วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/30 (4)


พระอาจารย์
1/30 (25530523B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/30  ช่วง 3

พระอาจารย์ –  มันเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดิน นี่ ที่มีวันนี้มา มันก็อยู่ด้วยลักษณะอย่างนี้แหละ ...นักปราชญ์ ผู้รู้ บัณฑิต ท่านก็บอกช่องทางออกให้อยู่แล้ว

ฟังอยู่แล้ว เข้าใจอยู่แล้ว ...แต่ขาดการประพฤติ การใส่ใจในการประพฤติตามปฏิบัติตาม ให้เนืองนิตย์ หรือว่าต่อเนื่องในการที่ว่าอยู่ในองค์มรรค เจริญมรรคตลอด ไม่ละเลย

สุดท้ายของการปฏิบัติก็คือผลที่การไม่กลับมาอีก ...เกิดมาเป็นทุกข์ ถ้าไม่อยากทุกข์ก็อย่าเกิด อย่ามาเกิด ...ถ้าเกิดมาแล้วอย่าบ่น ยังไงก็ทุกข์อยู่แล้ว เป็นธรรมดา ถ้าไม่อยากทุกข์ อย่าเกิด

เกิดมาแล้วยังไงก็ต้องทุกข์ ยากดีมีจนทุกชนชั้นไป  ตั้งแต่คนรวยมหาเศรษฐี มหากษัตริย์ยันไพร่ยาจก ยังไงก็ทุกข์ ไม่มีตรงไหน คนไหนหรอก เกิดมาแล้วไม่มีทุกข์

ไปดู ไปถามดู ไม่มีอะไรหรอกที่เกิดมาแล้วจะไม่เกิดความคับแค้น ไม่มีอะไรที่เกิดมาแล้วมีความได้ดั่งใจตลอดเวลา ...เห็นมั้ย ยังไงๆ มันต้องอยู่ตรงนั้น ต้องอยู่กับอาการทางโลกนี้ เป็นธรรมดา

ไม่บ่น ...อดทน แล้วตั้งจิตให้เป็นกลาง ...ไม่มีเงื่อนไขกับสิ่งที่เรารับรู้ ไม่เพียรพยายามเข้าไปแก้ ผลักดัน ต่อต้าน รักษา ประคอง หวงแหน เสียดาย อาดูร ดีใจ เสียใจ กับสิ่งที่ปรากฏขึ้นทั้งภายในและภายนอก

นี่เรียกว่าอยู่ในองค์มรรคตลอด ปัญญาก็จะเห็นตามความเป็นจริง แล้วก็คลายออกๆ จนถึงที่สุด ...ไม่ต้องถามเมื่อไหร่ วันไหน หรือชาติไหน ...หน้าที่ ท่านให้ไว้อย่างเดียวคือเจริญมรรคเข้าไป

เจริญมาก..ปัญญาก็มาก เจริญน้อย..ปัญญาก็น้อย ไม่เจริญเลย..ก็โง่ๆๆๆ ...เป็นพุทธแท้ๆ ไม่เอาพุทธะ ไม่เอาธัมมะ ไม่เอาสังฆะเป็นสรณะ...ก็มีแต่ทุกข์ เป็นไปเพื่อความทุกข์มากขึ้นๆ

แล้วก็ต่อเนื่องกันไปจนถึงลูกถึงหลาน ...เราทำทุกข์คนเดียว เราสร้างสุขเรื่องเดียวนี่ เราก่อเหตุการณ์ขึ้นเรื่องเดียว มันทุกข์ไปถึงลูกหลาน มันจะทุกข์ไปถึงลูกหลานเหลนโหลนเลยแหละ


โยม –  มันจะจบไหมครับ

พระอาจารย์ –  ไม่จบ


โยม –  มันว่าเป็นชาติเลย มันหลอกให้ไปเกิดชัดๆ เลยนี่

พระอาจารย์ –  อือฮึ บางคนมันยังตั้งสัจจะไว้ด้วยว่า...เกิดมาชาติไหน ขอให้กู...อย่างนั้นอย่างนี้


โยม –  มันคือกับดักชัดๆ

พระอาจารย์ –  อือ ด้วยความคิดความเห็นนี่แหละ เป็นตัวพาไป  ด้วยความไม่รู้ ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน มันอยากไปเห็นภาพของไอ้นี่ตาย ไอ้นี่ล่มสลาย 

มันสร้างภาพกันอย่างนี้ แล้วมันพยายามวิ่งไปสู่เป้าหมาย ...นี่คือไปตามความหมายมั่น


โยม –  ที่จริงก็คือมันอาจจะโค่นกันไปโค่นกันมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว

พระอาจารย์ –  ตั้งแต่สุโขทัยมาแล้ว ก็อยู่ด้วยอย่างนี้ คนไทยก็อย่างนี้ นิสัยอย่างนี้ รบราฆ่าฟันกันเองอย่างนี้ ด้วยความจะเอาชนะกัน มันเกิดความผูกขาดจองเวร ผูกเวรผูกกรรมเอาไว้ต่อเนื่องกันมา 

จะหลุดพ้นได้ก็มีแต่พระอริยะเท่านั้น ออกมาจากวังวนนี้ ...เพราะนั้นถ้าเห็นวังวน เห็นโดยรวมของวังวนนี้แล้วจะเบื่อหน่าย จะเริ่มรู้สึกว่าเบื่อหน่าย 

จะเริ่มเห็นความ...เห็นเป็นโทษ เห็นเป็นของไร้สาระ เห็นเป็นของที่ไม่ควรค่าแก่การเข้าไปเสวนาหรือร่วมด้วยเลย ...นี่เขาเรียกว่ามันเห็นด้วยปัญญา มันจะถอยออก

ซึ่งคนทั่วไปก็จะมีคำพูดมาดักกันไว้ว่า เห็นแก่ตัว เอาแต่ตัวรอด ไม่อาทร ไม่กตัญญูต่อแผ่นดิน ไม่กตัญญูต่อราชวงศ์ อยู่แบบคนหนักแผ่นดิน ไม่ช่วยเหลือกัน ต้องออกมาเฮ่วๆๆ ด้วยกัน

แล้วเราก็มาคาข้องกับสัญญาอารมณ์พวกนี้ ต้องแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่าต้องไปหาความเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีสองมาตรฐาน อะไรอย่างนี้

เพราะเราจะถูกพวกนี้มาเขย่าจิตเรา เราจะหวั่นไหวไปตามอาการพวกนี้ ...เมื่อหวั่นไหวปุ๊บ มีการกระทำ มีจิตให้ไปก่อนแล้วนี่ ก็คือเราเข้าไปร่วมวงไพบูลย์ด้วยแล้ว

ถูกกระแสนั่นน่ะกลบ บดบัง หรือว่ากลมกลืน หรือว่ากลืนกินเข้าไป ทีละเล็กทีละน้อย ...กว่าเราจะรู้ตัวนี่ ถอนไม่ขึ้นแล้ว

แต่ถ้ารู้ทันซะเดี๋ยวนี้ ยังพอสลายตัวซะ มอบตัวซะ รับสารภาพซะ ก็จะรอลงอาญา ไม่งั้นจะโดนจำคุกตลอดชีวิต ถ้ายังถลำเข้าไป

คือหมายถึงตรงนี้นะ ยอมมอบตัวซะ คำพิพากษาก็แค่ตรงนี้ ก็แค่รอลงอาญา ยังมีกำหนดอยู่ ปีมั่งสองปีมั่ง เดือนมั่ง วันมั่ง ชั่วโมงมั่ง นาทีมั่ง ...อันนั้นคือรอลงอาญา ยังไม่ถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต

หรือขั้นพิพากษาประหารชีวิต ก็ตายไปหลายคนแล้วโดยคำพิพากษา...ด้วยความที่ว่ามุ่งไปในอิมเมจที่สร้างไว้ แล้วกรรมและวิบากเหตุปัจจัยอีกหลายอย่างที่มาประกอบพร้อมกัน

น่าเบื่อนะ น่ากลัวนะ เห็นมั้ย เห็นภัยแห่งวัฏฏสงสารมั้ย เห็นภัยจากที่ความไม่รู้จักจบมั้ย ...ฆ่ากันชาตินี้ไม่พอ ตามฆ่ากันอีก เอาชนะกันต่อไป ไม่รู้เท่าไหร่

แต่ด้วยความอยากมีอยากเป็น เอาถูกเอาผิด เอาดีเอาชั่ว การกล่าวร้ายให้กัน การเบียดเบียนกันด้วยคำพูด การเบียดเบียนกันด้วยการกระทำ การเบียดเบียนกันด้วยความรู้สึก

เหล่านี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านเตือนไว้หมดแล้ว ว่านี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยก เป็นเหตุให้เกิดความไม่กลมกลืน ไม่สมดุล ไม่สันติ

แต่เราก็ยินยอมพร้อมใจ แล้วก็ตั้งใจด้วยที่จะทำ ...คำว่าตั้งใจทำจริงๆ ท่านเรียกว่าครุกรรม..กรรมหนัก ไม่ใช่ลหุกรรมที่ว่าเดินไปเหยียบมด เหยียบอะไรด้วยความที่ไม่เจตนาหรือจงใจนะ

แต่นี่ถูกปลูกฝังด้วยความตั้งอกตั้งใจจริงๆ นี่เป็นครุกรรม...ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายแกนนำ ทั้งคนตั้งรับ ด้วยความเจตนาซึ่งใส่ไปเต็มๆ ...นั่นล่ะ ครุกรรม

เพราะนั้นเวลามันส่งผลออกมาแล้วนี่ มันกระทบไปทั่วหย่อมหญ้า ...ทุกคนที่เป็นคนไทย ที่รู้สึกว่าตัวเป็นคนไทย  ถ้าได้ยินได้ฟังได้เห็นปุ๊บ จะมีอาการเดือดร้อน

มีความคับแค้น เสียใจ หรือดีใจ หรือสะใจ หรือเศร้าใจ หรือว่าขุ่นมัว กับการที่เห็นเหตุการณ์ หรือรับรู้กับการกระทำคำพูดของบุคคลต่างๆ นานา ...นี่คือกรรมร่วมกันของคนไทย

คนอื่นประเทศอื่นเขาฟังแล้วก็ โอเค บาย ...ธรรมดา ไม่รู้สึกอะไร ธรรมดามาก เพราะเขาไม่ใช่คนไทย ใช่มั้ย มันเป็นกรรมของคนไทยที่สืบทอดต่อเนื่องกันมา

เพราะนั้นคนอื่นแก้ไม่ได้ ก็ต้องคนไทย ...แล้วแก้ด้วยวิธีการกระทำไม่ได้ ต้องแก้ด้วยความระบบของคำว่าหยุด ...ไม่ใช่สันติ รักสันติ อย่างที่ออกมาพูดกัน...แต่การหยุดของตัวเรานี่ ต้องเริ่มหยุด

หยุดให้ความเห็น หยุดวิพากษ์วิจารณ์ หยุดไปกล่าวโทษคนนั้น หยุดไปกล่าวโทษคนนี้ ...ถ้าทุกคนในสังคมนะ หยุดอย่างนี้นะ แค่นั้นน่ะ มันก็จะเกิดความสมดุลกัน

แต่เราพูดนี่มันเป็นเหมือนกับเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ...ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปได้ยาก


โยม –  มันมองไม่เห็นทางอย่างนั้นเลย

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น อย่างพวกคนที่มาฟังก็บอก มันดูเห็นแก่ตัวนะนี่ ...เราบอก ดี เห็นแก่ตัวเข้าไปเยอะๆ  แล้วมันจะส่งต่อไปด้วยดี ถ้าอาจารย์เห็นแก่ตัวแล้วลูกศิษย์เห็นแก่ตัวตาม ดี

นี่ กลับมาอยู่อย่างนี้ เฉยๆ ซะ แก้อะไรไม่ได้ คิดเท่าไหร่ก็แก้ไม่ได้ ออกไปเย้วๆ อะไรก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ ...ทุกอย่างมันมีการกำหนดมาอยู่แล้ว ด้วยวิบากกรรม นะ มันเซ็ทไว้แล้ว เรียบร้อยแล้ว

เห็นมั้ย การกระทำต่างๆ มันเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งต่อเนื่องกันมาๆ  เพราะอย่างงั้นจึงเกิดสิ่งนี้ เพราะสิ่งนั้น จึงเกิดสิ่งนั้นตามมา เพราะสิ่งนี้มาก จึงเกิดสิ่งนั้นมากตามมา ผลจะเป็นอย่างนั้น

เราจะไปเป็นตัวหนึ่ง คือเข้าไปเป็นฟันเฟืองในการที่จะไปเพิ่มให้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง ...แต่ก็เถอะ ทุกอย่างก็คลี่คลายไปเอง มันมีอายุขัยของมัน อยู่ที่ว่า..แล้วก็รอว่า See you again ... To be continue

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องถามถึงข้างหน้า ...เพราะหน้าที่ของพวกเราคืออยู่ที่ใจปัจจุบัน เป็นผู้ดูที่ดี เป็นผู้ดูที่ไม่กระโดดเข้าไปร่วมกับเขาในใจ ในความรู้สึก

ไม่ไปหาถูกหาผิดกับสิ่งที่เราเห็นในโทรทัศน์ สิ่งที่เราได้ยินทางวิทยุ สิ่งที่เราได้ยินจากคนเขามาพูดมาเสนอ...เหมือนเซลส์แมนขายความเห็นน่ะ  ก็แค่หือ แค่อือ แค่เออ แค่ค่ะ...จบ เดี๋ยวก็ดับ

ง่ายๆ แค่เนี้ย รักษาปัจจุบันที่เป็นปกติ อยู่ในองค์มรรค ...แล้วจะได้ไม่กลับมาใหม่ หรือว่าไม่กลับมาซ้ำซาก หรือว่าไม่กลับมาโดยที่ว่าไม่รู้จักจบสิ้น

มันยังพอเห็นแสงสว่างปลายทาง ไม่ใช่เห็นความมืดมิดแล้วมันมีแต่เดินเข้าไปๆ ...แต่ละคนมันมีอยู่แล้ว แสงในอุโมงค์ แต่มันยังเดินลึกเข้าไปๆ หาทางออกไม่เจอ มันคิดว่าจะหาเจอทางนั้น

พระพุทธเจ้าบอกว่าทางนี้ๆ พระอริยสงฆ์ก็บอกทางนี้ๆ  มันก็บอกไม่ใช่ๆ ต้องทางนั้น ...มันเก่งกว่าพระพุทธเจ้า สงสัยบารมีมันสูงกว่า คนก็พร้อมใจจะเชื่อ เห็นมั้ย วิบากร่วมกันมันมีกำลัง


โยม –  เรายังโดนดึงเข้าไปเสวนา ไม่รู้เลยว่ามันจะพาไปข้างหน้าอีกเท่าไหร่ไม่รู้ แล้วก็เอาคืนกันอยู่นั่นล่ะไม่จบ

พระอาจารย์ –  ไม่จบหรอก ...เมื่อเรารู้แล้วว่ามันไม่จบ เราต้องจบในตัวเองให้ได้ แค่นั้นเอง อย่าไปคิดว่าจะทำให้มันจบภายนอก หรือคิดว่าถ้าเราทำแล้วจะทำให้มันจบได้ง่ายขึ้น 

ไม่มีทาง ...เขามีบทบัญญัติของเขาในตัวอยู่แล้ว คืออายุขัย ...เรามันเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ อันหนึ่ง อย่าไปเพิ่มฟันเฟืองเลย มันจะซับซ้อนมากขึ้น


โยม –  เวียนว่ายตายเกิดเพื่อจะมาเอาอย่างนี้

พระอาจารย์ –  รอวันเวลาเอาคืนไง


.................................



วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/30 (3)


พระอาจารย์
1/30 (25530523B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/30  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แต่ในขณะนี้ มีหน้าที่อย่างเดียวคือ ไม่ก่อเกิด ไม่ต่อเนื่อง ไม่ให้กำลังกับมันเพิ่ม ...เพราะนี่คือผล...รับมันไป แต่ว่าไม่ให้ความแข็งแกร่งกับความเห็นนี้ให้มันอยู่ได้

หรือว่ายิ่งไปคิดให้มันเกิดความมั่นคงในความเชื่ออย่างนี้มากขึ้นๆ ...นั่นแหละมันคือการสะสมความหนาแน่นของมิจฉาทิฏฐิมากขึ้นๆ

กับการที่ว่า มันยังอยู่อย่างนี้ก็อยู่ อยากเชื่ออย่างนี้ก็เชื่อ...มันแก้ไม่ได้แล้ว มันเป็นผลที่เราต้องเสวย จากการหลงคิดขึ้นมา ...แล้วมันก็จะค่อยๆ มีอายุขัยของมันเอง

แต่ต้องอดทนต่อความคิดที่จะไม่ต่อกับมัน กับความเห็นนี้ ...แล้วมันจะอยู่ไม่ได้


โยม –  ใช่ เหมือนอย่างที่พระอาจารย์บอก อย่างโยมดู บางทีวันเวลาที่ผ่านไปนี่ เราหวนไปคิดถึงสิ่งที่เราเคยเชื่อในอดีต มันเปลี่ยนไป

พระอาจารย์ –  อือ ความเห็นมันไม่เที่ยง... ก็บอกแล้วไง แต่ก่อนคิดไม่รู้กี่แบบ ปฏิบัติก็มีความเชื่อไม่รู้กี่ครั้ง ก็ยังเปลี่ยน เอาแน่กับมันไม่ได้

แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือตรงรู้แล้วไม่มีอะไร กลับมาสู่จุดเดียวกันหมด ในทุกสิ่งทุกอย่าง กลับมาอยู่ที่เป็นปกติธรรมดา ที่ไม่ได้ทำ ไม่ได้มี ไม่ได้เป็นอะไร เดี๋ยวนี้ปัจจุบัน ...นี่คือหลัก นี่คือฐานที่ตั้งของมรรค

ไม่ใช่ตามความเห็นออกไป หรือสร้างความเห็นใหม่ขึ้นมา อย่าไปอยาก ...เพราะไอ้ความโลภ โลภะไม่รู้จักพอนี่ มันจึงไปสร้างความเห็นความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดสีสันขึ้นในจิต

มันเป็นสีสันนะ วับๆ แวบๆ หูย มันเทิดทูน เอาความเห็นเป็นสรณะ ...พระพุทธเจ้าบอกให้เข้าถึงไตรสรณคมน์เป็นสรณะ...กูไม่เอา กูจะเอาความเชื่อของกูเป็นสรณะ

ด้วยการพิจารณาไปเรื่อยเปื่อย คิดไปตามตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ประมวลไปประมวลมา จับแพะชนแกะ เหมือนเราตำส้มตำ ใส่มะนาวสองซีก ปูสามตัว รสชาติมันควรจะเป็นอย่างนั้น 

นี่ เติมปลาร้านิดหน่อย น่าจะดี เอ้า น้ำปลา เอาแล้วนี่ ตำๆๆๆ ใส่จานกิน ...เออ พอใจ อร่อย ทำมากับมือๆ ...เนี่ย คือสังขาร ความปรุงแต่ง 

ทำเอง กินเอง ตัดสินเอง...อร่อยว่ะ เออ ยังไม่พอ ดันเอาไปให้คนอื่นกิน เขาก็ว่า...แหวะ เอาตีนตำรึไง ...นี่ ชกมันตรงนั้นเลย ว่ามันเห็นผิด ...แต่ผิดทั้งคู่ บอกให้เลย

ใครให้มึงตำ มะนาวก็อยู่ส่วนมะนาว มะละกอก็อยู่ส่วนมะละกอ  ถ้าไม่มีใครไปหยิบไปจับมารวมกัน ตำกัน มันไม่มาชกกันหรอก ใช่มั้ย ...เพราะนั้นมันผิดที่มึงนั่นแหละทั้งคู่ จะมาเอาถูกเอาผิดอะไร

ถ้าธรรมชาติที่แท้จริง ความจำส่วนความจำ ความรู้สึกส่วนความรู้สึก อดีตคืออดีต อนาคตคืออนาคต ...นี่ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมี ไม่ได้เกี่ยวกันเลย

เวทนาส่วนเวทนา กายส่วนกาย ขันธ์ส่วนขันธ์ ความจำส่วนความจำ เขามีอยู่แล้ว ...ไอ้ “เรา” นี่อยู่ไม่สุข เอาขันธ์ทั้งห้ามายำรวมกัน เหมือนตำส้ม แล้วแต่ใครจะเอาอะไรมาใส่น่ะ เห็นมั้ย

เอาความจำในส่วนนั้นมา เอาความคิดถึงข้างหน้าในส่วนนั้นมา เอาความรู้สึกเวทนาในส่วนอดีต แล้วคาดเอาข้างหน้า แล้วก็เอารูปของบุคคลนั้นๆ หน้าของคนที่ไม่ชอบมาผสมตำกัน ออกมาเป็นรสชาตินึง

นี่ถูกๆๆ ...ถูกปากกูนะ ไม่ถูกปากคนอื่น กูไม่รู้ ...แต่ไปแบ่งให้เขากินแล้วก็ยัดเยียดว่ามึงต้องกิน แล้วมึงต้องบอกว่าอร่อย  ถ้ามึงบอกว่าอร่อย มึงมันพวกนี้ ถ้ามึงบอกว่าไม่อร่อย มึงมันพวกนั้น 

เห็นมั้ย มันเกิดการแบ่งแยกอย่างนี้นะ ...ถามว่าใครผิด บอกให้เลย ผิดทั้งคู่ ...อยู่ดีไม่ว่าดี จับเรื่องไม่เป็นเรื่องมาให้เป็นเรื่อง ขันธ์เขาก็อยู่ส่วนขันธ์ เขาก็อยู่อย่างนี้ไม่มีอะไร ความจำคือความจำ

ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน มันจะจำอะไรได้ก็ช่างมัน คนนั้นคนนี้ร้อยแปดพันเก้า ...ก็เป็นความจำได้หมายรู้ รูปมันก็ดับไปตรงนั้น ความรู้สึกเวทนาปกติธรรมดา ก็มีแค่นี้

ไม่ต้องไปสร้างเวทนาใหม่ ความรู้สึกใหม่ๆ ขึ้นมา หาว่าเราจะต้องเข้าไปเสพกับมัน เห็นมั้ย ต่างคนก็ต่างอยู่ มันมีเรื่องอะไร มันมีความคิดความเห็นอะไรเกิดขึ้นมั้ย

แต่ธรรมชาติของจิตที่ไม่รู้ ธรรมชาติของจิตที่ยังมีกิเลสเจือปน มันจะไม่อยู่เฉยหรอก...อยู่ดีๆ ได้สักพักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เอาแล้ว แกว่งตีนหาเสี้ยน แกว่งปากหาลูกมะกุ๋ย อะไรประมาณนั้น

มันอยู่บ่ได้ ต้องฆ่ามันๆ สุดท้ายก็ถูกฆ่า แล้วก็ถูกเอาคืน ...ความจองล้าง มันไม่มีทางยุติ การกระทำไม่สามารถจะยุติได้ไม่ว่าฝ่ายไหน  ในโอกาสนี้ฝ่ายนี้ถูกกระทำ โอกาสหน้าก็มีที่ฝ่ายนั้นจะถูกกระทำ ใช่ไหม

มันจะสลับกันไป แล้วแต่เหตุปัจจัย มันจะเมื่อไหร่หรือว่าชาติไหน  ถามว่ามันจะหาความจบสิ้นได้ไหม ...แต่นี่แหละ คุณเกิดมาแล้ว โยมเกิดมาแล้ว ก็ต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้ เป็นธรรมดา

เพราะนั้นถ้าเรารู้จักความเท่าทัน หรือว่ารู้เท่าทันการปรุงแต่ง ...รู้เท่าทันเมื่อไหร่ปุ๊บ มันจะหยุดการปรุงแต่งได้ในระดับหนึ่ง จนถึงที่สุดของมัน ก็จะไม่มีการไปปรุงแต่งอะไรเพิ่มขึ้น

ก็จะเหลือความปรุงแต่งของขันธ์...ตามเท่าที่มันจะมี เท่าที่มันจะเป็น ...เพราะว่าขันธ์น่ะมันมี ธรรมชาติของขันธ์มันมีอยู่แล้ว สัญญา เวทนา หรือสังขาร

มันก็ปรุงเป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่ปกติกายวาจา เข้าใจมั้ย ...มันก็ต้องมีความคิดน่ะ วันนี้จะต้องทำอะไร จะต้องมีกิจการงาน มันก็ต้องมีความคิดความจำ

ซึ่งมันก็อยู่ในแวดวงที่เพื่อการใช้ชีวิตอยู่แค่นั้นเอง เป็นความปรุงแต่ง มันมีอยู่แล้ว...ไม่ได้ผิด ไม่ได้ถูกนะ ...แต่มันจะไม่ไปปรุงแต่งนอกเหนือจากนี้

ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นการต่อเนื่องไม่รู้จักจบ หรือว่าเป็นการให้ได้มาเพื่อกุศลหรืออกุศลใดๆ หรือว่าเพื่อให้ได้ความสุขหรือเวทนาใหม่ที่มันต้องการ

เพราะนั้นมันก็จะกลับคืนมาเป็นปกติธรรมดาของขันธ์ เพื่อการประคับประคองวิบากขันธ์อันนี้ ให้อยู่รอดถึงห้าหกสิบเจ็ดสิบแปดสิบปีตามอายุขัย ...นี่ เพื่อบรรเทาทุกข์

เพื่อให้กอบัวนี้มันเป็นที่แห่งการเรียนรู้ธรรมได้มากขึ้น ไม่ถึงกาลเวลาก่อน นั่นน่ะคือการใช้ชีวิตอยู่เพื่อความเป็นปกติ เพื่อให้มันกลับมาเรียนรู้ธรรมได้ ...เขาให้เราเกิดมาเพื่อจุดประสงค์นี้

ไม่ใช่เพื่อให้เกิดมาห้ำหั่น “ฆ่ามันๆๆ” กับผู้ที่คิดเห็นไม่ตรงกัน ...ไร้สาระสิ้นดี ตายแล้วก็เข้าเตาเผาเหมือนกันหมด ตายเหมือนกันหมด เผา ไม่ว่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ กลายเป็นเถ้าธุลี

กลับคืนสู่ดินเดียวกัน กลับคืนสู่ความไม่มีไม่เป็นเหมือนกัน ใช่มั้ย ...แต่ตอนอยู่นี่เอาเป็นเอาตายกันอยู่นั่นน่ะ ไม่รู้จักเข็ดหลาบ ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ไม่รู้จะเอาชนะไปเพื่อให้ได้อะไรขึ้นมา

มันไม่รู้จักแพ้ ไม่รู้จักความพ่ายแพ้ มันไม่ยอมรับความที่ว่าเสียหน้าเสียตา นั่น มันอยู่กับความไม่มีตัวไม่มีตนทั้งสิ้นเลย ไม่มีอะไรเป็นสาระจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน


โยม –  ยึดสมมุติกันไงคะ

พระอาจารย์ –  มันก็คิดว่ามันฉลาด นักวิชาการ จบด๊อกเตอร์มาพูดๆๆๆ ฟังดู แล้วมันโง่ แล้วก็หลอกให้คนโง่ แล้วก็หลอกให้มีคนโง่เยอะขึ้นๆ

ให้เข้าไปร่วมกันทำอะไรที่ได้ผลลัพธ์ออกมาที่ไม่มีสาระอะไร แต่เข้าใจว่าเป็นสาระยิ่งใหญ่ ตั้งกันเป็นกรรมการ ตั้งกันเป็นผู้รับรองความถูกต้อง ไม่ถูกต้อง มากมายก่ายกอง

นี่คือสังคมมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ต้องพบเห็นเหตุการณ์อย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร ที่จะเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ไปยุ่ง แล้วก็ไม่ไปถูกมันดึงเราเข้าไปร่วม แค่นั้นเอง

พระพุทธเจ้าเพียรเหลือเกิน สร้างบำเพ็ญบารมีมาเกิดเพื่อจะวางแนววิธีให้...ว่าใช้ชีวิตอย่างไรที่จะอยู่กับโลกใบนี้ แล้วเป็นไปเพื่อความไม่กลับมาเป็น ไม่กลับมารับรู้กับไอ้เรื่องพวกนี้อีก

ก็คือมัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยมรรคมีองค์แปด หรือมหาสติปัฏฐาน ๔  พวกนี้คือธรรมข้อเดียวกันหมด หรือการปฏิบัติลงในปัจจุบันกาย ปัจจุบันจิต แล้วก็ปัจจุบันธรรม

เพราะนั้นพูดให้สั้นๆ นี่ มันก็อยู่แค่เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ ไม่ออกนอกนี้ ...โน้น ไม่เอา  นู้นน ไม่เอา  ออกนอก “นี้” ไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

แม้แต่อยู่ตรงนี้ มันก็จะเรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้ความไม่เที่ยง เรียนรู้อนัตตาเหมือนกัน ...เพราะ “นี้” ก็ไม่เที่ยง ปัจจุบันก็ไม่เที่ยง เห็นมั้ย พอดูไปดูมา แรกๆ ก็ยังอยู่กับ “นี้” หรอก

พออยู่กับนี้ไปอยู่กับนี้มา ไอ้ “นี้” นี่มันชักง่อนแง่น ...มันเริ่มเห็นล่ะว่ามันก็ไม่อยู่กับที่ สุดท้ายไม่มีแม้แต่ที่ให้หยั่งลงได้ ตรงนั้นน่ะ...จบ ไม่มีอะไรที่จะมาตั้งอยู่ได้แล้ว แม้แต่ในปัจจุบัน

ความรู้สึก ความคิดเห็น ความน่าจะ-ไม่น่าจะเป็น ความว่าต้อง-ไม่ต้อง ความว่าถูกว่าผิด ...มันเกิดขึ้น มันมีเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นมา มันก็ตั้งอยู่ แล้วก็พุ้บๆๆ หาที่ตั้งไม่ได้แล้ว ไม่มีอะไรรองรับให้มันตั้งได้แล้ว...อันนั้นน่ะพระอรหันต์

นี่ พระพุทธเจ้าอุตส่าห์พากเพียรพยายามมา เพื่อมาวางหลักการดำเนินวิถีชีวิต วิถีจิตให้...อย่างไรเพื่อเข้าสู่จุดนี้ การรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นสาระที่ได้ประโยชน์สูงสุด ...ไม่ใช่สาระที่คนในโลกเขาว่าเป็นประโยชน์สูงสุด 

เพราะนั้น ไม่ประมาทธรรม ไม่ประมาทพุทธะ ไม่ประมาทธัมมะ ไม่ประมาทสังฆะ ...ผู้คนทุกคนอยู่ด้วยความประมาทธรรม ประมาทพุทธะ ประมาทคำสอนของพุทธะ ประมาทผู้ที่สั่งสอนตามคำพุทธะ 

แล้วสุดท้ายคืออะไร ...ก็เห็นกันอยู่ทุกวันแล้วนี่  ทุกชนชาติ ทุกประเทศ มีความสุขที่แท้จริงกันบ้างไหม มันมีแต่การเบียดเบียนกัน ทีใครทีมันนั่นน่ะ ใช่ไหม

ถ้าเราไม่ออกจากวิถีนี้ หรือยังไม่เรียนรู้วิถีพุทธหรือวิถีธรรม แล้วปฏิบัติตัวเองอยู่ในวิถีพุทธวิถีธรรม ...ก็จะได้กลับมา  Hello เจอกันใหม่ ...ถ้าเรายังผูก ในใจนี้ผูกกันไว้ ตรงนี้คือความผูกพัน ความพัวพัน

การให้ค่านี่แหละเป็นตัวก่อให้เกิดกระแสการผูกพัน เป็นอำนาจกรรม เป็นวิบากกรรมต่อเนื่องกันไป จนเป็นวิถีกรรมทั้งประเทศรวมกัน

แล้วก็ส่งผลออกมาให้เป็นอย่างนี้ ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ด้วยความเชื่อ ของแต่ละบุคคล ...แล้วมันมาพ้องกันในความเชื่อนั้นๆ มันก็เกิดเป็นอุปาทานหมู่ขึ้นมา

ถึงเวล่ำเวลาที่มันจะปรากฏแสดงผลออกมา ก็เป็นอย่างที่เราเห็น...สุขบ้างทุกข์บ้าง ดั่งใจเราบ้าง ไม่ดั่งใจเราบ้าง ดั่งใจกองเชียร์บ้าง ไม่ดั่งใจกองเชียร์บ้าง


(ต่อแทร็ก 1/30  ช่วง 4)



วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/30 (2)


พระอาจารย์
1/30 (25530523B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/30  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  และเมื่ออยู่ในมรรค เจริญมรรคด้วยการรู้อยู่เฉยๆ เป็นปกติ ...นี่ เป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติ เกิดเท่าทันขณะแรกที่จิตเริ่มมีอาการผิดปกติ แล้วมหาสติก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ

ความแจ้งก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ความจางคลายก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่รู้อะไรเลย บางครั้งก็ยังสงสัย ทำไมเราเป็นอย่างนี้

ไม่เห็นเรารู้อะไร เราไม่เห็นพิจารณาอะไร ละอะไรเลย  ทำไมมันไม่ค่อยสนใจใส่ใจอะไรเลย มันคลายในตัวของมันเอง ทั้งๆ ที่เราไม่รู้เรื่องรู้ราว ...เพราะ “เรา” มันเป็นแค่ความคิดความเห็นหรือสังขารจิต


โยม –  เหมือนกับการล้าง

พระอาจารย์ –  ก็คล้ายๆ ทำนองนั้น ชำระภายใน ล้างหรือเอาขยะออกจากภายใน หรือเอาสิ่งที่มันแขวนลอยอยู่ในจิตออกไป 

คืออาสวะพวกนี้ หรืออนุสัย คือสิ่งที่มันหมักหมม หรือเป็นตะกอนที่มันแขวนลอยอยู่ในใจ


โยม –  มานานมาก

พระอาจารย์ –  อือ มากมายมหาศาลด้วย 

เพราะนั้นแม้แต่ว่า ถ้าเราไม่เคยทัน หรือว่าปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่สร้างปัจจัยให้เกิดสัมมาสติมากขึ้น ...ละก็ไม่ละ กลับเก็บเพิ่มด้วยการหลงไปพูด หลงคิด 

นี่คือการเก็บเข้ามาสะสม หมักหมม หรือเอาขยะเข้ามาสะสมภายใน เป็นอาสวะ เป็นอนุสัย ...นานๆ ทีถึงมาสร้างสติสัมปชัญญะ รู้ทันเท่าทัน แล้วก็เกิดสัมมาสติขึ้นครั้งนึง 

แล้วก็ออกไปอีก...แล้วก็ทิ้ง แล้วก็เก็บ ...ทิ้งไปบาทหนึ่ง มันเก็บมาสิบบาท เอ้า ทิ้งบาทหนึ่งอีก เก็บสิบบาท ร้อยบาทอย่างนี้ มันก็เลย


โยม –  ไม่จบ

พระอาจารย์ –  จบ...แต่มันหลายชาติหน่อยนะ ...ไอ้ที่ไม่จบนี่หมายความว่า มันไม่เคยเอาออกเลยสักบาท...นี่คือคนทั่วไป 

มันเก็บลูกเดียว ...อะไรเป็นเรื่องหมด อะไรก็ใช่หมด อะไรก็จริงจังๆ ไปหมด อะไรก็ต้องได้ อะไรก็ต้องไม่ได้ ...อันนี้คือเป็นนักเก็บขยะโดยอาชีพ

แต่ เออ พอเริ่มปฏิบัติ...ถึงจะเอาออกสักบาทสองบาท ถือว่าเป็นพลวะปัจจัยหนึ่งแล้ว ...สะสม ขยันหน่อย นะ ความเพียรหน่อย นะ มากขึ้นๆ เพราะนั้นก็จะเอาออกมากขึ้นกว่าเอาเข้า

จนสุดท้าย มันออกอย่างเดียว...ไม่เข้าเลย ...คือรู้เฉยๆ ธรรมดา มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง..มันเป็นเช่นนี้เอง เห็นมั้ย ไม่มีเงื่อนไขต่ออะไรเลย ไม่ยินดียินร้ายเลย

ใครอยากว่ายังไง ใครจะข้ามหัวกูยังไง ใครจะก้าวร้าว ล่วงเกินยังไง  มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาหมด ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ ...เห็นมั้ย ยังพูดกันเลยว่า อย่าเก็บมาเป็นอารมณ์ นี่คือการเก็บเข้ามาทั้งสิ้น

ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่มีสาระอะไร ...อารมณ์ก็ไม่มีสาระอะไร อยู่ดีๆ ก็ไปสร้างมันขึ้นมา แล้วก็จดจำไว้ในภายใน นึกขึ้นเมื่อไหร่ก็เครียดมาเท่านั้น นึกเมื่อไหร่ก็โกรธ..โคตรโกรธเลย

นั่นคืออาการผลข้างเคียงของขยะที่มันเน่าบูดภายใน ...พอภายในมากขึ้น มันเน่าบูด  มันก็แผดเผาออกมาภายนอก ด่าแช้ดๆๆๆ แล้ว ...วจีสังขารก็เกิดแล้ว เป็นอกุศลกรรม

เมื่อเป็นอกุศลกรรมออกมา กระทบกับผู้อื่นที่ยังมีกิเลส เขาก็สนองกลับมาด้วยอกุศลกรรม...ก็เก็บกลับมาอีก ...นั่น เห็นมั้ย เห็นการวนเวียนมั้ย เห็นการไม่รู้จักจบมั้ย ด้วยการที่ไม่หยุด

วัฏฏะหรือความหมุนวนอยู่ใต้กระแสของโลกจึงเป็นอย่างนี้  ไม่มีคำว่าจุดจบได้เลย หาทางออกไม่ได้เลย ...วนอยู่อย่างเนี้ย ทีใครทีมัน โอกาสใครโอกาสมัน ได้โอกาสก็ใส่กัน เขาได้โอกาสเขาก็ใส่เรา

เหตุการณ์ต่างๆ มันก็บดขยี้เราไป โดยที่เราเห็นเป็นจริงเป็นจังไปหมด นั่งทุกข์ นั่น ...เขาฆ่ากันอยู่กรุงเทพ คนอยู่เชียงใหม่ก็ทุกข์ ไม่ได้ใกล้ตัวใกล้ตนอะไรเลย

เห็นในภาพเคลื่อนไหวอยู่ทีวี หูได้ยินแค่เสียง มันรู้สึกเป็นจริงไปหมด ทุกข์ ใช่ๆๆ เขาฆ่ากันตรงนู้น ทุกข์อยู่ตรงนี้ ...เออ ไม่ได้เห็นกับตาได้ยินกับหูตรงนั้นนะ ยังทุกข์เลย

เห็นมั้ย มันสร้างขึ้นมาเองนะ ทุกข์ ...จากการที่มันสร้างอิมเมจความเป็นจริง ความเป็นตัวเป็นตนของภาพเคลื่อนไหว ของคลื่นเสียงที่มากระแทกหู แล้วก็มาขยำรวมกัน ยำรวมกันในจิตด้วยความปรุงแต่ง

เกิดอารมณ์ร่วม เวทนายินดียินร้าย หงุดหงิดๆๆ ขุ่นมัว เศร้าหมอง คับแค้นอัดแน่น โกรธ พยาบาท ด่า รับไม่ได้ ...เห็นมั้ย ถ้าโง่มากก็ทุกข์มาก โง่น้อยก็ทุกข์น้อย ปัญญามากก็ทุกข์น้อย ปัญญาน้อยก็ทุกข์มาก

ถ้ามองเห็นทุกเรื่องเป็นธรรมดาของโลก ก็บอกว่าเห็นแต่ตัวเข้าไป พยายามเห็นแต่ตัวเข้าไว้ อย่าไปเห็นแต่คนอื่นหรือเอาเรื่องของคนอื่นมาเป็นเรื่องของเรา

คือภาษาโลกหรือภาษาคนทั่วไปเขาก็ว่าอย่างนี้เห็นแก่ตัว ...แต่เราบอกว่าเห็นแก่ตัวเข้าไว้เหอะ อย่าไปเห็นแก่คนอื่น แล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันจะสงบระงับเอง 

ถ้าทุกคนมันเห็นแต่ตัวเอง คือรู้เห็นแต่ตัวเอง รู้ตัวเอง ใช่มั้ย บอกให้เลย มันจะสงบได้อย่างนี้

เพราะนั้น การที่กลับมาเห็นตัวเองบ่อยๆ  ไม่ไปเห็นแก่ผู้อื่น ไม่ได้เห็นแก่การเอาความคิดของเราไปเสนอให้ความเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ...ความแตกต่าง ความแตกแยก ความแบ่งกัน มันน้อยลงทันที

แต่ที่มันเกิดขึ้นเพราะมันไม่รู้จักหยุด ...ไม่หยุดที่จะสร้างความคิด ไม่หยุดที่จะสร้างความเห็น ไม่หยุดที่จะสร้างการกระทำ ไม่หยุดการที่จะสร้างเป้าหมาย แล้วก็วิ่งไปตามเป้าหมายนั้นๆ

นี่เป็นเรื่องที่วิ่งไปตามลมๆ แล้งๆ ...ปล่อยให้ลมๆ แล้งๆ นี่เป็นวิถี...พาให้ประเทศไทยนี่ฆ่ากันแทบเป็นแทบตาย ด้วยวิถีอะไรก็ไม่รู้ ลมๆ แล้งๆ ทั้งสิ้นเลย

นี่คือความที่...จะเรียกว่าสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิล่ะ  พูดแค่นี้ก็รู้แล้วว่าความเห็นทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันออกมาจากความโง่เขลาทั้งสิ้น ...ใครจะพูดว่ากูถูก ใครจะพูดว่าดี ทฤษฎีนี้ใช่แล้วก็ตาม

มันออกมาจากความไม่รู้ทั้งสิ้น ใจมันไม่รู้ ใจมันมีกิเลส ใจมันน่ะมีความเห็นผิด ...เพราะนั้นสิ่งที่คิดออกมา สิ่งที่ผลิตออกมาเป็นความคิดความอ่าน ความเชื่อนี่

มันก็...เครื่องผลิตมันเจ๊ง เครื่องผลิตมันพัง เครื่องผลิตมันแย่น่ะ...สิ่งที่ผลิตออกมา เสื่อมหมดแหละ ไม่มีคำว่าเลิศเลอเพอร์เฟ็คหรอก ใช่ป่าว ...เพราะว่าจุดตั้งต้นของการเกิดความคิด คืออวิชชา ความไม่รู้

แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าวางไว้ ท่านออกมาจากวิชชาล้วนๆ เลยนะ และเป็นสัพพัญญุตญาณล้วนๆ เลยนะ ...มันกลับไม่เชื่อ ว่าไม่จริง ไม่มีประโยชน์ แก้อะไรไม่ได้ เห็นแก่ตัว สังคมจะแย่ลง

เห็นมั้ย มันกลับเชื่อคำพูดของคนบางคน นักวิชาการบางคน หรือใครบางคน ที่เสนอความคิดเห็นที่ออกมาจากอวิชชา ...สมควรไหมล่ะที่มันจะตาย สมควรไหมที่มันรบกัน จงเกลียดจงชังกัน 

เพราะมันดูถูก มันไม่เคารพธรรม  ลบหลู่พระธรรม ...ลบหลู่พระธรรมคือลบหลู่ความจริง ...ไม่ได้หมายความว่าเอามือไปลูบพระพุทธเจ้าแล้วว่าลบหลู่นะ ...ลบหลู่ธรรมคือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ วางเอาไว้

ท่านพูดไว้ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกอณู ทุกเม็ด ทุกขั้นตอน ของปัจจยาการแห่งการเกิดภพ แห่งการเป็นไป ที่เรารับรู้ได้ด้วยการเห็นรูปแล้วก็ได้ยินเสียงออกมา...ว่าปัจจยาการแรกของสิ่งนี้คืออะไร

มันไม่เชื่อ มันคิดว่ามันเก่งกว่าพระพุทธเจ้า มันคิดว่ามันแก้ได้ มันคิดว่ามันควบคุมได้ มันคิดว่ามันทำได้ มันคิดว่ามันสามารถหยุดได้ด้วยการกระทำ

แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ถ้ามองด้วยปัญญา ก็บอกว่า...มันต้องเป็นเช่นนี้เอง ...เพราะคนมันมีกิเลส คนที่มีกิเลสเสนอมาให้คนที่มีกิเลส เหมือนผีคู่กับโลง ช่างเหมาะเจาะกันจัง

คนมีกิเลสเสนอความเห็นให้คนมีกิเลสรับฟังนี่ ผีกับโลงคู่กันเลย...ผีเน่ากับโลงผุ  สุดท้ายโดนฝัง ตายทั้งคู่ ...ไร้สาระสิ้นดี บอกให้เลย ตายเปล่า

เพราะนั้นน่ะ ถ้าเราตั้งมั่นหรือเชื่อในความเห็นใดความเห็นหนึ่ง แล้วพยายามทำไปตามความเห็นนั้นๆ ...นั่นคือออกนอกองค์มรรค นั่นคือสุดโต่ง

นั่นคืออัตตกิลมถานุโยค ทำไปตามความไม่อยาก หรือกามสุขัลลิกานุโยค ทำไปตามความอยากหรือความพอใจ ...จะไม่มีคำว่าจบได้เลย มันจะสืบเนื่องจองเวร ผูกเวรผูกกรรมกันต่อไป

เราบอกเลย มันต่อเนื่องกันมา ไอ้กลุ่มทั้งหลายนี่ มันก็ทำมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว  แล้วมันไม่ยอมจบน่ะ ถึงเวลามันจับกลุ่มรวมกัน ด้วยเหตุปัจจัยให้มันมารวมกลุ่มกันได้ มันก็มาเฮๆๆ กัน


โยม –  พระอาจารย์คะ ถ้าพูดถึงคนที่เขามีมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้ มันก็มองในหลายๆ เรื่อง ก็ไม่น่าจะเกิดสัมมาทิฏฐิได้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ไม่มีทาง ...แต่เราก็ไม่ต้องไปหาถูกหาผิดกับอะไร แค่คิดออกไปก็ผิดแล้ว  ตัวเรานี่ แค่เราคิดออกไปหานี่ ผิดแล้ว บอกให้เลย อย่าไปหาถูกผิดภายนอก

เพราะถ้ายังคิดต่อไป หรือเคยคิดมาแล้วนี่ เห็นมั้ย มันเกิดความเห็นขึ้นมา แล้วเราจะเชื่อความเห็นนี้ขึ้นมา ความเห็นของเรานี่แหละ ...เห็นมั้ย เกิดการแบ่งแยกแล้วนะ

มีดี-มีชั่ว มีถูก-มีผิด เพราะผลจากการที่เราส่งออกไปคิด ...แล้วตอนนี้เป็นยังไง เราต้องมาเสวยผลแห่งการเชื่อความเห็นของเรา แล้วจึงเกิดความขัดแย้งในการที่รับไม่ได้กับคนที่มาพูดไม่เหมือนเรา

นี่วิบาก เสวยวิบากแล้วจากการที่หลงคิด หลงสร้างความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา แล้วก็คิดว่าถูก นี่ ...ก็บอกว่า มันผิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว แค่นั้นเอง 


(ต่อแทร็ก 1/30  ช่วง 3)