วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/15 (1)



พระอาจารย์
1/15 (25530331A)
31 มีนาคม 25553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้ยาวมาก จึงขอแบ่งโพสต์เป็น 3 ช่วงบทความเลยนะคะ)

พระอาจารย์ –  มันจะเห็นในอาการต่อเนื่อง...เห็น  เพราะนั้นมันเป็นตัวที่ว่าฝึกให้เกิดสัมปชัญญะ 

เมื่อสัมปชัญญะมันเริ่มขึ้น มากขึ้น แกร่งกล้าขึ้นปุ๊บ พอดูใจปุ๊บ ต่อไปมันจะรู้และเห็น...รู้และเห็น ...ไม่มีอะไรก็จะเห็นความไม่มีอะไร ตลอด เห็นต่อเนื่อง...เห็น 

ไม่งั้นเราก็ต้องมาหมั่นระลึกรู้ ระลึกรู้ ระลึกรู้แล้วก็หาย ระลึกรู้แล้วก็หาย  มันจะขาด ..หาย แล้วก็ลอยไปอย่างนี้  เนี่ย มันจะลอย จะเผลอ จะเพลิน จะหาย ...อันนี้คือปัญหาของคนปฏิบัติ นะ

เพราะงั้นพอเผลอ เพลินปุ๊บ เราก็หาวิธีการที่จะทำมันขึ้นมา ด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิบ้าง เพื่อให้มันเป็นรูปแบบที่สามารถทำให้ต่อเนื่อง เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าเข้าใจแล้วนี่...ก็เอาสติสัมปชัญญะมาตั้งไว้อยู่กับกายก็ได้ ...เพราะกายมันจะมีตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้างกายขึ้นมาใหม่เพื่อให้เห็นน่ะ 

มันกลับมาตอนไหนมันก็เห็น กายมันมีอยู่ตลอดเวลา ...ไม่ต้องไปสร้างอาการของกายขึ้นมาใหม่ด้วยซ้ำ นะ

จนมันเต็มรอบหรือว่าแข็งแกร่งดีแล้ว มันก็รู้ตรง ๆ ที่ใจได้ รู้ตรงๆ ที่จิตได้ ...มันอยู่ได้ เห็นได้ เห็นได้ต่อเนื่อง เห็นได้เป็นเวลานาน เห็นได้

เพราะงั้นสตินี่ วันนึงอาจได้รู้สักสิบครั้งยี่สิบครั้ง ไม่มีปัญหา ขอให้มันเห็นตลอดทั้งวันเถอะ เข้าใจไหม 

เพราะนั้นไอ้การระลึกรู้น่ะไม่สำคัญเท่ากับการที่เห็นอยู่ตลอดทั้งวันหรอก เข้าใจมั้ย นี่มันเห็นเป็นช่วง และระหว่างที่เห็นนี่มันจะไม่รู้ มันจะไม่มีความรู้ชัด แต่มันเห็น...เข้าใจมั้ย

มันรู้อยู่แล้ว มันมีการเห็นอยู่ อาการจะหนักไปทางเห็น ว่ามันอะไรตั้งอยู่ หรือไม่มีอะไร หรือว่าทางกายทำอะไรอยู่ ได้ยินอะไร มันมีอาการเห็น 

เพราะงั้นรู้อาจจะไม่รู้มาก แต่ว่าเห็นได้ตลอดเวลานี่ไม่มีปัญหา ...ตรงนี้เรียกว่ามีทั้งสติและสัมปชัญญะ

ไม่ใช่เอาแต่ว่าต้องรู้บ่อยๆๆ มันไปทิ้งตัวสัมปชัญญะซะ ขาดอาการเห็น  เมื่อรู้มาก ๆ แล้วพอไม่รู้เข้าก็เริ่มเครียดแล้ว กังวล หาวิธีแก้แล้ว ...นี่ ให้เข้าใจๆ

แล้วโยมนี่ล่ะ ...สงสัยอะไรหรือเปล่า เข้าใจมั้ย


โยม   ก็พอเข้าใจค่ะ เพราะเมื่อเช้านี้เดิน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถูก แต่ตอนนี้รู้เข้าใจขึ้น

พระอาจารย์  ตอนไหนก็รู้ได้ ใช่มั้ย ตอนนี้ก็รู้ได้ ...รู้กายก็ได้ใช่มั้ย  อือ กำลังนั่ง กำลังพูด กำลังฟัง กำลังทำอะไรอยู่ รู้...ตรงนี้พอแล้ว

เพราะนั้นว่าการปฏิบัติจริงๆ น่ะ ไม่ได้ทำอะไรขึ้นมาใหม่เลย แต่เป็นการที่ว่ากลับมาดูที่มันมี ที่มันเป็น ...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งใจดูมันก็มี กายก็มี จิตก็มี อาการ อารมณ์มันมีตลอดเวลาอยู่แล้ว

เพราะนั้นถ้าเราไปตั้งใจปฏิบัติ พอเริ่มจะปฏิบัติ ตั้งใจปุ๊บ มันจะพยายามหาอะไรขึ้นมากำหนดให้รู้เลย อย่างนี้ไม่ตรงแล้วนะ มันเริ่มไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้วนะ 

แต่ถ้ารู้ตรงนี้ก็จะเห็นความเป็นจริงของกายกับจิตตรงๆ เลย ซึ่งมันมีอยู่แล้ว มันมีอยู่ทุกขณะจิตอยู่แล้ว ทุกเวลาอยู่แล้ว...ธรรมตามความเป็นจริงน่ะ 

เราไม่ต้องหาอะไรขึ้นมาใหม่หรอก ...ส่วนมากพอเริ่มปฏิบัติปุ๊บ ไม่สงบก็ไปทำให้สงบอย่างนี้ ไปสร้างสภาวะขึ้นมาใหม่ ทั้งๆ ที่ว่าก็คือไม่ยอมรู้กับสภาวะที่มันไม่สงบ

จริงๆ น่ะ มันไม่ต้องทำอะไรหรอก ก็รู้ว่าไม่สงบ...ก็พอแล้ว  ก็รู้ว่าตอนนี้มันกำลังไม่สงบ แล้วก็ไม่ต้องไปอยากทำให้มันสงบ เห็นมั้ย แค่ทำให้สงบนี่ต้องอาศัยความอยากแล้วนะ 

ถ้าไม่อยากมันไม่นั่ง ถ้าไม่อยากมันไม่เดินจงกรม มันมีความอยากอยู่นะเป็นตัวผลักดัน แล้ว "อยาก" นี่ ท่านเรียกว่าเป็นอะไร...เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ใช่รึเปล่า  

พระพุทธเจ้าท่านให้ละเลยนะนั่นน่ะ ...แต่พวกเราชอบทำตามความอยาก อยากให้มันเป็นยังไง อยากให้เห็นธรรม อยากให้เข้าใจ อยากให้จิตดี อยากให้เกิดปัญญา เห็นมั้ย ทำไปตามความอยากนะนั่นน่ะ

มันหนี แล้วพยายามหนีธรรมตามความเป็นจริง...คือเดี๋ยวนี้  จะหนีเดี๋ยวนี้ จะไปเอาข้างหน้า จะไปเอาอารมณ์ข้างหน้า ไปตายเอาดาบหน้า ทำเพื่อตายดาบหน้าแล้วจะดีกว่า  

แต่ไอ้ตอนนี้ไม่ดู ดูแล้วมันธรรมดา มันไม่มีอะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย แย่มาก ไม่ดี สภาวะอย่างนี้ไม่ดี ...นี่อย่างนี้...หนี พยายามหนี ...พระพุทธเจ้าไม่ให้หนี แต่ให้เห็น...ตามความเป็นจริงในปัจจุบัน 

ซึ่งมันจริงหมด ...จะพอใจกับมันก็ตาม ไม่พอใจกับมันก็ตาม จะว่ามันดีก็ตาม จะว่ามันไม่ดีก็ตาม  ท่านบอกอันนี้...จริง ท่านให้เห็น ให้รู้ตามความเป็นจริง

เพราะอะไร ...เพราะเดี๋ยวมันก็เปลี่ยน ๆ มันเป็นอย่างนี้ แป๊บเดียว อย่างมากก็วัน อย่างมากก็ปี ช่างมัน ดูเข้าไป อย่าไปกลัว  

ถ้ามันฟุ้งซ่านมากก็บอกมัน อยู่จนตายก็จะดูจนตาย มันไม่เปลี่ยนก็จะดูจนตาย ตายใหม่เกิดใหม่ก็จะดูอีก ...มันไม่มีอะไรหรอกจะมาเถียงพระพุทธเจ้าได้ ใช่รึเปล่า

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เราน่ะเถียง...เถียงจัง จะทำให้มันเที่ยง จะทำความสงบให้เที่ยง จะทำให้สภาวะอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา

ปฏิบัติไปปฏิบัติมาแทนที่จะเชื่อพระพุทธเจ้ากลับเถียงพระพุทธเจ้า เก่งกว่าพระพุทธเจ้าอีก พยายามจะแก้จิตอยู่นั่นแหละ พยายามจะทำให้จิตเป็นอย่างนั้น พยายามทำให้จิตเป็นอย่างนี้ 

แล้วจะต้องให้มันเห็นอย่างนั้น มันไม่เห็นอย่างนั้น ต้องให้เห็นอย่างนี้ ...ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า จิตบังคับได้รึเปล่า มันเป็นของเรารึเปล่า มันมีตัวมีตนรึเปล่า มันเป็นอนัตตาใช่มั้ย  

แต่เราไปพยายามทำให้มันเป็นอัตตาซะอย่างนั้น...อย่างที่เราต้องการ อย่างที่เราต้องเข้าใจ ไม่เข้าใจกับมันก็ต้องเข้าใจกับมันให้ได้ อย่างนี้

ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ งงคืองง ไม่รู้คือไม่รู้ โง่คือโง่ ไม่รู้อะไรก็ไม่รู้อะไร ก็รู้ว่าไม่รู้อะไร ใครเขาจะบอกว่าโง่ก็เรื่องของเขา ก็มันไม่รู้นี่หว่า ... ไม่ต้องไปทำให้มันรู้อะไร เข้าใจมั้ย อย่าไปกลัวโง่ โง่เข้าไว้แหละดี 

อ้ที่รู้น่ะมันไม่ดี ...เพราะว่ามันรู้ไปตามบัญญัติและสมมุติ มันไม่ได้รู้จริงหรอก มันรู้แบบคาดค้นด้นเดา คะเนเอา ประเมินเอา ประมาณเอาจากสัญญา จากความจำได้ จากที่เคยได้ยินได้ฟังมา จากที่คิดมา แค่นั้นเอง

ในความเป็นจริงมันไม่มีอะไรหรอก ไม่จำเป็นจะต้องไปรู้อะไรด้วยซ้ำว่ามันเรียกว่าอะไร มันไม่มีชื่อหรอก ...โกรธ โลภ หลง ก็ยังไม่มีชื่อเลย เห็นมั้ย มันเป็นแค่อาการ...อาการหนึ่งเท่านั้นที่ปรากฏขึ้น

พระพุทธเจ้าท่านอนุมานให้ได้ด้วยบัญญัติสมมุติ แค่ว่ามันเป็นอาการ ท่านยังไม่อยากจะบอกด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ไม่จำเป็นจะต้องรู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ชื่ออะไร ...แต่ให้รู้ว่าอาการนี้ปรากฏ

ดูจริงๆ นะ ถ้าสติที่เป็นกลางจริงนะ จะรู้แค่ว่ามันเป็นแค่อาการ ตรงนั้นถึงเรียกว่ามันสักแต่ว่าอาการหนึ่งที่เกิดขึ้น 

ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่ามาก ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าน้อย ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าดี ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าไม่ดี ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าถูก ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าผิด ...ไอ้คนที่บอกเนี่ย ไอ้ตัวนั้นแหละผิด ใคร...ใครบอกๆ


โยม –  ตัวเราแหละค่ะ บอกเอง

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละคือ...ตัวเรา เข้าใจไหม “เรา” น่ะตัวปัญหาใหญ่ เข้าใจมั้ย  จิตน่ะเขาไม่มีปัญหาหรอก อาการของจิตก็ไม่มีปัญหาหรอก ...“เรา” นี่ แหละปัญหา 

เราชอบบ้าง เราไม่ชอบบ้าง เราว่าดีบ้าง เราว่าไม่ดีบ้าง เรานี่เป็นผู้ให้ค่า เห็นมั้ย ๆ เราให้ค่านั่นแหละคือเรียกว่าเราเข้าไปใส่อุปาทานกับมัน

รู้ไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าใจว่าความเป็นจริงนี่ ที่จริงๆ เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร เขาคืออะไร ...ตรงนั้นน่ะ ถึงจะออกจากทุกข์ได้ ...ออกจากทุกข์อุปาทานนะ ไม่ได้ออกจากทุกขสัจ

เจ็บ เมื่อย ปวด ร้อน หิว กระหาย  พวกนี้ อันนี้เขาเรียกว่าทุกขสัจ เข้าใจไหม  เป็นทุกข์โดยธรรมชาติตามความเป็นจริงของขันธ์อยู่แล้ว ได้ดั่งใจมั่ง ไม่ได้ดั่งใจมั่ง อันนี้คือทุกขสัจ เข้าใจไหม 

มันเป็นอยู่แล้วเรื่องราว สถานการณ์ สิ่งที่กระทบ ...ไม่ได้คาดไว้ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ เรื่องอะไรก็ตาม พวกนี้ มันต้องเป็นทุกข์ของมันอยู่แล้ว ห้ามไม่ได้ แก้ไม่ได้

แต่ท่านว่า...ปัญญานี่คือจะออกจากทุกข์อุปาทาน ...คือปวดก็ไม่เดือดร้อน เมื่อยก็ไม่เดือดร้อน ไม่ไปบอกว่าทำไมมันถึงปวดวะ ไม่ไปทะเลาะกับขันธ์ ไม่ไปเอาชนะขันธ์อย่างนี้ 

คือออกจากความเห็นอย่างนี้ ออกมา ตัวนี้เรียกว่าอุปาทานทุกข์ ...แต่ปวดก็ปวดอยู่ แก้ไม่ได้ และไม่แก้  ...ได้แค่ประคับประคอง อยู่กันแบบกลาง ๆ เข้าใจไหม

เคยฟังบทสวดไหม พิจารณาปัจจเวกขณะน่ะ  ปัจจเวกขณะ การกินเพื่อให้รูปขันธ์ดำรงอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมต่อไป ไม่ได้กินเพื่อความสวยงาม ไม่ได้กินเพื่อความอร่อย ไม่ได้กินด้วยพอใจหรือไม่พอใจ

เครื่องนุ่งห่มก็เอามาเพื่อป้องกัน เหล่านี้เพื่อให้ขันธ์นี้ดำเนินต่อไป ประคับประคองรูปขันธ์นามขันธ์ ให้เป็นการเรียนรู้ธรรม ปฏิบัติธรรม นี่พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พิจารณาเป็นปัจจเวกขณะ การเสพในปัจจัยสี่

เพราะว่าขันธ์นี่มันเป็นทุกข์ของมันอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะยอมรับแล้วก็ทิ้ง ๆ ขว้างๆ มันเลย  ปล่อยวางแบบ โอ้โห ปล่อยวางก็เลิกกินเลิกดูแลขันธ์เลย...ก็ไม่ใช่  

ก็ประคับประคองและอยู่กับมันไปกลางๆ ...ไม่ได้เอาสวยเอางามอะไรกับมัน ไม่ได้เอาดีเอาเด่อะไรกับมันหรอก ถ้าอย่างนั้นท่านเรียกว่าเกินแล้ว เป็นอุปาทานแล้ว 

แต่ว่าเป็นการที่เลี้ยงดูขันธ์ไปตามเหตุปัจจัย เพื่อให้มันอยู่ไปตามวิบากกรรม แล้วก็ให้เป็นการเรียนรู้ให้เกิดปัญญาต่างหาก

เพราะนั้นว่า อย่าไปเอาแต่ว่าจะดับทุกข์อย่างเดียว ...ต้องแยกให้ออกว่าทุกข์อะไร ทุกข์อุปาทานหรือว่าทุกขสัจ ...ถ้าทุกขสัจนี่ดับไม่ได้  ความคิดดับไม่ได้ สัญญาดับไม่ได้ สังขารดับไม่ได้ วิญญาณดับไม่ได้ รูปดับไม่ได้

พูดง่ายๆ ขันธ์ 5 นี่ดับไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ก็ยังมีขันธ์ 5 อยู่ ...ยังไม่ตาย ก็ยังต้องมีความคิด ยังต้องมีความจำ ยังต้องมีความรู้สึก ยังต้องมีการรับรู้ เข้าใจไหม  จะไปห้ามมันไม่ได้หรอก 

ตรงนี้ท่านเรียกว่าเป็นขันธ์...ขันธ์ที่เป็นทุกขสัจอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

แต่ที่ท่านให้ละ ให้เลิก ให้ถอนน่ะ คือให้ถอนจากอุปาทาน ความเข้าไปหมายมั่น 

เช่นมันมีความฟุ้งซ่าน ความคิด แล้วบอกว่าความคิดไม่ดี...ต้องดับมัน อย่างนี้ เข้าใจมั้ย อย่างนี้เรียกอุปาทาน ...คิดก็คิดสิ เรื่องของมึงไม่ใช่เรื่องของกู อยากคิดคิดไป


โยม –  เดี๋ยวมันก็คิดไปกันใหญ่

พระอาจารย์ –  เออ ...นี่เห็นมั้ย พอเราเริ่มคิดว่ามันจะไปกันใหญ่ ...นี่เกิดจากการเข้าใจเอาเองนะ คะเนเอานะ


โยม – (หัวเราะ) เราก็จะเข้าไปจัดการ

พระอาจารย์ –  มันเกิดจากการที่เราไปหมายมั่นเอาเองนะว่า ถ้าปล่อยอย่างนี้ มันน่าจะมากไปกว่านี้ 

เพราะมันเคยจำสภาวะเดิมได้ว่าเคยปล่อยแล้วมันหลุดไปเรื่อย ๆ แล้วเคยจำได้ว่าเวลาหลุดไปเรื่อยๆ แล้วมันจะมีเวทนาเป็นทุกข์ ...เห็นมั้ย จิตมันจดจำเป็นอุปาทานเลย 

คือมีอาการเสมือนเดิมเกิดขึ้น ปั๊บ มันก็คิดว่ามันจะต้องเหมือนเดิมแน่ ...นี่เกิดจากการปรุงแต่งนะ เกิดจากอุปาทานแล้ว มันมีอุปาทาน มันมีตัวรองรับแล้วนะ มันเตรียมแก้แล้ว เตรียมเลี่ยงแล้ว

แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ ไม่ได้สนใจว่ามันจะมากจะน้อย มันไม่ไปเป็นเดือดเป็นร้อน ...ความคิดปรุงแต่งมันไม่ได้มีมือมีตีนมากระทืบเราหรอก มันหาตัวตนไม่ได้อยู่แล้ว 

แต่เราคิดว่ามันมีมือมีตีนมาทำให้เราเป็นทุกข์ อันนี้ต่างหาก ...โยมก็บอกเองนี่ว่า ทุกข์... เราทำขึ้นเอง ใช่รึเปล่า


โยม –  ทำเอง

พระอาจารย์ –  เออ เราทำเองนะนั่น ...อันนี้ต่างหาก นี่เรียกว่าอุปาทาน

แต่ไอ้ความคิดนั่นคือทุกขสัจ ความปรุงแต่ง ความคิด ความจำนี่ เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ห้ามไม่ได้หรอก ...แล้วความคิดมันก็ไม่ได้มีมือมีตีนมาทุบเราให้เป็นทุกข์นะ 

แต่ว่ากว่าจะเข้าใจและยอมรับมันน่ะ มันก็ต้องเรียนรู้อย่างนี้ ...แล้วต่อไปความคิดมันก็คิดไป มันเป็นสักแต่ว่าคิดแล้ว อารมณ์ก็สักแต่ว่าอารมณ์ โกรธก็สักแต่ว่าโกรธ หงุดหงิดก็สักแต่ว่าหงุดหงิด

เมื่อไม่มีเราเข้าไปเสวย มันก็เป็นแค่อาการ ...มันก็จะเป็นอาการแค่ขณะๆ พอให้รับรู้ เท่านั้นเอง 


(ต่อแทร็ก 1/15 ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น