วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/12




พระอาจารย์
1/12 (25530321A)
21 มีนาคม 2553



พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่าสตินี่ไม่ได้จำเพาะแค่ดูอาการของจิตอย่างเดียวนะ ...กายด้วย นะ ดูกายด้วย  อิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน ให้ดูด้วย ให้รู้ทันกับอิริยาบถ  

เพราะเวลาเราทำงาน ส่วนมากเราจะไม่ค่อยเท่าทันจิตหรอก  มันหายไปกับภายนอกหมด หายไปกับงาน ไปอยู่กับงานหมด ...ถ้าจะดึงกลับมาง่ายที่สุด หรือว่าให้สติที่ไวที่สุดก็กลับมารู้กาย 

รู้อยู่กับกาย กำลังนั่งอย่างนี้ รู้เฉยๆ  ยืนเดินนั่งนอน ขยับไม้ขยับมือ  ยิ่งเวลาเราเคลื่อนไหวนี่ มันจะเห็นชัด ใช่มั้ย สังเกตดู ...เพราะนั้นก็ให้มีสติระลึกรู้อยู่ที่กาย บ่อยๆ  ส่วนอารมณ์ก็ดูเวลามันชัดเจนขึ้นมา 

เพราะส่วนมากเวลาเราดูอารมณ์ แล้วเวลามันพลิกเป็นอารมณ์ปกติ สติมันจะไม่ค่อยอยู่ ... ดูได้แป๊บเดียวมันหายแล้ว มันหลุดไปแล้ว  แต่ส่วนมากมันจะเห็นในลักษณะที่มีอารมณ์ชัดเจนขึ้นมา

เพราะนั้นเวลาที่มันเป็นปกติ กลับมาดูแล้วมันไม่เห็นมีอะไรนี่...ให้รู้ที่กาย เข้าใจมั้ย ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะหาย   

โยม –  อ๋อ ค่ะ   

พระอาจารย์ –  ส่วนมากมันจะหลง พอรู้แล้วไม่มีอะไรจะให้ดูนี่ ...เคยเป็นรึเปล่า  

โยม –  เป็นบ่อยค่ะ  

พระอาจารย์ –  ดูแล้วไม่มีเห็นอะไร ไม่เห็นมีอะไรเลย  อารมณ์ก็ไม่มี เวทนาก็ไม่รู้สึกอะไรอย่างนี้ มันดูปุ๊บแล้วก็หายเลย เข้าใจมั้ย  อย่างนั้นน่ะเขาเรียกว่าดูแล้วหลงเลย แล้วมันหายไปนาน

เพราะนั้นถ้ารู้ว่าไม่มีอะไรปุ๊บนี่ กายยังมีอยู่เข้าใจมั้ย 

โยม –  ค่ะ  

พระอาจารย์ –  กายยังมีอยู่ ให้รู้กาย ให้รู้กายเป็นฐานก็ได้ ลักษณะกายก็เป็นปกติธรรมดา แล้วก็เดินไปเดินมาเฉยๆ นั่งเฉยๆ ไม่มีอะไรอย่างนี้ ...แต่ว่ากายมีอยู่ เข้าใจมั้ย

ไม่งั้นลอย ไม่งั้นสติมันจะลอย หรือเลื่อนลอย มันจะเลื่อนลอย ... จะเอาให้รู้จิตอย่างเดียว แล้วรู้ทรงความเป็นปกติเห็นความปกติแบบตลอดนี่...มันไม่ได้ เรายังไม่ใช่พระอริยะ ยังไงก็ยังทรงในความเป็นปกติทั้งรู้และเห็นพร้อมกันไม่ได้

เพราะนั้นเวลาดูส่วนมาก ปัญหาส่วนใหญ่คือ กลับมาดูแล้วไม่เห็นอะไร แล้วก็หาย คือหลงไปเลย  จะหลงเสียส่วนมาก คือเลื่อนลอย จะเกิดอาการเลื่อนลอย หรือเผลอ หรือเพลินกับไอ้ความที่ไม่มีอะไรนั่นแหละ

เพราะนั้นว่ายังไงก็ให้กลับมารู้ที่กาย...เป็นหลักด้วย ไม่ใช่ว่าสอนให้ดูจิตก็จะดูจิตลูกเดียว อย่างอื่นไม่ดู ...เอากายด้วย ดูทั้งกายทั้งจิตมันพร้อมกัน เพราะว่ามันชัดกว่า

แต่ว่าถ้ากลับมาอยู่บ้านอยู่คนเดียวนี่ มันจะเห็นจิตได้ชัดเจน เพราะว่าอาการการกระทำภายนอกมันจะไม่มีมาก ...แต่ถ้าเราทำงานนี่ ส่วนมากมันไม่ค่อยทันหรอก จะหาย 

พอกลับมาดูสักนิดนึงก็ดูแล้ว...ส่วนมากมันจะมาดูตอนที่ไม่มีอะไรให้เห็นน่ะ พอดูแล้วไม่มีอะไรมันก็ไม่ดูแล้ว หายเลย   กว่าจะมาดูอีกทีก็เป็นชั่วโมงหรือครึ่งค่อนวันค่อยมาดูอีกครั้ง อะไรประมาณนั้น

เพราะนั้นว่าถ้ามันหายไม่มีอะไรดู ให้ดูกาย รู้กายอยู่ อิริยาบถ การเคลื่อนไหว ยืนก็ได้ เดินก็ได้ ...รู้เฉยๆ ไม่ต้องคิด กายจะเป็นยังไงก็ไม่ต้องคิด ให้มันเป็นอิสระของมัน 

รู้อาการที่เป็นแท่งๆ ก้อนๆ  ทึบๆ หยุ่นๆ อย่างนี้ ...ไม่ต้องไปว่าอะไรหรอก หรือไปคิดว่ามันคืออะไร ไปหาเหตุหาผลกับกายอีก มันชอบคิดชอบหา ...ไม่ต้องคิด รู้เฉยๆ มันเพียงแค่อาการหนึ่งเท่านั้น

ยังสงสัยอะไรอีกมั้ย


โยม (อีกคน)  คือก็ได้จากสิ่งที่อาจารย์สอน ก็จะไปปฏิบัติต่อค่ะ ถ้ามีโอกาสก็จะมานมัสการ   

พระอาจารย์ –  จริงๆ ปัญหามันไม่มีหรอก เราไปมีปัญหากับมันเอง


โยม – อ๋อ ค่ะ     

พระอาจารย์ –  อย่าไปมีปัญหากับมัน เขาเป็นความจริงที่ปรากฏอยู่แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นจริงแล้ว ...มันจริงแล้ว  


โยม –  อ๋อ ไม่ต้องหาว่าจริงหรือไม่ 

พระอาจารย์ –  ใช่ มันจริงแล้ว ...เหมือนกับถ้าเราลุกขึ้นไปตบหัวโยม ถือว่าเหตุมันเกิดแล้ว เข้าใจมั้ย มันจริงแล้ว...มันจึงเกิดอาการนี้ขึ้นมา 

ไม่ต้องถามว่าเพราะอะไร ... มันเกิดก็คือเกิด แล้วมันตั้งอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็ดับไป แค่นั้นเอง ...อย่าไปหาเหตุหาผล อันนั้นมันเป็นอดีตเป็นอนาคตนะ     


โยม –   ค่ะ แล้วมันวนๆๆ วนกลับไปกลับมา กลับมากลับไป  

พระอาจารย์ –  ใช่ มันก็ทุกเรื่องน่ะ ...เอาแค่รู้ตรงขณะที่เกิด มันจริง ความเป็นจริงมันอยู่ตรงนั้น มันไม่ใช่ว่ามาจากไหน ...ไอ้นั่นเป็นอดีตเป็นอนาคต ไม่ต้องไปรู้มันหรอก 

รู้ของจริง ตามความเป็นจริง  ปัญญาแปลว่าเห็นตามความเป็นจริง...ในปัจจุบันนะ ไม่ใช่เห็นความเป็นจริงในอดีตหรือในอนาคตนะ

ไม่งั้นเรามาดูกาย ก็ต้องรู้ว่าก่อนเราเกิดมันเป็นยังไงวะ อย่างนี้ ไม่ต้องไปรู้มันหรอก ...เอาแค่ตอนนี้ กำลังนั่งอยู่นี่ ตรงที่มันอยู่นี่ ...ไม่ต้องไปดูตั้งแต่ก่อนเราเกิดว่ามันจากนั้นมาจากนี้ อย่างนี้ เข้าใจรึเปล่า 

อันนั้นมันเป็นเรื่องของอดีต มันจบไปแล้ว...รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ไม่เห็นเป็นไร ... แต่ว่ารู้ตรงนี้ ของจริงมันอยู่ตรงนี้เท่านั้น ทั้งกายและจิตมีอยู่แค่ปัจจุบัน หลุดจากปัจจุบันไปแล้วนี่จบแล้วนะ ไม่มีแล้ว นะ      


โยม –   ค่ะ 

พระอาจารย์ –  ถ้ามันตั้งอยู่ก็คือตั้งอยู่ แค่นั้นเอง ...แล้วก็อดทนดูกับมัน ต้องอดทนดู  อย่าไปเคลื่อน อย่าไปส่ายแส่ ...เข้าใจคำว่าส่ายแส่มั้ย หาเหตุผลนั่นแหละคือการส่ายแส่ ไม่เป็นสมาธิ ไม่ตั้งมั่น 

นี่มันดิ้น มันดิ้นๆ กระวนกระวาย อยากจะพยายามไปจัดสรรมัน...ไม่เอา ...เอาแค่รู้ รู้โง่ๆ รู้ซื่อๆ รู้บ่ดาย 


โยม –  เข้าใจแล้วค่ะ 

พระอาจารย์ –  แล้วก็ไม่ต้องไปหวังว่าจิตจะต้องเป็นยังไง เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา ...จิตดีก็ช่าง จิตไม่ดีก็ช่าง เรื่องของเขา  

เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป  จะให้จิตมันดีตลอดหรือว่าให้สงบตลอดเวลา มันเป็นไปไม่ได้ ...เป็นเรื่องของความคิดเอาทั้งนั้น

จิตไม่ดีก็เป็นอาการหนึ่ง จิตดีก็เป็นอาการหนึ่ง แค่ชั่วคราวทั้งคู่แหละ ... อย่าไปเอาว่าต้องได้อย่างนั้น หรือต้องไม่เป็นอย่างนี้    


โยม –  แค่คิดก็ปรุงไปแล้ว  

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง นั่นคือถูกหลอกแล้ว เราน่ะแหละหลอกเราเอง นะ ...มันหลอกด้วยความคิด มันจะสรรหาอาการ สรรหาอารมณ์ สรรหาสภาวะที่ดีกว่าตอนนี้มา  

จิตสังขารนี่มันเหมือนกับเซลส์แมน มันพยายามเสนอไง เสนอสินค้ามาให้เราเลือก ใช่ป่าว ...“ถ้าคุณทำอย่างนี้นะ เดี๋ยวได้เป็นอย่างนี้นะ ถ้าคุณไม่ทำอย่างนี้แล้วคุณจะได้อย่างนี้นะ” 

เห็นมั้ย มันจะคิดอย่างนี้แหละ แล้วให้เราเชื่อมัน  พอเชื่อปุ๊บก็ทำตาม ...นี่ มันจะไม่มีคำว่าหยุดได้เลย ไม่มีคำว่าจบได้เลยนะ

เพราะมันเดี๋ยวก็มีความคิดใหม่ๆ เดี๋ยวก็หาเรื่องใหม่ เดี๋ยวก็เอาความคิดของคนอื่นมา เดี๋ยวก็เอาในหนังสือมา เดี๋ยวก็เอาคำพูดของคนนั้นคนนี้มา ...มันไม่จบหรอก  

เอาแค่ว่ารู้เฉยๆ ตรงนี้พอแล้ว แล้วก็อดทนอยู่กับมัน ...สักพัก ชั่วคราวเท่านั้นแหละ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแล้ว อาการต่างๆ นี่ มันไม่คงที่หรอก

อดทนหน่อย ต่อสภาวะที่เกิดขึ้นหรือปรากฏขึ้น แล้วก็จะเห็นความไม่คงอยู่หรือว่าความไม่เสถียร ...ไม่ว่าดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม  ทุกข์ก็ตาม สุขก็ตาม  จะพอใจกับมันก็ตาม ไม่พอใจกับมันก็ตาม...มันจบในอีหรอบเดียวกันคือ...เดี๋ยวมันก็ผ่านไป

จะไปดิ้นรนอะไรกับมันมากมาย จะไปหาถูกหาผิดอะไรกับมัน ...จะถูกเดี๋ยวก็หายไป จะผิดเดี๋ยวก็หายไป จะพอใจกับมันเดี๋ยวก็หายไป จะไม่พอใจกับมันเดี๋ยวก็หายไป 

เหมือนกับโยมนี่ แสวงหาความสงบนี่ ...ถ้าสงบมาก็แค่นั้นน่ะ ได้แป๊บนึงเดี๋ยวก็หายไป  สงบใหม่ เดี๋ยวก็ได้อีกแป๊บนึงแล้วก็หายไป ...คือมันไม่มีอะไรสามารถจะคงอยู่ได้

อย่าไปเข้าใจว่าเราทำให้มันคงอยู่ได้ แค่คิดนี่ผิดแล้ว ... แล้วก็เชื่อความคิดน่ะมันจะทุกข์แล้ว จะทุกข์แล้ว คือมันฝืนกับธรรมชาติ  ...ธรรมชาติคืออะไร คือความเป็นจริงน่ะ  

พระพุทธเจ้าบอกว่าธรรมชาติคือความไม่เที่ยง คือความแปรปรวน คือความไม่สามารถจะคงอยู่ได้ แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา 

ท่านบอกว่าเป็นธรรมดาด้วยนะ ไม่ใช่ผิดปกตินะ ...มีแต่เราน่ะที่ไม่รู้จริง จึงเห็นว่ามันผิด


โยม –  จริงก็แค่นั้น ไม่จริงก็แค่นั้น ใจเราไปปรุงเอาจริง-ไม่จริง   

พระอาจารย์ –  แค่นั้นแหละ จะไปเอาถูกเอาผิดอะไรกับมัน เดี๋ยวมันก็ผ่านไปหมดน่ะ สุดท้ายมันกลายเป็นหาร่องรอยไม่มี ...เวลามันดับไป เห็นไหม มันเหลืออะไรมั้ย  


โยม –  ไม่เหลือค่ะ  

พระอาจารย์ –  อือ มันไม่มีตัวไม่มีตนหรอก  มันมีแค่ชั่วคราว...แค่นั้นเอง ประเดี๋ยวประด๋าว นะ ...เวลามันดับไป ก็ดูดิ หาร่องรอยหรือว่าหลักฐานยังไม่มีเลย แล้วจะไปอะไรกับมันนักหนา ...แค่นั้นเอง 
   
แต่เกิดอีกหลงอีก เกิดใหม่หลงใหม่ นี่คือความไม่รู้ เข้าใจมั้ย ...มันซ้ำซากอยู่อย่างนี้


โยม –  อ๋อ เพราะฉะนั้นการหาว่าจริง-ไม่จริง หาหลักฐานนี่ก็เป็นเรื่องของโลก ไม่ใช่เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของกาย ใช่ไหมคะ   

พระอาจารย์ –  ใช่ เขาจะเป็นยังไง เรื่องของเขา เข้าใจมั้ย  อย่าไปอะไรกับมัน สุดท้ายมันก็ดับ ...จะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม มันก็ดับไป ความรู้ก็ดับไป ความไม่รู้ก็ดับไป เข้าใจมั้ย 

เพียงแต่ว่าเราไปเลือก เรามีการตัดสินใจว่าเราจะเอายังไงหรือไม่เอายังไง ...ตรงนั้นน่ะคือเหตุให้เกิดทุกข์นะ

ถ้าเราจับประเด็นนี้ หรือว่าดู สังเกต เท่าทันมันบ่อยๆ นี่ เราจะอยู่กับมันโดยที่ไม่เป็นทุกข์ได้  เพราะเราจะไม่ก่อทุกข์ขึ้นมาใหม่ 

แต่อาการที่ปรากฏขึ้นนี่เรียกว่าทุกข์อยู่แล้ว มันเป็นทุกข์อยู่แล้ว เขาเรียกว่าทุกขสัจ มันมีอยู่ตลอด ...โยมเห็นพระอาทิตย์มั้ย    


โยม –  เห็นค่ะ

พระอาจารย์ –  พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก แล้วก็ตกทางตะวันตก ...โยมยอมรับกับมันได้มั้ย 


โยม –  ทุกข์มันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่เราไปหาแส่กับมันเอง    

พระอาจารย์ –  เออ โยมยอมรับกับพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตกใช่มั้ย ยอมรับได้ใช่รึเปล่า โยมมีปัญหากับมันมั้ย     


โยม –  (หัวเราะ) ไม่มีค่ะ   

พระอาจารย์ –  เออ  แต่ถ้าโยมมีปัญหากับมันเมื่อไหร่นี่ ...เข้าใจไหมๆ   


โยม –  ค่ะ  

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นตัวพระอาทิตย์ขึ้น-ตกนี่ เขาเป็นทุกข์โดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว 

แต่เรานี่ ถ้าเกิดไปว่า “ทำไมมันไม่ตกซะทีวะ” ...ตรงนี้ต่างหากที่เรียกว่าอุปาทาน ... แล้วจะไปบอกให้เขาตกเดี๋ยวนี้ได้ไหม เข้าใจมั้ย

ถ้ายังไปดิ้นรนทำให้มันตกนี่ เขาเรียกว่าไปฝืนธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้  หรือไปถามว่า “ทำไมมันต้องขึ้นวะ มันมาจากไหน ทำไมมันต้องขึ้นทุกวันๆ มันมาจากอะไร” นี่ เข้าใจมั้ย 

เขาไม่มีปัญหากับเรา แต่เราไปมีปัญหากับเขา ...เราจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม เขาก็ยังเป็นอย่างนี้  เพราะนั้นจะจริงก็ตาม คิดว่าจริงหรือคิดไม่จริงก็ตาม มันก็เป็นอย่างนี้ ...จะไปเอาอะไรกับมัน


โยม –   อ๋อ ค่ะ 

พระอาจารย์ –  เหมือนกัน อาการของจิต รู้ก็ตามหรือไม่รู้กับมันก็ตาม จะเข้าใจกับมันก็ตาม หรือไม่เข้าใจเลยว่ามันคืออะไรก็ตาม ...มันก็จะเป็นอย่างนี้ 

คือเดี๋ยวก็เปลี่ยนไป ขึ้นแล้วก็ตกๆ ...ใครจะมีปัญหากับมันทั้งโลก มันก็ยังขึ้นแล้วก็ตก เหมือนกับไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น เข้าใจมั้ย ...แค่ยอมรับตามความเป็นจริง แค่นั้นเองๆ 

อย่าไปมีปัญหาอะไรกับเขา เขาไม่มีปัญหาอะไรกับเรา นะ ... “เรา” น่ะแหละมีปัญหา “เรา” น่ะมีปัญหากับทุกเรื่อง ทั้งที่ทุกเรื่องนี่เขาไม่มีปัญหากับเรา

(เสียงวางของ) นี่ เอามาวางตรงนี้ ผิดหรือถูก ผิดป่าว


โยม –  ก็ไม่ผิด    

พระอาจารย์ –  เออ เขาบอกว่าเขาผิดไหมนี่ เขาบอกไหมว่าเขาถูก นี่ เข้าใจไหม ...แต่ถ้าเราบอกว่า “ไม่สมควรวางตรงนี้” เรามีปัญหากับมันแล้วนะ

แต่ว่าในความเป็นจริงเขาไม่ได้ว่าอะไร ...เขาไม่ได้คืออะไร เขาเป็นแค่อาการแค่ชั่วคราวที่ปรากฏอยู่แค่นั้นเอง เดี๋ยวก็เปลี่ยนๆ ตามเหตุปัจจัย 

จะไปมีปัญหาอะไรกับมันมากมาย จะต้องไปสอบสาวราวเรื่องว่ามันมาตั้งอยู่อย่างนี้ได้ยังไงวะ ...เอาเป็นว่าตอนนี้มันตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่     


โยม –  แสดงว่าเราไปติดบัญญัติใช่ไหมคะ มันเป็นบัญญัติ เราไปติดบัญญัติเอง   
 
พระอาจารย์ –  ถูกต้อง เพราะว่าเราเรียนรู้มาด้วยการจดจำ แล้วก็คิด หาเหตุหาผล รู้คิด รู้จำ กับรู้จริง ...ไอ้รู้จริงนี่ไม่ค่อยรู้หรอก แต่ส่วนมากมันจะรู้ไปตามความคิดกับรู้ไปตามความจำซะส่วนมาก

คือไปให้ความสำคัญกับรู้จำกับรู้คิด รู้จริงนี่มันไม่ค่อยให้ความสำคัญ ...สตินี่จะต้องกลับมารู้จริง คือรู้ตรงๆ นี่ๆๆ (เสียงสัมผัส) รู้จริงๆ อาการของจิตเป็นอย่างนี้ก็รู้เฉยๆ ...นี่รู้จริง ของจริงมันเกิดขึ้น

แต่พอรู้จริงปั๊บ มันจะมีจำกับคิดตามมา ...แล้วพอเริ่มรู้จริง เห็นว่าโกรธ ขณะนี้กำลังโกรธ หรือว่าหงุดหงิด  มันไม่ค่อยรู้อยู่แค่หงุดหงิด เดี๋ยวก็... “ทำไมถึงหงุดหงิดวะ” 

นี่ เริ่มรู้จำแล้วก็รู้คิดแล้ว เข้าใจมั้ย  เริ่มมีบัญญัติ เริ่มมีสมมุติ เริ่มหาเหตุหาผล  จำกับคิดเริ่มเกิดแล้ว สังขารจิตเริ่มปรุงแต่งแล้ว อุปาทานขันธ์เริ่มเกิดแล้ว ...แล้วมันจะดึงเราออกไปเรื่อยๆ

ไอ้รู้จริงตอนแรกนี่มันจะไม่จริงแล้ว เข้าใจมั้ย  มันจะเริ่มไม่จริงแล้ว มันจะไปหาความจริงยิ่งกว่านี้แล้ว ...คิดเอาเองทั้งนั้นนะ 

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเขามีอยู่แค่เนี้ย...เท่าที่เรารู้ตอนแรกน่ะแหละ ใช่แล้ว ... มันเป็นแค่นั้นน่ะ มันไม่รู้หรอกมันเป็นอะไร แม้แต่ชื่อมันยังไม่รู้เลยว่ามันโกรธ บอกให้เลย


โยม –  อ๋อ ค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ  

พระอาจารย์ –  เป็นสักแต่ว่าอาการหนึ่งแค่นั้นเอง เขาไม่ได้บอกเลยว่าเขาคือโกรธ เขาไม่ได้บอกเลยว่าเขาคือดีใจ เขาไม่ได้บอกเลยว่าเขาสุข เขาไม่ได้บอกเลยว่าเขาคือทุกข์ เข้าใจมั้ย     


โยม –  เข้าใจค่ะ  

พระอาจารย์ –  เราว่าเอาเองนะ แล้วก็หลงเองทั้งนั้น  คิดว่ามันเป็น คิดว่ามันใช่ ใส่ชื่อให้มันเสร็จ  พอใส่ชื่อว่าโกรธปุ๊บ...ไม่ดี เห็นมั้ย ...ใช่มั้ย 

พอจำได้ว่าเป็นโกรธปุ๊บ มันจะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเขาบอกว่าโกรธแล้วมันไม่ดี ...เริ่มเชื่อตามสมมุติบัญญัติแล้ว แล้วก็หาทางแก้แล้ว หาทางทำให้น้อยลงแล้ว

แต่ถ้ารู้เฉยๆ นี่ ...เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา นะ

ก็ค่อยๆ ...มันต้องค่อยๆ ปรับความเห็นไปเรื่อยๆ  ครั้งเดียวยังไม่สามารถจะชัดเจนอะไรได้ ต้องอดทนหน่อย ...มันเป็นสันดานน่ะ พูดง่ายๆ เข้าใจมั้ย มันเป็นอนุสัยที่สะสมมา ความแรงของจิตน่ะ   

โยม –  คนรอบข้างนี่ก็จะรู้สึก  

พระอาจารย์ –  มันแข็งเลยน่ะ ก็ค่อนข้างที่จะต้องอดทน ...แล้วมันจะปรับสมดุลไปเรื่อยๆ   


(ต่อแทร็ก 1/13)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น