วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/7







พระอาจารย์

1/7 (25530302)

2 มีนาคม 2553


ถาม –  มันไหวไปไหวมา เคลื่อนไปเคลื่อนมา มันไม่นิ่ง   

พระอาจารย์ – ก็แค่นั้นน่ะ เห็น...แล้วก็ยอมรับมัน มองเห็นเป็นธรรมดา เข้าใจมั้ย  เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ว่าผิดหรือว่าถูก แต่มันเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นแหละ     


ถาม –  แต่บางครั้งผมก็...มันยังเผลอให้ค่ามันอยู่นะครับ  

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าให้ค่า  


ถาม –   ครับ

พระอาจารย์ –   ก็ไม่ว่าอะไรกัน ... ติดก็รู้ว่าติด หลงก็รู้ว่าหลง มีอุปาทานก็รู้ว่ามีอุปาทานอยู่ 


ถาม –   ครับ

พระอาจารย์ –   อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจ ก็เป็นเรื่องความเป็นจริงที่มันแสดง ... รู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เข้าใจคำว่า สมควรแก่ธรรมมั้ย ... ก็จิตเรามีอุปาทานน่ะ


ถาม –   อื้มมม 

พระอาจารย์ –  มันก็สมควรแล้วที่มันจะมีอุปาทาน ...เข้าใจรึเปล่า  


ถาม  อ๋อ  ครับ เข้าใจแล้วครับ  

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่มีอุปาทานแล้วจะให้มันไม่มีอุปาทาน ...มันไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ใช่ป่าว 


ถาม –    ครับ 

พระอาจารย์ –  จะไปเอาธรรมพระอรหันต์มาสวมทรงไม่ได้ หรือเอามาเทียบไม่ได้ หรือเอาให้ทำจิตเป็นอย่างนั้นไม่ได้  อันนั้นเป็นเรื่องของความอยากแล้ว 

ธรรมคือธรรม ตามความเป็นจริงคือความเป็นจริง มีคือมี เป็นคือเป็น ติดก็ติด


ถาม –  ครับ

พระอาจารย์ –  ก็รู้มันไป ...มันไม่ติดตลอดชีวิตหรอก เข้าใจป่าว  เดี๋ยวมันก็หาย เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน มันไม่แน่ เดี๋ยวมันก็คลายออกแล้ว  ก็ดูมันไป 

เริ่มใหม่รู้ใหม่...เริ่มใหม่รู้ใหม่ ก็จะเห็นว่า นี่ ทุกอย่างน่ะ มันเกิดขึ้นชั่วคราว  แล้วมันไม่ใช่มีตัวมีตนอะไร เห็นมั้ย  มันไม่มีตัวมีตนน่ะ มันไม่คงอยู่หรอก ความคงอยู่หรือความเป็นตัวเป็นตนน่ะ...มันไม่มี


ถาม ครับ ผมก็เห็นว่าพอมันจะคงๆ อยู่ มันก็เปลี่ยนไปๆ    

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ คือไอ้ลักษณะที่เห็นความแปรปรวนของมันไปน่ะ มันจะไปทำลายความเห็นเป็นตัวเป็นตน  แต่ถ้ามันยังคา ยังข้อง หรือคิดว่ายังเป็นอะไรอยู่ เรายังดีหรือไม่ดีอยู่  นั่นคือความเป็นตัวเป็นตนของสิ่งที่ไม่มีตัวมีตน...แต่เราให้ค่ามัน 

เมื่อเห็นว่ามันแปรปรวนหรือคงอยู่ไม่ได้ ไม่ถาวร ไม่เที่ยง อย่างนี้   คือจะเห็นความไม่มีตัวตนของมัน คือความคงอยู่ไม่ได้นั่นแหละ คือความไม่เสถียร หรือว่าความเป็นอนิจจัง หรือว่าความเป็นอนัตตา  มันผันเปลี่ยนผันแปรไปอย่างนี้แหละ นะ มันผันแปรไป

แต่ถ้าเราไปตั้งใจหรือไปควบคุม ไปบังคับนี่  มันก็จะเหมือนกับเราไปทำให้มันคงอยู่  เข้าใจมั้ย  ไม่ว่าอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือว่าที่เราคิดว่าดีน่ะ นิ่ง สงบ เงียบ หรืออะไรก็ตาม แล้วจะให้มันคงอยู่  ... เพราะนั้นก็หมายความว่าไปสร้างตัวตนให้มัน ไปให้ค่าแล้วก็รักษามันอย่างเนี้ย

มันก็จะไปค้านกับความหมายของคำว่าไตรลักษณ์ หรือว่าความไม่เที่ยง  แล้วเราก็เข้าไปรักษาประคองมันอยู่นั่นแหละ  เพราะนั้นที่ว่าให้ดูเบาๆ ดูสบายๆ เพื่อว่าไม่ให้มันไปบล็อกน่ะ ให้มันเป็นอิสระของมัน  เพราะความแปรปรวนนี่มันไม่ใช่ผิด ... แต่มันเป็นความจริงต่างหาก

แล้วเราก็เห็นจนกว่าจะยอมรับความจริงนี้ คือยอมรับในเงื่อนไขของไตรลักษณ์  แล้วมันก็จะถอยออก จากการที่เข้าไปให้ความหมายหรือให้เป็นตัวเป็นตน

ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง  มันเป็นการกระทบกัน   ก่อนจะมี...มันก็ไม่มีตัวมีตน เสียงก็ไม่มีตัวมีตน พอมากระทบปุ๊บ มันก็เกิดเป็นกายวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ โผฐฐัพพะวิญญาณ  ไม่มีผัสสะภายนอกก็มีมโนวิญญาณ ความปรุงแต่งเป็นความคิด 

มันก็เป็นแค่เกิดขึ้น แล้วก็รับรู้ด้วยวิญญาณ กระทบกันอย่างนี้...กระทบกันแค่นั้นแหละ  เพราะนั้นขณะกระทบกันนี่  มันเป็นแค่กระทบ มันไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน มันเป็นแค่ชั่วคราว ครั้งหนึ่งๆ

แต่ถ้าเราให้ค่าในการกระทบกัน ให้ความหมาย   เพราะเวลากระทบปุ๊บนี่ มันจะมีสัญญาอุปาทาน มันจะจดจำได้ว่า อย่างเงี้ย..หมายความว่าอย่างนี้ แล้วอย่างเงี้ย...เคยได้ยินคำนี้..ความหมายนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไรกับความหมายนี้  มันมีเวทนาอุปาทานอยู่ มันเก็บเป็น...คิดว่ามันยังมี มันต้องเป็น มันยังมียังเป็นอยู่ เข้าใจมั้ย

มันเลยมาเทียบกับผัสสะปัจจุบันทันทีเลยว่า เดี๋ยวนี้..เป็นยังงี้  ความเป็นตัวเป็นตนจากอดีตก็มาเป็นตัวเป็นตนในปัจจุบัน เป็นเรื่องขึ้นมา  ด้วยความสำคัญว่า มันมี มันเป็นขึ้นมา  เพราะมันเคยมี เคยเป็นมาก่อน  

มันยังให้ความหมายกับสิ่งที่เคยมี เคยเป็นมา  แล้วก็เลยมาให้ความหมายกับขณะที่มี ขณะที่เป็น  แล้วมันก็จะมีความคิดต่อไปว่า ต่อไปข้างหน้าก็จะมี จะเป็นต่อ เห็นมั้ย นี่คืออุปาทานขันธ์ทั้งหมดเลย มันเป็นขบวนการอย่างนี้

แต่ถ้าเรารู้ทันขณะแรก มันก็เป็นแค่กระทบกันแค่นั้น  ถ้าไม่ต่อเนื่อง หรือว่าไม่ไปขาดสติ หรือไม่ไปปรุงต่อ  มันก็จะดับตรงนั้นแล้ว  ก็แค่กระทบกัน พั่บๆๆๆ  มันเป็นตัวตนขณะนึงแค่นั้นเอง ในการกระทบกันหรือชั่วคราวที่มันมีผัสสะหรืออายตนะ แค่นั้นเอง 

เป็นแค่อายตนะสัมผัสกันแค่นั้น หาความเป็นตัวเป็นตนไม่ได้  ... แต่เราเอาความเป็นตัวเป็นตนที่เราให้ค่าไว้ในอดีตน่ะ...มาสวม  แล้วก็มาตัดสินในปัจจุบัน ว่าใช่หรือไม่ใช่ ว่าชอบหรือไม่ชอบ ว่าถูกหรือว่าผิด อย่างเนี้ย 

ทั้งๆ ที่ว่าการกระทบนั่นเขาไม่ได้อะไรทั้งสิ้น มันก็เป็นแค่อย่างนี้ (เสียงการกระทบของสองสิ่ง) แค่นั้นเอง  แล้วก็นี่..หายไปอย่างนี้   แต่คราวนี้ว่า..มันเคยจดจำได้ว่าเสียงนี้ มันเป็นเสียงอะไร  นี่มันจำเอา ของเก่า นี่ เป็นสัญญาอุปาทานกับเวทนาอุปาทาน

ตาเห็นรูปปุ๊บ มันก็เป็นแค่กระทบปุ๊บ มันจะหวนไปถึงว่ารูปนี้เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย สวยหรือไม่สวย เคยให้ค่าไว้ก่อน แล้วมันก็จะมาเทียบในปัจจุบันทันทีเลย...เกิดขึ้นทันทีเลย แล้วก็หลงเลย 

หลงตาม ...คิดปรุงแต่งว่าจะยังไง  จะทำยังไงกับรูปนี้ จะไม่ทำยังไง จะตามเขาไป หรือจะคิดคำนึงครวญหา  นี่คือการให้ค่า ก็มีตัวมีตนในรูปที่เห็นขณะนั้น  ทั้งๆ ที่ว่าในขณะผัสสะก็ไม่มีอะไร เขาไม่ได้ว่าอะไร เป็นธรรมดา เป็นธรรมดา...ไม่มีอะไร เป็นแค่กระทบ สัมผัสกัน 

แต่ว่าความไม่รู้ เข้าใจมั้ย  ความไม่รู้...ความไม่รู้ว่าไอ้ที่จริงที่เคยจดจำได้นั่นน่ะ...มันจบไปแล้ว มันไม่มีหรอก  มันเป็นแค่สัญญา แต่เราไปให้ความสำคัญกับสัญญาว่าเป็นตัวเป็นตน ว่ายังมียังเป็นอยู่ และยังต้องมีต้องเป็นอยู่ และก็ยังมียังเป็นเดี๋ยวนี้เหมือนกัน

นี่คือความไม่รู้หรืออวิชชา มันก็จะมาผูกให้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นจริงเป็นจัง เป็นรูป เป็นเรา เป็นตัวเป็นตน  เมื่อเป็นตัวเป็นตนปุ๊บ มันก็จะมีเราเข้าไปครอบครองความเป็นตัวเป็นตนนั้นๆ หรือไม่ครอบครองความเป็นตัวตนนั้นๆ  ...คือมีการกระทำแล้ว

ถ้ามีตัวตนปุ๊บ มันจะมีเราเข้าไปเป็นผู้รับรู้ในตัวตนของผัสสะนั้นๆ แล้วก็จะเข้าไปตัดสินว่าจะทำหรือไม่ทำ  คือเป็นอัตตกิลมถานุโยค หรือกามสุขัลลิกานุโยค เกิดขึ้น  เข้าไปคว้าหรือเข้าไปผลัก อย่างนี้  ก็จะเป็นการสร้างมโนกรรม กายกรรม วจีกรรม  "เรา" ก็จะทำงานต่อเนื่องออกมา เพื่อไปอะไรกับตัวตนในความหมายนั้นๆ

แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ ด้วยสติ เราจะเห็นความหาตัวตนของมันไม่ได้  มันมีแค่พอให้รู้แค่นั้นเอง นะ  อันนี้คือเห็นตามความเป็นจริง มันจะเห็นอย่างนี้  

แต่ว่าถ้าความเป็นจริงเราเห็นอย่างไร หรือเราไปเห็นอยู่ตรงขั้นตอนไหน ก็เห็นตรงนั้น เข้าใจมั้ย  ไม่จำเป็นจะต้องดึงให้กลับมาเห็นอย่างนี้ให้ได้ เข้าใจป่าว  มันยังไม่เห็นก็ยังไม่เห็น แต่พูดให้ฟัง 

นี่คือแผนที่หรือแม็พ..แนวทาง เท่านั้นเอง พอรู้ไว้ จดจำไว้  แล้วต่อไปมันจะขยับเข้ามาเอง ขยับเข้ามาเองให้เห็นขณะนี้ แล้วก็เห็นความดับไปในขณะแรกของการกระทบผัสสะ


ถาม – ขนาดนั้นเลย    

พระอาจารย์ –  เอ้า มันเกิดกับดับอยู่ที่เดียวกันเลยนะ...มันเกิดกับดับอยู่ที่เดียวกัน  แต่มันไม่ได้หมายความว่าเกิดดับแล้วมันจะไม่มีความคิดความปรุงความแต่งต่อ เข้าใจมั้ย   มันจะไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจ  มันดับ..คือมันดับในความเป็นตัวเป็นตน...ในการที่จะให้ค่าเท่านั้นเอง

ก็คิดต่อได้  แต่ว่าความคิดต่อมา ที่รู้สึกต่อมานี่ มันจะเป็นแค่สักแต่ว่า  ก็สักแต่ว่าคิดไป ไม่ได้อะไร คิดต่อไปอย่างนั้นแหละ ไม่ได้จริงจังกับไอ้สิ่งที่มันคิดต่อมาเลย  หรือความรู้สึกหรืออารมณ์ก็เป็นธรรมดา ก็สักแต่อารมณ์ สักแต่เวทนาไป สักแต่มีไป  เดี๋ยวมันก็หมดไป เดี๋ยวมันก็คลายไป เดี๋ยวมันก็จางไป ก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เนี่ย

ไม่ใช่หมายความว่ามันขาด มันดับแล้วคือดับไม่เกิดอะไร กลายเป็นพระอิฐพระปูน...ไม่ใช่ แต่ว่าไม่ได้ให้ความหมายต่อเนื่องไป ให้ความสำคัญน้อยลงๆ  ...อันนี้เป็นตามลำดับของปัญญานะ 

หมายความว่า ถ้าเป็นปัญญาของพระอริยะนี่ ทั้งหมดนี่ ถ้าเป็นพระอริยะขั้นเป็นพระอรหันต์...รู้ขณะแรก รู้ สวยไม่สวย ชอบไม่ชอบ รู้ขณะแรก พอรู้ปุ๊บท่านรู้ปั๊บ..ดับ  ต่อมาเป็นเรื่องของสักแต่ว่าล้วนๆ 

แต่ถ้าต่ำกว่านั้นมา ยังมีอารมณ์ต่อเนื่องอีกนิดๆๆ หนัก-เบาตามภูมิปัญญาแห่งการรู้ครั้งแรก  ตรงนั้นน่ะที่เรียกว่าญาณทัสสนะ หรือว่าเป็นวิมุตติทัสสนะ หรือว่าเป็นปหานตัพธรรมหรือเปล่า มันอยู่ที่สัมมาสติครั้งแรก แค่นั้นเอง คือญาณ

เพราะนั้นพระอริยะก็ยังรู้ปุ๊บ เห็นทันขณะแรก สัมมาสติเกิดปุ๊บ แต่ยังมีอารมณ์ต่อเนื่อง...เบาๆ เข้าใจมั้ย ก็ยังมีให้ค่าอยู่...ก็ยังมี ไม่ได้ว่าดับโดยสิ้นเชิง  ไม่เหมือนพระอรหันต์ พระอรหันต์...ปุ๊บ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ ทันขณะไหนก็ตาม รู้ตรงขณะไหนท่านดับหมดเลย ดับขณะนั้นเลย  

ไม่ใช่ว่าท่านจะรู้ตัวตลอดเวลา  แต่พอรู้ตรงไหนปุ๊บล่ะดับเลย ไม่มีเลย ไม่มีต่อเนื่องเลย  เหมือนกัน พระอริยะเหมือนกัน ท่านก็ไม่สามารถจะรู้ได้ตลอดเวลาหรอก  แต่ว่าพอรู้ตรงไหนปั๊บนี่...มันจะดับ แต่ว่าดับแล้วนี่มันจะมีกระเพื่อมมากน้อยต่างกัน เข้าใจมั้ย

แต่อย่างพวกคนธรรมดาเริ่มต้น รู้ตรงไหนก็เท่าเก่า รู้ตรงไหนก็ยังเท่าเก่า เข้าใจมั้ย  เพราะมันยังไม่เข้าถึงมรรคจิต หรือว่ามรรคที่เป็นอริยมรรค  เพราะนั้นรู้ก็ยังเท่าเก่า หรือมากกว่าเก่าด้วย เข้าใจป่าว  แต่ว่าถ้ารู้ด้วยญาณ พอรู้ปุ๊บนี่ มันจะดับ ดับอุปาทานในตามขีดขั้นของญาณนั้นๆ ตามลำดับ

ถ้าเป็นพระอนาคาก็ระดับหนึ่ง พระสกิทาคาก็ระดับหนึ่ง พระโสดาบันก็ระดับหนึ่ง เข้าใจมั้ย ที่จะไม่ให้ความหมายมั่นต่อ หรือว่าทอนลง  แต่ไม่ใช่ว่ามันจะโดยสิ้นเชิง  มีสิ้นเชิงที่เดียวคือพระอรหันต์ รู้ตรงไหนนี่เหมือนรอยเท้าในอากาศเลย คือไม่มีอะไรหลงเหลือ เข้าใจมั้ย

ไม่ว่าจะมีอารมณ์อยู่ จะหงุดหงิด จะรำคาญ หรือจะอะไรตามผัสสะหรือตามกระทบนี่ พึ่บ พอรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ปุ๊บนี่ พั้บเลย ขาด ณ ตรงนั้นเลย  เพราะนั้นท่านจึงมีอารมณ์เหมือนปกตินั่นแหละ เข้าใจมั้ย

ให้สังเกตดู ดูครูบาอาจารย์นะ  ท่านไม่ได้มาควบคุมหรือว่าสำรวมนิ่งเหมือนใบ้อยู่อย่างนั้นเลยนะ  ท่านก็เป็นธรรมดานี่แหละ แต่ท่านจะไม่มีร่องรอยเลย รู้ตรงไหนดับตรงนั้นเลย ขาดเลย รู้ปุ๊บ ขาดเลยๆๆ ด้วยกำลังแห่งญาณ การหยั่งรู้ตรงนั้น  แต่ถ้าเป็นต่ำกว่านั้นลงมา เป็นพระอริยะต่ำกว่านั้นลงมา ยังไม่ขาดซะเลยทีเดียว  แต่ว่าเจือจาง ไม่มีเพิ่ม...มีแต่น้อยลง

แต่ถ้าคนทั่วไปนี่ มีแต่เพิ่ม ไอ้น้อยนี่หายาก เข้าใจมั้ย  มันมีแต่คิดต่อๆ รู้แล้วยังคิดต่อ รู้แล้วคิดต่อ รู้แล้วยังใส่เข้าไปต่อ เข้าใจป่าว  เพราะมันไม่หยุด ยังไม่หยุดเข้าไปถึงฐานใจ หรือว่าเป็นกลางต่อทุกสรรพสิ่ง

แต่เราก็ต้องมาเริ่มเข้าใจอย่างเนี้ย เริ่มไป รู้ไปเรื่อยๆ ให้เข้าใจ  จนกว่าจะเห็นสัมมาสติ หรือเห็นการดับไปครั้งแรกบ่อยๆ ให้ทันครั้งแรกบ่อยๆ จึงจะยอมรับ  มันถึงจะเข้าใจว่า ไอ้อุปาทาน ไอ้ความมีความเป็นที่เคยให้ค่า ที่เคยให้ความสำคัญกับมันทั้งหลายทั้งปวงนี่  ที่จริงแล้ว เราหลอกตัวเอง จิตมันหลอก หรือความไม่รู้นี่มันหลอก นะ

จนเห็นความไม่คงอยู่ของมันบ่อยๆ นั่นแหละ ถึงจะรู้ว่าทุกอย่างมันไร้สาระ ไอ้ที่เราให้ค่าไว้ ตั้งเป้าหมายไว้ ตั้ง..เรื่องนั้นเรื่องนี้ อะไรก็ตาม  ความหมายต่างๆ ว่าดีว่าไม่ดี ว่าชอบว่าไม่ชอบ

ดอกไม้นี่ ดูสิมันบอกว่ามันสวยมั้ย หรือมันบอกว่ามันไม่สวย อย่างเงี้ย เข้าใจมั้ย  ซึ่งในความเป็นจริงเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไรเลย มันอยู่ที่เราให้ค่า  พอเราให้ค่าปุ๊บนี่ เอ้าสวย ปั๊บนี่มันเกิดความจดจำ สำคัญว่ารูปอย่างนี้เรียกว่าต้องสวย เนี่ย อย่างเนี้ยมันไปให้ค่าไว้ แล้วก็เก็บเอาไว้

แต่ถ้าความเป็นจริงนี่เขาไม่เคยบอกเลยว่าเขาเป็นอะไร  เห็นมั้ยพอกระทบ กระทบไปปุ๊บก็เป็นแค่สักแต่ว่าแค่นั้นเอง  ถ้าเราไม่คิดต่อนะ ก็เป็นแค่รูปหนึ่งหรือสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้ว่าอะไร อย่างเงี้ย  ครั้งแรกมันจะรู้อย่างนี้เลย มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

แต่ว่าที่มันมีความหมายขึ้นมาเพราะว่าเราจดจำให้ค่า  ไอ้ที่เคยให้ค่าไว้ มันจะขึ้นมาซ้อน ขึ้นมาให้เทียบเคียง ขึ้นมาเปรียบเทียบ แล้วก็ตัดสินว่าใช่หรือไม่ใช่ สวยหรือไม่สวย และต้องชอบหรือไม่ชอบ  เมื่อตัดสินแล้วให้ค่าแล้ว...มันจะมีตัณหาและอุปาทานเข้ามาประกอบเลย นะ

เมื่อมีตัณหาอุปาทานเข้ามาประกอบปุ๊บ มันก็จะมีความปรุงแต่งด้วยความคิดนำไปข้างหน้า  ตัวความคิดนำไปข้างหน้าน่ะมันจะพาให้เราพูดคิดต่อ พูดออกไป กระทำอะไรออกไป  ตามความต้องการที่จิตมันปรุงอยู่อย่างนั้นล่ะ อย่างเนี้ย

ก็ให้เท่าทันขบวนการของมัน ให้เห็นขบวนการตรงนี้บ่อยๆ แล้วมันจะเข้าใจเอง ...มันจะเข้าใจเอง

เพราะนั้น ไม่ได้ให้ไปเลิกไปละอะไรน่ะ แต่ให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วมันเข้าใจด้วยปัจจัตตัง ..อ้อ อ๋อ อ้อๆๆ  มันเป็นยังงี้ๆๆ  สุดท้ายแล้วก็...มันตั้งอยู่บนความว่างเปล่า ไม่มีอะไรหรอก  ไอ้ที่เราว่ามี ไอ้ที่เราเอาแทบเป็นแทบตาย จะต้องทำอะไรกับมันแทบเป็นแทบตาย  จริงๆ มันไม่มีอะไรหรอก

ถ้าเราดูมันด้วยความที่ว่าดูเฉยๆ เงียบๆ  ดูนิ่งๆ ดูเงียบๆ ดูแบบไม่ปริปากน่ะ ก้มหน้าก้มตาดูมันไป ศึกษากับมัน สำเหนียกกับมัน หยั่งรู้กับมันไปเรื่อยๆ  สุดท้ายก็แค่นั้นแหละ พล้อบแพล้บๆๆ พึ่บพั่บๆๆ ไม่มีอะไร แค่นั้น

อย่าไปจริงจัง  ...มันจะคลายความจริงจังหรือความหมายมั่น ทั้งหมดแหละ ด้วยการเห็นตามความเป็นจริง  ไม่ใช่เห็นตามความคิดนะ ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่พิจารณา ไม่ได้อะไรทั้งสิ้น  แต่เห็นอย่างนี้...มันมี ดูตรงไหนก็มี ไม่ว่ากระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง

ดูเข้ามาในปัจจุบันขณะนี้ก็มี กายก็มีอยู่แล้ว ใจก็มี  ไม่ว่าจะอยู่ในกระบวนการไหน สภาวะไหน มันอยู่ในขั้นตอนจิตต้น จิตกลาง จิตปลาย ... จิตปลายก็ทุกข์ จิตกลางก็กำลังปรุงกำลังแต่ง จิตต้นก็คือไม่มีอะไรและพร้อมที่จะมี  อย่างนี้คือความปกติ

เพราะนั้นให้สังเกตระหว่างปกติกับผิดปกติ ให้ทัน  ไอ้ตอนเริ่มผิดปกตินั่นแหละ มันกำลังจะเริ่มให้ความหมายแล้ว จะเริ่มจับให้ค่าแล้ว จะเริ่มมีอารมณ์แล้ว จะเริ่มจะทำหรือไม่ทำอะไรแล้ว ตรงนั้นน่ะมันผิดปกติ  แต่ถ้าปกติธรรมดานี่มันจะไม่มีอะไร  ไม่ให้ค่าเพราะยังไม่มีความสำคัญที่จะไปเร้าจิตให้เกิดอุปาทาน  ตรงนี้ที่เรียกว่ามัชฌิมา เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นต้องอยู่ในฐานของมัชฌิมา  เพื่อจะเห็นความเป็นอัตตกิลมถานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยค มันจะเกิดเมื่อไหร่ ให้เท่าทัน  เมื่อเท่าทันตรงนั้น จะเห็นตั้งแต่ต้นกระบวนการจนจบกระบวนการ ...บ่อยๆ 

เพราะนั้นพอเริ่มไม่ทันตรงนี้ อ้อ ไปทันตรงนี้ ไม่ทันตรงนี้ก็ไปทันตอนนี้ ...สุดท้ายก็ทุกข์น่ะ บอกให้เลย ก็ไปทันที่ทุกข์ วันยังค่ำแหละ  ทุกข์...แล้วก็อยู่กับมัน รับมัน เสวยมัน จนกว่ามันจะคลายไป แล้วเริ่มใหม่  ไม่ต้องกลัวหรอกเดี๋ยวก็เกิดอีก ทุกข์น่ะ  ถ้ายังโง่ มันยังต้องเกิดอยู่เรื่อยน่ะ

ก็ไปเริ่มใหม่ ทันตรงไหน  มันจะขยับเข้ามาเรื่อย จน "อ้อ"  พอผิดปกติ พอจะเริ่มปุ๊บนี่ เห็นแล้ว พอเห็นแล้วจะเข้าใจแล้วว่าอย่างนี้  ถ้าจะเห็นขบวนการต่อไป...ก็จะเห็นกระบวนการของการดำเนินไป แต่ว่าสักแต่ว่า สักแต่ว่ากาย สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าจิต สักแต่ว่าธรรม สักแต่ว่าอารมณ์ เป็นอย่างนั้น

แต่ต้องอาศัยว่าซ้ำซาก ดูบ่อยๆ ดูเรื่องเก่านั่นแหละ อารมณ์เก่านั่นแหละ  ไม่ต้องไปหาใหม่ ไม่ต้องไปดับมันหรอก  ศึกษามัน ดูมัน  ตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่ กำลังตั้งก็รู้ว่ากำลังตั้ง กำลังจะดับก็รู้ว่ากำลังจะดับ กำลังจะเปลี่ยนก็รู้ว่ากำลังจะเปลี่ยน แล้วศึกษาดูไปเรื่อยๆ

แล้วจะเห็นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่แท้จริง มันเกิดจากตรงไหน เป็น ณ ที่แรกที่มันเกิด  ถ้าเห็น ณ ที่แรกที่มันเกิด จะเห็นความดับ ณ ที่นั้น ที่แท้จริง  แล้วมันจะหมดปัญหา เห็นสมุทัยตรงไหน ตรงนั้นแหละคืออริยมรรค คือจุดเริ่มต้นของสมุทัย

ขณะนั้นน่ะ ขณะจุดเริ่มต้นของสมุทัย มันจะพร้อมกันน่ะ ทั้งตัณหาและอุปาทาน  จะไม่เรียกว่ามีความอยากหรือว่าไม่อยาก คือยังไม่ทันจะเรียกว่าอยากหรือไม่อยาก แต่มันมีอาการกระโดดออกไป ...กระโดดออกไป จิตเริ่มส่งออกแล้ว ครั้งแรกที่จะเริ่มส่งออกจากฐานของความเป็นปกติ

เพราะใจนี่ธรรมดาไม่มีอะไรอยู่แล้ว เป็นอาการที่รู้กลางๆ รู้ตื่น เบาๆ ของมันอย่างนั้นน่ะ นั่นคือฐานของใจ นะ  คือความเป็นใจน่ะ มันไม่ใช่ว่ามีรูปมีลักษณ์อะไรหรอก  แต่เพราะว่าใจของเรานี่ยังมีกิเลส ใจของเรายังมีอุปาทาน ใจของเรายังมีอวิชชา  ถึงจะเป็นกลางก็จริง ถึงจะรู้เฉยๆ อยู่ก็ตาม  แต่พร้อมที่จะกระโดดไปทันทีเมื่อมีสิ่งเร้า เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นเมื่อเรารู้ทันสิ่งเร้านี่ มันจะชำระไปในตัว ชำระตัณหาอุปาทานไปในตัว ที่รู้ทันแต่ละครั้ง.. แต่ละครั้งๆ  เพราะนั้นขยันรู้เข้าไป รู้เนืองๆ ไม่รู้อะไรก็กลับมารู้กาย ดูกายเบาๆ ดูมันไป ถือว่าเป็นกลางแล้ว รู้กับกายก็เป็นกลางกับปัจจุบันของกาย

แล้วก็ดู เดี๋ยวมันจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป ภายในเป็นยังไง มันดีดดิ้นยังไง ก็ดูอาการดีดดิ้นของใจไป  ดูไปเฉยๆ ไม่ต้องรำคาญ ไม่ต้องเหนื่อยกับมัน  เพราะมันเป็นความจริง ดูให้เห็นความจริงในนั้น แล้วจะเห็นความจริงที่ซ้อนๆๆ อยู่ ขยับเข้ามาๆ เรื่อยๆ.



............................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น