นจากความมีและความเป็น หรือความแปรปรวนของธรรมชาติทั้งหมด  

เราอยู่กับความแปรปรวน ก็หนีไม่พ้นความแปรปรวน เราอยู่กับธรรมชาติที่ไม่สามารถจะเสถียรได้ ไม่เที่ยง เนี่ย ทำไมถึงต้องมีหมอ ...ก็ถ้ามันเที่ยง มันก็ไม่ต้องมีความเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว อาชีพนี้จึงเกิดขึ้นเพราะความแปรปรวน เป็นธรรมดา ...มองเป็นเรื่องธรรมดา

เพราะนั้นไม่ใช่ว่าผิดหรือว่าถูก มันเป็นอย่างนี้...แล้วก็เป็นเช่นนี้  เราเกิดมาก็ต้องเจอมัน เราตายไปแล้ว คนอื่นอยู่ เขาก็ต้องเจออย่างนี้  มันเป็นความเป็นจริงที่อยู่คู่กับโลกกับจักรวาล แล้วก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์  คือ สุดท้ายแล้วมันก็ควบคุมไม่ได้

พระพุทธเจ้าอุตส่าห์บำเพ็ญมามากมายมหาศาล เพื่อมาชี้ให้เห็นความเป็นจริงอย่างนี้ ...  ชี้นี่ไม่ได้ให้แก้อะไรเลยนะ  แต่ชี้เพื่อให้ยอมรับมันซะ ... อย่าไปดิ้นรน อย่าไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน อย่าไปขัดขืน อย่าไปคิดว่ามีอำนาจเหนือกว่าเขา แค่นี้เอง ที่พระพุทธเจ้าสอน...ทั้งหมดบำเพ็ญมาไม่ใช่น้อยๆ นะ สี่อสงไขย แสนมหากัป ... กว่าจะมาบอกว่า เนี่ย ให้ยอมรับมันซะ

ฟังดูง่ายนะ คนฟังนี่เหมือนง่ายนะ  หรือว่าบางคนก็ว่าไม่มีประโยชน์ บางคนก็ว่าแค่นี้เองเหรอ บางคนก็ว่าไร้สาระ ต้องทำอะไรมากกว่านั้น  แต่เนี่ย ...กว่าพระพุทธเจ้าจะมาพูดคำประโยคนี้ สอนให้มาฝึกสติรู้เท่าทันนี่...สี่อสงไขย แสนมหากัป ... อย่าประมาทธรรมพระพุทธเจ้า...ว่าไม่มีค่า 

รู้ แล้วยอมรับมันซะ ... ไม่มีธรรมบทไหน ไม่มีศาสตร์อะไร ไม่มีครูบาอาจารย์องค์ไหน ที่จะมาสอนให้เราหนีเวทนาไปได้เลย ... ใครสอนอย่าเชื่อ บอกให้เลย โกหก...ไอ้ที่ว่าแก้กรรมได้ ตัดกรรมได้ อะไรได้ ...ไม่มี

ทำอะไรต้องได้อย่างนั้น ...ไม่มีการลัดกรรม ไม่มีการที่จะหนีมันได้  ยังไงก็ต้องเจอ ...ก้มหน้ายอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขเลย ... แค่นั้นเอง จิตมันจะห้าวหาญมาก กล้าหาญ ด้วยความอดทน ๆ  สู้ ยอมรับ ไม่มีเงื่อนไข แค่นี้เอง

เพราะนั้น จุดที่จะทำให้จิตเราเสียความอดทน หรือว่าหมดความอดทน หรือความอดทนน้อยลง หรือตัวที่จะมาทำให้บั่นทอน...คือความอยากและไม่อยาก  ...ก็ต้องคอยเท่าทันความอยากและไม่อยาก แล้วมันจะอ่อนลง  

ถ้าไม่ทันเมื่อไหร่แล้วมันจะปรุงแต่งออกมาเป็นความคิด เหตุผล ...จะเป็นข้ออ้างขึ้นมา  แล้วมันจะทำให้จิตของเราหวั่นไหว  พอเราเริ่มหวั่นไหวปุ๊บ เราจะเริ่มสับสนแล้วก็ลังเล  แล้วก็คือทุกข์ ...จะหาทางออกให้ได้


(ต่อแทร็ก 1/9)



  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น