วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 1/4



พระอาจารย์

1/4 (25530228D)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

28 กุมภาพันธ์ 2553


โยม – พระอาจารย์  แล้วแบบ...นอกเรื่องอีกทีค่ะ  มีคนมากราบพระอาจารย์แบบว่าไม่เคยภาวนาเลยนี่ มีมั้ยคะ

พระอาจารย์ – มี มี...มากราบ ทำบุญ แล้วก็ไป ...เราไม่พูด


โยม – อ๋อ เหมือนทั่วไปใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – เออ มี  ...หน้าที่ของเรานี่รับได้ทุกเรื่อง เป็นหน้าที่ที่ว่ารับลูกเดียว พระ...ท่านว่าเป็นขอทาน  สมณะคือผู้ขอ...ผู้รับกับผู้ขอ ...ไม่มีปฏิเสธ


โยม – ก็เหมือนกับทั่วไปที่เอาของมาถวายแล้วก็กลับไป

พระอาจารย์ – ถูกต้อง ...เขาอยากได้บุญก็ให้บุญ เขาอยากได้ความสบายใจก็ให้ความสบายใจ เขาอยากได้ธรรมก็ให้ธรรม เขาอยากได้การปฏิบัติ ก็สอนให้ ... ถ้าเขาไม่ต้องการปฏิบัติ อย่า...ไม่เคยคิดจะสอนใครเลย เข้าใจมั้ย  ถ้าเขาอยากมาทำบุญก็รับ ไม่เคยปฏิเสธว่าจะต้องมาปฏิบัติธรรมเท่านั้น อยากได้ยังไง...คุณเอาไป


โยม – จัดให้

พระอาจารย์ – เออ... give and take ... แล้วก็เราอยู่ที่วัด เราก็เห็นคนเดินไปเดินมา เราเห็นคนมาปฏิบัติธรรมเยอะแยะมากมาย เราไม่เคยแส่เลยนะว่าจะไปแนะนำเขา หรือไปบอกว่าต้องทำอย่างนี้ซิ ต้องมาฝึกอย่างงั้นนะ ต้องมาฝึกยังงี้นะ 

ต้องอย่างเนี้ย มาเอง...ไม่ได้เชื้อเชิญนะเนี่ย (โยมหัวเราะ) ไม่ได้บอก อยากมาเองก็มา เข้าใจมั้ย ...อย่างนี้จะพูด

เพราะฉะนั้นธรรมนี่ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของการบังคับข่มขืน มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ... บางคนเราเห็นมาวัด ศรัทธามากมาย ขยันมาฝึกเอาเป็นเอาตาย ... รู้ทั้งรู้ เห็นทั้งเห็น ว่าติดอยู่ตรงไหน จะขยับได้อย่างไร เรายังไม่บอกเลย 

มันยังไม่ถึงวาระ เข้าใจมั้ย  มันต้องมีเหตุและปัจจัย ... ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วจะไปบอกเขาเลยนี่...ไม่ได้ๆ ได้ก็แย่..แย่เขาด้วย นะ บอกให้เลย  มันเป็นการฝืน หรือว่าเขาจะเกิดทิฐิที่มันแข็งกร้าวขึ้นมาทันที


โยม – ต้องปล่อยเขาไปก่อน

พระอาจารย์ – อือฮึ ... เพราะงั้นดูห่าง ๆ รอจังหวะเข้าลูกเมื่อไหร่ บอลเข้าลูกเมื่อไหร่กูก็เตะ (หัวเราะ) ถ้าบอลยังไม่มาเข้าแวดวงรัศมีวงตีนนี่ จะไม่วิ่งเข้าไปหาลูก...ไปเตะ


โยม – (หัวเราะกัน) เดี๋ยววืด

พระอาจารย์ – เออ เดี๋ยวเจอสวน (หัวเราะ) ... เพราะนั้นน่ะ การให้ธรรมหรือการสอนนี่ไม่ใช่ว่าจะให้กันง่ายๆ นะ ไม่ใช่ว่าจะรับกันได้ทุกคนนะ ไม่ใช่ว่าของแบบโปรยทานนะ ...เคยเห็นมั้ยโปรยทาน ชิงกันเองหาแย่งกันเอา มันไม่ใช่ลักษณะนั้นน่ะ 

การรับธรรมการฟังธรรมนี่ ต้องมีจิตที่น้อม ต้องน้อมก่อน เป็นหลัก ... ต้องมีการน้อม ยอมรับ แล้วก็น้อม น้อมไปปฏิบัติ น้อมรับฟัง ไม่ใช่ว่าใครก็ได้จะรับได้หมด มันไม่หมดหรอก รับได้ไม่หมด ...มันอยู่ที่วาระหรือจังหวะการเปิดของจิตของคนนั้นๆ

เพราะนั้นน่ะ ได้ยินมาขนาดนี้ ได้ฟังมาขนาดนี้ ได้ฟังแค่นี้แล้วนี่ เราบอกว่าพอแล้ว บอกให้เลยพอแล้ว มากกว่านี้ ... เกินหมด 

แล้วให้มั่นใจลงไป อย่าลังเลสงสัย อย่าลังเลสงสัยในการที่กลับมารู้กาย วาจา จิต ในปัจจุบันเท่านี้แหละ กลับมารู้บ่อยๆ รู้มากรู้น้อยก็ให้รู้ กลับมารู้แค่นี้พอแล้ว ไม่ต้องคิดมากกว่านี้ ไม่ต้องทำมากกว่านี้เลย ...แค่นี้เราถือว่าเพียงพอแล้ว

แต่ว่ามันไม่เพียงพอในขณะที่เรายังไม่ต่อเนื่อง ไม่ทำเป็นเนืองๆ แค่นั้นเอง ...อยู่ที่ว่าเราเติมตรงจุดนี้เข้าไป เติมสติเข้าไป รับรู้เข้าไป แล้วมันจะทำความกระจ่างภายในของตัวเองมากขึ้นไปเรื่อยๆ เอง

แต่ว่ามันจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เปรียบเสมือนต้นไม้ที่กำลังเติบโต นะ นั่งดูนี่จะไม่เห็นเลยว่ามันโตขึ้นได้ยังไง จะไม่เห็นความเติบโตของมันในขณะนี้เลย ...แต่อย่าบอกว่ามันไม่เติบโตนะ ปีหน้าโยมมาดูใหม่ จะเห็นว่า โห ต้นเท่านี้แระ... นี่ จิตที่พัฒนาขึ้น ๆ เราจะเห็นอย่างนั้น แต่ว่านั่งดูอยู่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ มันไม่มีอะไรหรอก 

แต่ก็พวกเราจะชอบเห็นแบบจับต้องได้ เช่น นั่งหลับตาแล้วเห็นความเกิดดับชัดเจนอย่างนี้ เรามีรู้สึกว่ามันเห็นความพัฒนาก้าวหน้า คิดเอาว่าเราเห็นอะไรชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง เราชอบอย่างนั้น...เพราะเราชอบๆ เป็นความต้องการ 

แต่พอมาดูตามความเป็นจริงแล้ว มันไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีเห็นพัฒนาขึ้นมาเลย มีแต่เท่าเก่าๆๆ อยู่อย่างนั้น เป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้น 

สติปัญญานี่มันมาเรียนรู้ในความซ้ำซากอยู่อย่างนี้แหละ ให้เห็นความจริงอันนี้ ... มันมีความจริงซ่อนอยู่ในตรงนี้แหละ ... มันไม่เห็นอะไรชัดเจนหรอก หรือแยกเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างที่ได้ยินได้ฟังมา หรือเข้าใจเอาเองอ่ะนะ

ให้ดูไปทั่วๆ รู้อยู่เห็นอยู่ ๆ ๆ ...ไม่รู้ว่าเห็นอะไร ไม่รู้ว่ารู้อะไร แต่รู้อยู่เห็นอยู่อ่ะ ว่ามันเป็นยังเงี้ย มันอยู่ยังเงี้ย มันทำอาการยังเงี้ย จะยังไงก็ช่าง ยังเงี้ยไปเรื่อยๆ แต่ว่ารู้อยู่เห็นอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ๆๆ


โยม – อย่างนี้นั่ง(สมาธิ)ก็ได้ ไม่นั่งก็ได้หรือคะ

พระอาจารย์ – ถูกต้อง ...ถ้าเข้าใจนะ เราบอกว่า...มีคนมาถามว่า อาจารย์นั่งยังไง สมาธิน่ะ เราบอกว่ายังงี้

....ก่อนเรานั่งสมาธิ จิตเราเป็น "อย่างนี้นะ"  เวลานั่งสมาธินะ...ระหว่างนั่งสมาธินี่จิตเราก็ “อย่างนี้นะ  พอหลังเรานั่ง ออกจากสมาธิแล้ว จิตเราก็ “อย่างนี้นะ" ...เข้าใจมั้ย

.....แต่พวกโยมนี่ก่อนนั่งสมาธิ จิต “อย่างนี้นะ”  ระหว่างนั่งสมาธิก็ “อย่างงี้นะ”  แล้วพอหลังนั่งสมาธิ ก็ “ยังงี้นะ” เข้าใจมั้ย (เสียงโยมหัวเราะกัน) ... ซึ่งถ้าอย่างนี้จะเห็นว่ามีความแตกต่าง แล้วก็จะเห็นว่านั่ง-ไม่นั่งน่ะมีความหมาย

แต่ถ้าเข้าใจเมื่อไหร่ว่า “อย่างนี้ ... อย่างนี้ ... อย่างนี้”  มันจะไม่มีความหมายของการว่าต้องนั่งหรือไม่นั่งแล้ว... มันอยู่ที่ความเข้าใจ เข้าใจมั้ย

(หมายเหตุ- ได้สอบถามผู้บันทึกเสียงมา ถึงช่วงที่พระอาจารย์พูดถึงการนั่งสมาธิ ว่า “อย่างนี้” คือเช่นไร...ดังนี้ค่ะ)
 ถาม- 
ที่พระอาจารย์พูดเรื่องนั่งสมาธิ ที่ท่านพูดว่า... "....ตอนเรานั่งสมาธิจิตเราเป็น "อย่างนี้นะ"... เวลานั่งสมาธินะ ระหว่างนั่งสมาธิจิตเราก็"อย่างนี้นะ" พอหลังเรานั่ง ออกจากสมาธิแล้ว จิตเราก็ "อย่างนี้นะ" เข้าใจมั้ย.....แต่พวกโยมนี่ก่อนนั่งสมาธิ จิต "อย่างนี้นะ" ระหว่างนั่งสมาธิก็ "อย่างงี้นะ"แล้วพอหลังนั่งสมาธิก็ "ยังงี้นะ" เข้าใจมั้ย....."
          ตอนนั้นพระอาจารย์ท่านทำมือหรือแสดงอาการของจิต ที่ว่า
     "อย่างนี้... อย่างงี้" นี่อย่างไรบ้างคะ พอนึกออกไหมคะ

ผู้บันทึกบอกว่า -
ท่านก็แค่ลากมือผ่าน แสดงระดับน่ะครับ เช่นลากจากซ้ายไปขวา พร้อมกับพูดว่า "อย่างนี้นะๆ" ตอนที่ท่านพูดเรื่องของท่านเองท่านก็ลากมือผ่านไปในระดับอก ระดับเดียวกันหมด ทั้ง 3 หนตอนท่านพูดถึงโยมหนแรก"ก่อนนั่ง" ท่านก็ลากมือผ่าน ระดับอกหนสอง"กำลังนั่ง" ท่านก็ลากมือผ่าน ระดับสูงเหนือศีรษะหนสาม"นั่งแล้ว" ท่านก็เริ่มลากมือจากระดับศีรษะ แล้วปักมือดิ่งลงมาต่ำกว่าระดับ"ก่อนนั่ง"ซะอีก...ประมาณนี้แหละครับ)


โยม – ค่ะ

พระอาจารย์ – แต่ถ้าเข้าใจแล้วว่าจะทำเพื่อให้ได้ “อย่างงี้” ก็ทำไป...ไม่ว่า ขอให้เข้าใจ ว่าเพราะเราพึงพอใจใน “อย่างงี้”  แต่ต้องยอมรับว่าเดี๋ยวมันจะเป็น “ยังงี้” แค่นั้นเอง ไม่มีปัญหา ...จะไม่มีปัญหา 

แต่ถ้าไม่เข้าใจแล้วจะมีปัญหา ... เพราะจะไปเอา “อย่างงี้” ให้อยู่ “อย่างงี้” ตลอด นี่มีปัญหาแน่นอน อย่าทำ ถ้าทำอย่างนี้แล้ว...อย่าทำ ...เราจะปฏิเสธเลย ห้ามทำ มันติดแล้ว มันข้องแล้ว มันไม่เข้าใจแล้ว มันคลาดเคลื่อนแล้ว มันจะไปทำให้ธรรมคลาดเคลื่อนแล้ว จะทำให้ความเป็นจริงนี่คลาดเคลื่อนแล้ว

จิตไม่เที่ยงก็จะทำให้มันเที่ยง จิตไม่ดีก็จะทำให้มันดี จิตไม่สงบก็จะทำให้มันสงบ จิตมีอารมณ์ก็จะทำให้มันไม่มีอารมณ์ ...มันอย่างเงี้ย จะเริ่มโต้เถียงกับไตรลักษณ์แล้ว จะทำให้มันเที่ยง จะทำให้มันเห็นชัดอยู่ตลอด

นี่คือเราจะนั่งเพื่อจะให้เห็นความเกิดดับ ก็จะให้เห็นความเกิดดับชัดในขณะนั้น เหมือนกันอย่างนี้ เห็นมั้ย คือจะเอาความจงใจ หรือว่าความเป็นอย่างนี้...ต้องอย่างนี้ ... ไอ้นี่คือความต่อต้านต่อไตรลักษณ์แล้ว เป็นการเลือกว่าจะต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น


โยม – ก็หนูไปคิดว่าอาการดับของตรงนั้นน่ะมันคือไตรลักษณ์

พระอาจารย์ – อื๊อ เข้าใจแบบคลาดเคลื่อน ไปแปลความหมายคลาดเคลื่อน


โยม – วัตถุประสงค์หนึ่งที่หนูจะนั่งก็คือ เปรียบเทียบระหว่าง “นั่ง” กับ “ธรรมดา” ว่ามันต่างกันมั้ย  แต่มันก็ต่างกันโดยสิ้นเชิงนะเจ้าคะ

พระอาจารย์ – ดีแล้ว


โยม – เพราะว่าตอนที่มาหาพระอาจารย์ตอนนั้นเลิกนั่งไปนานแล้วไงเจ้าคะ ทีนี้อยากเห็นความแตกต่าง มันต่างกันยังไง ... นี่ก็เข้าใจแล้ว แต่จิตมันก็ยังชอบ...ชอบตรงที่มัน “ขึ้น”

พระอาจารย์ – เดี๋ยวก็หายชอบ ทำๆ ไปแล้วจะกลับมาคืนสู่ ...สูงสุดสู่สามัญ สามัญสู่ความไม่มีอะไร ไม่มีอะไรก็สู่ความหมดไป ไม่เหลืออะไร หมดไปสิ้นไปโดยไม่เหลืออะไร ...โดยสิ้นเชิง 

แต่ตอนนี้มันกำลังอยู่ในขั้นตอนที่ว่า ปรับเข้ามาสู่สมดุลที่เป็นกลาง ไอ้ที่จิตที่มันกระโตกกระตาก กระโดกกระเดก ในความยินดียินร้าย มันยังมีบางอารมณ์ บางช่วง


โยม – มันไปติดกับที่ว่า “ต้องนั่งนะ ถึงจะดี”  อะไรอย่างนี้ เหมือนพระอาจารย์พูดนั้นนะคะ ต้องทำในรูปแบบนิดนึงนะถึงจะดี อะไรอย่างนี้ค่ะ ถ้าไม่ทำแล้วรู้สึก...

พระอาจารย์ – อือ รู้สึกโหวงๆ รู้สึกว่า...เสีย self เสียความมั่นใจในตัวเอง


โยม – ค่ะ (หัวเราะ) ... รู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไร แล้วมันเหมือนต้องทำอะไรอย่างนี้ค่ะ มันเป็นของแบบคนที่ นักปฏิบัติที่ทั่วไปที่ยัง...

พระอาจารย์ – เป็นกิเลสเบื้องต้นของนักปฏิบัติ  แล้วก็สะสมมาเรื่อยๆ ... กว่าจะละได้...ก็ต้องใช้กำลังพอสมควร ใช้เวลาพอสมควร

เหมือนพระนี่ พอบวชวันแรก พอนุ่งขาวห่มขาวแล้วมาสวมจีวร...ปั๊บนี่ กิเลสสร้างสมขึ้นมาหนึ่งยกเลย เข้าใจมั้ย แค่สวมผ้าเหลืองนี่... มี me and myself ขึ้นมา(โยมหัวเราะ) จากที่ you can… ใครก็ได้ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์มาตรฐานนี้ กลายเป็น ....me and myself นี่ untouchable ขึ้นมาระดับหนึ่ง เข้าใจมั้ย มันจะเป็นโดยธรรมชาติเลย


โยม – โดยธรรมชาติของพระหรือคะ

พระอาจารย์ – กิเลสมันเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัยไง


โยม – พอสวมจีวรปั๊บ

พระอาจารย์ – แค่นั้นแหละ  ความรู้สึกมันจะมีความเหนือกว่า ทันทีเลย


โยม – รู้สึกผยองหรือพระอาจารย์

พระอาจารย์ – เออ คล้ายๆ อย่างนั้น ... กว่าจะตบกะโหลกตบกบาลให้มันกลับมาเป็นปกติธรรมดาได้นี่  ... เพราะฉะนั้น ทิฐิพระ มานะกษัตริย์ สองอย่างนี่ท่านบอกว่าละยากมาก มันผูกพันมาโดยสืบสัญชาติสันติวงศ์มาเลยแหละ 

เพราะนั้นน่ะ ไปเจอพระบางรูปนี่ลองไปเถียงเพิ่นดิ หรือบอกท่านทำผิดนะ ไม่ถูกนะ สอนนี่ เดี๋ยวโดนแล้วๆ  มันจะมีตัวตนนี่สูงขึ้นมากว่าระดับหนึ่ง “ห้ามบังอาจ...บังอาจ” ห้ามพูดติเรื่องข้อวัตรปฏิบัติเลยนะ  ...นี่คือมานะโดยปริยาย ไม่ว่าพระบวชใหม่พระบวชเก่า ถ้าไม่เลิกละถอดถอนความเป็นตัวตนนะ ...ไม่เข้าใจ

เหมือนกัน นักปฏิบัตินี่ พอเริ่มปฏิบัติด้วยการกระทำปุ๊บนี่ จะติดคุณความดีของการปฏิบัติ ต้องมีส่วนหนึ่งที่ว่าเราเหนือกว่าคนอื่น...เรายังมีการยกหางตัวเอง...นิดนึง 

กะไอ้คนที่ข้างๆ เราทำงานอยู่นี่ ...มันไม่ได้เรื่อง เพราะมันไม่ได้ทำอะไร มันไม่ฝึกเลย มันไม่รู้หรอกอย่างที่เรารู้นี่ ..ชั้นรู้ เรื่องกาย เรื่องจิต เรื่องอาการของมัน เรื่องการเกิดการดับนี่ ชั้นรู้สภาวธรรมเห็นสภาวธรรม "ไอ้เธอนี่ขี้ๆ" ... เนี่ย เห็นมั้ย มันยังมีหาง...กระดกอยู่ ... เป็นธรรมดา


โยม – เมื่อก่อนตอนเป็นพองยุบน่ะมีเยอะเลยค่ะ

พระอาจารย์ – ค่อยกลับมาเรียนรู้ แล้วก็ถ่ายถอนออก ... ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วมันจะได้แต่ดีอย่างเดียว ไม่ดีก็เยอะ ต้องเรียนรู้ด้วย มันมาพร้อมกัน ...ถ้าดี มันก็ต้องมากับไม่ดี ถ้าเราหวังจะเอาอะไร มันก็จะได้สิ่งที่เราไม่หวัง เป็นของคู่กัน นี่คือโลกธรรมอยู่แล้วๆ 

จนกว่าเราจะหยุดการกระทำ ...หยุดการกระทำ แค่กลับมารู้เฉยๆ แล้วยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อแม้ 

ต้องใช้กำลังใจนะ... กล้านะ เด็ดเดี่ยวนะ อดทนได้นะ... ต่อคำพูดคนอื่นนะ ต่อความเห็นอันอื่นนะ ต่อคำความหมายอันออกมาจากปากคำพูดของครูบาอาจารย์อันศักดิ์สิทธิ์นะ ...ยังมีอีกหลายอย่างที่เราจะต้องอดทน ต้องผ่าน และยอมที่จะละให้ได้

นี่คือการให้ค่าของเราโดยเราไม่รู้ตัวเลยกับการที่เราไปให้ค่าไว้น่ะ  ... แต่ไอ้ที่เราไปให้ค่านี่ไว้จะเห็นต่อเมื่อไหร่... เมื่อมันเกิดอาการ...ต้องมาเรียนรู้ ต้องมาเลิกละถอดถอนอุปาทานได้ตอนนี้นะ ตอนที่มันเกิดอัตตาน่ะ ...ถ้าไม่เกิดอัตตานี่ไม่รู้เลยว่ามีอุปาทานมากน้อยเท่าไหร่

ตอนนี้นั่งดูดิ ดูใจตอนปัจจุบัน...มันรู้มั้ยมีอุปาทานอะไรมากที่สุดนี่ ตอบไม่ได้ ไม่เห็นเลย คิดว่าไม่มีอะไรด้วยซ้ำ ...แต่ลองมีอะไรขึ้นมา หรือเจออะไรขึ้นมา เหตุการณ์อะไรขึ้นมา จะเห็นเลย อ้อ มันออกมาแล้ว มันมาแล้ว มันมากับความมืด (หัวเราะ) มันออกมาพร้อมกับความมืดมิดของจิตนั่นแหละ มันก็ออกมาจากความมืดนั่นแหละ

เพราะนั้นไอ้ที่เราดูนี่ ทำไมถึงบอกมันมากับความมืด เพราะเราดูนี่มืดตึ้บเลยนะ เรายังไม่รู้เลยอะไรมันมีมากน้อยขนาดไหน กิเลสมันยังเหลือเท่าไหร่ ออกไปเท่าไหร่ อันไหนหยาบ อันไหนละเอียด อยู่ตรงไหนมั่ง ยังไม่เห็นอะไรเลย

ก็ต้องมาเรียนรู้กับเงานี่แหละ เข้าใจมั้ย เงานี่แหละมันเป็นกระจกสะท้อนออกมา เนี่ย มันออกมาจากตรงนี้แหละ ไอ้มืด...มันมากับความมืด มันออกมาจากอวิชชานั่นแหละ มันก็ฉายออกมาเป็นเงา ... แล้วเราจะหลงเงามั้ย ถ้าหลงเงาปุ๊บนี่ คุณก็สร้างกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมต่อไป

แต่ถ้าไม่หลง แค่รู้ อ้อ เดี๋ยวมันก็....อดทนหน่อย ๆ ๆ มันจะดิ้นมันจะออกไป..อดทนหน่อยๆ อ่ะ เงาก็สลายไป แล้วไอ้เงานี่ก็แสดงถึงธาตุแท้ของใจ มันฉายออกมา 

ใครจะว่าถูก ใครจะว่าผิด เราไม่บอก ... เราบอกว่า นี่คือความจริง และให้กลับมาเห็นความจริง แล้วยอมรับว่าความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ กระบวนการมันเป็นอย่างนี้ ...ยอมรับมัน เข้าใจกับมัน แค่นั้นแหละละกิเลสได้หรือไม่ได้ ไม่สนใจ ... แต่เราบอกว่ามันจะเห็นตามความเป็นจริง แค่นั้น พอแล้ว

เพราะปัญญาในการภาวนาคือเห็นตามความเป็นจริง แล้วก็เกิดสัมมาทิฏฐิ ลบมิจฉาทิฏฐิออกไป ลบความเห็นผิดๆ ความเข้าใจผิดๆ  ... ถ้าเราเห็นผิดเข้าใจผิดปุ๊บ อะไรมาพูดเข้าหู ตาเราได้เห็นอะไรปุ๊บ มันจะทำจิตเราหวั่นไหวเลย บอกให้

ไอ้การหวั่นไหวน่ะ เพราะเราไม่เข้าใจ มันจะเกิดความหวั่นไหว คะเนนไปเหมือนไม้หลักปักเลน สั่นคลอนไปหมด แต่เมื่อเข้าใจแล้วนี่...เหมือนน้ำรดหัวตอน่ะ ไม่มีความรู้สึกรู้สา ...ธรรมดา ใครจะพูดยังไงก็ได้ พูดจนปากฉีกถึงรูหู สุดท้ายก็ผ่านไป ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ อย่างนั้นน่ะ

เพราะมันเห็นแล้ว...ความเป็นจริงคืออะไร สุดท้ายก็คือแค่นี้ จะอะไรกันนักกันหนา ๆ จะเอาถูกเอาผิดไปถึงไหน ...สุดท้ายก็ดับไป บอกให้เลย สุดท้ายก็ดับไป เอ้า ไม่เห็นจิตดับ สุดท้ายมันก็ตาย คนพูดก็ตาย คนฟังมันก็ตาย มันก็ดับไปอยู่วันยังค่ำ มันไม่มีอะไรจริงจัง อย่าไปจริงจัง

อย่าไปจริงจังมากมาย เหนื่อย ...เอาถูกเอาผิดเอาเรื่องไร้สาระ มันไร้สาระอยู่แล้ว ก็ยังทำให้มันไร้สาระเพิ่มขึ้นไปอีก อย่างนี้ ให้ฉลาดกว่ามัน ...เอ้ามีอะไรถามมั้ย


โยม – เคลียร์แล้วค่ะ

พระอาจารย์ – เดี๋ยวก็หายเคลียร์ ...เพราะงั้นในการฟังแต่ละทีนี่ มันเข้าไปปรับความเห็นทีละเล็กทีละน้อยอยู่แล้ว นิดๆ หน่อยๆ มันไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรอก เก็บเล็กผสมน้อยอย่างนี้ ความเห็นมันจะปรับเปลี่ยนไปเอง


โยม – เหมือนมันเป็นความเข้าใจทีละนิด

พระอาจารย์ – ใช่ แล้วมันจะมีกำลังใจ มีความมั่นใจ ไม่ค่อยหวั่นไหว ไม่ค่อยกังวลกับคำพูดทั่วไป การปฏิบัติทั่วไป เขาบอกว่าดีกว่านี้ เขาบอกว่าถูกกว่านี้ เขาบอกว่าใช่กว่านี้ ก็จะค่อยๆ ... ก็แค่นั้นแหละ ก็แค่ฟังไว้ แค่นั้น สุดท้าย แก้อะไรไม่ถูก คิดอะไรไม่ถูก บอกแล้วจำเอาไว้เลย กลับมารู้กายใจปัจจุบัน พอแล้ว


โยม – หนูจำคำว่า “รู้เบาๆ”

พระอาจารย์ – เออ แค่นั้นแหละ พอแล้ว ๆ


โยม – พอตอนที่นั่ง แล้วมัน ...เอ๊ มันต่างกันแล้วกับรู้เบาๆ

พระอาจารย์ – จงใจ มันจงใจมาก เคร่งเครียด ซีเรียส .... ไม่เอา ง่ายๆ  เหมือนที่เราบอก...การดูกายดูจิตก็เหมือนวินโดว์ชอป น่ะ เข้าใจมั้ย

ก็แบบวินโดว์ชอปหนึ่ง ... และก็แบบเหมือนกับตั้งใจจะไปซื้อกระเป๋า เห็นมั้ย ความรู้สึกต่างกันมั้ย...ตั้งใจจะไปซื้อกระเป๋ากับวินโดว์ชอปนี่ต่างกันมั้ย เพราะงั้นดูกายดูจิตนี่ ให้ดูอาการของมัน ดูทุกสิ่งทุกอย่างให้เหมือนวินโดว์ชอป

แต่ถ้าเราเพ่งเมื่อไหร่จะเหมือนกับเราต้องการไปซื้อกระเป๋า มันจะมีการเดินแบบออกอาการเลยน่ะ ออกอาการของตัณหาเลย ...ต้องเอาอะไรสักอย่างหนึ่งอย่างนี้ เข้าใจมั้ย อย่างนั้นน่ะคือตั้งใจจะดู มีการตั้งใจแล้ว

แต่ถ้าไม่ตั้งใจดูอะไร มันก็เหมือนกับเราเดินดูวินโดว์ชอป อะไรก็ได้ ก็ผ่านไปเรื่อยน่ะ ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้จงใจจะเอาอะไร หรือไม่เอาอะไร ก็แค่ดูอ่ะ แค่เดินมาแค่นั้นเอง ดูเบาๆ อย่างนี้...จะเป็นอย่างนั้น


โยม – นั่ง(สมาธิ)ก็ได้ ไม่นั่งก็ได้ เดิน(จงกรม)ก็ได้ ไม่เดินก็ได้ แล้วแต่

พระอาจารย์ – อือ ก็แค่รู้อยู่ เบาๆ กับมันแค่นั้นเอง ไม่เอาอะไร ไม่ได้รู้เพื่อเอาอะไร ไม่ได้รู้แบบจะไปซื้อกระเป๋า หรือจะดูให้เห็นอะไร หรือให้เป็นอะไรขึ้นมา ก็ดูตามความเป็นจริงที่มันมีอยู่ตรงนั้นน่ะ

เพราะนั้นความเป็นจริงนี่เขาไม่ได้พูดด้วยซ้ำ ไม่มีคำเรียกขานด้วยซ้ำว่าคืออะไร หมายความว่าอะไร ดูกายนี่มันยังไม่เคยบอกเลยว่ามันเป็นหญิง ชาย สวย ไม่สวย ดำ ขาว ด่าง สูง ต่ำ เตี้ย เห็นมั้ย เขาไม่ว่าอะไรสักคำเลย เนี่ย ความเป็นจริงเขาไม่มีอะไรอยู่แล้ว ไม่มีความหมายอะไรด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกันกับอาการของใจหรืออาการของจิต หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น เขาไม่ได้บอกว่าถูก เขาไม่ได้บอกว่าผิด เขาไม่ได้บอกว่าใช่ เขาไม่ได้บอกว่าไม่ใช่ แต่เขาคือสิ่งหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ได้ว่าอะไรด้วยซ้ำ กิเลสก็ไม่ได้เรียก หรือว่าไม่ใช่กิเลสก็ไม่ได้เรียก

เห็นมั้ย  เราว่าเอาเอง เชื่อเอาเอง คิดเอาเองเชื่อเอาเองหมด นี่สวย นั่นไม่สวย ชั้นสวย เธอไม่สวย...ใครว่า ๆ  ... ธาตุขันธ์นี่เขาไม่เคยพูดสักคำ ความเป็นจริงแล้วนี่ นิ่ง ใบ้ เหมือนไอ้ใบ้เลยแหละ ไม่มีภาษา ไม่มีคำพูด ... สงบ สันติ เป็นกลาง

ใครจะว่าหรือไม่ว่าเขาก็ซื้อบื้ออยู่อย่างนั้นแหละ ไม่มีปัญหา เขาไม่เคยมีปัญหากับใคร เรานี่คอยมีปัญหากับเขาอยู่เรื่อย มีปัญหากับจิตบ้าง มีปัญหากับความคิดบ้าง เดี๋ยวก็คิดดี เดี๋ยวก็คิดไม่ดี เดี๋ยวก็คิดมาก ..."เอ๊ะ ทำยังไงถึงไม่ให้คิดมาก เอ๊ะ ทำไมถึงไม่คิด เอ๊ะ ทำไมคิดน้อยไป เอ๊ะ ทำไมมันไม่ยอมคิด" ... มีปัญหากับความคิด

ความคิดเขาไม่เคยมีปัญหา จะมาก็มา จะไปก็ไป จะมากก็มาก จะน้อยก็น้อย เรื่องของกู ไม่ใช่เรื่องของมึง เนี่ย ถ้ามันมีปากมันจะพูดว่าอย่างนี้ ... แต่สติก็คือให้คอยดู ระวัง เท่าทันในการที่จะเข้าไป...เกลือกกลั้ว คลอเคลีย ผลักดัน แทรกแซง พยุง หน่วง ประคอง รักษา ทำให้มาก ทำให้น้อย ทำให้มี ทำให้ไม่มี

เนี่ย ให้ระวัง สติให้เท่าทัน แล้วก็ยอมรับมันซะแต่โดยดี ยอมจำนนต่อมัน นี่แหละ เพราะอะไร เพราะเราเกิดมาภายใต้บ่วงแห่งกรรม ต้องอยู่กับวิบาก ต้องชดใช้มัน ยอมรับมันให้ได้ ด้วยจิตที่เป็นกลาง

แล้วก็จะผ่าน แล้วก็จะเข้าใจ...ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นเช่นนั้นเอง ...ไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก แต่ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง จะเกิดก็เกิดจะดับก็ดับ จะตั้งอยู่ข้ามปีก็จะตั้งอยู่ข้ามปี มีอะไรมั้ย...คือมันเป็นเช่นนั้นของมันเอง


โยม – โกรธข้ามปีก็ได้นะพระอาจารย์

พระอาจารย์ – เออ เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ต้องยุ่ง เอาดิ กล้าที่จะดูกับมันมั้ย มันกล้าเกิด กูก็กล้าดู ...อดทนได้มั้ย เด็ดเดี่ยวนะ ...ทุกข์นี่พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกให้ดับทุกข์เลยนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกให้รู้ทุกข์ ให้รู้เฉยๆ

ไอ้ที่ให้ดับ คือดับการกระทำด้วยอำนาจของตัณหา ท่านให้ดับการกระทำ การคิดต่อ การหาเรื่องหาราว ให้มันต้องมีการต่อเนื่อง พวกนี้เป็นปัจจัยของสมุทัยทั้งนั้น ท่านให้ละ อย่าไปขยันต่อเติมให้มัน หยุดซะ ยอมรับมันโดยไม่มีเงื่อนไข ...แล้วก็จะเห็นว่าสุดท้ายแล้ว มันก็แค่นั้นแหละ นะ 

แล้วต่อไปเวลาเรารู้ มันจะรับรู้ด้วยยิ้มน้อยๆ ที่ว่า ..."เฮอะ มันจะมีอะไรได้สักแค่ไหน" แค่นั้นเอง จะไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารว่ารับไม่ได้ ...คือจะได้หมดเลย ไม่เลือก



(มีต่อ แทร็ก 1/5)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น