วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/26 (2)


พระอาจารย์
1/26 (25530427B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/26  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะดวงจิตของแต่ละคนพื้นฐานไม่เหมือนกัน วาสนาไม่เหมือนกัน อุปนิสัยไม่เหมือนกัน ...แม้จะเป็นต้นตอเดียวกันก็ตาม แต่ไอ้สิ่งที่เป็นวิบากของขันธ์น่ะไม่เหมือนกัน

หน้ามันยังไม่เหมือนกันเลย ใช่ไหม จิตจะเหมือนกันได้ยังไง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหนักเบาอย่างไรนี่มันแตกต่างกันอยู่แล้ว ในความคุ้นเคย การที่สะสม

พวกนั้นมันเป็นเนื้อของจิต ไม่ใช่ใจที่แท้จริง มันจึงมีสูงต่ำดำขาว หรือรูปลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของจิตดวงนั้นๆ ...มันจึงมีวิถีเฉพาะตน ไม่เหมือนกัน

แต่ว่าโดยองค์รวมคือจะเป็นสันติ สันติ...ไม่มีประโยชน์เป็นหลัก ...แต่คนอื่นมอง หรือด้วยสายตาคนอื่นอาจจะดูประหลาด...เอ๊ะ ดูดีมั่ง ดูไม่ดีมั่ง อันนั้นเป็นเรื่องของคนอื่นมอง

นั่นเขาเบียดเบียนตัวเขาเองนะอย่างนั้น เราไม่ถือว่าการกระทำของเราเบียดเบียน อันนั้นเขาคิดไปเอง ช่วยไม่ได้ แก้ไม่ได้ 

และท่านไม่แก้ด้วย ท่านจะไม่แก้ตามเขาว่าด้วย ...มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอิสระในการเป็นไป

เพราะว่ามันจะเป็นความสมดุลของจิตที่มันจะเข้าไปเจริญปัญญา ด้วยความเป็นกลางมากขึ้นๆๆ ...มันไม่ใช่ว่าความเป็นกลางที่เราสร้างขึ้น...ไม่ใช่

แต่มันเป็นความเป็นกลางด้วยความพร้อม ด้วยความพอดี ด้วยความสมดุล...จิตมันก็จะรู้ได้ ...เข้ามาถึงกลางภายในๆ ตรงนี้เรียกว่ามันเกิดสัปปายะที่เลือกไม่ได้ขึ้นมาเอง

ไม่ใช่ว่าเราไปเลือกอะไรเอาเองก่อน ด้วยการคิดเอา คาดเอา คะเนเอา หวังเอาว่า ...นี่ ความน่าจะเป็น พวกนี้เป็นความฝันหมด เป็นมายาของจิต อย่าไปเชื่อ อย่าไปให้ความสำคัญมาก 

คิดก็รู้ว่าคิด คิดอีกรู้อีกๆ ซ้ำซากอยู่ตรงนั้น แล้วมันจะค่อยๆ มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของความคิด ...เพราะนั้นที่คิดจะอยู่เป็นรูปของนักบวชตายตัว หรืออะไรนี่ มันไม่น่าหรอก ...อยู่คนเดียวอย่างนี้ดีกว่า


โยม –  แล้วทำไมหลวงพ่อมีความแน่วแน่จังเลยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  โหย มันไม่มีน่ะ...อาการกระวนกระวาย ทะเยอทะยาน กระหายในอารมณ์อย่างที่พวกเราคิดแล้ว


โยม –  ไม่ใช่ค่ะ หมายถึงแต่ก่อน ที่ยังเป็นฆราวาสเหมือนพวกหนูอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  มันมีเหตุปัจจัยของมัน นะ เราไม่คิดอยากจะบวชหรอก จริงๆ แต่มันมีเหตุปัจจัยบีบคั้นหลายเรื่อง จนมีความรู้สึกว่า โลกนี่ทั้งโลก ไม่มีที่เท่าฝ่าตีนให้เราเหยียบ

ทุกอย่าง มันเป็นความทุกข์ในจิต ด้วยเหตุปัจจัยภายนอกด้วย มันผสมรวมกัน ตรงนั้นน่ะ จิตมันมีความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมาเองเลยว่า นี่ ทั้งแผ่นดินนี่ ที่เท่าฝ่าตีนเรายืนนี่ไม่มีเลย

พอความเห็นนั้นปรากฏหรือขึ้นมา มันก็มีความเห็นขึ้นมาว่า “บวช...เป็นพระอย่างเดียว” ว่าอย่างนั้น ...พอความรู้สึกว่าบวชหรือเป็นพระขึ้นมาปั๊บ ความทุกข์ตรงนั้นหายหมดเลยนะ

เพราะนั้นจิตมันจึงเกิดความแน่วแน่ตรงนั้นเกิดขึ้น ...แล้วคืนนั้นเอง คืนที่เราตัดสินใจว่าจะลาออกจากงาน จะบวช ...คืนนั้นเราฝัน 

เราฝันว่า เรานี่เดินเข้าไปหลักประหาร แล้วมีเพชฌฆาตถือดาบอยู่ แล้วก็เดินไปนั่งที่ตรงหลักประหาร แล้วก็บอกว่า เอ้า ตัดคอ เพชฌฆาตที่ถือดาบก็เงื้อดาบนะ แล้วก็บอก จะตัดแล้วนะ เราก็บอก เออ ตัด 

มันพูดว่าจะตัดแล้วนะๆ อยู่สามครั้งน่ะ เราก็บอกว่า มึงจะตัดก็ตัดซะทีเถอะว่ะ พอครั้งที่สามว่าจะตัดแล้วนะ มันพูดยังไม่ทันขาดคำเลย คอขาดฉั๊วะ (หัวเราะ) ...นี่ ฝัน ...ก็ตั้งแต่นั้นมาก็ตั้งใจจะบวช

แต่ว่าปัจจัยสะสมมันก็มี คือเราชอบการปฏิบัติภาวนามาตั้งแต่เด็ก นั่งสมาธิภาวนามาตั้งแต่อายุหก-เจ็ดขวบแล้ว อยากเป็นพระอรหันต์ อยากสำเร็จ อยากพ้นทุกข์อะไรอย่างนี้ มันมี ความคิดอย่างนั้นสะสมมา 

แต่ว่าการใช้ชีวิตความเป็นอยู่มันก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย เข้าใจมั้ย เพราะว่าชีวิตเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยน่ะ การทำงานทำการ ...มันก็มีทำกรรมไว้กับผู้คน ด้วยความมุ่งมั่น 

มุ่งมั่นอะไร ...มุ่งมั่นเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ เอากฎหมายเป็นมาตรฐาน ไม่มีคำว่าเมตตาปราณี แต่ถือเอาความถูกต้อง ถือให้โลกนี้เป็นสีเขียว ถือให้โลกนี้คือ “ต้องดีกว่านี้” ...นี่แหละ ปัญหาใหญ่เลยแหละ

เพราะนั้นความคิด ความเห็น ความอยาก หรือความปรารถนาที่ตั้งเอาไว้นี่...กับความเป็นจริงที่มันจะเป็นไป หรือดำเนินไปนี่ ...มันไม่ตรงกันหรอก

ถึงเวลาตามเหตุปัจจัยอันควร มันจะเป็นไปอย่างไร ก็ต้องยอมรับมัน ...แต่ว่าไม่ใช่เอาความคิดเป็นตัวนำ หรือว่าตั้งไว้ว่า “ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้  ไม่อย่างนั้น ไม่อย่างนี้” 

ไม่ต้องเลือกวิถีชีวิตหรอก  กรรมมันเป็นตัวผลักดันอยู่แล้ว...กัมมปัจจัย 

เพราะนั้นถ้าเราอยู่ได้ ถ้าเข้าใจได้ปุ๊บนี่ กาย วาจา จิตเรา...คือที่ตั้งแห่งธรรมอยู่แล้ว เป็นธรรมอยู่แล้ว  ไม่ต้องไปสร้างอะไรขึ้นมาใหม่หรอก

ขาดอย่างเดียว มันขาดอยู่อย่างเดียว ...ขาดสติสัมปชัญญะ ...แล้วไม่ต้องมาคิดมาอ้างว่าต้องเป็นที่ตรงนั้นถึงสติดี ต้องทำงานอย่างนี้สติถึงจะดีกว่า ...อย่ามีข้ออ้าง

ไอ้ที่ทำไม่ได้ ไอ้ที่มีไม่ได้ ตรงนั้นน่ะต้องทำให้ได้ เข้าใจมั้ย ...เราต้องรู้ว่าตรงไหนที่มันขาด ตรงไหนที่มันหลุด  อาการไหนที่มันขาด อาการไหนที่มันหลุดจากสติ

มันจะหลุดซ้ำซากอยู่ตรงนั้นแหละ มันจะขาดก็ขาดซ้ำซากอยู่ในอาการนั้นแหละ ทำ-พูด-คิด อย่างนั้น เวลากินรึ เวลาคุยรึเปล่า หรือเวลาทำงานอย่างนั้น

หรือเวลาขับรถ หรือเวลานอน หรือเวลาเดินไปเดินมา หรือเวลาพูดเวลาคุย หรือเวลาเล่นเน็ท หรือเวลาอะไรอย่างนี้ ...เราจะต้องรู้เลย เวลาไหนเป็นเวลาที่เราขาดหรือหลง

เพราะมันจะหลงซ้ำซากอยู่ตรงนั้นน่ะ ขาดสติก็จะขาดซ้ำซากอยู่ตรงนั้นน่ะ เพราะนั้นไม่ต้องหนีด้วยการไปเปลี่ยน หรือไปอยู่ที่อื่นแล้วถึงจะมีสติได้ ...มันต้องแก้ตรงจุดที่มันบอดนั่นแหละ

ก็ต้องตั้งใจน่ะ มันต้องตั้งใจกว่าเวลาอื่นที่บางช่วงหรือบางเวลาที่สติมันเกิด นั่นไม่ต้องไปใส่ใจกับมันมากหรอก มันมีของมันประจำตรงนั้นแหละ

ไอ้เวลาที่เราต้องตั้งใจมากๆ คือไอ้เวลาที่มันเผลออยู่ประจำอยู่ตรงนั้นต่างหากน่ะ ...เช่นบางคนนี่จะเผลอเวลาพูด อย่างนี้ ก็ต้องใส่ใจตอนพูด ต้องตั้งใจให้ดี

ก่อนจะพูด...รู้ ระหว่างพูด...รู้ พูดเสร็จแล้ว...รู้ ...ไม่ใช่ ก่อนพูดก็ไม่รู้ ระหว่างพูดก็ไม่รู้ พูดจบแล้วก็ไม่รู้

กว่าจะมารู้นี่ อีกชั่วโมงสองชั่วโมงถึงรู้ว่าเมื่อกี้ด่าเขาไป  แล้วเมื่อกี้พูดอะไรไปไม่รู้ สงสัยเขาเจ็บใจรึเปล่าไม่รู้ พึ่งมาคิดได้ตอนหลัง เพิ่งมารู้ได้อย่างนี้ เห็นมั้ย

เพราะนั้นมันจะซ้ำซากอยู่ในอาการนั้นแหละ สติที่จะหลงก็จะหลงตรงนั้น  หายก็จะหายอยู่ตรงนั้นแหละ

พอเรามาทบทวนก็เลยเกิดความปรุงแต่งใหม่ว่า “เอ เราจะต้องเปลี่ยนวิถีใหม่แล้ว เราจะต้องเปลี่ยนชีวิตใหม่ ต้องออกจากผู้คนแล้วอย่างนี้”


โยม –  ใช่ค่ะ

พระอาจารย์ –  เงื่อนมันเกิดตรงไหน ต้องแก้ตรงเงื่อน ...ไม่ใช่เงื่อนนี้มันเกิดตรงนี้ แล้วไปผูกเงื่อนใหม่ แล้วเข้าใจว่าเงื่อนใหม่ที่เราไปผูก จะแก้ได้ง่ายกว่า เข้าใจมั้ย ...เงื่อนมันมีอยู่ตรงไหน ต้องแก้ตรงนั้นน่ะ


โยม –  มันอยู่ตรงไหนล่ะคะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  เอ้า ก็ตรงที่เราหลง ...ตรงไหนล่ะ


โยม –  แล้วเราไปอยู่กับผู้คนน่ะค่ะ เขาฟุ้งกันน่ะ เราก็ไปกับเขาน่ะค่ะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ก็ตรงนั้น ...ก็ต้องรู้ตรงนั้น ก็ต้องมาสร้างสติตรงนั้น


โยม –  เราก็คิดตามอย่างที่เขาพูด

พระอาจารย์ –  มันทำได้ เราบอกแล้วว่า...จะคิดก็ได้ จะพูดก็ได้ จะอะไรก็ได้...ถ้ารู้กายเห็นกายอยู่ มันมีอยู่ได้ เข้าใจมั้ย


โยม –  หูย ยากมากค่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่ยาก-ไม่ง่ายน่ะ มันอยู่ที่การฝึก ...ควายวัวหมานี่เขายังฝึกได้ คนทำไมจะฝึกไม่ได้

ฝึกนี่... จิตที่อบรมดีแล้ว...จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง  จิตที่อบรมดีแล้วนำสุขมาให้ ...ถ้าจิตที่ไม่มีการฝึก ไม่มีการอบรม มันไม่มีทางหรอก

เราไปคิดว่า...จะต้องไปอบรมในสถานที่เช่นนี้ ไปใช้วิถีชีวิตอย่างนี้ จึงจะดีกว่า น่าจะดีกว่า ...มันเป็นแค่ความปรุงของจิต แล้วก็มีความอยาก ...มันหลอกอยู่ตลอด

มันหลอกทำไม ...หลอกเพื่อจะให้ทิ้งสติที่มีอยู่ ให้หลงซ้ำซากๆ อยู่ตรงนี้น่ะ


.....................................




แทร็ก 1/26 (1)


พระอาจารย์
1/26 (25530427B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  เป็นผู้หญิงนี่มันลำบากทุกอย่างเลยนะเจ้าคะ (ฟังไม่ชัด) ...เมื่อเข้าสู่การปฏิบัติภาวนา

พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่า ถ้ายิ่งเป็นรูปแบบของนักบวชเท่าไหร่ มันจะมีปัญหาเยอะ ...จะมีปัญหาที่เราคิดไม่ถึง มองไม่เห็นอีกเยอะ...โดยเฉพาะนักบวชหญิง

เพราะนั้นน่ะ การมาอยู่ร่วมกันกับหมู่นักบวชหญิงนี่  ธรรมดาผู้หญิงคนเดียวนี่ก็ยุ่งแล้ว ...ถ้าผู้หญิงรวมกันสองคนนี่ ก็เรียกว่าโลกแทบแตกไปครึ่งนึงแล้ว (หัวเราะกัน)

ต่อให้เป็นนักปฏิบัติก็เถอะ ...แค่ผู้หญิงรวมกันสองคน นั่งอยู่ นอนอยู่ห้องเดียวกันนี่ โลกแตกไปครึ่งโลกแล้ว ...แล้วถ้าอยู่กันเป็นกลุ่มนะ มัน...มันไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก

กับการที่เราอยู่ลำพัง เข้าใจมั้ย มีเวลาไปมีเวลามา ...ไปก็ไป ไม่ไปก็ไม่ไป อยู่คนเดียวก็อยู่คนเดียวได้

แต่ถ้าไปอยู่ในที่จำเพาะที่จะต้องเจอหน้ากันทุกวัน ซ้ำซากนี่ ...แล้วกำลังจิต กำลังปัญญาของพวกเราจะเท่ากันมั้ยล่ะ ...สุดท้ายก็ทำยังไง...หนี มันจะหนีออกไป

แล้วก็เปลี่ยนที่ไปเรื่อย หาที่ใหม่ อ้างว่าไม่สัปปายะแล้ว อ้างว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็หาเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ...เราบอกให้เลย ทุกที่น่ะ...เหมือนกันๆ


โยม –  ก็แสวงหามาเยอะแล้วน่ะค่ะหลวงพ่อ แต่ก่อนก็ไปเกือบทุกที่

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละ เหมือนกันหมดแหละ ทุกที่ ...นิสัยคนมันก็เหมือนเดิมกันหมดแหละ มันไม่ได้ว่าตรงไหนจะดีกว่า-ไม่ดีกว่าในสถานที่

เพราะนั้นการที่เราอยู่โดยลำพัง หรือโดยเป็นอิสระนี่ เราว่ามันตรงที่สุดแล้ว เข้าใจมั้ย ...นี่หมายถึงตรงที่ความเป็นอิสระออกจากรูปแบบนั่นน่ะ

อย่างที่เมื่อกี้เราก็พูดบอกไปแล้ว...ว่า รูปแบบที่แท้จริง...คือไม่มีรูปแบบ ...แต่ว่าเป็นรูปแบบของกายและใจตามความเป็นจริงต่างหาก 

นี่ มันจะเข้าสู่ความเป็นจริงของกายและใจ  ...ไม่ใช่เข้าไปจริงตามที่ว่าต้องให้กายและใจเป็นยังไง  อันนั้นเป็นอุบาย เป็นแค่อุบาย ไม่ใช่รูปแบบตามความเป็นจริง

แล้วพอเข้าไปจมปลักกับรูปแบบที่เราสร้างขึ้นมาปุ๊บ...ติดนะ มันติด ...แล้วมานะเกิด ทิฏฐิเกิด ความเห็นเกิด ความเห็นแบ่งแยกเกิด ...มันเกิดความเห็นแบ่งแยก

เห็นคนใส่สี  เห็นคนใส่ขาว เห็นคนโกนหัว-ไม่โกนหัว...เห็นมั้ย เกิดความเปรียบเทียบ สูงต่ำดำขาว ดีชั่ว มากมาย ...มันจะมีอะไรมากมายตามมาที่ต้องเรียนรู้ 

แล้วบางคนรับได้ไม่ทัน ก็ออกไปด้วยความเบื่อเลย ท้อถอยเลย หนีเลย ...บอกแล้ว ถ้ามันหวังไว้มากนะ เข้าไปเจอแล้วไม่ได้อย่างที่คิดนะ กลายเป็นพาลแล้ว


โยม –  มันก็มีความฝันไว้ว่า อนาคตจะมีสักวัดหนึ่งที่คนดูจิตมารวมกัน สร้างวัดอยู่รวมกัน

พระอาจารย์ –  เหอะ ต่อให้คนดูจิตมารวมกัน ก็มีปัญหา บอกให้เลย ไปดูเหอะ ...อย่านึกว่าวัดอาจารย์ปราโมทย์ไม่มีปัญหานะ  ปัญหาที่อาจารย์ปราโมทย์เจอ ก็ไอ้คนดูจิตนี่แหละ ใช่รึเปล่าล่ะ 

เพราะนั้น ถ้าให้เราแนะนำ ก็อยู่คนเดียว เข้าใจมั้ย อยู่วิเวก ...เข้าใจคำว่าวิเวกมั้ย อยู่คนเดียว แต่ไม่ต้องถึงกับว่าไปอยู่ในป่าลึกคนเดียว ...ก็อยู่ในที่ที่มันควร 

เป็นผู้หญิง..มันลำบาก ...ก็อยู่ในที่ที่ควร พอสมควร หรือใกล้วัดใกล้วา หรือใกล้ครูบาอาจารย์อะไรก็ได้ ...คือให้ปลีกออกมา อย่าเข้าไปจมกับวังวนของรูปแบบจนเกินไป

แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือว่าต่อต้านเขาน่ะ ...เพียงแต่ว่าลักษณะนี้จะเป็นอิสระ คือบอกแล้วว่าอันนี้มันอยู่ที่ความตั้งใจ เข้าใจมั้ย ...คือความตั้งใจจะบวชนี่มีอยู่แล้ว 

เพราะนั้นไม่ต้องกลัวว่าเราจะหลุด ถ้าเราอยู่คนเดียว แล้วไม่มีอะไรคอยควบคุมเรา เข้าใจมั้ย ถ้าไม่หลุดแล้วมั่นใจในตัวเอง ...เพราะว่ามันมีความปรารถนาลึกๆ ผลักดันอยู่แล้ว 

แต่ว่าไอ้ความคิดของพวกเรามันก็เข้าใจว่าจะต้องเป็นนักบวชเท่านั้น เข้าใจมั้ย เหมือนว่าต้องมีเครื่องแบบ ต้องใส่เครื่องแบบ มีสถานที่อยู่โยง มีสถานี

แต่ถ้าอยู่อย่างนี้ ถือว่าเป็นสุญญาคาร ถือว่าเป็นวิเวก สันโดษ เป็นอิสระโดยธรรมชาติ ...จะทำอะไรก็ทำ จะไปไหนก็ได้ จะแต่งขาวก็ได้ แก้ผ้าก็ได้ ไม่ใส่อะไรก็ได้

เห็นมั้ย ทำไมจะต้องไปอยู่กับประเพณีนิยม หรือว่าค่านิยม โดยที่ว่า...ที่เรามาเรียนรู้กันนี่ ก็เพื่อออกมาจากมันอยู่แล้ว ใช่ป่าว สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา

เวลาเราเข้าไปจมกับกลุ่ม หรือว่าไปจมกับสังคมมากๆ ไปคลุกคลี หรือไปผูกพันมากๆ  จะไปเจอกับเรื่องพวกนี้...สงสัย ลังเล แล้วก็เพ่งโทษกันอยู่นั่นน่ะ

เดี๋ยวก็ตำหนิคนนั้น เดี๋ยวก็ตำหนิคนนี้  คนนั้นมันกินน้อย คนนี้มันกินมาก คนนี้ทำไมกินแล้วไม่ล้างจาน คนนี้กินแล้วล้างไม่สะอาด...มันมีปัญหาไปหมด บอกให้เลยนะ

แต่การแค่อยู่ลำพัง ถ้าจะตั้งสัจจะก็ตั้งได้ ในลักษณะที่ว่า จะไม่มีผัว จะไม่มีเมีย จะไม่มีลูก จะไม่มีนั่นนี่ ...ไอ้อย่างนี้ตั้งได้ ไม่มีปัญหาเท่าไหร่หรอก เข้าใจมั้ย ก็ตั้งได้

เพื่ออะไร ...เพื่อให้มันเป็นอิสระก่อน ไม่ตกไหลไปตามอำนาจของกิเลส ...เหมือนกับเราตั้งศีลประจำตัวของเรา แต่ไม่ได้เป็นศีลวินัยหรือศีลบัญญัติตามที่มีมา เช่นว่าต้องกินข้าวมื้อเดียว ต้องถือศีลห้าอย่างนั้น

แต่ให้มันเป็นศีลสัจจะที่เหมาะแก่การดำเนินชีวิตโดยอิสระ ไม่ผูกพันพัวพัน ...อาจจะดูไม่เหมือนศีลคนอื่นก็ได้ แต่ถืออย่างนี้แล้วมันสบายใจ ถือแล้วมันไม่ออกไปหาอะไรมาเป็นภาระ อย่างนี้ ถือเป็นสัจจะได้

แล้วต่อไปมันก็จะทิ้งหมดน่ะ สัจจะทั้งหลาย ...อยู่แบบมีก็ได้ ไม่มีก็ได้  เห็นมั้ย จะมี-ไม่มีอะไรก็ได้ ถึงเวลานั้นน่ะ มันไม่ได้ปฏิเสธอะไร ...แต่ถึงเวลาจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้วนี่ มันจะไม่มีอะไรหรอก

แต่ว่าเบื้องต้นน่ะ เราก็ต้องอาศัยศีลนี่เป็นตัวป้องกันภายนอก ด้วยสัจจะ ...ซึ่งศีลนี่เราไม่ได้กำหนดว่ามีแค่ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ สองร้อยยี่สิบเจ็ดเท่านั้น อย่างนั้น

ศีลสัจจะมันตามแต่นิสัยปัจจัยของบุคคลนั้นๆ เช่น นิสัยเราเป็นคนช่างพูด นิสัยเราเป็นคนชอบสมาคมสังสรรค์พบปะบุคคล ไปอยู่คนเดียวเราต้องตั้งสัจจะเลยว่าเราจะไม่พบคน อะไรอย่างนี้

หรือว่าเราจะพบคนน้อยลง หรือเราจะพบได้เท่าที่มีมา ...นี่ อย่างนี้ๆ เพื่อมาแก้กัน เข้าใจมั้ย ...มันอาจจะไม่มีที่ในบัญญัติ แต่มันเป็นศีลที่มันมากำราบภายในตัวเอง

ต้องเรียนรู้ เข้าใจตัวของเราเอง แล้วมันถึงจะปรารภสัจจะนั้นได้ ...คือไม่ได้สัจจะตามความนึกอยากทำก็ทำ หรือเขาว่าดี ต้องนั่งอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ...อันนั้นเป็นการลูบคลำในวัตรและศีลเอาเอง

แม้ว่าแรกๆ มันก็ต้องอาศัยพวกนี้ก่อนบ้าง แต่อย่าจริงจังมาก ...สุดท้ายแล้วมันจะทิ้งหมดแหละ มันจะอยู่ด้วยความเป็นอิสระของกายและจิตจริงๆ

ไม่งั้นเราก็จะยังเหมือนกับอยู่ในกรงขัง อยู่ในกรอบของพันธนาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ...ซึ่งว่าเราก็สร้างได้กรอบพันธนาการนี่ แต่สร้างให้มันเป็นแบบเบาๆ อะลุ้มอล่วย ...คืออย่าไปซีเรียสกับศีลพวกนี้

แต่กลับคืนสู่ธรรมชาติของความเป็นอิสระ ที่มีการเฝ้ารู้ดูเห็นอยู่เนืองๆ ...ตรงนี้ มันจะมีวิถีของมันจำเพาะ วิถีนั้นจะเกิดจำเพาะเลย เป็นวิถีที่เลือกไม่ได้ ...เหมือนกับเป็นไฟท์บังคับเลย

มันจะต้องวางลงในวิถีนี้เท่านั้น ...ตรงนั้นน่ะ จะเอาสัจจะ จะเอาการควบคุม หรือจะเอาคนอื่นบอกว่าถูกบอกว่าผิดมาใส่ ...มันกระเด็นออกหมด มันจะไม่เข้ามาแทรกแซง

มันจะวาง มันจะมีวิถีของกาย วิถีชีวิต วิถีของจิตโดยอิสระ...ที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น และไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย ...ตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่ามัชฌิมา

เพราะนั้นมัชฌิมาของแต่ละคน วิถีของแต่ละคน เส้นทางของแต่ละคนนี่ จึงไม่ตรงกัน ไม่เหมือนกัน ไม่เป็นแนวเดียวกันด้วย ...แต่รวมอยู่ในหลักที่ว่า ไม่เบียดเบียน...ไม่เบียดเบียนและสันติ

แต่ไม่ใช่วิถีกูนะ ...คือกูไปตีหัวคนอื่นเขาไปทั่วแล้วก็ว่าเป็นวิถีกู อย่างนี้ไม่ใช่ เข้าใจมั้ย มันยังมีการเบียดเบียน..ยังมี ...ให้รู้ไว้เลยอันนั้นเป็นวิถีที่กอปรด้วยอัตตาตัวตน หรือกอปรด้วยอุปาทาน 

หรือว่าวิถีที่มองแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก พวกนี้ ...มันต้องอาศัยการเรียนรู้เท่านั้นแหละ  มันจะพูดหรือว่าจะมาบอกให้ชัดเจนว่า คุณจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ นะ เหมือนหมอดูเขาทำนายไม่ได้ 

หรืออย่างว่าพระองค์ไหนที่มีเจโตหรือว่ามีอนาคตังสญาณว่า โยมนี่อีกห้าปีสิบปีจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ หรืออย่างนี้มีเมียมีผัวไม่ได้หรอก นั่น มันไม่ใช่การทำนายอย่างนั้น เข้าใจมั้ย

มันจะไม่มีบอกให้ชัดเจนแน่ใจอย่างนั้น  แต่มันจะค่อยๆ เป็นไปๆ ...แล้วก็เราก็เรียนรู้ในความเป็นไปเป็นมาของมัน...ตลอด ระหว่างนี้ เป็นปัจจุบันๆ ไป

เรียนรู้แล้วก็ปรับ ปรับสมดุลของกาย-จิตภายใน ปรับขันธ์ภายในให้มาสัมผัสสัมพันธ์กับขันธ์ภายนอก อย่างไรที่เป็นกลางที่สุดกับดวงจิตของเรานี่


(ต่อแทร็ก 1/26  ช่วง 2)



วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/25 (2)


พระอาจารย์
1/25 (25530427A)
27 เมษายน 2553
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/25  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นเริ่มต้นของการปฏิบัติ มันจะค่อยๆ ฝ่ามารภายนอก คือรูปขันธ์ภายนอก ...คือเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับรูปขันธ์ภายนอกมากขึ้น 

การเกี่ยวข้องผูกพัน การจะเข้าไปผูกสมัครรักใคร่ อยู่ร่วมกัน  หรือทำอะไรที่ว่าให้มีการเป็นหมู่เป็นคณะ  มีเพื่อนเป็นฝูงมากมายก่ายกอง ...มันจะรู้เลยว่ามันมีแต่ทุกข์ มีแต่ปัญหา 

มันจะเห็นปัญหาของการที่รู้จักคนเยอะ ห่วงก็ต้องห่วงเยอะ รู้จักคนน้อย รักคนน้อยหรือคนรักเราน้อย เราก็มีห่วงน้อย ...เหมือนกับเราเลี้ยงหมา เราก็ต้องรักหมาห่วงหมา ถ้าไม่มีหมาเราก็ไม่มีห่วง 

นี่ เริ่มปฏิบัติ มันจะละคลายพวกนี้ออกก่อน ขันธ์ภายนอก ให้ความสำคัญน้อยลง ให้ความสำคัญกับคนรอบข้างน้อยลง ...แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความสำคัญ แต่ให้มันน้อยลงก่อน 

แล้วจึงเข้ามาฟันฝ่าขันธ์ภายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ...อันนี้แหละของยาก ...มันมาตายกับความคิดเรานี่แหละ มันมาตายกับความเห็นเราเองนี่แหละส่วนใหญ่ ...ไปไม่รอด 

ปฏิบัติๆ อยู่  เดี๋ยวมีใครมาพูดอย่างนั้น มีใครมาเห็นอย่างนี้ มีใครพูดมานี้ มันคิดๆๆๆๆ ...เพ่งโทษเขาไม่ได้ก็เพ่งโทษตัวเอง แล้วก็จมอยู่กับความคิดแล้วคิดอีก จะหาถูกหาผิดเอาชนะให้ได้ในความคิดนั้น 

หรือจะแก้ให้ได้ด้วยความคิดนั้น มันเข้าใจว่ามันแก้ได้ด้วยความคิด ...นั่นแหละมันเป็นการบูชาเอาความคิดเป็นเทพเจ้า เอาความคิดเป็นที่พึ่ง เอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเป็นที่พึ่ง 

หาอะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก ไปอ่านมาอีก จดจำไอ้ที่เราไปเรียนรู้มา ...เพื่อที่จะมาทำให้มันคิดแล้วลงตัว คิดแล้วเห็นทางออก คิดแล้วเห็นแสงสว่าง 

เราบอกว่านักปฏิบัติน่ะ ใช้วิธีนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วนเหมือนกัน ปฏิบัติด้วยความคิดก่อน เอาความคิดเป็นตัวนำ ...สุดท้ายก็ตายกับความคิด แล้วก็ตายไปกับความคิด...ไปไม่รอด

เพราะฉะนั้น ถ้าจะไปรอด ...ต้องให้ความคิดตาย...ไม่ใช่เราตายกับมัน เข้าใจมั้ย  หรือให้ความคิดพาเราไปตาย ...แต่เราจะต้องให้มันตายจากเรา

คือไม่เชื่อมัน...เดี๋ยวมันก็ตาย ...มันก็อยู่ได้ด้วยเรานั่นแหละ ความคิดน่ะ ...เราให้กำลังเมื่อไหร่ มันก็มีชีวิตยืดยาว เยิ่นเย้อ ต่อเนื่อง ...แล้วก็มีกำลังมากขึ้นๆๆ

ลองสังเกตดู ...เรื่องบางเรื่องนิดเดียว หรือว่ามีการกระทบสัมผัสกันนิดเดียว แล้วเรารู้เราเห็นปุ๊บ ตอนแรกมันก็ไม่มีอะไรแล้ว ...แต่พอเริ่มจดจ่อ หรือว่าตรึกลงไปในอาการนั้น 

เห็นมั้ย มันจะเริ่มคิดแล้ว ขยายความแล้ว เห็นมั้ย ความขยายของมัน มันเริ่มขยายออกๆ ...ตอนนั้นกำลังเพลินเลยนะ กำลังมันเลยนะ กำลังหลงไปในความคิด  

ความคิดก็จะแตกหน่อ จากที่มันเป็นนิดเดียวนี่ ..ความรู้สึกมันก็จะเริ่มมาก เวทนาก็จะมากขึ้นๆ อารมณ์ก็ดูเหมือนจะแรงขึ้นๆ ...สังเกตดูเหอะ มันจะเป็นอย่างนั้น 

ความคิดน่ะมันจะเป็นตัวมาเสริม มาเป็นฟืน ...มาโหมให้ไฟที่มันมีอยู่นิดเดียวนี่ มันกระพือขึ้นมา ...เวลาพอมันกระพือขึ้นมาแล้ว คราวนี้เอาแล้ว ตีโพยตีพายแล้ว ดับไม่ได้ ...เดือดร้อนแล้วๆ 

แล้วไอ้ไฟที่มันกระพือออกมานี่ ตัวเราเองดับไม่ได้...ยังไม่พอ  มันยังพาให้ไปโยนให้คนอื่น ...นี่ คนเข้าใกล้ก็ร้อน คนได้ยินเสียงเราก็ร้อน คนที่ตาเห็นรูปเราก็ร้อน 

เห็นมั้ย กิเลสมันมีอำนาจที่จะสร้างความหมายมั่น สร้างรูปลักษณ์ หรืออัตลักษณ์ของมันออกมา ...อย่าว่าแต่เราทุกข์ คนรอบข้างเราก็ทุกข์ มันเป็นอย่างนั้น

เพราะนั้น ถ้าเข้าใจประเด็น หรือว่าเข้าใจความหมายตั้งแต่ต้นแล้วนี่ ...จริงๆ แล้วมันเริ่มจากไม่มีอะไร ก่อนกระทบก็ไม่มีอะไร ระหว่างกระทบมันก็มีอาการกระทบ 

ถ้าเห็นทันอยู่ตรงนั้น ...มันจะไม่มีการต่อเนื่อง หรือขยายความยาวเหยียด ...เพราะฉะนั้นไอ้ตัวที่จะมาช่วยขยายความยาวเหยียดได้นี่ คือความปรุงแต่ง เข้าใจมั้ย  

ความปรุงแต่ง มันก็คือความคิด หรือว่าสังขาร สังขารจิต...สำคัญ ความปรุงแต่งนี่ ...ต่อไป ฝึกสติไปนี่ เราจะเป็นคนที่คิดสั้น ไม่ใช่นั่งคิดได้ทั้งวัน หรือคิดเรื่องนึงนี่สามปีไม่จบอะไรประมาณนั้น  

มันจะแค่คิดนิดเดียว แล้วบทจะหยุดก็หยุดคิดเอาดื้อๆ  ขี้เกียจคิดแล้วว่ะ วางก็วางตรงนั้น คิดไปเล่นๆ อย่างนั้นเอง ...คือมันไม่สามารถที่จะมาทำให้เราหวั่นไหว เคลิบเคลิ้มไปกับความคิดได้ 

เรียกว่าเกิดความรู้ ฉลาดเท่าทัน...เห็นแล้วว่าความคิดมันเป็นอาการของจิต ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ..พอมันเห็นอย่างนั้นปุ๊บ มันรีบละเลย ...มึงอย่ามานะ อย่ามามีอิทธิพลเหนือกู...นี่ จิตมันจะฉลาดเท่าทัน 

แต่ถ้าเรายังไม่ฉลาดเท่ามัน เราก็จะบูชามัน บูชาความคิดความเห็นของเรา...ว่ามันต้องอย่างนั้นแน่เลย คิดดีก็มันต้องดีแน่เลย พอคิดชั่วมันก็ต้องชั่วแน่เลย  พอคิดว่าได้ก็ได้แน่เลย พอคิดว่าไม่ได้ก็ไม่ได้แน่เลย 

เห็นมั้ย มันเกิดความหมายมั่น ยึดมั่น จริงจัง ...เห็นความจริงจังตามความคิดนั้น ...ทั้งๆ ที่ว่า..เอ้าคิดเหรอ รู้ว่าคิด ลองจับมาดู ความคิดเป็นยังไง ...จับได้ไหม เอามาดู

ความรู้สึก ความเชื่อ ว่ามันมีอิทธิพล ...จับมาดูซิ จับได้มั้ย จับต้องได้มั้ย มีรูปมีลักษณ์ยังไง จับมาให้ดูซิ  

เห็นมั้ย มันไม่มีอะไรที่เราจับต้องได้เลย ไม่มีตัวไม่มีตนอะไรเลย ...มันเป็นแค่สภาวะ หรือเรียกว่าอาการ หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ ...เหมือนฟ้าแลบฟ้าร้องนี่

มันแค่แสดงสัญลักษณ์ หรือรูปลักษณ์ของการปรุง...ในลักษณะที่แตกต่างกันไป ...ฟ้าแลบก็มีรูปเป็นตัวนำ ฟ้าร้องมีเสียงเป็นตัวนำ  เห็นมั้ย รูปลักษณ์ดูต่างกัน 

นี่คือการปรุงไม่เหมือนกัน ปัจจัยการปรุงไม่เหมือนกัน ...เหมือนกันกับอาการของจิตนี่ มันแล้วแต่ว่าปัจจัยการปรุงมันจะหนักหน่วง...ทางสัญญา หรือเวทนา หรือวิญญาณ หรืออะไรก็ตาม

มันก็มีอาการที่ดูเหมือนแตกต่างกันไปตามรูปลักษณ์นั้นๆ ...แต่มันก็คือปรากฏการณ์หนึ่งของจิตหรือปรากฏการณ์หนึ่งของธรรมชาติ ...มันไม่มีตัวไม่มีตนอะไรแน่นอนหรอก

เข้าใจคำว่าประเดี๋ยวประด๋าวไหม ...มันเป็นอย่างนี้เอง ขันธ์มันเป็นอย่างนี้ ...ขันธ์มันเป็นอย่างนี้เอง 

มันไม่สามารถที่จะมาทำอะไร มันไม่สามารถที่จะมากดทับเราได้ มันไม่สามารถที่จะมาตบตีเราได้ มันไม่สามารถที่จะชัก หรือว่าดึงให้เราไปไหนได้ 

แต่ทำไมเราเดินตามมัน ทำไมเราจะต้องประกอบกระทำผลงานตามมัน ...เห็นมั้ย อันนี้เราต่างหากตกอยู่ใต้อิทธิพลของมัน...ด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง

เหมือนกับเราเชื่อลมน่ะ ให้ลมมาเป็นผู้สั่งการ หรือให้ความไม่มีไม่เป็นตัวเป็นตน มาเป็นผู้สั่งการเรา ให้เราไปตายก็ไป ให้เราไปทำนั่นทำนี่ก็ไป  ให้เราไม่ทำนั่นทำนี่ก็ไม่ทำ 

เห็นมั้ย ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เราเข้าใจ...เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง สภาวธาตุตามความเป็นจริง สภาวจิตตามความเป็นจริง ...แล้วเราจะทำอีกมั้ยนี่  เข้าใจมั้ย

มันไม่ต้องห้ามแล้ว มันไม่ต้องระวังแล้ว มันไม่ต้องกลัวความคิดแล้ว นี่น่ะ ...มันเริ่มจะไม่หลงไปตามอารมณ์ ไม่หลงไปตามสิ่งที่จิตมันปรุงแต่ง 

กว่าเราจะมายืนอยู่ได้ทุกวันนี้ เราทำตามความปรุงแต่งมาตลอด ...จนเกิดความเคยชินและคุ้นเคย นับถือมัน...ตอนแรกก็นับถือเป็นญาติ ...หลังๆ บูชาแล้ว เริ่มบูชาแล้ว  คิดยังไง...ต้องยังงั้นๆ 

อย่างเสื้อแดงเสื้อเหลือง มันก็บูชาความคิดความเห็นกันเป็นหลัก เห็นมั้ย มันไม่ร้อนเฉพาะตัวเจ้าของนะ มันร้อนไปทั้งประเทศไทย ...เพราะแค่เชื่อ "ความเห็นของเรา" นี่แหละ 

แค่เราเชื่อ หรือว่าจริงจังกับความคิดความเห็นของเรานี่ อย่างนี้ ถ้ามันคิดว่าตัวเองจริง ตัวเองใช่ พั้บนี่ มันเบียดเบียนตัวเองโดยที่ไม่รู้ว่ามันเป็นการเบียดเบียนตัวเอง ...เบื้องต้นนี่เรียกว่าเบียดเบียนตนนะนี่  

เมื่อมันเบียดเบียนตน จนมันมีกำลังมากพอแล้ว มันจะมีกำลังมากจนถึงกับแสดงออกมาเป็นคำพูด วาจา ...มันก็สามารถไปเบียดเบียนผู้อื่นได้ด้วยความคิดเห็น ใช่มั้ย

มันก็ไปปรุงเป็นวจีสังขารขึ้นมา ...วจีสังขารก็เลยกลายเป็นผรุสวาท เสียดสี เหน็บแนม ด่าทอ หรือแสดงความเห็นทางวิชาการ เห็นมั้ย มันออกมาได้ทั้งนั้น ...เพื่อให้เกิดความเป็นไปตามที่เราคิด เราเข้าใจ  

แล้วมันปรารถนาจะให้คนเขาสื่อความเห็นเราได้อย่างนั้น...เพื่อหาพวก แล้วก็รวมกลุ่มกันเพื่อให้ได้อำนาจ ...มันเข้าใจว่า ถ้าอย่างนี้แล้วจะได้อำนาจ  แล้วมันจะ serve need  ของตัวเจ้าของได้

นี่มันจึงเกิดความขัดแย้งกันทั่วโลก...เราไม่บอกแค่ประเทศไทยหรอก ...การเกิดของสงครามก็เกิดอย่างนี้ ห้ามไม่ได้เลย แก้ไม่ได้ด้วย ตราบใดที่มนุษย์แก้ไม่ถูกจุด  

ที่พระพุทธเจ้าท่านไม่บอกให้แก้ เพราะว่าแก้ยังไงก็แก้ไม่ตก ...จะสันติยังไง มันก็แค่ประเดี๋ยวประด๋าว มันไม่จบ ...ทำไมล่ะ สงครามมันเกิดไม่รู้จักจบ ...ก็มันแก้ไม่ถูกที่  

มันแค่สงบชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวมันก็ไปสร้างสมพลังขึ้นมาใหม่...พลังแห่งมิจฉาทิฏฐิ ความคิดความเห็น ความเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัว ..พวกนี้มันจะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของอำนาจ

มันเอาแต่ตัวเอง มันไม่เคารพในความเห็นผู้อื่น มันละเลย มันไม่เคารพกฎหมายจริงจัง มันเห็นการกระทำผิดมันก็ปล่อยปละละเลย มันเห็นคนกระทำผิดแล้วก็สนับสนุนก็มี เห็นว่าเป็นธุระไม่ใช่ก็มี 

นี่คือการกระทำนะของคนไทย เข้าใจมั้ย ลักษณะนี้คือการสะสมวิบากกรรมไปทีละเล็กทีละน้อย จะไปโทษใครไม่ได้ ...เพราะนั้นเวลามันสะสมขึ้นไปเรื่อยๆ จนเต็มที่เต็มฐาน มันก็แบ่งขึ้นมาเป็นกำลัง 

มันก็สร้างเป็นพรรคเป็นพวก เกาะกลุ่มส้องสุม ก่อให้เกิดความเกลียดชัง แล้วก็ต้องทำลายล้างกัน ...สุดท้ายคนไทยเราก็สืบทอดกันมาเป็นทายาท เข้าใจมั้ย 

เพราะลักษณะนี้มันไม่ใช่แค่ชั่วชีวิตนี้ มันสะสมมา กรรมพวกนี้มันสะสม ...เพราะนั้นเราก็รับผลโดยปริยายอยู่แล้ว เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระทำกรรมนี้ด้วย

เพราะนั้นการปฏิบัติ หรือนักปฏิบัติ หรือครูบาอาจารย์ท่านจึงบอกว่า...สิ่งที่จะเกิดก็ต้องเกิด ...แล้ววางจิตให้เป็นกลาง อย่าเข้าไปอะไรกับมันมากมาย 

อย่าคิดแก้ อย่าคิดต่อต้าน หรือคิดว่าจะช่วย หรืออะไรที่ว่าจะไม่ให้เกิด หรือทำให้มันคลี่คลาย ...มันทำไม่ได้หรอก ...แต่ว่าวางจิตถอยออก แล้วคอยเยียวยา แค่นั้นเอง

แล้วอย่างทุกวันนี้ บอกให้ มันเป็นเรื่องของสงครามสื่อ ...เราไม่รู้หรอกใครพูดจริง ใครพูดเท็จ มันซับซ้อน เราไม่รู้หรอกเป้าหมายที่แท้จริงของแต่ละคนแต่ละกลุ่มคืออะไร

พวกเรามันเป็นแค่เบี้ย...ที่รับรู้ข่าวสารแบบเขาจะป้อนให้ยังไง ...ถ้าเราอยู่แบบฉลาด ก็อยู่ด้วยจิตที่เป็นกลาง ถอยออก ให้หมดจากการเข้าไปร่วมเล่นกับเขา 

ประเทศจะอยู่รอดด้วยการออกมาจากปัญหาซะ ออกมาจากกลุ่มซะ ออกมาจากทุกกลุ่ม แม้กระทั่งกลุ่มสันติ บอกให้เลย มันมีอะไรซับซ้อนในนั้นทั้งหมดเลย

กลับมาอยู่เฉยๆ ทำจิตใจให้สงบเยือกเย็นเป็นกลาง แค่นี้คือเหมือนกับเป็นก้อนน้ำแข็ง หยดน้ำเล็กๆ ที่เย็นอยู่ในเตาอบ ...ตัวนี้ต่างหากจึงจะทำให้มันร่มเย็น เข้าใจมั้ย

ไม่ใช่เราไปทำ หรือไปช่วยกันกระพือขึ้น ให้มันเกิดความแตกต่างแตกแยกมากยิ่งขึ้น ...มันเหมือนเข้าไปตอกลิ่มน่ะ ไม่ว่าด้วยการกระทำคำพูดใดก็ตาม 

จะพูดดูดีขนาดไหน พูดสมานฉันท์ขนาดไหน ลองพูดดูสิ เหมือนเป็นการตอกลิ่มให้มันจงเกลียดจงชังน่ะ ...เขาบอกว่ารักชอบจริง ถูกจริง มันก็ไปตีความว่าไอ้นี่พูดมีความนัย (หัวเราะกัน) อะไรอย่างนี้ 

คือมันแปลเปลี่ยนเจตนาเข้าข้างตัวเองหมด ...ขึ้นชื่อว่าความเห็น บอกแล้วไง ถ้าตั้งความเห็นเอาไว้อย่างไร ผูกความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นนั้นอย่างไร ...มันจะไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง

เราต้องทำใจให้เป็นกลาง จะยังไงก็ได้น่ะ ...จะยังไงก็ได้ ไม่ว่าฝ่ายไหน  ไม่ว่าจะได้ดั่งใจเรา พอใจเราหรือไม่พอใจ  ต้องวางจิตให้เป็นกลาง ...ทุกอย่างมันมีบทสรุปของเขาอยู่แล้ว

แต่ว่ามันจะไม่ได้ดั่งความเห็นของใครคนใดคนหนึ่งหรอก หรือว่าเป็นที่ยอมรับได้ทั้งหมดหรอก ...ก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง สงบ สันติ เยือกเย็นในภายในของเรา ให้มากที่สุดนั่นแหละ

คือเท่าที่จะทำได้นะ ...เราไม่ได้บอกว่าถึงให้ไม่หวั่นไหวเลย หรือไม่กระเทือนเลย...เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่ใช่พระอรหันต์นี่ นะ ...แต่ว่าให้มันมากที่สุดเท่าที่จะสงบสันติได้ในจิตเรา

เพราะนั้นมันจะสงบเยือกเย็นหรือสันติได้มากที่สุด...อยู่ที่ความปรุงแต่งเราน้อยที่สุด หรือการที่ให้ค่าหรือไปวิจารณ์สิ่งนั้นสิ่งนี้ คำพูดประเด็นนั้นประเด็นนี้น้อยลง 

พวกนี้มันจะเป็นตัวเร้าจิตให้เกิดอารมณ์ให้มากขึ้น ให้แบ่งกัน ให้หาหรือโยนความผิดให้กันและกัน ...มันเป็นยุคอย่างนี้แหละ จนกว่ามันจะอ่อนแรง ทั้งหมด ทุกฝ่ายน่ะ 

ก็ให้มันน้อยลง ในการเชื่อหรือว่ายึดมั่น ...เราอย่าไปยึดมั่นถือมั่นในความคิดนั้นๆ เพราะว่าความเป็นจริงกับความที่เราคิดน่ะคนละเรื่องกัน เราอย่าให้ความคิดเป็นตัวนำหรือว่าเป็นสรณะ


(ต่อแทร็ก 1/26)