วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/22 (2)


พระอาจารย์
1/22 (25530415B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/22  ช่วง 1

โยม –  เพราะว่าช่วงทั้งอาทิตย์ที่ผ่านมานี่เจ้าค่ะ ก็คือมีทุกอย่างที่เป็นตัวนิวรณ์ แต่เราไม่รู้ว่ามันเป็นนิวรณ์ ก็เลย...ทำไมเรารู้สึกหลายอย่างในห้าตัวนิวรณ์นี่อยู่ตลอดเวลา

พระอาจารย์ –  นิวรณ์ทั้งห้า...มันมีอยู่ในชีวิตประจำวันนั่นแหละ 

มันเป็นตัวกางกั้นจิต กางกั้นความที่ว่ารู้ชัด รู้ในลักษณะ...รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ชัดเจน คือสมาธิ ...มันทำให้ไม่เกิดความเห็นชัดเจนหรือว่าตั้งมั่น มันจะเกิดอาการคลุมเครือ


โยม –  เราจะไม่มีการกำหนดว่าเราควรทำอะไรให้มันมีสติบ่อยขึ้น ไม่มีเลยใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  อือ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ตั้งได้เมื่อไหร่ก็ตั้งเมื่อนั้น ...กายก็มีอยู่แล้วใจก็มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาอะไรขึ้นมาใหม่

เหมือนโยมเมื่อกี้ที่ถามว่าไปทำแบบนั่งยกมือน่ะ ซึ่งเราไม่ค่อยแนะนำอ่ะนะ เพราะว่านั่นมันเป็นอุบายน่ะ ...ไม่งั้นเดี๋ยวก็สติเกิดไม่ได้...ถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้นน่ะ

เพราะว่าสุดท้ายแล้วนี่ แม้แต่จิตยังไม่มีการกระทำเลยน่ะ ไม่มีการกระทำแม้แต่นิดเดียวเลย ...จะปล่อยให้เป็นอิสระล้วนๆ ไม่มีกั๊กเลย 

มันถึงจะหลุดหมด ถึงจะหมด ออกหมดน่ะ อัตตาที่แท้จริงน่ะ ถึงจะออกหมดเลย ...จะไม่มีเกร็ง ไม่มีกั๊กไว้ ไม่มีแอบ ไม่มีกลัวว่าอย่างนั้น กลัวว่าอย่างนี้ 

มันปล่อย...แล้วไม่แตะต้องเลย ...แต่ว่าตัวสติสัมปชัญญะมันจะแน่วแน่มาก แน่วแน่ มั่นคง ...ไม่ถอย แล้วก็ไม่กลัว 

คือปฏิบัติไปช่วงๆ นึงน่ะ จะไปเจอความกลัว ...กลัวจิตเสีย กลัวรับไม่ได้ กลัวมันตก กลัวอะไรหลายๆ อย่างที่มันจะเป็นตัวขวางสภาวะ กลัวเขาว่า กลัวไม่ไปถึงไหน


โยม –  จะว่าไปความกลัว ความกังวล มันมีอยู่เรื่อยๆ นะครับ  แต่ว่าสภาวะที่พระอาจารย์บอกว่าจะไปเจอนี่มันจะชัดเลยหรือครับว่ามันจะกลัว

พระอาจารย์ –  มันจะไม่กล้าทิ้งน่ะ นี่ มันคนละเรื่องกัน

กลัวว่าถ้าไม่ทำแล้วจะไม่ได้ กลัวอีกหลายอย่าง กลัวที่จะต้องรักษามันอยู่ กลัวที่จะทิ้งมัน ... มันไม่เข้าใจว่านิพพานจริงๆ คืออะไร แล้วมันก็เลยไม่กล้าที่จะทิ้ง หรือว่าไม่กล้าที่จะปล่อย 

ดูไปเรื่อยๆ เหอะ มันจะอ่านจนทะลุน่ะ ...ซึ่งขณะนี้มันก็ยังมองไม่ออกถึงไอ้ที่มันยังซ่อนอยู่ ยังมีอะไรที่เรายังไม่เห็นอีกเยอะ ที่เราจะต้องเรียนรู้ต่อไป

มันจะต้องดูไปเรื่อยๆ จนพอมันแจ้งนี่ก็ปรุโปร่งหมดแหละ ไม่ว่ามันจะออกมารูปแบบไหน แง่มุมไหน ที่จะได้หลอกล่อเรา สังขารจิตหรือตัวมายาจิตนี่ มันมีสาไถยของมันอยู่ มีเล่ห์ของการปรุงแต่งของมัน 

เราจะต้องเรียนรู้ให้ฉลาดเท่าทันมันไปเรื่อยๆ แล้วพอเห็นจนมันปรุโปร่งแล้ว มันจะหลอกเราไม่ได้ ...ถ้าหลอกเราไม่ได้โดยสิ้นเชิงแล้ว มันจะหยุดการกระทำหมด 

หยุด...ในที่นี้หมายความว่าหยุดด้วยปัญญานะ ไม่ใช่หยุดด้วยการห้ามนะ ...มันหยุดโดยมันไม่เอาแล้วน่ะ ไม่ว่านิดนึง ขยับนึง ว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้นะ ได้-ไม่ได้  เสียนะ-ดีนะ แย่นะ อะไรอย่างนี้ 

มันจะไม่ฟังเลย มันจะทิ้งหมดเลย แล้วอยู่ในเฉพาะรู้ของมันโดดๆ รู้เฉยๆ ไม่หวั่นไหว ...ตรงนั้นถึงเรียกว่าเป็นจิตหนึ่ง...จิตเอก...เอโก ธัมโม  เอกัง จิตตัง ไม่ส่ายแส่แล้ว จิตจะไม่หวั่นไหว 

ซึ่งไม่ได้เกิดจากการที่ควบคุมหรือบังคับ แต่มันจะไม่หวั่นไหวด้วยปัญญา ...คือมันแนบแน่น หรือว่าเข้าใจ หรือว่าแจ้ง หรือว่าไม่เชื่อความปรุงแต่งอีกแล้ว

แต่ลักษณะของจิตที่ยังไปๆ มาๆ นี่ มันจะเชื่อตามความปรุงแต่ง ...คือมันยังมีความเห็นที่น่าเชื่อถือ ที่จิตมันยังเชื่อของมันอยู่ อย่างนั้นน่ะ  

มันยังโง่ที่ไปเชื่ออารมณ์ ไปเชื่อความรู้สึก ไปเชื่อเวทนา ไปเชื่อว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้  มันยังมีความเชื่ออยู่ ...ก็เรียนรู้กับมัน บอกแล้วไง จิตมันคุ้นเคยในการเชื่ออย่างนั้นเชื่ออย่างนี้ 

มันรับไม่ได้ไง มันกลัวที่จะรับกับเวทนาที่คนเขาสร้างเวทนาให้เราไม่ได้ เราไปสร้างภาพหรือว่าสร้างภพขึ้นมา ไปสร้างภพแห่งความกลัวขึ้นมา แล้วมันกลัวที่จะไปเสวยในภพนั้น

ทุกอย่าง...ไม่ใช่ว่าสิ่งที่มาขัดขวาง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนี่เป็นปัจจัยที่มาสงเคราะห์จิตทั้งหมดนะ ทุกอย่างน่ะ...ไม่ได้ขัดขวาง ไม่ได้ปิดบัง หรือว่าไม่ได้มาถ่วงหน่วงเหนี่ยวรั้งอะไรเลย 

แต่ว่าทุกอย่างเป็นปัจจัยให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ภายในของเรา แล้วก็ศึกษากับมัน ...ถ้าไม่มีผัสสะ ถ้าไม่มีปัจจัยภายนอก เราจะไม่เห็นปัจจัยภายในจิตเลยว่ามีอะไรเคลือบแฝงอยู่ในจิต แล้วจะเอาออกไปได้ยังไง 

ถ้าจะแยกเอาความโกรธออกจากใจ มันต้องมีสิ่งที่ทำให้เราโกรธก่อน จึงจะเกิดอาการของมันออกมา ที่มันเจือปนอยู่ในใจน่ะ มันก็จะแสดงอาการออกมา ออกมารับกับอารมณ์นั้น ออกมามีเป็นกับอารมณ์นั้น

ถ้ารู้ทันนี่ก็หมายความว่ามันเริ่มเคลียร์แล้ว แต่ละครั้งที่รู้เท่าทันและก็เห็นมัน อย่างนี้ถือว่าเคลียร์แล้วในครั้งนึงๆ ถือว่าเริ่มแจ้ง เริ่มเบาบาง เริ่มทำความเจือปนนั้นออกไป 

แต่ถ้าไม่รู้แล้วเกิดหรือว่าตั้งใจจะเก็บมัน สร้างอารมณ์นี้ขึ้นมา นี่คือการเก็บเข้ามาหมักหมมอีกแล้ว ...หรือว่าไปตำหนิ ไปแก้ไม่ให้มันเกิด อย่างนี้ก็ไปดัก ไปเก็บ ...มันก็ตกคลั่กอยู่ข้างในนั่นแหละ

ค่อยๆ เรียนรู้ไป ชีวิตจริงก็เหมือนกับตัวละคร มันก็เหมือนกันกับละครโทรทัศน์เลย ละครเรื่องหนึ่งที่เราพบเห็นอยู่นี่ ก็คือภาพที่เราเห็นคนนั้นคนนี้ทำอะไรกัน 

ก็เหมือนกับเราดูละครที่เขาเล่นกันในโทรทัศน์นั่นแหละ และเราก็มีอารมณ์ตามนั้น แต่ว่าโทรทัศน์เรายังเห็นชัดใช่มั้ย มันมีจออยู่ ...แต่อย่างนี้นี่คือจอที่เราไม่มีที่ปิดสวิทช์ เข้าใจมั้ย

แต่จริงๆ ก็เรื่องเดียวกัน มันก็เป็นแค่ภาพเคลื่อนไหว ...ที่เรารับรู้อยู่นี่ มันเป็นภาพเคลื่อนไหว หูก็ได้ยินเสียง แต่มันมีกลิ่น มีสัมผัส ดูเหมือนเป็นจริงเป็นจัง 

แต่ว่าจริงๆ ก็คือละครโทรทัศน์พอปิดปุ๊บนี่เราก็ยังรู้ว่ามันจบ อาจจะอินหรือว่ามีอารมณ์ดีใจเสียใจไปสักระยะนึงหลังละครจบ ...แต่ว่าเราก็จะรู้ว่ามันเพียงแค่ละครนะ ไม่ใช่ชีวิตจริง 

นี่มันก็สามารถจะไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรกับมัน เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็หายไปแล้ว ...แต่ตอนนี้กับชีวิตจริงนี่มันไม่ยอมว่าเป็นละครอย่างนั้น...มันจริงจัง ยังจริงจังเป็นตัวเป็นตน

แต่จริงๆ นี่คือละครเหมือนกัน คือเป็นภาพชีวิตเหมือนกัน เป็นรูปเป็นเสียง เป็นแค่รูปกับนาม ...มันก็คือแผ่นภาพที่วิ่งอยู่ในจอ เป็นตัวละครเหมือนกัน


โยม –  หลวงพ่อทำไมถึงมีความเชื่อในสังสารวัฏว่าไม่มีอะไรเป็นสาระ แล้วก็ตั้งใจภาวนาอย่างนี้คะ

พระอาจารย์ –  เอ้า มันต้องมีศรัทธาอยู่แล้ว มีความเชื่อในพระพุทธเจ้าติดมา แล้วก็ได้อ่านมา ได้ฟัง ศึกษาธรรมะมา แล้วมีศรัทธามีความเชื่อ ...จริงๆ มันสั่งสมนะ


โยม –  เป็นยังไงหรือเจ้าคะ ศรัทธานี่

พระอาจารย์ –  หลายอย่าง อย่างเรานี่ ตอนสิบกว่าขวบเรามองคน เราสลดสังเวชน่ะ มันเป็นอย่างนี้ เข้าใจมั้ย 

มันรู้สึกสลดสังเวชว่า เดินกันไปเดินกันมานี่มันตายหมดเลยนะนี่ แล้วมาเดินอะไรกันวะ ...มันเกิดเป็นความรู้สึกสลดขึ้นมาเองอย่างนี้ เพราะงี้มันก็ถือว่าเป็นศรัทธาเกิดขึ้นในที่มันมีมา แล้วมันก็ใส่ใจ

การนั่งสมาธิภาวนานี่เรานั่งมาตั้งแต่สิบขวบแล้ว ตั้งแต่เด็กแล้ว พิจารณาร่างกายเป็นอสุภะ เราทำมาแต่ก่อนแต่เด็กแล้ว มันเป็นนิสัยๆ ผูกพัน มันนั่งได้

ศรัทธาที่มันจะมากขึ้นที่สุดก็คือ...ศรัทธาที่เกิดจากการปฏิบัติน่ะ เห็นจากการปฏิบัติ เห็นจิตตามความเป็นจริง ...มันเถียงไม่ได้เลย มันเห็นอยู่กับตาสัมผัสได้ที่ใจ มันจะเถียงไม่ได้เลย ไม่มีข้ออ้างเลย 

เพราะนั้นมันจะเชื่อมั่นๆๆๆ หรือว่าสัมมาทิฏฐิมากขึ้นๆ ...นี่ ศรัทธาที่จะเกิดได้แท้จริงน่ะ ต้องเป็นศรัทธาที่เกิดจากปัญญา คือเห็นตามความเป็นจริง แล้วมันจะเข้าใจ เชื่อเองน่ะ 

มันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเชื่ออะไร แต่มันเชื่อว่านี่ จริงหมดน่ะ ที่เราเห็น แค่นั้นน่ะพอแล้ว ...อาจจะไม่ได้ต้องเชื่อตามตำรา หรือว่าต้องเห็นการเวียนว่ายตายเกิดอย่างที่เราไม่เคยเห็น

นี่ อย่างกฎแห่งกรรม เราไม่รู้เลยนะ ว่ากฎแห่งกรรมคืออะไร จริงรึเปล่าก็ไม่รู้ ...ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเชื่ออย่างนั้นก่อน แต่ให้เห็นตามที่เราเห็นอย่างนี้ มันจะสร้างศรัทธาในการปฏิบัติมากขึ้นเอง

ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำจิตให้มีศรัทธาในทาน ต้องทำบุญ ต้องเชื่อ ต้องยอมรับว่าตายแล้วเกิดนะ หรือว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วก่อนนะ ต้องมีความเชื่อมั่นถือมั่นเห็นอย่างนั้นก่อนถึงจะปฏิบัติได้ผล...ไม่ใช่

นั่งอยู่ไม่มีอะไร...เห็นว่ากายนั่งอยู่นี่ แค่นี้ก็พอแล้ว ...ไม่เห็นต้องเชื่ออะไรเลย ให้มันเห็นตามความเป็นจริงแค่นี้ แล้วมันจะมีความเชื่อในตัวของมันเองแหละว่า...ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่แค่นี้ 

มันเอาอยู่แค่นี้ เห็นตามความเป็นจริงอยู่แค่นี้ ...นอกนั้นความเชื่ออื่นๆ นอกนี้ไป มันเป็นความเชื่อรอง ไม่ต้องให้ความสำคัญกับมันมากก็ได้ เอาแค่ที่เห็นในปัจจุบันเป็นหลัก แล้วก็เห็นความจริงถึงที่สุด

เพราะว่าความจริงถึงที่สุด...ที่สุดของความจริงก็คือมันดับไป มันเปลี่ยน มันไม่คงที่ แค่นั้นเอง ตรงนี้ถือว่าเป็นศรัทธาสูงสุด หรือว่าสัมมาทิฏฐิสูงสุด...ที่เป็นสมุจเฉทที่จะละคลายความลังเลสงสัยได้โดยสิ้นเชิง

จะรู้อะไรก็ตาม อยากรู้อะไรก็ตาม หรือไม่อยากรู้อะไรก็ตาม ไม่สำคัญเท่ากับว่าต้องรู้และเชื่อในความจริงที่ว่า...ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ เกิดแล้วดับเอง 

นี่คือความเชื่อที่สูงสุด แล้วก็ที่สุดแห่งความเชื่อ หรือว่าที่สุดแห่งสัมมาทิฏฐิ ...ความเชื่ออื่น รู้ก็ตามไม่รู้ก็ตามไม่สำคัญ ...เพราะความจริงมีอยู่แค่นี้ ในสังสารวัฏนี่ 

ใครว่าจริง อันนั้นจริง อันนี้ใช่ ...ยังไม่จริงเท่าความจริงสูงสุด นี่คือสัจจะสูงสุด ...ถ้าต่ำกว่านั้นลงมานี่ ใครก็พูดได้ จะตั้งลัทธิไหนก็ได้ทั้งนั้น 

จะเอาลัทธิไหนล่ะ...ตายแล้วสูญ ตายแล้วว่าง เอาลัทธิไหนล่ะ ตายแล้วไม่มีชาตินี้ชาติหน้า ...มันเป็นความเชื่อทั้งนั้น แต่ไม่จริงถึงที่สุดของความจริง ...มันจึงไม่สำคัญ

เพราะนั้นถ้ายังไปให้ความสำคัญกับความเชื่อเหล่านั้น ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะหลุดออกไปในภพนั้นๆ ...แต่ถ้าเชื่อตรงนี้แล้วจบ...จบในการที่มันไม่มีการเกิดใหม่ จบในการที่ว่าไม่มีการมาดับใหม่ มันไม่มีภพใหม่ 

มันจะจบได้ ถ้าความเห็นสูงสุดถูกชำระได้...ด้วยปัญญาที่เข้าไปเห็นถึงที่สุดแห่งทุกข์ คืออาสวะขยญาณนี่ จบเลย...จบในตัวของมันเองได้เลย

อย่างอื่น...รู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ไม่สนใจแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปรู้แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญอะไรกับมันอีกแล้ว ...จะเห็นว่าหมดแล้ว 

เมื่ออาสวขยญาณเกิด หรือว่าเห็นถึงที่สุดแห่งทุกข์ๆ จนไม่มีแล้วที่ใจมันจะอะไร จะเป็นทุกข์กับอะไรหรือให้ค่ากับทุกข์ หรือว่าต้องอะไร หรือไม่ต้องอะไร

ตรงนั้นน่ะ จิตมันจะบอกขึ้นมาเลยว่า งานที่พึงกระทำ...หมดแล้ว ไม่มีงานให้ทำอีกแล้ว ...มันจะไปรู้ด้วยตัวเองเลย หมดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ไม่มีความสำคัญอื่นที่จะต้องทำอีกแล้ว

จะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม อาจจะโง่ที่สุดเลยก็ได้ อาจจะไม่รู้ศาสตร์ไหนเลยก็ได้ อาจจะไม่รู้คำสอนอื่นใดที่พระพุทธเจ้าพูดมามากมายมหาศาลก็ได้

แต่ว่ารู้เลยว่าไม่จำเป็นต้องรู้อะไรอีกแล้ว ภารกิจสิ้นแล้ว พรหมจรรย์นี่จบแล้ว คือที่สุดแห่งทุกข์ ...นั่นคือเห็นแค่นี้...เกิดเอง ดับเองทุกสรรพสิ่ง ไม่มีข้อแม้ ไม่มียกเว้น

เพราะงั้นถึงบอกว่า ถ้างงสับสนจับอะไรไม่ถูก...โยนลงไตรลักษณ์ให้หมด แค่นั้นแหละ ไม่มีอะไรเหนือไตรลักษณ์หรอก

ใครว่าดี ใครว่าต้องทำอย่างนั้นได้อย่างนี้ก่อน ใครว่าต้องเห็นอย่างนี้ก่อน ...โยนลงไตรลักษณ์ให้หมด สุดท้ายมันก็ดับไปหมดแหละ

ไม่เหลือหรอก ไม่มีอะไรสภาวะไหนคงอยู่หรอก ไม่มีความเห็นไหนคงอยู่หรอก ไม่มีความเชื่อไหนที่จะคงอยู่หรอก ...สุดท้ายมันจะดับหมดแหละ

เพราะนั้น อย่าไปผูกพันกับอะไร อย่าไปให้ค่าอะไร ...ไอ้ที่ให้ค่าไปแล้วก็พยายามรู้ แล้วก็ทำให้มันน้อยลง...ด้วยการวางไปเรื่อยๆ


.................................



วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/22 (1)


พระอาจารย์
1/22 (25530415B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  มันจะเห็น...ความหมายของคำว่าตัวตนจะเริ่มลดน้อยลง ทอนลง มันจะเห็นว่าชีวิตมันเป็นแค่ขณะ เนื้อตัวเรานี่มันเป็นแค่ขณะหนึ่งๆ

ชั่วคราว...มันเป็นของชั่วคราว ชั่วขณะที่มีเหตุปัจจัยภายนอกมากระทบกับขันธ์ มากระทบกับอายตนะ ...ขันธ์นี่คือรับรู้เป็นครั้งคราวๆ ไป

ตรงนี้...ที่มันจะเข้าไปทำลายตัวความหมายของคำว่าสักกาย เข้าไปทำลายความหมายของสีลัพตปรามาส เข้าไปทำลายความลังเลสงสัย เข้าไปถอดถอนความเป็นเรา ความเห็นว่าเป็นเรา 

แต่จริงๆ น่ะไม่ได้หมายความว่า มันละความเป็นเรา ...แต่มันเข้าไปเห็น เข้าไปเข้าใจความหมายของที่ว่า “เรา” นี่่...จริงๆ คืออะไร 

และก็ไม่ไปให้ค่า หรือให้ความเห็นว่า “เรา” นี่ มันเป็นจุด เป็นชิ้น เป็นอัน เป็นตัว เป็นตน เป็นตัวเราเที่ยง หรือตัวเราถาวรมั่นคง

แต่มันเห็นความเป็นจริงของ "เรา" นี่...มันเกิดแค่พึ่บนึงๆ รับรู้ครั้งนึงๆ เท่านั้น  มันไม่มีความต่อเนื่อง ...เพราะนั้นความเป็นตัวตนของตัวเรานี่...ไม่มี 

มันจะต่างกับตัวเราเดี๋ยวนี้ที่มันมี “เรา” ตลอดกาล ความเป็น “เรา” มันถาวร ความเป็นเราเป็นของเที่ยงนี่ ...เพราะนั้นจะต้องอาศัยการรู้และก็เห็นรอบ...รู้และก็เห็นรอบ เห็นทั่วๆ 

เห็นทั่ว คือมันจะเห็นอาการที่โลดแล่นไปของจิตที่ไปเกิดตามอายตนะทั้ง ๖  คือไปเกิดในรูปของวิญญาณ...กายวิญญาณ จักขุวิญญาณ โสตะวิญญาณ ฆานะวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ มโนวิญญาณ

เพราะนั้นในการที่มีสติรู้เห็นนี่ พูดง่าย ๆ มันก็คือการพิจารณา ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ แล้วก็อายตนะ ๖ โดยไม่ได้อาศัยความคิดมาพิจารณาอะไรเลย

แต่เอาสติกับสัมปชัญญะนี่แทนความคิด ให้มันไปแนบกับขันธ์ รูปขันธ์นามขันธ์ การเกิดขึ้นของรูปขันธ์นามขันธ์แต่ละครั้งแต่ละคราว แค่นี้ 

เรียกว่าสร้างความรู้ความเห็นตามความเป็นจริงของอุปาทานขันธ์ หรือว่าขันธ์ทั้ง ๕  อายตนะ ๖  ผัสสะ ๖  ใจ ๑ 

สุดท้ายแล้วมันก็จะเห็น...ขันธ์อันหนึ่ง...ใจอันหนึ่ง  ผัสสะอันหนึ่ง...ใจอันหนึ่ง  อารมณ์อันหนึ่ง...ใจอันหนึ่ง ...นี่ ใจเป็นหลัก 

ใจ...คือรู้นั่นแหละ มันจะแยกออก แล้วมันจะเห็นว่ามันเป็น “รู้” ... “รู้” นี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ “รู้”

มันจะค่อยๆ คลายความหมาย ความเข้าไปเห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นจริงเป็นจัง เป็นการต่อเนื่อง ...เพราะนั้นแรกๆ มันจะเห็นแบบเรื่องราวไม่ปะติดปะต่อ

แล้วเรื่องของความเชื่อความเห็นน่ะ ถ้ายังมีความเห็นเมื่อไหร่...ผิดหมด บอกให้เลย แม้แต่นักปฏิบัตินี่ ในความเชื่อความเห็นทั้งหลายทั้งปวงนี่  ถ้ายังมีความเชื่อความเห็นใดๆ ...ตัวนั้นแหละเป็นมิจฉาหมด
 
สุดท้ายแล้วมันไม่เหลือหรอก ...ไม่มี  ความเชื่อก็ไม่เหลือ ความเห็นก็ไม่มี ... มีแต่ใจที่รู้เฉยๆ เปล่าๆ ...เหลือแต่ใจเปล่าๆ เท่านั้นน่ะ

มันจะละถอดถอนความคิดความเห็นทั้งหลายทั้งปวงออกหมดสิ้น  ไม่มีถูก ไม่มีผิด  ไม่มีจริง ไม่มีไม่จริง ...มีแค่รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็ผ่าน

จะไม่มีความเชื่อหรือความเห็นใดต่อจากนี้ไปเลย จะมีแค่รู้อย่างเดียวแล้วก็ปล่อย แค่นั้นเอง ...เป็นรู้จริงเห็นจริง ว่าไม่มีอะไร แล้วไม่มีอะไร

เพราะนั้นมันจะทิ้ง ละความเชื่อความเห็นทั้งหลายทั้งปวงจนหมดสิ้น เข้าไปล้างที่ฐานอาสวะ เข้าไปล้างภวาสวะ กามาสวะ เข้าไปล้างอวิชชาสวะ หมด

เพราะนั้นถ้ายังเถียงกัน ถ้ายังเอาถูกเอาผิดมาทะเลาะกัน...เรื่องปฏิบัติต้องอย่างนั้น ปฏิบัติต้องอย่างนี้ ...เสียเวลา อย่าไปทะเลาะ รู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็ปล่อย 

ความเชื่อความเห็น ไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก เป็นแค่อาการนึงที่ปรากฏเท่านั้นเอง ไปเชื่ออะไรมัน ...เหมือนแมวจับหนู แค่รู้เฉยๆ ปล่อยเลย ไม่ต้องเอาถูกเอาผิดอะไร แค่นั้นแหละ สบาย

อย่าไปแบก อย่าไปเก็บมาเป็นภาระ ...ขันธ์ ๕ ท่านบอกแล้วว่าเป็นของหนัก ตามธรรมชาติมันก็หนักอยู่แล้ว จะไปเก็บมาเพิ่มทำไม จะไปหามาเพิ่มทำไม 

ความรู้ความเห็นต่างๆ ความเข้าใจถูกเข้าใจผิดอะไรก็ตาม เป็นของใหม่ที่เอาเข้ามาใส่ในระบบความจำ พอเข้ามาเก็บใส่ในระบบความจำนี้แล้วเอามาสร้างเป็นสัญญาอุปาทาน ...มันหนัก

ทำยังไงก็ได้ให้มันวาง ให้มันเบา ให้มันปล่อย ให้มันคลาย  ...ไม่ต้องไปเครียด ไม่ต้องไปซีเรียส ไม่ต้องไปจับ ไปแสวงหาถูก แสวงหาผิดอะไร 

แสวงหาความจริงในปัจจุบัน รู้แล้วก็วาง ๆ เห็นอะไรก็วาง แค่รู้ ...สุดท้ายแล้ว มันเหลือแค่รู้ แค่นั้นเอง 

นี่ เบา สบาย ...ไปไหนก็ได้ ใครพูดอะไรก็ได้ ใครมีความเห็นอย่างไรก็ได้ ...เราไม่ใส่ใจ เราไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ เราไม่เก็บมาเป็นธุระ 

เราไม่หาสิ่งที่ไม่เป็นสาระมาเป็นสาระ ไม่หาสิ่งที่เขาว่าถูกเขาว่าผิดมาเป็นเรื่องเป็นราว แค่นี้ ...ใครจะบอกว่าไม่ได้อะไร ไปไม่ถึง ไปไม่ได้ แค่รู้แล้วก็ปล่อย ไม่ต้องคิดมากเลย แค่นี้เอง

หลักของพระพุทธเจ้า ความหมายของพระพุทธเจ้า หรือความเห็นที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคือ...ให้วางทุกสิ่งทุกอย่าง 

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นท่านเรียกว่าสังขาร มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่สิ่งที่มีสาระอะไร มีความเสื่อม มีความดับ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา

แม้แต่ธรรม “สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ”  แม้แต่ธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่อะไรของใคร ไม่มีถูก ไม่ได้เรียกว่าผิด ..ธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นอนัตตา

แค่นี้ใจเราจะปลดเปลื้องจากพันธนาการ...ของบัญญัติ ของสมมุติ ของความหมาย ของคุณค่า ของค่านิยม ของความเห็นทั้งโลก ของความเห็นของสัตว์โลก...ในความที่เขาคิดเอา เชื่อเอาเอง พูดกันไปเอง

นี่ เหมือนกับน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว ใบบัวจะเขย่าก็เขย่าไป น้ำก็กลิ้งไป แต่น้ำกับบัวนี่ไม่แปดเปื้อนปนกัน ...เม็ดน้ำก็ยังเป็นเม็ด แต่ไม่ซึมอาบหรือว่าซึมซาบอยู่กับบัวที่มันกลิ้งไปกลิ้งมา

พอหยุดกลิ้งปั๊บ บัวก็บัว น้ำก็น้ำ แยกกันไปโดยสิ้นเชิง ...ใจเหมือนกัน...เรียกว่าหมดจด เป็นใจที่หมดจด ไม่ข้องกับค่านิยม บัญญัติ สมมุติ ภาษา ความเห็น 

ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของความคิดความเห็น...ทั้งในแง่ของโลก หรือของธรรม ...มันเป็นเรื่องที่เกิดจากความปรุงแต่งทั้งสิ้น

แม้แต่ธรรมเดี๋ยวนี้ก็เป็น ไม่ใช่ว่าขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วมันจะไม่เกิดจากความปรุงแต่ง ...ธรรมก็ยังมี...ทั้งที่พูดๆ กันนี่ ก็สังขารธรรมทั้งนั้นแหละ 

มันก็ว่ากันไป เถียงกันมา ตอบโต้กัน อ้างคำนู้น อ้างอาจารย์นี้  อ้างกันไป เดือดร้อนกันไป ...คนฟังก็เดือดร้อน คนพูดก็เร่าร้อน ...มันไม่จบ

อะไรหรือการกระทำใดๆ ที่ไม่จบ หรือว่าหาที่จบไม่ได้นี่ ให้รู้ไว้เลยว่า อย่าทำ อย่าไปเล่นตาม อย่าไปปรุงต่อ ...กลับมาจบให้ได้เดี๋ยวนี้ วาง รู้ หยุดแล้วก็กลับมาอยู่ที่รู้ รู้กายรู้ใจในปัจจุบัน จบได้หมด

ไม่ออกไป ไม่เชื่อ ไม่ไหล ไม่ตาม ไม่ปรุงต่อ ไม่หาเหตุหาผล ...โง่เข้าไว้ กลับมาโง่อยู่กับกายกับใจนั่นแหละ เท่าที่มีเท่าที่เป็น ...พอแล้ว แค่นี้พอแล้ว  

ถ้ามากกว่านี้ล่ะ...เกินแล้ว  ออกกว่านี้นิดนึง...แค่กระเบียดนึง แค่อณูเดียว...นี่ก็เรียกว่าเกินแล้ว หลุดแล้ว เรียกว่าส่งออกแล้ว ไม่มีสาระแล้ว 

กลับมาทำสาระที่รู้ในปัจจุบัน เห็นในปัจจุบัน แค่นี้ ...นิพพานก็อยู่แค่ตรงนี้แหละ 

อยู่เนืองๆ อยู่เป็นนิจ ...ความแจ้ง ความเท่าทัน ความหมดจด ก็จะเกิดขึ้นโดยที่ว่าไม่ได้ไปทำอะไรให้มันเกิดขึ้นมาเลย ไม่ได้ทำอะไรขึ้นมาใหม่

ปัญหาหลักของนักภาวนาทุกคน...หลงบ่อย หายประจำ แค่นั้นเอง ทุกคน ...วิธีแก้ไม่มีอะไร ...ขยัน ใส่ใจมากๆ เท่านั้นเอง ไม่เห็นจะมีวิธีอื่น หรืออุบายอะไรเลย

มันอยู่ที่ความใส่ใจ ตั้งใจ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ทอดธุระ ...จนมันเป็นนิสัยน่ะ ซ้ำซากจนเกิดเป็นนิสัย เป็นความเคยชิน...มีอะไรปั๊บ...รู้ปุ๊บ มีอะไรปั๊บ...รู้ หลงปั๊บ...รู้ปุ๊บ 

ให้มันเห็น...มีความพึงพอใจ มีความยินดี ในการที่รู้ตัวอยู่ เห็นตัวอยู่อย่างนี้ ...มันจะเกิดความยินดีพอใจ ในการกลับมาเรียนรู้ตัวเองบ่อยๆ 


โยม –  โยมก็ไม่รู้จะถามยังไงน่ะเจ้าค่ะ แต่ว่านิวรณ์นี่

พระอาจารย์ –  นิวรณ์ คือกิเลสที่มากางกั้นจิตไม่ให้เกิดสมาธิ การที่จิตเราไม่ตั้งมั่น ...สมาธิในความหมายของเราคือความไม่ตั้งมั่นของจิต 

ถ้ามันก็เกิดจากความเบลอ ซึม นี่ก็คือถีนมิทธะ  ที่นั่งแล้วมันหาย เพลินไป นี่ก็เป็นกามราคะ ก็คืออย่างนี้ หรือเวลาหงุดหงิดไปตามอารมณ์ต่างๆ นี่พยาบาท ปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน ตัวนี้

แล้วเราก็ไปอยู่กับความฟุ้งซ่านในชีวิตประจำวันของเรานี่ เข้าใจมั้ย คิดไปในอดีต-อนาคต ...พวกนี้คืออารมณ์ของนิวรณ์ มีประจำอยู่แล้ว ...ในชีวิตประจำวันของเรานี่มันอยู่กับนิวรณ์อยู่แล้ว

เพราะนั้น ถ้าเราเอาสติมาตั้งรู้อยู่ที่กาย เห็นกาย รู้กายเห็นกายอยู่ตรงนี้ มันก็ทำลายตัวนิวรณ์อยู่แล้ว ...เพราะมันรู้อยู่ มันไม่ไปไหนน่ะ เห็นอยู่เนืองๆ มันก็เกิดสมาธิอยู่ในชีวิตประจำวัน

เพราะนั้นมันจะพูดกันคนละแง่ ถ้าเป็นนิวรณ์อย่างนี้ที่นั่งหลับตา มันก็จะเป็นชิ้นเป็นอันเป็นตัวเป็นตน ว่าความคิดหรืออะไรอย่างนี้ๆ เวลานั่งสมาธิอย่างนี้ก็กลายเป็นนิวรณ์ ๕ ง่วงนอน อย่างนี้ๆ

แต่นิวรณ์๕  ในชีวิตประจำวันมันก็คือ เผลอ หลง หาย ...พวกนี้เป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตมันหลุด ไม่ตั้งมั่น อะไรก็ตามที่มันทำให้จิตมันลอยไปหายไป


โยม –  นิวรณ์นี่มันก็เป็นรูปย่อหรือรูปขยายของโลภ โกรธ หลง น่ะหรือคะ

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ก็รากเหง้าเดียวกันหมด


โยม –  เรารู้ดูจิตทุกวัน ที่เราทำก็คือ

พระอาจารย์ –  มันชำระนิวรณ์ไปในตัวอยู่แล้ว คือชำระ ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่กับกายหรืออยู่กับใจ อยู่กับอาการทางจิต ...มันรู้ชัด เห็นชัด มันก็ไม่เกิดนิวรณ์

คราวนี้พอมันเกิดตอนไหนเราก็จะรู้ทัน เห็นว่า...อ้อ หลุดไปเพราะอะไร หายไปเพราะอะไรอย่างนี้ ...มันก็จะเห็นเท่าทันอาการของจิตที่ไหลไปด้วยอะไรเป็นตัวเร้า และหลงไปตามอารมณ์ หลงไปกับตัวไหน

เวลาพูดอย่างนี้ แล้วไปเทียบกับตามตำราแล้ว มันจะดูเหมือนคนละเรื่องกัน ...ซึ่งหมายความว่าในการปฏิบัติของเรานี่ ลักษณะของเราจะเน้นเห็นสภาวธรรมจริงตามปกติ

มันจะไม่เหมือนกับที่เขาอธิบาย...แบบว่าที่เขาปฏิบัติในรูปแบบนี่ เขาจะแยกแยะออกมาเป็นอย่างนี้เรียกว่าอย่างนี้  

แต่ถ้าในลักษณะที่เราให้ดู รู้กายเห็นจิตอยู่อย่างนี้ ...ไม่ต้องไปใส่ใจเลยในเรื่องของความหมายพวกนี้ ไม่ต้องไปเนมมิ่ง (ให้ชื่อ) อะไรกับมัน หรือว่าจะละจะเลิกอะไรกับมัน อย่าไปให้ความสำคัญกับมันมาก 

เพราะงั้นก็จะไปเหมือนกับที่เราอธิบายไป ...เดี๋ยวจะเหมือนกับหนูออกมาจากรูแล้วนี่ แทนที่มันจะแค่เห็นว่าหนูออก แล้วก็ช่างมัน ปล่อย มันจะไปไหนก็ไป

แต่เรากลับไปให้ความสำคัญว่า...เอ๊อะ มันคืออะไร  ...นี่ แค่หันไปมองนี่...ก็หลุดแล้วนะ ส่งออกไปด้วยเจตนาแล้ว ...ถ้ายิ่งตามติดออกไปนี่ มันจะตามไป

หรือว่า...เอ๊อะ มันไม่ดีแล้ว ...นี่ พอไม่ดีแล้ว...ก็ฆ่าล่ะ ตัด ทำความดับกับมันแล้ว ...หรืออันไหนดี...เอ้า เลี้ยงไว้ ทำความพิจารณากับมันต่อ...อย่างนี้ มันส่งออก มันไม่เฝ้าอยู่ที่รูแล้ว


โยม –  อ๋อ  เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น แค่รู้ ขณะเดียวแล้วทิ้งเลย เข้าใจมั้ย รู้แล้ววาง ...เข้าใจคำว่าวางมั้ย 

มันจะไปไหนก็ช่างมัน จะมากขึ้นก็ช่างมัน จะน้อยก็ช่างมัน เรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา ...หน้าที่ของเราคือรู้ว่ามันมีอย่างนี้ เออ แค่นี้พอแล้ว อยู่ตรงนี้แค่นั้นเอง ไม่ต้องไปใส่ใจ ...รู้แล้ววาง

แต่ถ้ามันยังใส่ใจนี่ ก็ให้เรารู้ทัน หรือไม่ก็เบี่ยงเบนซะ ให้มารู้ที่อื่น เบี่ยงเบน ตั้งสติใหม่ให้เกิดความตั้งมั่น ...ถ้าออกไปอย่างนี้แปลว่ามันส่ายแส่ ไหลไปตามอารมณ์ ตามอาการไป

แต่ถ้าตั้งมั่นรู้เฉยๆ นี่ มันจะไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน  มันก็เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้กับรู้ มันจะแยกชัดออกด้วยการที่รู้...รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ แล้วเราก็อยู่ที่รู้ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ถูกรู้ 

แต่ถ้าตามไปเมื่อไหร่นี่ ไอ้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้นี่มันจะเข้าไปรวมกัน ...ตอนนี้เขาเรียกว่าไหล รู้แล้วไหล รู้แล้วไป ไม่ใช่รู้อยู่ รู้ไป รู้แล้วตามออกไป ออกไปรู้ไม่ใช่รู้อยู่ ...ถ้ารู้อยู่นี่มันจะต้องรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ แค่นั้น


มันจะแจ้งขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะทำความชัดขึ้นเรื่อยๆ ทำความแจ้ง เข้าใจว่า...อ้อ ต้องอย่างนี้ ต้องรู้อย่างนี้ มันถึงจะผ่าน มันจะรู้เหมือนไม่รู้น่ะ มันจะไม่รู้ก็เหมือนรู้


(ต่อแทร็ก 1/22  ช่วง 2)