วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/7







พระอาจารย์

1/7 (25530302)

2 มีนาคม 2553


ถาม –  มันไหวไปไหวมา เคลื่อนไปเคลื่อนมา มันไม่นิ่ง   

พระอาจารย์ – ก็แค่นั้นน่ะ เห็น...แล้วก็ยอมรับมัน มองเห็นเป็นธรรมดา เข้าใจมั้ย  เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ว่าผิดหรือว่าถูก แต่มันเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นแหละ     


ถาม –  แต่บางครั้งผมก็...มันยังเผลอให้ค่ามันอยู่นะครับ  

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าให้ค่า  


ถาม –   ครับ

พระอาจารย์ –   ก็ไม่ว่าอะไรกัน ... ติดก็รู้ว่าติด หลงก็รู้ว่าหลง มีอุปาทานก็รู้ว่ามีอุปาทานอยู่ 


ถาม –   ครับ

พระอาจารย์ –   อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจ ก็เป็นเรื่องความเป็นจริงที่มันแสดง ... รู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เข้าใจคำว่า สมควรแก่ธรรมมั้ย ... ก็จิตเรามีอุปาทานน่ะ


ถาม –   อื้มมม 

พระอาจารย์ –  มันก็สมควรแล้วที่มันจะมีอุปาทาน ...เข้าใจรึเปล่า  


ถาม  อ๋อ  ครับ เข้าใจแล้วครับ  

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่มีอุปาทานแล้วจะให้มันไม่มีอุปาทาน ...มันไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ใช่ป่าว 


ถาม –    ครับ 

พระอาจารย์ –  จะไปเอาธรรมพระอรหันต์มาสวมทรงไม่ได้ หรือเอามาเทียบไม่ได้ หรือเอาให้ทำจิตเป็นอย่างนั้นไม่ได้  อันนั้นเป็นเรื่องของความอยากแล้ว 

ธรรมคือธรรม ตามความเป็นจริงคือความเป็นจริง มีคือมี เป็นคือเป็น ติดก็ติด


ถาม –  ครับ

พระอาจารย์ –  ก็รู้มันไป ...มันไม่ติดตลอดชีวิตหรอก เข้าใจป่าว  เดี๋ยวมันก็หาย เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน มันไม่แน่ เดี๋ยวมันก็คลายออกแล้ว  ก็ดูมันไป 

เริ่มใหม่รู้ใหม่...เริ่มใหม่รู้ใหม่ ก็จะเห็นว่า นี่ ทุกอย่างน่ะ มันเกิดขึ้นชั่วคราว  แล้วมันไม่ใช่มีตัวมีตนอะไร เห็นมั้ย  มันไม่มีตัวมีตนน่ะ มันไม่คงอยู่หรอก ความคงอยู่หรือความเป็นตัวเป็นตนน่ะ...มันไม่มี


ถาม ครับ ผมก็เห็นว่าพอมันจะคงๆ อยู่ มันก็เปลี่ยนไปๆ    

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ คือไอ้ลักษณะที่เห็นความแปรปรวนของมันไปน่ะ มันจะไปทำลายความเห็นเป็นตัวเป็นตน  แต่ถ้ามันยังคา ยังข้อง หรือคิดว่ายังเป็นอะไรอยู่ เรายังดีหรือไม่ดีอยู่  นั่นคือความเป็นตัวเป็นตนของสิ่งที่ไม่มีตัวมีตน...แต่เราให้ค่ามัน 

เมื่อเห็นว่ามันแปรปรวนหรือคงอยู่ไม่ได้ ไม่ถาวร ไม่เที่ยง อย่างนี้   คือจะเห็นความไม่มีตัวตนของมัน คือความคงอยู่ไม่ได้นั่นแหละ คือความไม่เสถียร หรือว่าความเป็นอนิจจัง หรือว่าความเป็นอนัตตา  มันผันเปลี่ยนผันแปรไปอย่างนี้แหละ นะ มันผันแปรไป

แต่ถ้าเราไปตั้งใจหรือไปควบคุม ไปบังคับนี่  มันก็จะเหมือนกับเราไปทำให้มันคงอยู่  เข้าใจมั้ย  ไม่ว่าอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือว่าที่เราคิดว่าดีน่ะ นิ่ง สงบ เงียบ หรืออะไรก็ตาม แล้วจะให้มันคงอยู่  ... เพราะนั้นก็หมายความว่าไปสร้างตัวตนให้มัน ไปให้ค่าแล้วก็รักษามันอย่างเนี้ย

มันก็จะไปค้านกับความหมายของคำว่าไตรลักษณ์ หรือว่าความไม่เที่ยง  แล้วเราก็เข้าไปรักษาประคองมันอยู่นั่นแหละ  เพราะนั้นที่ว่าให้ดูเบาๆ ดูสบายๆ เพื่อว่าไม่ให้มันไปบล็อกน่ะ ให้มันเป็นอิสระของมัน  เพราะความแปรปรวนนี่มันไม่ใช่ผิด ... แต่มันเป็นความจริงต่างหาก

แล้วเราก็เห็นจนกว่าจะยอมรับความจริงนี้ คือยอมรับในเงื่อนไขของไตรลักษณ์  แล้วมันก็จะถอยออก จากการที่เข้าไปให้ความหมายหรือให้เป็นตัวเป็นตน

ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง  มันเป็นการกระทบกัน   ก่อนจะมี...มันก็ไม่มีตัวมีตน เสียงก็ไม่มีตัวมีตน พอมากระทบปุ๊บ มันก็เกิดเป็นกายวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ โผฐฐัพพะวิญญาณ  ไม่มีผัสสะภายนอกก็มีมโนวิญญาณ ความปรุงแต่งเป็นความคิด 

มันก็เป็นแค่เกิดขึ้น แล้วก็รับรู้ด้วยวิญญาณ กระทบกันอย่างนี้...กระทบกันแค่นั้นแหละ  เพราะนั้นขณะกระทบกันนี่  มันเป็นแค่กระทบ มันไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน มันเป็นแค่ชั่วคราว ครั้งหนึ่งๆ

แต่ถ้าเราให้ค่าในการกระทบกัน ให้ความหมาย   เพราะเวลากระทบปุ๊บนี่ มันจะมีสัญญาอุปาทาน มันจะจดจำได้ว่า อย่างเงี้ย..หมายความว่าอย่างนี้ แล้วอย่างเงี้ย...เคยได้ยินคำนี้..ความหมายนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไรกับความหมายนี้  มันมีเวทนาอุปาทานอยู่ มันเก็บเป็น...คิดว่ามันยังมี มันต้องเป็น มันยังมียังเป็นอยู่ เข้าใจมั้ย

มันเลยมาเทียบกับผัสสะปัจจุบันทันทีเลยว่า เดี๋ยวนี้..เป็นยังงี้  ความเป็นตัวเป็นตนจากอดีตก็มาเป็นตัวเป็นตนในปัจจุบัน เป็นเรื่องขึ้นมา  ด้วยความสำคัญว่า มันมี มันเป็นขึ้นมา  เพราะมันเคยมี เคยเป็นมาก่อน  

มันยังให้ความหมายกับสิ่งที่เคยมี เคยเป็นมา  แล้วก็เลยมาให้ความหมายกับขณะที่มี ขณะที่เป็น  แล้วมันก็จะมีความคิดต่อไปว่า ต่อไปข้างหน้าก็จะมี จะเป็นต่อ เห็นมั้ย นี่คืออุปาทานขันธ์ทั้งหมดเลย มันเป็นขบวนการอย่างนี้

แต่ถ้าเรารู้ทันขณะแรก มันก็เป็นแค่กระทบกันแค่นั้น  ถ้าไม่ต่อเนื่อง หรือว่าไม่ไปขาดสติ หรือไม่ไปปรุงต่อ  มันก็จะดับตรงนั้นแล้ว  ก็แค่กระทบกัน พั่บๆๆๆ  มันเป็นตัวตนขณะนึงแค่นั้นเอง ในการกระทบกันหรือชั่วคราวที่มันมีผัสสะหรืออายตนะ แค่นั้นเอง 

เป็นแค่อายตนะสัมผัสกันแค่นั้น หาความเป็นตัวเป็นตนไม่ได้  ... แต่เราเอาความเป็นตัวเป็นตนที่เราให้ค่าไว้ในอดีตน่ะ...มาสวม  แล้วก็มาตัดสินในปัจจุบัน ว่าใช่หรือไม่ใช่ ว่าชอบหรือไม่ชอบ ว่าถูกหรือว่าผิด อย่างเนี้ย 

ทั้งๆ ที่ว่าการกระทบนั่นเขาไม่ได้อะไรทั้งสิ้น มันก็เป็นแค่อย่างนี้ (เสียงการกระทบของสองสิ่ง) แค่นั้นเอง  แล้วก็นี่..หายไปอย่างนี้   แต่คราวนี้ว่า..มันเคยจดจำได้ว่าเสียงนี้ มันเป็นเสียงอะไร  นี่มันจำเอา ของเก่า นี่ เป็นสัญญาอุปาทานกับเวทนาอุปาทาน

ตาเห็นรูปปุ๊บ มันก็เป็นแค่กระทบปุ๊บ มันจะหวนไปถึงว่ารูปนี้เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย สวยหรือไม่สวย เคยให้ค่าไว้ก่อน แล้วมันก็จะมาเทียบในปัจจุบันทันทีเลย...เกิดขึ้นทันทีเลย แล้วก็หลงเลย 

หลงตาม ...คิดปรุงแต่งว่าจะยังไง  จะทำยังไงกับรูปนี้ จะไม่ทำยังไง จะตามเขาไป หรือจะคิดคำนึงครวญหา  นี่คือการให้ค่า ก็มีตัวมีตนในรูปที่เห็นขณะนั้น  ทั้งๆ ที่ว่าในขณะผัสสะก็ไม่มีอะไร เขาไม่ได้ว่าอะไร เป็นธรรมดา เป็นธรรมดา...ไม่มีอะไร เป็นแค่กระทบ สัมผัสกัน 

แต่ว่าความไม่รู้ เข้าใจมั้ย  ความไม่รู้...ความไม่รู้ว่าไอ้ที่จริงที่เคยจดจำได้นั่นน่ะ...มันจบไปแล้ว มันไม่มีหรอก  มันเป็นแค่สัญญา แต่เราไปให้ความสำคัญกับสัญญาว่าเป็นตัวเป็นตน ว่ายังมียังเป็นอยู่ และยังต้องมีต้องเป็นอยู่ และก็ยังมียังเป็นเดี๋ยวนี้เหมือนกัน

นี่คือความไม่รู้หรืออวิชชา มันก็จะมาผูกให้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นจริงเป็นจัง เป็นรูป เป็นเรา เป็นตัวเป็นตน  เมื่อเป็นตัวเป็นตนปุ๊บ มันก็จะมีเราเข้าไปครอบครองความเป็นตัวเป็นตนนั้นๆ หรือไม่ครอบครองความเป็นตัวตนนั้นๆ  ...คือมีการกระทำแล้ว

ถ้ามีตัวตนปุ๊บ มันจะมีเราเข้าไปเป็นผู้รับรู้ในตัวตนของผัสสะนั้นๆ แล้วก็จะเข้าไปตัดสินว่าจะทำหรือไม่ทำ  คือเป็นอัตตกิลมถานุโยค หรือกามสุขัลลิกานุโยค เกิดขึ้น  เข้าไปคว้าหรือเข้าไปผลัก อย่างนี้  ก็จะเป็นการสร้างมโนกรรม กายกรรม วจีกรรม  "เรา" ก็จะทำงานต่อเนื่องออกมา เพื่อไปอะไรกับตัวตนในความหมายนั้นๆ

แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ ด้วยสติ เราจะเห็นความหาตัวตนของมันไม่ได้  มันมีแค่พอให้รู้แค่นั้นเอง นะ  อันนี้คือเห็นตามความเป็นจริง มันจะเห็นอย่างนี้  

แต่ว่าถ้าความเป็นจริงเราเห็นอย่างไร หรือเราไปเห็นอยู่ตรงขั้นตอนไหน ก็เห็นตรงนั้น เข้าใจมั้ย  ไม่จำเป็นจะต้องดึงให้กลับมาเห็นอย่างนี้ให้ได้ เข้าใจป่าว  มันยังไม่เห็นก็ยังไม่เห็น แต่พูดให้ฟัง 

นี่คือแผนที่หรือแม็พ..แนวทาง เท่านั้นเอง พอรู้ไว้ จดจำไว้  แล้วต่อไปมันจะขยับเข้ามาเอง ขยับเข้ามาเองให้เห็นขณะนี้ แล้วก็เห็นความดับไปในขณะแรกของการกระทบผัสสะ


ถาม – ขนาดนั้นเลย    

พระอาจารย์ –  เอ้า มันเกิดกับดับอยู่ที่เดียวกันเลยนะ...มันเกิดกับดับอยู่ที่เดียวกัน  แต่มันไม่ได้หมายความว่าเกิดดับแล้วมันจะไม่มีความคิดความปรุงความแต่งต่อ เข้าใจมั้ย   มันจะไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจ  มันดับ..คือมันดับในความเป็นตัวเป็นตน...ในการที่จะให้ค่าเท่านั้นเอง

ก็คิดต่อได้  แต่ว่าความคิดต่อมา ที่รู้สึกต่อมานี่ มันจะเป็นแค่สักแต่ว่า  ก็สักแต่ว่าคิดไป ไม่ได้อะไร คิดต่อไปอย่างนั้นแหละ ไม่ได้จริงจังกับไอ้สิ่งที่มันคิดต่อมาเลย  หรือความรู้สึกหรืออารมณ์ก็เป็นธรรมดา ก็สักแต่อารมณ์ สักแต่เวทนาไป สักแต่มีไป  เดี๋ยวมันก็หมดไป เดี๋ยวมันก็คลายไป เดี๋ยวมันก็จางไป ก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เนี่ย

ไม่ใช่หมายความว่ามันขาด มันดับแล้วคือดับไม่เกิดอะไร กลายเป็นพระอิฐพระปูน...ไม่ใช่ แต่ว่าไม่ได้ให้ความหมายต่อเนื่องไป ให้ความสำคัญน้อยลงๆ  ...อันนี้เป็นตามลำดับของปัญญานะ 

หมายความว่า ถ้าเป็นปัญญาของพระอริยะนี่ ทั้งหมดนี่ ถ้าเป็นพระอริยะขั้นเป็นพระอรหันต์...รู้ขณะแรก รู้ สวยไม่สวย ชอบไม่ชอบ รู้ขณะแรก พอรู้ปุ๊บท่านรู้ปั๊บ..ดับ  ต่อมาเป็นเรื่องของสักแต่ว่าล้วนๆ 

แต่ถ้าต่ำกว่านั้นมา ยังมีอารมณ์ต่อเนื่องอีกนิดๆๆ หนัก-เบาตามภูมิปัญญาแห่งการรู้ครั้งแรก  ตรงนั้นน่ะที่เรียกว่าญาณทัสสนะ หรือว่าเป็นวิมุตติทัสสนะ หรือว่าเป็นปหานตัพธรรมหรือเปล่า มันอยู่ที่สัมมาสติครั้งแรก แค่นั้นเอง คือญาณ

เพราะนั้นพระอริยะก็ยังรู้ปุ๊บ เห็นทันขณะแรก สัมมาสติเกิดปุ๊บ แต่ยังมีอารมณ์ต่อเนื่อง...เบาๆ เข้าใจมั้ย ก็ยังมีให้ค่าอยู่...ก็ยังมี ไม่ได้ว่าดับโดยสิ้นเชิง  ไม่เหมือนพระอรหันต์ พระอรหันต์...ปุ๊บ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ ทันขณะไหนก็ตาม รู้ตรงขณะไหนท่านดับหมดเลย ดับขณะนั้นเลย  

ไม่ใช่ว่าท่านจะรู้ตัวตลอดเวลา  แต่พอรู้ตรงไหนปุ๊บล่ะดับเลย ไม่มีเลย ไม่มีต่อเนื่องเลย  เหมือนกัน พระอริยะเหมือนกัน ท่านก็ไม่สามารถจะรู้ได้ตลอดเวลาหรอก  แต่ว่าพอรู้ตรงไหนปั๊บนี่...มันจะดับ แต่ว่าดับแล้วนี่มันจะมีกระเพื่อมมากน้อยต่างกัน เข้าใจมั้ย

แต่อย่างพวกคนธรรมดาเริ่มต้น รู้ตรงไหนก็เท่าเก่า รู้ตรงไหนก็ยังเท่าเก่า เข้าใจมั้ย  เพราะมันยังไม่เข้าถึงมรรคจิต หรือว่ามรรคที่เป็นอริยมรรค  เพราะนั้นรู้ก็ยังเท่าเก่า หรือมากกว่าเก่าด้วย เข้าใจป่าว  แต่ว่าถ้ารู้ด้วยญาณ พอรู้ปุ๊บนี่ มันจะดับ ดับอุปาทานในตามขีดขั้นของญาณนั้นๆ ตามลำดับ

ถ้าเป็นพระอนาคาก็ระดับหนึ่ง พระสกิทาคาก็ระดับหนึ่ง พระโสดาบันก็ระดับหนึ่ง เข้าใจมั้ย ที่จะไม่ให้ความหมายมั่นต่อ หรือว่าทอนลง  แต่ไม่ใช่ว่ามันจะโดยสิ้นเชิง  มีสิ้นเชิงที่เดียวคือพระอรหันต์ รู้ตรงไหนนี่เหมือนรอยเท้าในอากาศเลย คือไม่มีอะไรหลงเหลือ เข้าใจมั้ย

ไม่ว่าจะมีอารมณ์อยู่ จะหงุดหงิด จะรำคาญ หรือจะอะไรตามผัสสะหรือตามกระทบนี่ พึ่บ พอรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ปุ๊บนี่ พั้บเลย ขาด ณ ตรงนั้นเลย  เพราะนั้นท่านจึงมีอารมณ์เหมือนปกตินั่นแหละ เข้าใจมั้ย

ให้สังเกตดู ดูครูบาอาจารย์นะ  ท่านไม่ได้มาควบคุมหรือว่าสำรวมนิ่งเหมือนใบ้อยู่อย่างนั้นเลยนะ  ท่านก็เป็นธรรมดานี่แหละ แต่ท่านจะไม่มีร่องรอยเลย รู้ตรงไหนดับตรงนั้นเลย ขาดเลย รู้ปุ๊บ ขาดเลยๆๆ ด้วยกำลังแห่งญาณ การหยั่งรู้ตรงนั้น  แต่ถ้าเป็นต่ำกว่านั้นลงมา เป็นพระอริยะต่ำกว่านั้นลงมา ยังไม่ขาดซะเลยทีเดียว  แต่ว่าเจือจาง ไม่มีเพิ่ม...มีแต่น้อยลง

แต่ถ้าคนทั่วไปนี่ มีแต่เพิ่ม ไอ้น้อยนี่หายาก เข้าใจมั้ย  มันมีแต่คิดต่อๆ รู้แล้วยังคิดต่อ รู้แล้วคิดต่อ รู้แล้วยังใส่เข้าไปต่อ เข้าใจป่าว  เพราะมันไม่หยุด ยังไม่หยุดเข้าไปถึงฐานใจ หรือว่าเป็นกลางต่อทุกสรรพสิ่ง

แต่เราก็ต้องมาเริ่มเข้าใจอย่างเนี้ย เริ่มไป รู้ไปเรื่อยๆ ให้เข้าใจ  จนกว่าจะเห็นสัมมาสติ หรือเห็นการดับไปครั้งแรกบ่อยๆ ให้ทันครั้งแรกบ่อยๆ จึงจะยอมรับ  มันถึงจะเข้าใจว่า ไอ้อุปาทาน ไอ้ความมีความเป็นที่เคยให้ค่า ที่เคยให้ความสำคัญกับมันทั้งหลายทั้งปวงนี่  ที่จริงแล้ว เราหลอกตัวเอง จิตมันหลอก หรือความไม่รู้นี่มันหลอก นะ

จนเห็นความไม่คงอยู่ของมันบ่อยๆ นั่นแหละ ถึงจะรู้ว่าทุกอย่างมันไร้สาระ ไอ้ที่เราให้ค่าไว้ ตั้งเป้าหมายไว้ ตั้ง..เรื่องนั้นเรื่องนี้ อะไรก็ตาม  ความหมายต่างๆ ว่าดีว่าไม่ดี ว่าชอบว่าไม่ชอบ

ดอกไม้นี่ ดูสิมันบอกว่ามันสวยมั้ย หรือมันบอกว่ามันไม่สวย อย่างเงี้ย เข้าใจมั้ย  ซึ่งในความเป็นจริงเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไรเลย มันอยู่ที่เราให้ค่า  พอเราให้ค่าปุ๊บนี่ เอ้าสวย ปั๊บนี่มันเกิดความจดจำ สำคัญว่ารูปอย่างนี้เรียกว่าต้องสวย เนี่ย อย่างเนี้ยมันไปให้ค่าไว้ แล้วก็เก็บเอาไว้

แต่ถ้าความเป็นจริงนี่เขาไม่เคยบอกเลยว่าเขาเป็นอะไร  เห็นมั้ยพอกระทบ กระทบไปปุ๊บก็เป็นแค่สักแต่ว่าแค่นั้นเอง  ถ้าเราไม่คิดต่อนะ ก็เป็นแค่รูปหนึ่งหรือสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้ว่าอะไร อย่างเงี้ย  ครั้งแรกมันจะรู้อย่างนี้เลย มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

แต่ว่าที่มันมีความหมายขึ้นมาเพราะว่าเราจดจำให้ค่า  ไอ้ที่เคยให้ค่าไว้ มันจะขึ้นมาซ้อน ขึ้นมาให้เทียบเคียง ขึ้นมาเปรียบเทียบ แล้วก็ตัดสินว่าใช่หรือไม่ใช่ สวยหรือไม่สวย และต้องชอบหรือไม่ชอบ  เมื่อตัดสินแล้วให้ค่าแล้ว...มันจะมีตัณหาและอุปาทานเข้ามาประกอบเลย นะ

เมื่อมีตัณหาอุปาทานเข้ามาประกอบปุ๊บ มันก็จะมีความปรุงแต่งด้วยความคิดนำไปข้างหน้า  ตัวความคิดนำไปข้างหน้าน่ะมันจะพาให้เราพูดคิดต่อ พูดออกไป กระทำอะไรออกไป  ตามความต้องการที่จิตมันปรุงอยู่อย่างนั้นล่ะ อย่างเนี้ย

ก็ให้เท่าทันขบวนการของมัน ให้เห็นขบวนการตรงนี้บ่อยๆ แล้วมันจะเข้าใจเอง ...มันจะเข้าใจเอง

เพราะนั้น ไม่ได้ให้ไปเลิกไปละอะไรน่ะ แต่ให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วมันเข้าใจด้วยปัจจัตตัง ..อ้อ อ๋อ อ้อๆๆ  มันเป็นยังงี้ๆๆ  สุดท้ายแล้วก็...มันตั้งอยู่บนความว่างเปล่า ไม่มีอะไรหรอก  ไอ้ที่เราว่ามี ไอ้ที่เราเอาแทบเป็นแทบตาย จะต้องทำอะไรกับมันแทบเป็นแทบตาย  จริงๆ มันไม่มีอะไรหรอก

ถ้าเราดูมันด้วยความที่ว่าดูเฉยๆ เงียบๆ  ดูนิ่งๆ ดูเงียบๆ ดูแบบไม่ปริปากน่ะ ก้มหน้าก้มตาดูมันไป ศึกษากับมัน สำเหนียกกับมัน หยั่งรู้กับมันไปเรื่อยๆ  สุดท้ายก็แค่นั้นแหละ พล้อบแพล้บๆๆ พึ่บพั่บๆๆ ไม่มีอะไร แค่นั้น

อย่าไปจริงจัง  ...มันจะคลายความจริงจังหรือความหมายมั่น ทั้งหมดแหละ ด้วยการเห็นตามความเป็นจริง  ไม่ใช่เห็นตามความคิดนะ ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่พิจารณา ไม่ได้อะไรทั้งสิ้น  แต่เห็นอย่างนี้...มันมี ดูตรงไหนก็มี ไม่ว่ากระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง

ดูเข้ามาในปัจจุบันขณะนี้ก็มี กายก็มีอยู่แล้ว ใจก็มี  ไม่ว่าจะอยู่ในกระบวนการไหน สภาวะไหน มันอยู่ในขั้นตอนจิตต้น จิตกลาง จิตปลาย ... จิตปลายก็ทุกข์ จิตกลางก็กำลังปรุงกำลังแต่ง จิตต้นก็คือไม่มีอะไรและพร้อมที่จะมี  อย่างนี้คือความปกติ

เพราะนั้นให้สังเกตระหว่างปกติกับผิดปกติ ให้ทัน  ไอ้ตอนเริ่มผิดปกตินั่นแหละ มันกำลังจะเริ่มให้ความหมายแล้ว จะเริ่มจับให้ค่าแล้ว จะเริ่มมีอารมณ์แล้ว จะเริ่มจะทำหรือไม่ทำอะไรแล้ว ตรงนั้นน่ะมันผิดปกติ  แต่ถ้าปกติธรรมดานี่มันจะไม่มีอะไร  ไม่ให้ค่าเพราะยังไม่มีความสำคัญที่จะไปเร้าจิตให้เกิดอุปาทาน  ตรงนี้ที่เรียกว่ามัชฌิมา เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นต้องอยู่ในฐานของมัชฌิมา  เพื่อจะเห็นความเป็นอัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยค มันจะเกิดเมื่อไหร่ ให้เท่าทัน  เมื่อเท่าทันตรงนั้น จะเห็นตั้งแต่ต้นกระบวนการจนจบกระบวนการ ...บ่อยๆ 

เพราะนั้นพอเริ่มไม่ทันตรงนี้ อ้อ ไปทันตรงนี้ ไม่ทันตรงนี้ก็ไปทันตอนนี้ ...สุดท้ายก็ทุกข์น่ะ บอกให้เลย ก็ไปทันที่ทุกข์ วันยังค่ำแหละ  ทุกข์...แล้วก็อยู่กับมัน รับมัน เสวยมัน จนกว่ามันจะคลายไป แล้วเริ่มใหม่  ไม่ต้องกลัวหรอกเดี๋ยวก็เกิดอีก ทุกข์น่ะ  ถ้ายังโง่ มันยังต้องเกิดอยู่เรื่อยน่ะ

ก็ไปเริ่มใหม่ ทันตรงไหน  มันจะขยับเข้ามาเรื่อย จน "อ้อ"  พอผิดปกติ พอจะเริ่มปุ๊บนี่ เห็นแล้ว พอเห็นแล้วจะเข้าใจแล้วว่าอย่างนี้  ถ้าจะเห็นขบวนการต่อไป...ก็จะเห็นกระบวนการของการดำเนินไป แต่ว่าสักแต่ว่า สักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าจิต สักแต่ว่าธรรม สักแต่ว่าอารมณ์ เป็นอย่างนั้น

แต่ต้องอาศัยว่าซ้ำซาก ดูบ่อยๆ ดูเรื่องเก่านั่นแหละ อารมณ์เก่านั่นแหละ  ไม่ต้องไปหาใหม่ ไม่ต้องไปดับมันหรอก  ศึกษามัน ดูมัน  ตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่ กำลังตั้งก็รู้ว่ากำลังตั้ง กำลังจะดับก็รู้ว่ากำลังจะดับ กำลังจะเปลี่ยนก็รู้ว่ากำลังจะเปลี่ยน แล้วศึกษาดูไปเรื่อยๆ

แล้วจะเห็นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่แท้จริง มันเกิดจากตรงไหน เป็น ณ ที่แรกที่มันเกิด  ถ้าเห็น ณ ที่แรกที่มันเกิด จะเห็นความดับ ณ ที่นั้น ที่แท้จริง  แล้วมันจะหมดปัญหา เห็นสมุทัยตรงไหน ตรงนั้นแหละคืออริยมรรค คือจุดเริ่มต้นของสมุทัย

ขณะนั้นน่ะ ขณะจุดเริ่มต้นของสมุทัย มันจะพร้อมกันน่ะ ทั้งตัณหาและอุปาทาน  จะไม่เรียกว่ามีความอยากหรือว่าไม่อยาก คือยังไม่ทันจะเรียกว่าอยากหรือไม่อยาก แต่มันมีอาการกระโดดออกไป ...กระโดดออกไป จิตเริ่มส่งออกแล้ว ครั้งแรกที่จะเริ่มส่งออกจากฐานของความเป็นปกติ

เพราะใจนี่ธรรมดาไม่มีอะไรอยู่แล้ว เป็นอาการที่รู้กลางๆ รู้ตื่น เบาๆ ของมันอย่างนั้นน่ะ นั่นคือฐานของใจ นะ  คือความเป็นใจน่ะ มันไม่ใช่ว่ามีรูปมีลักษณ์อะไรหรอก  แต่เพราะว่าใจของเรานี่ยังมีกิเลส ใจของเรายังมีอุปาทาน ใจของเรายังมีอวิชชา  ถึงจะเป็นกลางก็จริง ถึงจะรู้เฉยๆ อยู่ก็ตาม  แต่พร้อมที่จะกระโดดไปทันทีเมื่อมีสิ่งเร้า เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นเมื่อเรารู้ทันสิ่งเร้านี่ มันจะชำระไปในตัว ชำระตัณหาอุปาทานไปในตัว ที่รู้ทันแต่ละครั้ง.. แต่ละครั้งๆ  เพราะนั้นขยันรู้เข้าไป รู้เนืองๆ ไม่รู้อะไรก็กลับมารู้กาย ดูกายเบาๆ ดูมันไป ถือว่าเป็นกลางแล้ว รู้กับกายก็เป็นกลางกับปัจจุบันของกาย

แล้วก็ดู เดี๋ยวมันจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป ภายในเป็นยังไง มันดีดดิ้นยังไง ก็ดูอาการดีดดิ้นของใจไป  ดูไปเฉยๆ ไม่ต้องรำคาญ ไม่ต้องเหนื่อยกับมัน  เพราะมันเป็นความจริง ดูให้เห็นความจริงในนั้น แล้วจะเห็นความจริงที่ซ้อนๆๆ อยู่ ขยับเข้ามาๆ เรื่อยๆ.



............................



แทร็ก 1/6



พระอาจารย์

1/6 (25530228F)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

28 กุมภาพันธ์ 2553



ถาม –  ท่านครับ  แล้วอย่างกับวิปัสสนาที่จิตรู้ว่าคิดหนอๆๆ นี่   มันเหมือนกับการรู้กายรู้จิต อันเดียว กันมั้ยครับ คิดหนอ ปวดหนอ เมื่อยหนอ นี่น่ะครับ  

พระอาจารย์ –    ทำไมเหรอ มันยังไงเหรอ 


ถาม – มันแตกต่างกับที่รู้กายรู้ใจไหม

พระอาจารย์ –  แตกต่าง ... ถ้ารู้กายรู้ใจนี่ มันไม่มีอะไรหนออ่ะ ...ไอ้ใครล่ะที่ว่าหนอน่ะ   ดูกายนี่ รู้มั้ยกำลังทำอะไรอยู่ตรงนี้


ถาม  นั่งครับ  

พระอาจารย์ –   เออ ... จริงๆ แล้วเขาบอกมั้ยว่าเขานั่ง 


ถาม –  ไม่ได้บอก 

พระอาจารย์ –   อือ เข้าใจมั้ย ... ถ้าดูจริงๆ น่ะมันไม่มีหรอก มันไม่รู้หรอกว่าเรียกว่าอะไร ...ไอ้ที่เรียกออกมานั่นแหละคิดเอาเองนะ เราไปบัญญัติขึ้น มันไม่ใช่ตามความเป็นจริง...มันเป็นสมมุติตามความเป็นจริง สมมุติเอา

แต่ถ้าจะรู้ตามความเป็นจริงนี่ เขาไม่ได้ว่าอะไรทั้งสิ้นหรอก แค่เป็นสักแต่ว่า เราไม่ต้องไปตอกย้ำหรอกในความสมมุติน่ะ ว่าตามสมมุติเขาเรียกว่าอะไร หรือว่าอยู่ในอาการนี้ต้องเรียกว่าอะไร  ไม่งั้นก็จะคอยนั่งนับคะแนนอยู่อย่างนี้...เรียกว่าอะไร คืออะไร หมายความว่าอย่างไร นะ

มันไม่เรียกว่ารู้กายรู้จิตตามความเป็นจริง มันรู้ตามสมมุติบัญญัติ รู้อาการนี้ตามบัญญัติ และก็ต้องเอาบัญญัตินี่คอยกำกับอยู่ตลอด  เพราะนั้นมันจะไม่ได้เกิดปัญญาเห็นตามความเป็นจริง แต่มันจะเห็นไปตามบัญญัติสมมุติ 

แล้วมันจะเครียด ถ้าไปเจอไอ้สิ่งที่มันเรียกชื่อไม่เป็นน่ะ (หัวเราะ) ...มันจะมีไอ้ที่มันเรียกชื่อไม่เป็น แล้วไม่รู้จะเอาอะไรหนอกับมันน่ะ(โยมหัวเราะ)  ...เวลาไม่รู้จะเอาอะไรหนอนี่เริ่มเครียดแล้วนะ  ตอนนี้มันยังหนอได้ นั่งหนอ ยืนหนอ คิดหนอ 

หลังๆ น่ะมันละเอียดกว่านั้นน่ะ มันไม่มีอะไรหนออ่ะ ไม่มีอะไรจะหนอแล้ว หาอะไรไม่เป็นแล้ว จำอะไรไม่ได้แล้ว ... มันต้องทิ้งหมดแล้ว ทิ้งบัญญัติ ทิ้งสมมุติแล้ว บางเรื่องบางราวมันไม่มีภาษาเลยแหละ เพราะว่าตัวใจจริงๆ น่ะไม่มีภาษาอยู่แล้ว

บอกแล้วไงการดู ... สตินี่ ไม่ดูเอาสภาวะอะไรทั้งสิ้น ดูเพื่อทิ้งสภาวะต่างหาก ดูแล้วต้องผ่านให้ได้ ไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น ... อะไรก็ได้ อย่าเอา อย่ามี อย่าเป็น ทิ้งหมดน่ะ ยังไงก็ได้ รู้ตรงนั้นวางตรงนั้น จะใช่ จะไม่ใช่ จะดั่งที่เราคิด จะดั่งที่เราคาด หรือไม่ดั่งที่เราคิด ไม่ดั่งที่เราคาด รู้แล้ววางเลย ยังไงก็ได้

สิ่งที่ถูกรู้นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องทิ้ง ไม่ใช่สิ่งที่ถูกรู้คือสิ่งที่เราต้องเลือก เพราะมันเลือกไม่ได้ อย่าไปเลือก อย่าไปหา อย่าไปทำขึ้นมาใหม่  ...ให้มันอยู่ในภพเดียว ที่เดียว เดี๋ยวนั้น เวลานั้น ถือว่าเป็นภพหนึ่ง อย่าสร้างภพใหม่ หาภพใหม่


โยม – พระอาจารย์ครับ ถามเรื่องอย่างพื้นๆ หน่อยครับ การแผ่เมตตาอะไรอย่างนี้ครับ ต้องพูดมั้ยครับ..กลัวเขาไม่ได้ยินอะไรอย่างนี้   

พระอาจารย์ – ก็...จริงๆ ไม่ต้องพูดหรอก มันเป็นเรื่องของใจล้วนๆ     


โยม   กลัวเขาไม่รับทราบ แบบไม่มีวจีออกไปแล้วเขาจะไม่ได้ยิน 

พระอาจารย์ –  ไม่เกี่ยวอ่ะ มันเป็นการกำหนดจิตเท่านั้น 


โยม –  แม้แต่การเทน้ำ..   

พระอาจารย์ – ไม่มีอ่ะ มันเป็นแค่กุศโลบายเท่านั้น  ทำจิตให้กว้างๆ ไม่มีประมาณ...ถ้าจะทำนะ ...แล้วก็นึกน้อมออกไป แผ่ออกไป


โยม –   ทำจิตกว้างๆ ทำยังไงคะ 

พระอาจารย์ –    นึกสิ ...นึกคำพูด เนี่ย ภาษาหลวงปู่เคยได้ยินรึเปล่า ... "เบื้องบนตั้งแต่ภวัคพรหมลงมา เบื้องล่างตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นมา วงกลมหมื่นจักรวาล แสนโกฏิจักรวาล อนันตาจักรวาล" เนี่ย คิดอย่างนี้ มันเป็นความคิดที่เปิดจิตให้กว้างออกไม่มีประมาณ ... "ขอให้ท่านทั้งหลายอยู่กันเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย" แค่นี้ 

นึกให้กว้างไม่มีประมาณ เบื้องบนตั้งแต่ภวัคพรหมลงมา เบื้องต่ำตั้งแต่อเวจีมหานรกขึ้นมา วงกลมหมื่นจักรวาล แสนโกฏิจักรวาล อนันตาจักรวาล แค่นี้ เปิด ... มันจะเปิดออก เปิดโลกธาตุ ...ไม่ใช่จำเพาะแค่คน แต่มันได้เป็นเมตตาที่เป็นอัปปมัญญา เมตตาที่ไม่มีประมาณ ... ด้วยการคิด แค่นึกแค่นั้นก็สบายแล้ว


โยม  มันเริ่มไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้แล้ว  

พระอาจารย์ –  ก็มันเห็นความไม่มีสาระ ไม่เห็นความจำเป็น  


โยม –    มันผิดปกติมั้ยครับ 

พระอาจารย์ –    ไม่ผิด 


โยม –  มันจะไปไวไปนะ (หัวเราะและมีการพูดเย้ากัน)    

พระอาจารย์ – มันจะเริ่มเห็นว่า อะไร...คือสาระจริงๆ น่ะคือตรงไหน     


โยม  ตอนนี้มันจะเอาอยู่เรื่องเดียว ก็คือ  "ดูกาย ดูใจ" อย่างเดียว

พระอาจารย์ – อือ  แค่นั้นน่ะ อยู่แค่นั้น อยู่ที่ว่าไม่ต่อเติม ไม่ออกไป เพราะนั้นว่ามันจะเห็นว่าแค่คิดออกไปก็เหนื่อยแล้ว เป็นทุกข์แล้ว มันเริ่ม...แค่ขณะแรกของการกระทำน่ะ  มันก็...แค่นั้นก็เหนื่อยแล้ว เบื่อแล้ว ...มันจะอยู่ที่จุดเดียว อยู่ที่ธรรมดาตรงนั้นแหละ เป็นธรรมดา แค่นั้นเอง ไม่มี ไม่เพิ่ม เท่าที่มี เท่าที่เป็น อยู่แค่เนี้ย

แต่ว่าส่วนมากเวลาถ้าออกไปแล้ว เรามักจะมีความคิดปรุงแต่งมาเสริม ให้ความสำคัญเพิ่มเติม  คนส่วนมากน่ะ...ต้องนั่น ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้   ก็เลยมีการให้ความหมายตามที่เราซัพพอร์ทด้วยความคิดด้วยความจำขึ้นมา 

มันก็เลยเกิดการพัวพันไง ยุ่งขิงกันไปหมดน่ะ ติดข้อง ต่อเนื่อง ยืดยาว เยิ่นเย้อ ...ออกไปออกมาเลยกลับไม่ถูกเลย กลายเป็นหลงหายไปเลย  จมไปเลยกับความคิดนั้นๆ กับการกระทำนั้นๆ  กว่าจะรู้ตัวก็เป็นทุกข์ ..โอ่ยยย โอยแล้วๆ อย่างนี้

เพราะนั้นเมื่อมันรู้เห็นอย่างนั้นบ่อยๆ แล้ว  พอเริ่มแค่จะดำเนินออกไปเป็นครรลองแห่งทุกข์นี่...เป็นครรลองแห่งทุกข์เมื่อไหร่นี่ มันไม่เอาแล้ว มันจะเริ่มทิ้งแล้ว เริ่มวาง  รู้แล้ววางๆ  ยินดีพอใจแค่ตรงนี้ แค่นั้นเอง มันจะม้วนกลับเข้าหาสู่ฐานที่ตั้งของใจ ... ทุกอย่างมันจะปรับให้มันสมดุลน่ะ เป็นกลาง เรียบง่าย

แต่บอกแล้วว่าทุกอย่างนี่ อย่าประมาท อย่าสรุป มันเป็นได้และก็เป็นไปไม่ได้ เหมือนกันหมด แค่นั้นเอง รู้ไปเรื่อยๆ ดูเข้าไป จนกว่าเป็นปัจจัตตัง เฉพาะของมัน  รู้เข้าไปเอง ว่าจบรึยัง หมดสิ้นรึยัง พอรึยัง ใช่รึยัง   

ถ้ายังไม่มีคำตอบไม่มีอะไรพวกนี้ขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง ก็ดูต่อไป สังเกตไป หมั่นสังเกตจิต อย่านิ่งนอนใจ อย่าประมาท ดูอยู่เนืองๆ ไม่มีอะไรก็ต้องดู ไม่มีอะไรก็รู้อยู่เห็นอยู่ ไม่รู้ก็กลับมาเห็น


โยม –  ใจมันแว้บๆ ไปเรื่อยนี่ มันผิดปกติมั้ยครับ   พยายามรู้สึกตัวอยู่ได้สักแป๊บ  

พระอาจารย์ – ไอ้ที่แว้บน่ะ ไม่ผิด ...   ไอ้ที่ไม่แว้บน่ะผิดปกติ


โยม –  มันกดข่มไว้เหรออาจารย์

พระอาจารย์ –  มันตั้งอกตั้งใจเพ่งไว้ มันเลยไม่ไปไหน


โยม     (โยมสนทนาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ)

พระอาจารย์ –     โรคกรรม ... ส่วนมากคนมักจะไปต่อสู้น่ะ ชอบจะต่อสู้ ไม่ยอมรับกับเวทนา หรือว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออะไรนี่ มันจะตั้งป้อมเลย   หรือว่าการปฏิบัติอะไรก็ตาม มันจะตั้งป้อม เอาชนะ  

แค่คิดว่าจะเอาชนะมันนี่ เข้ารกเข้าพงเลย  เหมือนวิ่งเอาไข่ไปกระแทกหินน่ะ มันเป็นไปไม่ได้..เป็นไปไม่ได้  ให้ยอมรับ...ยอมรับเลย  ยังไงก็ได้  แล้วก็รู้กับมัน เสวยกับมัน  ยินยอม ไม่มีเงื่อนไข ไม่ตั้งแง่กับมัน แค่นี้ ...มันจะรับรู้บริหารทุกข์ได้ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่ไปตั้งเป้า


โยม –   อาจารย์ เวทนาตอนที่มันหนักๆ ขึ้นมา มันจะมีสติยังไง...  

พระอาจารย์ –    มันก็มีเท่าที่มันมีน่ะ...ตามกำลัง  มันก็ต้องหลงไปบ้าง เผลอไปบ้าง ไปแช่งมันมั่ง ไปด่ามันมั่ง หรือไปคิดหาเหตุหาผลอะไรกับมันมั่ง ตามเหตุของมันน่ะ  แล้วก็...เออ รู้ตัว แล้วก็หยุด ..รู้ตัวแล้วก็หยุด อย่างนี้

เพราะว่าตามกำลังของสติปัญญา มันก็ต้องอดไม่ได้ที่จะเอาชนะคะคานกับมัน ...เป็นธรรมดา ก็ไหลไปบ้าง  แต่ให้รู้ว่าเป้าหมายของเราน่ะ ให้กลับมาปรารภที่ว่า “ยอม”  กลับมาปรารภว่ารู้เฉยๆ แล้วก็หยุดซะ หยุดปรุงต่อ หยุดความอยากหรือไม่อยากซะ ก็แค่รู้เฉยๆ

เพราะงั้นจะคิดก็ตาม ไม่คิดก็ตาม เวทนานี่มันอยู่เท่าเก่าแหละ บอกให้เลย  แก้ไม่ได้หรอก แก้ไม่ได้ด้วยความคิดนะ  ให้ยอมรับซะ  ตรงนั้นน่ะ มันจะดับได้ คือดับเวทนาในใจ  คืออุปาทาน เวทนาที่เป็นอุปาทานนะ  แต่เวทนาของรูปนี่ดับไม่ได้หรอก ...เต็มๆ


โยม –  ตอนป่วยไข้ก็รักษาไปใช่ไหม  

พระอาจารย์ –  ก็รักษาไปเท่าที่จะรักษาได้ 


โยม    แต่ว่าข้างในคือยอมรับ

พระอาจารย์ – ก็ยอมรับ  เจ็บป่วย เจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัวตัวร้อนธรรมดา ทนได้...ทน  ถ้ารักษาได้ก็รักษาไป ก็ไม่ได้ว่าอะไร   แต่ว่าเวลาไหนโรคไหนรักษาแล้วไม่หาย ต้องทำใจแล้ว ยอมรับแล้ว...ยอมรับตามความเป็นจริงแล้ว 

ก็รักษา...ไม่ใช่ไม่รักษานะ แต่รักษาไปก็ต้องเรียนรู้ทำใจไปโดยปริยาย...โดยปริยาย  ไม่ใช่ว่ารักษาเพื่อจะชนะอย่างเดียว ไปมุ่งมั่นในจุดนั้น  ...ก็รักษาไป ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ทำใจให้เป็นกลางๆ ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข  คืออย่าไปมองแต่ว่าในแง่ที่ร้อยเปอร์เซนต์ หรือว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ จะหาเรื่องทุกข์เอง

เจอทุกคนน่ะ...บอกให้เลย อย่างนี้ อาการพวกนี้...เจอทุกคน ไม่มีใคร ...ไม่มีเลือกเลยน่ะ...ก่อนตาย


โยม –  สติเรามันคลุกกันไป เหมือนกับความปวด มันแยกไม่ได้นะอาจารย์ มันแยกไม่ออก  

พระอาจารย์ – พยายามเรียนรู้กับมันไปทีละเล็กทีละน้อย     


โยม –  อย่างที่ผมบอก...ยังไม่เข้าใจมันก็ตายซะก่อนนี่ เสียดายจังเลย  

พระอาจารย์ –  ต้องฝึกไง  มันต้องฝึกมาทั้งนั้นแหละ จากเวทนาเล็กๆ น้อยๆ  เพราะนั้นน่ะ เวลาฝึกเราไม่ต้องใช้กับเวทนาจริงก็ได้  เวทนาของใจ.. อารมณ์น่ะ ที่เราต้องการให้ได้ดั่งใจ...มันไม่ได้ดั่งใจ ต้องยอมรับทุกข์ของอารมณ์ ของการที่ไม่ได้ดั่งอารมณ์ ไม่ได้ดั่งใจ  

ต้องอดทน ต้องฝึกตั้งแต่อย่างนี้ ฝึกไปด้วย  ยอมรับมันให้ได้ ไม่แก้ ไม่แก้ไข ไม่ดัดแปลง ไม่ทำให้มันดีกว่านี้  อย่างนี้มันเป็นการฝึกปัญญาไปด้วยในการยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข แล้วมันก็จะไปใช้ได้กับเวทนาของกายเหมือนกัน

เพราะงั้นระหว่างที่เราเรียนรู้นี่ ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ กับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏโดยไม่เข้าไปจัดการ มันก็เอามาใช้กับเวทนาทางกายได้  แต่ถ้าเราคอยจะจัดการมัน แก้ไขมันให้ได้ดั่งใจเราอยู่อย่างนี้ ช่วยอะไรไม่ได้หรอก ถึงเวลาแล้วก็ดิ้นเลยแหละ


โยม  ความกลัว พระอาจารย์...ความกลัว  

พระอาจารย์ –   กลัวอะไร กลัวลึกๆ เหรอ 


โยม –    มันเกิดจากอะไร 

พระอาจารย์ – เกิดจากความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร ไม่รู้ว่าข้างหน้าเป็นยังไง ไม่รู้ไอ้สิ่งที่เราประสบ เนี่ย มันให้โทษให้ผลเป็นยังไง ใช่มั้ย  ความกลัวคือเป็นมิจฉาทิฏฐิที่เกิดจากความไม่รู้หรือความหลงอย่างนึง ... มันไม่แจ้ง      


โยม –  แล้วถ้ามันแว้บเข้ามานี่  

พระอาจารย์ –   ก็รู้ 


โยม     รู้อย่างเดียว รู้ว่ามีอาการ

พระอาจารย์ –     อือฮึ ...แล้วมันก็ดับไป แล้วมันก็หมดไป ... คือสุดท้ายมันดับไปนี่ คือเป้าหมาย เหมือนกันหมด ๆ  ก็กลับไปสู่ความเป็นอนัตตาของมัน  มันไม่มีอะไร มันเป็นแค่อารมณ์ประเดี๋ยวประด๋าวชั่วคราว

อย่าไปจริงจัง อย่าไปให้มันมีค่าหรือว่าต่อเนื่องกับมัน  ก็จะเห็นความดับไปเป็นธรรมดาของมันเอง  แม้ว่าจะดับขณะไหน จะดับขณะแรก หรือว่าขณะดับที่มันหมดกำลังของมันเอง หรือว่าเปลี่ยนไปแล้วตัวอารมณ์อื่นมาทดแทน  มันก็คือดับไป...เป็นธรรมดา

แต่ว่าถ้าเป็นเห็นขณะแรก...แล้วมันดับไปโดยขณะแรกที่สัมมาสตินี่  มันจะเข้าไปดับถึงขั้นอุปาทานเลย เข้าไปดับถึงขั้นตัณหาอุปาทานได้ในขณะนั้น ทำให้เกิดความจางคลายในอารมณ์ครั้งต่อไป


โยม –  เมื่อคืนอาบน้ำอยู่แล้วก็กำลังฟอกสบู่ มองไม่เห็น เสียงแมงมันบินพึ่บพั่บๆ อยู่ในห้องน้ำ   

พระอาจารย์ –   ตกใจสิ  


โยม –   ก็มีอาการกลัววูบเข้ามา ก็รู้  พอดูมันก็เป็นผีเสื้อ  แต่ว่าตอนที่ความกลัวมันวูบเข้ามานี่ เรารู้สึกว่ามันมาวูบมาเลย มาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย 

พระอาจารย์ –  อือ ...แล้วเป็นไง  


โยม     ก็รู้เฉยๆ ว่า อ๋อ นี่อาการกลัว เป็นอาการกลัว แล้วก็ดูมันเฉยๆ  ก็ไม่ได้ไปยุ่งกับแมลงมัน  ก็ดู ทำจิตต่อไป แล้วมันก็หายไป

พระอาจารย์ –   จริงๆ มันดับตั้งแต่ขณะแรกที่รู้แล้ว 


โยม –      (คุยกันเรื่องเหตุการณ์นั้นและสภาวะ )

พระอาจารย์ –  นี่นะ ตอนที่เราเคยอุปัฏฐากหลวงปู่ แล้วก็มีญาติโยมมากราบท่าน เราก็นั่งอยู่ข้างๆ  โยมผู้หญิงกราบเสร็จก็มานั่งเล่าให้ฟังว่า ...หลวงปู่คะ หนูภาวนานี่หนูเห็นแสงสว่างเป็นสีน้ำเงินเลยค่ะ ถามหลวงปู่ว่า มันคืออะไรคะ 

หลวงปู่ก็บอกว่า “มันก็คือ แสง” (โยมหัวเราะกัน)  แสงมันก็คือแสง...จบ    ตอบตรงดีมั้ย  แค่นั้นแหละ โยมผู้หญิงนั่นเลิกถามเลย เพราะว่าได้คำตอบไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะเป็นคำตอบที่ตัดรอนเหลือเกิน

คือเป็นคำตอบของผู้มีปัญญา คือพูดเพื่อให้หยุด ขาด ไม่ต่อเนื่อง ไม่ไปหาเหตุหาผลต่อ เข้าใจมั้ย  ให้มันกลับมาอยู่ตรงนี้ ก็แค่นี้  จะไปอะไรกันนักกันหนากับมัน แสงคือแสง...จบ แล้วไม่พูดต่ออะไรเลยนะ ไม่พูดต่อไม่อธิบายเลยนะ แค่นั้นเอง 

คนถามก็เหมือนกับเดินมาชนกำแพงตึงหงายหลังน่ะ  คือจะหยุดโดยปริยายเลย  ให้กลับมาอยู่ตรงนั้น ไม่มีอะไร ไม่ต้องไปอะไรกับมัน  เพราะถ้าไปอะไรกับมันนะ มันจะเป็นอะไรก็ได้ บอกให้เลย 

แล้วแต่เราจะปรุงแต่งไป หรือว่ามีใครมาบอกว่ามันเป็นอะไร หรือมีคนมาชักจูงด้วยความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่เขาจะว่า บอกให้  เพราะนั้นอย่าไปให้ความสำคัญ อยู่ที่ความสำคัญ...การที่เราไปให้ค่านี่แหละสำคัญ

ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้ความสำคัญเลยนะ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า เจอพระพุทธเจ้าให้ฆ่าพระพุทธเจ้าเลย ใช่มั้ย เคยได้ยินมั้ย ... ในความหมายน่ะคือ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น เจอผู้รู้ให้ฆ่าผู้รู้   ไม่ว่าอะไรตั้งอยู่ มีอยู่ แล้วเราให้ความสำคัญกับมัน ให้รู้ไว้เลยนั่นน่ะ...เราเริ่มหลงแล้วนะ  เราเริ่มเข้าไปให้ความหมายมั่น เราเริ่มไปผูกไปพัน...ไปยึดติดกับมันแล้ว

ขั้นว่าเค้าลางที่เราเริ่มอย่างนั้น อาการก่อของเหตุให้เกิดทุกข์เริ่มแล้วนะ  คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าสติปัญญาใครน่ะจะไวขนาดไหนที่จะยอมละ  บางทีรู้นะ..ทุกข์นะ กำลังจะทุกข์นี่ รู้นะ แต่ไม่ยอมละ เห็นมั้ย   ไม่ใช่ไม่รู้...รู้นะ แต่ไม่ยอมละ  มันยัง...มันยังไม่แล้วใจ(โยมหัวเราะ) ..มันยังไม่แล้วใจ 'เฮ้ออ หามันต่อไป เอาให้ได้ ต้องคิดทำมันให้ได้'

คือต้องตัดอกตัดใจน่ะ  ... บางครั้งต้องตัดอกตัดใจจริง เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ในการที่จะทิ้งมัน    ทิ้งมันแบบดื้อๆ เลย ทิ้งแบบไม่เห็นประโยชน์โพชผลของการทิ้งนั้น ทิ้งแบบ...ไม่เอาคือไม่เอา ไม่เหลียวหลัง


โยม – พระอาจารย์ ทำไมถึงไม่ให้เขารู้ล่ะ ถ้าเกิดเขารู้แล้วเขาจะต่อใช่ไหม...แล้วจะต่อ

พระอาจารย์ –  อือ มันไม่จบ  แล้วมันจะเป็น...บอกแล้วไง...อาจิณกรรม  มันจะคุ้นเคยกับการที่จะหาต่อไปเรื่อยน่ะ  เพราะนั้นมันไม่ใช่แค่แสง หรือฟ้าร้อง  ถ้าเราเปิดช่องให้มันน่ะ เดี๋ยวมันมีหลายช่อง  คลื่นแทรกมันเยอะ พร้อมจะแทรกอยู่ตลอด  ทั้งตัวเองด้วย ทั้งอะไรอื่นมากมาย  แต่ถ้าเราปิดโอกาส ปิดประตูซะ ...จบ กล้าที่จะจบ  กล้าที่จะยอมไม่รับรู้อะไรนี่ หมดปัญหา


โยม   ถ้าเรารู้ก็จะทิ้งไม่ใช่หรือคะอาจารย์ หรือจิตมันไม่ยอม 

พระอาจารย์ –   มันไม่ยอมทิ้งหรอก บอกให้เลย 


โยม –   แต่ถ้ามันรู้แล้วมันจะ....  

พระอาจารย์ –  แล้วมันจะเกิดอะไรอีกหลายอย่าง ให้มันพัวพัน ... เพราะนิสัยของเรามันชอบพัวพันอยู่แล้ว  ลึกๆ แล้วมันหา ลึกๆ แล้วมันอยาก   ถ้าเราบอกชาติก่อนเคยเกิดเป็นอะไร หูนี้ผึ่งเลย (โยมหัวเราะ) ทำอะไรมาก่อนถึงเกิดเป็นอย่างนี้ จะหูกางเลย

คือมันมีอยู่แล้ว เพราะนั้นถ้าเราไปขยันเพิ่มให้มันนี่ มันจะสร้างนิสัยของมันอย่างนี้ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ดุๆ หนักๆ นี่ท่านเตือนตรงๆ เลยนะ  ถ้าเป็นหลวงปู่นี่ มาคุย ท่านหัน พลิกคำพูดอีกอย่าง หงายท้องเลย  ฟังเราเล่าๆๆๆ อยู่นี่ เพิ่นตอบสวนกลับมาทีเดียว หงายท้องเลย  กว่าจะได้สติตรงนั้น ... ท่านสอนอย่างนั้น ท่านสอนตรงๆ 


โยม – ถามต่อ  ความกลัวนี่มีอยู่ในทุกคน...    

พระอาจารย์ –  มี   


โยม –  รวมถึง...

พระอาจารย์ –  พระอริยะก็มี


โยม  มันเป็นตัวตน..ความเป็นตัวตนรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่น่ะ มันเป็นธรรมชาติหนึ่งของจิต 


โยม –  เป็นธรรมชาติของจิต  

พระอาจารย์ –    อือ...เป็นสัญชาติญาณของจิตอยู่แล้ว  ถ้าฟังเทศน์หลวงตามหาบัวจะมี ท่านก็ยังเล่า  ท่านยังตกใจกระโดดก็มี เจองูน่ะ ไปเหยียบ หันไปเป็นงูปุ๊บ กระโดดตกใจ  ท่านบอกไม่ผิดหรอก เป็นธรรมดา เข้าใจมั้ย  

แต่มันจะผิดต่อเมื่อ มาคิดต่อ หาเหตุหาผลกับมัน อย่างนี้ นี่คือต่อเนื่อง ไม่ยอมจบ  เขาจบไปแล้วแต่เราไม่ยอมจบ ไม่จบอยู่ในที่อันเดียว เข้าใจมั้ย

สติปัญญาทั้งหลายทั้งปวงนี่ เพื่อให้สั้น และก็ให้จบให้ได้ในที่อันเดียว เกิดตรงไหนดับตรงนั้น  มันดับแล้วอย่าต่อ อย่าไปก่อเกิดใหม่ ด้วยความปรุงแต่ง ด้วยสัญญาอารมณ์แล้วมาหาเหตุหาผลกับมัน มาทำความแยบคาย แยกแยะ อย่างนี้ ด้วยความเข้าใจ

มันดับไปแล้ว..ดับไปเลย จบให้ได้  มันจะมีคลื่นเป็นระลอกๆ ออกมา อย่าเอาอะไรไปใส่ในลูกคลื่นนั้น หรือเอาเรือไปแล่นตามคลื่นนั้น แค่นั้นเอง  มองให้เป็นเรื่องธรรมดาแค่นั้น อย่ายืดยาว อย่าให้มันยืดยาว หัก ณ ที่จ่าย เพราะนั้นว่า ขณะที่เกิดแล้วรู้ตรงนั้นน่ะมันรู้ทันจิตแรกอยู่แล้ว แล้วมันก็ดับไปแล้ว...หมด


โยม –   ถ้าอย่างที่บอกพระอาจารย์ บางทีเรื่องมันเกิดขึ้นมาทั้งวัน หรือว่าเรื่องที่มันผ่านมา มันจะผุดขึ้นมา ๆ นี่  อย่างที่เวลาฟังพระอาจารย์พูดบางทีมันก็ผุดขึ้นมาบ้าง มันเป็นแบบจิตมันสะสม ตอนที่ฟังพระอาจารย์ไปแล้วมันก็เก็บไว้ๆ  แล้วมันก็ผุด

พระอาจารย์ –  อือ ๆ    


โยม    แต่เรื่องที่มันเก็บไว้นู่นน่ะ มันยังไม่ผุดขึ้นมา มันจะผุดขึ้นมาแค่ปัจจุบันแค่นี้ แต่เก่าๆ มันยังไม่ผุดขึ้นมา

พระอาจารย์ –   ช่างมัน 


โยม – ทำไมปัจจุบันมันมาก่อน ทำไมเก่าๆ ไม่มาสักที    

พระอาจารย์ – มันยังไม่มีเหตุปัจจัยของมันนี่   เราเลือกไม่ได้หรอก เราคาดอะไรกับมันไม่ได้ เราไม่สามารถจะกำหนดได้ว่าคุณต้องมาตามคิวนะ...ไม่มีอ่ะ มันนอกเหตุเหนือผล ที่เราจะคาดเดาได้นะ

เพราะนั้นไม่ต้องกังวล ไม่ต้องคะเนเลย  อะไรที่อยู่ตรงหน้าต่อหน้า เดี๋ยวนี้ตรงนี้ อันนี้ถือว่าจริง พอแล้ว  ทำอะไรไว้ ไม่ต้องคำนึง คิดอะไรไว้ ไม่ต้องกังวล  มันยังไม่ทุกข์ก็อย่าไปหาเรื่อง ไปละทุกข์ที่ยังไม่เกิด  ให้มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริงก่อน แล้วก็เรียนรู้กับมันในปัจจุบันนั้นๆ    


โยม –  นิสัยของจิตนี่มันเก็บทุกเรื่องเลยนะ แต่มันผุดขึ้นมาไม่ทุกเรื่องนะคะพระอาจารย์   

พระอาจารย์ –   มันยังไม่ถึงเวลา  จริงๆ นี่มันผุดมาทุกเรื่อง แต่เราไม่รู้หรอกไอ้ที่มันผุดมาทุกเรื่อง มันเป็นเรื่องอะไรบ้าง เช่น ความฟุ้งซ่าน ความขุ่นมัว ความเศร้าหมองพวกนี้ มันออกมาด้วยเหตุปัจจัยที่เราเก็บไว้ทั้งหมดเลย

บางครั้งก็เกิดความเศร้าหมอง บางครั้งก็เกิดความวิตกกังวล  พวกนี้มันก็ออกมาจากที่เราเก็บเอาไว้ เศร้า ซึม เบลอ พวกนี้ เป็นวิบากส่งผลออกมา  เพียงแต่เราไม่รู้ว่าไอ้นี่มันเกิดจากอะไรเท่านั้นเอง แล้วเราคิดว่ามันไม่เกิด เพราะไอ้สิ่งที่เราปิดไว้ 

จริงๆ ท่านก็ไม่ได้ให้หาอะไรหรอก แต่ให้เข้าใจว่ามันมีเหตุปัจจัยอยู่แล้ว ที่เกิดขึ้นมาอย่างนั้นๆๆ จากไอ้ที่เราหลงคิดหลงทำนั่นแหละ  แต่มันจะเห็นได้ชัดเจนหรือว่าเข้าใจเป็นบางเรื่อง...ที่เราเจตนาแรงๆ เท่านั้นเอง มันถึงจะพอเข้าไปคำนวณ แยกแยะได้ว่าใช่เลย เนี่ย อย่างเนี้ย ไปทำไว้เลย ส่งผล  

แต่ว่าเรื่องทั่วไปเล็กๆ น้อยๆ นี่ เราจะไม่รู้เลย...แทบจะไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดอารมณ์นี้ขึ้นมา ธรรมารมณ์นี้ขึ้นมา ความเศร้าหมองนี้ขึ้นมา ...ไม่ได้หมายถึงความเศร้าหมองอย่างเดียว ความผ่องใสด้วยนะ ความสุขความสบาย 

อยู่ดีๆ ก็ยิ้มแป้น อิ่มขึ้นมาอย่างนี้ หาคำตอบได้มั้ย  บางครั้งก็ตอบไม่ได้ ทำไมอยู่ดีๆ วันนี้อารมณ์ดีจัง ไม่เห็นทำอะไรเลย อย่างเนี้ย  ...มันไม่ลอยมานะ มันมีเหตุอยู่นะ  แต่เราไม่ต้องไปควานหามันหรอก ถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้ ไม่จำเป็นต้องไปรู้ 

แต่พวกเราชอบอยากจะไปรู้มัน ว่ามันมาจากไหน มายังไง ...จะได้ทำบ่อยๆ (หัวเราะ) ..อะไรอย่างเนี้ย


โยม   พระอาจารย์ แต่ก่อนที่ไม่มีสติตัด มันก็เลยปรุงแต่ง ทำให้จำเรื่องนั้นได้เป็นเรื่องเป็นราวนะพระอาจารย์  แต่เดี๋ยวนี้มันมีสติตัดปั๊บ มันก็เลยไม่ปรุงแต่ง มันก็เลยจำไม่ได้

พระอาจารย์ –  อือ ดีแล้ว จำไม่ได้    


โยม –    มันเป็นความจำสั้น เพราะว่าเราไม่ไปปรุงแต่งอะไรเลยไง

พระอาจารย์ –     ดีแล้ว อย่าไปย้ำมัน หรืออย่าไปสงสัยเวลามันจำอะไรไม่ได้ หรืออย่าไปวิตกวิจารณ์กับมันว่า 'เอ๊ เราผิดรึเปล่า'


โยม     มันชอบย้ำ ทำไงพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็ให้รู้ว่ากำลังย้ำ ...ย้ำอีกแล้ว ย้ำคิดย้ำทำ  มันจะเป็นการย้ำคิดย้ำทำ แล้วมันจะเป็นทุกข์ 


โยม –   ไอ้จิตจำแม่น ยิ่งย้ำยิ่งจำๆ คือคิดออกมาเป็น 'โห จำได้หมดเลย'

พระอาจารย์ –  ชื่อคนบางทีกว่าเราจะนึกได้นี่ หลายนาทีอ่ะ


โยม –  แต่บางทีมันก็ขึ้นมาเองนะอาจารย์   บางทีก็นึกๆ นึกไม่ออก

พระอาจารย์ –   ใช่  บางที...จนเขาไปแล้ว...อ้าว มันชื่อนี้เอง ...จริงๆ นะ มันจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าความจำสั้นหรือว่าความจำไม่ดี  แต่เราไม่ให้ความสำคัญในการเข้าไปจดจำแค่นั้นเอง


โยม   ถ้าเราอยากจะจำเราต้องให้ความสำคัญเราต้องมาตั้งเงื่อนไขอีกที่จะจำ

พระอาจารย์ –   เหมือนบังคับให้มันจำ อันนั้นน่ะมันจะเป็นการผูกด้วยสัญญาอุปาทานมากขึ้น แต่ถ้ารู้ผ่านๆ รู้ผ่านๆ ไม่ค่อยมีอะไรหรอก

แล้วการปฏิบัติ...ปฏิบัติไป ทุกอย่างจะสั้นหมดแหละ ไม่มีอะไรยาวขึ้นเลย มีแต่สั้นลงๆ จนเหลือแค่จุดนึง ชีวิตจริงเหลือแค่จุดเดียว ... จะไม่ยืดยาวเยิ่นเย้อ จะไม่คิดไกล จะไม่คิดนาน แทบจะไม่ได้อยู่กับความคิดเลยด้วยซ้ำ ...อยู่ไปวันๆ อยู่ไปเรื่อยๆ มีก็ทำ ไม่มีก็ไม่ทำ จะเรียบง่ายที่สุด


โยม –  ต้องมีการวางแผนอนาคตมั้ย

พระอาจารย์ – ไม่มีอ่ะ ไม่ต้องวาง    


โยม –    เหมือนคนไร้อนาคตเลยนะพระอาจารย์

พระอาจารย์ – อือ ก็แล้วแต่เขาจะว่า  แต่บอกแล้วไงไอ้นี่มันแค่เราคิดเอาเท่านั้นนะ คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น รูปภาพลักษณ์ภายนอกคนเขาจะเห็นว่าเป็นอย่างนั้น 

แต่ในชีวิตจริง...ดำเนินตามความเป็นจริงน่ะมันไม่ใช่อย่างที่เราคิดอย่างนั้นหรอก มันจะมีความสมดุล กลมกลืน ทุกคน รับได้หมดเลย จะไม่มีอย่างที่เราคิดว่า ...'เอ้ย เขาจะมองเรายังไง เขาจะยังไง'... ไม่มีเลยนะ  มันจะเป็นไปด้วยความสมดุล สมดุลกลมกลืน 


โยม   เราไปคิดว่าเขาว่า แต่เขาอาจจะไม่ได้ว่าอย่างนั้นก็ได้ 

พระอาจารย์ –   ใช่ เราคิดเอาก่อน เราคิดเอง  คิด...ความคิดก็เลยมาเป็นพันธนาการของเรา  ซึ่งในการที่ไม่กล้าที่จะทิ้ง ไม่กล้าที่จะทิ้งความคิด  เราบอกให้เลยว่าการดำเนินชีวิตหรือการทำงานนี่ไม่ต้องคิดอะไรยังทำได้เลย ทำไปเหอะ ไปทำเอาข้างหน้า ทำเอาตอนนั้นน่ะก็ยังได้

ยังไงมันต้องมีหนทางเดินของมันอยู่แล้ว แต่มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราต้องการหรือเราคาดเท่านั้น  แต่มันทำได้ และจะได้คุ้นเคยกับการทำโดยที่ไม่ได้จัดการไว้ก่อน  ตรงนั้นน่ะมันจะเกิดความพอดีของมัน ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

ก็ไม่ได้ว่าห้ามคิด แต่ว่าอย่าเอาเป็นเกณฑ์มาตรฐานตายตัวกับความคิดนั้นๆ


โยม –  ถ้าใจไม่ต้องข้องกับสังขารธรรม ไม่ต้องข้องกับสังขารขันธ์ ไม่ต้องข้องกับสัญญาขันธ์ ...มันเอาปัญญาไปซุกไว้ตรงไหนน่ะครับ

พระอาจารย์ –  ปัญญานี่เหมือนมีด  มีดนี่...จะรู้ว่าเป็นมีดตอนไหน ตอนมันหั่นข้าวของ  แต่ถ้ามันไม่ได้หั่นข้าวของนี่ ถามว่า มันเป็นมีดมั้ย ความเป็นมีดมันไม่มีหรอก เข้าใจมั้ย   ... ปัญญาเหมือนกัน มันจะมีต่อเมื่อมันมีเหตุให้ต้องใช้ปัญญา  ถ้ามันไม่มีอะไร ปัญญาก็ไม่มี  ก็ไม่มีประโยชน์มันก็ไม่ต้องเอามาใช้

แต่ว่าถ้ามันมีเมื่อไหร่น่ะ ปัญญาก็ออกมา เห็น รู้ เท่าทัน 'อ้อ เป็นยังงี้ๆ'  แล้วก็เห็นในการที่ว่ามันจะเข้าไปก่อทุกข์มั้ย เติมมั้ย ต่อมั้ย  ถ้าไม่มีอะไร มันก็ไม่มีอะไร  ไม่ใช่มาคอยตั้งตาเฝ้ารออยู่อย่างนี้นะ ปัญญาจะใช้ต่อเมื่อมันมีอะไรให้ต้องใช้

มันจะเกิดพร้อมกับความหลงน่ะ เกิดพร้อมกับอุปาทานน่ะ เกิดมาเพื่อรู้ทันกัน มาใช้เท่าทันกัน  พอใช้เสร็จมันก็ต่างคนต่างไป ปัญญาก็ดับ อุปาทานก็ดับ พร้อมกัน  เกิดใหม่มาใหม่ เกิดใหม่ก็มารับใช้ใหม่ อย่างนั้น  เพราะนั้นปัญญามันจึงไม่มีที่ตั้ง เหมือนกัน    


โยม –   เป็นส่วนอีกส่วนหนึ่งไปเลย 

พระอาจารย์ – อือฮึ มันจะมาเมื่อมีเหตุ   


โยม  หมายถึงว่ามันเกิดของมันเอง ใช่มั้ย พระอาจารย์

พระอาจารย์ –   ถูกต้อง  เมื่อต้องมีเหตุให้เราทุกข์ หรือว่าหลง หรือว่ายึดมั่นถือมั่น หรือว่ามีการติดข้อง จึงจะเกิดการเข้ามารู้ เข้ามาเห็นชัดตรงนั้น เข้ามาใช้แยกแยะจำแนก 


โยม –   มันก็เหมือนเข้ามาสะกิดให้จิตมันฉลาดขึ้นใช่รึเปล่าคะอาจารย์  

พระอาจารย์ –  ก็ใช่ ปัญญามันก็อยู่ตรงนั้น เพราะว่ากิเลสมันจะมีขั้นตอนหยาบละเอียด หรือการเข้าไปหมายมั่นนี่ มันจะมีทั้งหยาบ ทั้งกลาง และทั้งละเอียด ทั้งขั้นประณีต.. แม้แต่จะไม่มีอะไร บอกให้เลย ความไม่มีอะไรนี่ มันก็ยังมีความเป็นอรูป ที่เป็นอุปาทานที่เป็นอรูป 

ตอนที่เราเห็นว่าเราดี เราก็ยึดว่าบอกว่าไม่เห็นมีอะไรนี่ ก็ดีแล้ว ตรงนั้นมันเป็นความยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้ว...ในความไม่มีไม่เป็น  


โยม –  แล้วปัญญาไม่ได้บันทึกเอาไว้ในสัญญาขันธ์ ไม่ได้บันทึกเอาไว้ในสังขารขันธ์หรือ  

พระอาจารย์ –  ไม่มีอ่ะ เพราะว่าปัญญานี่ ไม่ใช่จินตามยปัญญา หรือว่าสุตตมยปัญญา เกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น เหมือนกันๆ  ไม่สะสมเลยนะ ไม่สะสม เป็นปัญญาของปรมัตถจิต หรือว่าปรมัตถ์   ใช้แล้วก็ดับไปพร้อมกัน  เพราะนั้นคนที่มีปัญญาจริงๆ จึงไม่รู้สึกว่ามีปัญญา


โยม  ถ้าผมบอกว่า ถ้าท่านที่ท่านทิ้งขันธ์ไปแล้ว ไม่ต้องอาศัยขันธ์เป็นที่บันทึกปัญญาตัวนี้แล้ว  

พระอาจารย์ –  หมายความว่าใครล่ะ เป็นพระอรหันต์รึเปล่า  


โยม –  ก็ท่านที่เป็นอย่างนั้นน่ะครับ  แล้วปัญญาที่ท่านได้ไปแล้ว ได้เป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งแล้ว ...ไม่แน่ใจว่าใช้คำถูกรึเปล่า งงๆ 
    
พระอาจารย์ –   เข้าใจมั้ยว่า ความหมายคำว่าดับโดยสิ้นเชิงนี่ คือความหมดจด คือดับ ไม่มีอะไรหลงเหลือ ไม่มีอะไรน่ะ  ปัญญาก็ไม่มี กิเลสก็ไม่มี จิตก็ไม่มี ใจก็ไม่มี เข้าใจมั้ย คือดับโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไร  ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะปัญญาหรือไม่ปัญญานะ มันไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้ ไม่สามารถตั้งอยู่ได้แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรทิ้งไว้เลยนะ

เพราะนั้นน่ะ ปัญญาที่แท้จริงน่ะ มันจะละในขณะที่รู้ รู้กับละนี่พร้อมกัน พอรู้ปุ๊บดับปั๊บ  นี่เห็นมั้ย มันจะไม่เหลือความรู้ ว่ารู้อะไรอยู่ต่อ ถ้าดับจริงๆ นะ  ดับเป็นดับเลย ไม่รู้ว่ารู้อะไร ไม่รู้ว่าเห็นอะไรด้วยซ้ำ

เพราะว่าดับจริงๆ น่ะมันดับเข้าไปถึงดับความหมายมั่นน่ะ ดับความเข้าไปมีเข้าไปเป็น ... เพราะนั้นไอ้ที่พูดนี่มันเป็นขณะแรกนะ ความดับที่เราพูดว่าดับๆ นี่คือจิตแรกนะ เราไม่ได้พูดถึงจิตสองสามสี่ห้านะ หรือว่าพูดถึงความรู้ต่อเนื่องนะ

ไอ้ลักษณะรู้ต่อเนื่องนั่น รู้กับอารมณ์ที่เป็นกลางหรือไม่มีอะไรกับมันก็แค่รู้แค่เห็นสักแต่ว่าเนี่ย ไอ้อันนี้ไม่ต้องดับ มันเป็นแค่อยู่ร่วมกันด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัย หรืออยู่ร่วมกันแบบสันติ พวกนี้ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ก็เรียกว่ามันอยู่ด้วยความเป็นรูปก็สักแต่ว่ารูป กายก็สักแต่ว่ากาย เวทนาสักแต่เวทนา จิตสักแต่จิต ธรรมสักแต่ธรรม อันนี้มันก็มี มันก็มีของมันอยู่

แต่คำว่าดับหรือความดับไปของปัญญาที่เข้าไปดับนี่ คือขณะแรกที่มันจะมีจะเป็น  แต่ถ้ามันออกมาขณะแรกหรือขณะไม่มีไม่เป็น มันไม่มีปัญหาอะไร ก็ดำเนินไป ดำเนินไปตามครรลองของวิบาก

แต่ถ้ามันว่าดำเนินไปในครรลองของวิบากแล้วมันมีกระโดกกระเดก ตรงนี้มันจะเกิดจิตแรกขึ้น อุปาทานจะเกิดขึ้น ตรงนี้สติสัมปชัญญะจะเริ่มเกิดแล้ว  ทันปั๊บ นี่ อย่างนี้ต่างหาก แล้วมันก็ดำเนินของมัน ไม่มีปัญหา

ไม่มีปัญหาคือไม่มีอะไร ก็ไม่ต้องไปทำ ไปหา ไปค้นไปคิดอะไรกับมัน ในการที่มันอยู่ร่วมกันโดยสันติ เป็นกลางอยู่แล้วนี่  กับระหว่างขันธ์กับจิต รูปกับนาม ภายในกับภายนอก โลกียะกับโลกุตตระ มันจะอยู่อย่างนี้ เป็นธรรมดา เป็นปกติ มันจะคั่นกลางด้วยมัชฌิมาเอง


โยม –   มันปกติมากไป มันก็เหมือนไม่มีอะไร 

พระอาจารย์ –   ปกติ ...ไม่มีมากไม่มีน้อยหรอก ปกติคือปกติ


โยม     แต่ว่าขณะจิตแรกนี่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเห็นนะครับ มันก็รู้ๆๆ

พระอาจารย์ –   รู้ไปธรรมดานี่แหละ 


โยม –   ไม่มีกะใจแม้แต่จะไปแยกด้วยซ้ำว่านี่แรกรึยัง 

พระอาจารย์ – ใช่ มันจะรู้ต่อเมื่อมันเกิดหรือว่าทัน  สัมมาสติน่ะ ไม่ได้ตั้งใจจะระวังหรือคอยดูอะไรหรอก รู้คือรู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ มันก็จะรู้แค่กลางๆ อย่างนี้    


โยม –   ก็ให้รู้กลางๆ อย่างที่อาจารย์ว่า 

พระอาจารย์ –  ก็รู้บ่อยๆ คือให้กลับมารู้ให้เป็นกลางๆ เนืองๆ เข้าใจมั้ย  


โยม   กลาง ก็ให้รู้ว่ากลาง

พระอาจารย์ –    อือ ให้เห็นอยู่น่ะ


โยม –     บางทีปล่อยมันไปจนกว่าจะกระเพื่อมถึงจะรู้ ...อันนี้ปล่อยเชือกยาวเกินไปรึเปล่า

พระอาจารย์ – ไม่หรอก    


โยม –  พอกระตุกแล้วถึงจะรู้ ไม่งั้นไม่รู้เรื่องเลย ถ้าไม่มีอะไรกระตุกก็ไม่รู้  

พระอาจารย์ –     มันลอยรึเปล่าล่ะ


โยม –   ลอย...ลอยยังไงครับอาจารย์ 

พระอาจารย์ –  มันเลื่อนลอยรึเปล่าล่ะ ไอ้ที่เราว่าไม่รู้นี่มันเข้าขั้นเลื่อนลอยมั้ยล่ะ  


โยม   แต่มันก็ไม่มีอะไรกระเพื่อมน่ะครับ ก็ทำงานทำการไป จนมีอะไรมากระเพื่อมถึงจะเห็นน่ะครับ  ไม่มีสภาวะอะไรที่มันผิดปกติ มันก็ไม่รู้สึกอะไร

พระอาจารย์ – จริงๆ น่ะมันรู้อยู่แล้ว     


โยม –  แต่มีความรู้สึกว่า 'เอ๊ะ รู้สึกว่ามันหย่อนไป' รึว่ามัน ..  

พระอาจารย์ –  อันนั้น เราไปวิจารณ์ใหม่แล้ว   


โยม –   ต้องคอยกลับมาขยัน

พระอาจารย์ – ก็บอกแล้วว่าถ้ายังไม่เข้าใจชัดเจนน่ะ กระตุกได้...มารู้ที่กาย     กลับมารู้ที่กายก็ได้ หรือกลับมาดูใจ ชัดๆ เลยก็ได้ แล้วก็ปล่อยเลย


โยม  พระอาจารย์ การเวียนเทียนนี่ก็เป็นเปลือกรึเปล่า

พระอาจารย์ –  เปลือกก็เปลือก...ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำเดี๋ยวจะเจอก้อนอิฐ  มันจะเจอแรงเสียดทานมา มันต้องเรียนรู้การอยู่ด้วยความสมดุลน่ะ ทั้งภายนอกภายใน  จะไปปฏิเสธหรือว่าไปเลือกไม่ได้ ไม่งั้นมันจะทุกข์  แม้จะรู้ว่าอะไรคือเปลือก อะไรคือธรรม อะไรคือแก่น อะไรคือฐาน ยังไงก็ต้องเป็นไปน่ะ ทำให้มันกลมกลืน สมดุล แล้วมันจะไม่เป็นทุกข์


โยม – ทุกข์เราเองใช่มั้ยพระอาจารย์ ถ้าเราไม่ทำอะไรอย่างนี้    

พระอาจารย์ –   ถ้าไม่ทำเมื่อไหร่นี่จะเจอแรงเสียดทานกลับมาแล้วเราจะเป็นทุกข์ บอกให้เลย  ถ้าเราไปฝืนธรรมชาติของคนเขา หรือว่ารูปแบบหรือธรรมเนียม  แต่เราทำไป รู้อยู่ว่าเป็นเปลือก แต่ก็ทำไปเพื่อสมดุลสันติ  เป็นกลาง อย่างนี้


โยม – แต่เราไม่มาทำก็ได้พระอาจารย์ คนอื่นเขาก็ทำอยู่   

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ เข้าใจมั้ย มันจะเลือกเอาตามความเห็นของเราเองเป็นใหญ่  เขาทำยังไง..ทำ แค่นั้นเอง อย่าไปตั้งแง่  


โยม  ให้ค่ารึเปล่าที่ต้องทำ   เราไปให้ค่ารึเปล่า

พระอาจารย์ –    ยังไงก็ต้องทำ บอกแล้วว่าให้ปรารภที่ใจ อย่าไปปรารภที่ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” เข้าใจมั้ย  ต้องดูได้ ทำได้ทั้งสองอย่าง  ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แล้วปรารภอยู่ที่ใจ ไม่ใช่ว่าไม่ทำแล้วดี พอทำแล้วไม่ดีนี่ เราให้ค่าให้ความสำคัญต่างกันแล้วนะ มีการยึดติดในการ “ไม่ทำ” หรือ “ทำ” แล้ว

เพราะนั้นต้องลองดู ต้องทำทั้งสองอย่าง เป็นการเรียนรู้น่ะ แล้วรู้ว่าใจมันเป็นยังไง ระหว่างทำกับไม่ทำ 

ถ้าพอใจหรือเสียใจหรือดีใจหรือไม่พอใจ  หรือดีตอนไม่ทำ แล้วมาไม่ดีตอนทำนี่ ให้รู้ไว้เลยว่ามันมีความแตกต่างแล้วในการเลือกข้าง  แต่ทำก็เฉยๆ ไม่ทำก็ธรรมดา ทำก็ธรรมดา ไม่ทำจิตก็อย่างนี้ ทำก็จิตอย่างนี้ ถึงจะรู้  เข้าใจมั้ย


(จบชุดแทร็ก 1/1 - 1/6)
...............................