วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/15 (3)


พระอาจารย์
1/15 (25530331A)
31 มีนาคม 25553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/15  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้นพอพูดมัชฌิมาปฏิปทา บางคนก็คิดไปไกลเลยว่าต้องมีตั้ง ๘ ข้อ ต้องทำอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเริ่มจากตรงนั้น ต้องอย่างนี้ 

แต่ถ้าว่าในภาษาเราก็บอกว่า...รู้เป็นกลางๆ นี่แหละ รู้แบบไม่มีเงื่อนไข รู้แบบไม่มีข้อแม้ รู้แบบไม่เลือก ...อะไรก็ได้ แค่รู้กะมันตรงๆ นี่ล่ะ

จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ยากหรอก พวกเรามาตีความให้ยากไปมากมาย ...เกินทั้งนั้น พอเริ่มตีความปุ๊บ เกิน มีแต่เกินกับเกิน มีแต่ขั้นอุกฤษฎ์ทั้งนั้นเลย นะ 

ขึ้นชื่อว่าอุกฤษฎ์ ขึ้นชื่อว่าเคร่ง ก็ขึ้นชื่อว่าสุดโต่ง  มันก็คือความหมายเดียวกับคำว่าสุดโต่ง เข้าใจมั้ย สุดโต่งในจิตน่ะ ...ภาษาที่เรียกดีๆ ก็ว่า "อุกฤษฎ์" 

เคร่ง ทำความเพียรแบบอุกฤษฎ์งี้ ...โห มันสร้างตัณหาแบบอุกฤษฎ์เลยนะ คือการเจริญตัณหาแบบขั้นอุกฤษฎ์เลยนะนั่น เดินแบบไม่ท้อถอยทั้งวันทั้งคืน 

นี่เรียกว่าตัณหาขั้นอุกฤษฎ์เลยนะ บอกให้เลย ในความเป็นจริงนะ เราพูดแบบไม่อ้อมค้อมนะ ไม่พูดแบบเกรงใจใคร


โยม –  ก็เขามาตีความอันที่ว่า...ราตรีหนึ่งเจริญ ว่าเดินอยู่ทั้งคืนไม่นอน

พระอาจารย์ –  ตีความก็ตีความผิด ... คำว่าราตรีหนึ่งเจริญ คือ “จิตรู้” เข้าใจมั้ย  

จิตรู้มันไม่มีกลางวันกลางคืน บอกให้เลย ...สติที่รู้นี่ มันมีกลางวันตรงไหน มันมีกลางคืนตรงไหน มันมีเวลาหลับเวลานอนมั้ย เข้าใจมั้ย มันไม่เคยขึ้นกับเดือนขึ้นกับตะวัน

อันนี้ต่างหากคือมีราตรีเดียว ...สมณะที่มีราตรีเดียว คือสติ...ตื่น เป็นผู้ตื่น เข้าใจรึยัง ... ตื่น จิตตื่นคือจิตรู้  คือสติ มันจึงจะตื่น ...ไม่ใช่ตื่นแบบลืมตา ไม่หลับไม่นอน อย่างนี้ไม่ใช่


โยม –  เพราะนั้นราตรีนี่คือว่าไอ้ที่มืดมาตลอด

พระอาจารย์  นั่นน่ะคือความมัวเมา คือความมืดบอดต่างหาก ... ตื่น จิตตื่น ตาใจนี่ตื่น ด้วยญาณ ด้วยสติและสัมปชัญญะ

เพราะนั้นไอ้ที่อยู่ในสมองพวกเรานี่ลบได้  delete ให้หมดยิ่งดี มัน error บอกให้เลย มัน error ...ฟอร์แมทซะได้ก็ดีน่ะ ล้างให้หมด ไม่เอาอะไรเลย โง่ที่สุด กลับมาเป็นเหมือนศูนย์ (0) น่ะ เข้าใจมั้ย 

แล้วก็รู้ไปตรงๆ น่ะ ยืน เดิน นั่ง นอน สบายใจ ไม่สบายใจ สุข ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ ดีใจ เสียใจ รู้มันไปแค่นี้ ...จบ  ถึงนิพพานก็รู้แค่นี้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย บอกให้เลย

แต่ไอ้ความรู้พวกนั้นมันไม่ถึงน่ะ ไปตายกลางทางหมด บอกให้เลย ...มันตายเพราะมันรู้เกินน่ะแหละ มันไปอยู่กับไอ้ที่มันรู้เกินน่ะ ...มันเป็นภพ เข้าใจมั้ย 

มันเป็นสมมุติและเป็นบัญญัติทั้งสิ้น สภาวะนี่โหยละเอียด บางคนมาพูดอธิบาย เราฟังนี่ โห กูยังงงเลยโว้ย มันมีหรือวะเนี่ย มันเคยปรากฏอยู่ในภพมนุษย์นี้เหรอ มันเกินไป ๆ

เอาแค่เดี๋ยวนี้...มีก็มี ไม่มีก็ไม่มี สบาย ๆ ง่ายๆ ไม่รู้อะไรคือไม่รู้อะไร งงคือรู้ว่างง สับสนรู้ว่าสับสน เดี๋ยวก็หาย  กังวลก็รู้ อ้าว อยากรู้อีกแล้ว อยากเห็นธรรมอีกแล้ว ก็รู้ว่าอยากอีกแล้ว  

รู้ไปๆ ๆ มีอะไรเกิดขึ้นรู้เข้าไป รู้ไป ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปว่ามัน ไม่ต้องไปโทษมัน ไม่ต้องไปตำหนิมัน ไม่ต้องไปว่ามันดีหรือไม่ดีน่ะ

มันเกิดยังไงก็ให้รู้...เห็น รู้แล้วก็เห็นว่ามันเป็นยังไงมั่ง มากขึ้น น้อยลง เออมันดับลง มันแปรปรวน เออ มันตั้งอยู่ไม่ได้ มันเป็นยังไงๆ แค่นั้นเอง รู้แล้วก็เห็นตามความเป็นจริง  

ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าถูก ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าผิด  ตัวเราเองนั่นแหละ...ถ้าไม่รู้เมื่อไหร่ นั่นแหละ ผิดหมด  ถ้ารู้อยู่...อะไรก็ได้...ถูกหมด บอกให้เลย  

แต่ถ้าไม่มีสติ ถ้าไม่เห็นตามความเป็นจริงในปัจจุบัน...ผิดหมด ...จะให้รู้อะไรมากมายมหาศาลเราก็เรียกว่าผิด เพราะมันรู้จำ รู้คิด...ไม่เอา ... รู้จำ รู้คิดนี่ไม่เอา ...เอารู้จริง  

รู้จริงคือรู้ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี่  (เสียงของสัมผัส)...นี่จริงๆ ...ถ้าคิดอะไรอยู่นี่ เขาเรียกรู้คิด รู้จำ เข้าใจมั้ย ไอ้พวกนี้ไม่ค่อยจริงน่ะ ...แต่มันจะไปเชื่อรู้จำกับรู้คิด เข้าใจมั้ยมนุษย์เรานี่


โยม –  มันฝึกรู้จำมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วน่ะค่ะ

พระอาจารย์  มนุษย์น่ะมันฝึกอยู่กับการคิดมา แล้วก็เชื่อความคิดมาตลอด เอะอะอะไรคิดไว้ก่อนแหละ ผิดถูกยังไงไม่รู้ คิดแล้วสรุปได้แล้ว...มันเชื่อเลยว่าใช่

นี่มันเป็นการตัดสินของอุปาทาน คิดแล้วมันตัดสินเองเลย มันจะเกิดความหมายมั่นทันที ตัดสินเองเลย ว่าใช่ ถูก ผิด แล้วมันก็เชื่อ เป็นมานะขึ้นในจิตเลย 

มันเป็นธรรมดาของขันธ์ ของอุปาทานขันธ์นะ เป็นกิเลสประจำตัวของสัตว์โลก มันเป็นอย่างนี้ ...แต่เราไม่เห็นมันไง  ปัญหาอยู่ที่ตรงนี้...เราไม่เห็นมัน  

ถ้าเราเห็นเมื่อไหร่แล้วจะเหมือนเราจับขโมยได้น่ะ ...อ้อ ไอ้นี่เอง มันมาแอบดอดกูตอนนี้ นี่ ฟุ้บ นี่จับได้ เพราะนั้นสตินี่เองถึงจะรู้จะเห็นว่ามันแอบมาตอนไหน...มาสร้างตัวตน


โยม –  มานะนี่เราก็เข้าไปรู้อย่างเดียว ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์  รู้อย่างเดียว ดูอย่างเดียว แก้ไม่ได้ ไม่ต้องแก้ ...ให้ทันซะก่อนเหอะ  มันไม่ทันน่ะสิ มันไม่เห็นน่ะสิ  ปัญหาคือมันจะแก้อะไรถ้ามันไม่เห็นน่ะ

อยากเห็นกันจังอนัตตา อยากเห็นกันจังความไม่มีตัวตน ...แล้วก็เพ่งเข้าไปอยู่นั่น ดูเข้าไปอยู่นั่น ให้มันว่าง ให้มันหาย ให้มันไม่มี

มันจะเห็นอนัตตาได้ยังไง...ถ้าไม่เห็นอัตตา เข้าใจรึยัง ...คุณจะเห็นความไม่มีตัวตน คุณต้องเห็นตัวตนก่อนสิ คุณต้องเห็นตัวตนของความมีความคิด คุณต้องเห็นความเป็นตัวตนในความคิด 

คุณต้องเห็นความมีตัวตนในความจำ คุณต้องเห็นความมีตัวตนในความเห็น คุณต้องเห็นความมีตัวตนในรูป ในคน ในสัตว์ ในวัตถุ อย่างในรูป ...ในรูปนี่ นี่พ่อ นี่แม่ นี่..เป็นตัวเป็นตนยังไง  

คุณต้องเห็นตัวตนพวกนี้ก่อน คุณถึงจะเห็นว่าความไม่มีตัวตนอยู่ตรงไหน ...สติมันถึงจะต้องไปเรียนรู้จักสิ่งที่มีอยู่ก่อน ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีแล้วไปจับ 

เพราะฉะนั้นถ้าเอาสิ่งที่ไม่มีมาเป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานนะ อาจารย์นึงบอกว่าอย่างนี้ใช่  มาอีกอาจารย์หนึ่งบอกว่าอย่างนี้ไม่ใช่ ต้องอย่างนี้  เข้าใจมั้ย ๆ  

แล้วมันกี่สิบสำนักนี่ จะบอกสภาวะไม่เหมือนกันเลย และจะแนะนำวิธีการให้เข้าถึงสภาวะนี้ไม่เหมือนกันเลย

แต่อย่างที่เราบอก...มีวิธีเดียว เห็นว่ามีอะไร รู้ตรงนั้น แล้วจะเห็นความดับไปของตรงนั้น ตรงนั้นถึงเรียกว่าเห็นความดับไปของตัวตนหรือว่าความเป็นอัตตานั้นดับไป  

เสียงที่ได้ยิน...รู้ปุ๊บนี่ เห็นความดับไป ...นี่คือเห็นความเป็นอนัตตาของมันแล้ว ด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้ทำขึ้นมา เข้าใจมั้ย นี่พูด...ได้ยิน ไม่ได้บอกให้มันดับเลย ดับเองนะนั่น ใช่มั้ย ไม่ได้กำหนดให้ดับนะ 

นี่ ถ้าสติเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงนะ ...อัตตาเกิดขึ้น ตัวตนเกิดขึ้นครั้งนึงแล้วก็ดับไป ถ้าเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่มันเกิดดับตรงนี้ เราก็ไม่สร้างอัตตาอุปาทาน 

หรือว่าเก็บมาเป็นจริงจัง สะสมมาเป็นนิสัย ...อย่างว่าเขาด่าให้เรา เขาว่าให้เรา อย่างนี้น่ะ  อย่างนี้น่ะเก็บความเป็นอัตตาอุปาทาน  ด้วยความไม่รู้ คิดว่าเขายังด่าเราอยู่ 

เขาด่า...สมมติว่า “ไอ้โง่ เธอนี่โง่ ...ปุ๊บ จบแล้ว ... กลับถึงบ้าน มันด่าตัวเองว่า "โง่ๆๆๆๆ" ซ้ำซากอยู่นั่นแหละ ...เข้าใจมั้ย  ไอ้อย่างนี้เรียกว่าอุปาทาน 

แปลว่าเขาด่านี่ได้ประโยชน์ เพราะอะไร ...ด่าคำเดียว กลับไปอยู่บ้านคนเดียวไม่มีใครว่าอะไร นึกขึ้นมาก็...เขาด่าเราว่าโง่ๆๆ  เห็นมั้ย ด่าประโยคเดียวนะ 

แต่ว่าจิตมันซับซ้อนน่ะ ด้วยความจดจำว่ายังมี...เขายังด่าเราๆ  นี่เรียกว่าสัญญาอุปาทาน ...มันเก็บมาเป็นอุปาทาน คิดว่าเขายังมีตัวมีตน คำด่านี้ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่  

เพราะงั้นด่าทีเดียวได้ประโยชน์ ข้ามปี ข้ามชาติเลยยังมี เพราะมันจดจำอย่างนี้ด้วยความไม่รู้ ...แต่ความจริงมันจบไปตั้งแต่เขาพูดแล้ว บอกให้เลย ...เห็นมั้ยนี่คือความจริง 

แต่มันไม่เห็นความเป็นจริง ไม่ยอมรับตามความเป็นจริง ...มันไปเชื่อในความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงก่อเกิดทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น จึงก่อเกิดการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น 

จึงเกิดความสำคัญมั่นหมาย...ในการที่เขาด่าเราแล้วเราจะต้องด่าเขาคืน เราจะต้องทำอะไร เรามีการคะเนไปถึงภพข้างหน้า ชาติข้างหน้า โอกาสข้างหน้า เวลาข้างหน้า จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ 

เห็นมั้ย จิตมีการเตรียมพร้อมไว้แล้วนะนั่นน่ะ ภพนี่คุณทั้งหลายได้สร้างไว้รอแล้ว ตายเมื่อไหร่ก็พอดีแหละ...เกิดเลย ไปทำสานต่อเจตนารมณ์ที่ให้ค่าไว้ ให้ความหมายไว้ เป็นอย่างนี้

แล้วมันไม่ใช่แค่คำพูดคำด่าอย่างนี้ เข้าใจมั้ย  ตาด้วย ปากด้วย จมูกด้วย ความรู้สึกทางกายด้วย ความคิดในใจด้วย มันเรื่องเดียวกันหมดน่ะ ด้วยความหลง เป็นจริงเป็นจัง  

ไอ้เป็นจริงเป็นจังนี่แหละคือตัวตน ...ก็ให้เห็น ให้เห็นมัน ให้ทันมัน แล้วจะเห็นความไม่มีตัวตนในตรงนั้นแหละ 

เห็นมั้ย ถ้ามีสติ ฟังเสียงปุ๊บ มันจะเห็นเลยเสียงนี่  เวลาเราพูดมันก็ดัง เวลาเราหยุดมันก็ดับ อย่างนี้ ...ถ้าเห็นอยู่ เราจะเห็นความไม่มีตัวตนของอายตนะ ของขันธ์ ของรูปขันธ์ นามขันธ์ นี่ มองให้เป็นธรรมดา

พอมันเริ่มผิดธรรมดา มันจะมีอารมณ์ ...เอ๊ะ เค้าพูดยังไง นึกยังไงวะ เอ เค้าด่าให้เรารึเปล่า ...ก็ให้เห็นว่านี่เกิดสัญญาอุปาทาน มันกำลังเกิด  เห็นมั้ย 

มันไปเกิดตอนนั้นก็ให้รู้ตอนนั้นอีก ไปยึดมั่นในคำพูด ไปยึดมั่นในเสียงก็รู้ว่ากำลังเป็นทุกข์กับไอ้สิ่งที่ล่วงไปแล้ว อย่างนี้

อะไรเกิดขึ้นไม่ห้าม เรียนรู้กับมัน ศึกษามัน แล้วก็ดูมัน  ไม่ต้องทำอะไร ... ความเป็นจริงเขาปรากฏอยู่แล้ว  ความเป็นอนัตตาก็ปรากฏจากความเป็นอัตตา  

ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปจับอนัตตาให้มาขึงพืดแล้วก็รอดูมัน แล้วก็ให้มันทรงอยู่ในความเป็นอนัตตา  ...ไม่ได้  หรือว่าความไม่มีไม่เป็น...ไม่ได้ 

ความไม่มี ความไม่เป็น ความควบคุมไม่ได้ มันต้องเกิดจากการมี การเป็น การที่เราเข้าไปควบคุมมัน ...ให้ไปเห็นตรงจุดนั้น จึงจะเห็นความไม่มี ไม่เป็น ได้ตามความเป็นจริง 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจึงง่าย ไม่ยากอย่างที่เราเข้าใจหรอก ถ้าเราไม่ทำอะไร  ถ้าทำเมื่อไหร่ยากหมดน่ะ นะ ...ถ้าได้ทำเมื่อไหร่ล่ะ มีปัญหาหมดแหละ  

แล้วมันจะหาผิดหาถูกอยู่เรื่อย ถ้าทำอะไรขึ้นมาน่ะ ...ทำเมื่อไหร่ก็บอกได้เลย ไม่มีทางถูกสักทีน่ะ  เดี๋ยวก็ได้แง่คิดมุมใหม่อยู่ตลอด จิตน่ะมันพลิกได้ตลอด ใช่มั้ย

อุบายนั้น อุบายนี้ วิธีนั้น เดี๋ยวก็คนนั้นพูดประโยคนี้มาก็... เอ๊ะ ใจคิดว่าต้องลองสักหน่อย อะไรอย่างนี้ มันน่าจะอย่างนี้นะ มันน่าจะอย่างนั้นนะ 

เริ่มล่ะ เริ่มไขว้เขว เริ่มลังเล เริ่มส่าย เริ่มจะเข้าไปหมายมั่น เริ่มจะเข้าไปเสวย สร้าง เพื่อจะเข้าไปเสวยเวทนาขึ้นมา ไปทดลองพิสูจน์ว่ามันจริงหรือไม่จริง 

นี่ มันหนีจากเดี๋ยวนี้ ไอ้ตัวที่มันหานี่หนีออกไปแล้ว หนีจากกาย หนีจากจิตปัจจุบันแล้ว

กลับมาอยู่กับที่มันไม่มีอะไร ไม่ได้อะไรนั่นแหละ  กลับมาอยู่ที่มันไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรนั่นแหละ กลับมาตรงจิตที่เราบอกตัวเองว่าปฏิบัติมาตั้งนานไม่ได้อะไรเลยนั่นแหละ 

อยู่กับมัน ผูกเสี่ยวกับมัน เป็นเพื่อนกับมัน อยู่กันแบบสันติ อย่าหนีกัน..นะ มันจะง่ายแล้วก็เร็ว มันเร็วตรงนี้...อย่าหนี ยอมรับ ไม่มีเงื่อนไข ไม่สร้างขึ้นมาใหม่ ...อะไรก็ได้ เป็นกลางต่อทุกสรรพสิ่ง 

ทุกอย่างก็จบในตัวของมันเอง ไม่ต้องไปจบข้างหน้า ไม่ต้องไปจบในชาติหน้า ไม่ต้องไปจบในเวลาข้างหน้าเวลาต่อไป ...มันจบได้ในเดี๋ยวนี้ ในตัวของมันเอง ในขณะปัจจุบันเท่านั้น

เพราะว่าอะไร ...เพราะว่าความเป็นจริงมีแค่ปัจจุบัน   ถ้าความเป็นจริงไม่จบในปัจจุบัน แล้วจะไปจบตรงไหนวะ มันจะไปจบในอดีตเรอะ มันจะไปจบในอนาคตเรอะ ...อันนั้นไม่จริง  

พอมันไม่จริงปุ๊บมันจึงไม่จบ เข้าใจมั้ย  มันก็ต่อไปไม่รู้จักจบหรอก เพราะมันไม่จริง  ...ถ้ามันจริงแล้วมันจบได้ในปัจจุบัน  

เอ้า สงสัยมั้ย


โยม –  ไม่สงสัยค่ะ

พระอาจารย์ –  ถ้าสงสัยก็จะบอกว่า...ให้รู้ว่าสงสัย (หัวเราะกัน)


โยม –  ขอบพระคุณหลวงพ่อค่ะ

พระอาจารย์ –  มีโอกาสก็มาคุยได้


โยม –  ได้ไปหลายดอก (หัวเราะ) โดนใจเวลาได้ถามมากเลย

พระอาจารย์ –  นี่แหละ มาฟังธรรมเรา ก็มาฟังเราด่านั่นแหละ (หัวเราะ) ด่าให้กิเลส

โยม –  แต่ดีค่ะ 


(ต่อแทร็ก 1/16)


แทร็ก 1/15 (2)


พระอาจารย์
1/15 (25530331A)
31 มีนาคม 25553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/15 ช่วง 1


โยม –  แล้วมันจะรู้ว่าไม่ใช่เราคิดนะ มันคิดของมันไปเอง มันก็ไปรู้เฉย ๆ ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์  มันไม่สนใจด้วยซ้ำ ว่ามันเป็นความคิดหรือไม่คิด


โยม –  เป็นแค่อาการ อะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  เป็นเหมือนลมน่ะ เหมือนลมแผ่วๆ อย่างนี้ ไม่ได้ไปสนใจด้วยว่ามันคิดเรื่องอะไรด้วยซ้ำ คิดแล้วบางทีคิดไปทั้งวัน กลับมารู้ตัวปุ๊บ มันรู้ปุ๊บ...'คิดอะไรวะ ไม่รู้เรื่อง' 

ทั้งที่คิดทั้งวันนะ คิดตลอด แต่พอรู้ก็ 'คิดอะไรนะ...จำไม่ได้' ทั้งที่คิดจนหัวแทบปรุเลยนะ แต่ว่าพอถามดูจริง ๆ นะคิดเรื่องอะไร ไม่รู้หรอก คือมันไม่ให้ความสำคัญเลย ...มันจะเป็นอย่างนั้น

เพราะงั้นไม่ใช่ว่าวางแล้วหมายความว่าทุกอย่างต้องดับหมดนะ หรือว่าไม่เกิด หรือว่าน้อยลง ...มันก็เป็นตามธรรมดาของขันธ์น่ะ รูปขันธ์เป็นธรรมดา 

เห็นมั้ย รูปขันธ์นี่เป็นทุกข์มั้ย ทุกข์ตลอดเวลานะ ...ไม่ชอบมันเหรอ ถ้ามันไม่ดีแล้วอยู่กับมันทำไม ดับมันสิ ...มันก็ไม่ดับให้น่ะ มันไม่ดับนะนี่ มันไม่ตายน่ะ 

เห็นมั้ย มันก็ยังดำเนินไปตามปกติของมัน อยากให้มันดับ หรือเราไม่เอากับมันแล้วนี่เราจะอยากให้มันดับ แต่มันไม่ดับนี่ ...รู้ว่ามันเป็นทุกข์ ก็ดับมันไม่ได้ 

เขาก็ดำเนินไปตามปกติของธาตุของขันธ์ ของธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะหก ...เป็นธรรมดา ... แต่ว่าเราไม่ไปเดือดไปร้อนกับมันต่างหาก

อย่างเป็นผู้หญิง ...ไม่พอใจ เห็นว่าเป็นผู้หญิงเป็นทุกข์ อยากเป็นผู้ชาย ... เลือกได้มั้ย บอกมันได้มั้ย มันฟังมั้ย มันเปลี่ยนให้เรามั้ย มันแก้ได้มั้ย  

เห็นมั้ย ไอ้พวกนั้นเป็นเรื่องความอยากกับความหมายมั่น  ผู้หญิงก็ผู้หญิง จบ ไม่มีความหมายมั่นว่าจะต้องให้เป็นอะไรหรือไม่เป็นอะไร ...อย่างนี้ยอมรับตามความเป็นจริง

เขาก็ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของเขา แก่ก็แก่ ตายก็ตาย สุดท้ายเวลาตายก็มองเห็นเป็นธรรมดา ดับไปก็เป็นธรรมดา ไม่ได้ตื่นเต้นตกอกตกใจ หรือว่าเสียอกเสียใจ หรือว่ากังวล หรือว่าอะไรต่างๆ นานา


โยม –  พระอาจารย์คะ โยมเคยน็อกไปแบบไม่รู้สติเลย แล้วมันก็จำอะไรไม่ได้  แต่เคยตั้งใจว่าถ้าจะตาย ขอตายแบบรู้ตัว รู้ทุกขณะ มันแตกต่างกันไหมคะอย่างนี้

พระอาจารย์  แตกต่าง ... แต่ว่ามันไม่ได้รู้ได้ด้วยความอยาก  มันต้องฝึกไปอย่างนี้ รู้ไปเรื่อย ๆ รู้กายรู้จิตไปเรื่อยๆ


โยม –  ก็เวลามันช็อก มันไม่ได้บอกล่วงหน้า มันช็อกไปเลยอย่างนี้

พระอาจารย์   บอกแล้วไง ...ไม่ต้องกลัวนะ ถ้าเราฝึกสติสัมปชัญญะอย่างนี้ ...ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นกะทันหันขนาดไหน เวลาไหน ...มันจะรู้ บอกให้เลย ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวล 

มันจะรู้ของมันเอง มันไม่ไปไหนหรอก มันก็กลับมารู้ที่ขันธ์นั่นแหละ ...อาจจะเหมือนไม่ได้อะไร หรือว่าไม่ได้ทำอะไร แต่ว่าพอถึงเวลาเหตุการณ์จริงอย่างนั้นปุ๊บ ...มันจะกลับมารู้เลย  

แต่ว่ารู้แล้วมันจะวางหรือไม่วางนั่นอีกเรื่องนึง เข้าใจมั้ย ... แต่ถ้าเป็นพระอริยะ พระอรหันต์ คือ ท่านเห็นแล้วท่านวางเลย

แต่ถ้าเรารู้ ...อาจยังไม่วาง ยังติด ยังกังวล ยังหวงแหน ยังอาลัย  ยังไม่น่าตายเลย อะไรก็ตาม...อาจจะมีอารมณ์ต่อเนื่องออกมา ... มันแล้วแต่ อันนี้แล้วแต่กำลังของปัญญา
 
แต่ถ้าเป็นพระอริยะท่านกลับมารู้แล้วก็เห็นเป็นธรรมดา ...ไม่ว่าอะไร อาการไหน กลับมารู้ปุ๊บ เห็นปั๊บ ...ธรรมดา ไม่ได้ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ ดีใจ พอใจหรือไม่พอใจอะไร 

เห็นอะไร ก็...ธรรมดา ...เป็นธรรมดา มันเป็นเช่นนั้น ...เคยได้ยินใช่มั้ย มันเป็นเช่นนั้นเองเนอะ 

แต่พอเราดูปุ๊บ... "เอ๊อะ ไม่ได้เว้ย"  รู้ปุ๊บ... "เอ้ย มันน่าจะยังงี้นะ"  เห็นมั้ย นี่คือว่ามันยังข้อง มันยังคา มันยังติด มันยังหวงแหน มันยังอาลัย มันยังเสียดาย มันยังกังวล  

เพราะงั้นก็ตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง ... ดูปุ๊บ มีปัญหาปั๊บ ใช่เลย...กลับมาเกิดแน่ เข้าใจมั้ย 

ถ้าดูปุ๊บหลุด ดูปุ๊บคลาย ดูปุ๊บหาย ดูปุ๊บสบาย ดูปุ๊บไม่มีปัญหา ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ ...ไม่ต้องถามเลยว่าภพท่านจะมาอยู่ไหน จะเกิดหรือไม่เกิด ไม่มีปัญหาทุกเรื่องราวหรือว่าทุกสรรพสิ่ง ไม่มีข้อแม้แม้แต่ข้อแม้เดียว 

ถ้าเรายังเอ๊อะ ยังแอ๊ะ อ๊ะ  อู๊ ฮื้อ อะไรพวกนี้...เกิดดด  ชัวร์  ตายแล้วเกิดๆ แน่นอน ...ไม่ต้องไปถาม ไม่ต้องให้อาจารย์พยากรณ์ ตัวเองพยากรณ์ได้เลย ...แต่ถ้าดูแล้วไม่มีเงื่อนไข ไม่มีปัญหา ไม่มีข้อแม้ ...จบ 

แต่ถ้าจิตตั้งข้อแม้ ตั้งเงื่อนไขขึ้นมา แปลว่ามันยังมีความหมายมั่น...ในภพ  คือมันคิดว่าน่าจะมีเวทนาอย่างนั้น อารมณ์นั้นๆ ที่ดีกว่า...ให้เลือก ...แล้วมันยังเลือก เข้าใจมั้ย

นี่คือข้อง ...ยังทะยานไปในภพ ยังทะยานอยู่ในภพอยู่ ยังไม่เห็นตามความเป็นจริงจนถึงที่สุดว่า จนสุดท้ายที่สุดไอ้ที่ว่าดีกว่าอารมณ์ตรงนี้ เวทนานี้ ...สุดท้ายแล้วมันก็ดับไป 

เข้าใจไหม คือมันไม่เห็นตรงนี้ว่า...ถึงจะหาใหม่ ไอ้ที่ได้มาใหม่มันก็ดับไปเป็นธรรมดา ...แต่มันคิดว่าไอ้นี่ไม่ดี จะทำให้มันดับแล้วไปเอาอันใหม่อันที่ดีกว่า...เพื่อจะไปเสวย  

นี่เรียกว่า...ไม่รู้  ด้วยความไม่รู้...จิตจึงเข้าไปก่อภพ ยึดมั่นถือมั่น ให้เป็นภพเป็นชาติ  ถ้ามีภพขึ้นแล้วเข้าไปกระทำให้เกิดขึ้นมาเรียกว่าชาติ ...มีชาติเกิดแล้ว 

เมื่อมีชาติเมื่อไหร่ โศกะ ปริเทวะ สุข ทุกข์ เกิด แก่ เจ็บไข้ได้ป่วย...เป็นธรรมดา ตาย...เป็นธรรมดา นี่ มีแต่ทุกข์กับทุกข์ ...แต่พวกเราก็คิดว่าสุข

เพราะมันไม่มีใครแสวงหาทุกข์หรอก เข้าใจมั้ย  แต่ว่าจิตมันจะหลอก ...ว่ามันเป็นสุข ...แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏหรือที่เกิด ท่านเรียกว่า...ทุกข์


โยม –  แต่คนเราทำทุกอย่างเพื่อจะสุข

พระอาจารย์ –  มันคิดเอาว่าเป็นสุข ... แต่ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าที่มันเกิดขึ้นเป็นทุกข์ ...เพราะอะไร ...เพราะมันไม่เที่ยง เข้าใจมั้ย  อาการของทุกข์ ความเป็นจริงของทุกข์นี่คือความไม่เที่ยง มันจึงเรียกว่าทุกข์  

สุขก็ไม่เที่ยงใช่ไหม ...เพราะงั้นสุขนี่ ก็คือทุกข์อันหนึ่ง เพราะมันไม่เที่ยง คงอยู่ไม่ได้ ควบคุมไม่ได้อย่างนี้  นี่คืออาการของทุกข์ ...แต่คนจะติดเห็นแค่ว่ามันเป็นสุขเวทนา 

แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าอาการนี่คือทุกข์ ...เพราะมันคงอยู่ไม่ได้ มันไม่เสถียร มันไม่มั่นคง มันไม่สามารถเรียกมาได้ตลอดเวลา ว่าเป็นของเราหรือของใคร หรือว่าเอามาให้กันได้ อย่างนี้ 

แล้วมันไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอะไร  อย่างว่า เอ้า...สุข จับไว้เลย อย่างนี้  มันไม่ใช่อย่างนี้นะ ...มันจับต้องไม่ได้ มันไม่มีตัวมีตน มันไม่มีความเสถียรภาพในตัวของมันเลย

มันอยู่ที่เหตุปัจจัย...ของเหตุและปัจจัย จึงจะเกิดอาการหรือเวทนานั้นๆ ขึ้นมา ...แล้วก็เกิดแค่ขณะเดียวเอง ชั่วขณะ ชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าว  

แต่เราไม่เห็นความประเดี๋ยวประด๋าว...เราติดใจ มันมีความติดใจ มันมีความตรึงใจ ...มันมีความกำหนัด  เคยได้ยินคำนี้ไหม ...มันกำหนัด มันย้อมจิต 

เวทนาพวกนี้มันจะมาย้อมใจเราให้เกิดความคลอเคลีย ไม่ปล่อยไม่วาง ไปแนบแน่น อิ่มเอิบ กำหนัดในอารมณ์ เวทนานั้นๆ ...ตรงนี้แหละที่มันเลิกละได้ยาก 

เพราะมันเคยเสพมา ใช่มั้ย มันมีความย้อมใจ มันติด มันข้อง ...ไอ้ความติดความข้องนี่มันเลยไปเบี่ยงเบนความเห็นที่ว่ามันไม่จีรัง มันไม่คงอยู่ มันไม่ถาวร    

ความไม่รู้...มันจะหลอก มันจะหลอกให้หาอารมณ์ใหม่มาทดแทนอยู่ตลอด หาภพมาทดแทนตลอด หนีภพปัจจุบันตลอด ...ภพปัจจุบันมันไม่ค่อยชอบเสวย 

พอไม่มีอะไร ก็ว่าจะโง่บ้าง จะไม่มีปัญญาบ้าง พอไม่รู้อะไรก็ว่ามันจะไปไหนไม่ได้บ้าง เห็นมั้ย อย่างนี้  แม้แต่การปฏิบัติธรรมน่ะ มันยังแสวงหาภพใหม่เลย 

จะให้จิตรู้อะไรที่ดีกว่านี้ ให้จิตเห็นอะไรที่ดีกว่านี้ ที่มันดูเป็นธรรมมากกว่านี้ ...เลือก เห็นมั้ย มีการเลือก มีข้อแม้ใช่มั้ย มีเงื่อนไขใช่มั้ย  เนี่ย ตายปุ๊บเกิด...จบ  แค่นั้นเอง   

แต่ถ้าไม่มีข้อแม้ ไม่มีปัญหา ไม่มีเงื่อนไข ...อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ ยังไงยังงั้น  มากก็มาก น้อยก็น้อย ไม่มีก็ไม่มี ...คือว่ากันตรงๆ ซื่อๆ น่ะ ไม่มีว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้

ไม่มีการคะเนเอา ไม่มีการประเมิน ไม่มีการประมาณ ไม่มีว่าความน่าจะเป็น ...คือเอาว่าเดี๋ยวนี้ ยังไงยังงั้น เท่าที่มีเท่าที่เป็น แค่นั้นเอง ...แล้วจะตรงที่สุด แล้วจะไวที่สุดแล้ว 

ไม่ใช่มานั่งแสวงหาว่าทำจิตให้เป็นยังไงยังงั้น  หรือว่าให้จิตมันต้องไปรู้อย่างนั้นรู้อย่างนี้  อันนั้นมันเป็นแค่มายาหนึ่งของจิตเท่านั้น หรือว่าความปรุงแต่ง หรือว่าเป็นภพลอยๆ ที่ยังจับต้องอะไรไม่ได้
 
เพราะฉะนั้นปฏิบัติธรรมทำไมถึงจึงทุกข์ล่ะ  เนี่ย มันไปอยู่กับภพลอยๆ ความเห็นลอยๆ ที่คาดแล้วก็... "ทำไมไม่ได้สักทีวะ ทำไมไม่ไปสักทีวะ ทำไมมันไม่เห็นอย่างนั้นสักที" เนี่ย ทุกข์ ยิ่งทำยิ่งทุกข์ 

เพราะมันทำไม่ถูกที่น่ะ ...ท่านให้อยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ แต่เดินจงกรมกันนี่ ไปอยู่กับสภาวะไหนก็ไม่รู้  อย่างนี้ ...นี่มันมีจิตลึกๆ ที่ปรารถนาจะให้เกิดอะไรขึ้นมา หรือให้เห็นอะไรขึ้นมา 

แล้วพอเห็นอะไรขึ้นมาก็วี๊ดว้ายกระตู้วู้ ดีอกดีใจ ตื่นเต้น "อุ๊ย ได้ดังคาดเลย เราปฏิบัติได้ผลจริงๆ"


โยม –  เขาพูดกันมาเยอะไงคะ อยากทดลองดู

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นมันก็ว่าการปฏิบัติมันต้องได้ผล พอได้ผลปุ๊บนี่ ...เหมือนหมางับกระดูกเลย ปั๊บ “ของกู ใช่เลย  ทำมา เราทำ ใช่เลย ได้ผลแล้ว”  

แต่ถ้าเดินแบบ ลอยๆ แล้วไม่มีอะไร กำหนดแล้วก็รู้สึกซึมๆ เซื่องๆ งง ๆ พอเลิกปุ๊บ “วันนี้ไม่ได้ผลเลย” ... นี่ เห็นมั้ย มันมีความปรารถนา...ใช่มั้ย ลึกๆ น่ะ ดูให้ดี สังเกตดู 

แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจทำ เห็นมั้ย นั่งธรรมดานี่ รู้อยู่อย่างนี้ สบายกว่า ไม่ต้องไปอะไร ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ดูเห็นอะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ ไม่ต้องหนีมัน อย่างนี้ ...เพราะรูปขันธ์มันมีอยู่แล้วตามความเป็นจริง 

เราไม่ต้องไปสร้างมัน หรือสร้างสถานการณ์อะไรขึ้นมา ไปจำลองเพื่อให้เกิดสภาวะจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้จิตเห็นอะไรขึ้นมา ...มันไม่ต้องไปคาดคั้นสภาวธรรม พูดงั้นเหอะ

เพราะฉะนั้นสภาวะธาตุ สภาวธรรม มันมีปรากฏตามความเป็นจริงทุกขณะ ทุกเวลา ทุกกาลเวลาสถานที่อยู่แล้ว ...ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่พูดว่า "อกาลิโก" หรอก  

อกาลิโก แปลว่าไม่ขึ้นด้วยกาลเวลา สถานที่ และบุคคลเลยนะ ...แล้วทำไมจะต้องปรากฏธรรมเฉพาะตอนเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือต้องอยู่คนเดียวล่ะ เข้าใจมั้ย 

พวกเราถูกปลูกฝังมาด้วยความรู้ความเห็นว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ซะก่อน ถึงจะเห็นธรรม รู้ธรรม ถึงจะฉลาด ถึงจะเกิดปัญญา แล้วก็เชื่อ...เชื่อหมดแหละ


โยม –  พระอาจารย์คะ สมมุติคนที่เขาทำใหม่ๆ ถ้าเขายังไม่ได้กล่อมเกลาเรื่อง...อย่างเช่น ต้องรักษาศีลอย่างนี้ ให้มันเกิดความดีพร้อมในร่างกาย มันก็วอกแวก มันก็ไม่ตั้งมั่น ควรจะให้เขาทำไหม

พระอาจารย์  ก็ได้ ก็ให้เขาทำไป เราก็ไม่แนะนำให้ไปไล่ตีหัวคน หรือว่าไปเบียดเบียนคนหรอก ... ทำไปเหอะ แล้วพอรู้ไป ฝึกไปทำไป แล้วจะรู้ว่าอะไรที่มันเป็นส่วนเกิน 

แค่ตั้งจิตไว้ ปรารถนาไว้ วิรัติไว้ก็เกินแล้ว ...แต่ตอนนี้มันยังไม่รู้สึกว่าเกิน มันรู้สึกว่าขาดอย่างเดียวแหละ นักปฏิบัตินะ ไอ้นั่นก็ขาด ไอ้นี่ก็ไม่พอ ไอ้นั่นก็ยังน้อย ไอ้นี่ก็ต้องอย่างนั้น มีแต่ขาด

แต่เราบอกเลย ไอ้ที่ขาดน่ะคือเกิน ...คือมันคิดเกิน ตั้งไว้เกิน มันเลยซับซ้อน มันเลยกลายเป็นของยาก  การปฏิบัติเลยเหมือนกับการเข็นช้างขึ้นภูเขาอย่างนี้ เข้าใจมั้ย เพราะเราไปตั้งไว้เกินน่ะ ตั้งไว้เกินๆ

เอาง่าย ๆ ก่อน  ดูง่ายๆ รู้ง่ายๆ รู้เบาๆ รู้สบายๆ รู้แบบไม่เครียด รู้แบบไม่เกร็ง รู้แบบง่ายๆ ธรรมดา ... ธรรมก็แปลว่าธรรมดา ธรรมก็คือว่าธรรมชาติ ธรรมก็แปลว่าปกติ 

นี่คือคำเดียวกันหมดแหละ ความหมายเดียวกันหมด จะเอาความหมายของธรรมยังไงล่ะ  หรือว่าแปลว่าความทรงอยู่ แปลว่าปกติ แปลว่าธรรมดา แปลว่า ธรรมชาติที่มีอยู่  นี่คือธรรม เข้าใจมั้ย

ไม่ใช่ว่าอยู่ในบาลี อยู่ในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วอย่างนั้นคือธรรม จะเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ต้องไปนั่งแปลไล่หาความหมายของศัพท์แสงนี้ บาลีนั้น ประโยคนี้  

แต่ถ้าธรรมในความหมายของความเป็นจริงนี่คือ...ปกติ ธรรมดา ธรรมชาติ สิ่งที่มีอยู่ตามความเป็นจริงแค่นี้เอง ...เพราะฉะนั้นเรากิน นอน เสพอยู่กับธรรมตลอดเวลา

แต่เราหนีธรรมตลอดเวลาเราปฏิเสธธรรมตลอดเวลา ไม่ยอมรับธรรมที่มีอยู่ตลอดเวลา ...แล้วจะไปหาธรรม...ที่ใหม่กว่า ดีกว่านี้ ตลอดเวลา 

อย่างนี้ เขาเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ เข้าใจรึยัง ความเห็นที่ผิด ความเห็นที่ไม่ตรง มันจึงเกิดทุกข์ซ้ำซากๆ

เพราะมันเห็นทุกอย่างผิดจากธรรมดา ...เห็นของธรรมดาเป็นของไม่ธรรมดา ทำสิ่งที่มันธรรมดาให้มันเป็นสิ่งที่ผิดธรรมดา มันจึงเกิดทุกข์ซ้ำซากด้วยความไม่รู้ แค่นั้นเอง

กลับมายอมรับง่ายๆ ปุ๊บ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ...ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม เขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้  สิ่งที่ปรากฏอยู่นั่นน่ะมันเป็นธรรมดา ...ก็อยู่แค่รู้ไป  

รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปหือ ไม่ต้องไปอือ ไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน ไม่ต้องไปดีอกดีใจกับมันอย่างนี้ เขาเรียกว่ารู้เฉยๆ 

รู้แบบไม่ต้องคาดคั้น รู้แบบไม่ต้องเลือก รู้แบบไม่ว่ามันจะต้องเป็นยังไงหรือไม่เป็นยังไง ..เรียกว่ารู้เฉยๆ เรียกว่ารู้ธรรมดา เรียกว่ารู้แบบเป็นกลาง เรียกว่ารู้ในองค์มรรค เรียกว่ารู้ในมัชฌิมาปฏิปทา


(ต่อแทร็ก 1/15  ช่วง 3)