วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/18 (2)


พระอาจารย์
1/18 (25530403B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 เมษายน 25553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/18  ช่วง 1

โยม –  แล้วพอท่านเดินวิปัสสนาญาณแล้วอย่างไรต่อเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ...จะไปทำอะไรล่ะ พิจารณาอะไรก็ไม่ได้แล้ว


โยม –  ศูนย์ไปหนึ่งนี่หรือครับ

พระอาจารย์ –  เออ ท่านก็อยู่ที่จิตล้วนๆ แล้ว เพราะมันจะวางกายหมดแล้ว ไม่รู้จะพิจารณาอะไรแล้ว เพราะพิจารณาอะไรก็ดับหมดแล้ว กำลังของสมาธิ สมถะท่านแรง ขนาดนั้นน่ะเป็นวสีแล้ว

นี่พูดถึงครูบาอาจารย์นะ ระดับครูบาอาจารย์ ท่านดำเนินอย่างนี้ แล้วท่านสอน ก็สอนอย่างนี้ แล้วก็ให้พวกเราทำกันอย่างนี้


โยม –  อย่างนี้ก็ใช้เวลานาน

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิดน่ะ ฟังดูแล้วทำความรู้สึกตามซิ ...ตัวเองจะรู้เอง ไม่ต้องมาถามเราเลย ...แล้วคะเนเอา เดี๋ยวนี้กับที่ความน่าจะเป็นได้น่ะ ...เราถึงบอกว่า เอาชาตินี้หรือเอาชาติไหนล่ะ


โยม –  ถ้าโยมเดินพุทโธนี่ ก็คงเดินเป็นชาติไหมคะ ถ้าไม่ต้องว่าจะไปม้างกายใดๆ ทั้งสิ้น

พระอาจารย์ –  มันจะเห็นเองน่ะ


โยม –  หรือวิธีที่ท่านทำ เป็นวิธีที่เป็นผู้มีบารมีธรรมค่อนข้างจะเป็นมาแล้ว

พระอาจารย์ –  แน่นอน ไม่ใช่เริ่มมาปรารถนาเอาเดี๋ยวนี้ แล้วก็ทำ ฝึกเอาตอนนี้ชาตินี้เท่านั้นนะ ท่านทำกันมาตั้งไม่รู้กี่ชาติ 

อย่างหลวงพ่อตั๋น ที่ชลบุรีน่ะ ตอนอายุขนาดสักยี่สิบกว่าๆ มั้ง ยังไม่ได้บวช เห็นแฟนเดินมานี่กลายเป็นกระดูกเฉยเลย  เลิกกับแฟนมาบวชเลย นี่ไม่ได้ฝึกอะไรมาก่อนเลยนะนั่นน่ะ เข้าใจรึยัง


โยม –  เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  มันเป็นของเก่าน่ะ ...แล้วถามว่า พวกเราเห็นอย่างนี้รึเปล่า


โยม –  โยมยังเห็นสวยงามอยู่เลยเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  แล้วจะเริ่มให้มันเห็นเป็นกระดูกนี่...เมื่อไหร่ล่ะ เนี่ย เข้าใจมั้ย เข้าใจรึยัง ...แค่ฟังก็เหนื่อยแล้ว แค่ฟังก็ท้อแล้ว แล้วก็เลยว่าไม่ทำเลย หรือจะมีวิธีไหนที่ควรจะทำต่อ เข้าใจรึยัง

อย่างน้อยก็สร้างสติเข้าไว้ บอกแล้วไง สุดท้ายมันลงร่องได้น่ะ...ร่องเดียวกัน ที่เราบอกนี่ ใครว่าไม่ได้ล่ะ ...ก็รู้อยู่ที่ใจนี่ 

ยังไม่ถึงใจก็รู้เข้าไปเถอะ มันอยู่ตรงนี้แหละ อยู่ตรงนี้แหละ เข้าใจมั้ย ตอนนี้อาจจะไม่รู้ พวกเราอาจจะไม่รู้ไม่เห็นอย่างนี้ แต่บอกว่า มันอยู่ตรงนี้แหละ 

ถ้ารู้อยู่ตรงนี้ มันไม่มีหนีไปไหนหรอก จะรู้กับมันก็ตาม จะเข้าใจกับมันก็ตาม ไม่รู้ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ใจ แต่ว่ามันอยู่ตรงนี้แหละ เอาสติเข้าจดจ่ออยู่ตรงนี้เท่านั้นแหละ

ไม่ต้องไปคิดหน้าคิดหลังอะไรน่ะ หาอันนู้นเร็วกว่านี้ อุบายนั้นอุบายนี้อีกแล้ว ...อยู่ตรงนี้เท่านั้นแหละ อยู่แบบโง่ๆ นี่แหละ 

เนี่ย อยู่แบบปัญญาวิมุติ ...ไม่รู้อะไร แต่รู้ตรงนี้ ... ใครเขาจะรู้ ใครเขาจะอธิบาย ใครเขาจะว่าถูก ใครเขาจะว่าผิด ไม่สนอ่ะ รู้อยู่ตรงนี้...พอแล้ว


โยม –  ฟังดูจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย

พระอาจารย์ –  ถ้าเข้าใจแล้ว ถ้าไม่คิดน่ะง่าย ถ้าคิดเมื่อไหร่ยาก ถ้าคิดเมื่อไหร่มันออกไปแล้ว ...ก็ให้รู้ว่าคิดอีกแล้ว ให้ทันว่าคิดอีกแล้ว พอรู้ว่าคิดน่ะ มันหยุดคิดแล้ว...จบ

ถ้ายังคิดต่อ มารู้กายซะ กายมันไม่มีปัญหา มันตั้งมั่นของมันอยู่แล้ว ...ก็เอาสติมาตั้งมั่นกับสิ่งที่มันเป็นกลางซะ ไม่ไปไหน ไม่ไปไม่มา ไม่ขึ้นไม่ลง ...แต่ถ้าไปตั้งมั่นกับจิต เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงตามอาการ

จนกว่าเราจะตั้งมั่นได้ สติเริ่มชัดเจนปุ๊บนี่ ปัญญาเริ่ม กำหนดดูจิตปุ๊บนี่ มันจะเห็นตลอด ต่างคนต่างอยู่ด้วยความปกติ เห็นในความปกติ ไม่ไปทำให้น้อย ไม่ไปทำให้มาก แต่เห็นเป็นธรรมดาและเป็นปกติ

แต่ตอนนี้พอพวกเราดูจิตปุ๊บ มันไม่ค่อยปกติ มันจะไหลไปเรื่อย ไปคลอเคลีย ไปหาภพใหม่ ไปแสวงหา ไปตำหนิมันมั่ง ไปเชียร์มันมั่ง ไปประคับประคองมันมั่ง หลายอย่างที่เราไปสร้างอาการร่วมกับมัน

ก็พยายามสร้างกำลังฐาน อย่าดูแต่จิตอย่างเดียว อย่าทิ้งกายๆ ...กายเป็นฐานนะ กายเป็นฐาน นอกจากบางคนเท่านั้นที่มีความชำนาญ หรือว่ามีปัญญามาบ้าง 

ปัญญาบารมีก็มีการสะสมเหมือนกัน ในอดีตชาติก็มีเหมือนกัน ...เพราะนั้นบางคน ปุ๊บนี่ พอพูดปุ๊บ ดูกาย รำคาญโว้ย เสียเวลา มันดูจิต เห็นจิตตลอด และเห็นเป็นกลางตลอด โดยธรรมชาติของเขา

ก็มีบางคน เข้าใจมั้ย สามารถรู้จิตเห็นจิตเลย ไม่หนีไปไหน แล้วก็ดูเฉยๆ ได้น่ะ แบบมันขึ้นกูก็ไม่ขึ้น มันลงกูก็ไม่ลง ก็เห็น ...อย่างนี้เขาเรียกว่ามีปัญญาเดิม เคยสะสมปัญญาบารมีมา

แต่ถ้าเรายังอยู่ในขั้นตามที่ว่าทำมาแต่ว่ายังไม่เต็มพอ ยังไม่มีกำลังพอ ก็ประคับประคองกันไป ดูทั้งสองส่วน จับกายไม่ได้จับจิต จับจิตไม่ได้จับกาย ถ้าจับจิตได้จับจิต

คือจริงๆ ไม่ได้จับจิตหรอก...จับอาการของจิต ...จริงๆ มันไม่เห็นจิตหรอก ตัวมันไม่เห็นจิตหรอก มันเป็นอาการของจิตทั้งนั้นน่ะ ไม่ว่าไอ้ที่แวบไปแวบมา ไอ้ที่ว่าจริงจังอะไร มันเป็นเรื่องของอาการ ไม่ใช่จิต

พูดง่ายๆ เป็น “เงา” อยู่แล้ว ไม่ต้องไปให้ความสำคัญด้วยซ้ำ มันจะมากมันจะน้อย ...ไอ้ที่ว่ามาก ไอ้ว่าน้อย ไอ้ว่าละเอียด ไอ้ว่าหยาบ อันนั้นคือทิฏฐิสวะ 

คือเข้าไปเห็นว่าอย่างไร ด้วยความไม่รู้ต่างหาก ...จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ว่าอะไรเลย


โยม –  ถ้าโยมพูดอย่างนี้นะเจ้าคะ ว่าโยมจะดูที่ปัจจุบัน แม้แต่ฐานที่ตั้งจะเป็นกายหรือจิตก็ได้ แล้วโยมรู้สึกตัวๆ

พระอาจารย์ –  ได้ สุดท้ายรู้อยู่ที่รู้ยังได้เลย ไม่ต้องรู้อะไร แต่รู้ รู้เฉยๆ กลับมารู้เฉยๆ น่ะ ...แต่อย่าเพ่งนะ อย่าควบคุมนะ อย่ากำหนดนะ เดี๋ยวมันจะเป็นการสร้างดวงจิตผู้รู้ขึ้นมา 

ยังมีอีกหลายขั้นตอน...ปัญญานี่ อย่านึกว่าไม่ติด นะ ...ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ไว้ ถ้าเข้าไปในรายละเอียดแล้ว สอบถามผู้รู้ ใกล้ชิดผู้รู้ไว้

จำไว้ว่า การกระทำทุกอย่าง สุดท้ายมันจะต้องวางการกระทำ ...ไม่ว่าจะคำบริกรรมภาวนา หรือการกำหนด หรือการควบคุม การรู้ชัดเห็นชัด หรืออะไรก็ตาม 

มันเป็นการที่เราเข้าไปสร้างความหมายมั่นทั้งสิ้น เป็นการทำด้วยอุปาทาน โดยที่มีเป้าหมาย คือทำไปด้วยอำนาจของตัณหา ด้วยภวาสวะ

เราก็ต้องเรียนรู้อย่างนั้นน่ะ เพราะว่าจะเรียนรู้ตรงไหน สุดท้ายแล้วทุกข์ ได้มาก็ทุกข์ ไม่ได้ก็ทุกข์ เห็นมั้ย เพราะมีการกระทำ จนกว่ามันจะหยุดการกระทำ แล้วเป็นหน้าที่ที่เฝ้าดูตามรู้อย่างเดียวจริงๆ

แล้วทุกอย่างจะปล่อยเขาเป็นอิสระเลย อาจจะดูไม่ดี อาจจะไม่ได้ดั่งใจ อาจจะคนอื่นไม่เข้าใจ ...แต่มันเป็นอิสระ ...ไม่เกาะเกี่ยว 

ไม่มีมันในเรา ไม่มีเราในมัน ไม่มีเราในกาย ไม่มีกายในเรา ไม่มีเราในจิต ไม่มีจิตในเรา ไม่มีธรรมในเรา ไม่มีเราในธรรม เข้าใจมั้ย ...มันจะถอนออกหมด 

ต่างอันต่างเป็นอิสระในการที่เขาจะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเอง เป็นธรรมดา ไม่มีอะไรผิดเลย ...เรียกว่าเห็น อริยสัจ ทุกอย่างจริงหมด ไม่มีอะไรไม่จริง 

ทุกข์ก็จริง ตัณหา สมุทัยก็จริง มรรคก็จริง นิโรธก็จริง ...จะเห็นหมด จริงหมด ต่างอันต่างจริง แต่เป็นเหตุปัจจัยของเขาทั้งหมดเลย ...ไม่มีเราเข้าไปเกี่ยวเลย 

แล้วมันจะค่อยๆ ถอดถอนอัตตาอุปาทานไปตามลำดับขั้น ...เราไม่ต้องคิดว่าเมื่อไหร่มันจะออก มันออกยังไง ด้วยวิธีการไหน ...มันออกด้วยความไม่รู้นี่แหละ เรียนรู้จากความไม่รู้นี่แหละ 

ใจจริงๆ น่ะมันไม่รู้อะไรเลย หน้าที่ของใจจริงๆ คือรับรู้เฉยๆ ตัวมันเองยังไม่รู้เลยว่าตัวมันเป็นอะไร นั่นน่ะธรรมชาติของใจเดิม ...ไอ้ที่รู้มากมายนั่นจิต หรืออาการ แยกแยะได้สัพเพเหระร้อยแปด

ไอ้ที่เราพูดออกมานี่สังขารขันธ์ทั้งสิ้น ...ถ้าใจจริงๆ นะ ว่ากันด้วยใจนะ ไม่มีคำพูดแล้ว ...โยมมานั่งฟังเราก็จะไม่มีคำพูด อยู่ที่ใจล้วน จะไม่มีหลุดออกมาเป็นคำภาษาบัญญัติเลย 

เพราะตัวใจคือปรมัตถ์ หน้าที่อย่างเดียว...แค่รู้ ไม่มีหน้าที่อื่น ...ไอ้ที่ออกมาทำหน้าที่อื่น เพราะมันสิ่งที่เคลือบแฝงอยู่ภายในใจ มันแสดงอาการ 

(เสียงสัมผัสของสองสิ่ง) นี่ ถ้ายังมี ตียังไงก็มีเสียง ถ้าไม่มี ทำไมไม่มีเสียง เพราะมันไม่มีอะไร ...แต่ถ้ามี ก็มีการกระทบ มันต้องมีปฏิกิริยา ไม่ได้เพราะใครนะนี่ ...นี่คือตามเหตุและปัจจัย ล้วนๆ

จนกว่าเราจะถอดถอน หรือทำลาย หรือเอาสิ่งที่เคลือบแฝงใจหรือว่านอนเนื่องออกไปจนหมด หรือเรียกว่าหมดจดเมื่อไหร่ ...นั่นแหละ ทำก็เหมือนไม่ทำ ไม่ทำก็เหมือนทำ มีก็เหมือนไม่มี ไม่มีก็เหมือนมี

มันไม่มีภาษาแล้ว จะเอาอะไรไปเทียบไม่รู้แล้ว บัญญัติไม่มีแล้ว นอกเหนือบัญญัติและสมมุติแล้ว ...คิดเท่าไหร่ก็ไม่เห็น พิจารณาเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจสภาวะนี้ มีแต่ว่าเข้าไปหยั่งรู้ด้วยญาณทัสสนะ


โยม –  แล้วผลพลอยได้อย่าง อภิญญา ๖ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณอย่างนี้ล่ะคะ ทิพยจักษุอะไรอย่างนี้ได้ด้วยไหม เป็นผลพลอยได้อย่างไรเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เหล่านี้เกิดจากการกระทำมาในอดีต ...ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานนี่ ไม่มีใครปรารถนาเลย แต่มีเกือบทุกองค์ ...เป็น Accessory น่ะ ของติดตัวมา ก็ทำไมล่ะ ไม่อยากได้มันดันมีอ่ะ

แต่เพราะนั้นมันจะไม่มีความหมายมั่น หรือคิดว่าเราเก่ง เรารู้เราเห็น ...แต่ท่านเอาไอ้ส่วนนี้ต่างหากมาเป็นส่วนประโยชน์ในการกระจายธรรม อบรมธรรม ก็อาศัยฤทธานุภาพเป็นตัวชักนำให้เกิดธัมมานุภาพ

แต่ถ้าพวกแห้งแล้งอย่างพวกเรานี่ ต้องมานั่งขยันพูดปากเปียกปากแฉะนี่ ด้วยปัญญานุภาพ แจกแจง แยกแยะ พูดรายละเอียด

นี่ ครูบาอาจารย์ท่านไม่พูดอย่างนี้อ่ะนะ บอกให้เลย เหนื่อย แค่เราพูดก็เหนื่อยแล้ว ถ้าครูบาอาจารย์นี่พูด เหนื่อยกว่านี้ เข้าใจไหม

แต่ว่าด้วยปัญญาวิมุติ มันไม่มีทางอื่นเลย นอกจากแยกแยะ แจกแจง เอาสิ่งที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ เอามาตี ย่อย อย่างนี้นะ ไอ้นี่เป็นปัจจัยอย่างนี้นะ ไอ้นี่ปรุงแต่งนะ ไอ้นี่ขันธ์นะ ไอ้นี่สัญญาขันธ์ ไอ้นี่อุปาทานขันธ์นะ 

ให้เกิดความเห็นด้วยจินตาก่อน แล้วให้จิตไปหยั่งรู้ดูทีหลัง แล้วจึงจะเกิดเป็นความจริงเกิดขึ้นด้วยญาณ ปัญญาญาณ ...ตรงนั้นถึงเรียกว่าเป็นภาวนามยปัญญา

แต่ตอนนี้ถึงจะว่าเข้าใจ อย่างที่พยักหงักๆๆ อยู่นี่ เป็นเรื่องของจินตา ...มันเข้าใจอยู่แค่ระบบของความเข้าใจ ด้วยสัญญาด้วยจินตา 

แต่ว่าจิตยังไม่เชื่อ ยังไม่ยอมรับโดยดุษฎี มันยังดื้ออยู่ มันยังไม่กำราบ ยังไม่เบื่อหน่าย ยังไม่คลายออก ...จนกว่าเราจะไปหยั่งรู้ด้วยสติและสัมปชัญญะ ตัวสติและสัมปชัญญะนี้เรียกว่าญาณทัสสนะ

สติ รู้ใช่ไหม แปลว่ารู้ หรือการระลึกรู้ ...ญาณ แปลว่าการหยั่งรู้ ความหยั่งรู้ ปรีชาญาณ เรียกว่าญาณ คือความหยั่งรู้ ก็คือสติ ...ทัสสนะ คือความเห็น เรียกว่าเห็น เข้าใจมั้ย เห็น คือทั้งรู้และเห็น ก็คือสติกับสัมปชัญญะ 

เริ่มต้นมันยังไม่เรียกว่าญาณหรือญาณทัสสนะ แต่เรียกว่าสติกับสัมปชัญญะ ...รู้ว่ากำลังนั่ง ครั้งแรกไม่รู้ ตอนนี้เราพูดปุ๊บ รู้ว่ากำลังนั่ง ...รู้แรกนี่เรียกว่าสติ และเห็นว่ากำลังนั่งอยู่ตลอด นี่เรียกว่าสัมปชัญญะ

เพราะนั้นสตินี่มันจะรู้ได้ครั้งเดียว ขณะแรก แล้วจะดับ แต่มันจะอยู่ด้วยการเห็นต่อเนื่อง เพราะนั้นสติจะไม่ต่อเนื่อง แต่ทัสสนะหรือว่าสัมปชัญญะหรือความรู้ตัว มันจะเห็น...

ว่า ไอ้ที่ตั้งอยู่นี่ มันตั้งยังไง มันมากหรือมันน้อย หรือมีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างที่มันตั้งอยู่ มีอะไรเข้าไปแทรกแซง เราไปแทรกแซงมันตรงไหน เราไปเพิ่มหรือเราไปลดมันตรงไหน

อันนี้เห็นได้ด้วยสัมปชัญญะ สติไม่เห็น สติมันเป็นแค่ตัวรู้ แขกเข้ามา ออกไปแระ...รู้ นี่ สติเกิด เป็นครั้งๆๆ แต่มันจะอยู่ต่อเนื่องด้วยสัมปชัญญะ รู้ตัว

เพราะนั้นเราถึงบอกให้กลับมารู้กายบ่อยๆ เห็นกายบ่อยๆ คือสร้างสติและสัมปชัญญะ ให้มันต่อเนื่อง ให้เห็นความต่อเนื่องของกายว่าตั้งอยู่อย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร

ก็อาศัยอาการอารมณ์อย่างนี้ สุดท้ายก็มาพิจารณาจิต หรือว่าเอาสติสัมปชัญญะไปรู้ที่จิต ...ไปรู้และเห็น ไม่ใช่แค่รู้ เข้าใจมั้ย  

ถ้าแค่รู้ เดี๋ยวแค่วันนึงก็ลืมแล้ว ...วันนึงรู้ได้กี่ครั้ง ห้าครั้งสิบครั้งเท่านั้นก็หายไป นอกนั้นหายหมด เพราะมันขาดการเห็น คือไม่มีการต่อเนื่องด้วยสัมปชัญญะ

เพราะนั้นจึงมีแต่รู้แต่ไม่เห็น รู้แล้วก็ลืม มันไม่เห็น มันลืม รู้แล้วหายๆๆ ...แต่ถ้ามีสัมปชัญญะ รู้แล้วเห็นๆๆ เห็นได้ช่วงหนึ่ง อาจจะไม่ต่อเนื่องหรือยาวนาน รู้ใหม่เห็นใหม่ มันจะมีการต่อเนื่อง

ถ้าตั้งสติสัมปชัญญะกับใจยาก ให้มาตั้งกับกาย เพราะมันง่ายกว่า นะ


..............................



แทร็ก 1/18 (1)


พระอาจารย์
1/18 (25530403B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 เมษายน 25553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้แบ่งโพสต์ 2 ช่วงบทความค่ะ)

โยม –  อย่างนั้นฌานสมาบัติ จะช่วยอะไรในเชิงสติได้ไหมคะ คือกรณีที่ท่านเดินสมาธิมาถึงระดับนึงแล้วนี่ แล้วก็หันมาเจริญสติต่อ

พระอาจารย์ –  หมายความว่ายังไงล่ะ


โยม –  ในเชิงของการที่ฝึกสมาธิมาจนได้ฌาน แล้วฌานนั้นจะเข้ามาช่วยอะไรในเชิงของการมาเดินวิปัสสนาญาณต่อ

พระอาจารย์ –  โยมฟังนะ อย่างที่โยมพูดนี่ โยมยังไม่เข้าใจ นะ... ในหลักการปฏิบัติ มีเจโตวิมุติล้วนๆ หนึ่ง ปัญญาล้วนๆ หนึ่ง แล้วยังมีเจโตกึ่งปัญญาอีกหนึ่ง มีสามลักษณะนะ

ลักษณะของเจโตวิมุติล้วนๆ นี่ จะไม่มีการพิจารณาอะไรเลย จะไม่มีการพิจารณากายเลย จะไม่มีการพิจารณาเป็นอสุภะกรรมฐานเลย ...ลักษณะอย่างนี้จะดำเนินในจิตล้วนๆ 

ด้วยการนั่งสมาธิ นั่งเข้าฌานล้วนๆ เลย ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สมาบัติ ๘ นะ เพิ่นจะเข้าในลักษณะของสมาบัติ ... เพิ่นจะเข้าในสายของสมาบัติล้วนๆ เลย 

คือเดินในจิตล้วนๆ ด้วยการกำหนดจิตล้วนๆ เอาความสงบเป็นรากฐานล้วนๆ ...ลักษณะนี้จะไม่ถอยเลย จะไม่ถอยจิตออกมาพิจารณาอะไรทั้งสิ้น จะไม่มาสร้างสติภายนอกอะไรทั้งสิ้น

แต่ลักษณะของเจโตวิมุติล้วนๆ นี่ จะอาศัยเห็นความเกิด-ดับของสมาบัติ ระหว่างรูปฌานหนึ่งดับ แล้วไปเป็นรูปฌานสอง รูปฌานสองดับแล้วมาเป็นรูปฌานสาม 

บางทีรูปฌานสามดับแล้วลงมาเป็นรูปฌานหนึ่ง หรือรูปฌานหนึ่งแล้วกระโดดไปเป็นรูปฌานสี่ หรือรูปฌานดับแล้วเกิดไปเป็นอรูปฌานหนึ่ง

เห็นไหม เพิ่นจะไปเป็นสติที่เห็นไตรลักษณ์ในสมาบัติล้วนๆ เลย ...จะไม่อาศัยการพิจารณาอะไรเลย  เห็นไปเรื่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ จนจิตเห็นไตรลักษณ์ในสมาบัติ 

ระหว่างการข้ามสมาบัติ กระโดดข้ามกันไปข้ามกันมา สลับกัน เห็นความไม่เที่ยง การไม่คงอยู่ของสมาบัติต่างๆ  ของสภาวะจิตในรูปฌานหนึ่งกับสองนี่ต่างกัน จะเป็นรูปฌานสองได้ รูปฌานหนึ่งต้องดับ

นี่ เขาเรียกว่าพิจารณาภายในล้วนๆ เรื่องของเจโตล้วนๆ เลย เจโตจิตล้วนๆ เลย  จนเต็มกำลังพั้บ จิตจะรวมไปดับถึงเนวะ เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ ตรงนั้นถึงจะเรียกว่านิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่ ๙

เมื่อเข้าถึงสมาบัติที่ ๙ นี่ดับหมดเลย นี่เข้าถึงนิโรธ จิตจะเข้าไปดับเลย เข้าไปดับความเห็นผิด ความเป็นตัวเป็นตนของสมาบัติหรือรูปสมาบัติหรืออรูปสมาบัติ 

แล้วจะออก ถอนจากสมาบัติ ท่านเรียกว่าผละสมาบัติ พอเข้าถึงผละสมาบัตินี่ นี่คือสภาวะจิตของอนาคามีเลย เข้าใจมั้ย เป็นอย่างนี้ นี่คือเจโตวิมุติล้วนๆ …ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีแล้ว

แล้วยังมี เจโตกึ่งปัญญาวิมุติ  เนี่ย ต้นสายใหญ่คือหลวงปู่มั่น นี่คือสายนี้ทั้งหมดเลย... ลักษณะนี้ดำเนินจิตอยู่ กึ่งเจโต กึ่งปัญญา 

เข้าสมาธิอยู่ ทำจิตรวมอยู่  แต่ถอย ถอนจิตออกมา เวลาจิตหมดกำลัง เพิ่นไม่กลับไปกำหนดกำลังซ้ำ หรือว่าเพื่อข้ามไปสู่สมาบัติที่สูงกว่า

พอสงบแล้วถอนปั๊บ ระหว่างจิตรู้ รับรู้ว่าเป็นแค่ขณิกะหรืออุปจาระ ตรงนี้จิตจะมีการปรุงแต่ง อาศัยเอาความปรุงแต่งนี้มาปรุงแต่งเรื่องกายกับจิต เอามาพิจารณา เข้าใจมั้ย 

เอามาพิจารณากายกับจิต ในแง่ไหนก็ได้ แยกแยะก็ได้ ทำความละเอียดกับมันก็ได้ ดูความไม่สวยไม่งามก็ได้ ดูความไม่มีตัวไม่มีตนก็ได้ ดูความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาก็ได้ 

ถอยมา อาศัยจินตาเข้าประกอบ นี่เรียกว่าเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หลังจากเข้าสมถกรรมฐาน ทำงาน ...กรรมฐานแปลว่างาน ที่เป็นที่ตั้งของจิต สมถกรรมฐานที่ตั้งของจิตก็คือความสงบ เป็นงาน ทำงาน

เมื่อจิตเลิกทำงานในความสงบ ถอยออกมาเป็นวิปัสสนากรรมฐาน คือการพิจารณา


โยม –  ใช้มันมาเป็นกำลังในการพิจารณา

พระอาจารย์ –  ถ้าอย่างโยมนี่ ให้ถึงคิดถึงกาย คิดได้ไม่ถึงห้านาที มันไปคิดถึงกายคนอื่นแล้ว เข้าใจมั้ย 

แต่ว่าถ้าด้วยกำลังที่มันมั่นคงตั้งมั่น เป็นสมาธิ เวลาถอยออกปุ๊บ มันสามารถจะรวมอยู่ได้ช่วงหนึ่ง ระยะหนึ่ง สามารถจะจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วมันสามารถจะพิจารณาได้ชัดเจน

ตรงเนี้ย ท่านอาศัยตรงเนี้ย แล้วท่านพิจารณาไปซ้ำๆ ...ถ้าพิจารณาปั๊บ พิจารณาไปๆ ปุ๊บ คล้อยตาม เชื่อตามที่เราตั้งเป้าไว้ ก็พิจารณาต่อไป

แต่ถ้าพิจารณาไปเริ่มไม่ชัดเจน เริ่มไม่คล้อยตามแล้ว เริ่มเป็นของสวยอีกแล้ว จะมองเป็นอสุภะทำไมยังเป็นสุภะอยู่ เพิ่นจะต้องถอยจิตกลับมา เข้าสมถกรรมฐานใหม่ มารวมจิตใหม่ให้มีกำลังมากขึ้น แล้วค่อยไปพิจารณาซ้ำ

ท่านจะทำซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ซ้ำซากอย่างนี้ สลับกันไป ระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน แล้วมันจะมีที่สุดของมัน มันจะเป็นที่สุดของวิปัสสนากรรมฐาน 

ถ้าพิจารณากายไป ถ้าเป็นในแง่ของอสุภะ ที่สุดของอสุภะปุ๊บนี่ มันจะเห็นนิมิตเป็นอสุภะไปหมดเลย


โยม –  มีการม้างกายอย่างนี้เหรอเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เออ ม้างกายก็ได้ แยกกาย แยกธาตุแยกขันธ์ แยกออกมาเป็นดินน้ำไฟลม ได้หมด แยกออกมาเป็นส่วน เนื้อกองนึง หนังเอาไว้กองนึง ตับไตไส้เอาไว้กองนึง น้ำเลือดหนองไว้กองนึง 

เนี่ย แยกเป็นส่วนๆ อย่างนี้ อันนี้เรียกว่าแยกกาย พิจารณาแง่ไหนได้หมด หรือในแง่อสุภะก็ให้เปื่อยเน่าอย่างนี้  พิจารณาซ้ำไปซ้ำมา จนกำลังเต็มที่ เริ่มเต็มที่นี่ 

อย่างเวลาเราคิด เวลาเราคิดถึงใครนี่ เห็นภาพมั้ย เห็นภาพคนนั้นใช่ไหม อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นอุคคหนิมิต ระหว่างที่พิจารณานี่ก็พิจารณาด้วยอุคคหนิมิต เป็นนิมิตที่สร้างอิมเมจในจิตขึ้นมา

แต่ว่าเมื่อเต็มกำลังของวิปัสสนากรรมฐานเมื่อไหร่ อุคคหมิมิตจะทวีความเข้มข้นขึ้นหรือว่าชัดเจนขึ้น จนท่านเรียกว่าเป็นปฏิภาคนิมิต คือเหมือนเห็นกับตาเลย 

มันไม่ใช่แค่นึกหรือว่าน้อมให้เห็นภาพ แต่มันเห็นเลยนี่ จิตนี่เห็นเลย ...เพราะนั้นเมื่อเป็นปฏิภาคเมื่อไหร่ หลับตาลืมตา เห็นเป็นกระดูก เน่า ดูปุ๊บ กำหนด จ่อเข้าไปนี่ พั่บๆๆ

เพราะนั้นเมื่อเห็นรูปขนาดนี้ เป็นปฏิภาคแล้วนี่นะ เพราะนั้นระหว่างนี้นี่ไม่ต้องถามอารมณ์ ราคะไม่ต้องถาม ไม่เกิดหรอก ไม่มีหรอก  พอใจ-ไม่พอใจไม่มีหรอก 

มันเป็นอุเบกขาตลอด แล้วก็มีความเบื่อหน่าย เบื่อแบบไม่อยาก


โยม –  ถ้าอย่างนี้เทียบเป็นญาณ ญาณที่เท่าไหร่คะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องเทียบญาณเลย เข้าใจมั้ย  เพราะลักษณะวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน จะไม่เรียกเป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่เอาขั้นของวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาภูมิมาเกี่ยวเลย 

เป็นเรื่องของจิตเห็นจิตรู้ล้วนๆ ...แต่กำลังที่สุดของปฏิภาคนิมิตนี่ ดับ เห็นเน่าเปื่อย เห็นจนเป็นกระดูกแล้ว กระดูกนี่จะเริ่มสลายแล้ว จะเริ่มแตก  พอแตกปุ๊บ รูปนี่ไม่คงอยู่แล้ว 

พอดู ...จิตนี่เห็นคนปุ๊บนี่มันแยกๆๆๆ พึ่บ หายเลย ดับเลย รูปดับเลย ...แต่รูปจริงๆ ยังอยู่นะ แต่ที่จิตเห็นนี่ดับหมด ดับเลย หาความเป็นรูปไม่มี  

แล้วมันไม่เห็นแค่รูปคน รูปสัตว์ ตาเห็นวัตถุสิ่งของนี่ จิตกระทบอายตนะปั๊บ ดับพึ่บเลย เข้าใจมั้ย ดับพึ่บๆๆๆ หมด จนดับทั้งโลกธาตุ คือจะเห็นความดับไปทั้งโลกธาตุ

แต่กิเลสยังไม่ดับนะ บอกให้นะ ยังไม่ดับเลย ...มันเป็นแค่ความเห็นของจิตด้วยกำลังที่เป็นมหัคคตจิต มหัครจิต หรือยังอยู่แค่อุบาย ...เพราะเราทำขึ้น เข้าใจมั้ย 

เราทำขึ้นด้วยการน้อมจิตไปเรื่อยๆๆๆ แล้วสร้างเสริมกำลังความเห็น สร้างความเห็นขึ้นมาลบสัญญาเก่า สร้างสัญญาใหม่ขึ้นมาให้เห็นต้องเป็นอย่างนั้น แล้วจิตมันจะดำเนินไปตามครรลองนี้


โยม –  เมื่อกี้ที่ท่านบอกว่าแยกธาตุน่ะค่ะ เห็นเป็นเลือดเห็นเป็นอะไรนี่ คิดไปเองหรือว่า...

พระอาจารย์ –  คิดสิ แรกๆ ต้องมีจินตามยปัญญาก่อน คือใช้คิดน้อมไปเรื่อยๆ แล้วมันจึงเกิดเป็นปฏิภาค  ถ้าเป็นปฏิภาคนี่ไม่ได้คิดแล้ว มันแยกออกให้เอง  

เหมือนกับเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เหมือนกันกับที่เราดูจิตน่ะ เรารู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม แต่จิตเขาเห็นหรือไม่เห็นนั่นอีกเรื่องนึง เข้าใจมั้ย เขายอมรับหรือไม่ยอมรับนั่นอีกเรื่องนึงเหมือนกัน


โยม (อีกคน)  แล้วจากอุบายเมื่อสักครู่ แล้วท่านดำเนินยังไงต่อครับ

พระอาจารย์ –  พอดับพึ่บหมดแล้ว พิจารณาอะไรไม่ได้แล้ว ไม่รู้จะพิจารณาอะไร ...พิจารณาตรงไหน...ดับหมด พิจารณาอันไหน...ไม่มี...หมด  รูปก็ไม่มีนามก็ไม่มี ดับหมด

มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ดับ ...อะไรไม่ดับ ... ใจ ... กลับมาถึงใจ ไม่ดับ ไม่เกิด  พิจารณายังไงก็ไม่ดับ มันรู้อยู่ตลอด มันเห็นเป็นดวงจิต โด่ เป็นเอกเทศอย่างนั้นเลย เป็นก้อนเป็นดวง 

ตรงนั้นน่ะจึงจะเริ่มเกิดวิปัสสนาญาณ


โยม –  น่าจะเป็นเรื่องยากนะเจ้าคะ

โยม –  ค่อยมาพิจารณาเอาหรือครับ

พระอาจารย์ –  ไม่พิจารณาแล้ว เลิกพิจารณาแล้ว


โยม –  อ๋อ มันอัตโนมัติ

พระอาจารย์ –  เออ มันเริ่ม...เริ่มเข้ามาเห็นไตรลักษณ์ของสิ่งที่มากระทบจิตแล้ว ตรงนี้ถึงจะเริ่ม ...จิตเริ่มเห็นไตรลักษณ์แล้ว

แต่ที่ทำมาทั้งหมดนี่...เกิดจากการกระทำ เข้าใจไหม เป็นอุบาย ...เข้าใจคำว่าอุบายหรือยัง กะไอ้ที่ว่าปัญญาวิมุตินี่ เข้าใจไหม ว่าจุดของปัญญาวิมุติอยู่ตรงไหน

ถึงจุดนี้เมื่อไหร่ มันจะไปลบความหมายของคำว่าปัญญาวิมุติ หรือเจโตวิมุติทันที คือมันจะรวมเป็นหนึ่ง จะไม่มีว่า...ตรงนี้อาการอย่างนี้คือเจโตวิมุติหรือปัญญาวิมุติ 

เพราะมันเป็นเรื่องเดียวแล้ว เรื่องเดียวกัน ...สุดท้ายคือเรื่องนี้...กลับมาอยู่ที่ใจ  สุดท้ายสติท่านจะอยู่ที่ตรงนี้...ที่เดียวเท่านั้น ไม่ออกนอกนี้แล้วๆ


โยม –  แต่ในขณะที่เรากำหนดสติปัฏฐานสี่นี่ พระไตรลักษณ์จะเกิดตลอดเวลา

พระอาจารย์ –  ตลอด ...จิตจะเห็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา แล้วมันจะสะสมปัญญาญาณไปเรื่อยๆ จนมันเห็นว่า เนี่ย จุดตั้งต้นจาก...ศูนย์ไปหนึ่ง  แค่หนึ่งกูก็ทุกข์แล้ว  

จิตมันบอกนะ เราไม่ได้บอกนะ ...จิตมันบอกอย่างนี้ จิตมันรู้ด้วยปัจจัตตัง ถ้าออกนอกนี้ไป...ทุกข์ ออกนอกนี้ไป...ทุกข์

ลองนึกว่านี้ซิ นี้ๆๆๆ เข้าใจมั้ยถ้าออกนอก “นี้” เมื่อไหร่...ทุกข์  “นี้” คือ นี่ คือปัจจุบันนี่ มันจะอยู่ที่นี้ ที่ใจ อยู่ที่เดียว


โยม –  อย่างนี้จิตมันก็ไม่ส่งออกเลยสิคะ มันก็อยู่แต่ข้างในอย่างเดียว มันก็ดูแต่ข้างในอย่างเดียวเลย มันก็พิจารณาจุดเด่นในการทำงาน

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง


โยม –  แล้วสติมันไปครอบให้จิตมันอยู่ คือมันจะมีสติครอบจิตยาวขนาดนั้น นานขนาดนั้นเลยหรือคะ คือมันเหมือนกับเล็งตลอดเวลา

พระอาจารย์ –  มันไม่เหมือนกับที่เราคิดหรอก ขันธ์ก็ยังมีตลอด ขันธ์ก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา ความคิดความปรุงแต่งก็ยังมีตลอด เวทนาก็มี สัญญาก็มี วิญญาณก็มี รูปก็มี ...แต่เป็น “สักแต่ว่า” บอกแล้วไง เข้าใจมั้ย


เมื่อไหร่ที่มันไป...ศูนย์เป็นหนึ่ง นี่คือความหมายของอุปาทาน ...ไม่ใช่หมายความว่าความรู้หรือสิ่งที่ถูกรู้ไม่มี ...มันก็มี แต่สักแต่ว่ามี ... มันไม่ใช่เราไปมี ไม่ได้เป็นของเรา


(ต่อแทร็ก 1/18  ช่วง 2)