วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/1





พระอาจารย์

1/1 (25530228A)

28 กุมภาพันธ์ 2553


พระอาจารย์ – ดูแบบเพลินๆ ดูแบบไม่ตั้งใจจะซื้อน่ะ เห็นมั้ย มันจะเป็นแบบอารมณ์ที่สบาย ๆ ลักษณะของมันจะง่ายๆ 

แต่ถ้าไปแบบมีจุดประสงค์ แล้วไปหาอย่างนี้ เห็นมั้ย เหมือนไปซื้อของน่ะ ถ้าจะไปซื้อกระเป๋าซักใบ แล้วต้องการจะไป มันไม่มีอารมณ์ของวินโดว์ชอปแล้ว มันมีอาการของการที่ว่า “ต้อง..ต้องมี ต้องเป็น ต้องหาให้เจอ” อย่างนี้ ทุกข์แล้ว เครียดแล้ว มันจะกังวลแล้ว ...มันจะเป็นกังวลแล้ว

เพราะงั้นการดูนี่ ดูกายดูจิตนี่ ...ให้ดูเหมือนวินโดว์ชอป ดูไปเรื่อย ดูแบบไม่มีเป้าหมายน่ะ ดูแบบฆ่าเวลาน่ะ  ดูแบบผ่อนคลาย เห็นมั้ย มันเป็นการดูแบบผ่อนคลาย ไม่ได้ซีเรียส ไม่ได้จริงจัง แต่มันจะเห็นโดยทั่ว...โดยรวม อย่างนั้น


โยม  มันเหมือนไม่ค่อยชิน ทุกครั้งที่รู้มันจะนานน่ะค่ะตอนนี้ แล้วพอมันนานขึ้นปุ๊บ มันจะเริ่มไปมองค่ะ

พระอาจารย์ – แล้วมันจะค่อยๆ ปรับสมดุลให้เอง สัมปชัญญะ ตัวสติสัมปชัญญะ  มันจะเริ่มถอนออกมา สติมันจะถอนออกมา คือมันถอยออกมา พอมันถอยออกมาปั๊บ มันจะมีอาการเห็นมากขึ้น เห็นได้กว้างขึ้น แต่ถ้าแรงของสติมันแรง มันจะมีการเข้าไปจมหรือว่าจดจ่อ มันจะจดจ่อ


โยม – ทีนี้พอมันนานปุ๊บ มันจะเริ่มมอง แล้วมันก็จะดึงออกมา

พระอาจารย์ –  ก็ไม่เรียกว่าดึงหรอก จริงๆ น่ะ มันเป็นการรู้ตัว เข้าใจมั้ย มันแค่รู้...มันเป็นลักษณะแค่รู้ตัว แต่เราก็ไปเรียกว่าดึง จริง ๆ มันดึงไม่ได้


โยม – คือมันไปเห็นแล้วว่าเราเริ่มมอง มันก็เลยออกมา

พระอาจารย์ – เออ ใช่ เราก็ไปให้ความรู้สึกหรือไปเรียกว่าดึง แล้วถ้าเราไปติดคำว่าดึงนะ เราจะมีอาการไปทำการดึงขึ้นมา เข้าใจมั้ย ... จริง ๆ ไม่ได้ดึงนะ แค่รู้เฉย ๆ  ให้รู้ว่า เออ กำลังมอง แค่นี้ กำลังหา กำลังเข้าไป นี่ แค่รู้แค่นี้มันถอยแล้ว มันหยุดแล้ว มันหยุดการกระทำนั้นแล้ว


โยม – แต่ตอนที่รู้สึกว่าเรามองนี่ คือเราทำใช่ไหม

พระอาจารย์ – ไม่ ... มันเห็น มันรู้ตัว เข้าใจไหม


โยม – แต่ที่มองนั้นมันเบาไปหรือหนักไปไหมคะ

พระอาจารย์ – มันจะเบาลง


โยม – แต่ว่าตอนที่มองนั้นหนักไปใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ – อือ มันถึงรู้ตัวไง รู้ว่าล้ำแล้ว ล้ำ...มันล้ำหน้า มันจะเริ่มส่งออกไปแล้ว ส่งออกไปด้วยอำนาจของสติที่เพียรเพ่ง เป็นอาตาปีน่ะ มันเป็นอาตาปี ... ท่านเพียรเพ่งนี่จริงๆ ท่านให้เพียรเพ่งที่ใจนะ ท่านไม่ได้ให้เพียรเพ่งในสิ่งที่ถูกรู้ บอกให้ 

พอถึงจุดๆ หนึ่งแล้วนี่  แต่ว่าจุดนั้นถึงจะเรียกว่าการเพียรเพ่งได้นี่ คือหมายความว่า ท่านถอนจากรูปนามแล้วนะ หมายความว่าไม่อยู่กับรูปกับนามแล้วนะ ตรงนั้นถึงจะเพียรเพ่งอยู่ที่ใจล้วน ๆ เลย อยู่กับใจล้วนๆ เลย

ภาษามันก็เรียกว่าเพียรเพ่ง  แต่จริงๆ น่ะ สติ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่าสติ สมาธิ ปัญญา นี่ มันรวมลงในที่อันเดียว คือที่ใจ ใจกับสติ ใจกับสมาธิ ใจกับปัญญานี่ ไม่มีความหมายแล้ว เป็นอันเดียวกันหมด ตรงนั้นน่ะถึงเรียกว่าเพียรเพ่งอยู่ที่ใจ อยู่ในที่อันเดียวๆ 

แต่ภาษามันก็เรียกกันไปว่าเพียรเพ่ง แต่จริงๆ ไม่ได้เกิดจากการเพียรเพ่งนะ  เพราะมันไม่ไปไหนแล้ว มันถอยออกจากรูปและนามมาแล้ว มันวางรูปและนามแล้ว คือตอนนั้นเหลือจิตหนึ่งแล้ว เหลือ เอกังจิตตังแล้ว เอโกธัมโมแล้ว เป็นจิตหนึ่งธรรมหนึ่งแล้ว มันจะอยู่ในที่อันเดียว  

แต่ลักษณะพวกเรานี่ยังอยู่กับรูปกับนาม เวลาเรารู้รูปนามนี่ จิตมันอดที่จะเข้าไปสรรหาความจริง เข้าใจมั้ย มันมีความปรารถนาที่ผลักสติเข้าไปรู้ชัดเห็นชัด


โยม – อันนี้ต้องให้เขาปรับของเขาเองใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – ปรับ ด้วยการรู้บ่อย ๆ


โยม – คือถ้าพอมันนานขึ้นแล้วเราไปมองปุ๊บ พอเขารู้ว่ามอง เขาถอนเอง ก็ปล่อยเขาไป มันก็เริ่มกลับมาเบาใหม่ แล้วก็หนักขึ้น แล้วมันก็ถอนออกมาอีก ก็ปล่อยมันไปอย่างนี้

พระอาจารย์ – ใช่ รู้อยู่เนือง ๆ นี่ มันจะเป็นการปรับสมดุล เพราะนั้นการปรับ...รู้ว่าจมเข้าไป หรือรู้ว่าเพ่งอย่างนี้ ขณะที่รู้แต่ละครั้งนี่ มันจะไปเพิ่มตัวสัมปชัญญะขึ้น เกิดการรู้กว้างขึ้น 

ไอ้ตรงที่รู้กว้างขึ้นหรือว่ารู้เบาลง รู้คลายลงนี่ ตรงนั้นน่ะมันจะเกิดสัมปชัญญะ คือเกิดความรู้ตัว รู้ตัวทั่วพร้อม  ไม่ใช่รู้แบบเจาะจง   เพราะลักษณะที่จมเข้าไปนี่ มันจะเป็นการเจาะจง  เจาะจงเน้นเอาแค่อนุพยัญชนะส่วนใดส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นสติที่กอปรด้วยสัมปชัญญะนี่มันจะอยู่ในที่ตั้ง เข้าใจมั้ย ตัวรู้มันจะอยู่ตรงนี้ รู้มันจะรู้อยู่ตรงนี้ พออยู่ตรงนี้มันจะเห็นโดยรอบ มันจะเข้ามาเองแล้วก็รู้ รู้ อย่างนี้ ...ไม่ใช่เราเข้าไปรู้ เข้าใจมั้ย 

มันจะอยู่ตรงนี้...แล้วก็อะไรเข้ามาก็รู้ๆ ไม่ใช่อะไรเข้ามาแล้วเราเข้าไปรู้  ถ้าอย่างนี้มันเรียกว่าเข้าไปรู้  พอเข้าไปรู้บ่อย ๆ นานๆ มันก็เลยไปจดจ่อในสิ่งที่เข้าไปรู้ เข้าใจมั้ย


โยม – พอตอนแรกมันห่างๆ เนี่ยค่ะ พอมันไม่มีอะไรนานๆ มันก็เข้าไปๆ พอรู้ว่ามันเริ่มเพ่งแล้วมันก็ออกมา แต่ว่าเราก็ปล่อยมันใช่ไหมคะ เพราะมันยังเป็นยังงั้นอยู่  คือมันจะเข้าไปก็ปล่อยมันอย่างนั้นก่อน

พระอาจารย์ – ใช่ มันเป็นนิสัย แล้วก็หมั่นรู้กับมันว่าตกเข้าไปในอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์ที่จม เพ่งออกไปแล้ว ส่งออกไป มากไปแล้ว แรงไปแล้ว มันก็จะถอยออก


โยม – พอถอยออกตอนนี้ มันเลยมาที่กายแป๊บนึง แล้วมันก็ตั้งใหม่อย่างนี้

พระอาจารย์ – ใช่ ให้มันปรับสมดุล เพื่อไปเพิ่มสัมปชัญญะ พอสติกับสัมปชัญญะเป็นตัวเดียวกันหรือกลมกลืนกัน หรือว่าเสมอกันแล้วน่ะ มันจะเห็นทั่วแล้ว ตรงนั้นมันจะเริ่มเป็นกลาง รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ เห็นก็ได้ ไม่เห็นก็ได้ 

แต่ตอนนี้มันไม่ได้ เข้าใจมั้ย มันต้องเห็น มันต้องรู้ อย่างนี้ มันมีการทะยานออกไป มันทะยานออกไป ออกนอกฐานที่ตั้งของใจ   มันออกไปรู้ ไม่ใช่รอให้มันเกิดแล้วค่อยรู้  ...เราต้องการออกไปรู้ มีความอยาก เห็นมั้ย ..อยากรู้น่ะ อยากเห็นๆ อยากเห็นตลอดน่ะ  

แต่จริง ๆ น่ะมันอยู่ในฐานที่ตั้ง มีอะไรก็รู้ ไม่มีอะไรก็รู้ อย่างนี้


โยม – แต่ทีนี้พอไม่มีนานๆ มันก็..ฮื้อ ไม่มีจริงๆ เหรอ แล้วมันก็จะเข้าไป

พระอาจารย์ – ใช่ มันจะเข้าไปควาน มันจะมีอาการควานหา เห็นมั้ย ส่งออกนั่นน่ะ มันมีอาการของตัณหาที่ส่งออก


โยม – ถ้าอย่างนี้คือส่งออกแล้วใช่ไหม

พระอาจารย์ – ส่งออกไปหานั่นแหละ  แต่ว่าตอนไม่มีอะไร มันไม่มีอะไรอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาอะไร ก็อยู่...มันก็รู้เฉยๆ ตรงนั้นน่ะ รู้อยู่ที่รู้ ...รู้ที่รู้ ไม่ต้องรู้อะไร มันไม่มีอะไรก็รู้ที่รู้...รู้ว่ารู้...รู้ตัว รู้เฉยๆ อย่างนี้ รู้อยู่กับรู้ ไม่ต้องรู้อะไร เพราะว่ารู้อยู่กับรู้คือรู้ปัจจุบัน เป็นรู้ในปัจจุบัน เป็นรู้ล้วนๆ 

ซึ่งมันไม่อยู่นานหรอก เดี๋ยวมันก็มีอะไรให้รู้ นะ ไม่ต้องกลัวไม่มีอะไรให้รู้  ไม่ต้องกลัวโง่ ผัสสะมีอยู่ตลอด มันพร้อมที่จะรับผัสสะอยู่แล้ว มีตลอดเวลา ... แล้วก็เอาให้ทัน รู้ให้ทันตอนผัสสะแรก หรือความรู้สึกแรก หรือจิตแรก ให้สังเกตจิตแรก


โยม (อีกคน) – ท่านอาจารย์ครับ มันก็จะเกิดขึ้นพั้บๆ ๆ เป็นครั้งๆ ครั้งๆ อย่างนี้นะ แล้วมันก็เปลี่ยนเปลี่ยน

โยม (อีกคน) – ส่วนใหญ่ความเคยชินนี่ฮ่ะ พอ ไอ้รู้คิดแรกหรือความรู้สึกแรกปุ๊บ มันจะมีอะไรไปทำต่อ ที่โยมเคยกราบเรียนท่านไงคะ ว่า เอ๊ ทำไมมันไม่โกรธตอนนี้ แต่ว่ามันไปโกรธทีหลัง แล้วพอเห็นความโกรธเกิดปั๊บ เรากดมันเลย ถูกฝึกมาจนชิน พอโกรธปับ เอ้ย โกรธไม่ได้นะ กดปุ๊บทันที มันเลยกลายเป็นเก็บกดไงคะ คือแม่ดุตอนเด็ก

พระอาจารย์ – เพราะงั้นจิตนี่ โดยปกติธรรมดาเขาดำเนินไปอยู่แล้ว มันก็เหมือนกับวินโดว์ชอปน่ะ มันเดินไปตามถนน แล้วก็มีอะไรเรียงรายข้างทางตลอดอยู่แล้ว 

แต่มันสำคัญไอ้คนที่นั่งรถนี่ซิ มันชอบแวะ เข้าใจมั้ย  มันชอบแวะเข้าไปทำความรู้จัก เข้าไปทำความรู้ชัดเห็นชัดในสิ่งนั้น ๆ กลัวไม่รู้ กลัวโง่ กลัวไม่รู้ว่าผ่านอะไรมาบ้าง แล้วจะละมันไม่ได้ อย่างเนี้ย มันเป็นความเห็นเรา 

แต่จริงๆ น่ะโดยจิตเขาจะดำเนินไปอย่างนั้นอยู่แล้ว  แต่ว่าของพวกเรานี่ไป แล้วมี “เรา” เป็นผู้นั่งรถ เป็นผู้กำกับ ไปปุ๊บ จอดปั๊บ อ่ะ ตรงนี้น่าแวะ เอ้า หยุด ไปจ่อดู ศึกษามัน ศึกษาไปศึกษามาจำได้แว้บๆ เมื่อกี้ผ่านอะไรมาวะ...ถอยกลับมาอีก เข้าใจมั้ย อย่างเงี้ย วนไปวนมาอยู่อย่างนี้ ...มันจะวนอยู่อย่างนี้

หา ..กลับมาหา ที่จำได้ ที่ผ่านมาเมื่อกี้ไม่ทันดูน่ะ ยังไม่ทันเห็นน่ะ เสียดาย อยากรู้  ไม่รู้มันคืออะไร กลับมาดูๆ ถอยกลับมา ...พอดู อ่ะ พอดูปุ๊บ เข้าใจแล้ว สบายใจแล้ว ดีใจ ...กิเลสมันอิ่ม ตัณหามันหยุดไปขณะนึงแล้ว..ไปต่อ  ...เดี๋ยวสงสัยอีกแล้ว เดี๋ยวก็คอยจดจ่อใหม่ เป็นอย่างนี้ 

แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจเลย มันก็ไปของมันเรื่อยน่ะ อะไรก็ได้ จะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม มันก็ดำเนินของมันไป  ไม่ต้องกลัวโง่ เพราะไม่ได้เอาอะไรน่ะ เพราะไม่ได้มาช็อปปิ้งหรือมาหาอะไร หรือว่ามาเลือกซื้ออะไร ก็ดำเนินไป จิตเขาก็ดำเนินของเขาไปอยู่แล้วตามทาง

ทางมันมีอยู่แล้วคือวิบากขันธ์ วิบากทุกข์มันมีอยู่แล้ว ทุกลมหายใจน่ะมันดำเนินอยู่โดยวิบากขันธ์อยู่แล้ว ชีวิตและหน้าที่ต้องมี ก็ต้องทำไปตลอดอยู่แล้ว อะไรก็ได้ อย่างนี้ ไม่ต้องไปวอรี่ หรือไปจับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ... การดูจิตให้ดูผ่าน ๆ พยายามดูผ่านๆ ไม่ต้องกลัวจะไม่รู้อะไร หรือว่าจะไม่เข้าใจกับมัน


โยม – ท่านอาจารย์  ที่ว่ามันก่อภพชาตินี่มันก่ออย่างไร

พระอาจารย์ – ภพชาติที่มันจะก่อยังไงนี่ คือหมายความว่ามันเกิดจากความยินดียินร้าย ...เมื่อเราไปทำขึ้นมาแล้ว ทั้งภายนอกก็ตาม ภายในจิตก็ตาม ทำยังไงก็ได้ให้มันมีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่มันต้องการ 

ตรงนี้ มันจะเกิดมีความพอใจ...แล้วมันยึด...ยึดว่าเป็นเจ้าของ ครอบครองรักษาได้ เอาไว้เป็นของเรา มันเกิดความพอใจ แล้วก็เข้าใจว่าเราทำขึ้นมาแล้ว มันต้องเป็นของเรา มันจะเป็นความเห็น ความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้น 

สุดท้ายแล้วไอ้ของเรานี่ มันรักษาไม่ได้ มันหายไป  ไอ้สิ่งนั้นมันหายไปแต่ไอ้ความรู้สึกว่า "เป็นของเรา" นี่ไม่หาย มันจึงมีความเติมไม่เต็มอยู่ตลอดเวลา มันก็มีความ"หา"  เมื่อความหาไม่หายมันก็เก็บเอาไว้ 

คือไอ้ความอยากได้ที่มันยังไม่หายน่ะ แต่ไอ้ของหายไปแล้วนะ อารมณ์มันหายไปแล้วนะ ภพมันดับไปแล้วนะ แต่ไอ้ความที่จดจำในภพนั้น อารมณ์นั้น แล้วยังคิดว่าเป็นของเรา แล้วก็ยังคิดว่าต้องได้อีก...ยังไม่หายไปไหน

ตรงนี้...นี่คือภพที่เก็บไว้ ภพที่ความอยาก มันเก็บในรูปของความอยากไว้  ... ถ้าเกิดตาย...ตายไป แต่ตรงนี้มันยังอยู่ เข้าใจมั้ย มันก็จะมาแสวงหารูปใหม่ขึ้นมา จับรูปขึ้นมา เป็นรูปใหม่ขึ้นมา เพื่อจะมาตอบสนองความพอใจยินดีหรือยินร้ายในภพที่มันจะต้องมาดำเนินต่อ ...อย่างนี้ภพจึงต่อเนื่องกันไป 

แล้วพอมันได้ สมมุติว่าเกิดมาใหม่ แล้วก็ทำไปตามความอยากใหม่อีก ก็ไปเสพอารมณ์นั้นใหม่ ...ก็ติดใหม่อีก เข้าใจมั้ย ...เออ ได้แล้วก็ดีใจ ดีใจแล้วก็หมดไป หมดไปก็ยังเสียดายอีก เสียดายก็รอเวลาจะหาใหม่อีก...อย่างเงี้ย มันจะวนอย่างเงี้ย

แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องเดียว ไม่ใช่แค่อารมณ์เดียว หรือคนคนเดียว เข้าใจมั้ย ใครก็ตามที่เป็นเครือข่ายว่านเครือเพื่อนสนิทมิตรสหาย เราจะมีความรู้สึกในการเสพทางวาจา เสพทางสายตา เสพทางการกระทำ...เนี่ย มันจะเป็นภพ...ตลอดเวลาเลย เข้าใจมั้ย   ถ้าไม่รู้ทันมัน มีได้ตลอดเลย ...มีได้ตลอด

ถ้าไม่เท่าทันน่ะ มันก็จะเก็บคาราคาซังอยู่อย่างนั้น สะสม เมื่อสะสมเข้ามากๆ นี่มันก็สะสมในรูปของอนุสัยน่ะ เป็นความเคยชินในการแสวงหา ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักพอ จนมันหมักหมม จนมันเป็นอาสวะ หมักดองจนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกับใจน่ะ 

พวกเราจึงว่ามันเป็นของมันเองน่ะ เห็นมั้ย เวลาจะโกรธ มันก็โกรธโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ก็ใจมันเป็นเองน่ะ มันเป็นเองเลย เข้าใจมั้ย ไม่ได้ตั้งใจนะนี่ มันเป็นของมันอย่างเงี้ย ๆ   ก็ไม่ได้ตั้งใจจะชอบนะ มันเห็นคนสวยเดินมา เห็นคนหล่อเดินมา มันชอบขึ้นมาเองนะเนี่ย

พวกเราก็บอกว่าใจมันชอบเองนะ เราไม่ได้ตั้งใจนะ ...นี่คืออาสวะ เข้าใจมั้ย คืออาสวะที่มันหมักหมมจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกับใจ แทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับใจเลย ที่เรียกว่าอาสวะกิเลสนี่  ก็มันก็สะสมมาจากนี่แหละ อารมณ์ที่เราสะสมมา เป็นอนุสัย จนมาเป็นอาสวะหมักดอง

แต่พระพุทธเจ้าบอกว่านี่ไม่ใช่ใจนะ อันนี้มันไม่ใช่ใจนะ มันเป็นแค่สิ่งที่เคลือบแฝงอยู่เท่านั้น อยู่ในอวิชชา ท่านเรียกว่าอยู่ในอัตตาอุปาทาน ...พวกอาสวะนี่มันมาก่อให้เกิดอัตตาอุปาทานขึ้นมา จนดูเหมือนเป็นเนื้อเดียวกับใจเรา 

เหมือนเป็นธรรมชาติของใจ...ที่ต้องมีความรู้สึกอย่างนี้ มีความต้องการอย่างนี้ ... เราไม่เกี่ยวเลย ตอนนี้เราไม่เกี่ยวเลย ไอ้จิตแรกนี่เราไม่เกี่ยวน ..เราไม่เกี่ยวเลย มันเป็นธรรมชาติของจิตเอง แต่เป็นธรรมชาติของอัตตา...ของอาสวะ 

เพราะงั้นน่ะ การที่เห็นตรงนั้นบ่อยๆ หรือว่าเท่าทันในจิตแรก นั่นแหละคือการชำระอาสวะ หรือว่าชำระอัตตาอุปาทาน เพราะขณะที่เห็นจิตแรกปั๊บ...มันจะดับ สัมมาสติตรงนั้นจะเห็นความดับของจิตแรก คือจะเห็นความดับไปของอัตตา ...ของจิตที่เป็นอัตตา

เพราะงั้นไอ้ตัวที่เห็นความดับไปของจิตที่เป็นอัตตา ตรงนั้นเรียกว่าเห็นจิตอนัตตา ตรงนั้นเรียกว่าเห็นอนัตตาของใจแล้ว เห็นจิตเป็นอนัตตาแล้ว ... เพราะงั้นอนัตตานี่อยู่ดีๆ จะไม่เห็นเลยถ้าไม่มีอัตตา เข้าใจรึยัง

เพราะงั้นไม่ใช่มากำหนดเอาได้นะ หรือพิจารณาหรือนึกน้อมเอานะ แล้วบอกว่าไอ้นี่เป็นอนัตตา ไอ้นั่นเป็นอนัตตา ไอ้นี่ว่าง ไอ้นั่นดับ ไอ้นี่เป็นอนัตตา...มันไม่ใช่ เข้าใจมั้ย 

มันจะต้องเห็นจิตแรกเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจนี่แหละ  ...กำลังอ่านหนังสือ ทำงาน มีคนเดินมาปั๊บ เงยหน้าปุ๊บ เห็นหน้าปุ๊บ ...มีความรู้สึกเกิดขึ้นพั้บแรกเนี่ย... ตรงนี้ต้องทัน ตรงนี้ต้องเห็นเองเลยนะ เห็นปั๊บนี่ จะมีอาการหนึ่งเกิดขึ้นเลย ตรงนี้อัตตาอุปาทานเลย พอเห็นปุ๊บดับปั๊บเลย จะดับตรงนั้นเลย เห็นอนัตตาขณะนั้นเลย

แต่ส่วนมากพวกเราไม่ทัน...ไม่ทันตอนนี้ พอเห็นขึ้นมาแล้วก็.."มันมาเดินทำไมวะ"  นี่มันมาเห็นตอน.."มันมาเดินทำไมวะ รำคาญ" เห็นมั้ย ..จิตแรกเกิดตอนไหนยังไม่รู้เลย มาเห็นว่า รำคาญโว้ย อย่างนี้  

อันนี้คือจิตสังขารแล้วนะ เป็นอุปาทานแล้วนะ ตรงนี้ต้องรู้ด้วยสติปัฏฐานแล้ว เข้าใจมั้ย คือรู้ไปตามธรรม ตามจิต ตามเวทนา ...ปัฏฐาน

แต่ตรงขณะแรกถ้ารู้ตรงนั้น ท่านรู้ด้วยมหาสติปัฏฐาน เข้าใจยัง หรือว่าสัมมาสติ  ตัวสัมมาสติแรกนั้นน่ะคือมหาสติปัฏฐาน เป็นสติที่ไม่ได้เกิดจากการจงใจเจตนา...รู้เองๆๆ  เพราะงั้นตัวที่เป็นมหาสติปัฏฐานเท่านั้น จึงจะไปเห็นอาสวักขยญาน เข้าใจยัง 

อาสวักขยญานจะเกิดได้ด้วยมหาสติปัฏฐาน เพราะต้องเห็นจิตแรก ต้องเห็นจิตแรก เท่าทัน เท่าทันในขณะแรกของการเกิดขึ้น และจะเห็นว่า ที่เกิดกับที่ดับ...ที่เดียวกัน ในขณะนั้นเลยๆ  

ไม่ใช่มาเห็นอารมณ์ดับไป ความคิดดับไป ความปรุงแต่งดับไป ไอ้พวกนี้มันเป็นเรื่องของจิตนอกหรืออาการของจิต มันเป็นแค่อาการของจิต

แต่ก็ต้องอาศัยการที่รู้อาการของจิตเนี่ย สะสมปัญญาไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเห็นแว้บๆๆๆ มากขึ้น ถี่ขึ้น เร็วขึ้น เห็นเอง มากขึ้น นะ เพราะงั้นความจางคลายของอัตตาอุปาทานก็จะจางคลายด้วยการรู้ทันแรก เท่านั้นเอง ๆ 


โยม – ที่ครูบาอาจารย์ท่านพูดว่า ต้องเห็นที่ใจนะคะ จะต้องเห็นตรงใจ ตัวนี้เอง

พระอาจารย์ – อือ

(ถามโยมอีกคน) – เป็นไงบ้าง กลับไป


โยม – เห็นสภาวะนึงเจ้าค่ะ แต่ตอนนั่งสมาธินะเจ้าคะ เห็นตอนที่มันดับไป แต่เห็นแป๊บเดียวนะเจ้าคะ แล้วก็ตอนนั่งสมาธิก็เหมือนว่า จิตมัน...หนูไม่เข้าใจว่ามันตกภวังค์หรือไง มันจะวูบไปแป๊บนึง สุดท้ายมันก็กลับมารู้กายอย่างนี้เจ้าค่ะ หรือว่าตรงนั้นมันขาดสติเจ้าคะ

พระอาจารย์ – ขาดสติ ...ไม่ใช่ภวังค์


โยม – ขาดสติใช่มั้ยเจ้าคะ แป๊บเดียวเดี๋ยวกลับมารู้กาย แล้วเดี๋ยวแป๊บเดียวก็ไปอีกอย่างนี้เจ้าค่ะ 

พระอาจารย์ – เป็นอย่างนั้นแหละ นะ  มันเป็นอย่างนั้นแหละ


โยม – มันเป็นอย่างนั้น โดยธรรมชาติอย่างนี้ใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ – เพราะสติน่ะมันไม่สามารถจะรู้ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ...อย่าไปอะไรกับมัน ก็ให้รู้บ่อยๆ อย่างนั้นน่ะ ให้กลับมารู้


โยม – ท่านเจ้าคะ แต่ทีนี้มันเป็นตอนนั่งสมาธินะเจ้าคะ คือในระหว่างวันมันจะไม่เห็นแบบนั้นนะเจ้าคะ

พระอาจารย์ – ระหว่างวันเห็นแบบไหน


โยม – ระหว่างวัน ก็มีมันลืมไปเลย มันก็หลงไปนานน่ะเจ้าค่ะ ทีนี้มันเหมือนว่าเราจะต้องนั่งสมาธิให้บ่อยขึ้นรึเปล่าอย่างนี้เจ้าคะ หรือว่าไม่จำเป็น

พระอาจารย์ – มันไม่ได้เกี่ยวกับนั่งสมาธิบ่อย มันอยู่ที่ว่าต้องขยันรู้บ่อยๆ ระหว่างทำงาน ระหว่างที่หลงน่ะ หลงหายไปน่ะ พยายามขยันรู้ ขยันรู้ อย่าขี้เกียจ ๆ


โยม – บางทีจิตมันไปจมกับการทำงาน แต่อย่างที่เรียนพระอาจารย์ว่าอย่างบางทีไปตลาดจะรู้สึกตัว อย่างนั้นก็ได้ใช่ไหม

พระอาจารย์ –  อือ ให้มันรู้ตัว ๆ ปัญหาของคนทั่วไปน่ะ  คือไปจมอยู่กับงานอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องซีเรียส เพราะว่ามันเป็นวิบากขันธ์ของเรา มันเป็นวิบากกรรมของเราที่จะต้องไปจดจ่ออยู่กับงาน ไม่ทำงานก็ไม่ได้ มันก็เลยให้ความสำคัญกับงานในขณะนั้น


โยม – ที่นี้จิตมันอยากได้แบบว่า เหมือนนั่งสมาธิแป๊บนึง พอความคิดเกิด แล้วทีนี้มันเห็นชัดว่าความคิดมันดับไปเลยอย่างนี้ ทีนี้จิตมันก็อยากเห็นอีกน่ะเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็ให้ทันความอยากนั้นๆ


โยม – มันจะมาหลุดตอนช็อทสอง มันจะไม่ทันตอนแรก

พระอาจารย์ –  เพราะจริงๆ น่ะ ในสมาธิไอ้ที่เราเห็นความดับไปในขณะนั้นน่ะ มันไม่ได้เห็นความดับไปตามความเป็นจริงหรอก มันมีการกระทำอยู่ เข้าใจมั้ย การกระทำของสมาธินี่แหละ แรงของสมาธินี่แหละ เวลามันไปกำหนดรู้ปั๊บ มันดับปั๊บเลย ...มันมีกำลังของสมถะเข้าไปทำให้มันดับ


โยม – ก่อนที่จะนั่งสมาธิมันจะเกิดความอยากค่ะ  แบบอยากนั่งๆ อย่างนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะว่าเราอยากเห็นความดับ...ลึกๆ น่ะมันอยากเห็นความดับ  เวลานั่งแล้วมันมีกำลัง ...พอรู้ปุ๊บมันเลยดับ ตามที่เราตั้งสัจจะอันนั้นไว้  

เพราะนั้นน่ะ มันเป็นการ..แค่ ทำขึ้นมา แล้วก็ให้เห็น..ชัด รู้ชัดว่าอาการมันเป็นอย่างนั้น เท่านั้นเอง


โยม – พระอาจารย์เคยบอกว่าให้รู้เบาๆ

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วไง มันจะรู้เบาๆ ได้ก็ต่อเมื่อไม่ตั้งใจ เวลาทำงาน เวลาหลง เวลาลืมอย่างนี้ มันถึงจะเห็นได้เบาๆ เห็นได้ตามความเป็นจริง เพราะว่าความหลงความลืมก็เป็นความจริงอันนึง  นะ

แต่ว่าในขณะที่เราอยู่ในท่าทางการภาวนาเมื่อไหร่ปั๊บนี่ เราจะสร้างภาพเสมือนจริงมาหมดเลย ที่เราจำลองขึ้นมา จำลองจิต จำลองอาการ คอยควบคุม คอยระวัง คอยรักษา อยู่แล้ว  มันจึงเป็นไปตามกระบวนการ ทั้งหมดเลย เป็นไปตามกระบวนการที่เราตั้งเป้าเอาไว้หมดเลย 

ที่เราอยากเห็น...เขาก็แสดงอาการให้เห็นอย่างนั้น  แค่นั้นเอง แต่ไม่ใช่ของจริง  ถ้ามันเป็นของจริง มันก็ต้องมาเห็นตอนทำงานสิ ไอ้นี่สิของจริง ... ไอ้นั่นของเทียม เฟคเอา เมคเอา ยังมีอาการนั้นอยู่

แต่ก็ไม่ได้ผิดมาก...ถ้าเราเข้าใจ มันก็จะเห็นกระบวนการของมันในขณะนั่งนั่น ว่าอ้อ มันเกิดอย่างนี้ มันดับอย่างนี้นะ เวลานั่งเราจะเห็นชัด ก็แค่รู้ เออ มันมีการเกิด มันมีการดับไปอย่างนี้  

แต่ว่าในชีวิตจริงมันไม่ใช่อย่างนี้ ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนี้ มันจะเห็นแค่อาการที่แปรปรวนไป เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เท่านั้นเอง


โยม – หนูก็จำคำพระอาจารย์ว่ารู้เบาๆ ...แต่ที่นี้ตอนนั่งสมาธิมันรู้หนักๆ

พระอาจารย์ –  ถ้าตั้งใจทำขึ้นมาแล้วน่ะ มันเป็นอย่างนั้นหมดน่ะ


โยม – แต่ในขณะที่นั่ง หนูก็ไม่ได้ว่าจะตั้งใจ คือตั้งใจจะนั่งนะเจ้าคะ แต่ตัวที่มันเห็นน่ะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละๆ มันมีอาการทะยานเข้าไปแล้ว พร้อมแล้ว เริ่มต้นก็ตั้ง...ตั้งท่าก่อนแล้ว ตั้งท่า มันตั้งท่า...เตรียมพร้อมแล้วๆ 

ก็ทำไป…เราบอกว่านั่งน่ะ นั่งได้ กำหนดได้ กำหนดไป  แต่ก่อนจะเลิกนั่ง ก่อนจะลุก ให้ลืมตาแล้วก็นั่งเฉยๆ ไม่ต้องกำหนดอะไร นั่งอยู่ไม่เอาอะไรทั้งสิ้น แล้วปล่อยเลย ไม่เอาอะไร ...ให้ลองดู 

ปล่อยเลย ดูซิมันจะเป็นยังไง ...จิตก็ไม่คุม อะไรก็ไม่คุม อะไรก็ไม่ทำ แล้วดูซิมันจะเป็นยังไง ไอ้ตอนนั้นให้สังเกตดูด้วย ...แล้วมันจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน 

ว่าอันนี้ทำโว้ย ...แล้วลองไม่ทำดูซิ ตอนนั่งอยู่แล้วลืมตา ไม่กำหนด พุทโธก็ไม่เอา ลมก็ไม่ดู ... นั่งเฉยๆ ดูซิ มันจะมีอะไรเกิดขึ้นตรงนั้น ให้เห็น ...นั่นน่ะความจริง มันจะได้แยกออก ว่าอันไหนจริง อันไหนสร้างขึ้นมา เข้าใจมั้ย


โยม – มันก็เปรียบเทียบสองอันนะเจ้าคะ แต่รู้ว่า...ระหว่างวันมันจะเบาๆ ธรรมดาๆ  แต่ถ้าทำนี่...รู้สึกจิตมันชอบ จิตมันชอบตอนทำ

พระอาจารย์ – ใช่ เพราะมันแรง เพราะมันชัด


โยม – แรง แบบแหม..สะใจดีเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  อือๆ ..มันเป็นความรู้สึกน่ะ...ได้เวทนา ได้ความชัดของอารมณ์ หรือเห็นอารมณ์ชัดเจนในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปอย่างชัดเจน 

แต่บอกให้เลย ในชีวิตจริงจะไม่ชัดเจนขนาดนั้น จะไม่ชัดเจนอย่างนั้น จะเป็นทั่วๆ ..เกลือกกลั้วกันไป 

เพราะนั้นจะเป็นอาการแค่ว่า เป็นกลาง แล้วก็สมดุล แล้วก็เห็น เห็นทั่วๆ ... รู้เบาๆ แล้วมันจะเห็นทั่วๆ แค่นั้นเอง เห็นแบบใส่ชื่อเรียกชื่อยังไม่ถูกเลยว่าอะไรเป็นอะไร ...มันจะเป็นอย่างนั้น


(มีต่อ แทร็ก 1/2) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น