วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/5



พระอาจารย์

1/5 (25530228E)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

28 กุมภาพันธ์ 2553


พระอาจารย์ – จริงๆ การทำในรูปแบบหรืออะไรก็ตาม หรือการที่เราควบคุมแต่ละอาการ มันเป็นอุบายในการสร้างขันติ ความอดทนอดกลั้นต่อความอยากและไม่อยาก ... นั่น เป็นการฝึกพื้นฐาน มันเป็นพื้นฐานให้เกิดความอดทนอดกลั้น ต่อสู้กับความอยาก

เพราะว่าเหมือนกับเวลาเรานั่งอยู่ในหมู่คณะนี่ ...ฟังเทศน์ยังไม่จบนี่ มันไม่มีใครกล้าลุกน่ะ ทั้งที่ปวดขนาดไหนอ่ะ  อย่างมากก็แค่ขยับ อย่างนี้ ... มันก็ต้องอดทนอยู่ มันเป็นอย่างนั้น มันจะได้ความอดทน ได้ขันติ ความอดทน ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่ได้อะไรหรอก


โยม – ไม่เกี่ยวกับปัญญาเลยนะ

พระอาจารย์ – ไม่เกี่ยวหรอก ทนอย่างเดียว มันเป็นกำลังก็คือความอดทน ขันติ อดกลั้น 

แต่ว่าปัญญานี่มันจะเกิดได้แค่อย่างเดียวเท่านั้นก็คือ สติรู้เท่าทันสิ่งที่ปรากฏขึ้น...ความอยากหรือไม่อยาก ความรับได้ ความอดทน ความมีความเป็น ความต้านอยู่ของอะไร หรือการที่จิตมันมีอาการอย่างไร ขวนขวาย ดิ้นรน ทะยานอยาก หรืออะไรก็ตาม

สติมันเข้าไปเห็นกระบวนการ  ศึกษาดูกระบวนการที่เกิดขึ้น มันต่อเนื่องออกมาอย่างไร อะไรเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากมันเกิดขึ้นนี่ อะไรเกิดขึ้นตามหลังมา อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดการต่อเนื่องขึ้นมา

เมื่อศึกษาดูไปเท่าทันไป มันจะเข้าใจเองว่า...อ้อ เราไปเริ่มอย่างนี้ เราไปเพิ่มมันเพราะไปทำอย่างนี้ คือเราไปทำให้มันอยู่นานได้เพราะเราไปทำอย่างนี้ ในกริยาอย่างนี้ของจิต มีความรู้สึกหรือเรากำหนดจิตอย่างนี้ๆ จึงมีอารมณ์อย่างนี้ตามมาๆ

เพราะนั้นด้วยสติเท่านั้น มันจึงจะเรียน...เข้าไปเห็นตามความเป็นจริงว่า...อะไรเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรดับไปเพราะอะไร ไม่ใช่การมานั่งคาดคะเนหรือว่าคิดเอาเอง แต่มันต้องเกิดจากการเห็นตามความเป็นจริง ...ก็ต้องอาศัยสติกลับมา ถึงจะเห็นตามความเป็นจริง

ถ้าขาดสติ มันก็หาย ไม่รู้อะไร ไม่เห็นอะไร เผลอ เพลิน ไปกับอะไรไม่รู้ ไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่ มันก็จะไม่เห็นเลยว่ากระบวนการของกาย วาจา จิต ...กาย วาจา จิตของเรานี่มันเป็นยังไง มันกำลังอยู่ในช่วงไหน ขั้นตอนไหน ขั้นต้นของปฏิจจสมุปบาท หรือขั้นกลางของปฏิจจสมุปบาท หรือว่าขั้นปลายของปฏิจจสมุปบาท

ขาดสติอย่างเดียวนี่ ขาดหมดแหละ ไม่รู้อะไรเลย ... เพราะนั้นว่าการปฏิบัตินี่ อะไรน้อยได้ อะไรเกินได้ อะไรขาดได้ แต่ห้ามขาดสติอย่างเดียว ถ้าไม่มีสติ ทุกอย่างไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย จะไม่เรียนรู้ รับทราบ หรือว่าดำเนินไปในองค์มรรคได้เลย

เพราะสตินี่เป็นอารักขาธรรม และก็เป็นธรรมพี่เลี้ยงของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ต้องอาศัยสติทั้งนั้น ไม่ว่าจะปฏิบัติในแง่ไหนมุมไหน จะกระพี้มาก็ตาม จะกำหนดความสงบก็ตาม ก็ต้องมีสติคอยกำหนดกำกับอยู่ตลอดเวลา ...ทิ้งไม่ได้สตินี่ การระลึกรู้ว่าทำอะไรอยู่


โยม – เคยถามคนทั่วไป เขาก็บอกว่าเขาก็มีสติอ่ะ

พระอาจารย์ – นั่นมันเป็นสติแบบ...ยังไงล่ะ...ขับรถอยู่มันก็มีสติ แต่ว่ามันเป็นสติที่ไปรู้ข้างนอก มันไปรู้ข้างนอก ไปรู้กับสิ่งภายนอก เข้าใจมั้ย มันไม่รู้กับกาย วาจา ใจของเราเอง ตรงเนี้ย

ท่านให้กลับมารู้ เอาสติมารู้ภายในกาย วาจา ใจของเราเอง ไม่ใช่ไปรู้ภายนอก ...ไปรู้เรื่องคนอื่น ไปรู้กับคนที่บ้าน ไปรู้เรื่องนั้นรู้เรื่องนี้ รู้ในการกระทำของคนโน้น รู้ในการกระทำของคนนี้ ไอ้รู้อย่างนี้มันก็รู้กันทั้งนั้นแหละ และชอบรู้

ตัวไม่อยู่ก็ไปรู้ด้วยที่นู่น เข้าใจมั้ย ไม่ได้อยู่ต่อหน้าก็ไปคิดถึงเขา แม้ว่าเขาไม่ได้อยู่ก็ยังอุตส่าห์เอาสติไประลึกรู้ ไปคอยดูว่าเขาจะทำอะไรอยู่ เขาจะด่าเรา เขาจะว่าเรา เขาจะนินทาเรา เขาจะคิดถึงเราว่ายังไง 

นี่  ไอ้อย่างเนี้ย ท่านไม่ให้ไปรู้ ท่านไม่ให้ความสำคัญกับตรงนั้น ... ท่านให้กลับมารู้ปัจจุบันของกาย วาจา ใจ ของตัวเอง ...ถ้าอย่างนี้จะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติขึ้นมา


โยม – พระอาจารย์ เวลามันไปรู้อย่างอื่นนี่ทำไมไม่ต้องสอนเลยอ่ะ แต่เวลารู้กาย วาจา จิตนี่ต้องมาทำมาฝึกขนาดเลย ทำไมไอ้รู้ข้างนอกนี่ เราทำไมถึงไม่ต้องสอนกันเลย  เป็นเพราะอะไร

พระอาจารย์ – สันดาน...สันดานนี่คืออนุสัย ...ไม่ได้ด่าใครนะ คือความเคยชิน ...ความเคยชินที่เราสะสมมา


โยม – ทุกคนเป็นอย่างนั้นหมดเลย

พระอาจารย์ – เป็นอย่างนั้นหมด ...มันไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิด มันเป็นมาตั้งแต่ก่อนเกิด


โยม – ภพชาติที่ไหนไม่รู้

พระอาจารย์ – ใช่ มันสะสมที่ว่า เอะอะ อะไรมันก็หาย เพราะมันชอบให้ไปเผลอไปเพลินกับความคิดปรุงแต่ง แล้วมันมีความพอใจในการที่ไหลไปไหลมา คิดไปเรื่อยเปื่อย คิดไปอย่างนี้ 

มันสะสมนิสัยนี้มาข้ามภพข้ามชาติเลย จนมันเก็บมาเป็นอนุสัยน่ะ หรือว่านิสัย หรือว่าสันดานของใจ ... 
ตรงนี้ ที่เรียกว่าเป็นอาจิณกรรม คือมันคุ้นเคย ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆๆๆ จนเรียกว่าสร้างอาจิณกรรมที่เป็นมโนกรรม เพราะนั้นเมื่อทำบ่อยมันจึงกลายเป็นว่าความเคยชินที่ทำไปเป็นนิสัย...ไม่รู้ตัว 

ไม่ต้องสอนเลย เอะอะอะไรมันก็เรื่อยเปื่อยไปเรื่อย เผลอเพลินไป ...เห็นอะไรปุ๊บไหลลลล ได้ยินอะไรปุ๊บ ออกไปอยู่กับเสียง หรือว่าอยู่กับความคิดคำนึง ถึงข้างหน้า ถึงข้างหลัง ถึงอดีตถึงอนาคต นี่ มันไปโดยไม่มีหางเสือเลย เพราะนั้นว่าจึงเป็นสันดานของจิต หรือว่าสันดานของอนุสัยที่หมักหมมอยู่ มันผลักดันออกไป

แต่ทำไมจะต้องมาสอนสติ ก็เหมือนกับอาจิณกรรมน่ะ กรรมที่คุ้นเคยหรือกรรมที่ทำบ่อยๆ มันส่งผลออกมา เราก็จะต้องสร้างอาจิณกรรมขึ้นมาใหม่ ท่านเรียกว่าสติ ก็คือฝึกให้มันมีสติซะ ก็ต้องทำเนืองๆ เพื่อมาลบนิสัยเก่า


โยม - (หัวเราะ) ก้อนใหญ่กว่าจะลบออกหมด

พระอาจารย์ – มันต้องใช้เวลา ... คือถ้าคิดน่ะมันก็ดูเหมือนยาก ดูเหมือนนาน ดูเหมือนไกล ... แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ไกลหรอก ไม่ยากหรอก อย่าไปคิด รู้...รู้ไปเรื่อยๆ หมั่นรู้อยู่บ่อยๆ รู้อยู่เนืองๆ ไม่รู้จะรู้อะไร ไม่มีอะไรให้รู้ ก็รู้เฉยๆ ก็กลับมารู้เฉยๆ  รู้อยู่กับปัจจุบันเฉยๆ


โยม – แล้วมันพอกมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว มาชาตินี้มาแกะ มันมาก ...มันจะหมดเหรอ มันไม่หมดง่าย

พระอาจารย์ – นี่มันอยู่แค่ระบบความคิด


โยม – หรือคะ

พระอาจารย์ – มันคิดเอา ...มันแค่คิดเอาเอง


โยม – ชาติก่อนๆ ทำไมไม่รู้จักจะฝึกมามั่งนะ มาฝึกชาตินี้

พระอาจารย์ – อ่ะ แล้วรู้ได้ไงว่าชาติก่อนไม่ฝึกมา (หัวเราะ)


โยม – (หัวเราะ) แล้วทำไมชาตินี้มันมาหลงเยอะ

พระอาจารย์ – เพราะนั้นน่ะ เราก็ไม่รู้ว่าชาติก่อนเราฝึกรึเปล่า หรือเราไม่ฝึกรึเปล่า ไม่ต้องไปคิดมากว่ามันเยอะหรือไม่เยอะ ... มันก็ทำมากันทั้งนั้นแหละ ไอ้การสร้างนิสัยแห่งการระลึกรู้นี่...ก็มี ก็ทำมา ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันจะมาทำชาตินี้ซะเมื่อไหร่


โยม – มันก็ต้องสะสมมา

พระอาจารย์ – ก็สะสมมาเหมือนกัน


โยม – แต่ทำไมมันมาช้าจังพระอาจารย์ อายุป่านนี้

พระอาจารย์ – ไม่มีอ่ะช้าเร็ว มันก็ได้แล้วอ่ะ เท่าที่มันได้ เท่าที่มันกำลังทำอยู่ ...มันก็ต้องเริ่มสร้างนิสัยขึ้นมาใหม่ ทำอะไรก็รู้ นั่งก็รู้ ยืนก็รู้ เดินก็รู้ นอนก็รู้ คุยอยู่ก็รู้ กินก็รู้ เข้าห้องน้ำก็รู้ ใส่เสื้อผ้าถอดเสื้อผ้าก็รู้ คิดอยู่ก็รู้ หงุดหงิดก็รู้ สบายใจก็รู้ ไม่สบายใจก็รู้ นี่


โยม – พระอาจารย์ถ้ามันเร็วๆ แล้วมันจะรู้ทันมั้ย มันไม่ค่อยทันนะ ถ้าเร็วๆ

พระอาจารย์ – ไม่ทัน ...รู้ทันเมื่อไหร่ก็คือรู้


โยม – คือบางทีมันรีบๆ

พระอาจารย์ – รีบ ...ก็รู้ว่ากำลังรีบ ...รู้เข้าไป ไม่ต้องมีข้อแม้ ไม่ต้องมีเอ๊อะ มีแอ๊ะ ว่าจะต้องอะไร มีอะไรก็รู้ มีอะไรก็รู้ รู้ รู้ๆๆ ... นี่ สร้างนิสัยขึ้นมา รู้ไปเรื่อย เรื่อยเปื่อย รู้แบบสะเปะสะปะ รู้เข้าไป รู้ไปๆ ...สะสมสติขึ้นไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย

เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ มากขึ้นๆ ... สติมันจะเปลี่ยนเป็นทั้งรู้และเห็น ทั้งรู้และเห็น รู้และเห็น...มันจะยืดยาวแล้ว มันจะเห็นกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่รู้ ๆ ...มันจะรู้และเห็น รู้แล้วก็เห็น พร้อมกันไป ...อย่าไปท้อถอย อย่าไปคิดยาว อย่าไปคิดว่าชีวิตเราข้างหน้าจะเป็นยังไงถ้าทำสติได้แค่นี้


โยม – (หัวเราะ) มันจะจบมั้ยอย่างนี้

พระอาจารย์ – อือ มันคิดล่วงหน้าไปแล้ว มันล่วงหน้า ...ชีวิตมันมีอยู่แค่นี้ ก็รู้แค่นี้ รู้เข้าไป ฝึกเข้าไป รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย

เพราะนั้นสติที่ระลึกรู้ แล้วเปรียบเทียบเหมือนร้อยพวงมาลัย เป็นเหมือนกับร้อยพวงมาลัย เอาดอกมะลิแต่ละดอกมาร้อยเป็นพวงมาลัย  รู้แต่ละครั้ง แต่ละครั้งนี่...คือมะลิหนึ่งดอก...แล้วก็จับเข้ามาร้อย ...ไม่ต้องว่าหรอกว่าเมื่อไหร่ ขยันร้อยเข้าไปเถอะ สุดท้ายมันก็ได้เป็นพวงมาลัย ไม่ต้องกลัวว่าไอ้ที่ร้อยนั่นมันจะไม่เป็นพวงมาลัย มันได้อยู่แล้ว

รู้แต่ละครั้ง แม้มันดูเหมือนไม่ได้อะไร ไม่ได้เห็นมันจะก้าวหน้าหรือว่ามีประโยชน์หรือว่ารู้แจ้งเห็นจริงอะไรในเหตุการณ์ใดๆ แต่ก็คือมันก็อยู่ในเส้นสายของพวงมาลัยอยู่แล้ว ...ขยันร้อยเข้าไปเถอะ จนกว่ามันจะได้เป็นพวง เป็นกอบเป็นกำ ก็...อ๋อ ถึงจะเอามาห้อยคอได้ นะ 

มันต้องเก็บไปทีละเล็กทีละน้อย อย่าท้อถอย และต้องมีความเพียร ...รู้เข้าไป ไม่มีอะไรก็รู้ว่าไม่มีอะไร นะ จับอะไรไม่ถูก ก็รู้ว่ากำลังจับอะไรไม่ถูก งงก็รู้ว่างง สับสนก็รู้ว่าสับสน สงสัยก็รู้ว่าสงสัย เนี่ย รู้ได้ ไม่เห็นมันจะมีข้อแม้หรือข้อห้ามอะไรในการรู้ 

สติน่ะ รู้กับอะไรก็ได้ ในภายในน่ะ กายก็ได้ ใจก็ได้ ...กายเป็นยังไงก็ได้ อารมณ์ก็ได้ ความรู้สึกก็ได้ นะ
หรือลักษณะของจิตก็ได้ กว้างมั่ง แคบมั่ง โปร่งมั่ง หนักมั่ง เบามั่ง ลอยมั่ง อยู่กับที่มั่ง ไม่มีที่ตั้งมั่ง นี่คือลักษณะของจิต หรือว่ารูปลักษณ์ของจิต มันจะอยู่ในรูปลักษณ์แคบ กว้าง แหลม หนัก ละเอียด โปร่ง ประณีต พวกนี้คือจิตตานุสติปัฏฐาน รู้ได้หมด

ถ้าอารมณ์ก็หงุดหงิดรำคาญ พอใจ เสียใจ ดีใจ ขุ่น ข้อง หมอง กังวล วิตก อิจฉาริษยา เพ่งโทษ นึกตำหนิคนนั้นตำหนิคนนี้ ...รู้เข้าไป ดูตรงไหนมันมีหมดน่ะ รู้ไป ให้เห็นโดยทั่ว บ่อยๆ อะไรเกิดขึ้นก็ไม่ว่า แต่ให้รู้ กลับมารู้

เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นแหละ แล้วมันก็จะเห็น จะได้เรียนรู้กับสิ่งที่มันดับไป แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันในการเกิด เราก็จะไปเท่าทันในความดับ ถ้าจะไปเพ่ง ไปเอาที่เมื่อไหร่มันจะดับ ๆ มันจะหาย จะไม่ไปเท่าทันตอนเกิดแล้วมันจะไม่เห็นตอนดับ หรือว่าตอนที่มันเปลี่ยนไป

จับอะไรไม่ถูกก็กลับมารู้ที่กาย กำลังยืน เดิน นั่ง นอน รู้กันไป สลับกันไป รู้กายมั่ง รู้จิตมั่ง รู้ได้ตลอดเวลา ขยับไม้ขยับมือก็รู้ เมื่อยก็รู้ ขยับขาเดี๋ยวก็เปลี่ยนนี่ รู้ รู้อาการปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่ รู้ไป..แค่เนี้ย 

แล้วไม่ต้องถามว่ามันจะช้าหรือมันจะเร็ว อยู่ที่ว่าขยันรู้รึเปล่า ถ้าขยันรู้ล่ะเร็ว ถ้าขี้เกียจก็ช้า....ขี้เกียจ ก็ไปรู้อีกหลายชาติหน่อย ...(โยมหัวเราะ) ถ้าขยันก็ เนี่ย..ไม่ใกล้ไม่ไกล อยู่แค่เส้นขนตากับลูกกะตา .. นะ มันใกล้กันแค่เอื้อมเดียวเท่านั้นเอง...ถ้าขยัน

แต่ถ้าขยันหาเหตุหาผล หาแง่หามุม หาข้ออ้างนั้นข้ออ้างนี้ ทำนั่นทำนี่มาเพิ่ม มีเท่านี้ก็จะเอาเท่านั้น เห็นเท่านี้ก็จะให้เห็นมากกว่านี้ อะไรอย่างนี้...อันนี้เสียเวลา ...ต้องยอมรับเท่าที่มี เท่าที่เป็น ไม่ใช่จะหาดูแต่ไอ้ของดีๆ จิตดีๆ เท่านั้น จิตไม่ดี...พยายามหนี นี่ไม่ใช่แล้ว


โยม – ชมนกชมไม้หรือพระอาจารย์ พระอาจารย์เคยบอกชมนกชมไม้

พระอาจารย์ – อือ ต้องยอมรับให้ได้ โดยไม่มีเงื่อนไข 

แต่ว่าในระหว่างนั่งสมาธิภาวนา ก็ทำได้ ทำความสงบอะไรไปก็ทำไป แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ต้องทำ ก็แค่นั่งดู นั่งดูความเป็นจริงของอาการ ของรูปนั่งสมาธิ แล้วก็ไม่ต้องทำจิตอะไรทั้งสิ้น นั่งดูอาการของจิต ระหว่างนั่งนั่น

มันจะนั่งแช่งชักหักกระดูกตัวเอง นั่งด่า นั่งบ่นคนอื่น บ่นตัวเอง..กูจะมานั่งทำไมวะเนี่ย หรืออะไรก็ตาม ก็นั่งดูมันไป มันจะแสดงฤทธิ์เดชผยองอะไรออกมา นั่งดูมันเลย ดูอาการที่มันหงุดหงิด ด่าคนโน้นคนนี้ ..กูมาทำไม กูนั่งทำไมวะเนี่ย อยากลุกจะตาย ทนทำไม ไม่เห็นได้อะไรเลย ..เห็นมั้ย ก็ดูมันไป ถ้าเข้าใจนะ  

แต่ถ้าไม่เข้าใจก็อย่าไปทำอย่างนั้น ถ้าไม่เข้าใจก็ทำอะไรขึ้นมา กำหนดเข้าไป พุทโธ ก็พุทโธเข้าไป พุทโธๆๆๆ หรือดูลมเข้าไป ๆ อย่าให้หนีจากลม ก็ได้ความสงบ  เพราะนั้นทำในแง่มุมไหนก็ได้ ทั้งนั้น ไม่ผิด ขอให้ประกอบกระทำเข้าไป


โยม – พระอาจารย์ พอเรากำหนดพุทโธ ก็ไปกดมันน่ะสิ

พระอาจารย์ – ก็กดอ่ะดิ .. ก็แล้วแต่ความเข้าใจของแต่ละคน แล้วแต่ความเข้าใจ ...คนบางคนเขาไม่เข้าใจน่ะ เขาต้องการให้ได้อารมณ์นั้นน่ะ อ่ะ ก็ทำไปสิ  แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ก็บอกไม่ต้องทำ ก็นั่งเฉยๆ นั่งดู...ชมนกชมไม้ ..นกไม้ก็คือกายกับใจของเราน่ะ เป็นนกเป็นไม้ไป นั่งดูมันไป


โยม – พออารมณ์สงบแล้วมันก็เหมือนมี..อะไรนะคะ..เหมือนมีพลังน่ะ ร่างกายมันน่าจะผลิตอินซูลินออกมา มันสดชื่นน่ะ

พระอาจารย์ – ก็สดชื่น ..ก็ไม่ได้ว่านี่ว่ามันไม่สดชื่น


โยม – แต่ถ้าเกิดเราดูธรรมดานี่ มันก็ไม่ได้พักแล้วมันก็ไม่สดชื่น ..มันก็ธรรมดา

พระอาจารย์ – ก็ธรรมดา


โยม – แต่เวลาเรานั่ง มันสงบแล้วมันจะสดชื่น

พระอาจารย์ – ก็สดชื่น (พวกโยมหัวเราะกัน)


โยม – มันไม่เหมือนกัน

พระอาจารย์ – ก็ไม่เหมือนกัน


โยม – ไม่เหมือนกัน

พระอาจารย์ – ก็...ยังไงก็ยังงั้น


โยม – มันสดชื่นนะ เวลาเราได้ความสุข

พระอาจารย์ – เออ มันก็ได้ ก็ไม่ได้เถียงว่าไม่ได้น่ะ เข้าใจมั้ย ...ก็มันทำยังไงก็ได้ยังงั้น ไม่ทำก็ไม่ได้ ทำมาก็ได้ ได้มาตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วก็ดับไป เข้าใจมั้ย ...คือให้เข้าใจความหมายโดยรวม ทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ ...ที่จริงแล้วคือในขณะที่ได้มา แล้วเราเข้าไปข้องรึเปล่า


โยม – ไปติดมันน่ะเหรอ

พระอาจารย์ – เออออ ....ถ้าอย่างนี้โง่แล้ว เริ่มโง่แล้ว เริ่มโง่เริ่มไม่เท่าทัน เริ่มไหลไปตามอำนาจของตัณหาอุปาทาน เริ่มมีการเปรียบเทียบว่าอันนี้ดีกว่าอันนี้ อันนี้ถูกอันนี้ผิดแล้ว


โยม – แต่ความเป็นจริงมันคือเป็นอย่างนั้นจริงๆ ใช่ไหม ถ้าไม่ได้ติดมันนี่ หมายถึงว่ามันสดชื่นนี่นะคะ

พระอาจารย์ – จริง มันเหมือน...


โยม – เหมือนการชาร์จแบตหรือคะอาจารย์ แบบเวลาแบตเราหมดน่ะ

พระอาจารย์ – มันไม่แบตเบิตอะไรหรอก มันหลั่งอินซูลิน มันหลั่งเอนโดรฟิน ออกมา...เป็นมอร์ฟีนนน ชนิดหนึ่ง (โยมหัวเราะกัน)


โยม – ความรู้สึกมันแบบสดชื่น ร่างกายกระปรี้กระเปร่า

พระอาจารย์ – นั่นคือระบบของร่างกายมันถ่ายเทสารออกมา ระบบจิต มันก็จะหลั่งมาทางต่อมไร้ท่อที่เป็นระบบของอินซูลินออกมามากมาย ก็มีธรรมดา ปีติ สุข นี่ เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา...เป็นธรรมดา

แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า ทุกอย่างน่ะมันไม่เที่ยง เกิดขึ้นได้จริง ตั้งอยู่ได้จริง แต่เดี๋ยวมันก็หมดไป ... อย่าไปจริงจัง  อย่าไปคิดว่าอาศัยไอ้จุดนี้แล้วจะเป็นกำลัง มันก็เป็นกำลังแค่ตอนนี้ เดี๋ยวมันก็ดับไป แค่นั้นเองๆ


โยม – อ๋อ ให้เราทันมัน

พระอาจารย์ – เออออ ก็แค่นั้นแหละ มันก็แค่นั้นแหละ เพราะนั้น เมื่อไม่ทำก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้อะไรก็รู้ว่าไม่ได้อะไร ก็ธรรมดาก็รู้ว่าธรรมดา เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป แล้วมันก็มีอะไรเกิดขึ้น แล้วมันก็ดับไป แล้วก็เปลี่ยนไป 

ก็ต่างคนต่างดำเนิน ต่างคนต่างมี หรือไม่มี อย่างนี้ เราไม่ต้องไปเพิ่มหรือไปลด แค่นั้นเอง ...ให้เข้าใจ ปัญญาคือว่า ไม่เข้าไปมี ไม่เข้าไปเป็น 

แต่ถ้าเราไม่เข้าใจแล้วไปทำให้มันมี หรือไปทำให้มันเป็นขึ้นมาแล้วนี่ แล้วพยายามหน่วงมัน รักษามัน ประคองมัน ไม่ให้มันตกไปหรือไม่ให้มันสลายไป  ตรงนี้  เริ่มมีความขัดแย้งกับเงื่อนไขของธรรมชาติแล้ว เริ่มเกิดเป็นอุปาทานทุกข์แล้ว เพราะมันจะทำไม่ได้

แต่ส่วนมากมันจะดันทุรัง ด้วยความโง่เขลา ...ต้องทำให้ได้ ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ ถ้าไม่ได้แล้วจะแย่ ...มันก็จะหาอุบายร้อยแปดพันประการ เพื่อจะประคับประคองให้มันอยู่อย่างนั้น...เป็นอย่างนั้นตลอดเวลา  อันนี้ต่างหากมันเริ่มเข้ารกเข้าพงแล้ว เริ่มติดข้อง ๆ

แต่ถ้าทำพอเป็นกระสัยน่ะ ดับไปก็ดับไป ช่างมัน ไม่ได้เอามรรคเอาผลเอานิพพาน หรือว่าเอาตัวมันเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานกับการดำเนินของจิต ไม่เกี่ยวกัน เข้าใจมั้ย  แต่ว่ามันเป็นที่พักพิงในขณะนั้น พอเติมความสดชื่น ปีติ นิดหน่อย ...แค่นั้นเอง 

เหมือนต้นไม้ที่มันกำลังเฉาแล้วก็เติมให้ มันก็มีความสดชื่นขึ้นมาหน่อยนึง แค่นั้นเอง ...แต่สุดท้ายดอกไม้ก็ต้องเหี่ยว...เป็นธรรมดา มันฝืนไม่ได้หรอก มันไม่อยู่อย่างนี้ตลอดเวลาหรอก สุดท้ายมันไม่มีอะไร ไม่สามารถจะรักษาอะไรไว้ได้  ... นี่ ให้ยอมรับความจริงอันนี้ต่างหาก

เพราะฉะนั้น เมื่ออยู่กับอารมณ์ที่ผิดปกติในแง่ของดี กับอารมณ์ธรรมดาที่เป็นปกติที่ไม่มีอะไร ให้มีความรู้สึกพอดีกัน...เท่ากันน่ะ ไม่ต้องไปดีใจกับมัน หรือเสียใจกับมัน แค่นั้น...ให้ทัน ให้รู้ว่าตอนนี้เราดีใจกับมัน หรือว่าตอนนี้เราเสียใจกับมัน

เพราะนั่นคือหมายมั่น ...เราเข้าไปให้ความเห็นแล้ว เราเริ่มไปให้ความแตกต่างแล้ว ไปให้ค่าของความแตกต่างแล้ว เป็นบวกเป็นลบ ทั้งๆ ที่ว่าตัวของเขาเองนี่เขาไม่เคยเป็นบวกหรือเป็นลบอะไร ...แต่ความไม่เข้าใจของเราทำให้เข้าไปคอยให้ค่าว่ามันเป็นบวกเป็นลบ 

อันไหนเป็นบวกก็รักษาไว้ต้องทำมากๆ อันไหนเป็นลบก็พยายามละๆๆ ตัดๆๆ ห้ามๆๆๆ มันเลยไม่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของมัน เพราะเราไปพยายามฝืนธรรมชาติของมันอยู่ตลอด ด้วยการแบ่งข้างแบ่งสีแบ่งพรรคแบ่งพวก อย่างเงี้ย อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ต้อง อันนี้ไม่ต้อง

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเขาดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของเขาอยู่แล้ว ...จะพอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม มันจะเกิดมันก็เกิด มันจะตั้งอยู่มันก็ตั้ง บทมันจะดับมันก็ดับ จะเอาอะไรมาฉุดรั้งมันขนาดไหน มันก็จะดับ..มีอะไรมั้ย แล้วมันไม่ให้เหตุผลด้วย บทมันจะมามันก็มาแบบไม่ให้เหตุผล บทมันจะไปมันก็ไปแบบไม่ให้เหตุผลเหมือนกันน่ะ มีอะไรมั้ย

แต่เราชอบมีปัญหากับมัน ...ทำไมไปไม่ลามาไม่ไหว้วะ อย่างเงี้ย หาเหตุหาผลว่า เอ๊ ทำไมถึงมา..ทำไมถึงลา หาเหตุหาผล ... จริงๆ เขาเป็นของเขาอย่างนี้ เป็นโดยปกติธรรมดาของเขาอยู่แล้ว เขาไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น เราก็ขยันมีปัญหากับมันจัง ดีมั่งไม่ดีมั่ง ใช่มั่งไม่ใช่มั่ง เอาโลกธรรมนี่ไปคอยวัด

โลกธรรม..สุข ทุกข์ สรรเสริญ ตินินทา ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ เอาพวกนี้มาเป็นตัวแบ่งดีชั่วถูกผิด พอให้มาดูจิต กำหนดจิตเริ่มปฏิบัติปุ๊บ มันก็จะต้องแบ่ง อย่างนี้จิตดี อย่างนี้จิตไม่ดี อย่างนี้รับได้ อย่างนี้รับไม่ได้ เห็นมั้ย มันก็ยังแบ่ง แบ่งพรรคแบ่งพวก


โยม – มันต้องมีสองเสมอหรือพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ถ้าแบ่งน่ะมันก็ต้องมีสอง

เพราะนั้นน่ะ  เมื่อมันแบ่งปั๊บนี่ สติให้เท่าทัน ให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังเลือกข้างอยู่นะ กำลังคิดว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี ให้รู้เท่าทันว่า ปฏิกิริยาของใจเรานี่ ต่ออาการที่ปรากฏต่อหน้า มันมีปฏิกิริยาอย่างไร 

เนี่ย สติให้รู้อยู่ เห็นความเป็นจริงของจิตที่เลือกข้าง หรือจิตที่เข้าไปให้ความหมาย...เข้าไปมีอุปาทาน


โยม – พระอาจารย์ ถ้าโลกสมมุติว่าดีอย่างเดียวล่ะ มันจะสอนง่ายกว่านี้มั้ย

พระอาจารย์ – หมายความว่ายังไง


โยม –ให้โลกที่มีสองนี่ อะไรมีหนึ่งเดียวๆ หมดเลย

พระอาจารย์ – เขามีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิด นะ  มันเป็นความเป็นจริงของโลก


โยม – มันเป็นสัจธรรม

พระอาจารย์ – มันเป็นสัจจะของโลกเขา ยังไงก็ต้องเป็นสอง เป็นของคู่กัน .. อยู่แล้ว ตายเกิดกี่ครั้ง เกิดตายกี่ครั้ง มีพระพุทธเจ้าหรือไม่มีพระพุทธเจ้า โลกคือเป็นอย่างนี้ เป็นอยู่ด้วยกฎเกณฑ์ของสมมุติบัญญัติ มีดีและไม่ดีเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น จึงให้มองเห็นว่ามันเป็นธรรมดา จะไปแก้เขาไม่ได้ หรือจะไปลบล้างก็ไม่ได้ แต่ให้ทันในการที่เราจะไปจริงจังกับเขาแค่นั้นเอง ตรงนี้ ท่านให้แก้ตรงนี้ต่างหาก 

ท่านไม่ได้ให้แก้โลก ท่านไม่ได้ให้ละโลก ท่านไม่ได้ให้ดับโลก แต่ท่านให้รู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วไม่ไปมีไปเป็นในสิ่งที่เราคิดว่ามันจริง แต่จริงๆ มันไม่จริง มันเป็นแค่สมมุติเอาว่า ...มันเป็นแค่..สมมุติเอาว่า


โยม – พระอาจารย์ใหม่ๆ มันเหมือนจะใช้ความคิดเอาเหมือนกันเนอะ มันไม่เห็นตามความเป็นจริงทีเดียวเนอะ

พระอาจารย์ – มันก็ต้องมีองค์ประกอบไง เพราะงั้นปัญญา พวกเราก็เริ่มต้นมาตั้งแต่สุตมยปัญญาอยู่แล้ว เข้าใจมั้ย ฟังมาก่อน อ่านมาก่อน ถามมาก่อน มีทั้งนั้น ทำมาทุกคน แล้วมาเริ่มปฏิบัติปุ๊บ ระหว่างปฏิบัติ มันก็คิดค้นคอยหาหนทางอยู่ตลอด พิจารณานั่นพิจารณานี่อยู่ตลอด

คิดไปคิดมา... งง มึน ตึ๊บ .. ไปไม่รอด (โยมหัวเราะ)...คิดไปคิดมา งง มึน ตึ๊บ สับสน วุ่นวาย ไปไม่รอด นี่...ก็พยายามใช้อยู่ แล้วก็ไปไหนไม่รอด เข้าใจมั้ย ...ถ้าไปรอดมันไม่มานั่งฟังเราแล้ว (โยมหัวเราะ) ถ้ามันไปรอดด้วยจินตามยปัญญา มันไม่มานั่งฟังเราหรอก นี่

เพราะฉะนั้นจึงมาหาทางเลือกสุดท้าย คือภาวนามยปัญญา  ...พอรู้ว่ามี ได้ยินอยู่ภาวนามยปัญญาก็ได้ยินได้ฟังอยู่ แต่ไม่เข้าใจว่าทำให้เกิดยังไง...ตอนนี้ก็กำลังสาธยายให้ฟังว่า ภาวนามยปัญญา มันคืออย่างไร

มันก็คือแค่รู้ตามความเป็นจริง รู้แบบดื้อๆ รู้แบบโง่ๆ รู้แบบไม่ได้ไปแบ่งว่าจะต้องรู้อันนั้นไม่รู้อันนี้ คือยังไงก็ได้ที่มันรู้ต่อหน้า ที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ขณะนี้ ...กายยังไง จิตยังไง รู้ตรงนี้ 

เอาสติรู้ตรงๆ ตรงนี้ แล้วจะเห็นความเป็นจริงของมันเอง ตรงนี้ถึงจะเรียกว่า ภาวนามยปัญญา ...  แต่ไม่ใช่ว่ารู้ครั้งเดียวแล้วมันจะเกิดนะ ภาวนามยปัญญา

เพราะนั้นในระหว่างที่เจริญสติไปเนี่ย เราอย่าไปหวนกลับ หรือยังเห็นความสำคัญในการที่จะต้องไปหยิบยกอะไรมาพิจารณาอีก เพราะก็รู้อยู่แล้ว “คิดไปเท่าไหร่ก็ไม่รอด” ไปไม่จบ ไม่มีทางสุดได้ด้วยจินตามยปัญญาเลย มันสมควรจะพอได้แล้ว สุตมยปัญญาอีก...มันฟังจนหูห้อยแล้ว (โยมหัวเราะ)...นะ

ได้ยินได้ฟังมานี่ก็มากมาย ฟังเทปนี่ก็หลายตู้แล้ว ฟังซีดีมานี่ มากมายก่ายกองแล้ว รู้จนเข้าใจหมดน่ะ วิธีการขั้นไหน เขาทำกันยังไง รู้หมดแล้ว ได้ยินได้ฟังมาหมดแล้ว มันสมควรพอแล้วสมควรพอได้แล้วล่ะ มันเต็มแล้วแหละ ถ้าพูดอีกทีให้ดูดีหน่อยคือมันเต็มแล้ว

มันยังไม่เต็มอย่างเดียวคือภาวนามยปัญญา คือสติที่เข้าไปรู้ตามความเป็นจริง โดยไม่มีเงื่อนไขๆ ...ให้ระวังตอนที่จิตมันจะสร้างเงื่อนไข เช่นว่า ไม่ดีเลย เฉยๆ ธรรมดา ไม่เห็นได้อะไร ไม่รู้อะไรเลย ไม่เห็นเข้าใจเลย ไม่เห็นเข้าใจธรรมอันไหนเลย มีแต่อะไรก็ไม่รู้ อยู่อย่างนี้ๆ

ต้องยอมน่ะ ต้องยอมโง่น่ะ ต้องยอมอยู่กับมันอยู่อย่างนั้น ดูมันไป อยู่กับมันให้ได้ เขาเป็นความจริง เขาเป็นสัจจะ นี่คือสัจธรรม  คำว่าสัจธรรมคือธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง มันเป็นอริยสัจอยู่แล้ว คือความเป็นจริง 

แต่ความปรุงแต่งของเรานี่ มันจะคอยบอกว่า มันมีอะไรที่จริงกว่านี้ มันต้องมีอะไรที่จริงกว่านี้ เพราะมันจดจำมา มันยังค้างอยู่ ไอ้สุตมยปัญญานี่ มันยังค้างอยู่ว่า...มันไม่ใช่น้า ๆ อยู่อย่างนี้ ...อย่าเชื่อมัน ให้ทัน แล้วก็...ช่างมัน ช่างแล้วทิ้งเลย ช่างมันๆ 


โยม - (คุยกัน) พระอาจารย์พูดเหมือนที่เคยฟังมั้ย  ...ไม่เหมือนนะ แต่คล้ายๆ (เข้าหลักๆ)

โยม (อีกคน) – แต่ละครั้งจะมีอะไรไม่เหมือนกัน แต่คล้ายกันในหลัก

โยม (อีกคน) – แล้วแต่เครื่องรับ..เครื่องส่งๆ ตามเครื่องรับ

(หมายเหตุ : ตัดช่วงที่เป็นการสนทนาทั่วไป, มีโยมเข้ามาเพิ่ม)



โยม(ที่มาใหม่) – ไม่ทราบสนทนาธรรมกันอยู่รึเปล่า

พระอาจารย์ – ทุกอย่างน่ะเป็นธรรม ขอให้รู้ว่าขณะนี้ ฟังอยู่นี่ แต่ละคนน่ะรู้สึกยังไง ...ให้ปรารภที่ใจ ไม่ได้ปรารภในอาการของกาย หรือว่าการกระทำภายนอก ซึ่งมันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ แต่ว่าให้กลับมาปรารภอยู่ที่ใจ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ได้ยินได้ฟังอะไร แล้วรู้สึกอย่างไร พอใจไม่พอใจ ให้กลับมาปรารภอยู่ที่นั้น

เพราะนั้นทุกอย่างจึงเป็นธรรมอยู่แล้ว แต่เรามองเป็นธรรมหรือไม่ หรือไปคิดว่ามันใช่หรือไม่ใช่ มันควรหรือไม่ควร ให้มีความรู้สึกว่าเราให้ค่ากับตรงนั้นอย่างไร คือให้กลับมาปรารภ หรือให้รู้เท่าทันอยู่ตรงนั้นแหละ ทุกข์มันจะเกิดอยู่ตรงนั้น

เพราะนั้นทุกข์หรือการกระทำภายนอกนี่ ไม่ได้เป็นทุกข์โดยตรง...ทุกข์อยู่ที่ว่าเราให้ค่ากับมันอย่างไร จะพูดเรื่องอะไร จะใช่หรือไม่ใช่ เราพอใจหรือไม่พอใจ เราอยากหรือไม่อยากอย่างไรต่อปฏิกิริยา หรือได้ยินได้ฟังอย่างนี้ หรือการกระทำอย่างนี้ ผู้คนเป็นอย่างนั้น ผู้คนเป็นอย่างนี้

ให้กลับมาปรารภ สติตั้งอยู่ที่ใจ ไม่ต้องไปเอาถูกเอาผิดกับภายนอก หรือว่าควรจะอย่างนั้น หรือไม่ควรจะอย่างนี้ เพราะนั้นว่า เราจะไม่ไปตอแย หรือไปปรับเปลี่ยน หรือไปแก้ไขเรื่องราว ที่เรื่องราว หรือว่าการกระทำคำพูดของผู้อื่น

เห็นมั้ย มันควบคุมไม่ได้นะ บทจะเกิดก็เกิดมาอย่างนี้ เห็นมั้ย ไม่มีใครกำหนด ไม่มีใครควบคุม มันเป็นไปตามธรรม ตามความเป็นจริง ท่านเรียกว่าเป็นไปตามธรรมอยู่แล้ว แต่ใจเรารับได้มั้ย ต้องกลับมาดู ให้เท่าทัน ...อ้อ ยอมรับตามความเป็นจริงปุ๊บ มันก็จะเป็นกลาง ไม่มีอะไร เหมือนกันหมด เดี๋ยวก็เปลี่ยน แค่นั้นเอง

แต่ถ้าเราจะไปกำหนด หรือไปฟิกซ์ว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นไม่อย่างนี้ ...เราเริ่มสร้างปัญหาใหม่แล้วนะ เราเริ่มสร้างเงื่อนไขใหม่แล้วนะ เราเริ่มฝืนความเป็นจริงของโลก จะให้โลกเป็นหรือหมุนไปตามเรา ทั้งๆ ที่โลกนี่เขาหมุนรอบตัวเอง ไม่มีใครมากำหนด ไม่มีใครมาบังคับอยู่แล้ว ควบคุมไม่ได้

ต้องยอมรับในความที่มันควบคุมไม่ได้ ด้วยการ...การที่จะยอมรับมันได้คือรับรู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง คือรู้เฉยๆ ถ้าไม่เฉยก็รู้ว่ามันไม่เฉย หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด รำคาญก็รู้ว่ารำคาญ แล้วก็จะเห็นว่าไอ้หงุดหงิดไอ้รำคาญหรือดีใจ มันก็ตั้งอยู่แค่ชั่วคราว เดี๋ยวก็เปลี่ยนไปๆ ไม่ต้องอะไรมากมาย แค่นั้นเอง

เพราะนั้นการปฏิบัติจึงบอกแล้วไงว่า มีได้ตลอดเวลา ให้กลับมาปรารภที่ใจ กลับมารู้อยู่ที่ใจ รู้อยู่ที่ว่าได้ยินอะไรอยู่ เป็นยังไง พอใจไม่พอใจหรือเฉยๆ หรือไม่มีอะไร แค่นั้นเอง เพราะนั้นไม่มีการขัดจังหวะ มันเป็นของมันอย่างนี้แหละ โลกมันเป็นอย่างนี้ เข้าใจมั้ยว่า

ถ้าว่าขัดจังหวะนี่ก็เหมือนกับว่า ...ดนตรีวงนึงนี่ ถ้ามันมีแต่กลองทั้งวงเลย มันจะมันมั้ยนี่ เข้าใจไหม ..มันยังต้องผสมกันตั้งหลายอย่าง แต่ทำไมมันเกิดความกลมกลืน ฟังแล้วไพเราะได้ ทั้งที่ว่าเป็นของที่แตกต่าง 

ท่วงทำนอง แม้แต่การดีดสีตีเป่า มันก็ยังมีอากัปกริยาที่แตกต่าง ไม่ได้มีความเหมือนกันเลย รูปลักษณ์ภายนอก เสียงที่ออกมาก็แตกต่าง แต่ทำไมฟังแล้วดูดี ฟังแล้วกลมกลืน ไม่เห็นมันจะขัดแย้งกันเลย ทั้งที่ว่าความเป็นจริงรูปลักษณ์ของมันขัดแย้งกันหมดเลย ดูเหมือนขัดแย้ง ดูเหมือนไม่น่าจะไปด้วยกันได้

เหมือนกัน ในโลกนี่ มันเกิดจากการผสมผสานอยู่แล้ว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่มีอะไรคงที่ หรือว่าราบเรียบ หรือว่าเป็นอย่างนี้ๆ อย่างที่เราคาดตลอด มันมักจะมาอย่างที่เหนือคาดทั้งนั้นแหละ ต้องทำใจยอมรับให้ได้ แค่นั้นเอง ทุกข์ก็ไม่เกิดแล้ว

แต่ถ้ารับไม่ได้เมื่อไหร่ แล้วคิดจะแก้ หรือคิดจะกัน หรือคิดจะไม่ให้มันเกิดขึ้นมา หรือจะให้มันเป็นอย่างที่เราต้องการ ... คิดผิด คิดใหม่นะ คิดอย่างนั้นน่ะจะทุกข์ๆ ...ยังไงก็ต้องรับในความแปรปรวน ความไม่คงอยู่ ความที่ว่าไม่เสถียร ความที่ว่าไม่สามารถจะเป็นดั่งที่เราต้องการ ต้องยอมรับให้ได้

ด้วยการยอมรับอย่างเดียวเท่านั้น นั่น ไม่ใช่แก้ ไม่ใช่กัน ไม่ใช่ระวัง ไม่ใช่ห้าม มันได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ชั่วครั้งชั่วคราว เท่านั้นเอง เดี๋ยวมันก็...บทจะมา บทจะไป บทจะเป็น มันก็เกิดได้โดยที่เราไม่คาดฝันทั้งนั้นแหละ เหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ อันนี้ว่าถึงภายนอก

ภายในก็เหมือนกัน อารมณ์ของเรา นี่ สามวันดีสี่วันร้าย เอาแน่ไม่ได้ วันนี้ดีๆ อยู่ เจอเรื่องนั้นเกิดขึ้นมาปุ๊บนี่ ไอ้ดีน่ะดีแตกหมดเลย หายหมดเลยไอ้ที่ว่าดีๆๆ ผ่องใส สบายๆ นี่ ไปไหนไม่รู้ กู่ไม่กลับเลย

เนี่ย เห็นมั้ย ความจริงเขาแสดงความเป็นจริงพร้อมให้เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่เรายังไม่พร้อมจะรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เพราะว่าปัญญาเรายังอ่อน ยังคิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้อยู่นะ ยังน่าจะอยู่ได้นะ มันควรจะอย่างนั้นนะ เราอุตส่าห์ทำมาแทบตาย เราอุตส่าห์รักษามันแทบตาย มันน่าจะอยู่ อย่างนี้

นี่คือเราไปฝืนธรรมชาติ พระอาทิตย์จะขึ้น ก็ดันจะให้มันตก พระอาทิตย์จะตก ก็ดันจะให้มันขึ้นอย่างเนี้ย คอยฝืนคอยนั่งเอาชนะคะคานกับความเป็นจริงอยู่ร่ำไป หาเรื่องสร้างทุกข์ ไม่มีทางชนะมันได้หรอก ...จะชนะมันได้ก็คือแค่ยอมรับ 

ทุกอย่างก็ดำเนินไป ตามกฎเกณฑ์ของเขา โลกก็ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของโลก จิตก็ดำเนินไปในกฎเกณฑ์ของจิต ต่างคนต่างดำเนินไป ... ด้วยการดำเนินของโลกกับธรรมนี่ โลกกับจิต หรือโลกียะกับโลกุตตระนี่ โลกุตตระคือภายในใจ โลกียะคืออายตนะหรือว่าโลก รูปรสกลิ่นเสียงหรือว่าสัมผัส อารมณ์

เมื่อมีการกระทบปุ๊บนี่...ใจก็จะมีอาการ แสดงอาการ เมื่อไม่มีการกระทบ...ใจก็ไม่มีอาการ เนี่ย เขาจะอยู่ด้วยกันอย่างนี้  ...ได้ยิน ได้เห็นสิ่งที่สวยงาม จิตก็จะมีอาการพอใจ เห็นสิ่งที่ไม่สวยงาม จิตก็จะมีอาการไม่พอใจ เนี่ย เขาจะแสดงอาการตามความเป็นจริงอยู่อย่างนี้ 

แต่ว่าเขาเป็นไปอย่างนี้ ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็เปลี่ยนๆ ... เราจะเลือกไม่ได้เลยว่าจะต้องให้อยู่อย่างนี้เท่านั้น หรือว่าต้องให้อย่างที่เราต้องการเท่านั้น

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า มันเป็นอยู่อย่างนี้ มันเป็นธรรมดา ...การเข้าไปรับรู้อารมณ์ การเข้าไปมีเข้าไปเป็นในขณะแรกที่รู้นี่ มันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ไม่ได้ผิดอะไรหรอก ... แต่ท่านให้มาอยู่ตรงกลาง คอยอยู่ตรงนี้ 

ไม่เข้าไปต่อเนื่องในอารมณ์ ไม่ต้องไปยุ่งกับภายนอก หรือว่าไปแก้ หรือไปทำ หรือไปจัดการจนเกินไป หรือไปจัดการกับจิต ห้ามจิตกระทบกระเทือน ห้ามเขยิบ ห้ามเขยื้อน ห้ามมี ห้ามเป็นอารมณ์ อย่างนี้ท่านก็บอกว่าเกินไป 

ท่านให้คอยดู ระวังในการที่จะทำให้มันเกินไปจากความเป็นจริงของมัน ที่รับรู้แล้วมีอาการ ... เนี่ย ท่านเรียกว่ามัชฌิมา ท่านให้อยู่ตรงจุดนี้

สุดท้ายแล้วมันก็จะมีว่า มันก็เป็นอย่างนี้ แล้วภายนอกก็...บทจะเกิดมันก็เกิดมา บทจะหายมันก็ดับไป เจอคนนั้น เจอเรื่องราวเหตุการณ์ผันแปร ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เรื่องราวคนรอบข้าง เขาจะมี เขาจะเปลี่ยนแปลง เขาจะทำอะไร เขาจะตั้งใจทำ เขาจะไม่ตั้งใจทำ 

จิตมันก็จะไปรับรู้เป็นผัสสะอย่างนั้นๆๆ แล้วก็มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ตามผัสสะนั้นๆๆๆ เป็นธรรมดา ...ไม่ได้ถูกหรือว่าไม่ได้ผิด แต่เป็นความจริงที่ปรากฏ ...แต่ว่าความจริงที่อยู่เหนือกว่านั้นคือ มันไม่คงอยู่ตลอดเวลาหรือถาวร มันแค่ชั่วคราวเท่านั้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนๆ เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน 

นี่ พระพุทธเจ้าบอกให้อยู่ด้วยความเป็นกลาง คือรู้เห็นตามความเป็นจริงทั้งสองฝั่ง ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องไปแทรกแซง ไม่ต้องไปรักษา หรือว่าทำให้มันอย่างที่เราคาดไว้หรือคะเนไว้ คิดว่ามันต้องอย่างนี้ๆ เท่านั้น เขาเรียกว่าจิตจะไม่ติดทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งที่พอใจและไม่พอใจ จะไม่มีการเลือกข้าง เรียกว่าเป็นกลาง แค่เนี้ย

ไม่ต้องถามเลยว่ามรรคผลนิพพานอยู่ตรงไหน ขอให้เท่าทัน หรือว่ารู้อยู่อย่างนี้  ...พอจะทำ พอจะเข้าไปมี พอจะเข้าไปแก้ พอจะเข้าไปหน่วง เข้าไปรักษา เข้าไปป้องกัน หรืออะไรก็ตามที่มีการกระทำภายในหรือภายนอก โดยการจงใจ หรือเจตนา หรือตั้งเป้าเอาไว้ ...ก็ให้เท่าทันแล้วก็วางการกระทำนั้นๆ ซะ 

แค่กลับมารู้ เห็น ขณะนี้ ปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไร หูได้ยินเสียงขณะนี้ ปัจจุบันนี้จิตเป็นอย่างไร แล้วก็ยอมรับมันให้ได้ ...ไม่ได้ก็ต้องได้ เพราะมันเป็นความจริง หนีไม่พ้น 

ถ้าหนีอยู่อย่างเดียวนี่ มันจะเกิดมาทำไม หือ ไปขุดรูอยู่ซะ มันจะได้ไม่เจออะไรเลย แล้วก็ไม่ได้ยินอะไรเลย จิตมันจะได้คงที่ ...ขนาดให้ขุดรูอยู่ จิตมันยังปรุงแต่งเลย เชื่อสิ (หัวเราะ)  มันไม่มีทางนิ่งหรอก เห็นมั้ย มันควบคุมได้ที่ไหน

แต่ก็พยายามเหลือเกินที่จะจัดสรร จัดการ ให้มันเป็นอย่างที่เราต้องการให้ได้ แล้วเข้าใจว่า ถ้าทำได้ถือว่าได้ผล หรือว่าปฏิบัติก็ตาม การงานก็ตาม ถือว่าได้ผลแล้ว

แต่เราบอกให้เลย ทุกอย่างที่ว่าได้ผลๆ น่ะ ประเดี๋ยวนึง แค่ประเดี๋ยวนึง ...แล้วพวกเราก็ติดในความประเดี๋ยวนึงนี่แหละ ไม่ยอมทิ้งไอ้คำว่าประเดี๋ยวนึง เข้าใจว่ามันต้องยืดได้ มันต้องมากกว่านี้ มันต้องดีกว่านี้ มันต้องเหนือกว่านี้ มากกว่านี้ๆ ...ไม่มีคำว่าพอ ไม่มีคำว่าหยุดได้เลย ไม่ยอมรับได้เลย

ตรงเนี้ย คือความต่อเนื่อง คำว่าไม่รู้จักจบจึงเกิดขึ้น จิตที่เข้าไปมีเข้าไปเป็น จึงเกิดความหมายของคำว่า วัฏสงสาร หรือว่าไม่รู้จักจบ ถ้าภาษาอังกฤษก็เรียกว่า infinity ไม่มีประมาณ ไปเรื่อยน่ะ ไม่มีคำว่าจบ ไม่มีคำว่าพอ เพราะมันเข้าใจว่ามันทำได้อยู่ มันรักษาได้อยู่ มันสร้างได้อยู่ มันไม่ได้ก็ต้องได้สักวันนึง เนี่ย มันคิดอยู่อย่างนั้น

ตายแล้วเกิดอีกๆ เพื่อมาทำให้มันบรรลุเป้าน่ะ พอบรรลุเป้าแล้ว...สมมุติว่าได้แล้ว เฮ้ย มันยังมีดีกว่านี้อีกโว้ย ไปต่ออีก อย่างเนี้ย ไม่เหนื่อย ไม่เบื่อ ไม่พอ ไม่คลาย มีแต่เอากับเอาลูกเดียว เกิดใหม่เอาใหม่ ได้เท่านี้เอาเท่านั้น ได้เท่านั้นไปเท่านู้น

คนยิ่งรวยมันยิ่งจน เข้าใจมั้ย เพราะมันไม่รู้จักพอ มันไม่มีคำว่าพอเลย หยุดไม่เป็นๆ เพราะมันคุ้นเคยกับการหาอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักหยุดจักยั้ง พอเริ่มหยุด เริ่มไม่หา มันจะเริ่มมีความคิดนึงที่ขึ้นมาบอกว่า ถ้าเราไม่หาต่อ มันจะหมดไป

มันรับไม่ได้กับคำว่าหมดไป หรือว่าเสื่อม หรือว่าหาย หรือว่าไม่คงอยู่ มันเลยไม่คุ้นกับคำว่า ความไม่คงอยู่  มันรับไม่ได้กับความไม่มี มันเลยพยายามทำให้มีอะไรอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรทำก็หามันทำอยู่เรื่อย ไม่ชอบว่างงาน ชอบอะไรไปเรื่อยเปื่อย มันเลยเป็นนิสัยที่คุ้นเคยในการกระทำไม่รู้จักจบ งานจึงไม่มีคำว่าจบ

เอ้า มีอะไรสงสัยมั้ย พระ


ถาม – ไม่มีครับ ตั้งใจมากราบเฉยๆ ครับ

พระอาจารย์ – ฟังเข้าใจมั้ย


ถาม – เข้าใจ เมื่อกี้ท่านก็บอกมาในส่วนหนึ่งแล้วครับ ก็เข้าใจว่าจะต้องต่อกับท่าน

พระอาจารย์ – การปฏิบัติที่ง่ายที่สุด สั้นที่สุด ลัดที่สุด ตรงที่สุด คือให้กลับมารู้ที่ปัจจุบัน...ของกายกับใจ สองอย่างพอแล้ว ขณะนี้เดี๋ยวนี้ กำลังอยู่ยังไง เห็นอยู่ รู้อยู่ ตรงนี้ ไม่ต้องคิดอะไรมากเลย คิดมากก็รู้ว่าคิดมาก แล้วกลับมารู้ที่...เดี๋ยวนี้กำลังทำอะไรอยู่ 

ถ้ากลัวจะไม่รู้ ท่องไว้เลย ภาวนาไว้ประจำใจว่า กำลังทำอะไรอยู่ ท่องไว้ๆ กำลังทำอะไรอยู่ ทั้งวันน่ะ ท่องเข้าไป ...ถ้าเราหมั่นท่องไว้นี่ ระหว่างท่องว่ากำลังทำอะไรอยู่นี่ แล้วนึกขึ้นมาได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ปุ๊บ ให้กลับมาดูเลยว่ากำลังทำอะไร กายกำลังทำอะไรอยู่ จิตกำลังทำอะไรอยู่ เป็นอุบายให้เกิดสติกลับมาระลึกเท่าทันในปัจจุบัน

ไม่งั้นมันหายยย วันทั้งวันนี่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย นี่ มันจะช้า มันช้าตรงนี้ ไม่รู้ตัว ทำอะไรโดยไม่รู้ตัว พูดก็ไม่รู้ตัว ทำงานก็ไม่รู้ตัว ได้ยินอะไร ทำอะไร ขาดสติ ไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังมีอะไร รู้สึกยังไง มันทำไปตามอารมณ์ ทำไปด้วยความไม่มีสติสตังรู้เนื้อรู้ตัว มันทำไปว่าพอใจจะทำก็ทำอะไรออกไป มันไหลออกไป มันเผลอมันเพลินออกไปกับอารมณ์

อารมณ์มันเหมือนกับมันจูงจมูกควายน่ะ สายสะพายควายน่ะ เคยเห็นมั้ย มันดึงไปก็ไป จิตเราที่ไม่รู้เท่าทันนี่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงนี่ กระทบปุ๊บ จิตมันไหลออกไป เหมือนกับควายถูกเขาดึงสายสะพายลากไป เป็นอย่างนั้นเลย

เพราะนั้นให้กลับมารู้เท่าทัน ขณะนั้นน่ะ บ่อยๆ เนืองๆ มันถึงจะเห็นที่มาที่ไปของมัน เห็นว่าอะไรเป็นตัวผลักดัน อะไรเป็นความโง่ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรถึงจะเป็นเหตุให้ดับทุกข์ นะ แค่นั้นเอง


ถาม – ถ้ารู้ว่าทำอะไรอยู่ กับรู้ว่ารู้สึกยังไง รู้ว่ารู้สึกยังไง อย่างนี้รึเปล่า

พระอาจารย์ – เหมือนกันนั่นแหละ จริงๆ ก็เหมือนกัน เพราะว่าถ้ารู้สึกยังไงก็คือภายในใจ เข้าใจมั้ย ถ้ากำลังทำอะไรอยู่ ส่วนมากจะหมายถึงรูปภายนอก ยืนเดินนั่งนอน กำลังพูด กำลังกิน หรือกำลังทำอะไร แต่ถ้าถามว่ารู้สึกยังไงอยู่ อันนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกหรือเวทนา หรือความรู้สึกของใจเราแล้ว 

เหมือนกัน กายก็ได้ใจก็ได้ กลับมารู้ ไม่ได้จำเป็นว่าจำเพาะว่าต้องรู้ที่ใจหรือที่กายเท่านั้น สลับกันไปสลับกันมา ...เพราะระหว่างเราทำงานนี่ เราคลุกคลีกับผู้คนหรือกำลังยุ่งขิงอยู่กับเรื่องราวผัสสะมากๆ หรือไปโรงเรียน กำลังเรียน กำลังเล่นอยู่อย่างนี้ จะมารู้สึกอย่างไรอยู่นี่ มันรู้สึกไม่ค่อยเห็นหรอก เข้าใจมั้ย 

มันก็ต้องรู้สึกของกาย คือมันจะเห็น รู้ว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ได้ง่ายกว่า ได้ง่ายกว่าที่จะไปทำความรู้สึกภายใน มันจะไม่ทันๆ ก็ให้กลับมารู้ที่กาย ...แต่พอเวลาเงียบๆ มากๆ หรือไม่มีอะไร ก็กลับมาดูให้พร้อมทั้งกายทั้งใจ อยู่ในอาการไหน 

ไม่ต้องเอาผลอะไรหรอก รู้อย่างเดียวพอแล้ว แล้วมันจะค่อยๆ เข้าใจด้วยตัวของเขาเอง จะดำเนินอย่างไร เห็นผลเป็นยังไง เห็นประโยชน์ของมันเอง ...แต่ขณะที่รู้บ่อยๆ มันจะไม่รู้หรอกว่ามันจะได้อะไร หรือว่าเข้าใจอะไรมากขึ้น เหมือนกับว่ากลับมารู้แบบโง่ๆ น่ะ ไม่ได้อะไร


ถาม – ท่านครับ ขี้เกียจน่ะฮะ (หัวเราะ) จะดูยังไง

พระอาจารย์ – ขี้เกียจ ขี้เกียจก็ต้องขยัน ขยันดูๆ


โยม – ขี้เกียจก็มาอีกหลายภพหลายชาติ  

พระอาจารย์ – ไปลองดู ไปลองทำดูก่อน ฝึกดู แล้วมันจะมีปัญหามาเอง นะ ค่อยมาคุย มาเรียนรู้




(มีต่อ แทร็ก 1/6) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น