วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/14 (1)


พระอาจารย์
1/14 (25530321C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
21 มีนาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กยาวค่ะ แบ่งโพสต์ 2 ช่วง)

โยม –  ขอกราบค่ะหลวงพ่อ ...ถ้ามันอยู่ในสภาพบ้านช่องกับเขานี่ คือมันก็สะดวกสบายไปซะหมด ไอ้กิเลสมันก็มีว่า...ทีวีนะ น้ำร้อนน้ำเย็นนะ ของกินนะ อะไรอย่างนี้ อะไรก็อำนวยความสะดวกไปซะหมด สันดานกิเลสมันก็คงเป็นอย่างนี้มาหลายภพหลายชาติแล้ว 

ทีนี้ชาตินี้เรารู้มันแล้วนี่ เราจะตัดใจเข้าวัดไปเลย หาที่ อย่างวัดหลวงตาบัว สมมุตินะคะ ไปอาศัยร่มเงาที่วัดนั้นแล้วเป็นแม่ชีไป อย่างนี้มันจะได้ไปพ้นๆ ดีไหม

พระอาจารย์ – ไม่ดี    

โยม (ลูกสาว)   เขาคิดอย่างนี้มาตลอดเลยค่ะ ทุกปีจะต้องหาวัดอยู่ ...ใกล้ๆ พรรษาจะคิดอีกแล้ว ไปอยู่วัดไหน  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปเปลี่ยน   


โยม –  หาวัดอยู่ ... เพราะมันไม่พัฒนารวดเร็วเลย มันก็สารพัดร้อยแปดของมัน   

พระอาจารย์ –  มันเป็นเรื่องที่เราคิดเอาเองนะ 

โยม –  แต่เดี๋ยวนี้มันคิดแล้วมันไม่อยู่กับเรานานหรอก แต่ว่ามันคิดน่ะ   

พระอาจารย์ –  อือ อย่าไปคิด   

โยม –  มันว่ามันจะได้ไปเร็วๆ     

พระอาจารย์ –  ไม่เร็วหรอก 

โยม –  ไปให้สิ่งแวดล้อมบังคับอะไรสารพัด กิเลสมันดื้อด้าน  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องหรอก ...ถ้ามันจะไป มันจะต้องไปตามเหตุปัจจัย เข้าใจมั้ย มันต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย 

โยม –  เหตุปัจจัยนั้นไม่ใช่เราไปเองหรือคะ 

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ...ไม่ใช่เพราะเราอยากหรือไม่อยาก  ไอ้อย่างนี้มันอยากใช่ป่าว อยากไป   

โยม –  ก็อยากไปให้มันได้ดีน่ะค่ะ    

พระอาจารย์ –  เออ นี่แหละ เรื่องของตัณหา ...อยากน่ะเรียกว่าเป็นตัณหารึเปล่าล่ะ ใช่มั้ย ถ้าทำตามความอยากนี่  

โยม –   ก็ทำไมสมัยพระพุทธองค์ถึงได้หาป่าอยู่กันทุกองค์ล่ะคะ ทำไมไม่อยู่สุขสบายในบ้านล่ะคะ เพราะกิเลสมันไม่ดี  

พระอาจารย์ –  เริ่มต้นๆ   

โยม –  ใจมันก็สั่งแต่ว่า ต้องไปอยู่ที่มันห่าง ที่มันไม่มีอะไรเลย  ดัดให้มันเข็ด  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องเชื่อหรอก ไม่ต้องเชื่อมัน อย่าไปเชื่อ ...อยู่เดี๋ยวนี้  

โยม –  แล้วรู้ไปกับประจำวันของมัน

พระอาจารย์ –  พอแล้ว  

โยม –  มันฟุ้งเฟ้อยังไงก็ช่างมัน   

พระอาจารย์ –  อยู่กับมัน ให้รู้อยู่ ...จะทำอะไรก็ได้ ไม่ทำอะไรก็ได้  ... ถ้ามันจะออกไปนะ มันจะมีเหตุปัจจัยของมันเอง เลี่ยงไม่พ้นเลย

โยม –  เราไม่ต้องสวดมนต์ภาวนาอะไร 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง    

โยม –  เห็นมันอย่างนั้นน่ะ

พระอาจารย์ –  มันจะเลี่ยงไม่ได้เลยๆ มันเป็นไฟท์บังคับ มันจะส่งผลมาเอง   

โยม –  ก็เห็นกิเลสตัณหามันอยู่ทุกวี่ทุกวัน เห็นมันร้อยแปดพันอย่าง เห็นมันตลอด 

พระอาจารย์ –  ดีแล้วที่เห็น บางคนเขาไม่เห็น ยิ่งแย่กว่านี้อีก

โยม –  เห็นมันจนที่ว่า...นี่ล่ะ จะเอามันไปให้เข็ดหลาบ เอาให้มันแบบไม่มีอะไรจะกินจะใช้ จะอะไรเลย

พระอาจารย์ –  มันเป็นแค่ความคิด ...เป็นเรื่องของความปรุงแต่ง   

โยม –  มันไหลมาที่สมอง ว่ามันคงสุขสบายมาทุกชาติ เราจะไปจัดการกับมัน

พระอาจารย์ –  อือ จะไปแก้มัน ไปคิดเอา คือไปวาดวิมานในอากาศ


โยม –  แต่นั่นคือความทุกข์ไม่ใช่หรือคะ ที่เราจะไปเข่นฆ่ากับกิเลสนี่ ...เราจะไปไม่ให้มันมีทิชชู่ใช้อย่างนี้ ยกตัวอย่าง จะไปให้มันไม่มียาสีฟันใช้ เอามือถูเอาอะไรอย่างนี้ ในป่าไม่มีข้าวกิน แล้วก็ให้มันตายไปพร้อมกับมันอย่างนั้น ไม่ดีหรือคะ   

พระอาจารย์ –  สุดโต่ง  

โยม –  อ้าว มันก็ดีสิคะ เผื่อมันจะปิ๊งไปเลย 

พระอาจารย์ –  ไม่ไปอ่ะ ...ไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่เป็น    

โยม –  อ้าว เป็นอย่างงั้นอีก  

พระอาจารย์ –  จะไปหาไอ้ที่มันคิด เขาเรียกว่าวาดวิมานในอากาศ  คิดเอาเองนะนี่    

โยม –  คิดเอาเองเพราะว่าเห็นในอดีตนั่นไงคะ สมัยพุทธกาลท่านต้องออกไปหาอะไรอยู่ในป่า ที่เป็นเศรษฐีอยู่ก็ไม่ชอบ    

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ก็ยังเป็นแค่ความคิด บอกให้เลย  เข้าใจมั้ย คิดเอาเอง แล้วก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคิดอยู่ นะ ...อย่าไปตามความคิดความปรุงแต่ง นี่คือความปรุงแต่ง เป็นอนาคต 

โยม –  ทิ้งอย่างก็ยังมีเหลืออย่างๆ   

พระอาจารย์ –  ยอมรับ ของปัจจุบันให้ได้ก่อน ไม่ใช่มีชีวิตเพื่ออยู่ในอนาคต...ไม่เอา  มีชีวิตต้องอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่มีชีวิตเพื่อไปรอว่าอนาคตจะเป็นยังไง หรือจะได้เป็นอะไร นะ มันเลื่อนลอย ที่เราพูดเมื่อกี้ไง   


โยม –  แต่อันนั้นเป็นบทเรียนที่สอนมาแต่พุทธกาลว่าเขาทำอย่างนั้นแล้วเขาได้ดี    

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง นี่แหละคือสังขารธรรม ...เข้าใจคำว่าสังขารธรรมมั้ย  

สังขารธรรมคือหมายความว่าคิดว่าการปฏิบัติแล้วจะได้ดี  ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้ผลดี ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะดี ไม่ทำอย่างนี้แล้วจะดี ถ้าเราละตรงนี้แล้วมันจะได้อย่างนั้น ไม่ละตรงนี้แล้วจะไม่ได้ตรงนั้น ...เนี่ย แล้วเราพยายามจะทำตัวเองให้เป็นอย่างนั้น

เรียนรู้กับปัจจุบัน พอแล้ว บอกแล้วไง เท่าที่มี เท่าที่เป็น...พอแล้ว พอก่อน นะ ...ต้องรู้จักคำว่าพอ ต้องรู้จักคำว่าพอดี ต้องพอดีกับปัจจุบันก่อน 

อย่าคิดว่าเดี๋ยวนี้ไม่ดี เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เดี๋ยวนี้ไม่ได้ ต้องยอมรับปัจจุบันให้ได้ก่อน เรียนรู้กับมันให้ถ่องแท้ ...แล้วมันจะมีมรรคาของมันเอง วิถีของมันจะเป็นไปเอง ...ไม่ใช่เราเป็นผู้กำหนดขึ้นมาตามความอยาก

เพราะนั้นไอ้ที่ความอยากมันเกิดขึ้น เพราะเราจดจำมา ได้ยินได้ฟังมา ว่าต้องทำอย่างนั้น ทำตัวอย่างนี้ มันถึงจะเป็นไปเพื่อธรรม เป็นธรรม ได้ธรรมเร็วขึ้น  

นี่มันจดจำมา ...แล้วเอามาเป็นตุเป็นตะ ยึดมั่นถือมั่น ว่าต้องอย่างนั้นจึงจะได้ ถ้าอย่างเราตอนนี้ไม่ได้แน่เลย ...เห็นมั้ย นี่คือไปสร้างอุปาทานในความฝันน่ะ

โดยอ้างเอาว่า...อ้างตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาเลยแหละ ว่าสอนไว้ พูดไว้  ครูบาอาจารย์บอกไว้อย่างนี้ๆ ...มันเป็นตุเป็นตะไปหมด ...แต่เราบอกแล้วไงว่า จริงรึเปล่า 

พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกเลยนะว่าให้เชื่อเพราะว่าอาจารย์บอก ...เคยได้ยินมั้ยกาลามสูตรน่ะ อย่าเชื่อเพราะว่าเป็นครูบาอาจารย์สอนกันมา อย่าเชื่อว่าประเพณีนิยมทำต่อๆ กันมา อย่าเชื่อว่ามันเป็นตรรกะเหตุและผลอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าเชื่อว่าเพราะว่าพิจารณาดีแล้ว เห็นมั้ย    


โยม –  ขนาดพิจารณาดีแล้ว นั่นยังเป็นการปรุงแต่งมาพิจารณาดี

พระอาจารย์ –  ถูกแล้ว พระพุทธเจ้าบอกอย่าไปเชื่อ เข้าใจมั้ย มันจะมีข้ออ้าง   

โยม –  มีเหตุปัจจุบันที่เกิดขึ้นและทำเอง ที่มันเกิดขึ้นเอง ให้เชื่อแบบนั้น  

พระอาจารย์ –  ให้รู้ตรงนี้ เท่าที่รู้อยู่เดี๋ยวนี้ ยอมรับเท่าที่มีเท่าที่เป็นก่อน แล้วมันจะเชื่อได้ ...อย่างเดียวที่พระพุทธเจ้าให้เชื่อได้คือปัจจัตตัง      

โยม –  อ๋อ มันจะรู้ด้วยตัวมัน 

พระอาจารย์ –  ด้วยตัวของมันเอง ...ไม่ใช่รู้ด้วยความปรุงแต่งขึ้นมา หรือว่ารู้จำรู้คิด ...เราพูดสั้นๆ เมื่อกี้ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองท่านยังไม่ให้เชื่อ 

โยม –  รู้จำรู้คิดนี่ทิ้งไปเลย   

พระอาจารย์ –  ทิ้งเลย ทิ้งได้ทิ้งเลย เข้าใจมั้ย   

โยม –  มันเป็นเรื่องของทางโลก    

พระอาจารย์ –  เป็นเรื่องที่พูดง่ายๆ คือเป็นมายาของจิต หรือว่าเป็นของที่ไร้สาระ บอกให้เลย ...แต่สาระจริงๆ เรากลับหนีมัน ใช่ป่าว พยายามจะหนีจากความเป็นจริง

ก็เดี๋ยวนี้ตัวตนเอง ตัวตนของเรามีอยู่ตรงนี้ นั่งอยู่ตรงนี้  มีบ้าน มีลูกอยู่ตรงนี้ นี่คือตัวตนแท้จริง  แต่เราจะหนีมัน หนีความเป็นจริง...ไปหาอะไรก็ไม่รู้ 

จริงรึเปล่าก็ยังไม่รู้ จะได้จริงรึเปล่าก็ยังไม่รู้ ...แต่เชื่อแล้ว ตัดสินแล้วว่าใช่  เพราะว่าอ่านมาพระพุทธเจ้าสอนมา ครูบาอาจารย์บอกมา เชื่อหมด

นี่เชื่อตามกาลามสูตรรึเปล่า เชื่อแบบสีลัพพตปรามาสรึเปล่า เชื่อแบบค่านิยมรึเปล่า เชื่อแบบว่าเขาทำกันมาอย่างนี้ เห็นตามกันมาๆ ...เชื่อแล้ว 

แต่ถามว่าจริงรึเปล่า ยังตอบไม่ได้เลยนะ คาดคะเนเอานะ ...จริงรึเปล่า ยังไม่รู้  แต่คิดว่าน่าจะจริง น่าจะใช่ แน่ะ เป็นการคะเนเอานะ

แต่จริงๆ เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ อันนี้เขาแสดงอยู่ทนโท่ ...ไม่ยอมรับ หนี เห็นมั้ย จะหาภพใหม่ 

นี่ ...เมื่อกี้ก็เพิ่งพูด นี่คือภพ...ภพของนักบวชขึ้นมาแล้ว วาดฝันไว้เลย...ฝันหวานเลยนะนี่ โกนหัวแล้ว ไม่มีอะไรใช้แล้ว จะต้องเป็นธรรมแน่นอน ไวที่สุดแล้ว

นี่คือมีเวทนาที่รองรับแล้วนะ ความรู้สึกนี้ ผลจะต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือภพชาติใหม่ที่ฝันไว้แล้ว แล้วก็จิตมันมีการมุ่งออกไปข้างหน้า เห็นมั้ย

ชีวิตตรงนี้ไม่อยู่ ไปอยู่มุ่งออกไปข้างหน้า ...อะไรก็ไม่รู้ ลมๆ แล้งๆ นะนั่นน่ะ ไม่มีตัวไม่มีตนนะนั่นน่ะ แต่คิดว่ามรรคผลต้องอยู่ตรงนั้นแน่ๆ เลย ...เป็นมรรคผลในความฝันแล้วมั้ง ...อย่าไปเชื่อมัน อยู่อย่างนี้ นะ


โยม –  ต้องทำไปตามขั้นตอน 

พระอาจารย์ –  ทุกสิ่งทุกอย่าง ...เราบอกแล้ว เราพูดเรื่องปัญญาวิมุตินะ ที่เราสอนนี่...ที่โยมทำอยู่อย่างนี้คือปัญญาวิมุตินะ 

บอกให้เลย การกระทำ...ถ้าเจริญโดยปัญญาวิมุตินะ ...ไม่ได้ปรารภกับการกระทำภายนอกเลย ไม่เกี่ยวเลย  ...ถ้าเป็นลักษณะของเจโตกึ่งปัญญาวิมุติ โอ เค อย่างนี้เหมาะ สมควร ใช่ป่าว

โยม –  เราไม่เอาเจโต   

พระอาจารย์ –  ก็รู้อยู่แล้ว เพราะนั้นไม่ได้ปรารภที่การกระทำภายนอกเลย ไม่ได้ปรารภเลยว่าจะเป็นฆราวาสแล้วสำเร็จมรรคผลไม่ได้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ไม่เกี่ยวเลย ไม่ขึ้นกับเปลือกที่ห่อหุ้มนี้เลย

โยม –  ไม่เกี่ยวกับภายนอก  

พระอาจารย์ –  เปลือกที่ภายนอกถือว่าเป็นปัจจัยสงเคราะห์จิตเท่านั้น 

โยม –  สำคัญที่ตัวนั้น ตัวที่เรียกว่าจิตนั่น 

พระอาจารย์ –  เออ ตัวที่รู้อยู่นั่นแหละ   

โยม –  จะไป-ไม่ไป อยู่ตัวนั้น 

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ...ไม่ได้เกี่ยวข้องเลยกับเปลือก นี่คือเปลือก  

แต่อย่างเรา ที่มาสอนมาเป็นอย่างนี้ มันมีไปตามเหตุปัจจัย ...เราเป็นอย่างนี้ตามเหตุปัจจัย  เราทำมาอย่างนี้ เรามีหน้าที่อย่างนี้ เราจะต้องทำกับผู้อื่นอย่างนี้ เราจึงต้องมาเป็นโดยเหตุและปัจจัย

ถ้าเราไม่มีเหตุปัจจัยอันนี้ หรือว่าไม่มีหน้าที่ที่ต้องอย่างนี้ เราไม่ต้องบวชเลย เราสบายที่สุดเลย บอกให้เลย ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใครด้วยซ้ำ อยู่มันคนเดียวนี่ ไม่ต้องกลัวอะไรหรอก จะสึกเมื่อไหร่ก็สบายเลย

เรานี่สึกก็ไม่มีปัญหานะ ไม่ได้ขึ้นเลยนะว่าสึกไม่ได้ หรือว่าสึกแล้วจะแย่ ...ไม่มีแย่หรือไม่แย่แล้วน่ะ จะสึกก็ยังได้ ไม่มีปัญหาเลยว่าจะต้องบวชอยู่รึเปล่า 

แต่มันอยู่ด้วยหน้าที่ เข้าใจมั้ย มันเป็นปัจจัยต่อเนื่อง เหตุปัจจัยมันเป็นผลมาอย่างนี้

เพราะนั้นว่าภพมันมีอยู่แล้ว เนี่ยๆๆ เข้าใจมั้ย อันนี้คือความเป็นจริง ...ต้องยอมรับความเป็นจริงให้ได้ ไม่งั้นน่ะจะไปทุกข์กับสิ่งเลื่อนลอยน่ะ ทุกข์กับสิ่งที่ยังจับต้องไม่ได้ วาดฝันไว้เลยน่ะ ฝันหวานๆ

จริงๆ แล้วน่ะมีหลายคนที่มาหาเรา แล้วบอกว่า ฟังแล้วดี ฟังแล้วศรัทธา อยากจะบวช อยากจะเป็นพระ  ...เราบอก หยุดเลย อย่าเพิ่ง ให้กลับไปดูความอยากบวชก่อน ให้กลับไปดูความไม่อยากเป็นฆราวาสก่อน

แล้วจะเห็นว่าจริงๆ แล้วมันสำคัญหรือไม่ตรงไหน ...อย่าเพิ่ง อย่าเพิ่งคะเนเอา คิดเอา วาดฝันว่าบวชแล้วจะดีกว่านี้ บวชแล้วจะเร็วกว่านี้ ไปอยู่คนเดียวแล้วจะเร็วกว่านี้ ...อาจจะโง่ลงก็ได้ อาจจะติดข้องมากขึ้นก็ได้   
  
โยม –  บ้าไปเลย 

พระอาจารย์ –  เออ ทำไมไม่คิดในแง่นั้นบ้างล่ะ 


โยม –  พระอาจารย์คะ บางทีมันเหมือนกับจะขาดสติไปเลย บางที่มันจะอะไรไม่รู้ แต่มันแค่นั้น ...ดีที่ตามรู้ทันแล้วมันดับไป

พระอาจารย์ –   ของเก่า เรียนรู้ไป ...เป็นวิบาก พวกนี้  อะไรที่เกิดขึ้นคือวิบาก ทำไมถึงเป็นผู้หญิง นี่คือวิบาก  ทำไมถึงเป็นผู้ชาย นี่คือวิบาก  ทำไมจะต้องมีลูกคนเดียวเป็นผู้หญิง  พวกนี้ต้องรับผลอย่างนี้ 

นี่คือผลที่ต้องรับ นี่คือวิบาก ...แต่เราไม่ค่อยยอมรับ จะหนีลูกเดียวน่ะ จะตัดลูกเดียวน่ะ ...ไม่ต้องตัดหรอก  อยู่กับมัน แล้วก็วางที่ใจ ทุกอย่าง...รู้ที่ใจแล้วก็ละที่ใจ 

อย่าไปละที่อื่น ...ไม่งั้นน่ะโยมจะต้องใช้เวลาอีกหลายชาติ บอกให้เลย  เพราะมันจะไม่มีทางสมบูรณ์ได้เลย ถ้าไปคอยละเลิกภายนอก  

โยม –  เจ้าค่ะ    

พระอาจารย์ –  สมมุติว่าโยมไปอยู่ที่บวช ได้บวชไปอยู่ป่านะ เดี๋ยวโยมจะต้องมีคนมาบอกว่า ต้องไปที่โน่นถึงจะดีกว่าที่นั้น ต้องไปหาอยู่กับอาจารย์องค์นี้แล้วจะดีกว่านี้

แล้วโยมก็จะเหรอๆๆ แล้วก็จะไป แล้วก็จะหา แล้วก็ “โอ้ย ทำแค่นี้ยังไม่พอ ต้องยิ่งกว่านี้”  ...ไม่มีทิชชู่เหรอ ต่อไปไม่ต้องมีอะไรใช้เลย (โยมหัวเราะ) 

มันจะมีอะไรที่มาเสนอแนะให้ดียิ่งกว่านี้ไปเรื่อยๆ แล้วโยมจะไม่รู้จักพอเลย    


โยม –  ต่อให้ไม่มีอะไร ก็ยังจะไม่รู้จักพออีก  

พระอาจารย์ –  ถูกต้องๆ  เพราะมันจะมีการดิ้น ไปแก้ ไปหาอยู่ตลอด ...ภพจะไม่มีคำว่าพอเลย ถ้าไม่หยุดตั้งแต่เดี๋ยวนี้ 

โยม –  มันละเอี๊ยดละเอียด บางทีน้ำตาจะร่วง มันช่างละเอียดลออขนาดนี้อะไร   

พระอาจารย์ –  เรียนรู้กับมันไป นะ ให้มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ...ถึงเวลาจริงๆ น่ะ ไม่อยากบวชมันก็ต้องบวช  ไม่อยากอยู่ เดี๋ยวมันก็ต้องอยู่คนเดียว บอกให้เลย  

อย่างหลวงตาบัวนี่ ไปอ่านดู ประวัติเพิ่นน่ะ ตั้งแต่เด็กไม่ชอบพระ ไม่อยากบวช ...ที่บวชเพราะพ่อแม่ขอร้อง น้ำตาไหล  ถึงเอาวะ บวชก็บวช ก็เลยจำเป็นต้องบวชเพราะเห็นแก่พ่อแม่ กลัวทำกรรมกับพ่อแม่ แล้วก็กะว่าจะบวชแค่ไม่นานก็จะสึก ...จนป่านนี้ ยังไม่สึกเลย

เห็นมั้ย ไม่อยากบวชนะนั่นน่ะ แต่เหตุปัจจัย...เข้าใจความหมายของคำว่าเหตุปัจจัยมั้ย  มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามความอยากหรือไม่อยาก มันจึงจะเป็นโดยธรรมชาติ โดยเป็นกลางๆ นะ

เราไม่ได้ปฏิเสธรูปแบบของการบวช เราไม่ได้ปฏิเสธการที่ว่าอยู่แบบสันโดษ หรือว่าเท่าที่มี เท่าที่เป็นเข้าใจมั้ย ...แต่เราปฏิเสธการทำตามความอยากหรือไม่อยากต่างหาก เราไม่แนะนำ นะ เราแนะนำว่าให้รู้อยู่


โยม –  จิตมันจะเป็นยังไงก็รู้มัน    

พระอาจารย์ –  ดูมันไป แล้วก็ละมันตรงนี้   

โยม –  ดูมันไป  

พระอาจารย์ –  ชอบก็รู้ว่าชอบ สบายก็รู้ว่าสบาย รู้มันเข้าไป 

โยม –  ตามใจมันก็รู้ว่าตามใจมัน

พระอาจารย์ –  รู้มันเข้าไปๆ ไม่ต้องกลัวหรอก  ถ้ามันยัง...ถ้าเหตุปัจจัยแวดล้อมนี่ มันยังไม่พอดีกับธรรมภายในเมื่อไหร่ มันจะมีเหตุปัจจัยมาสงเคราะห์เอง    

โยม –  อ๋อ สาธุ เข้าใจแล้วค่ะ  

พระอาจารย์ –  สมมุติว่า ตอนนี้โยมเป็นปุถุชน แล้วพอทำๆ ไป ดันเป็นอนาคาปุ๊บขึ้นมา มันจะมีเหตุปัจจัยมาเอง ให้จะต้องมีเหตุให้จะต้องไปอย่างนั้นอย่างนี้ 

หรือว่าจะต้องไปมีบ้านมีเรือนอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะมีเหตุปัจจัยของมันเอง นะ ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้กำหนดขึ้นมา หรือเราเป็นผู้ลิขิตขึ้นมา ว่าเป็นวิถีของเรา ...มันไม่ใช่ของเรา วิถีไม่ใช่ของเรา   


โยม –  เส้นทางสายนี้มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย   

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด  สิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดตามมา  สิ่งนี้เกิดแล้วก็สิ่งนี้ก็เกิด  เป็นเรื่องของปัจจยาการต่อเนื่อง  ไม่ใช่เราทำให้เกิด หรือเราทำให้ดับ “เรา” ... ไม่เกี่ยว 

อย่าเอา "เรา" มาเป็นผู้บงการ อย่าเอา "เรา" มาเป็นตัวตัดสิน อย่าเอา"เรา" มาเป็นตัวกำหนดวิถีหรือการดำเนิน ...มันเป็นการดำเนินไปของกายกับจิต


อย่างโยมก็ไม่ได้อยากมีความสุขหรอก แต่มันมีเอง  โยมไม่ได้อยากสบาย แต่มันมีน่ะ  

(ต่อแทร็ก 1/14 ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น