วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/14 (2)



พระอาจารย์
1/14 (25530321C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

21 มีนาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/14 ช่วง 1

โยม –  ที่จิตใจมันเต็มแล้ว มันกลับไหลมาเทมา ทำให้ดึงเราอยู่กับสิ่งเหล่านั้น  เราถึงจะหนีมันไปอย่างนี้เจ้าค่ะ  

พระอาจารย์ –  ไม่มีการหนี ... ไม่มีการเพิ่ม  

โยม –  เพราะเรากลัวกลับไปอยู่เหมือนเมื่อก่อนอีก...ว่าจิตใจมันเหมือนคนทั่วไป มันไม่เป็นสุขน่ะ      

พระอาจารย์ –  อย่าไปกลัว อยู่กับมัน  

โยม –  เหมือนกับว่าพวกนั้นมันจะมาดึงเราไปอีก   

พระอาจารย์ –  มันดึงไม่ได้หรอก เราคิดไปเอง ...คิดไปเองทั้งนั้น แล้วก็เชื่อ  มันเสนอความคิดอะไรมาเชื่อมันหมด 

มันบอกว่าต้องไปอย่างนั้นแล้วจะดีกว่า ถ้าอยู่อย่างนี้แล้วมันจะตกต่ำ...เชื่ออีก  ...เนี่ย คือความไม่เท่าทัน


โยม –  อ๋อ ให้มันอยู่เพียงแค่จิตเท่านั้น 

พระอาจารย์ –  อือ ดู อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ ...รู้โง่ๆ     

โยม –  อ๋อ จะจำไว้อย่างที่พระอาจารย์บอก    

พระอาจารย์ –  อือ แล้วมันจะสั้น จะมีชีวิตสั้นลง ...มันจะสั้น

โยม –  อ๋อ มันจะสั้นลง  

พระอาจารย์ –  เออ ...แต่ถ้าคิดว่าจะไปบวชนี่ ยาวมั้ย ยังมีระยะอีกยาวนานเลยนะ      

โยม –  มันยาว ...แต่อันนี้รู้แล้วมันก็หลุดไป  

พระอาจารย์ –  ถ้าอยู่ตรงนี้ เข้าใจมั้ย ...เข้าใจคำว่าสั้นลงมั้ย เข้าใจคำว่าภพชาติน้อยลงมั้ย     

โยม –  เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  แต่ถ้ายังให้ระยะเวลาข้างหน้า หรือข้างหลัง ...นี่คือวัฏฏะที่ไม่รู้จักจบ ยังให้โอกาสมันต่อเนื่องออกมา   


โยม –  อ๋อ ใช่เจ้าค่ะ เราดูมันไปอย่างนี้ มันสั้นลงๆ  

พระอาจารย์ –  มีอยู่แค่ขณะนึง นั่นคือชาติเดียว อยู่กับชาติเดียวในชาติปัจจุบัน คือภพเดียวนี่แหละ 

ไม่ว่าจะเป็นยังไง ...อย่าไปเพ่งโทษมัน อย่าไปตำหนิมัน อย่าไปชมมัน  มันเป็นยังไงคือเป็นอย่างงั้น มันเป็นเช่นนั้นเอง ...จิตมันจะเหลือแค่นิดเดียว นะ ความยืดยาวจะสั้นลง 

แต่ถ้าเรายังให้โอกาสมัน ยังครุ่นคิด หรือว่าไปมีชีวิตอยู่กับข้างหน้าอยู่แล้ว ...นั่นล่ะคือที่คำว่าไม่รู้จักจบหรือว่าวัฏฏสงสาร    


โยม –  ภพมันยืดขึ้นไป  

พระอาจารย์ –  เออ ...แต่ถ้ารู้ตรงนี้ อยู่ตรงนี้

โยม –  มันก็จบตรงนี้ จบที่จิตมันเอง พอเพียงมัน  

พระอาจารย์ –  นี่แหละจบตรงนี้   ...ทำไมถึงเรียกว่าพระอริยะชาติท่านสั้น ภพท่านน้อยลง

โยม –  อ๋อ เพราะท่านจบเพียงแค่นี้    

พระอาจารย์ –  ท่านจบตรงนี้ ท่านไม่จบข้างหน้า  

โยม –  เพราะเราตีความไม่เข้าใจ  

พระอาจารย์ –  มันไม่เข้าใจเพราะเราเชื่อตามความเห็นของเรา ความคิดของเรา สิ่งที่คิดออกมา  สิ่งที่เห็นออกมา สิ่งที่ปรุงออกมา ... ซึ่งมันออกมาจากความไม่รู้ หรือเรียกว่าอวิชชา ใช่ป่าว


โยม –  ก็กว่าจะเจอครูบาอาจารย์ที่พูดคุยกันแบบกล้าพูด มันก็ไม่มีน่ะ มันหาไม่เจอ

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วว่าตามเหตุปัจจัย เข้าใจมั้ย มันต้องมีเหตุปัจจัย ...มันอยากเจอก็ไม่ได้เจอ ไม่อยากเจอก็ดันมาเจอ เห็นมั้ย มันไม่ใช่ว่าเลือกได้หรือไม่ได้ 

แต่มันเป็นไปตามครรลองอยู่แล้ว  ไม่ต้องกลัวอะไรเลย แค่รู้มันไปอย่างนี้แหละ ...ถึงหมดเรา สมมุติว่าเราตายจาก แล้วโยมยังอยู่  มันก็จะมีเหตุปัจจัยให้ไปเจอครูบาอาจารย์ที่จะมาต่อขึ้นไปเรื่อยๆ เอง 

ไม่ต้องกลัว เข้าใจมั้ย  มันเป็นการส่งทอดต่อๆ กันไปอย่างนี้ นี่คือธรรม เป็นอย่างนี้ ... เราไม่ต้องไปกังวลหรือไปวิตกวิจารณ์ เครียด หรือว่าจะต้องไปหาสร้างสัปปายะที่เหมาะสมกับเรา เหมาะแก่ธรรมของเรา

เราบอกไม่มีอ่ะ สัปปายะอื่นไม่มีน่ะ นอกจากจิตสัปปายะ ทุกอย่างสัปปายะหม ...จิตไม่สัปปายะ เข้าใจป่าว แต่ชอบคิดจะให้ทุกอย่างสัปปายะแล้วจิตจะสัปปายะ 

แต่เราบอกว่าตอนนี้ ทุกอย่างน่ะสัปปายะหมด แต่จิตมันไม่สัปปายะ ...มันไม่รู้จักยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่เป็น ...เพราะนั้นน่ะจะไปหาอากาศสัปปายะ สถานที่สัปปายะ อาจารย์สัปปายะ สหายสัปปายะ ...มันไม่มีจบหรอก 

แต่ถ้าจิตสัปปายะ ต่อให้นั่งอยู่ในเมือง ต่อให้นั่งอยู่ในโรงหนัง ต่อให้อยู่ตรงไหน  จิตมันรู้อยู่ตรงนี้ มันไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น ใช่ป่าว ...ก็รู้อยู่แล้ว แต่ยังอดไม่ได้


โยม –  ต้องมีคอยตักเตือนสั่งสอน   

พระอาจารย์ –  คิดว่าข้างหน้าจะดีกว่าตรงนี้ ...Tomorrow never die มั้ง (หัวเราะกัน)  ตายวันนี้ไม่ตาย จะไปตายข้างหน้า  ไม่มีวันตาย

โยม –  มันก็เป็น Alone again  อยู่อย่างนั้น ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างนี้ 

พระอาจารย์ –  อย่าไปตำหนิ อย่าไปเพ่งโทษ อย่าไปคาดว่า ที่มีที่เป็นอยู่ไม่ดี ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วเรารู้อยู่ขณะนี้ เราเรียกว่าเป็นธรรม ...เพราะนั้นอยู่โดยธรรม เพื่อธรรม และเป็นธรรม  อย่าหนีธรรม  

โยม –  เจ้าค่ะ ...ตีความธรรมไม่เข้าใจ มันก็เขวไป   

พระอาจารย์ –  มันไม่ตรง เพราะนั้นที่เราพูดทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นให้มันตรงขึ้น ...คือก็ตรงอยู่หรอก แต่มันยังค้อมๆ อยู่ ที่เห็นน่ะ

(ถามโยม) สงสัยอะไรอีกมั้ย   


โยม (อีกคน) –  เอาเป็นบทเรียนไปฝึกทีละนิดๆ ดีกว่า   

พระอาจารย์ –  ค่อยๆ   

โยม –  เพราะว่าหนูก็เริ่มจากค่อยๆ นี่แหละค่ะ    

พระอาจารย์ –  ขอให้แค่เข้าใจว่าอะไรคือหลัก อะไรคืออุบาย ...จะเข้าถึงความเป็นจริงหรือว่ายอมรับความเป็นจริงได้ ต้องอยู่กับหลัก เห็นหลักแล้วก็ยึดมั่นในหลัก ...ไม่ใช่ไปยึดมั่นในอุบายหรือการกระทำ

แรกๆ เราอาจจะเห็นว่าการกระทำสำคัญ ต้องทำแล้วจะได้ หรือว่าต้องไม่ทำแล้วจะได้ ...แต่ต่อไปแล้วจะเห็นว่าทำหรือไม่ทำ มันมีค่าของมันอยู่แล้ว เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น...พอแล้ว 

มันเกิดขึ้นเอง แล้วมันก็ตั้งอยู่เอง แล้วมันก็ดับไปเอง เป็นธรรมดา ...ไม่ใช่ว่ามันเกิดเพราะเราทำ มันไม่เกิดเพราะเราไม่ทำ

แต่ตอนนี้เรายังแยกตรงจุดประเด็นนี้ไม่ออก ยังคิดว่าเรายังต้องทำอะไรอยู่ หรือต้องไม่ทำอะไรอยู่ สภาวธรรมนี้จึงจะเกิด ...แล้วมันจะค่อยๆ ทิ้งความเห็นนี้ไปเรื่อยๆ ว่า อ๋อ สุดท้ายแล้วเราไม่ต้องยุ่งอะไรกับมันเลย 

มันก็แค่สักแต่ว่าเกิดขึ้น มันก็แค่สักแต่ว่าตั้งขึ้น มันก็แค่สักแต่ว่าดับไป ...เป็นธรรมดาด้วยซ้ำ ไม่ใช่ว่าผิดปกติ หรือว่าดี หรือว่าไม่ดี

มันจะมากขึ้นก็เรื่องของมัน มันจะน้อยลงก็เรื่องของมัน  เราไม่เกี่ยวเลย  เราทำให้มันมากขึ้นก็ไม่ได้ เราทำให้มันน้อยลงก็ไม่ได้...ในความเป็นจริงนะ 

แต่ตอนนี้เรายังคิดว่า ถ้าเราทำแล้วมันจะน้อย หรือถ้าเราไม่ทำแล้วจะมาก ...นี่เราคิดเอานะ มันเป็นแค่ความเห็นหนึ่งเท่านั้น ความเชื่อหนึ่งที่ยังเรียกว่ามิจฉา ยังเป็นมิจฉาอยู่

พอปรับความเห็นไปเรื่อยๆ สัมมาขึ้นเรื่อยๆ ...ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเป็นอิสระ ไม่ข้องเกี่ยวกัน ไม่เข้าไปอิงอาศัยกัน ไม่ผูกยึดต่อกัน ไม่ขึ้นกับอะไร มันเป็นของมันเอง 

จิตก็แค่มีหน้าที่อย่างเดียว หน้าที่ของจิตมีอย่างเดียว หน้าที่ของใจมีอย่างเดียวคือ...แค่รู้  ใจนี่จริงๆ มันไม่รู้อะไรเลย มันมีหน้าที่อย่างเดียวว่าอะไรเกิดขึ้นมันก็รู้ ตัวมัน

ตัวใจจริงๆ น่ะ มันไม่มีอะไร มีอย่างเดียวคือรู้ แค่รู้  นั่นแหละอิสระของใจจริงๆ คือแค่รู้ ... เพราะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ใจนี่จะไม่มีปัญหาเลยกับสิ่งที่รู้  

แต่ไอ้ที่มีปัญหากับสิ่งที่รู้ นั่นคือตัณหา หรือว่าความไม่รู้ เข้าใจมั้ย มันจึงไปมีปัญหาไปหมดในสภาวะต่างๆ นานา

แต่ถ้าเข้าถึงใจเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละจะเห็นว่า สภาวะที่แท้จริงหรือธรรมชาติของใจจริงๆ คือแค่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ ...ตรงนั้นน่ะเรียกว่าหน้าที่ที่แท้จริงของใจ 

ไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นน่ะ เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว นั่นคือความเป็นอนัตตา

แต่ถ้าเรายังมีความเห็นที่เข้าไปแทรกแซงด้วยการกระทำ ด้วยความคิด ด้วยทางวาจาหรือด้วยการกระทำแล้ว  ตรงนี้คือทำด้วยอาการของมิจฉาทิฏฐิอยู่ ...จะมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่กำลังของสติปัญญา

แต่ว่าถ้าดูไปเรื่อยๆ ฝึกสติไปเรื่อยๆ มันจะมีแต่น้อยลงไปๆ ในการเข้าไปกระทำ ...จนถึงที่สุดมันจะหยุด หยุด...ไม่ได้หยุดอารมณ์ ไม่ได้หยุดความรู้สึก แต่หยุดการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง จะหยุดโดยสิ้นเชิงเลย 

ตรงนั้นถึงจะเรียกว่าที่สุดของสัมมาอาชีโว การงานอันชอบ คือไม่มีอะไรต้องทำอีกแล้ว


โยม –  คือ ณ ขณะทุกวันนี้ อุบายที่หนูเอามาคิดคือ อุบายที่ว่า มองโลกในแง่ดี นี่คืออุบายของหนู...ซึ่งมันก็ยังเป็นความคิดอยู่

พระอาจารย์ –  คิดในเชิงบวกใช่ป่าว หนังสือกำลังดังขึ้นมาเลย    

โยม –  'ผู้หญิงสวยต้องคิดบวก' เขามีสโลแกน ... ก็ยังถือว่าเป็นอุบายอยู่  

พระอาจารย์ –  อุบายทั้งนั้นแหละ ...เอาความคิดมาแก้ไม่ได้  เพราะความคิดออกมาจาก...ต้นตอของความคิดคืออะไร เมื่อกี้เราบอกแล้วใช่ไหม...คืออวิชชา 

ใจของเรายังมีอวิชชาอยู่ ตัวอวิชชานี่คือจะก่อให้เกิดความปรุงแต่ง ...เพราะนั้นสิ่งที่มันปรุงแต่งออกมาจากความไม่รู้ ต้นตอของมันคือความไม่รู้ สิ่งที่ออกมาจากต้นตอของความไม่รู้ มันไม่ถูกหรอก   


โยม –   ความคิดผิดทุกคนเลยหรือคะ  

พระอาจารย์ –  ผิดหมดแหละ บอกให้เลย ... เพราะนั้นเราแค่อาศัยความคิดได้อย่างเดียว คืออาศัยมันเป็นแค่ปัจจัยประกอบเท่านั้น ไม่ใช่หลัก เข้าใจมั้ย ...อย่าไปจริงจังๆ  


โยม –  หนูจะพยายาม  แต่คือก็อย่างว่า...หนูต้องใช้เพราะว่าอาชีพหนูมันต้องเจอ  

พระอาจารย์ –  หมอนี่มาหาเราเยอะ แล้วก็มีปัญหาอย่างนี้...เป็นนักวิเคราะห์ เป็นนักหาเหตุหาผล  

เพราะมันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เรียนมาเลย มันต้องฝึกการจดจำ ต้องมีเหตุมีผล ใช่มั้ย จะมาเลื่อนๆ ลอยๆ หรือว่าคาดค้นด้นเดาไม่ได้ มันต้องมีตรรกะที่รองรับได้ 

แล้วก็เลยติดนิสัยแห่งการค้นหาความเป็นจริง หาถูกหาผิด หาความชัดเจน ...เราจะต้องมาทอนความรู้สึกอย่างนี้ลงไปทีละเล็กทีละน้อย ...มันแก้ไม่ได้ในวันเดียวหรอก

แต่ให้รู้ว่าหลักคืออะไร ...พอสุดท้ายแล้วเราต้องวางการกระทำทั้งหลายทั้งปวง ด้วยความคิดก็ตาม ด้วยคำพูดก็ตาม ด้วยการกระทำภายนอกก็ตาม ก็ดำเนินไปตามอิสระ

แต่มันจะยากก็ตรงการที่เราชอบเข้าไปจัดการมัน...ด้วยความคิดนั่นแหละ เพราะว่ามันแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของเราเลย บอกให้ ความเคยชินอันนี้ 

แต่พวกอย่างนี้ๆ (หมายถึงโยมอื่น) ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ ...ความติดแน่น ความยึดมั่นถือมั่น มันเกิดจากการที่เราทำซ้ำซาก เคยทำซ้ำซาก มันจึงฝังแน่นลงมาเป็นความเคยชิน

เพราะนั้นเมื่อจะแก้ความซ้ำซาก เราก็ต้องรู้ซ้ำซากเหมือนกัน ใช่ป่าว ...ก็มันทำซ้ำซาก ก็ต้องรู้ซ้ำซาก มันถึงจะชนะกันน่ะ

อย่าเบื่อมัน อย่าเบื่อในการที่ว่าคิดอีกแล้ว หาเหตุหาผลอีกแล้ว ...ก็รู้ไปๆ คิดอีกรู้อีก หาเหตุหาผล...รู้อีก  ไม่ต้องห้าม คิดเมื่อไหร่รู้เมื่อนั้น รู้บ่อยๆ     


โยม –  รู้ว่าเรากำลังคิดอยู่    

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง แค่รู้ๆ คิดอีกแล้ว หาเหตุผลกับมันอีกแล้ว แน่ะ รู้อีก ...รู้ไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่านี่แหละคือเหตุให้เกิดทุกข์ การคิดไปไม่รู้จักจบ การหาเหตุหาผลกับมันในสิ่งที่มันไม่มีเหตุไม่มีผล

อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นน่ะ ไปหาเหตุหาผลกับมันได้มั้ย ใช่มั้ย ...มันมีที่มาที่ไปไหมนั่นน่ะ  เดินอยู่ดีๆ นี่ ตากระทบรูปปั๊บ...ปุ๊บเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นแบบไม่ตั้งอกตั้งใจน่ะ จะไปหาเหตุหาผลกับมันได้ยังไง เอาอะไรมาอธิบายกับมันล่ะ

เพราะนั้นเรื่องของจิตนี่เป็นเรื่องของปรมัตถ์ มันนอกเหตุเหนือผล ...มันไม่ใช่ลักษณะของโลกียะ ซึ่งเป็นเรื่องของตรรกะ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง หนึ่งลบหนึ่งเท่ากับศูนย์ นี่ตรรกะใช่มั้ย เป็นเหตุเป็นผล

แต่เรื่องของใจนี่ หรือเรื่องของนาม เรื่องของจิตที่เป็นปรมัตถ์นี่ หนึ่งบวกหนึ่งนี่เท่ากับร้อยก็ได้ บอกให้เลย ...มันไม่มีมันไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรน่ะ ใช่ไหม 

บทมันจะขึ้นมันก็ขึ้นมาดื้อๆ น่ะ บทมันจะดับ มันก็ดับเอาแบบไม่รู้มันดับไปได้ยังไงน่ะ ...เนี่ย หาเหตุผลกับมันไม่ได้ นอกเหตุเหนือผล ไม่ใช่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง หนึ่งบวกหนึ่งอาจจะติดลบก็ได้ เอากับมันไม่ได้หรอก 

เพราะนั้นจะหาเหตุหาผลกับมันไม่ได้เลย เพราะนั้นเมื่อหาเหตุหาผลไม่ได้ ก็ไม่ต้องหาเหตุหาผล จบ แค่รู้เฉยๆ    


โยม –  แล้วอย่างคนไข้   

พระอาจารย์ –  ก็คิดได้ ทำได้  

โยม –  อย่างวิบาก...วิบากมันก็เกิดจากเหตุและผลไม่ใช่หรือคะ  

พระอาจารย์ –  หมายความว่ายังไง    

โยม –  วิบากที่เกิดขึ้น อย่างเช่น ณ คนคนนึง ทำไมถึงเกิดมาเป็นโรคนี้ ทำไมถึงเกิดมาพิการแบบนี้ ทำไมถึงต้องมาประสบเคราะห์เป็นสภาพหน้าตาผิดรูปผิดส่วนอย่างนี้ มันก็เป็นเหตุเป็นผล  

พระอาจารย์ –  เป็นเรื่องของกรรม บอกแล้วเป็นเรื่องของตรรกะ  ถ้าเรื่องที่นี่ (เสียงสัมผัส) รูป ลักษณะพวกนี้ อันนี้เป็นเรื่องของโลกียะ เป็นเหตุและผลอยู่แล้ว มันเป็นเหตุและผลอยู่แล้ว ตกอยู่ภายใต้เหตุและผล

แต่ในเรื่องของจิตน่ะ จิตที่เป็นปรมัตถ์น่ะ ความรู้สึก อารมณ์ การจะไปจะมาของมัน ...อันนี้เราจะคาดเดาไม่ได้ เราจะหาอะไรมาอธิบายไม่ได้ชัดเจน เข้าใจมั้ย จะไปทำความเข้าใจชัดเจนไม่ได้ 

เอาแค่ว่ารู้ว่ามันเกิดขึ้น รู้ว่ามันตั้งอยู่ รู้ว่ามันกำลังดับไป แค่เนี้ย พระพุทธเจ้าให้รู้แค่นี้พอแล้ว อย่าไปรู้นอกเหนือกว่านี้

แต่ไอ้ที่ว่าอย่างนี้...เรื่องรูปเรื่องโลกนี่ พวกนี้มันเป็นเหตุและผลอยู่แล้ว เรื่องโลกียะ มันตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำอกุศลต้องรับผลเป็นอกุศล ทำกุศลก็ได้รับเป็นกุศล


โยม –  แล้วพอดี...ไม่รู้หนูจะถูกรึเปล่า อย่างกรณีตัวอย่างเวลาหนูตรวจคนไข้ เขามาหาหมอ...ก็มีทั้งแบบที่ด้วยอารมณ์ปกติและไม่ปกติ อารมณ์ปกติก็โอ เค แต่ผู้ป่วยและรวมทั้งญาติด้วยที่มาด้วยอารมณ์ไม่ปกติ ...ก็นี่แหละค่ะ ที่จะเป็นเหตุที่จะทำให้หนูมีอารมณ์ขึ้นมา

ซึ่งนี่หนูก็จะใช้อุบายว่า ที่คนไข้เขามาด้วยอารมณ์ไม่ปกติอาจจะเป็นด้วยเขาไม่สบาย เขาเหนื่อย เขาเจ็บ หนูก็จะใช้อุบายคิดว่า เออ เป็นเพราะเขาเหนื่อย เขาเจ็บ เราก็อย่าไปโกรธเขานะ มันก็จะคลายความโกรธเขาลง อย่างนี้หนูทำถูกไหมคะ

พระอาจารย์ –  ทำไปเหอะ ทำอย่างนี้

โยม –    อย่างนี้เรียกว่าใช้อุบายหรือเปล่า

พระอาจารย์ –  ใช้อุบาย แต่ก็ต้องใช้อย่างนี้ 

โยม –  แล้วมันจะถูกต้องไปได้ไหม  

พระอาจารย์ –  แล้วมันจะค่อยๆ ปรับเอง

โยม –  มันจะค่อยๆ หายไปโดยไม่ต้องใช้อุบาย 

พระอาจารย์ –  แล้วมันจะดีขึ้นเอง ...ตอนนี้จิตมันไม่ดีพอ ยังต้องใช้   ถ้าปล่อยก็เละเลย ปล่อยก็กลายเป็นอาละวาด นะ มันก็ต้องอาศัย  ...แล้วมันค่อยๆ ปรับ

ต่อไปถ้ามันปล่อยแล้ว จิตมันเห็นแล้ว มันวางแล้วนี่ ...จิตจะเกิดอาการนึงเรียกว่าสันติและเยือกเย็น เป็นฐานเลย ...ไม่มีปัญหาอะไรเลย จะร้ายมาเท่าเก่า ดีมาก็เท่าเก่า มันจะอยู่ในระดับเป็นปกติของมันเอง  

แต่เรา...ลักษณะนี้เรายังมีอาการของมันขึ้นลงไปตามอารมณ์ ของผัสสะ  


โยม –  แต่ที่ยกตัวอย่างไปนี่ ก็บอกหลวงพ่อตรงๆ ว่ามันก็เจือจางลงบ้าง เริ่มมีสันติบ้าง แต่หนูอยาก...    

พระอาจารย์ –  เร็ว    

โยม –  คืออยากขอคำยืนยันว่าหนูปฏิบัติถูกรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ถูก   

โยม –  ก็หนูจะตั้งใจทำอย่างนี้ต่อไป   

พระอาจารย์ –  ทำไปอย่างนี้ๆ  ถูก แต่ว่ามันจะค่อยๆ ...เข้าใจไหมว่า เหมือนปูน่ะ ปูขาเก มันมีขาเยอะก็จริง แต่ก็ยังเดินเซไปเซมา ใช่ไหม ...แล้วมันจะค่อยๆ เดินตรงขึ้นๆ       


โยม –  เพราะหนูรู้สึกว่ามันคลุมไปจนถึงอารมณ์อื่นๆ ได้ด้วย หนูรู้สึกได้

พระอาจารย์ –  ตัวตอบได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ใช่มั้ย 

โยม –    ค่ะ

พระอาจารย์ – เพราะนั้นการปฏิบัตินี่ มันตรวจสอบได้ด้วยตัวเองนะ  คนอื่นน่ะเป็นแค่มาพูดเพื่อให้กำลังใจเพิ่มเท่านั้นเอง ...แต่ลึกๆ ทุกคนนี่ จะตรวจสอบได้ตัวเองอยู่แล้ว ว่าใช่หรือไม่ใช่ 

แต่ว่ามันยังไม่มีความมั่นใจเท่านั้นเอง ...ครูบาอาจารย์มาให้ความมั่นใจหรือให้กำลังใจ  ทำต่อไปเถอะ อย่างนี้ใช่ คือเราจะมีกำลังใจในการที่ว่า...ก้าวเดินต่อไป

เพราะนั้นในระหว่างที่เราดำเนินอยู่นี่ สิ่งที่สำคัญที่สุดนะ ไม่ใช่ว่าถูกหรือผิดนะ ...สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือว่าบ่มอินทรีย์ บ่มพละ  

อินทรีย์...อินทรีย์คือกำลัง บ่มไปเรื่อยๆ คือการใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ  จนกว่ามันจะสมบูรณ์ หรือว่าอินทรีย์มันสูงขึ้นมาก

อินทรีย์ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา  ตัวนี้เป็นพลัง...ที่จะให้มันเกิดญาณขึ้นมา ...เพราะนั้นครูบาอาจารย์ก็จะพูดเพื่อให้เกิดพลัง ให้เราอดทนกับมัน แล้วก็ทำต่อไป อย่าถอย อย่าทิ้ง แค่นั้นเอง

จนกว่ามันจะสะสมอินทรีย์ขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ... พอเต็มรอบ เมื่อมันเต็มรอบเมื่อไหร่ เหมือนกับเรามอง ...ขณะนี้เรามองแค่ 20 องศา 30 องศา 45 องศา 90 องศา ...จนมัน 360 องศา คือเห็นรอบ 

คือเห็นรอบเมื่อไหร่น่ะ หมดปัญหาแล้ว ...ที่ยังไม่ได้เห็นว่า ไม่มีแง่มุมไหนที่ยังไม่เห็น มันจะเห็นหมด

เพราะนั้นก็ดูเข้าไป รู้เข้าไป อะไรเกิดขึ้นก็รู้ รู้เข้าไป ...มันจะรู้รอบขึ้น รอบขึ้น  เมื่อมันรู้รอบขึ้นปุ๊บ มันจะเข้าใจหมดแหละ ...ไม่สงสัยแล้ว  

แต่ตอนนี้บางอารมณ์ บางอาการ ยังสงสัยอยู่...ทำไม อะไร ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ ...มันยังมีอาการพวกนี้อยู่ ก็ต้องเรียนรู้กับมัน

เรียนรู้ ...ไม่ใช่ให้เรียนคิดนะ  เรียนรู้ด้วยการรู้กับเห็นมัน แค่นั้นเอง

(ถามโยมคนเดิม) สงสัยอะไรอีกมั้ย     


โยม – ไม่แล้วเจ้าค่ะ    

พระอาจารย์ –  จะบวชอีกมั้ย  

โยม –  อยู่กับปัจจุบัน แล้วก็อย่าไปต่อภพ ก็จะจำไว้ค่ะ แล้วมันจะมีเหตุและปัจจัยของมันเอง      

พระอาจารย์ –  อือ เอาแล้ว ไป 



................................