วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/13 (2)


พระอาจารย์
1/13 (25530321B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

21 มีนาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 1/13 ช่วง 1)

โยม –  ขออธิษฐานเถอะ   

พระอาจารย์ –  อย่าไปอธิษฐานอะไรทั้งสิ้น (หัวเราะ) อย่าไปปรุงต่อ หือ ...เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น พอแล้ว นะ  ข้างหน้าไม่เอา อนาคตไม่เอา ...อยู่เดี๋ยวนี้ ...ความปรุงแต่งทั้งนั้น อย่าไปหลงตามมัน 

ส่วนมากมันจะเอาธรรมมาเป็นข้ออ้าง จำไว้อย่างนึงนักปฏิบัติ...สิ่งใดดี สิ่งใดเป็นธรรม เราจะโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการปรุงการคิดได้ ...ด้วยความเคยชินน่ะ โดยอ้างว่าเป็นธรรม

ธรรมก็ไม่เอา มรรคก็ไม่เอา ผลก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา เอาเดี๋ยวนี้ แค่นั้นพอแล้ว  รู้เดี๋ยวนี้..ละเดี๋ยวนี้ พอ  รู้เฉยๆ อยู่แค่นี้ พอแล้ว  อย่าไปเติม อย่าไปเกิน นะ ...เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น 

นี่แหละ ที่โยมถาม...จะเอาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ไวที่สุด ต้องอยู่ตรงนี้เท่านั้น ถ้าจะเอาไวน่ะ     


โยม –  หลวงพ่อคะ แต่บางวันนะมันก็เหมือนคนที่ไม่รู้จักปฏิบัติเลย มันก็เหมือนกับว่า เอ๊ะ มันเสื่อมไปหมดแล้วมั้งเนี่ย เราไม่รู้จักอะไรเลยหรือนี่ 'ทำไมเราโมโห'  แต่มันก็หายไป ตัวที่เราโมโห จับได้ โมโหรุนแรง ความไม่พอใจรุนแรงอะไรอย่างนี้ แล้วก็หายไป แต่มันก็ยังเป็นรุนแรงอยู่บางที  แต่มันก็อยู่ในใจแค่นั้น 

พระอาจารย์ –  ช่างมัน อย่าไปสงสัย แค่รู้ว่ามันมีก็คือมี  อย่าไปบอกว่าทำไม ...บอกแล้วไง จำไว้อย่างนึง การรู้นี่ what when where why how ...ไม่เอา

โยม –  ไม่ต้องเลย  

พระอาจารย์ –  เออ อย่าเอามาเป็นปัญหา แค่รู้เฉยๆ  จะมากก็ช่าง จะน้อยก็ช่าง จะบ่อยก็ช่าง จะไม่มาเลยก็ช่าง จะนานก็ช่าง จะเร็วก็ช่าง แค่รู้...รู้แค่รู้ นะ ...แค่รู้กับมัน อย่ารู้ไปกับมัน อย่าไปไปกับมัน อือ ...แค่รู้อยู่     


โยม –  บางทีไปกับมัน ...สมมุติว่าทางร้อยเมตร ไปกับมันว่าสักสิบเมตร ก็รู้ตัวแล้วก็หยุด    

พระอาจารย์ –  รู้ใหม่มันก็หยุดตรงนั้นแหละ

โยม –  เราก็ต้องฝึกไป อยู่ไปอย่างนี้ไปก่อน  

พระอาจารย์ –  เพราะว่ามันยังไม่เบ็ดเสร็จ ...เข้าใจคำว่าไม่เบ็ดเสร็จมั้ย     

โยม –  อ๋อ  

พระอาจารย์ –  มันยังมีบางอารมณ์ ยังมีช่องที่มันจะไหลออกมาได้ ...โดยที่บางทีก็ไหลโดยการที่เราจงใจให้ไหลด้วย แล้วก็บางทีก็ไม่ได้จงใจ

จนกว่ามันจะสมบูรณ์น่ะ ...สมบูรณ์เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น   


โยม –  มันยากไหมคะกว่าจะสมบูรณ์

พระอาจารย์ –  ไม่ยาก ...ถ้าคิดน่ะยากๆ  ถ้าไม่คิดน่ะมันก็แค่นั้นแหละ แค่เท่านี้ เข้าใจมั้ย  ถ้าคิดเมื่อไหร่ล่ะ...ยาว ถ้าคิดเมื่อไหร่น่ะ...นาน ถ้าคิดเมื่อไหร่น่ะ...ยาก ...แต่ถ้าไม่คิดแล้วไม่มีอะไร  

โยม –  มันเหมือนยากกับไม่ยากแค่นั้น  

พระอาจารย์ –  อือ ถ้าไม่คิดน่ะ...มันก็มีแค่นี้ รู้อยู่แค่นี้ รู้แค่ธรรมดานี่แหละ รู้บ่ดาย รู้ซื่อๆ รู้โง่ๆ รู้ตรงๆ    

โยม –  อ๋อ เพียงแค่ไม่เอามัน ทุกอย่างก็จบ     

พระอาจารย์ –  จบ ...อนาคตยังไม่มี นะ อย่าไปเชื่อ อย่าเอาธรรมมาเป็นข้ออ้าง 

(ถามโยมอีกคน) หมอล่ะ สงสัยมั้ย


โยม –  เมื่อก่อนจะเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย เวลาตรวจคนไข้เยอะๆ เป็นร้อย  แต่เดี๋ยวนี้ก็อะไรพอโกรธขึ้นมาก็จะรู้ทันแล้วก็ดับไปได้เร็วขึ้น จนเดี๋ยวนี้รู้สึกว่าเรื่องบางเรื่องที่เมื่อก่อนเคยหงุดหงิด เคยเคืองเคยโกรธ เดี๋ยวนี้มันก็รู้สึกเป็นธรรมดาไป แต่ก็ยังมีบ้าง ก็เลยรู้สึกว่ายังต้องฝึกต่อไปอีก   

พระอาจารย์ –  จนตาย ...สตินี่ทิ้งไม่ได้จนตาย จนกว่ามันจะรู้ว่าไม่ต้องทำอีกแล้ว ...ถ้าตราบใดที่ยังมีอีก ยังมีที่ว่า ยังต้องปรารภกับมันอยู่นี่ แปลว่างานยังไม่จบ เข้าใจมั้ย 

ไปจนกว่ามันจะถึงจุดที่ว่าลิมิท เต็มขีดขั้นของมันแล้วนี่  มันจะรู้เลยว่าจบแล้ว ไม่ต้องไปปรารภกับมันอีกแล้ว ...ตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่าหมดงานแล้ว

แต่ถ้าดูแล้วว่า อือ เรายังต้องอาศัย ยังต้องอย่างนี้อยู่นะ ยังต้องดู ต้องคอยศึกษากับมันอยู่นะ แสดงว่ายังต้องทำ ต้องปรารภกับมันอยู่ 

ก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีเว้นเวล่ำเวลาอะไร ...แล้วก็พยายามอย่าไปหาเหตุหาผลกับมัน นะ     


โยม –  ตอนนี้บางทีหนูก็เวลามีอารมณ์โกรธขึ้นมา บางทีก็มีบ้างที่หาเหตุหาผลเพื่อที่จะดับความร้อนนี่ แต่ไม่รู้ว่า...คือ รู้ว่ามันขึ้น รู้ว่ามันมา แต่ก็เหมือนกับพยายามหาอุบายให้มันเย็น ...ก็คือหนูก็รู้สึกว่าหนูก็ทำให้มันเย็น คือพอคิดอุบายนั้นขึ้นมามันก็เย็นลงได้  ไม่รู้ว่าถูกต้องรึเปล่า  

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ตรงซะทีเดียว เพราะยังมีการกระทำ           

โยม –  ยังมีอุบาย ยังมีการคิด  

พระอาจารย์ –  มันดับ ถึงมันดับไปได้ ก็ไม่เป็นดับด้วยธรรมดา ไม่ได้ดับเองเป็นธรรมดา ...ยังดับด้วยการเข้าไปทำให้มันดับด้วยอุบาย

แต่มันก็ไม่ได้ว่าผิดมากมายก่ายกองอะไรหรอก ...แต่ว่าต่อๆ ไปมันจะค่อยละออกเรื่อยๆ  


โยม –  จะละอุบายนั้นออก   

พระอาจารย์ –   ใช่ ... แต่ว่าให้รู้โดยหลักไว้ว่า จริงๆ แล้วแค่รู้เฉยๆ  

โยม –  ไม่ต้องไปคิดหาเหตุผล  

พระอาจารย์ –  เหมือนหมอดูก้อนน้ำแข็งก้อนนึงที่มันตั้งอยู่อย่างนี้ ให้นั่งดูเฉยๆ นี่ มันเป็นยังไงน้ำแข็งนี่   

โยม –  มันค่อยๆ หายไป ค่อยๆ ละลายไป  

พระอาจารย์ –  เออ ต้องไปทำอะไรกับมันมั้ย 

โยม –  ไม่ต้อง  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องมันก็ละลายเองของมันเองใช่มั้ย เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้าเราไปแตะต้องมันหรือว่าไปทำอะไรก็ตามด้วยจุดประสงค์ที่จะให้มันเร็วขึ้นนี่  มันก็เร็วขึ้นจริงน่ะ แต่ว่ามีการเข้าไปประกอบกระทำแล้ว 

น้ำแข็งก้อนนั้นน่ะมันไม่ได้ละลายตามความเป็นจริง ...ต่างกันใช่มั้ย   


โยม –  อาจจะเป็นเพราะหนูใจร้อนเพื่อที่จะให้มันดับ  โดยเอาอุบายมา 

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ความอยาก ละโมบ ...เราไม่เห็นจิตที่มีความละโมบ ความโลภ ความไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่เป็น หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 

เราคิดว่าถ้ามันไม่โกรธแล้วมันจะดีกว่าตอนโกรธ ใช่ป่าว หรือว่าให้มันน้อยลงมันจะดีกว่าตอนนี้ เนี่ย ...นี่คือความโลภในจิตนะ  เป็นโลภะ


โยม –  ก็ว่าที่หนูต้องทำอย่างนั้นเพราะว่า อาจจะเป็นเพราะยังฝึกไม่พอ เพราะเวลาหนูมีอารมณ์ขึ้นมานี่    

พระอาจารย์ –  แรง  

โยม –  ความโกรธขึ้นมามันจะกระทบกับคนข้างๆ เลยต้องรีบดับตัวเอง   

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วไงว่ามันเป็นอุบาย ให้รู้ไว้ ...แล้วมันจะค่อยๆ ทอนลง ทอนลงไปเรื่อยๆ เมื่อสติมันแข็งแกร่งขึ้น เท่าทันมากขึ้น เข้าใจกับมันมากขึ้น ...มันไม่จำเป็นต้องใช้อุบาย มันจะคลายทิ้งอุบายมากขึ้น

แต่ตอนนี้เรายังต้องใช้ ...ก็ธรรมดาน่ะ  ถ้าไม่มีอุบายแล้วมันจะหลุด มันจะหลุดแล้วมันจะเดือดร้อน คือทุกข์มันจะเพิ่มขึ้น แค่นั้นเอง 

แต่ว่าให้เข้าใจว่าโดยหลักแล้วนี่...การรู้จริงๆ สติที่เป็นกลางจริงๆ นี่ คือรู้โดยที่ไม่แตะต้องอะไร ไม่เข้าไปแตะต้องเลย ต่างคนต่างอยู่เลย สิ่งที่ถูกรู้คือสิ่งที่ถูกรู้...รู้คือรู้  ไม่มีการก้าวก่าย 

จนกว่าตรงนั้นน่ะ มันจะทิ้งช่องว่างห่างกัน นี่ ด้วยความเป็นกลางอยู่ ...จนกว่ามันจะดำเนินไปด้วยความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเอง...ครบรอบ โดยที่เราไม่ได้เข้าไปอย่างนี้ๆๆ กับมัน แล้วมันดับไปเอง 

กับการที่เราดูแล้ว 'มันต้องอย่างนี้ๆๆ' แล้วมันไม่ได้ดับไปเอง ...อย่างนี้ไม่ครบรอบ เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าเราอยู่อย่างนี้โดยที่ไม่ยุ่งกับมัน แล้วมันเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่แล้วดับไปเอง...อย่างนี้ถึงเรียกว่าญาณ ญาณถึงจะเต็มรอบหนึ่ง คือเห็นตามความเป็นจริงครบรอบของที่สุดแห่งทุกข์ 

แล้วจิตมันจะเกิดความยอมรับ ปัญญามันจะเข้าไปฝังหรือสะสมด้วยปัจจัตตัง 'อ้อ เขาดับไปเองๆ' อย่างนี้...ญาณ ความรู้อันนี้เป็นญาณ เรียกว่าปัญญาญาณเกิดขึ้นแล้ว

แต่ถ้าเราเข้าไปคอย...พอรู้ว่ามีอาการนี้เกิดขึ้น แล้ว...เอ๊ะ เข้าไปอย่างนี้นิดนึงๆ แล้วออกมา เข้าไปอย่างนี้นิดนึง มันก็ดับไปเอง ...ดับไปเหมือนกัน แต่อย่างนี้ไม่เรียกว่าญาณเต็มขั้น    


โยม –  ยังเป็นอย่างนั้นอยู่    

พระอาจารย์ –  ใช่  แต่ว่ามันค่อยๆ  จะค่อยๆ นะ ค่อยๆ ถอยออก  มันจะค่อยๆ ถอยหรือว่าปล่อยออก...ปล่อยการกระทำ 

แต่ตอนนี้เรายังกลัว มันมีความกลัวว่า...ถ้าเราปล่อยแล้วกลัวจะเสีย ถ้าเราปล่อยแล้วกลัวมันจะแตก ถ้าเราปล่อยแล้วกลัวจะมีผลกระทบ เรายังยอมรับโดยเด็ดขาดไม่ได้ ...  แต่มันจะค่อยๆ ...ให้รู้หลักไว้  

ถ้าจริงๆ แล้ว หรือว่าถ้าด้วยความเด็ดเดี่ยวโดยไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหมเลยนะ คือหลุดเป็นหลุด บอกให้เลย  ...หลุดแล้วก็รับผลเลย

แล้วเอาผลนั้นน่ะมาเป็นทุกข์ ...แล้วทุกข์นั่นแหละมันจะมาสอนจิต 'เสือกหลุดดีนัก หลุดแล้วดูซิ ผลเป็นอย่างนี้' ... ต่อไปน่ะ มันจะยอมเองน่ะ

แต่ว่าอาชีพของเราเป็นหมอก็ลำบากหน่อย ก็ต้องกึ่งๆ ทำบ้าง ...แต่ให้รู้ว่ามันเป็นอุบาย โดยความเป็นจริงแล้ว โดยหลักแล้วนี่ ต่างคนต่างดำเนิน จิตรู้ส่วนจิตรู้ สติส่วนสติ จะไม่มี “เรา” เข้าไปประกอบกระทำ 

ไอ้ตัวที่เข้าไปคิดน่ะ “เรา” นะ ใช่มั้ย “เรา” ใช่มั้ย

โยม –  ใช่ค่ะ   

พระอาจารย์ –  “เรา” น่ะท่านเรียกว่าสักกาย สักกายคือความเห็นเป็นเรา จิตของเรา เรื่องของเรา 'ถ้าไม่ทำแล้วเราจะแย่ เราจะไม่ดี' อย่างนี้ มันทำด้วยอำนาจของสักกาย...การกระทำทั้งหลายทั้งปวง

แต่มันจะค่อยๆ ปรับ ...เราอย่าไปกังวล อย่าไปเครียด อย่าไปซีเรียส นะ  พูดให้เข้าใจเท่านั้นเอง  มันจะค่อยๆ ถอยจาก “ความเป็นเรา” ขึ้นมาเรื่อยๆ    

คือไอ้ที่เราพูดทั้งหมดนี่ ที่ว่าเห็นเต็มรอบนี่...อันนี้พระโสดาบันนะ เข้าใจมั้ย  เพราะหลุดแล้วนะ ถึงจะไม่เข้า ไม่มี "เรา" ไม่เข้าไปประกอบกระทำ ... มันจะหยุดมโนกรรม  

เมื่อหยุดมโนกรรมแล้วนี่ ความเป็นภพ หรือการเข้าไปแสวงหาภพข้างหน้าไม่มี ...เข้าใจคำว่าภพมั้ย อารมณ์ปัจจุบันนี่ โกรธในปัจจุบัน หงุดหงิดปัจจุบันนี่คือภพนึงแล้ว ...เป็นภพตามความเป็นจริง 

แล้วเรารู้ว่ามันโกรธ นี่คือรู้  พอรู้ปุ๊บ มันไม่ชอบ คือ "เรา" ไม่ชอบ เพราะมันมากไปเดี๋ยวมันจะไม่ดี ต้องทำให้มันหายไป มันเลยไปทำเพื่อให้เกิดอารมณ์ที่ดีกว่านี้ ...นี่คืออีกภพนึง

มันสร้างภพใหม่ เข้าใจมั้ย มันไม่ยอมรับอารมณ์ที่มีอยู่ขณะนี้ มันจะไปหาอารมณ์ใหม่ที่ดีกว่านี้ โดยเข้าใจว่ามันดีกว่านี้ ตรงนี้คือการแสวงหาภพ ภพใหม่  “เรา” มันจะต้องการไปเสวยเวทนาของภพใหม่

แต่ถ้าปัญญาที่มันเฉียบ หรือว่าปัญญาญาณที่เห็นเต็มรอบแล้วนี่ จะยอมรับเท่าที่มี เท่าที่เป็น  ตั้งอยู่คือตั้งอยู่ ไม่ดับก็ไม่ดับ มากขึ้นคือมากขึ้น น้อยลงก็น้อยลง เกิดอีกรู้อีก อย่างนี้ 

คือจะไม่แสวงหาภพใหม่เลย จะไม่มี "เรา" เข้าไปหาภพใหม่มารองรับ หรือว่าสร้างภพใหม่เพื่อให้ "เรา" ไปเสวยเวทนาที่ดีกว่านี้ ถูกกว่านี้ ใช่กว่านี้ อย่างนี้

ตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่าหยุดการขวนขวาย หรือว่าตัดปัจจยาการในขั้นที่เรียกว่า ภพ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส ในปฏิจจสมุปบาท ในขั้นปลาย...ในขั้นปลายนะนี่ 

เรื่องภพ ชาติ ชรา พยาธิ ฯลฯ นี่  พระโสดาบันเริ่มต้นนี่เพิ่งจะเริ่มเข้าใจหรือเท่าทันตรงนี้เป็นหลัก แล้วไอ้ขั้นตอนปลายนี่ ท่านคือแจ้งน่ะ 

จะแจ้งชัดเลยว่า...เออ ถ้าเราไปยุ่งกับมันนี่มันไม่จบ ถ้าเราไปยุ่งกับมันนี่หมายความว่าเราไปหาเรื่องใหม่...เราจะไม่ยุ่งกับมันเลย 

ตรงนี้ถือว่า ถ้าโดยสิ้นเชิงหรือว่าตัดได้ขาด หมายความว่ามันจะตัดเรื่องภพและชาติ...ในเรื่องของชราพยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะขั้นหยาบนี่ได้แล้ว บุญและบาปไม่มีปัญหาแล้ว


โยม (อีกคน)   หลวงพ่อคะ สมมุติว่าเราก็อยู่ในอาการใดก็ได้ แล้วเรามีความรู้สึกอะไรก็ได้เกิดขึ้น โกรธ หงุดหงิดอะไรอย่างนี้ค่ะ  แล้วถ้ามันมาก แต่ว่าเราจะภาวนา ก็อยู่ในอาการภายนอกนี่จะยังไงก็ได้ แต่ขอแค่ให้ดู เราทำหน้าที่ สมมุติว่าเราขับรถอยู่ เราก็สักแต่ว่าขับรถของเราต่อไปตามหน้าที่ให้ถึงจุดหมาย แต่ให้จิตเรามันดู คือปล่อยความโกรธอย่างนี้ไป  

พระอาจารย์ –  อือ ไม่กั๊ก   

โยม –  แล้วจิตมันชอบไปทำอะไรอย่างนี้ล่ะคะ ...คือระบายอารมณ์โกรธออกมา อย่างโทรศัพท์ ทำนู่นทำนี่ ไปหาอะไรทำอย่างนี้  สิ่งที่เราควรทำคือทำตามหน้าที่นั้น อย่างขับรถให้มันถึงที่ เราก็ไม่ไปทำอย่างอื่นเพิ่มตามกิเลสอย่างนี้หรือ เราก็ดูมันไป  

พระอาจารย์ –  อือ ดูเฉยๆ เลย ไม่อ่อนข้อกับมัน   

โยม –  แต่มันก็จะคอย...อย่างตอนนี้ขับรถถึงแล้ว มันก็ยังโกรธอยู่ มันก็จะคอยแต่หาอะไรทำ เช่นไปเปิดทีวีดู เพื่อให้หายโกรธ ไปอาบน้ำ ไปทำอะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  คือทำได้ เข้าใจมั้ย  ไอ้เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ มันไม่มีปัญหาหรอก  มันไม่ใช่ว่าตั้งอกตั้งใจทำเพื่อให้มันหายเลยโดยเด็ดขาดอะไรนะ  


โยม –  เราควรจะให้สิ่งที่เราทำ อย่างสมมุติเราจะสวดมนต์อย่างนี้ เราให้มันทำเป็นหน้าที่ แบบไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำเพื่ออะไร แต่ว่าให้มันทำสักแต่ว่าเป็นหน้าที่ แต่ใจเราก็ยังดูจิตเราอยู่

พระอาจารย์ –  ได้ คือบอกให้เลย การฝึกสติหรือว่าปัญญาวิมุตินี่ จะไม่ปรารภที่การกระทำ จะไม่ไปปรารภเรื่องการกระทำหรือไม่กระทำภายนอก...แต่จะมาปรารภที่ใจ   


โยม –  ข้างนอกยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ เราไม่สนใจ  

พระอาจารย์ –  ใช่  เราไม่สนใจ ...จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ 

โยม –  จะอาละวาดอะไรก็ได้อย่างนั้นหรือคะหลวงพ่อ  

พระอาจารย์ –   ก็บอกแล้วไงว่า...ถ้าเด็ดเดี่ยวพอน่ะ และกล้าที่จะยอมรับผลน่ะ เข้าใจมั้ย

โยม –  คือไม่แคร์ ปล่อยดูข้างในอย่างเดียวเลย  ข้างนอกมันแรงยังไงก็ตาม 

พระอาจารย์ –  คือต้อง... บอกแล้วไง ต้องปรารภอยู่ที่ใจตลอดนะ 

อย่างที่โยมพูดนี่ ลักษณะอย่างนี้ เป็นลักษณะที่เราคิดเอาว่า จะอาละวาดยังไงก็ได้ ...อันนี้มันคืออาละวาด ในความแบบว่าไม่มีสติสตัง เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าปรารภอยู่ที่ใจแล้ว...มันจะไม่มีอาการพวกนี้หรอก บอกให้เลย  


โยม –  อ๋อ มันต้องรู้ละเอียดเท่าทันกว่านั้น มันถึงจะไม่มีปัญหา    

พระอาจารย์ –  มันจะไม่มีอาการขนาดนั้นออกไปเลย ...แต่ถ้ามีอาการนั้นออกไป ให้รู้ไว้เลยมันไม่มีการปรารภที่ใจ บอกให้เลย 

แต่คนนี่มักจะอ้าง เอามาเป็นข้ออ้าง มันก็เลยกลายเป็นลัทธิที่ “กูจะทำอะไรก็ได้” ไปเลย ...แต่จริงๆ ถ้ามันปรารภอยู่ที่ใจจริงๆ มันจะไม่มีนะ...จะไม่มีการหลุดออกไปเป็นการเบียดเบียนโดยเจตนา 

เพราะนั้นมันเป็นระบบแค่ความคิดเอาน่ะ ...นี่ ยังคิดเอาอยู่ 


โยม –  หลวงพ่อ แต่การปรารภที่ใจนี่มันแทบจะต้องภาวนาได้เก่งมากแล้ว มันถึงจะไม่หลุดเลยนี่เจ้าคะหลวงพ่อ  

พระอาจารย์ –  มันก็ไม่ใช่ว่าขนาดตลอดเวลา แต่มันจะมีความว่าเนืองๆ เป็นนิจๆ ...มันไม่ใช่ว่าต่อเนื่องตลอดอย่างนั้นน่ะ 

ถ้าอย่างที่โยมพูดนี่ แล้วจะหาวิธีว่าจะรู้กับมันตรงๆ นี่  ดูไปดูมา พอไปทำอย่างนั้นนะ โดยที่ไม่ทำอะไรอย่างอื่นเลยนะ มันจะเป็นการเพ่งเข้าไปเลย เพ่งอยู่กับมันเลย ...มันก็เพ่งไปอีก เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นน่ะ ทำยังไงให้มันเป็นกลางๆ นะ ...ลักษณะนี้มันต้องเรียนรู้ มันจะต้องเรียนรู้เอาเอง เป็นประสบการณ์ของจิต ว่าอย่างไรถึงว่าเป็นการกระทำ...หรือไม่กระทำ 

กระทำภายนอกก็ได้ ...เราบอกแล้วไง เราไม่ปรารภการกระทำหรือไม่กระทำ ... อย่าไปคิดว่านี่ทำได้หรือไม่ได้ หรือต้องทำ หรือไม่ต้องทำอะไรภายนอก...

อย่างว่า...จะต้องหยุดหมดแล้วก็มานั่งดูอย่างเดียวเฉยๆ อย่างนี้ ...นี่ก็เพ่งอีกแหละ ก็กลับมาเป็นการเพ่งภายใน

เพราะนั้นทำให้มันเป็นอิสระ กลางๆ  ธรรมชาติของภายนอกเคยทำยังไงก็ทำไป แต่ก็คอยสังเกตดูเนืองๆ ...ไม่ไปยุ่งกับจิต แค่นั้นเองๆ  แล้วก็ไม่ได้ว่าทำเพื่อเจตนาเพื่อให้มันมายุ่งกับจิต เข้าใจมั้ย

มันก็พูดยากนะ มันอธิบายไม่ถูก ...มันต้องเป็นประสบการณ์ของแต่ละคนที่จะต้องเรียนรู้ว่า มันเป็นธรรมชาติของการกระทำภายนอก...แต่ว่าเราไม่ยุ่งกับจิตเลย 

ไม่มีอาการกั๊ก หรือว่าทำเพื่อให้มีผลข้างเคียง หรือว่าทำเพื่อให้จิตเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นอย่างนี้ ...จะบอกเป็นรูปแบบตายตัวไม่ได้ว่าห้ามทำหรือไม่ทำ มันต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ...ชั่งเอา ชั่งน้ำหนักเอา 

เพราะว่าหลักคือหลัก ...แต่อุบายนี่มากมาย นะ มันแตกได้มากมาย...อุบาย การกระทำนี่ ...แต่ละคนจะบอกว่าต้องทำอย่างนี้ หรือไม่ทำอย่างนี้ ไม่ได้

เพราะนั้นเราจึงบอกว่าไม่ได้ปรารภที่กายวาจา การกระทำหรือไม่กระทำ แต่ปรารภที่ใจ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้...แต่ว่ารู้อยู่รึเปล่า รู้ใจอยู่รึเปล่า รู้อยู่ในปัจจุบันของกายของจิตหรือเปล่า

จะนั่งสมาธิ จะสวดมนต์หรือไม่สวดมนต์ก็ได้ ...เราไม่ได้บอกว่าสวดมนต์แล้วถูก ไม่สวดมนต์แล้วผิด จะนั่งสมาธิแล้วถูก หรือไม่นั่งสมาธิแล้วผิด 

เราไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิดอะไร ...แต่ขณะนั่งน่ะ มีสติรู้รึเปล่าว่าใจเป็นยังไง สงบหรือไม่สงบรู้มั้ย ...หรือว่าขณะไม่นั่ง ไม่นั่งสมาธิแต่ก็ยังรู้อยู่ว่าจิตเป็นยังไง อาการของภายในเป็นยังไง 

เราบอกไม่สำคัญเลยอาการนั่งสมาธิหรือไม่นั่งสมาธิ ...แต่สำคัญว่ารู้รึเปล่าขณะนี้ รู้มั้ย แค่นั้นเอง ...เป็นหลักเลย นี่คือหลัก

ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะมีการต่าง หรือหลากหลาย  มันกลายเป็นมาตรฐานแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรืออาจารย์แต่ละคนก็จะให้แนวไม่เหมือนกันในรูปแบบของการปฏิบัติ 

จะต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ อันนั้นต้องเน้น อันนี้ต้องทำ อันนี้ต้องเจริญ อันนี้ต้องใช่ อันนี้ต้องห้าม อันนี้ต้องขาด อันนี้ต้องแยกออกจากกัน อันนี้ต้องทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ ...เราจะไม่ห้าม เราจะไม่บอก

คือให้เป็นธรรมดานี่แหละ เป็นคนปกติ ...ฟังแล้วก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ อาจิณวัตร กิจวัตรปกติ ยืนเดินนั่งนอนธรรมดา ...แต่ให้เพิ่มคือกลับมารู้อยู่ กลับมารู้อยู่ในอาการกระทำนั้นๆ แค่นั้นเอง 

ไม่ต้องไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรภายนอก อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ ... แต่ต้องรู้อยู่


(ต่อแทร็ก 1/14)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น