วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/3



พระอาจารย์

1/3 (25530228C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

28 กุมภาพันธ์ 2553



โยม – ที่มีการพูดกันว่าการดูจิต เป็นการตามเงาของจิต ไม่ได้สามารถถอดถอนกิเลสได้อย่างแท้จริง

พระอาจารย์ – จะบอกให้...มันก็ถูกต้องในลักษณะหนึ่ง เพราะไอ้ที่เราเรียกว่าดูจิตนี่ เราไม่เคยบอกเลยนะว่าดูจิต แต่เป็นการดูอาการของจิต เข้าใจไหม ไอ้ที่ดูอยู่นี่ไม่มีใครเห็นจิตหรอก มันเป็นอาการของจิต 

เพราะฉะนั้นตัวอาการของจิตนี่ ก็เปรียบเสมือนเงาของจิต  มันไม่ใช่จิต ที่เราเห็นคืออาการ เข้าใจมั้ย แต่ว่าให้เห็นอาการของจิตนี่ และที่ให้รู้ ให้เห็นอยู่นี่ ...ให้เห็นว่าอาการของมันนี่ มันไม่เที่ยง มันไม่คงอยู่ มันควบคุมไม่ได้ ตรงนี้ต่างหากที่เห็นไตรลักษณ์ 

เห็นเพื่อที่จะได้เข้าใจว่าอาการทั้งหลายทั้งปวงนี่...มันตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย เมื่อเห็นและเข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้ มันไม่เที่ยง มันแปรปรวน จะรักษามันขนาดไหน หรือไม่รักษามัน จะทำมันขนาดไหน หรือไม่ทำมันขนาดไหน สุดท้ายมันก็ดับ สุดท้ายคือมันไม่คงอยู่ เข้าใจไหม 

เมื่อเราเห็นอย่างนี้และยอมรับความจริงอันนี้ขึ้นมา มันจึงเข้าไปเห็นอาการทั้งหลายทั้งปวงนี่ เป็นเรื่องธรรมดา  เห็นความเป็นธรรมดาของอาการพวกนี้ สุดท้ายมันก็เป็นแค่นี้....ก็เหมือนเงาจริงๆ น่ะแหละ มันจับต้องอะไรไม่ได้ 

แต่ตอนนี้เราไม่ยอมรับว่ามันเป็นเงา เข้าใจไหม  ก็เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาเพราะไปสำคัญเงาว่าเป็นจริงเป็นจัง ไปมีอุปาทานกับเงา อันนี้ต่างหาก ... แล้วถ้าไม่ดูตรงนี้แล้วจะไปดูตรงไหน ถามก่อน

เข้าใจมั้ย ...ก็ต้องมาดู มายอมรับ ก็เรามันหลงเงาน่ะ  ถ้าจะละการหลงเงา...ก็ต้องมาดูให้เข้าใจว่านี่คือเงาจริงๆ  มันจับต้องอะไรไม่ได้ มันไม่ตัวไม่มีตน ...  แต่ความรู้สึกของพวกเรามันเป็นตัวเป็นตนกับสิ่งที่มันเป็นเงา

เราก็บอกว่าจะเรียกว่าเป็นมิราจก็ได้ เคยเห็นไหม ที่เราเห็นเวลาขับรถแล้วมองเห็นยิบๆ ยับๆ ไกลๆ บนถนน แล้วเราสำคัญว่ามันเป็นน้ำน่ะ  คือเหมือนไปสำคัญว่ามิราจนี่เป็นน้ำจริงๆ น่ะ ถ้าเราเข้าไปก็เปียก แต่เอาเข้าจริงๆ มันไม่เปียกน่ะ เข้าใจไหม 

แล้วกับจิตนี่ เราไม่เข้าใจอย่างนี้ คือ อะไรเกิดขึ้นนี่...จริงหมดเลย ความรู้สึกไหนเกิดขึ้น...ใช่เลย ด้วยความโง่เขลา ...ก็ให้มีสติคอยดู ดูเฉยๆ นะไม่ต้องไปแก้ไขมันนะ ดูจนกว่าจะเห็นว่า อ๋อ สุดท้ายมันก็ดับ สุดท้ายก็ไม่มีอะไร สุดท้ายมันก็แค่นี้ ประเดี๋ยวประด๋าว จับต้องอะไรไม่ได้เลย

หาความเป็นตัวตน หาความคงอยู่ของมันไม่ได้ ไม่มีถาวร  ตัวตนที่แท้จริงจับต้องก็ไม่ได้  อย่างนี้ มันถึงจะคลายความเห็นผิดออกได้ หรือว่าเปลี่ยนจากมิจฉาทิฏฐิมาเป็นสัมมาทิฏฐิ  จากที่เคยจริงจังกับมัน ก็จะไม่จริงจัง ตรงนี้จึงจะคลายออกแล้ว

คลายจากอะไร คลายจากความหมายมั่น เข้าใจไหม หมายมั่นเงาเป็นเนื้อ หมายมั่นเงาคืออารมณ์เป็นของจริง อันนี้คือความหมายมั่น มันก็จะคลายออกเป็น...สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา เท่านี้ มันแก้ความเห็นผิดตรงนี้ออก

เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ได้บอกว่ามันละกิเลสหรอก เข้าใจมั้ย .. แต่มันละความเห็นผิด


โยม –  เราไม่ได้คิดว่ามันจะช่วยให้ละกิเลส แต่เราให้เห็นความเป็นจริง ใช่ไหมเจ้าคะ คือไม่ใช่ว่าดูเงาแล้วมันจะละกิเลส แต่มันจะให้เห็นความเป็นจริงว่าเงานั้น เดี๋ยวก็เกิดเดี๋ยวก็ดับ ๆ

พระอาจารย์ – เออ ทำให้เกิดความเห็นที่ตรงขึ้น


โยม –  ทำให้เกิดความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ จากที่เรายึดมั่นเงานั้นเป็นจริง

พระอาจารย์ – เมื่อไหร่ที่เราเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ทุกข์นี่น้อยลง  จะไม่ไปทุกข์ในสิ่งที่มันไม่เป็นทุกข์  ...แต่ตอนนี้เราไปทุกข์กับสิ่งที่มันไม่เป็นทุกข์น่ะ ไปจริงจังกับสิ่งที่มันไม่มีความจริงจัง ด้วยความโง่เขลาไหมนี่  เข้าใจไหม

มันไม่ได้ละกิเลสอะไรเลย การดูจิตนี่ไม่ได้ละเลิกเพิกถอนอะไรเลย บอกให้  แต่ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป็นธรรมดา  กิเลสเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา อารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา ความอยากเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา ประเดี๋ยวประด๋าวทั้งนั้น แค่นั้นเอง อย่าไปจริงจัง


โยม – แล้วถ้าเราเห็นถูกวันไหน กิเลสเราจะถอดถอนไหม อย่างนี้เกี่ยวข้องกันไหม

พระอาจารย์ – มันไม่ถอดถอนหรอกกิเลส บอกให้เลย แต่มันต่างคนต่างอยู่ ไม่เกี่ยวกัน  คือตอนนั้นมันจะไม่เรียกว่ากิเลสแล้ว  มันจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติหนึ่งๆ ที่ปรากฏขึ้นเท่านั้น เข้าใจความหมายของคำว่าสักแต่ว่าไหม สักแต่รูป สักแต่นาม สักแต่กาย สักแต่เวทนา สักแต่จิต สักแต่ธรรม

ไอ้ตัวจิตกับตัวธรรมนี่แหละ จะใส่ชื่อเป็นกิเลสก็ได้ไม่กิเลสก็ได้ โลภะ โทสะ โมหะ ก็เรียกว่าธรรม ก็คือธรรมอันหนึ่ง ก็เห็นว่าธรรมสักแต่ว่าธรรม ไม่ได้บอกว่ากิเลสหรือไม่กิเลสแล้ว มันไม่มีค่าเป็นอะไร 

เพราะไอ้ค่ามันหมดไปตั้งแต่เป็นอุปาทานแล้ว บุญก็ไม่มี บาปก็ไม่มี เข้าใจไหม แล้วถามว่ามันจะเลิกเพิกถอนอะไร  ...คือมันมี แต่ว่ามันจะค่อยๆ ปรับให้สมดุล เป็นกลางมากขึ้น แค่นั้นเอง


โยม –  ที่มีบางท่านบอกว่าต้องฝึกให้ถึงอุปจารสมาธิก่อนนี่

พระอาจารย์ – ทิ้งให้หมด ความเห็น ความหมาย ภาษาพวกนี้ ทิ้งให้หมด ... รู้..เดี๋ยวนี้..พอแล้ว ..บอกแล้วว่าแค่นี้พอแล้ว ให้เห็นว่าเดี๋ยวนี้..แม้แต่เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป แค่นี้เอง พอแล้ว


โยม – เคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านก็พูดว่า ก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน

พระอาจารย์ – เคยได้ยินที่หลวงปู่ดูลย์ไหม...ที่มีคนถามว่าหลวงปู่มีกิเลสมากน้อยหรือกิเลสดับไปขนาดไหน  หลวงปู่บอกว่า กิเลสเหรอ มี...แต่ไม่เอา เข้าใจไหม กิเลสก็มี..แต่ไม่เอา 

แต่ของพวกเรานี่ กิเลสมี แล้วก็เอา ... ไม่มี ก็ทำให้มันมีด้วย เข้าใจมั้ยๆ


โยม – คือหาจนมันมี

พระอาจารย์ – เออ ... เพราะนั้นถ้าพูดในความหมายว่า มีแต่ไม่เอา คือหมายความว่าไม่ให้ค่าแล้วในสิ่งที่มันมี มันไม่มีอิทธิพลเหนือเรา แค่นั้นเองๆ เพราะฉะนั้นก็จะมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย

เข้าใจไหมว่าความหมายจริงๆ ของการรู้เท่าทันกิเลสหรือว่ารู้กิเลสตามความเป็นจริง มันไม่ได้หมายความว่าเป็นการละกิเลสจนหมดสิ้น เปลี่ยนใหม่หน้ามือ เป็นหลังเท้า เคยมีอารมณ์ก็ไม่มีอารมณ์ เคยมีความรู้สึกก็ไม่มีความรู้สึก

อย่าไปเข้าใจว่าสุดท้ายแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องไม่มีอะไร จะต้องไม่มีหือไม่มีอือ เห็นอะไรก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย กลายเป็นพระพุทธรูปอย่างนี้ คือไม่รู้สึกอะไรเลย ไปเข้าใจอย่างนั้น 

แต่จริงๆ น่ะ ท่านก็มีเท่าที่มันมีน่ะ แต่เวลาดับท่านดับเลย หมดแล้วหมดเลย ไม่มีตกค้าง ท่านก็เป็นธรรมชาติของอุปนิสัย สะสมมาอย่างไร ..มันเป็นอาการหรือว่าเป็นวาสนา กิเลสตัวนี้เลยดูเหมือนเป็นวาสนาเท่านั้น 

แต่ของพวกเราไม่ใช่วาสนา มันเป็นความจงใจ หรือเจตนาเข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน  แต่ของท่านนี่มันไม่มีแล้วความเจตนาหรือจงใจ แต่มันเป็นวาสนา กลายเป็นวาสนาแล้ว และเป็นจริงด้วย บอกให้เลย แต่ดับ..ดับจริง ดับแล้วดับเลย เกิดใหม่ว่าใหม่ เกิดอีกก็ดับอีก

เพราะมันมีจุดดับของมันอยู่แล้ว หมดเรื่องแล้วคนไปปุ๊บไม่ด่าแล้ว ก็หยุด...แล้วก็ดับเลย  ไม่มาเสียใจ ไม่เสียใจในการกระทำ ไม่เสียใจว่าเราไม่ควรด่า เขาจะว่ายังไงเรารึเปล่า ไม่มีพิรี้พิไร ไม่มีอุปายาส เข้าใจไหม ไม่มีคับแค้น ไม่มีแน่น หรือไม่มีคิดถึงเขาว่าจะเป็นยังงั้นรึเปล่า เขาจะว่าเรา เขาจะเคารพเราไหม 

คือท่านหมดตรงนั้นก็หมดตรงนั้น จบ..จบ..จบคือจบเดี๋ยวนั้น เข้าใจไหม แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส เพราะว่ากิเลสนั้นคืออาการหนึ่งของจิต ของกาย วาจา จิต แต่ท่านไม่เอาอุปาทานเข้าไปใส่


โยม –  ก็ไม่ใช่อย่างที่เขาพูดกันมา

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ไม่ใช่อย่างที่เราหมายมั่น ที่เราจดจำไว้ ที่เราวิเคราะห์ไว้นี่ ผิดหมด....ไม่ต้องอะไรกับมัน รู้อยู่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ พอแล้ว  

ความรู้ที่เกิน รกสมอง มันเกิน แล้วตัวนี้มันจะเป็นเหมือนพันธนาการของจิต  สังขารธรรมทั้งหลายนี่มันเหมือนงูที่มาร้อยรัดรึง เหมือนกับเชือกที่มาดึงเราอยู่

มันเลยดึงให้เรามีการกระทำอะไรขึ้นมา ดึงให้เราจะต้องไปทำสีลัมพตะขึ้นมา ลูบคลำในวัตรและศีลขึ้นมา  ไม่ทำแล้วไม่ได้ ไม่ทำแล้วไม่ดี ไม่ทำแล้วจิตจะแย่ อย่างนี้ คือจะไปติดกับรูปแบบหรือว่าคำพูด หรือว่าคนเขาเล่าว่า เขาบอกมา

นี่คือเชื่อแบบงมงายนะ  คือพอเขาบอกว่าถูก ก็ว่าถูกเลย ...เราถามว่า ถูกจริงหรือเปล่า ตัวเองตอบได้ไหม เขาบอกว่าดี มันดีตรงไหนล่ะ ตัวเองยังตอบไม่ถูกเลย แต่คิดเอาเองว่าดีน่ะ ก็ไม่เห็นว่ามันดีตรงไหนนะนี่ ดีนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่รู้ มันดีอย่างไร ดีจริงหรือเปล่า


โยม –  มันเป็นความรู้สึกว่าน่าจะดี

พระอาจารย์ –  เออ อย่างนั้นมันเป็นการปฏิบัติธรรมตามที่เราคะเนเอา ลูบคลำไหมนี่ เขาเรียกว่าลูบคลำไหมล่ะ  กับการที่ว่า...ยอมรับเท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็นเดี๋ยวนี้ ขณะนี้  เพราะฉะนั้นความเป็นจริงน่ะมันมีอยู่เดี๋ยวนี้เท่านั้น แค่นั้นเอง เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นกลับมารู้ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาการของจิตหรืออาการของกาย  มันจริงในขณะนั้นแหละ และก็จะเห็นว่ามันเปลี่ยนไป เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป ๆ  ...มันจะถอดถอนความหมายมั่นหรือว่าความให้ค่าให้ความสำคัญกับสิ่งที่ปรากฏนั้นๆ น้อยลงๆ

 เคยเห็นเป็นเรื่อง เคยเห็นเป็นสาระ ก็จะมองเห็นไม่เป็นเรื่อง มองเห็นเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระ  และตรงนั้นน่ะที่จะมองเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันว่างเปล่า เข้าใจไหมว่ามองทุกอย่างด้วยความว่างเปล่า 

แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรหรือไม่เห็นอะไร  ...มันมี มันตั้ง มันเกิด มันคงอยู่ มันเสวย  แต่ไม่มีอะไรในการเห็นนั้นๆ เข้าใจไหม แค่นั้นเอง นั่นแหละถึงจะเรียกว่ามองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความว่างเปล่า ...แต่ว่ามันจะต้องเห็นอย่างนั้นด้วยปัญญาเท่านั้นนะ คิดเอาไม่ได้นะ  จดจำแล้วไปคิดให้เห็นอย่างนั้นไม่ได้ 

รู้บ่อยๆ ดูความไม่คงอยู่ ดูความควบคุมไม่ได้ของอาการของกายและจิตไปเรื่อยๆ  มันจะยอมรับไปเอง  ยอมรับเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องถาม  เวลามันยอมรับนี่ มันจะยอมรับโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ...ค่อยๆ ยอมรับไปทีละนิดๆ จน เราแทบไม่รู้ตัวว่าเราคลายจากมันแล้ว   

มันจะเปลี่ยนแบบเราไม่รู้ตัวเลยว่าเราเปลี่ยนได้ยังไง จิตที่มันเปลี่ยน ค่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ถอดถอน เจือจาง ... จริงๆ น่ะมันเป็นเรื่องของการเจือจาง ความเจือจางมันจะเกิดขึ้น เจือจางเมื่อไหร่ความจริงจังน่ะมันจะน้อยลง 

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้ ที่เราคิด ที่เราตั้งใจน่ะ มันมีความจริงจังหมด เป็นจริงเป็นจัง เป็นจริงเป็นจังในการคิดในการกระทำ...ทั้งหมดเลย  แต่ต่อไปมันจะเกิดความเจือจางลง ทำไปอย่างนั้นแหละ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร 

การงานต่อไปก็...ตั้งใจก็ตั้งใจ แต่ไม่ได้หวังว่ามันจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไร ก็ทำไปตามหน้าที่ ก็ทำไป ไม่ได้หวังผลอะไร  ภายในก็เหมือนกัน จิตจะเป็นยังไง มีอะไรเกิดขึ้น...ก็แค่นั้นแหละๆ จะทุกข์ขนาดไหน ก็อดทน ดูมัน ดูมันเฉยๆ แค่นั้นเอง อยากอยู่ก็อยู่ไป ไม่ดับก็ไม่ดับ ดับก็ได้ ไม่ดับก็ได้  อย่างนี้

มันจะให้ความเสมอกัน ไม่ได้เลือกว่าจะต้องอย่างใด จะไม่มีเป้าหมายอะไรเลย นี่แหละคือความเจือจางจากอุปาทาน หรือว่าความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ... เรานี่มักจะผูกกับความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ใช่รึเปล่า

เช่นว่าการปฏิบัติธรรมมันต้องให้มีความเห็นแล้วก็ต้องเห็นอย่างนี้นะ ถึงจะเรียกว่าใช่  ต้องให้มีการยอมรับอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าใช่  มันมีตั้งความเห็นไว้แล้ว แล้วพยายามทำความเห็นนั้นให้แข็งแกร่ง มากขึ้นๆๆ แล้วถึงจะเรียกว่าได้ผล  นั่นแหละคือทำไปด้วยความลูบๆ คลำๆ หรือว่าทำไปด้วยสีลัพพตะ ไม่รู้จริง แต่คิดว่าจริง คิดว่าใช่ 

แต่บอกแล้วไง ผิดหมด  กว่ามันจะเห็นตามความเป็นจริงน่ะ มันต้องมาเห็นแค่นี้ เดี๋ยวนี้ ไม่มีอะไรนี่แหละ ขณะนี้  ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมถ่ายเดียว รู้กายรู้จิตในปัจจุบันเรื่อยไป ความจริงมันมีอยู่แค่ขณะหนึ่ง ขณะเดี๋ยวนี้เท่านั้นเอง หรือที่เรียกว่าขณิกะนี่แหละ  ขณะหนึ่งเขาเรียกว่าขณิกะ



โยม –  มีน้องเขาฝากมาถามว่า จะรู้ได้ยังไงว่าเพ่ง คือเขาไม่สามารถสังเกตตัวเองได้ว่าไปเพ่ง

พระอาจารย์ – ให้สังเกตดู ถ้าเพ่งมันจะไม่รับรู้อารมณ์อื่นเลย แล้วมันจะไม่ให้ความสำคัญกับอายตนะอื่น  ถ้าอยู่ที่ใจก็อยู่ที่ใจล้วนๆ น่ะ  หูก็ไม่ฟัง ได้ยินเสียงก็ไม่ได้ยิน ไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีอารมณ์ทางหู ทางตา ทางความรู้สึกอื่นๆ คือจะมีความรู้สึกเดียว อย่างนี้เรียกว่าจดจ่ออยู่ในที่อันเดียว 

แต่ว่าถ้าไม่เพ่ง ถ้ารู้เฉยๆ รู้กลางๆ นี่ มันจะรับรู้ได้เกือบทุกอายตนะเลยในขณะนั้น  สามารถ.. หูก็ได้ยิน ตาก็เห็นรูป กายก็รู้ ว่ากำลังนั่งอยู่แล้วก็เห็นว่าใจเป็นยังไง  อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ารู้โดยไม่เพ่ง รู้เป็นกลางๆ ไม่อยู่ที่ใดที่หนึ่ง รู้ทั่ว รู้พร้อม เข้าใจไหม  

คือมันแทบจะทุกอายตนะอนุญาตให้เกิดขึ้นได้  แต่ถ้าเพ่ง..ไม่อนุญาตนะ  อนุญาตแค่ตรงนี้นะ อย่างนี้นั่นคือเรียกว่าเพ่งแล้ว เนี่ย แต่วิธีแก้คือว่าก็ให้รู้ ว่าอยู่ในอาการนั้นอยู่ แค่นั้นเอง แล้วมันจะค่อยๆ คลายออกเอง ..แก้ไม่ได้


โยม –  หนูเคยติดอยู่ ขณะปัจจุบันหนูก็ยังมีเพ่งบ้าง มันเคยชิน ทำมาบ่อย อย่างนั่งสมาธิก็ยังมีกลัวที่จะติดเพ่ง

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้นระหว่างตั้งใจทำ ระหว่างนั่งมันก็จะมีอาการพวกนี้อยู่ตลอดแหละ ทั้งอยากได้ ทั้งไม่อยากได้


โยม – ที่หนูนั่งนี่ หนูอยากเห็นความแตกต่างระหว่างการนั่งกับในชีวิตประจำวัน ว่ามันต่างในการรู้และเห็นยังไง อย่างที่พระอาจารย์บอก

พระอาจารย์ –  อือ ให้มันเรียนรู้ เพราะว่าจะเอาวิถีจิตระหว่างนั่งนี่ไปใช้ในวิถีจิตประจำวัน เราจะเห็นว่ามันคนละเรื่องกันเลย


โยม – แต่ตอนแรกนั้นหนูคิดว่าการนั่งนั้นมันคือดีนะเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้นไม่ต้องเอาดีกับการนั่ง แต่เอาดีกับการให้เห็นความแตกต่าง  เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจริงๆ น่ะมันเป็นการศึกษา สำเหนียก  สติ ปัญญา นี่เกิดจากการสำเหนียกความเป็นจริง อย่างนี้จริงด้วยการทำ อย่างนี้จริงด้วยการไม่ทำ อย่างนี้จริงด้วยการที่มันเกิดเอง อย่างนี้จริงแบบที่เราสร้างขึ้นมา 

เพราะฉะนั้นมันจะเรียนรู้เปรียบเทียบแล้วจะเห็นว่า อย่างนี้ไอ้ที่สร้างขึ้นไอ้ที่ทำขึ้นมานี่  อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้สร้างขึ้นมา ทำขึ้นมา  ก็จะเห็นว่า ทั้งหมดน่ะเกิดจากตัณหา อุปาทาน  ให้รู้ไปเลยว่า ทุกอย่างที่ทำน่ะ มันเกิดจากตัณหาและอุปาทาน


โยม – มันก็อยากได้ๆๆ จะเอาๆๆ

พระอาจารย์ – แล้วให้เห็นเวลาที่เราอยู่ด้วยความไม่มีตัณหาหรืออุปาทานเป็นเครื่องดำเนินนี่ ให้สังเกตดูภาวะจิตตอนนั้น ให้ปรารภที่ใจแล้วจะเห็นว่า มันไม่มีอะไร สบายๆ จะว่าสุขก็ไม่สุข จะว่าดีก็ไม่ดี เข้าใจไหม เป็นธรรมดา เรียบง่าย จืดชืด ไม่น่าภิรมย์เลย



โยม – แต่บางครั้งเวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์มันมึนเจ้าค่ะ เหมือนมีโมหะแทรก หนูไม่แน่ใจ  แต่หนูก็ลุกไปกวาดบ้าน จิตมันก็สดชื่นขึ้น อันนี้มันเป็นการเปลี่ยนผัสสะใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ก็เปลี่ยน ...มันมึนเพราะรังสีเบต้าเข้ากะโหลก มันก็คลายออกได้


โยม – ก็คลาย มันจะเห็นความแตกต่างของจิต ตรงนี้กับตรงที่ไปกวาดบ้านหรือไปทำอะไร หนูจะสังเกตแบบนี้

พระอาจารย์ –  จิตเวลามันเปลี่ยนผัสสะ เปลี่ยนอะไร มันก็เปลี่ยน  เวลาเราไปหมกมุ่นกับอะไร สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันจะจมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จะเกิดความเครียดความกังวล เกิดความเศร้าหมองในจิต จริงๆ มันเป็นความเศร้าหมอง ความขุ่น เกิดขึ้นสะสมทีละนิด ๆ ด้วยความไม่รู้หรือโมหะ หลง หายเข้าไป กับอะไรก็ตาม ทั้งภายนอกและภายใน


โยม – มันเหมือนกับจม ลักษณะแบบนี้มันเหมือนการเพ่งไหมเจ้าคะ เพราะทุกอายตนะเราจะปิดหมดเลยเหมือนกัน

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง มันเพ่ง เพ่งออกไป ส่งออก จิตส่งออก เข้าใจไหม ด้วยความมีเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง  สมาธินี่ มันมีสัมมาสมาธิ กับอีกอย่างหนึ่งท่านก็เรียกว่ามิจฉาสมาธิ 

อย่างไรที่ท่านเรียกว่ามิจฉาสมาธิ  สมาธิใดสมาธิหนึ่ง การตั้งมั่นของจิตนี่ ถ้าไปตั้งมั่นกับสิ่งภายนอก ท่านเรียกว่าเป็นมิจฉา เข้าใจไหม  ถ้าจะเป็นสัมมา ท่านให้ตั้งมั่นอยู่ที่กายกับจิต อย่างนี้ท่านเรียกว่าสัมมาสมาธิ 

แต่สมาธิก็สามารถไปตั้งมั่นที่อื่นก็ได้ เวลาทำงานนี่ จิตมันจะมีการจดจ่ออยู่กับงาน นี่ก็เรียกว่ามีสมาธิอยู่นะ แต่ไม่เรียกว่าสัมมาสมาธิโดยตรง  มันยังมีมิจฉาเพราะมันไปรู้นอกกายนอกจิต แต่มันจะได้ผลของงาน เข้าใจไหม 

ขับรถอยู่นี่ มันต้องมีสมาธิอยู่กับถนน มันไม่รู้ตัวหรอก มันตั้งมั่นอยู่กับการคอยดูคอยระวังอยู่ภายนอก นี่ก็เรียกว่ามีสมาธินะ แต่เป็นสมาธิอยู่ภายนอก ก็ไม่ให้รถชน เห็นไหม มันก็มีผลของมันอย่างนี้ ผลของการตั้งอกตั้งใจขับ  แต่ถ้าขับแบบใจลอยก็ชน อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสมาธิ สติเลื่อนลอย

แต่ถ้ามีสมาธิภายใน คือกายกับใจ  จะเห็นความเป็นจริง จะได้ผลอีกแบบหนึ่ง คือปล่อยวาง คลาย เห็นกระบวนการของการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ การดับไป ของสภาวะธาตุ สภาวธรรม ... เพราะฉะนั้นในระหว่างทำงานมันก็มีสมาธิ แต่มันว่าเป็นสมาธิที่ออกไปอยู่กับภายนอก


โยม –  เราก็จะลืมกายกับใจ

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ไปอยู่กับงาน ไปอยู่กับมือ ไปอยู่กับแผ่นงาน ไปอยู่กับจอคอมฯ ไปอยู่กับแป้นพิมพ์ ไปอยู่กับเสียงพูดเสียงคุยอย่างนี้ 

แต่เราก็ถือว่ามันไม่ไปไกล เข้าใจไหม มันไม่หลุดไปไกล ถึงมันออกไปมันก็ออกอยู่ข้างหน้าในปัจจุบัน  มันยังไม่ไปแบบนั่งคร่ำครวญเพ้อพร่ำถึงอดีต หรือว่าเรื่องนู้นเรื่องนี้มากมายก่ายกอง อันนั้นน่ะแย่ หลงอย่างนั้นน่ะ เสียเวลามาก 

แต่ถ้าหลงออกไป แต่ว่าตั้งมั่นอยู่ข้างหน้าเรานี่ มันไม่ไปไหนไกลหรอก เข้าใจไหม ก็เป็นสมาธิที่ยังไม่ก่อเกิดอะไร หรือว่าโทษทุกข์มากมายอะไร  ส่วนมากก็จะมีอาการเครียด กังวล เศร้าหมอง ขุ่นมัว 

แล้วเมื่อเวลาเรารู้ปุ๊บ เราก็จะไม่พอใจ เราก็จะมาเครียดกับว่าทำไมมันไม่รู้ตัว หายไปไหน อย่างนี้ แล้วมาเครียดขึ้นมาในสิ่งที่ว่า...เราน่าจะรู้นะ เราน่าจะรู้ตัวนะ ...อย่าไปทุกข์กับเรื่องพวกนี้

ทุกข์ .. แต่ไม่เหมือนกับคนทั่วไป  คนทั่วไปเขาไม่ได้ทุกข์อย่างนี้ เขาไปทุกข์เพราะมันไม่ได้ดั่งใจเลย คิดไปแล้วทำไมมันไม่มาหาเรา คิดไปแล้วทำไมเราไม่ได้งานที่มันดีกว่านี้  อะไรอย่างนี้น่ะ เข้าใจรึยัง มันคนละเรื่อง 

แต่ว่าทุกข์อยู่แค่นี้ มันไม่ไปไหนไกลหรอก เดี๋ยวมันก็จะปรับสมดุลให้  เพราะฉะนั้นหลงอยู่กับงานต่อหน้านี่ยังไม่เท่าไหร่หรอก เพราะบางทีน่ะเราจะไปตั้งใจรู้หรือมีสติ บางทีก็ยาก งานก็ไม่ค่อยดี มันจะจับต้นชนปลายไม่ถูก ....ค่อยๆ ปรับไป



โยม – ที่ถามพระอาจารย์ว่าพระอรหันต์ฝันไหม ก็มีที่เขาโต้กันในเว็บ

พระอาจารย์ –  ปวดหัว บอกแล้วปวดหัว อย่าไปอ่านมากพวกนี้ อ่านแล้วก็มานั่งนอนไม่หลับ เครียด คิดมาก กังวล หาถูกหาผิด ในเรื่องที่ไม่มีสาระ  ไปหาสาระในสิ่งที่ไม่มีสาระ บอกให้เลย  ถ้ามันรู้แล้วเข้าใจแล้วมันเข้านิพพาน เราจะอธิบายให้ฟัง มันรู้แล้วมันไปนิพพานไม่ได้นี่ อย่าไปรู้มันเลย เหนื่อย หนัก

ไอ้ที่มันมีอยู่แล้วนี่ ขยะเต็มหัวอกหัวใจนี่ยังเอาออกไม่หมดเลย ยังหาขยะอันใหม่ใส่อีก  เอาความรู้ใหม่ๆ เข้ามา มันคิดว่าจะทำให้เราผ่องใสขึ้นรึ ทำให้เราปล่อยวางได้มากขึ้นรึ ทำให้เราเบา จางคลายรึ   มันมีแต่ว่ามาฉุด มารั้ง มาหน่วงมาเหนี่ยว มามีปฏิฆะกับคนนั้น มามีปฏิฆะกับคนนี้


โยม – ทำให้ช้าไปอีกนะเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  อือ แต่มันอดไม่ได้ เข้าใจไหม ด้วยความมัน ..มันส์ ..สะใจ ..ได้เจอกระทู้ไหนมันตรงใจนี่..ใช่เลย  เจอกระทู้ไหนมันตรงข้ามนี่ ก็เครียดแล้ว เครียดแล้วไปนั่งด่ากระทู้ ที่ไม่มีตัวมีตน ...ตลก


โยม – แล้วก็เรื่องดูจิต มีที่มาตีความกัน

พระอาจารย์ –  คนที่พูดน่ะมันรู้ไม่จริง แล้วมันตีความผิดหมด ครูบาอาจารย์ท่านสอนไม่ผิดหรอก ไอ้คนเอามาพูดมันตีความผิดกันเอง เชื่อไม่ได้ บอกให้เลยเป็นโลกแห่งความเพ้อฝัน อย่าไปจริงจัง

ไอ้ที่บอกว่าดูจิตๆ นี่ ก็บอกแล้วว่ามันเป็นแค่คำพูด จริงๆ แล้วมันดูไม่เห็นหรอกจิต ที่บอก จริงๆ มันต้องพูดว่าดูอาการของจิต สิ่งที่เราดูอยู่นี่  ไอ้ตัวที่ดูอยู่นั่นมันก็คืออาการของจิตด้วย สตินั่นก็คืออาการหนึ่งของจิต อารมณ์ เรื่องราว ความรู้สึก ก็คืออาการหนึ่งของจิต 

เอาอาการหนึ่งของจิตมาดูอาการหนึ่งของจิต แค่นั้นเอง แล้วจึงจะถึงจิต เมื่อเราวางอาการ เข้าใจไหม  ... มันจะเข้าไปเห็นใจได้เมื่อเราวางอาการ  

แต่ถ้ายังไม่วางอาการ ยังไปติดข้องอยู่กับอาการ  ...ฟังมาแล้วนี่ แล้วมีอารมณ์เกิดขึ้นนี่คืออาการของจิตเกิดแล้ว และก็ยังไปติดข้องอยู่กับอาการ เอามาใคร่ครวญหาความเป็นจริง นี่ก็คือข้องอยู่กับอาการของจิต 

ก็ต้องรู้ทัน รู้ว่านี่ยังข้องอยู่ กำลังครุ่นคิด กำลังกังวลอยู่ แล้วไม่คิดต่อ พอ...เท่าที่มันมี เพราะมันหลงคิดมานานแล้วนี่ มันก็ต้องมีอารมณ์ตกค้าง เวทนาตกค้างอยู่ เศร้าหมองอยู่ ใช่ไหม ระหว่างที่คิดอยู่นี่ เศร้าหมองไหม จิตมีความขุ่นอยู่นะ ...แต่เราไม่เห็นหรอก เราไม่สังเกตเลย  จะไม่เห็น

เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันมุ่งไปอยู่กับงานที่จิตกำลังทำอยู่ คือไปอยู่กับอาการ...โดยที่ไม่เห็น ไม่กลับมาปรารภว่าระหว่างนี้เราเป็นอย่างไร ขุ่นไหม มัวไหม หมองไหม เศร้าไหม ทุกข์ไหม ... ตรงนั้นตัวเหตุ ไม่ดู  ไปดูที่ผลหรือปลายเหตุ  ...เพราะฉะนั้น ดูไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะวางอาการของจิตได้


โยม – มันจะวางเองใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  มันจะวางเองเมื่อเห็นมันดับไปบ่อยๆ เมื่อเห็นมันเปลี่ยนไป  มันไม่คงอยู่ เห็นความไม่คงอยู่ของมัน บ่อยๆ มันถึงจะคลายออก  ต่อไปพอเริ่มคิดก็ไม่เอาแล้ว พอเริ่มหาเหตุหาผล พอเริ่มหาถูกหาผิดนี่ เหนื่อยแล้ว แค่คิดนี่เหนื่อยแล้ว 

แต่ตอนนี้มันไม่เหนื่อยน่ะ ... มันเหนื่อยบางเรื่อง แต่ไม่เหนื่อยสำหรับอีกหลายๆ เรื่อง เข้าใจไหม มันยังพร้อมที่จะหาเรื่องได้ตลอด หาเรื่องมาคิดได้ตลอด


โยม – บางครั้งมันก็เบื่อนะเจ้าคะ มันเบื่อบางเรื่องแต่ไม่เบื่ออีกหลายเรื่อง

พระอาจารย์ –  มันเบื่อแบบผัวกับเมียด่ากัน เบื่อๆ อยากๆ มันไม่ได้เบื่อโดยเนื้อของใจที่เห็นตามความเป็นจริง ... แต่ว่ามันจะเบื่อได้ก็ต่อเมื่อมาเห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ ว่าสุดท้ายคิดไปแทบตายก็ได้แค่นั้น หรือไม่ได้อะไรเลย

สุดท้ายก็ทุกข์ เศร้าหมอง เห็นไปเรื่อยๆ คิดอีกทุกข์อีก ๆ คิดอีกหมองอีก เรียนรู้กับทุกข์  ทุกข์เพราะหลงไปตามความคิด ทุกข์เพราะหลงกับอารมณ์ ทุกข์เพราะไปจริงจังกับอารมณ์ ทุกข์เพราะไปเข้าใจว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้ แล้วคิดหาถูกหาผิดขึ้นมาอย่างนี้  สุดท้ายแล้วก็เป็นทุกข์

สุดท้ายเป็นทุกข์  สติเขาจะจำอย่างนี้  เขาจะจำเอง อยากโง่นักก็ทุกข์ อยากคิดก็ทุกข์ไป ...  แต่มันจะไปสังเกตเห็นว่าเมื่อไรที่เราไม่คิด แล้วมันจะจำได้ว่าตอนนี้ไม่เห็นมีอะไรเลย ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ตอนนั้นมันจะเห็นเอง มันจะเริ่มแยกแยะออกแล้ว

มันจะมีการจำแนกธรรม ว่าถ้าเราคิดนี่ก็หมายความว่าเราสร้างเหตุแห่งทุกข์  พอเริ่มจะสร้างเหตุแห่งทุกข์ปุ๊บ มันจำได้แล้ว..สุดท้ายมันทุกข์ เรื่องอะไรจะไปคิด มันจะวางเลย ไม่ต่อแล้ว ... อันนี้ไม่ต้องบังคับเลยนะ มันวางของมันเองเลย  ด้วยการที่เรียนรู้มานานแล้ว เสวยทุกข์มานานแล้ว สุดท้ายก็ได้แค่นั้นแหละ ไม่ได้อะไร

มันก็ไม่เอาแล้ว เริ่มไม่เอาแล้ว  จนว่าต่อไปมันไม่ใช่แค่บางเรื่อง ..ทุกเรื่องเลย จะทุกเรื่องเลย  แรกๆ อาจจะวางได้เฉพาะบางเรื่อง แต่ยังมีบางเรื่องที่ละไว้ ..ในฐานะที่จำเป็นต้องต่อ เข้าใจไหม มันยังมี...ถ้ายังเป็นข้อที่ว่า ถ้าตีตรงนี้ล่ะโดนขนดหาง แผ่พังพานเลยล่ะ มันยอมไม่ได้ อย่างนี้...มันยังมี 

ก็ต้องเรียนรู้กับมัน ไม่ใช่ว่าทีเดียวมันจะหมดไปนะ หรือว่าคลายได้หมด เพราะแต่ละคนๆ น่ะ มันจะมีขนดหางไม่ถูกที่ ไม่อยู่ที่เดียวกัน ตามอุปนิสัย ตามที่เราให้ค่าไว้ ... ผู้หญิงก็อย่างหนึ่ง ผู้ชายก็อย่างหนึ่ง  ความรู้หนึ่งก็มีความให้ค่าอย่างหนึ่ง การศึกษาอย่างหนึ่งก็มีการให้ค่าอย่างหนึ่ง

พวกนี้ มันต่างกัน  สิ่งแวดล้อม ครอบครัว ถูกปลูกฝังมาอย่างไร ให้ค่ากับความเห็นใด ผูกมาเรื่อยๆ  ก็จะไปเจอขนดที่ไม่ตรงกันอยู่แล้ว จะมาเทียบเคียงไม่ได้ว่า ทำไมเธอวางไม่ได้ ทำไมฉันวางได้แล้ว เอามาเทียบกันไม่ได้ มันเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ


โยม – อย่างบางคนให้ค่าเรื่องงานเยอะๆ บางคนให้ค่าเรื่องครอบครัวเรื่องส่วนตัวเยอะ

พระอาจารย์ –  ใช่ จะไปบอกว่าเขาดีกว่าเรา หรือเราดีกว่าเขาไม่ได้  อย่างไอ้เรื่องบางเรื่องนี่เขาไม่ได้ให้ความสำคัญเลย แต่เราไม่ได้ ทนไม่ได้เลย ก็มี 

อย่างที่มีเรื่องพระนี่ฆ่ากัน ถ้าจะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี  เพราะวางกระโถนไม่ถูกที่ แล้วก็ทะเลาะกัน ...นี่ เห็นไหม เข้าใจไหม ..ฆ่ากันได้เลย ขนาดนั้น  ถ้ามาฟัง เราบอกไม่เป็นเรื่องเลยจริงๆ ไร้สาระ

แต่ว่าขณะนั้นของพระ เป็นเรื่องใหญ่ ความเห็นเขาใหญ่ ความจริงจังเขามาก ระเบียบข้อวัตรปฏิบัติความไม่เคารพครูบาอาจารย์ที่มันใส่เข้ามา ให้ความหมายให้คุณค่าในการที่...แค่กระโถนก้อนเดียว วางขยับกันนิดเดียว แค่นี้..ฆ่าได้เลย  เห็นไหมเอาถูกเอาผิดอะไรกับพวกนี้ล่ะ

นี่ละเข้าใจว่าสีลัพพตปรามาสไหม คือความเห็น ให้ค่าต่อความเห็น คะเนเอา คาดเอา คิดเอาว่า... แล้วจริงจัง ๆ เจอความจริงจังขึ้นมา  เพราะฉะนั้นแต่ละคนจึงมีการให้ค่าไม่เหมือนกัน  ศาสนาจึงมีการให้ค่าไม่เหมือนกันแต่ละศาสนา 

เห็นไหม คริสต์ อิสลาม เขาว่าของเขาถูก อย่างนี้ผิด ซึ่งเราบอกว่าไม่เห็นมันถูกได้อย่างไรเลย แต่เขาบอกว่าถูก อย่างนี้  เห็นไหม ตัวนี้ เขาบอกว่าบุญของเขาต้องทำอย่างนี้ แต่เราก็จะไม่เห็นว่าบุญตรงไหน คนละเรื่องกันเลย อย่างนี้ นี่คือความแตกต่างเลย คือความแตกต่างเกิดขึ้นมาเลย เพราะความเห็นที่ปลูกฝังกันมา เป็นเรื่องของสีลัพพตปรามาส

 แต่...เอาอิสลามมานั่งตรงนี้ เอาพุทธมานั่งนี้ เอาคริสต์มานั่งนี้ มานั่งสามสี่คน มานั่งปุ๊บ..อยากรู้ความเป็นจริงไหม ตบกบาลมันพลั่กๆๆๆ คนละที..เจ็บมั้ย เจ็บๆๆๆ  โกรธมั้ย โกรธๆๆๆ ...เหมือนกันไหม  ... เข้าใจไหม นี่ ถึงจะเรียกว่าเป็นความจริง อย่างนี้เรียกว่ารู้จริงเห็นจริง แล้วไม่มีแบ่งแยก เข้าใจรึยัง ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นพุทธเท่านั้นถึงจะรู้ว่าเจ็บ อิสลามจะไม่เจ็บ เข้าใจไหม

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ศาสนาพุทธจริงๆ นี่ เป็นกลาง เป็นศาสนาที่สอนให้สัตว์โลกนะ ไม่ได้สอนให้พุทธศาสนิกชนเท่านั้น  แต่ท่านมาตรัสรู้ให้สัตว์โลก มนุษย์ทั้งโลก ...แต่ฝากไว้กับพุทธศาสนิกชนอุบาสกอุบาสิกาให้ดูแลรักษาให้หน่อยแค่นั้นเอง  แต่ความจริงศาสนาท่านสอนด้วยความเป็นกลาง 

เพราะฉะนั้นถ้า พุทธ อิสลาม คริสต์ ยอมรับความเป็นจริงที่เห็นตรงนี้ ว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี่ มันไม่จำเป็นที่จะต้องมานับถือพุทธเลย ก็จะเห็นความจริงได้ ปัญญาก็จะเกิดได้ แล้วก็จะเห็นว่า เอ้า ดูไป จะเห็นว่าถึงไม่ต้องทำอะไรเดี๋ยวก็จะหายเจ็บแล้ว ใช่ไหม มันหายเองรึเปล่า พุทธก็หายเอง คริสต์ก็หายเอง อิสลามก็หายเอง เหมือนกัน  ไม่ต้องมานับถือพุทธเท่านั้นถึงจะเกิดอาการนี้ เข้าใจไหม

มันเป็นความเป็นจริงที่เรียกว่าสัจจะ ศาสนาพุทธสอนเรื่องสัจจะ ไม่ได้สอนเรื่องความเห็น หรือว่าต้องมาใส่บาตรพระ ต้องมากราบพระก่อน ถึงจะเข้าถึงพระพุทธ เข้าถึงพระธรรม เข้าถึงพระสงฆ์ เข้าถึงปัญญาขั้นอริยะได้ เข้าใจไหม  สามารถเข้าได้ ถ้ายอมรับตามความเป็นจริง ไม่เบี่ยงเบน เห็นไหม มันจึงมีค่าเหมือนกันหมดเลย ไม่ว่าชาติไหน ศาสนาไหน 

แต่ถ้ามานั่งยึดติดกันว่าไม่ไหว้พระไม่ทำบุญก่อน ไม่ปวารณาเข้าถึงไตรสรณคมน์หรือยอมรับพระพุทธเจ้าก่อน ปฏิบัติไม่ได้ผลหรือเป็นตัวขวางศาสนา นี่ไม่ถูกเลยนะ  

ศาสนาพุทธสอนด้วยปัญญานะ ให้เข้าด้วยปัญญาแล้วก็เห็นตามความเป็นจริง ว่าความเป็นจริงนั้นๆ น่ะเป็นอย่างไร คืออะไร ... เกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป..เอง เหมือนกันหมด 

ไม่ว่าใคร นับถืออย่างไร มีความเชื่ออย่างไร จับมาตบกบาลพร้อมกันนี่ เหมือนกันหมดเลย แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่า โกรธมาก โกรธน้อย โกรธนิดเดียว อันนี้ความโกรธนี่ไม่เท่ากัน แล้วแต่นิสัย แล้วแต่การอบรมบ่มมา ปลูกฝังกันมา หรือการให้ค่า 

อารมณ์ก็มากน้อยแตกต่างกันไป  แต่ว่าอยู่ในพื้นฐานเดียวกันหมด ไม่ได้ตั้งใจจะโกรธน่ะ มันโกรธเอง  ไม่ได้ตั้งใจให้มันดับน่ะ ไม่ต้องทำอะไร มันก็ดับเอง นี่ จะเห็นความจริงอย่างนี้ ที่สุดแล้วมันจะเหมือนกันหมด ...แล้วไม่ใช่แค่ความโกรธ แต่ทุกเรื่อง

ทุกเรื่องคืออยู่ในหลักนี้ นี่คือหลักของธรรมชาติ นี่คือหลักของไตรลักษณ์ อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้หมดเลย ไม่ว่าศาสนาไหน ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ อยู่ภายใต้กฎนี้  ไม่ว่าพระอรหันต์ ไม่ว่าพระอริยะ ไม่ว่าพระพุทธเจ้า ไม่ว่าสงฆ์สาวก อยู่ภายใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์นี้หมดเลยในเรื่องของขันธ์ รูปและนาม เป็นอย่างนี้

ไม่มีแบบ ไม่มีว่ามีใครอยู่เหนือ  ถึงจะปัญญาหลุดพ้นแล้วก็ยังไม่อยู่เหนือความเป็นจริงอันนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลา  แต่ท่านอยู่เหนือเพราะท่านเห็นแล้วยอมรับมัน  แต่เรา เห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง ยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง ยังมีเงื่อนไข ยังมีข้อแม้

จนกว่าไม่มีข้อแม้ เมื่อนั้นแหละถึงพูดภาษาเดียวกัน กับพระพุทธเจ้า คุยกันรู้เรื่อง ธรรมเดียวกัน เห็นธรรมเดียวกัน เห็นธรรมเสมอกัน เห็นความเป็นจริงเท่ากัน แต่รูปร่างหน้าตาตัวตนไม่เหมือนกัน คนละเรื่อง หญิงชายต่างกันได้ แต่ความเห็นสุดท้ายแล้ว เข้าใจเหมือนกันหมด

สุดท้ายแล้วถึงบอกว่าไม่มีอะไร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครเป็นผู้บงการ ไม่มีใครเป็นผู้จัดการ  มันเกิดเอง มันตั้งอยู่เอง แล้วมันก็ดับไปเอง ..เป็นธรรมดา  ไม่ใช่ผิดธรรมดานะ ..เป็นธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นอยู่เช่นนั้นเอง ไม่ต้องไปเร่งด้วย ไม่ต้องไปทำให้มันเกิดด้วย ไม่ต้องทำให้มันดับด้วย มันเป็นของมันอยู่แล้ว

สภาวะธาตุ สภาวธรรม จะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม มันเป็นมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดอีก แล้วมันก็เป็นอยู่อย่างนี้หลังเราเกิดด้วย หลังจากเราตายแล้ว มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ ภายใต้กฎของธรรมชาตินี้  จะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม เขาก็เป็นอย่างนี้ 

แต่เรามีบุญวาสนาบารมีที่ดี มาเกิดในช่วงที่อยู่ในจังหวะของพระพุทธเจ้า ท่านมาชี้แนะให้เห็นว่า นี่ มันมีเงื่อนไขอย่างนี้ๆ นะ ความเป็นจริงอย่างนี้ๆ นะ  คุณจะต้องเห็นอย่างนี้ๆ นะ  เรามาอยู่ในช่วงนี้พอดี  จะเรียกว่าเราไม่พร้อมไม่พอได้อย่างไร 

ไม่ใช่ทุกจิตวิญญาณของมนุษย์หรือสัตว์โลก...จะได้มีโอกาสมาอยู่ในช่วงห้าพันปีนี้ทุกคนไป  ไม่ใช่ง่ายๆ นะ กว่าจะได้มาถึงจุดนี้ ในช่วงเวลานี้.... แล้วมาอยู่ในเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองหลักเมืองเอกที่มีพระอริยะมากที่สุดในโลก ที่ดำรงไว้ซึ่งคำสอนที่ยังคงอยู่ พระอริยถึงขั้นนิพพานนี่ยังมีอยู่ แล้วได้มาเกิดอยู่ร่วมยุคร่วมสมัย

จะมาบ่นตีอกชกหัวตัวเองว่าไม่มีกำลัง ไม่มีบุญวาสนานี่ อย่าพูด ยังมีอีกตั้ง ..เอาแค่โลกปัจจุบันนี่ก็อีกสี่พันกว่าล้าน มันไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ มีความเห็นอะไรอยู่ก็ไม่รู้  

แล้วพวกเราอยู่ในจุดที่ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่มีโอกาส นี่เรียกว่า...มันพร้อมแล้ว มันมีโอกาสดีกว่าคนอื่นแล้ว


(มีต่อ แทร็ก 1/4 )






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น