วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/15 (3)


พระอาจารย์
1/15 (25530331A)
31 มีนาคม 25553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/15  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้นพอพูดมัชฌิมาปฏิปทา บางคนก็คิดไปไกลเลยว่าต้องมีตั้ง ๘ ข้อ ต้องทำอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเริ่มจากตรงนั้น ต้องอย่างนี้ 

แต่ถ้าว่าในภาษาเราก็บอกว่า...รู้เป็นกลางๆ นี่แหละ รู้แบบไม่มีเงื่อนไข รู้แบบไม่มีข้อแม้ รู้แบบไม่เลือก ...อะไรก็ได้ แค่รู้กะมันตรงๆ นี่ล่ะ

จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ยากหรอก พวกเรามาตีความให้ยากไปมากมาย ...เกินทั้งนั้น พอเริ่มตีความปุ๊บ เกิน มีแต่เกินกับเกิน มีแต่ขั้นอุกฤษฎ์ทั้งนั้นเลย นะ 

ขึ้นชื่อว่าอุกฤษฎ์ ขึ้นชื่อว่าเคร่ง ก็ขึ้นชื่อว่าสุดโต่ง  มันก็คือความหมายเดียวกับคำว่าสุดโต่ง เข้าใจมั้ย สุดโต่งในจิตน่ะ ...ภาษาที่เรียกดีๆ ก็ว่า "อุกฤษฎ์" 

เคร่ง ทำความเพียรแบบอุกฤษฎ์งี้ ...โห มันสร้างตัณหาแบบอุกฤษฎ์เลยนะ คือการเจริญตัณหาแบบขั้นอุกฤษฎ์เลยนะนั่น เดินแบบไม่ท้อถอยทั้งวันทั้งคืน 

นี่เรียกว่าตัณหาขั้นอุกฤษฎ์เลยนะ บอกให้เลย ในความเป็นจริงนะ เราพูดแบบไม่อ้อมค้อมนะ ไม่พูดแบบเกรงใจใคร


โยม –  ก็เขามาตีความอันที่ว่า...ราตรีหนึ่งเจริญ ว่าเดินอยู่ทั้งคืนไม่นอน

พระอาจารย์ –  ตีความก็ตีความผิด ... คำว่าราตรีหนึ่งเจริญ คือ “จิตรู้” เข้าใจมั้ย  

จิตรู้มันไม่มีกลางวันกลางคืน บอกให้เลย ...สติที่รู้นี่ มันมีกลางวันตรงไหน มันมีกลางคืนตรงไหน มันมีเวลาหลับเวลานอนมั้ย เข้าใจมั้ย มันไม่เคยขึ้นกับเดือนขึ้นกับตะวัน

อันนี้ต่างหากคือมีราตรีเดียว ...สมณะที่มีราตรีเดียว คือสติ...ตื่น เป็นผู้ตื่น เข้าใจรึยัง ... ตื่น จิตตื่นคือจิตรู้  คือสติ มันจึงจะตื่น ...ไม่ใช่ตื่นแบบลืมตา ไม่หลับไม่นอน อย่างนี้ไม่ใช่


โยม –  เพราะนั้นราตรีนี่คือว่าไอ้ที่มืดมาตลอด

พระอาจารย์  นั่นน่ะคือความมัวเมา คือความมืดบอดต่างหาก ... ตื่น จิตตื่น ตาใจนี่ตื่น ด้วยญาณ ด้วยสติและสัมปชัญญะ

เพราะนั้นไอ้ที่อยู่ในสมองพวกเรานี่ลบได้  delete ให้หมดยิ่งดี มัน error บอกให้เลย มัน error ...ฟอร์แมทซะได้ก็ดีน่ะ ล้างให้หมด ไม่เอาอะไรเลย โง่ที่สุด กลับมาเป็นเหมือนศูนย์ (0) น่ะ เข้าใจมั้ย 

แล้วก็รู้ไปตรงๆ น่ะ ยืน เดิน นั่ง นอน สบายใจ ไม่สบายใจ สุข ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ ดีใจ เสียใจ รู้มันไปแค่นี้ ...จบ  ถึงนิพพานก็รู้แค่นี้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย บอกให้เลย

แต่ไอ้ความรู้พวกนั้นมันไม่ถึงน่ะ ไปตายกลางทางหมด บอกให้เลย ...มันตายเพราะมันรู้เกินน่ะแหละ มันไปอยู่กับไอ้ที่มันรู้เกินน่ะ ...มันเป็นภพ เข้าใจมั้ย 

มันเป็นสมมุติและเป็นบัญญัติทั้งสิ้น สภาวะนี่โหยละเอียด บางคนมาพูดอธิบาย เราฟังนี่ โห กูยังงงเลยโว้ย มันมีหรือวะเนี่ย มันเคยปรากฏอยู่ในภพมนุษย์นี้เหรอ มันเกินไป ๆ

เอาแค่เดี๋ยวนี้...มีก็มี ไม่มีก็ไม่มี สบาย ๆ ง่ายๆ ไม่รู้อะไรคือไม่รู้อะไร งงคือรู้ว่างง สับสนรู้ว่าสับสน เดี๋ยวก็หาย  กังวลก็รู้ อ้าว อยากรู้อีกแล้ว อยากเห็นธรรมอีกแล้ว ก็รู้ว่าอยากอีกแล้ว  

รู้ไปๆ ๆ มีอะไรเกิดขึ้นรู้เข้าไป รู้ไป ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปว่ามัน ไม่ต้องไปโทษมัน ไม่ต้องไปตำหนิมัน ไม่ต้องไปว่ามันดีหรือไม่ดีน่ะ

มันเกิดยังไงก็ให้รู้...เห็น รู้แล้วก็เห็นว่ามันเป็นยังไงมั่ง มากขึ้น น้อยลง เออมันดับลง มันแปรปรวน เออ มันตั้งอยู่ไม่ได้ มันเป็นยังไงๆ แค่นั้นเอง รู้แล้วก็เห็นตามความเป็นจริง  

ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าถูก ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าผิด  ตัวเราเองนั่นแหละ...ถ้าไม่รู้เมื่อไหร่ นั่นแหละ ผิดหมด  ถ้ารู้อยู่...อะไรก็ได้...ถูกหมด บอกให้เลย  

แต่ถ้าไม่มีสติ ถ้าไม่เห็นตามความเป็นจริงในปัจจุบัน...ผิดหมด ...จะให้รู้อะไรมากมายมหาศาลเราก็เรียกว่าผิด เพราะมันรู้จำ รู้คิด...ไม่เอา ... รู้จำ รู้คิดนี่ไม่เอา ...เอารู้จริง  

รู้จริงคือรู้ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี่  (เสียงของสัมผัส)...นี่จริงๆ ...ถ้าคิดอะไรอยู่นี่ เขาเรียกรู้คิด รู้จำ เข้าใจมั้ย ไอ้พวกนี้ไม่ค่อยจริงน่ะ ...แต่มันจะไปเชื่อรู้จำกับรู้คิด เข้าใจมั้ยมนุษย์เรานี่


โยม –  มันฝึกรู้จำมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วน่ะค่ะ

พระอาจารย์  มนุษย์น่ะมันฝึกอยู่กับการคิดมา แล้วก็เชื่อความคิดมาตลอด เอะอะอะไรคิดไว้ก่อนแหละ ผิดถูกยังไงไม่รู้ คิดแล้วสรุปได้แล้ว...มันเชื่อเลยว่าใช่

นี่มันเป็นการตัดสินของอุปาทาน คิดแล้วมันตัดสินเองเลย มันจะเกิดความหมายมั่นทันที ตัดสินเองเลย ว่าใช่ ถูก ผิด แล้วมันก็เชื่อ เป็นมานะขึ้นในจิตเลย 

มันเป็นธรรมดาของขันธ์ ของอุปาทานขันธ์นะ เป็นกิเลสประจำตัวของสัตว์โลก มันเป็นอย่างนี้ ...แต่เราไม่เห็นมันไง  ปัญหาอยู่ที่ตรงนี้...เราไม่เห็นมัน  

ถ้าเราเห็นเมื่อไหร่แล้วจะเหมือนเราจับขโมยได้น่ะ ...อ้อ ไอ้นี่เอง มันมาแอบดอดกูตอนนี้ นี่ ฟุ้บ นี่จับได้ เพราะนั้นสตินี่เองถึงจะรู้จะเห็นว่ามันแอบมาตอนไหน...มาสร้างตัวตน


โยม –  มานะนี่เราก็เข้าไปรู้อย่างเดียว ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์  รู้อย่างเดียว ดูอย่างเดียว แก้ไม่ได้ ไม่ต้องแก้ ...ให้ทันซะก่อนเหอะ  มันไม่ทันน่ะสิ มันไม่เห็นน่ะสิ  ปัญหาคือมันจะแก้อะไรถ้ามันไม่เห็นน่ะ

อยากเห็นกันจังอนัตตา อยากเห็นกันจังความไม่มีตัวตน ...แล้วก็เพ่งเข้าไปอยู่นั่น ดูเข้าไปอยู่นั่น ให้มันว่าง ให้มันหาย ให้มันไม่มี

มันจะเห็นอนัตตาได้ยังไง...ถ้าไม่เห็นอัตตา เข้าใจรึยัง ...คุณจะเห็นความไม่มีตัวตน คุณต้องเห็นตัวตนก่อนสิ คุณต้องเห็นตัวตนของความมีความคิด คุณต้องเห็นความเป็นตัวตนในความคิด 

คุณต้องเห็นความมีตัวตนในความจำ คุณต้องเห็นความมีตัวตนในความเห็น คุณต้องเห็นความมีตัวตนในรูป ในคน ในสัตว์ ในวัตถุ อย่างในรูป ...ในรูปนี่ นี่พ่อ นี่แม่ นี่..เป็นตัวเป็นตนยังไง  

คุณต้องเห็นตัวตนพวกนี้ก่อน คุณถึงจะเห็นว่าความไม่มีตัวตนอยู่ตรงไหน ...สติมันถึงจะต้องไปเรียนรู้จักสิ่งที่มีอยู่ก่อน ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีแล้วไปจับ 

เพราะฉะนั้นถ้าเอาสิ่งที่ไม่มีมาเป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานนะ อาจารย์นึงบอกว่าอย่างนี้ใช่  มาอีกอาจารย์หนึ่งบอกว่าอย่างนี้ไม่ใช่ ต้องอย่างนี้  เข้าใจมั้ย ๆ  

แล้วมันกี่สิบสำนักนี่ จะบอกสภาวะไม่เหมือนกันเลย และจะแนะนำวิธีการให้เข้าถึงสภาวะนี้ไม่เหมือนกันเลย

แต่อย่างที่เราบอก...มีวิธีเดียว เห็นว่ามีอะไร รู้ตรงนั้น แล้วจะเห็นความดับไปของตรงนั้น ตรงนั้นถึงเรียกว่าเห็นความดับไปของตัวตนหรือว่าความเป็นอัตตานั้นดับไป  

เสียงที่ได้ยิน...รู้ปุ๊บนี่ เห็นความดับไป ...นี่คือเห็นความเป็นอนัตตาของมันแล้ว ด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้ทำขึ้นมา เข้าใจมั้ย นี่พูด...ได้ยิน ไม่ได้บอกให้มันดับเลย ดับเองนะนั่น ใช่มั้ย ไม่ได้กำหนดให้ดับนะ 

นี่ ถ้าสติเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงนะ ...อัตตาเกิดขึ้น ตัวตนเกิดขึ้นครั้งนึงแล้วก็ดับไป ถ้าเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่มันเกิดดับตรงนี้ เราก็ไม่สร้างอัตตาอุปาทาน 

หรือว่าเก็บมาเป็นจริงจัง สะสมมาเป็นนิสัย ...อย่างว่าเขาด่าให้เรา เขาว่าให้เรา อย่างนี้น่ะ  อย่างนี้น่ะเก็บความเป็นอัตตาอุปาทาน  ด้วยความไม่รู้ คิดว่าเขายังด่าเราอยู่ 

เขาด่า...สมมติว่า “ไอ้โง่ เธอนี่โง่ ...ปุ๊บ จบแล้ว ... กลับถึงบ้าน มันด่าตัวเองว่า "โง่ๆๆๆๆ" ซ้ำซากอยู่นั่นแหละ ...เข้าใจมั้ย  ไอ้อย่างนี้เรียกว่าอุปาทาน 

แปลว่าเขาด่านี่ได้ประโยชน์ เพราะอะไร ...ด่าคำเดียว กลับไปอยู่บ้านคนเดียวไม่มีใครว่าอะไร นึกขึ้นมาก็...เขาด่าเราว่าโง่ๆๆ  เห็นมั้ย ด่าประโยคเดียวนะ 

แต่ว่าจิตมันซับซ้อนน่ะ ด้วยความจดจำว่ายังมี...เขายังด่าเราๆ  นี่เรียกว่าสัญญาอุปาทาน ...มันเก็บมาเป็นอุปาทาน คิดว่าเขายังมีตัวมีตน คำด่านี้ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่  

เพราะงั้นด่าทีเดียวได้ประโยชน์ ข้ามปี ข้ามชาติเลยยังมี เพราะมันจดจำอย่างนี้ด้วยความไม่รู้ ...แต่ความจริงมันจบไปตั้งแต่เขาพูดแล้ว บอกให้เลย ...เห็นมั้ยนี่คือความจริง 

แต่มันไม่เห็นความเป็นจริง ไม่ยอมรับตามความเป็นจริง ...มันไปเชื่อในความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงก่อเกิดทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น จึงก่อเกิดการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น 

จึงเกิดความสำคัญมั่นหมาย...ในการที่เขาด่าเราแล้วเราจะต้องด่าเขาคืน เราจะต้องทำอะไร เรามีการคะเนไปถึงภพข้างหน้า ชาติข้างหน้า โอกาสข้างหน้า เวลาข้างหน้า จะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ 

เห็นมั้ย จิตมีการเตรียมพร้อมไว้แล้วนะนั่นน่ะ ภพนี่คุณทั้งหลายได้สร้างไว้รอแล้ว ตายเมื่อไหร่ก็พอดีแหละ...เกิดเลย ไปทำสานต่อเจตนารมณ์ที่ให้ค่าไว้ ให้ความหมายไว้ เป็นอย่างนี้

แล้วมันไม่ใช่แค่คำพูดคำด่าอย่างนี้ เข้าใจมั้ย  ตาด้วย ปากด้วย จมูกด้วย ความรู้สึกทางกายด้วย ความคิดในใจด้วย มันเรื่องเดียวกันหมดน่ะ ด้วยความหลง เป็นจริงเป็นจัง  

ไอ้เป็นจริงเป็นจังนี่แหละคือตัวตน ...ก็ให้เห็น ให้เห็นมัน ให้ทันมัน แล้วจะเห็นความไม่มีตัวตนในตรงนั้นแหละ 

เห็นมั้ย ถ้ามีสติ ฟังเสียงปุ๊บ มันจะเห็นเลยเสียงนี่  เวลาเราพูดมันก็ดัง เวลาเราหยุดมันก็ดับ อย่างนี้ ...ถ้าเห็นอยู่ เราจะเห็นความไม่มีตัวตนของอายตนะ ของขันธ์ ของรูปขันธ์ นามขันธ์ นี่ มองให้เป็นธรรมดา

พอมันเริ่มผิดธรรมดา มันจะมีอารมณ์ ...เอ๊ะ เค้าพูดยังไง นึกยังไงวะ เอ เค้าด่าให้เรารึเปล่า ...ก็ให้เห็นว่านี่เกิดสัญญาอุปาทาน มันกำลังเกิด  เห็นมั้ย 

มันไปเกิดตอนนั้นก็ให้รู้ตอนนั้นอีก ไปยึดมั่นในคำพูด ไปยึดมั่นในเสียงก็รู้ว่ากำลังเป็นทุกข์กับไอ้สิ่งที่ล่วงไปแล้ว อย่างนี้

อะไรเกิดขึ้นไม่ห้าม เรียนรู้กับมัน ศึกษามัน แล้วก็ดูมัน  ไม่ต้องทำอะไร ... ความเป็นจริงเขาปรากฏอยู่แล้ว  ความเป็นอนัตตาก็ปรากฏจากความเป็นอัตตา  

ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปจับอนัตตาให้มาขึงพืดแล้วก็รอดูมัน แล้วก็ให้มันทรงอยู่ในความเป็นอนัตตา  ...ไม่ได้  หรือว่าความไม่มีไม่เป็น...ไม่ได้ 

ความไม่มี ความไม่เป็น ความควบคุมไม่ได้ มันต้องเกิดจากการมี การเป็น การที่เราเข้าไปควบคุมมัน ...ให้ไปเห็นตรงจุดนั้น จึงจะเห็นความไม่มี ไม่เป็น ได้ตามความเป็นจริง 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจึงง่าย ไม่ยากอย่างที่เราเข้าใจหรอก ถ้าเราไม่ทำอะไร  ถ้าทำเมื่อไหร่ยากหมดน่ะ นะ ...ถ้าได้ทำเมื่อไหร่ล่ะ มีปัญหาหมดแหละ  

แล้วมันจะหาผิดหาถูกอยู่เรื่อย ถ้าทำอะไรขึ้นมาน่ะ ...ทำเมื่อไหร่ก็บอกได้เลย ไม่มีทางถูกสักทีน่ะ  เดี๋ยวก็ได้แง่คิดมุมใหม่อยู่ตลอด จิตน่ะมันพลิกได้ตลอด ใช่มั้ย

อุบายนั้น อุบายนี้ วิธีนั้น เดี๋ยวก็คนนั้นพูดประโยคนี้มาก็... เอ๊ะ ใจคิดว่าต้องลองสักหน่อย อะไรอย่างนี้ มันน่าจะอย่างนี้นะ มันน่าจะอย่างนั้นนะ 

เริ่มล่ะ เริ่มไขว้เขว เริ่มลังเล เริ่มส่าย เริ่มจะเข้าไปหมายมั่น เริ่มจะเข้าไปเสวย สร้าง เพื่อจะเข้าไปเสวยเวทนาขึ้นมา ไปทดลองพิสูจน์ว่ามันจริงหรือไม่จริง 

นี่ มันหนีจากเดี๋ยวนี้ ไอ้ตัวที่มันหานี่หนีออกไปแล้ว หนีจากกาย หนีจากจิตปัจจุบันแล้ว

กลับมาอยู่กับที่มันไม่มีอะไร ไม่ได้อะไรนั่นแหละ  กลับมาอยู่ที่มันไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรนั่นแหละ กลับมาตรงจิตที่เราบอกตัวเองว่าปฏิบัติมาตั้งนานไม่ได้อะไรเลยนั่นแหละ 

อยู่กับมัน ผูกเสี่ยวกับมัน เป็นเพื่อนกับมัน อยู่กันแบบสันติ อย่าหนีกัน..นะ มันจะง่ายแล้วก็เร็ว มันเร็วตรงนี้...อย่าหนี ยอมรับ ไม่มีเงื่อนไข ไม่สร้างขึ้นมาใหม่ ...อะไรก็ได้ เป็นกลางต่อทุกสรรพสิ่ง 

ทุกอย่างก็จบในตัวของมันเอง ไม่ต้องไปจบข้างหน้า ไม่ต้องไปจบในชาติหน้า ไม่ต้องไปจบในเวลาข้างหน้าเวลาต่อไป ...มันจบได้ในเดี๋ยวนี้ ในตัวของมันเอง ในขณะปัจจุบันเท่านั้น

เพราะว่าอะไร ...เพราะว่าความเป็นจริงมีแค่ปัจจุบัน   ถ้าความเป็นจริงไม่จบในปัจจุบัน แล้วจะไปจบตรงไหนวะ มันจะไปจบในอดีตเรอะ มันจะไปจบในอนาคตเรอะ ...อันนั้นไม่จริง  

พอมันไม่จริงปุ๊บมันจึงไม่จบ เข้าใจมั้ย  มันก็ต่อไปไม่รู้จักจบหรอก เพราะมันไม่จริง  ...ถ้ามันจริงแล้วมันจบได้ในปัจจุบัน  

เอ้า สงสัยมั้ย


โยม –  ไม่สงสัยค่ะ

พระอาจารย์ –  ถ้าสงสัยก็จะบอกว่า...ให้รู้ว่าสงสัย (หัวเราะกัน)


โยม –  ขอบพระคุณหลวงพ่อค่ะ

พระอาจารย์ –  มีโอกาสก็มาคุยได้


โยม –  ได้ไปหลายดอก (หัวเราะ) โดนใจเวลาได้ถามมากเลย

พระอาจารย์ –  นี่แหละ มาฟังธรรมเรา ก็มาฟังเราด่านั่นแหละ (หัวเราะ) ด่าให้กิเลส

โยม –  แต่ดีค่ะ 


(ต่อแทร็ก 1/16)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น