วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/2



พระอาจารย์

1/2 (25530228B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

28 กุมภาพันธ์ 2553


โยม – พระอาจารย์คะ มันหารูปตอนไหน ...โยมนึกไม่ถึง มองไม่เห็นว่ามันไปหารูปตอนไหน ที่มันยึดภพชาติไว้แล้ว มันฝังอะไรไว้แล้ว เป็นอาสวะแล้ว แล้วมันไปหารูปยังไง ที่มันจะหารูปใหม่มา เพื่อจะสนองไอ้ความต้องการเก่าๆ อย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ – ความคิดของเรานี่แหละ เข้าใจไหม เวลาเราคิดอะไรขึ้นมา นั่นแหละคือรูป นั่นแหละคือหารูป คือมันเป็นรูปารมณ์ ... เข้าใจคำว่ารูปที่เป็นรูปในนามไหม คือรูปารมณ์ เพราะฉะนั้นเราจะทำอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่มีรูปารมณ์ จะไม่ได้รูปภายนอกเลยถ้าไม่มีรูปารมณ์  เข้าใจมั้ย 

นั่นน่ะ รูปและนามมันเกิดพร้อมกัน ตรงนั้น  ไม่ใช่รูป(ร่างกาย)นี้  รูปนี้มันเป็นส่วนนอก  ...แต่มันจะหารูปและนามภายในก่อน สร้างรูปและนามก่อน


โยม – สร้างไว้ในจิต

พระอาจารย์ – อือ ในความคิด นั่นแหละ ในสังขาร ... คำว่าจิตสังขารน่ะ อวิชชา ปัจจยา สังขาร  ความหมายของคำว่าสังขาร...สังขารนี่ไม่ได้แปลว่าความคิด...โดยตรงนะ สังขารแปลว่า เอามาผสมกันๆ แล้วให้มันเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา 

ตรงนี้ท่านเรียกว่าสังขาร คือการเอามารวมกัน จับเล็กผสมน้อย จับอารมณ์ จับความจำ จับความจำ..ก็จำในอารมณ์ จำในรูปที่ผ่านมา ในสภาวะต่าง ๆ แล้วเอามารวมกัน ก็กลายมาเป็นนามและรูปที่เราต้องการ หรือว่าเรื่องราว หรือว่าอะไรก็ตามขึ้นมา

ตรงนี้มันจะรวมกันขึ้นมา ตรงนี้ถึงเรียกว่า ขันธ์ ...อุปาทานขันธ์เกิด  อุปาทานขันธ์มันเกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง คือเอาไอ้นั่นเอาไอ้นี่มารวมกัน เพราะฉะนั้นการปรุงแต่งนี่  ถ้าเป็นพวกเราทั่วไปส่วนมาก ก็จะปรุงแต่งเกี่ยวกับรูป เกี่ยวกับเรื่องราว กับการกระทำ อันนี้เรียกว่ารูปารมณ์ หรือว่า รูปภพ หรือว่ากามภพ 

แต่พอมันละเอียดไปปุ๊บนี่  จิตสังขารมันจะวางเรื่องรูปารมณ์ แต่มันจะจับมาเป็นอรูป คือเป็นอารมณ์ที่ไม่ข้องกับรูป คือเป็นความรู้สึกล้วนๆ  ความละเอียด ความประณีต ความว่าง ความไม่มีอะไร อย่างนี้ก็จะมาเป็นอรูปารมณ์  คือเป็นอารมณ์ที่ไม่ได้เนื่องด้วยรูป ...ก็เป็นอุปาทานอย่างหนึ่ง แต่มันละเอียดกว่าๆ

แต่ว่าความคิดของคนเราโดยทั่วไป มันจะอยู่ที่รูปารมณ์ แล้วก็กามภพ เรื่องความพอใจไม่พอใจที่ขึ้นมาเป็นอารมณ์  เพราะฉะนั้นไอ้อารมณ์พอใจไม่พอใจของคนทั่วไป ก็จะเป็นความพอใจไม่พอใจในเรื่องของรูป หรือว่ากามวัตถุ หรือว่าวัตถุกาม 

วัตถุที่ตั้งแห่งกาม คือธาตุทั้ง 4  บุคคล สัตว์ สิ่งของ มันจะอยู่กับวัตถุกาม หรือรูป ขึ้นด้วยรูป ข้องด้วยรูป ...จิตมันก็ขยันสรรหา สรรหาพวกนี้ รูปนั้นรูปนี้ การผสมนั้นผสมนี้ แล้วมันจะมีความละเอียดของความรู้สึกนั้นๆๆๆ ...ความน่าใคร่ เข้าใจมั้ย 

ความน่าใคร่ในการเข้าไปเสวย เข้าไปมี เข้าไปเป็น ตรงนั้น  หรือว่าถ้ามันเคยมีเคยเป็นตรงนั้น มันก็จะเกิดความพึงพอใจลึกๆ  ท่านเรียกว่านันทิราคะ ...เพลิดเพลิน พอใจ อิ่ม ซาบซ่าน...ในความรู้สึก ในรูปที่เราตั้งขึ้นมาในความคิด 

แล้วมันจะเป็นตัวแรงที่ผลักดันให้เราต้องไปทำให้มันได้มา มีมา เพื่อให้เราเสวยมัน ได้เสพกับมัน ได้เสพอารมณ์นั้นๆ ด้วยความไม่เท่าทัน

เพราะฉะนั้นภพนี่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ภายในก่อน แล้วค่อยไปสร้างที่ภายนอก ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ว่าภายในมันก็เก็บไว้ อันไหนได้ก็เก็บ อันไหนไม่ได้ก็เก็บ ...มันเก็บทั้งสองอย่างๆ 

รอเวลา..รอเวลาเท่านั้น ได้ก็ดี ไม่ได้ก็รอวันหลัง วันหลังดันตายก่อนก็รอชาติหน้าอย่างนี้ ...รอไปเรื่อย รอไปเรื่อยๆ


โยม (อีกคน) – โอ้โห อันตรายนะภพชาตินี่

โยม – แล้วงี้ถ้าเสพให้มันอิ่ม ให้มันเต็ม ให้มันพอ

พระอาจารย์ – ไม่มีคำว่าพอ ...นัตถิ ตัณหา สมานที เคยได้ยินไหม ..แม่น้ำเสมอด้วยตัณหานั้นไม่มี ...เหมือนกับแม่น้ำไม่เคยอิ่มไม่เคยเต็มกับฝั่ง เออ ถ้ามีน้ำมาเมื่อไหร่ ไอ้ฝั่งเราว่าสูงแล้วนะ มันก็ยังมีล้นฝั่งไปเรื่อยๆ ท่านถึงบอกว่า นัตถิ ตัณหา สมานที...แม่น้ำเสมอด้วยตัณหานั้นไม่มี

เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่าให้มันเสพไปจนเบื่อ ให้มันเสพเข้าไปจนชิน ให้มันเสพเข้าไป...ยังไงก็ไม่มีทางพอ จะไม่มีทางพอๆ  ... จะพอ จะหยุดได้...ต้องหยุด หยุดก่อน  ...หยุดก่อน หยุดการกระทำนั้นๆ 

เพราะฉะนั้นระหว่างที่หยุดแล้วนี่ มันจะเกิดอาการดิ้น ดิ้นเหมือนลงแดงน่ะ เพราะว่า...ของเคยกิน บ่ได้กิน  ของเคยทำ บ่ได้ทำ เนี่ย มันจะเป็นความรู้สึกอย่างนั้น เหมือนขาดอะไรไป คล้ายๆ กับบกพร่อง มันพร่อง คล้ายกับมันพร่องไป ...มันคิดเอาเองทั้งนั้นน่ะว่ามันพร่อง แต่ในความเป็นจริงน่ะมันเกิน


โยม – ไอ้อันนี้นะค่ะท่านอาจารย์ มันก็ทำให้เรานึกว่า คนที่มีอาชีพอะไรในปัจจุบันนี่ มันพอใจไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ มันก็ไปก่อภพก่อชาติ ชาติหน้าก็อาจมีอาชีพอย่างนี้ได้อีก

พระอาจารย์ –  อือ เหมือนกับนักปฏิบัติน่ะ อาชีพเป็นนักปฏิบัติ ตายมาเกิดใหม่ก็มาเป็นนักปฏิบัติใหม่


โยม – ค่ะ ... เพราะว่าตอนนี้มันจับอรูปเอาไว้

พระอาจารย์ – ชอบนั่งสมาธิ ตายมาเกิดใหม่...ก็มานั่งสมาธิต่อ ถ้ายังติดอยู่กับการกระทำ ...เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นสีลัมพตปรามาสอยู่ร่ำไป ในการกระทำนั้นๆ  

ทำอะไรก็ติดอันนั้นแหละ บอกให้เลย ถ้าไม่รู้ ..ถ้าไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร ทำไปเพื่ออะไร ทำไปแล้วได้อะไร ทำแล้วจะละมันได้อย่างไร

เพราะนั้นต้องเข้าใจก่อนน่ะ ด้วยปัญญา  ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ อย่างนี้ มันถึงจะเข้าใจ มันจะทำไปพร้อมกับละ ละในสิ่งที่เรากระทำไปด้วย ไม่ข้องกับการกระทำของตัวเอง อย่างนั้นน่ะ 

ถึงว่าระหว่างทำก็ละสีลัมพต ละสักกาย ละวิจิกิจฉาไปในตัวอยู่แล้ว มันถึงจะมีวันจบ ...ถ้าไม่อย่างนั้นก็ทำแล้วมันจะสะสมไปเรื่อย สะสมความเคยชิน ทำไปเรื่อย ทำไปเหอะ...มันไม่เต็มหรอก 

สมาธิน่ะ นั่งเข้าไปเถอะ ดูเข้าไปเถอะ สงบเข้าไปเถอะ เห็นเข้าไปเถอะ ...วันนี้เห็นอย่าง พรุ่งนี้เห็นอีกอย่าง บอกให้เลย พรุ่งนี้เห็นอีกอย่าง วันมะรืนนี้ก็เห็นอีกอย่าง เราว่าแน่แล้ว มันมีแน่กว่าให้เราเห็นอีก บอกให้เลย ไม่มีคำว่าพอหรอก

แต่มันไม่ใช่ความจริงน่ะ มันก็จะหลอกว่ามันมีความจริงเหนือกว่านั้นอีก มีความจริงที่เหนือกว่านั้นอีก ในสิ่งที่เห็นน่ะ  ...มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เห็นเท่านั้นเอง ไม่ใช่ความจริง เข้าใจมั้ย ไม่ใช่ตามความเป็นจริง แต่มันเป็นภาพเสมือนเท่านั้นเอง หรือว่าเป็นนิมิตๆ เป็นนาม เป็นรูปที่ปรากฏในขณะนั้น แต่มันมาพ้อง พ้องเสียง พ้องธรรม เท่านั้นเอง พ้องรูป พ้องนาม


โยม – อันนี้ที่เป็นปฏิจจสมุปบาทใช่ไหม คล้ายกันไหม

พระอาจารย์ – ก็อย่างนั้นแหละ คือทุกอย่างมันอยู่ภายใต้กฎของปฏิจจสมุปบาทอยู่แล้ว การต่อเนื่อง  ... แต่ว่าจะเป็นปฏิจจสมุปบาทในสายเกิด หรือว่าปฏิจจสมุปบาทในสายดับ ...ถ้าตั้งใจทำน่ะ มันก็สายเกิด ถ้าไม่ตั้งใจทำมันก็สายดับ เอาอย่างนี้แหละ ...จะไปสายไหน


โยม – พระอาจารย์คะ แล้วแบบที่นั่งสมาธิแล้วเห็นภพนี่ก็คือภาวนาเพื่อจะเอา

พระอาจารย์ –  ก็ถูกต้อง วันนั้นเราก็บอกแล้วว่าภาวนาเอาคืออะไร ใช่มั้ย แต่ภาวนาไม่เอาอะไรน่ะ ...ถ้าอย่างนี้เราจะไปศึกษาปฏิจจสมุปบาทในสายดับ คือไม่มี..ไม่เป็น ยอมรับในการไม่มีไม่เป็น ก็จะเห็นความดับไปๆๆ  ตามเหตุและปัจจัยแห่งการดับ เพราะเราไม่ต่อหรือว่าสร้างขึ้นมา  

ถ้าสร้างขึ้นมาก็หมายความว่าเราก็สร้างปัจจัยแห่งการเกิดๆๆ  ถ้าขึ้นด้วยว่าสร้างปัจจัยแห่งการเกิด มันไม่มีคำว่าหยุดหรอก มันก็เกิดได้ตลอด


โยม – พระอาจารย์คะ อย่างงั้นแสดงว่าไอ้นิมิตที่เกิดขึ้นมา ก็คือใจเราสร้างขึ้นมาเองใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – ถูกต้องๆ ...ไม่มีอะไรลอยมาหรอก บอกให้เลย ไม่มีดวง ไม่มีเคราะห์ ไม่มีความบังเอิญ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งการกระทำ แต่เราไม่เห็นเองว่าเรากระทำอย่างไร ก็เลยมั่ว มั่วว่ามันมาเอง มันเป็นเอง ไม่มีหรอก  

พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเรื่องโชค วาสนา ดวง บังเอิญ...ไม่มี  ทุกอย่างเกิดด้วย...สิ่งนี้เกิด..สิ่งนี้จึงเกิด สิ่งนี้เกิดมาก..ไอ้นี่ก็เกิดมาก สิ่งนี้เกิดน้อย..ไอ้นี่ก็เกิดน้อย สิ่งนี้ดับ..สิ่งนี้ก็ดับ สิ่งนี้ดับ..สิ่งนี้ก็ดับ ไอ้นี่ดับมาก..ไอ้นี่ก็ดับมาก เข้าใจมั้ย มันเป็นอย่างนั้น 

ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ลอยมา ถูกหวยรวยเบอร์ โห วันนี้ดวงดี โชคดีถูกหวย ไม่มีอ่ะ ถ้ามันไม่ทำบุญมา ไม่เคยสร้างเหตุประกอบเหตุปัจจัยอะไรมานี่ ไม่มีทางหรอกที่จะถูกหวยด้วยความบังเอิญ...ไม่มี

เหมือนกัน ..การที่เราจะเห็นอะไรในสมาธิ เห็นอะไรอย่างนั้น เห็นอะไรอย่างนี้  มันมีเป้า หรือว่ามีการกระทำลึกๆ อยู่แล้วในจิต ...เราไม่รู้ตัวหรอก แล้วเราก็โมเมว่า..โอ เห็นเลยๆ

ดูสิ ลึกๆ น่ะ แค่ก่อนจะนั่ง มันก็เห็นแล้วว่าอยากนั่ง แต่เราไม่ได้เห็นต่อไปว่า “อยากเห็นสภาวธรรม” เข้าใจไหม แต่มันมีแล้ว...มันปรารถนาไว้แล้ว


โยม – ใช่ค่ะ มันมีอยู่แล้วฮ่ะ

พระอาจารย์ – แต่เราบอกแล้วไงว่าให้เข้าใจ เราไม่ได้ห้ามนะ ...ไม่ห้าม แต่ให้เข้าใจ มันเป็นแค่ภาพจำลองเท่านั้นเอง... ยังไม่จริง 

ถ้ามันเห็นจริงน่ะ โยมจะไม่มาทุกข์กับการทำงานเลย ใช่รึเปล่า มันจะวางได้เลย มันจะเข้าใจเลย อย่างนั้นน่ะ ถึงจะเรียกว่าเห็นจริง เห็นตามความเป็นจริง ...ซึ่งมันต้องอาศัยสติธรรมชาติ สติเบาๆ นี่แหละ สติที่มีเหมือนไม่มี

ถ้าเห็นปุ๊บมันปล่อยเลย ไม่มีปัญหาเลย ไม่ทุกข์เลย อย่างนั้นน่ะของจริง ... แต่ถ้าเห็นแล้ว ..เอ๊ะ ทำไมยังทุกข์อีกวะ ..เอ๊ะ ทำไมยังไม่เข้าใจอีกวะ นี่เข้าใจไหม มันยังไม่ใช่ ... ให้ดูไป ยังไม่ใช่ซะทีเดียว มันเป็นภาพเสมือนให้เราเรียนรู้เท่านั้นเอง ว่าความจริงมันมีอยู่อย่างไร



โยม – แต่ความอยากนั่งสมาธิมันไม่ได้เกิดแค่วันเดียวนะเจ้าคะ อีกวันมันก็ยังอยากอยู่ ก็มันอยากเห็นสภาวะ ที่พระอาจารย์บอกมันจะสร้างขึ้น

พระอาจารย์ –  ก็ดีนี่ ให้รู้ไว้อย่างนี้ รู้ว่ามีความอยาก  ... ก็บอกแล้วว่า อย่างน้อยนี่คือกุศลกรรม ถึงการกระทำนี้...แม้จะเป็นการกระทำขึ้นมาก็ตาม แต่ก็เรียกว่าเป็นกุศลกรรม มันมีอานิสงส์ที่เป็นบุญอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว ...ก็ยังดีกว่าไปฆ่า ไปนั่งด่าคน ไปตีหัวคน ซึ่งเป็นอกุศลกรรม

การภาวนานี่มันก็เป็นกุศล มันมีอานิสงส์ มันก็ทำให้เราเข้าใจได้เรียนรู้  แต่ก็บอกแล้วว่า...ศึกษาเพื่อไม่ให้ติดข้อง ก็หมายความว่าก่อนจะเลิกนั่งให้ลองดู มันจะได้จดจำไว้ว่า ทำเป็นอย่างนี้ ไม่ทำเป็นอย่างนี้นะ ปกติของมันจริงๆ น่ะ ไม่ทำก็จะเป็นอย่างนี้แหละ  

มันไม่ใช่ว่าดีกว่าหรือไม่ดีกว่า แต่ให้เรียนรู้ความเป็นจริง...ระหว่างสิ่งที่เราว่าไม่ทำๆ น่ะ  ลองไม่ทำจริงๆ ซิ มันจะเป็นยังไง เดี๋ยวมันจะเห็นเลยว่ามันเป็นยังไง ธรรมชาติของกาย วาจา จิต ที่ไม่มีการกำหนด มันจะไปเรื่อยเปื่อยเลยแหละ


โยม – มันก็จะเบาๆ มันต่อเนื่องมากกว่า

พระอาจารย์ –  เออ อย่างนั้นแหละ เห็นไหม มันจะไม่มีคำว่ารู้ชัดเห็นชัดอะไร หรือว่าไปเห็นสภาวธรรมอะไรอย่างที่เขาว่า เขาเล่าว่า หรือว่าในตำราเลย ไม่มีภาษาด้วยซ้ำ ไม่มีความหมายด้วยซ้ำ แค่เห็น เห็นก็ยังเป็นแค่สักแต่ว่าเห็นเลย บอกให้ เห็นแล้วก็ผ่าน ไม่ได้ว่าอะไร ... มันก็ไม่ว่า เราก็ไม่ว่า


โยม – มันก็เลยเกิดความรู้สึกที่ว่า พระอาจารย์บอกให้รู้เบาๆ แต่ของหนูมันรู้หนักๆ หนูก็เลยว่ามันต่างกันอยู่แล้ว

พระอาจารย์ –  ให้มันแยกแยะไปเรื่อยๆ นะ มันจะค่อยๆ เข้าใจเองว่า สุดท้ายแล้วมันจะอยู่ที่ว่า...ไม่ทำอะไรเลยจริงๆ...จะถึงตรงนั้น 

แล้วก็ไม่ได้อะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาใหม่  ธรรมก็ไม่ต้องไปหาใหม่ ดูตรงไหนก็เห็นตรงนั้นแหละ เข้าใจมั้ย ไอ้สิ่งที่เห็นนั้นน่ะ เรียกว่าธรรมหมดแหละ


โยม – แต่มันก็แป๊บเดียวเองนะเจ้าคะตอนนี้

พระอาจารย์ –  ก็ให้แป๊บบ่อยๆ เนืองๆ หมั่นๆ ความเพียรน่ะ ต้องอาศัยขยันรู้เนืองๆ 

เมื่อเราทำความเนืองๆ ประจำ ซ้ำซาก ในการที่กลับมารู้บ่อยๆ ซ้ำซากบ่อยๆ นี่ มันจะพัฒนาขึ้นไปเป็นการเห็น...มันจะเห็น  พอเห็นแล้วนี่ มันไม่ต้องมาเตือนสติหรอก มันจะเห็น  พอรู้ปุ๊บมันจะเห็นเลย เห็นเป็นระยะเวลานาน เห็นทั่ว เข้าใจมั้ย 

อย่างสมมุติว่าหาย หลงไป แล้วพอรู้ว่าหลงปุ๊บ พอรู้ปุ๊บนี่มันจะเห็นเลย เห็นต่อเนื่อง อย่างนั้นน่ะ คือมันจะเกิดพร้อมกันทั้งระหว่างสติกับสัมปชัญญะด้วย  ...แต่ว่าในระยะแรกนี่ เราจะต้องรู้เนืองๆ รู้อยู่เนืองๆ ขยันรู้หน่อย ขยันกลับมารู้


โยม – พระอาจารย์ ตอนที่มันวูบลงไป แล้วกลับมารู้กายปุ๊บ มันก็จะรู้สึกสดชื่นมานิดๆ  แล้วเดี๋ยวมันก็วูบ ขาดสติ เดี๋ยวก็กลับมารู้กาย เดี๋ยวก็กลับมาวูบอีก

พระอาจารย์ –  อือ สติมันไม่เที่ยง เป็นอย่างนั้นแหละ ...ไอ้วูบๆ ไปนี่ คือขาดสตินะ ไม่เรียกว่าภวังค์ 


โยม – ขาดสติ หนูนึกว่าหลับไปด้วย พอดีมันนั่งใกล้เตียง

พระอาจารย์ – คำว่าภวังค์...ภวังคจิต ความหมายของคำว่าภวังคจิต คือรอยต่อของการเกิดกับการดับของอารมณ์ เช่นว่ากำลังสบายใจ เฉยๆ แล้วมีใครเอาอะไรมาขว้างบ้านแล้วก็จิตหงุดหงิดขึ้นมา โกรธขึ้นมาปุ๊บนี่ มันเปลี่ยนจากไม่มีอะไรหรือว่าสบาย เฉยๆ มาเป็นหงุดหงิดทันที

นี่ ระหว่างนี้มันมีรอยต่อ เข้าใจไหม  ตรงนี้มันจะมีการดับไปของอารมณ์หนึ่ง แล้วมาเกิดอารมณ์หนึ่งทันที ระหว่างรอยต่อตรงนี้ ท่านเรียกว่าภวังคจิต

เพราะฉะนั้นโดยสติปัญญาของพวกเรานี่ จะไม่เห็นภวังคจิตหรอก  มันมองไม่เห็นหรอก แต่ว่ามันมีอยู่ในรอยต่อของมันนั่นแหละ  ...เพราะฉะนั้นไอ้ที่ว่าตกภวังค์น่ะ บ้ารึเปล่า มีแต่ขาดสติ ถ้าเป็นช่วงไปขนาดนั้นนะ มันวูบไปขนาดนั้น ...ไม่ใช่

เพราะฉะนั้นไอ้ที่เราพยายามดูให้เห็นมันเกิดดับนี่ คือจะไปดูให้ทันภวังคจิตนะ ซึ่งมันเกิน...เกินสติปัญญาของเรา ในลักษณะที่จะไปเห็นรูปนามดับและต่อเนื่อง หรืออารมณ์ดับแล้วต่อเนื่องโดยทันทีทุกขณะไปในชีวิตประจำวันนี่ ยากมาก ทำไม่ได้  

แต่มันจะเห็นตรงไหนได้ ... เห็นตรงจิตแรกเท่านั้น  จิตแรกที่เกิดและสัมมาสติจะเห็นความดับไปทันที ตรงนั้น ขณะนั้น เข้าใจไหม ...แต่ว่าไม่ใช่เห็นการดับหรือการต่อเนื่องของอารมณ์

เพราะฉะนั้นไอ้ที่การดับหรือต่อเนื่องของอารมณ์นี่ท่านให้พิจารณาให้เห็นความแปรปรวน ท่านเรียกว่าความเป็นอนิจจัง เข้าใจไหม เห็นความไม่เที่ยง เป็น curve น่ะ ขึ้นๆ ลงๆ หายมั่ง รู้มั่ง ...นี่คือความไม่เที่ยง ให้พิจารณาความไม่เที่ยง 

อย่าไปจดจ่อ...เพราะนั้นจิตมันจึงมีการเพ่งเพื่อจะไปดูความดับ เข้าใจมั้ย เพราะจะไปดูความเกิดดับๆ นี่มันจึงไปเป็นการเพียรเพ่งโดยไม่รู้ตัวเลย เป็นการจดจ้อง เป็นการสร้างภาพขึ้นมาให้มันเห็นอย่างนั้น มันก็เห็น  เข้าใจมั้ย

แต่จริงๆ น่ะ มันจะเห็นความเกิดดับของรูปและนามได้ หรือว่าญาณที่เห็นรูปนามเกิดดับนี่ จะต้องเป็นสัมมาสติเท่านั้น คือขณะจิตแรกที่เกิด แล้วจะเห็นความดับไปของรูปและนามพร้อมกันในขณะเดียวกัน  

แต่ไม่ใช่มาเห็นตอนนี้ ตอนมีอารมณ์หรือว่ากำลังรู้สึกอะไรอย่างนี้...แล้วจะเห็นความเกิดดับของรูปนามในขณะนี้ ไม่ได้เลยนะ มันคนละเรื่อง ...มันจะเห็นแค่การแปรปรวนของขันธ์ ความไม่เที่ยง ควบคุมไม่ได้ เป็นทุกข์

เพราะฉะนั้นท่านบอกให้พิจารณาไตรลักษณ์นะ ท่านไม่เคยบอกให้พิจารณาความเกิดดับนะ ใช่ไหม พระพุทธเจ้าท่านบอกให้เห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง  ไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง ควบคุมไม่ได้ แล้วไอ้สิ่งที่เรารู้อยู่มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ เพราะมันควบคุมไม่ได้นี่แหละคือทุกข์ เข้าใจไหม

ไม่เห็นบอกเลยว่าให้ดูความเกิดดับตรงไหน  แล้วทำไมจะต้องไปดูความเกิดดับของรูปและนาม

ที่เรามองเห็นรูปแล้วก็คนเดินผ่านไปแล้วก็ดับ  ดูกายตอนนี้มันดับไหมนี่  มันดับไหมนี่ มันจะเห็นความดับของกายตรงนี้ได้ยังไง  มันไม่ดับหรอก เพราะมันมีความต่อเนื่อง ๆ ๆ  ...ถ้าจะดับก็ต้องไปดูเข้าไปในภวังคจิตสิ มันดูได้ที่ไหน มันดูไม่ได้ มันไม่เห็นหรอก


โยม – เมื่อก่อนโยมเห็นเขาพูดกันอยู่เรื่อยเกิดดับๆๆ แล้วไอ้เราก็พยายามจะไปเห็นอย่างเขา มันก็ไม่เห็นมีสักที

พระอาจารย์ –  คนพูดก็ไม่เข้าใจ คนตามก็ไม่เข้าใจ แล้วก็มาคุยกัน มันก็ไปกันคนละทิศละทาง แต่ละคนมันเห็นไม่เหมือนกัน


โยม – แต่ไอ้ตรงที่ไตรลักษณ์นี่สังเกตเห็นได้

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้นท่านให้เห็นไตรลักษณ์ ท่านไม่ได้ให้เห็นความเกิดดับ  ...มันไปจำเอาคำว่าญาณที่เห็นนามรูปเกิดดับมา เพื่อจะให้เห็นความเกิดดับทั้งทั่วไปนี่เกิดดับ ...ซึ่งมันคนละขั้นตอนกัน คนละขั้นตอน 

ตัวที่จะเห็นนามรูปเกิดดับต้องเห็นภายใน เห็นด้วยสัมมาสติ ...ที่เราบอกนี่ เช่น กำลังเขียนหนังสือเงยหน้าขึ้นมา มีอารมณ์ปุ๊บ..เห็นปั๊บ เห็นโดยที่ไม่ได้ตั้งใจนะ แล้วมันจะดับเลย ตรงนั้นแหละคือสัมมาสติเกิดขึ้น เห็นนามรูปเกิดดับขณะนั้น แล้วก็มารู้ต่อ อะไรก็ตาม ทำอะไรอยู่ก็กลับมารู้ต่อเนื่องไป

จะมาเห็นเกิดดับตลอดเวลานี่ไม่ได้ ...เป็นสัญญาวิปลาส เข้าใจไหม คำว่าสัญญาวิปลาสคือหมายความว่าไปห้ามสัญญาให้มันคลาดเคลื่อน ไปทำขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นวิกลจริต 

เพราะว่าไปสร้างให้มันเห็นอย่างนี้บ่อยๆ น่ะ มันจะสร้างจริตใหม่ขึ้นมาเลย มองเห็นแตกต่างจากคนทั่วไปเลย แล้วมีความรู้สึกที่แตกต่างขึ้นมาด้วย ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรมดาแล้ว

ก็ต้องปรับความเห็นไป ทุกอย่างน่ะ มันต้องค่อยๆ ปรับความเห็นไป ...ก็แล้วแต่ว่าเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้นเอง ... คนที่เคยทำแล้วเกิดไปจดจำหรือว่าไปสร้างสภาวะนั้นขึ้นมา เหมือนกับเข้าไปอยู่ในบ้าน สร้างบ้านสร้างภพแล้วนี่ ไม่ยอมออกจากบ้านออกจากภพนั้น...พวกดันทุรัง


โยม – จิตนี่ไปยุ่งกับมันนี่อันตรายนะคะ มันสร้างอะไรหลอกได้ เพราะงั้นคำว่า “ทำ” มันทั้งสร้างภพด้วย สร้างกรรมด้วย

พระอาจารย์ – ภพนี่มันเกิดขึ้นจากการกระทำ การกระทำนั้นเกิดจากการตั้งใจและไม่ตั้งใจ เข้าใจมั้ย 

ภพที่แท้จริงน่ะมันมีอยู่แล้ว  นี่...เกิดมานี่เราเสวยภพอยู่แล้ว..แล้วทุกขณะนี่มันมีภพเกิดอยู่แล้ว ตาเห็นรูป รู้เรื่องราว พูดอะไร สัมผัสอะไร รู้อะไร เห็นอะไร มีความรู้สึกอย่างไรที่อยู่นั่นน่ะ  

ภพนี่มันเกิดอยู่แล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ มีอยู่แล้ว อันนี้คือภพที่มี และต้องเป็น ต้องมีด้วย ทุกคนน่ะ  เพราะเกิดมามันต้องอยู่กับภพอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของการเสวยในภพหนึ่ง
  
แต่ว่าไอ้ภพที่ตั้งใจให้เป็นนี่ อันนี้แหละ อันนี้คือความต่อเนื่อง ความตั้งใจนี่คือความอยากและไม่อยาก สองอย่าง ตัวนี้คือทำให้เกิดความไม่รู้จักจบ  

แต่ว่าภพนี่ ปัญญานี่เราจะต้องมายอมรับภพตามความเป็นจริง ว่ามันเป็นทุกข์ในขณะนี้  ในขณะนี้แต่ละเรื่องราวที่รู้อยู่

เช่นไม่รู้ ไม่มีสตินะ ไม่รู้อะไรนะ ...พอรู้ตัว กลับมารู้ปุ๊บ เราจะเห็นเลยว่ามีอะไร...หนึ่งกาย สองจิต ไม่กายก็จิต รู้กลับมาปุ๊บมันจะเห็นมีขณะหนึ่งเกิดขึ้น  ความรู้หนึ่งเกิดขึ้น นั้นน่ะ ตรงนั้นเรียกว่ามันเป็นภพของมันอยู่แล้ว เข้าใจไหม นี่คือภพที่มีอยู่แล้ว และต้องยอมรับ

ต้องยอมรับ ... เพราะมันเป็นภพที่ไม่ตั้งใจอยู่แล้ว และมันต้องเสวยอยู่แล้ว และก็เป็นวิบากที่จะต้องอยู่กับมันน่ะ  เพราะฉะนั้นกลับมาดู ภพมันจะมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้างภพใหม่อีกแล้ว 

แต่ถ้ามาดูปุ๊บ..ไม่พอใจ ดูปุ๊บ..ไม่ถูก ดูปุ๊บ..ไม่ใช่ "ต้องทำอะไร ต้องไม่ทำอะไร"...นี่ นี่คือความต่อเนื่อง คือไม่รู้จักพอแล้ว เริ่มสร้างภพใหม่ขึ้นมา ไม่รู้จักจบแล้ว ๆ ... เพราะฉะนั้นต้องยอมน่ะ ยอมที่จะไม่เอา ไม่หาใหม่ ไม่ทำขึ้นมาอีก

แค่ที่มันมีอยู่ก็แทบตายแล้ว บอกให้เลย นะ  เสวยกับมัน รับรู้กับมันนี่ก็เหนื่อยแล้ว โดยที่ไม่ได้ตั้งใจนี่แหละ  ... นี่คือให้กลับมารู้ทุกข์ ที่มันมี ที่มันเป็นอยู่แล้ว 

ไม่ต้องไปหาทุกข์ใหม่โดยเข้าใจว่า ถ้าเรารู้มากกว่านี้แล้วทุกข์เดี๋ยวนี้มันจะน้อยลง หรือว่ามันจะหมดได้เร็วขึ้น  ...มันเกิดจากการปรุงแต่งเองทั้งนั้น คิดไปเอง ๆ

ยอมรับซะ...แค่นี้ รู้เบาๆ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เท่านั้นน่ะ แต่ว่าให้รู้อยู่เนืองๆ ให้รู้อยู่เนืองๆ ถ้านานไปน่ะ มันจะเสียเวลา แต่ถ้ามารู้เนืองๆ บ่อยๆ แล้วนี่  ตัวสติมันจะพัฒนาขึ้นมาเป็นสัมปชัญญะเอง มันจะมีการทั้งรู้และเห็น ไม่ใช่แค่รู้เฉยๆ

เมื่อรู้เห็นบ่อยๆ รู้เห็นเป็นกิจ รู้เห็นเป็นธรรมดา เห็นความเป็นธรรมดาแล้วนี่  ไอ้ตัวรู้ตัวเห็นนี่มันก็จะพัฒนาเข้าไปสู่ตัวใจ สติสัมปชัญญะก็จะไปเป็นหนึ่งเดียวกับใจ  ใจก็จะเป็นใจที่อยู่ด้วยความรู้และเห็นเป็นธรรมดา


โยม – สังสารวัฏมันเลยยืดยาวเพราะอย่างนี้นะคะ  คือไม่รู้แล้วมันก็ทำกันไป สร้างกันไป ไปเพิ่มๆ พอเห็นแล้วก็ตกใจ ของเก่านี่ก็เยอะๆๆ รุงรังแล้ว

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องรู้มาก ธรรมน่ะ  เอารู้แค่นี้พอแล้ว รู้แค่รู้เดี๋ยวนี้...พอแล้ว



(มีต่อ แทร็ก1/3) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น