วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/11




พระอาจารย์

1/11 (25530310D)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

10 มีนาคม 2553




(หมายเหตุ : ผู้ถามในส่วนนี้เป็นภิกษุ จึงใช้หน้าคำสนทนาด้านล่างว่า "ถาม" ค่ะ)

พระอาจารย์ –   ให้รู้อยู่ที่ใจ...ว่ามันเป็นอาการนึงของการเจริญทางด้านสติ แล้วมีการใส่เจตนา ตั้งใจมาก  หรือว่าเจตนาลักษณะนี้ สติมันไม่เป็นกลาง 

มันมุ่ง มันมีเป้า และให้ค่ากับเป้านั้นๆ แล้วก็พยายามรู้ แล้วก็ดึงกลับมารู้ ดึงกลับมารู้ๆ สติมันจะรวมลงเป็นดวงจิตผู้รู้  แต่นี่จิตมันมีการน้อมนำไป เข้าไปทำที่รู้ ...ถ้าไปอยู่ตรงนั้นก็เป็นสมถะ มันจะไม่มีอารมณ์


ถาม –  ครับ ประมาณอย่างนั้น เหมือนกับมันนุ่ม นิ่ง

พระอาจารย์ –  แล้วเราค่อนข้างชอบ เพราะว่ามันสบาย


ถาม –  ครับ สบาย ... แต่ก็มาเอะใจว่ามันแปลกๆ แน๊ อะไรอย่างนี้ครับ

พระอาจารย์ –  ก็ดีแล้วที่ยังเอะใจ ... แต่บอกแล้วว่า เหตุปัจจัยมันก็พาให้ไม่อยู่อย่างนั้นหรอก ...โอ้ย สมัยก่อนนี้ ผมอยู่ได้...ดวงจิตผู้รู้นี่ ผมอยู่ได้เป็นอัตโนมัติเลย ไม่มีกระดิก ทุกอิริยาบถไม่หายไปไหนเลย  แล้วก็เป็นอัตโนมัติ 

สำเร็จเลยแหละ...สำเร็จในความเห็นเลยล่ะ เพราะว่ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้เลย ไม่มีอะไรแม้แต่รูปและนามเกิดขึ้นได้เลย


ถาม –  โห ถ้าผมเจอ คงน่ากลัวนะนี่

พระอาจารย์ –  ก็ไม่น่ากลัวหรอก  เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันก็...แค่นั้นแหละ  มันจะไม่มีอะไรคงอยู่ แค่นั้นเอง แต่จะยอมรับในความไม่คงอยู่ของมันได้รึเปล่า  

ถ้าไม่เท่าทัน ไม่เข้าใจ  ก็ดื้อรั้นดันทุรังทำต่อ ด้วยความไม่เข้าใจ  มันก็ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ไม่ไปไหน ... เพราะได้มาก็หมดไปๆ มันไม่มีอะไรคงอยู่  แต่ด้วยความว่าถ้าไม่เข้าใจ มันก็ไปเข้าใจว่า นี่คือจุดที่สุด 

ซึ่งถ้าเป็นนิพพานแล้วไม่มีออก และก็ไม่มีเข้า  เข้าแล้วไม่มีออก ออกแล้วไม่มีเข้า เข้าใจมั้ย  ถ้ายังออกๆ เข้าๆ ไม่เรียกว่าใช่

แต่ถ้ายังดันทุรังนี่ก็โง่เต็มทีแล้ว  มันต้องปรับแล้ว ปัญญามันก็ต้องทบทวนแล้วว่าคืออะไร  มันก็มีการสอดส่ายหาเหตุปัจจัย อะไรคืออะไร อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดอาการนี้ มันดับไปเพราะเหตุปัจจัยไหน มันตั้งไม่ได้เพราะอะไร นี่ มันก็จะเข้าใจ แล้วก็คลายออก

ก็กลับมาเป็นโง่ๆ เซ่อๆ อย่างนี้  ...กลับมาโง่ๆ เซ่อๆ  รู้บ้างไม่รู้บ้าง  มีอารมณ์ตรงนั้น เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็ได้ดั่งใจ เดี๋ยวก็ไม่ได้ดั่งใจ ...อย่าไปหนีมัน


ถาม –  ครับ ตอนนี้ก็เริ่มรู้สึกบ้างแล้วว่าไม่ได้ดั่งใจเลย  ทำไมต้องรีบกลับ รู้สึกมันไม่ได้ดั่งใจ

พระอาจารย์ –  ต้องยอมรับ เห็นมั้ย บอกแล้วว่ามันควบคุมไม่ได้ ... ปัจจัยภายในก็ควบคุมไม่ได้ ปัจจัยภายนอกก็ควบคุมไม่ได้  ไม่อยากไปก็ต้องไป อยากไปก็ไม่ได้ไป ...อะไรทุกอย่างเราต้องเรียนรู้แล้วก็ยอมรับมัน 

แล้วก็ให้ดู ...อะไรเกิดขึ้นให้กลับมาปรารภที่ใจ...สังเกตดู  ไปก็ไป มาก็มา แต่ให้สังเกตดู ปรารภที่ใจ ที่มันพอใจหรือไม่พอใจ  แล้วก็จะเห็นว่าเดี๋ยวมันก็เปลี่ยน ไอ้นั่นก็เปลี่ยน ไอ้นี่ก็เปลี่ยน เอาแน่ไม่ได้  อารมณ์ ความพอใจ ไม่พอใจ มันก็ปรับเปลี่ยนไป

สุดท้ายที่ไม่เปลี่ยน...คือรู้  อะไรก็รู้ ใช่ป่าว รู้เท่ากัน  จะพอใจก็รู้ ไม่พอใจก็รู้เท่าเก่า นี่ ตัวนี้ต่างหากที่ไม่เปลี่ยนเลย ไม่เกิดแล้วก็ไม่ดับ ...แต่นอกนั้นยังเกิดและดับ แปรปรวน ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์ 

แต่ถ้ารู้เฉยๆ รู้อยู่อย่างเดียว อะไรเกิดขึ้นก็รู้  รู้ๆๆ อย่างนี้  รู้และเห็นอยู่ๆ  ตรงนี้ไม่เปลี่ยน มันมี และมันไม่อยู่ที่ไหนด้วย ไม่ได้อยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่ภายในกายหรือว่ากลางอยู่ตรงนี้  มันรู้ทั้งหมด เอาแค่นี้  มันไม่มีที่ตั้ง มันไม่มีที่หมาย ...ตรงนั้นถึงจะเรียกว่ารู้ที่ไม่เกิดไม่ดับ ถึงจะเรียกว่าเป็นใจรู้...รู้ใจ

(หมายเหตุ : ตัดช่วงหลังจากนี้ที่เป็นการสนทนาเรื่องทั่วไป ...จึงขอจบชุดแทร็กนี้ตรงนี้ค่ะ)



………………………




วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/10




พระอาจารย์

1/10 (25530310C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

10 มีนาคม 2553




พระอาจารย์ –   ต่อไปมันจะเริ่มน้อยลงน่ะในความปรุงแต่ง จะเริ่มเห็นความไม่มีสาระของมัน ...ไปเอาจริงเอาจัง เอาถูกเอาผิดกับมันไม่ได้หรอก  วันนึงคิดอย่าง อีกวันนึงก็คิดอย่าง  ความเห็นของคนกับเรื่องต่างๆ...วันนี้ก็ดี อีกวันก็ไม่ดีแล้ว  มันเปลี่ยนง่ายตลอด  จะไปจริงจังอะไรกับมัน

การปฏิบัติก็เหมือนกัน  วันนี้ก็ตั้งใจทำอย่างนี้ วันพรุ่งนี้ก็เปลี่ยนอีกแบบนึงแล้ว เห็นมั้ย มันเปลี่ยนได้ตลอดแหละ  จะหากฎเกณฑ์ตายตัวกับมันไม่ได้หรอก ...ถ้าเชื่อมันก็วิ่งวนอยู่นั่นแหละ วนไปกับความคิดเรื่อยเปื่อย หาจุดจบไม่ได้

แล้วพอมาตรวจสอบดูผล...เท่าเก่าเท่าเดิม จิตก็เหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง ...เป็นทุกข์แล้ว (โยมหัวเราะ) ...'ทำผิดแล้วกู ยังทำไม่พออีก' อะไรอย่างนี้ 

คือเริ่ม...กลับมาดูตามความเป็นจริง...เห็นแล้ว 'อ้าว ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นมาเลย ก็ยังขึ้นๆ ลงๆ เท่าเก่า' ไปไหนก็ไม่ไป จะมาก็ไม่มา ไม่ได้ดีขึ้นหรือเลวลง  เข้าใจมั้ย

แต่ไปสำคัญว่าทำแล้วไม่ได้ผล ก็เอาแล้ว เริ่มสับสนแล้ว  แต่เวลาทำน่ะดี๊ดี แต่เวลาไม่ทำน่ะโคตรไม่ดีเลย ไม่สังเกต ...แล้วจะเอามาเป็นหลักไม่ได้ เพราะนั้นนี่คือไม่ใช่หลักนะ มันเป็นแค่อุบายชั่วคราว หลักคือให้ยอมรับความเป็นจริงทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าโดยไม่มีเงื่อนไข


โยม –  แต่ไอ้การยอมรับความเป็นจริงนี่ก็สนุกดีนะคะ   

พระอาจารย์ –  อือ ให้มันสนุกให้ตลอดเถอะ ไม่ใช่สนุกแบบอดๆ อยากๆ น่ะ ... ตอนแรกก็เริ่มดูสนุก เดี๋ยวดูไปๆ ชักอดอยากอีกแล้ว อดอยากปากแห้ง ...'ไม่ไหวเลย กำลังแย่ลง ยิ่งดูยิ่งแย่ ยิ่งดูยิ่งไหลไปเรื่อย'  เอาแล้ว อดอยาก จะหากระดูกมางับอีกแล้ว คือ 'อิชั้นต้องหากระดูกสักก้อนมาแทะเล่นอีกแล้วค่ะ' (โยมหัวเราะกัน)

แทะไปแทะมา แทะแล้วไม่ได้เรื่อง ก็มาหาอาจารย์ว่า 'มีวิธีแทะยังไงให้มันเข้าไปในปากเต็มปากเต็มคำคะ มันจะได้มีกำลัง'  อาจารย์ก็บอกว่า 'กระดูก ...โยม นี่มันคือกระดูก  กระดูกก็คือกระดูก มันไม่มีเนื้อไม่มีหนังหรอกโยม แทะมากเดี๋ยวเขี้ยวหัก  อย่าไปหลงได้ปลื้มได้เงากับกระดูก' ...อาจารย์ก็จะบอกอย่างนี้

แล้วไปสักพัก กลับไปก็สนุกกับการดูไปต่อ แล้วเดี๋ยวก็อดๆ อยากๆ ...มันสลับกันไปอยู่อย่างนี้ เข้าใจมั้ย  ครูบาอาจารย์ก็มีหน้าที่อย่างนี้ คือทะเล่อทะล่ามาก็ตบกะโหลกมันเข้าไปสักที '...เลิกแทะสักทีกระดูกน่ะ กินมากี่ชาติแล้ว มันไม่อิ่มไม่ออกหรอก ไม่ได้เนื้อได้หนังอะไร'

เดี๋ยวก็โดนความปรุงแต่งของจิต เดี๋ยวก็ไปฟังหมู่สหาย เพื่อนสนิทมิตรสหาย กัลยาณมิตร กัลยาณธรรมแนะนำนโยบาย อุบายในการปฏิบัติ ... 'อย่างนี้เร็วซิเธอ ไอ้อย่างเธอนี่ช้า อิชั้นน่ะเร็ว อาจารย์ชั้นสอนมา เร็ว ได้ผล' 

เริ่มแล้ว เริ่มสับสน เริ่มลังเล เริ่มหวั่นไหว ...ก็หาอะไรมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว หาอะไรมาเป็นการกระทำให้เกาะ ... เพราะพอให้มันเป็นอิสระตามลำพังแล้ว เหมือนกับคนจมน้ำ เหมือนจะจมน้ำตาย เห็นมั้ย  มันต้องวิ่งหาทุ่น หรือหาอะไรเป็นเครื่องเกาะ ...มันไม่กล้าตาย มันกลัวตาย

กล้าๆ หน่อย ...ตายก็ตาย ไม่ได้อะไรก็ไม่ได้อะไร ทุกข์ก็ทุกข์  ดูซิมันจะถึงไหน ...เอาจนตายน่ะ โดยที่ไม่ทำอะไร  ดูซิ มันจะตายมั้ย  ดูแค่ถึงตาย ที่สุดของตายมันก็แค่นั้นแหละ ... มันไม่ได้อะไร และไม่มีอะไร   แต่มันตายจากความหวัง มันตายจากความหมายมั่น มันตายจากความที่เราคะเนเอา ... นี่ มันไม่กล้าตายจากตัวนั้น

ยอมตายซะ ...มันจะค่อยตายไปจากความหวัง ความตั้งใจ ความปรารถนา ความลุ่มหลง ความกังวล ความมัวเมา ความคาดเอา ความคะเนเอา ...เราไม่กล้าตายจากสิ่งตรงนี้ต่างหาก  

ยอมตาย ...มันก็จะค่อยๆ ปลดเปลื้องภาระพันธกิจพันธนาการ หรือว่าบ่วง หรือว่าห่วง หรือว่าปลอก กำไล สร้อย โซ่ ที่ดึงรั้งความเป็นอิสระ หรือความปลดเปลื้องเข้าสู่ความเป็นจริงของธรรมชาติของจิต... กายกับจิตที่เป็นเอกภาพหรือเอกภพ หรือเป็นอิสระซึ่งกันและกัน

ตรงนั้นน่ะถึงจะเผยความเป็นธรรมโดยเต็มตัว ว่าสุดท้ายก็คือ...ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป..เอง เกิดขึ้น..เอง ตั้งอยู่..เอง แล้วดับไป..เอง ...เป็นธรรมดา  ไม่ได้ผิด ไม่ได้ถูก  ไม่ใช่เหมือนที่เราคิด ไม่ใช่ไม่เหมือนที่เราไม่คิด ไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยาก ไม่ได้ไม่เป็นอย่างที่เราอยาก

เห็นมั้ย นั่นแหละคืออิสระของธรรม ...มันจะเป็นแบบไร้ร่องรอย จับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่ทิ้งไว้ ไม่มีแม้กระทั่งนิมิตหมายที่จะบอกว่า 'ชั้นจะมานะ'  ไม่มีแม้แต่ว่าเวลาไปแล้วจะทิ้งว่า 'ชั้นไปแล้วนะ' ไปแล้วก็ยังไม่ทิ้งว่า 'ชั้นเคยมาอยู่ตรงนี้นะ' เห็นมั้ย นี่แหละคืออิสระ ไม่มีความเกาะเกี่ยวของสภาวะธาตุสภาวธรรม ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น 

แต่ถ้าเรายังไม่ยอมตายจากความเห็น ตายจากความอยาก ตายจากความปรารถนา ตายจากความคิด คะเน คาด หวัง ...มันจะไม่เข้าไปเห็นความเป็นจริงของสภาวะธาตุ ของสภาวธรรม ที่เขาเป็นอิสระจากการที่ใครมาเป็นผู้บงการ หรือใครเป็นผู้เข้าไปครอบครอง


โยม  หลวงพ่อพูดแล้วหนูอยากมีอิสระอย่างนั้นเลยค่ะ 

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าอยาก ...อยากก็รู้ว่าอยาก อิสระก็รู้ว่าอิสระ ไม่อิสระก็รู้ว่าไม่อิสระ  จบ...ต้องจบให้ได้แค่นี้  ไม่ใช่พอรู้ว่าไม่อิสระแล้วไปคิด '..ทำยังไงถึงจะอิสระ'  เห็นมั้ย มันมีความทะยานออกไป ล้ำไปทุกขณะจิตที่เรารู้

แล้วให้ทัน ...วิธีปฏิบัติคือให้ทันอย่างเดียว ไม่ใช่ให้แก้หรือให้กัน ...ให้รู้ทันมัน ว่าเกิดอย่างนี้ขึ้นอีกแล้ว เกิดอย่างนี้อีกแล้ว ...เกิดอีกร้อยครั้งก็รู้ร้อยครั้ง ไม่เกิดก็ไม่ต้องทำให้เกิด เกิดซ้ำอีกก็รู้ว่าเกิดซ้ำอีก  นี่แหละถึงจะเรียกว่ามันเป็นอิสระของมัน ...ยังไงคืออย่างนั้น

ไม่ใช่ 'อีกแระๆๆ  ไม่ไหวแระ อีกแระ  ทนไม่ได้แล้ว ต้องทำอะไรกับมันสักอย่างแล้ว ชักมากไปแล้วนะเนี่ย'  เอาแล้ว เริ่มไปต่อล้อต่อเถียง เริ่มไปมีปัญหา เริ่มไม่ยอมรับตามความเป็นจริง เริ่มจะเข้าไปมีการแทรกแซง

การแทรกแซงนั่นก็คือการเข้าไปควบคุม หรือการเข้าไปขัดสภาวะที่จะดำเนินไปตามกฎของไตรลักษณ์  

เพราะอะไร ...เอาแค่ง่ายๆ  มันควบคุมไม่ได้ เราก็ต้องการจะควบคุมมัน แค่นี้เอง ... เราไปเถียงกับไตรลักษณ์แล้ว ด้วยอำนาจที่เราคิดว่าเราเหนือกว่ามัน หรือเราดีกว่ามัน หรือเราสามารถคุมจิตเราได้ดีกว่านี้ หรือต้องทำให้จิตดีกว่านี้

เห็นมั้ย เราจะมีอำนาจหรือมีอิทธิพลเหนือจิตของเรา...แล้วทำสิ่งที่มันไม่เที่ยงให้มันเที่ยง ทำสิ่งที่มันไม่เป็นทุกข์ให้เป็นทุกข์ ทำสิ่งที่เป็นทุกข์ให้มันไม่ทุกข์ ทำสิ่งที่มันควบคุมไม่ได้ให้ควบคุมได้ อยู่ในกำมือของเรา ...เห็นมั้ย ลึกๆ น่ะมันมีความปรารถนาอย่างนั้น

ดู ดูแบบตรงๆ จะรู้ ...ไอ้ตัวนี้แหละคือตัณหา หัวโจกเลย ไอ้ตัวพาเพี้ยน บอกให้เลย  ตัวพาออกนอกลู่นอกทาง ออกมาไม่ยอมรับความเป็นจริง หาข้ออ้างนั้นข้ออ้างนี้มาซัพพอร์ทมัน มาคอยหล่อเลี้ยงให้มัน ให้เราจะต้องทำอะไรตามที่มันปรารถนา  

อดทน ยอมรับ หน้าด้าน...ต้องหน้าด้านกับมัน ไม่ใช่หูเบา


โยม –  ต้องหน้าด้านสิ เพราะว่ามัน...ถ้าเราหน้าไม่ด้านนี่ เราก็จะรู้สึกว่า ..ทำไมเราไม่ดีอย่างนี้ พอเห็นมันแล้วเราก็รับไม่ได้    

พระอาจารย์ –   อือ นั่นแหละ ต้องหน้าด้าน อดทน และไม่หูเบา 

หลวงปู่ท่านบอก ใจนี่  ถ้าถึงความเป็นใจจริงๆ นี่ หนักแน่นยิ่งกว่าแผ่นดิน ...คือธรรมชาติของเขาเองนะ ไม่ใช่ไปทำให้มันหนักแน่นนะ  ธรรมชาติของใจนี่หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน เปรียบเหมือนเสาอินทขิล ...รู้จักเสาอินทขิลมั้ย สูงแปดศอก ลึกแปดศอก ฝังลงในดิน...ขึ้นมาบนดินแปดศอก ลึกลงในดินแปดศอก โดนน้ำโดนไฟโดนลมไม่มีหวั่นไหว ...อันนั้นท่านเปรียบเทียบใจเหมือนกับเสาอินทขิล

ธรรมชาติของใจเป็นอย่างนั้น  เพราะอะไร ...เพราะใจนี่ไม่มีความปรารถนา มันมีหน้าที่อย่างเดียวคือ รู้อย่างเดียว แค่รู้ แค่รู้แล้วก็ผ่าน รู้แล้วก็ผ่าน  ไม่ได้ให้ความเห็นอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย  ...ตรงนี้ถึงว่าไม่หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเลย 

พราะมีหน้าที่อย่างเดียวคือรับรู้  ไม่มีหน้าที่เก็บกัก ไม่มีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีหน้าที่ที่เรียกว่ามันให้ทำยังงั้นยังงี้  ...ใจเขามีหน้าที่เดียวคือ รู้ รู้ๆๆ  อะไรเกิดขึ้นก็รู้ๆ อะไรตั้งอยู่ก็รู้ อะไรดับก็รู้ อะไรมากขึ้นก็รู้ อะไรน้อยลงก็รู้ ก็แค่รู้  เห็นมั้ย ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าไม่หวั่นไหว

ไม่ใช่ มากขึ้น..'แย่แล้ว' น้อยลง..'แย่แล้ว' ไม่เกิด..'แย่แล้ว' ไหลไปไหลมา..'แย่แล้ว' ...นี่คือความเห็นต่างหาก เป็นแค่ความเห็น ไม่ใช่ใจเขาว่า ...เป็นความเห็นที่เกิดจากความไม่รู้ ความโง่ หรือว่าอวิชชา เข้าใจมั้ย  มันออกมาแสดงความเห็น แล้วมันก็แสดงความเห็นแบบน่าเลื่อมใสมากๆ น่าเชื่อถือด้วย

คิดเอาเองนะ เราคิดเอาเองนะว่ามันน่าเชื่อถือ มันน่าเลื่อมใสในความคิดอย่างนี้ เพราะเราวิเคราะห์อย่างดีแล้ว  แต่ต้นตอของมันออกมาจากความไม่รู้...จึงมีความเห็นเหล่านี้ขึ้นมา ...  เพราะนั้นถ้ามันรู้ด้วยวิชา รู้จริงๆ แล้ว มันไม่มีความเห็นอะไรทั้งสิ้นต่อสิ่งที่ปรากฏต่อหน้ามัน จึงเรียกว่าสักแต่ว่ารู้

พระพุทธเจ้าสอนพาหิยะ ...'เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน รู้สักแต่ว่ารู้' แค่นี้เอง ...ไม่ต้องว่าเหลือเชื่อหรอก ความเป็นจริงเขาเป็นอยู่แล้ว ... ไอ้พวกเรานี่มันเกินจริง มันไปรู้เกินจริง แล้วไปเข้าใจว่าไอ้ที่เกินนั่นน่ะจริง 

นี่โง่...ซ้อนโง่...ซ้อนโง่ เข้าใจมั้ย...คือ มันโง่อยู่แล้วที่ออกความเห็น แล้วมันยังโง่ซ้อนขึ้นมาอีกโดยเชื่อว่าความเห็นนี้ใช่ แล้วมันโง่ซ้อนไปอีกว่าจะต้องทำอะไรต่อไปจากความเห็นนี้ เห็นมั้ย มันโง่ๆๆๆๆ 

สุดท้ายออกมาคือ โศกะปริเทวะ โทมนัส อุปายาส ...คับแค้นแน่นใจ ได้ดั่งใจ ไม่ได้ดั่งใจ เสียใจ อัดแน่น รับไม่ได้ พิรี้พิไร พวกนี้เป็นอาการต่อเนื่องจากโง่ซ้ำซ้อน หรือว่าโง่ซ้ำซาก

แต่ว่าไอ้โง่ครั้งแรกนี่ไม่ว่ากัน เข้าใจมั้ย เพราะห้ามไม่ได้ ...อันแรกเวลาเรารู้แล้วมันมีอะไรเกิดขึ้น เนี่ย ไอ้สิ่งที่มีความเห็นแรกเกิดขึ้นนี่...ห้ามไม่ได้  เพราะเรายังมี...ต้องยอมรับเลยว่ามันมี  

แต่ไอ้โง่ซ้ำซ้อนนี่ เนี่ยๆ สำคัญ ...เพราะว่าไอ้โง่ซ้ำซ้อนนี่มันเกิดจาก "เรา"  เราเนี่ยไปทำให้มันซ้ำซ้อน ซ้อนขึ้นมาอีกๆ ทั้งเรา-เขา ความเห็นของเรา เราจะต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ เนี่ย

ไอ้โง่แรกนี่ห้ามไม่ได้...คืออัตตา มันต้องเกิดความเห็นอย่างนี้  เห็นปุ๊บ จะต้องรู้เลยว่าชอบ-ไม่ชอบ เห็นว่าอาการของจิตไม่ดี ไม่ชอบมันเลยอย่างนี้ มันเป็นอาการแรกที่ต้องมีอยู่แล้ว ...แต่อย่าให้มันต่อ เอาเราเข้าไปซึมซาบ เอาเราเข้าไปเสวยเป็นภพเป็นชาติต่อเนื่องออกมา

อันนี้เราพูดโดยบัญญัตินะ แต่ในความเป็นจริงมันจะไม่ได้ออกมาเป็นรายละเอียดอย่างนี้หรอก เราบอกให้เลย  มันจะค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึมซาบทีละนิดๆ  

เห็นทีละครั้ง หลายๆ ครั้ง รู้ตรงนั้นพอเห็นประเด็นนี้นิดหนึ่ง เข้าใจประเด็นนี้นิดหนึ่ง เก็บไว้ แล้วก็ดูๆ ไป รู้ไปๆๆ  มั่วมั่ง รู้มั่ง ไม่เห็นมั่ง ไม่รู้อะไรมั่ง รู้มั่ง แล้วจะมาเข้าใจประเด็นนี้อีกนิดหนึ่ง มันจะเป็นอย่างนี้ เข้าใจมั้ย

จนแจ้งน่ะ จนมันแจ้ง จนมันรอบ หรือว่าเข้าใจแจ้งแล้ว 'อ๋อ' มันประมวลได้หมด 'จริงเลย กระทบอย่างนี้...อย่างนี้เกิด...อย่างนี้เกิด' จะแจ้งขึ้นมา เรียกว่าเข้าใจในเคสนั้นๆ เรื่องนั้นๆ เป็นเคสไปหรือเป็นเรื่องๆ ไป ...แล้วแต่กำลังของปัญญา

ถ้าเกิดมันแจ้งทั้งหมดเลย ก็เป็นมรรคสมังคีไปเลย ...เป็นมรรคสมังคีก็หมายความว่าข้ามโคตรแล้วคุณเธอ คุณเธอก็ไม่เป็นปุถุชนแล้ว คือโคตรภูญาณ จะข้ามโคตรเลย ...ก็ด้วยการที่รู้ในปัจจัตตังนี่แหละ ตามกำลังปัญญาที่รู้แต่ละครั้งขณะๆๆ

แต่ไม่ใช่เกิดจากการทำขึ้นมา หรือว่าเราเข้าไปกระทำ ...มันจะรู้ของมันเองอย่างนี้ รู้เท่าที่มันรู้นี่แหละ ...มันไม่มีช้าไม่มีเร็ว มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย นะ อย่าไปอยากมากกว่านี้

จะทำมามากแค่ไหน ทำมานานแค่ไหน ไม่เกี่ยว ... เพราะไอ้ที่ทำมาเยอะแต่มันไม่ตรง มันก็ไม่มีประโยชน์หรอก (โยมหัวเราะ) ...มันต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ตลอดเวลา เข้าใจมั้ย

ไม่ใช่เอาไอ้สิ่งที่ผ่านมา ที่จดจำมาไว้นี่มาเป็นเชือก...มารัดคอเจ้าของ นึกขึ้นมาทีไรก็ 'ฮื้อ ไอ้นั่นน่าจะยังงั้น' อะไรอย่างนี้  แล้วก็ลังเลๆ 

เด็ดน่ะ...ต้องเด็ดให้ขาด  ถ้ารักที่จะโง่ต้องโง่จริงๆ  อย่าไปเสียดายความฉลาด อย่าไปเสียดายความที่จะไม่รู้อะไร จะไม่ได้อะไร มันจะมีตัวนี้ที่มาคอยบอก ... เพราะนั้นไม่ได้ก็ไม่ได้ โง่ก็โง่ ยิ่งโง่ยิ่งดี


โยม –  มีคนถามครับว่า สมองน่ะฟังเข้าใจแล้ว ทำไมใจมันไม่เข้าใจ    

พระอาจารย์ –  มันคนละส่วนกัน สุตมยปัญญา ฟังเนี่ย หูกระทบเสียง เสียงกระทบหู แล้วได้ยิน แล้วจดจำได้ นี่เรียกว่าสุตมยปัญญา ... ระบบของสมอง ระบบของจิต ประมวลคำพูดทั้งหลายทั้งปวงออกมาเป็นภาษา อันนี้เรียกจินตามยปัญญา

คือเป็นขบวนการของอาการของจิตกับขันธ์เข้ามาผสมกัน แล้วก็มีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง  เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง รับได้บ้างรับไม่ได้บ้าง ...ก็เป็นแค่จินตามยปัญญา ไม่ได้เกี่ยวกับใจเลย

ใจรู้ ใจจะรู้ได้หรือยอมรับได้...ด้วยปัจจัตตัง เท่านั้น หรือเรียกว่าภาวนามยปัญญา ตัวภาวนามยปัญญาจะเกิดที่ใจ จากการที่ว่าเข้าไปเฝ้าดู ตามรู้

ไอ้สิ่งที่เราเรียนรู้ จดจำได้น่ะ ก็เข้าใจนะ...ที่ว่าให้รู้เฉยๆ ให้รู้เท่าที่มีเท่าที่เป็นนะ ไม่เข้าไปแทรกแซงนะ ...นี่มันเข้าใจและยอมรับด้วยจินตามยปัญญา แต่มันยังไม่มีการเข้าไปรู้จริงตามความเป็นจริง ด้วยการที่ว่าใช้สติเข้าไปเห็นจริง

เพราะฉะนั้นใจจะยอมรับได้ ต้องเป็นการเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงเท่านั้น ... มันคนละส่วนกัน ... เพราะนั้นถึงจะเข้าใจขนาดไหน แต่ใจไม่ยอมรับ ... เป็นธรรมดา  เพราะใจยังไม่เห็นตามความเป็นจริง มันแค่เกิดสุตตะกับจินตามยปัญญา มันยังไม่เกิดภาวนามยปัญญา

กว่ามันจะเกิดภาวนามยปัญญา ...มันก็ต้องอาศัยสตินี่เข้าไปเรียงร้อย เข้าไปดูขบวนการ...การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป  ดูขบวนการว่าอย่างไรมันถึงเกิดขึ้น อย่างไรถึงเพิ่มขึ้น ยังไงมันถึงลดลง ยังไงถึงอยู่นาน ยังไงถึงอยู่น้อย ยังไงถึงดับไป ยังไงถึงเกิดบ่อย 

สติต้องเข้าไปเรียนรู้ เฝ้าดู สังเกต ทีละเล็กทีละน้อย บ่อยๆ  แล้วมันจะประมวลผล และยอมรับด้วยปัจจัตตัง ...ตรงนั้นใจถึงจะเชื่อขึ้นมาภายหลัง

แต่ถ้าอยู่แค่การฟัง แล้วก็นึก แล้วก็พิจารณาตาม ...ก็ได้แค่นั้นแหละ เดี๋ยวก็หายไป เดี๋ยวก็ลังเลใหม่อีกแล้ว  พอเจออะไรมาก็หวั่นไหวแล้ว เจออะไรมาเปลี่ยนความเห็น เจออะไรมาแสดงชาร์ทใหม่แผนภูมิใหม่ให้ฟังล่ะ เอาแล้ว เริ่มลังเล ...เพราะนั้นพวกนี้ยังเอาแน่กับมันไม่ได้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 

แต่ถ้าลงที่ภาวนามยปัญญาแล้ว เขาเรียกว่ามันเชื่อแบบปักใจน่ะ เชื่อแบบเต็มใจเลย เข้าไปที่ใจ ใจรู้...รู้ใจเลย ใจเห็นแล้ว...ใจละเอง ถ้าใจเห็นเมื่อไหร่ ใจละทันที

อย่างพวกเรา รู้ทั้งนั้นน่ะว่าทุกข์ รู้ทั้งนั้นว่าอารมณ์ไม่ดี แต่มันไม่ละ  เพราะใจมันยังไม่เห็นตามความเป็นจริง  มันยังมีแอบ...แอบพอใจมั่ง แอบใช้กำลังของมันเพื่ออะไรมั่ง  อย่างความโกรธมันเป็นกำลังนะ แล้วบางทีเรายังอาศัยความโกรธนะ เป็นกำลังให้เรามีอำนาจเหนือผู้อื่น ด้วยอารมณ์รุนแรงก็มี ...ยังเห็นความดีของมัน ...ลึกๆ ก็ยังมีกัน

ก็ต้องกลับมาให้ใจมันเรียนรู้ไปทีละเล็กทีละน้อย แล้วมันจะประมวลผลของมันเอง มันถึงยอมรับ  ...เพราะนั้นว่าปัญญาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการที่ว่าคิดค้นด้นเดาเลย มีแต่รู้...กับรู้ ตามความเป็นจริง เดี๋ยวนี้ๆ 

ต้องรู้เดี๋ยวนี้ด้วย  รู้อดีตก็ไม่เอานะ รู้อนาคตก็ไม่เอานะ ... ท่านให้รู้ปัจจุบันอย่างเดียวนะ ปัจจุบันของกายกับจิตเท่านั้นนะ ไม่ต้องรู้ข้างหน้า ไม่ต้องรู้ข้างหลังนะ  อะตีตัง นานวาคะเมยยะ ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ, อดีตอนาคตเป็นเรื่องเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้  

ท่านให้ดูว่า ปัจจุปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ, ธรรมะทั้งหลายทั้งปวง ตั้งลง ณ ที่ ตัตถะ ตัตถะ ... ที่นี้ ที่นี้ เท่านั้น ...ไม่มีที่อื่นเลย ไม่ได้ตั้งอยู่ในอดีต ไม่ได้ตั้งอยู่ในอนาคต

ต้องรู้ให้เท่าทันว่าไอ้ที่เป็นอดีตอนาคต เกิดจากความปรุงแต่งของจิต แล้วเราไม่เท่าทัน ไปให้ความสำคัญกับความปรุงแต่งของจิต  มันไหลออกไปแล้ว 

ถ้ามาดูเดี๋ยวนี้ อยู่ตรงนี้ มันไม่มีอะไร เห็นมั้ย ไม่มีอะไร ...ทุกข์ก็ไม่มี มรรคผลก็ไม่มี จะได้อะไร...ก็ไม่มี ไม่ได้อะไร...ก็ไม่มี  ก็มีแค่นั่งอยู่ ฟังอยู่ ได้ยินอยู่ ... เห็นมั้ย ทุกข์มีตรงไหนนี่ ถ้าอยู่ในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เห็นมั้ย

อยู่ตรงนี้บ่อยๆ รู้ตรงนี้บ่อยๆ แล้วเราจะเข้าใจว่านี่แหละ ตรงนี้แหละคืออริยมรรค ตรงนี้แหละคือทาง ...ต้องดำเนินอยู่ในทางสายนี้เท่านั้น ยืนอยู่บนทางนี้เท่านั้น อย่าออกนอกทาง

อย่าออกนอกทาง คือว่าอย่าออกนอก "นี้" เข้าใจมั้ย อย่าออกนอกนี้ ... ถ้าออกนอกนี้เรียกว่าออกนอกทาง...ออกนอกนี้คือไปไหน ...ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง ไปในสิ่งไหนก็ไม่รู้ ไปในสิ่งที่เป็นเงา ...เป็นเงาทั้งนั้นนะ เป็นเงาของจิตทั้งนั้น 

ไอ้ที่ขึ้นๆ ลงๆ นี่เป็นของจริงทั้งนั้นแหละ ในขณะนี้ หรือในขณะที่สัมผัสกับผู้คนน่ะ มันเกิดขึ้นน่ะ รู้ตรงนั้นน่ะ อยู่ตรงนั้นแหละ  อย่าหนีมัน อย่าหนีออกจากมัน อย่าคิดว่ามีอะไรดีกว่านี้ นะ มันดีที่สุดแล้วตรงนี้น่ะ อย่าออกนอกนี้ไป

สงสัยอีกมั้ย   ...เดี๋ยวกลับไปอีกสักพักนึงค่อยสงสัยใหม่


โยม –  มีโยมที่เชียงใหม่ ไม่รู้เขาโทรมาหาหลวงพ่อรึยังครับ คือมีคนบอกว่าแฟนเขานี่ไปทำกรรม วิบากกรรมไว้

พระอาจารย์ –  โทรมาแล้วๆ เราก็บอกว่า ถ้าสบายใจ แล้วมีความเชื่อ คือถ้าเขาคิดว่าเขาทำ(บุญ)แล้วนี่มันจะดี ก็ทำไปเถอะ เข้าใจมั้ย  แต่เราบอกว่าตามความเป็นจริงแล้วนี่ กรรมน่ะมันไม่มีทางลัดหรอก หรือจะแก้ได้แบบเอาเดี๋ยวนี้เดี๋ยวนั้นน่ะ เข้าใจมั้ย

แต่ถ้ามันทำแล้วจะมีกำลังใจ  ทำแล้วมันเป็นอุบายว่าเราได้ทำแล้ว สบายแล้ว เหมือนกับลุล่วงแล้ว อย่างนี้ ก็ทำไปเหอะ ไม่มีอะไร  ...แต่ความจริงมันไม่หายไปไหนหรอก มันอยู่ที่กำลังใจเราดีขึ้น เท่านั้นเอง


โยม –  ผมก็กลัวว่า...คือเขาบอกว่าถ้ามาหาหลวงพ่อจะทำให้หลวงพ่อเหนื่อย

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร ใครมาก็มาเหอะ


โยม – กลัวเหมือนกันว่าอย่างนี้ผมมาหาหลวงพ่อบ่อยๆ จะทำให้หลวงพ่อลำบากกายรึเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่าเป็นเรื่องของการปรุงแต่ง เข้าใจรึยัง นี่คือความปรุงแต่งของจิต แล้วเราให้ความสำคัญ ก็เป็นทุกข์


โยม –  ครับ

พระอาจารย์ –  ก็แค่รู้ให้ทัน แล้วก็วางซะ ...แล้วการจะมาหรือไม่มา มันอยู่ที่ตามเหตุปัจจัย  ไม่ต้องคิดมาก  มีเหตุก็มา ไม่มีก็ไม่ต้องขวนขวาย อย่างนี้ เข้าใจมั้ย  มันก็มีเหตุอยู่แล้ว แล้วแต่เหตุปัจจัย ผู้คน

แต่ถ้ามานั่งคิดกังวลนี่ มันก็กลายเป็นอกุศล กุศลหมด ... กังวล วิตก วิจาร พวกนี้  บุญและบาปเกิดจากอาการพวกนี้ มันทำให้เราข้อง ข้องแวะกับความคิดความเห็น นะ

(เว้นช่วงที่คุยกันเรื่องโยมที่ป่วย)


โยม –  ทำไมผมไม่เป็นหมออย่างเขา

พระอาจารย์  บอกแล้วว่าไม่ได้เคยสะสมมา ...มันไม่มีอะไรหรอกลอยมา ทุกอย่างต้องมีเหตุปัจจัย นะ  ถ้าเราไม่เคยประกอบเหตุปัจจัยนั้นๆ มา...ไม่มีทาง  จะนึก จะอยากขนาดไหนก็ตาม  จะไปตำหนิ ไปโทษไม่ได้ ...ทุกอย่างมันมาตามเหตุปัจจัย

สำคัญว่าถ้าอยากไปเป็นหมอ ต้องประกอบเหตุปัจจัยตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เช่นช่วยคนที่ป่วยไปเรื่อยๆ ศึกษาตำรา มีความพออกพอใจในการเกื้อกูลสงเคราะห์ ศึกษาว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดโรคนี้โรคนั้น อย่างนี้

พวกนี้มันจะเป็นเหตุปัจจัย เป็นการสร้างเหตุปัจจัยให้ต่อไป มันจะส่งให้เราไปเป็นอาชีพต่างๆ นานา


(ต่อแทร็ก 1/11)