วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/17 (2)


พระอาจารย์
1/17 (25530403A)

4 เมษายน 25553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/17  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ถ้าผู้ที่ชำนาญจริงๆ นี่ ท่านมีอุบายที่จะทำให้สงบ...ด้วยความชำนาญ เข้าใจมั้ย แล้วก็ความเพียร...สูงมาก  ความชำนาญไม่สำคัญเท่าความเพียรสูงด้วย ไม่ท้อไม่ถอยเลยน่ะ

พวกนี้ต้องอาศัยการฝึกสะสม ...ซึ่งอย่างพวกเธอๆ ท่านๆ ทั้งหลายนี่ นิดๆ หน่อยๆ ถอยแล้ว บอกให้เลย ไม่สามารถจะเอาหัวดันชนกำแพงได้เลย

แต่ลักษณะท่านนี่เอาตายเป็นที่ตั้งแหละ เข้าใจไหม เอาสัจจะเป็นที่ตั้ง “ไม่สงบกูไม่ลุก” อย่างเนี้ย ตายเป็นตาย อดข้าวที ๗ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน อดนอนทีเป็นเดือนเป็นปี เอากับมันอย่างนี้ ไหวมั้ย ความเพียรเราพอมั้ยนี่

เดินจงกรมนี่ ไม่ต้องถามเป็นชั่วโมง ถามเป็นวัน ถามเป็นคืน เดินทั้งคืน ไม่สงบไม่ออกจากทางจงกรม ถ้าจิตยังฟุ้งซ่านยังปรุงแต่งอยู่นี่ เอามันตรงนั้น เอาจนกว่าจะลงน่ะ

มันจะไหวมั้ยเนี่ย พวกเรา แค่ฟังยังเหนื่อยแล้ว บอกให้เลย ทำ เคยทำมา ทำไมจะไม่รู้ เข้าใจมั้ย ถ้าอยากจะได้อย่างนั้นนะ

แต่โดยกำลัง โดยความพอดีของพวกเราเนี่ย ลักษณะแค่รู้ธรรมดานี่แหละ รู้ด้วยขณิกะ ขณิกจิต ไม่ต้องลงอัปปนาแล้ว ไม่ต้องลงอุปจาระแล้วด้วยความตั้งใจหรือเจตนาใดๆ


โยม –  ขณิกะก็ได้ด้วยเหรอเจ้าคะ ขณิกะก็ได้แล้วใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ได้แล้ว รู้แต่ละครั้งแต่ละขณะหนึ่งนี่ สมมุติว่าไม่รู้ หายปุ๊บ แล้วก็...เออ รู้ว่าหาย รู้ตัวว่าหาย แค่นี้...หนึ่งขณิกะ เข้าใจไหม 

หนึ่งขณิกะที่รู้ พอแล้ว ...เป็นรู้ที่ปกติที่สุดแล้ว เป็นสติที่ธรรมดาที่สุดแล้ว เป็นกลางที่สุดแล้ว  ไม่จำเป็นต้องรวมถึงอุปจาระ ไม่จำเป็นต้องรวมถึงอัปปนา

ถ้าไปรวมตามอุปจาระหรืออัปปนา...ในขั้นตอนของปัญญาวิมุตินี่ เขาจะเป็นของเขาเอง จิตจะดำเนินของเขาเอง ไม่ใช่เราพาดำเนิน...ด้วยความอยากหรือไม่อยาก

แต่ถ้าเจโตวิมุติ-เจโตกึ่งปัญญาวิมุติ อันนี้ต้องนำด้วยความอยาก ถ้าไม่มีความอยาก ไม่มีทางนั่งหรอก เข้าใจมั้ย ก็อยากสงบน่ะ ก็อยากเอาชนะความปรุงแต่งน่ะ ก็ต้องมีการเจตนาแรงๆ

เจตนาแรงๆ นี่พูดก็ดูดีหรอก อีกภาษานึงก็คือตัณหา...ต้องแรง ความอยากเอาชนะกิเลส ต้องมี ต้องสร้างตัวตนของจิตขึ้นมาใหม่ ที่มันเป็นจิตที่ดีกว่าเดี๋ยวนี้ เห็นมั้ย มันมีภพ สร้าง หาภพข้างหน้าเป็นหลัก


โยม –  มันเป็นเจตนาที่ดี ถูกไหมคะ

พระอาจารย์ –  ก็เอากิเลสมาล้างกิเลสน่ะ เอาตัณหามาละตัณหา 

ยังไงก็ต้องมีตัณหาเป็นตัวนำอยู่แล้ว ถ้าไม่นั้นมันไม่พาเดินจงกรมได้ทั้งวันหรอก ...มันไม่ได้ด้วยศรัทธานะ บอกให้เลย อาศัยความฝืน สัจจะ แล้วก็อุบาย ว่าเดินแล้วดี

แต่จริงๆ น่ะมันต้องอาศัยความอยากทั้งนั้นแหละ เป็นตัวพาไป ถ้าไม่มีความอยากเป็นตัวนำ แล้วมันไม่ทำหรอก อยากสำเร็จ อยากหลุดพ้น อยากได้จิตดี อยากได้จิตสงบ อยากได้จิตรู้เห็นอะไร


โยม –  ท่านคะ แล้วเกิดวันทั้งวันน่ะ หงุดหงิด เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด ใครพูดอะไรไม่เข้าหู อะไรอย่างนี้ แต่เราก็เห็นว่ามันเต้นของมันอย่างนี้ตลอดนะคะ แต่ว่าอาการของเราคือเราคอนโทรลมันไม่ได้น่ะค่ะ รู้ยังไงก็ระงับไม่อยู่

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ต้องระงับ ...ก็รู้


โยม –  แต่มันคือวิบากที่เราจะสร้างต่อ

พระอาจารย์ –  รู้ไปเหอะ


โยม –  รู้ไปเถอะ

พระอาจารย์ –  รู้ไปเถอะ รู้ไปเรื่อยๆ ให้เห็นว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น ...บอกแล้วไง เราจะเข้าใจมันก็ตาม เราไม่เข้าใจมันก็ตาม ขอให้จิตมันรู้ไว้


โยม –  จิตมันรู้หรือคะ

พระอาจารย์ –  ถ้ามีสติระลึกรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นน่ะ จิตเขารู้แล้ว จิตเขารู้โดยตรงอยู่แล้ว  แต่เขาไม่บอกเราหรอกว่าเขารู้อะไร หรือว่าเขาเอาความที่รู้นี่ไปทำอะไร

แต่เราที่เป็นคนคอยดู ก็บอกว่าไม่เห็นมันได้อะไร มันก็ยังมีเท่าเดิม อันนี้คือความเห็นของเรา แต่จิตเขาไม่เห็นอย่างนั้นหรอก เขาเห็นของเขา


โยม –  แต่มันไม่เห็นลดลงเลย

พระอาจารย์ –  ไม่ลดก็ไม่ลด ...ไอ้ที่ไม่เห็นว่าลดลง นั่นเป็นเรื่องของความปรุงแต่ง คิดไปเอง เป็นความคิดไปเอง มันหาภพที่ดีกว่า 

มันไม่ชอบภพนี้ ไอ้ภพที่หงุดหงิดฟุ้งซ่านทั้งวันนี่ มันเป็นภพในปัจจุบัน ...แล้วเราพยายามจะหนีภพนั้นด้วยความปรุงแต่ง แล้วมันไม่ไปซะที ก็เลยเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ขึ้นมาอีก

ก็ชั่งหัวมันปะไร แค่นั้นเอง แล้วก็คอยดูอาการของมันไป ...ถ้าหงุดหงิดฟุ้งซ่านรำคาญ บอกแล้ว ให้กลับมารู้กาย


โยม –  ยังไง

พระอาจารย์ –  กลับมาอยู่ที่กาย เห็นกาย อิริยาบถ ...ถ้าไปจดจ่ออยู่ที่จิตมากเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านรำคาญ หาทางแก้หาทางกันไปอีก วุ่นวาย ต่อภพต่อชาติไปโดยไม่รู้ตัว

เพราะมันจะไม่เท่าทันความปรุงแต่ง เราจะแยกไม่ออก ปัญญาขั้นต้นยังแยกไม่ออกว่า ..."เอ๊ะ ก็เห็นอยู่ ทำไมมันยังคิดต่อ"  

ไอ้นั่นน่ะเขาเรียกว่าไม่ทันความปรุงแต่งแล้ว ...คือระหว่างที่เห็นน่ะมันปรุงต่อด้วย เข้าใจมั้ย มันไม่ได้เห็นเฉยๆ


โยม –  เห็นแล้วมันอยากให้หยุด

พระอาจารย์ –  หลายอย่างที่มันมีเจตนาเข้าไปเห็นนั้นๆ ...เพราะนั้นน่ะ ถ้าเป็นอย่างนี้เขาเรียกว่าสมาธิไม่ตั้งมั่น ไม่มั่นคง มันส่าย มันแส่ มันกระเสือกกระสน มันทะยาน มันดิ้น...จะแสวงหา

แต่เราไม่เห็นความอยากเกิดขึ้นตอนนั้น ใช่ไหม จะไม่เห็น ...มีแต่ว่า “ต้องได้มาๆ” โดยไม่รู้ว่ามีความอยากเป็นตัวผลักออกมา ...อย่างนี้แปลว่าสติปัญญายังอ่อน

กลับมาตั้งหลัก ตั้งฐาน...กาย  เพราะกายมันไม่ผิด ไม่เถียงใคร ใช่ไหม 

มันเหมือนท่อนไม้ มันเหมือนก้อนดิน  มันไม่มีถูก มันไม่มีผิด มันไม่วิพากษ์วิจารณ์ มันไม่บอกว่าดีว่าชั่ว มันไม่บอกว่าอันนี้ดีกว่าอันนั้น อันนั้นดีกว่าอันนี้

เห็นมั้ย ตั้งมั่นอยู่กับกายแล้วจิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธิ ตั้งฐาน นี่แหละฐานของสมาธิในชีวิตประจำวัน อยู่อย่างนี้ ทำได้ตลอดเวลา


โยม –  ถ้าเกิดตั้งอยู่ที่กายนี่ หมายถึงว่ากำหนดลมหายใจ ดูมันหายใจ หรือว่ามองว่ามันเคลื่อนไหว

พระอาจารย์ –  เราแนะนำให้รู้กายทั้งตัว แล้วมันก็จะเห็นอิริยาบถย่อยภายหลังเอง ...แต่อย่าไปจำเพาะ เพราะไม่งั้นเราจะไปเพ่ง เพ่งหาอากัปกริยาภายในกายอีก เอาทั้งตัวนี่ ทื่อๆ แท่งๆ ก้อนๆ อย่างเงี้ย


โยม –  รู้ทั้งตัวยังไงล่ะคะ

พระอาจารย์ –  ก็รู้ทั้งตัวอย่างงี้ กำลังนั่ง เห็นมั้ย


โยม –  รู้ว่านั่ง รู้ว่าเดิน รู้ว่ายืน อย่างนี้

พระอาจารย์ –  เออ เห็นทั้งตัวเป็นอย่างนี้ เห็นกายวิญญาณทั้งหมด ไม่ต้องไปคอยจ้องการกระพริบตาการลืมตา การหลับตา การกลืน การไหวอะไร 

อันนั้นถ้าเรารู้ทั้งตัวชัดเจนตั้งมั่นแล้ว มันจะเห็นรายละเอียดของมันเอง ...มันจะเห็นของมันเอง ไม่ใช่ไปหาไอ้ของย่อยแล้วเอาของย่อยมาเป็นอารมณ์ มาเป็นสติที่ตั้งของอารมณ์ 

นี่เรียกว่า ให้รู้โดยเชิงอรรถ โดยอรรถ ...ไม่เอาพยัญชนะเป็นหลัก เข้าใจมั้ย เดี๋ยวมันซับซ้อน เดี๋ยวมันจะเกิดอาการควานและเพ่ง

ถ้าโยมไปรู้อาการกระพริบตา กลืนน้ำลาย โยมจะไม่สามารถรู้ภายนอก ใช่ป่าว มันจะไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง การทำงานก็จะหลุดไป การพูด การคุย การคิดก็จะทำไม่ต่อเนื่อง เพราะมีอาการจดจ่ออยู่ที่อันเดียว คือเพ่ง

แต่ถ้ารู้ทั้งโดยรวมนี่ อายตนะยังรับรู้ได้หมด ทำงานก็ยังได้ ก็ยังรู้กายได้ว่าทำอะไร พูดก็ยังรู้ว่ากำลังพูดได้ คิดก็ยังคิดได้ ก็ยังเห็นอาการ เดินไปเดินมา 

นั่งอยู่เฉยๆ ก็รู้ว่านั่งอยู่เฉยๆ ...แล้วในนั่งเฉยๆ น่ะ ส่องเข้ามาภายในดิ หยั่งเข้ามาภายใน มันกำลังทำอะไรวะ จิตน่ะ เป็นยังไง แอบๆ ดู


โยม –  แอบดูเป็นระยะๆ

พระอาจารย์ –  เออ แอบดู ไม่งั้นเดี๋ยวมันจะไปตาม 

เพราะอะไร ...เพราะเราติดนิสัย พอรู้ชัดเห็นชัดแล้วไหลตามเลย  พอรู้ว่าโกรธ เอาแล้ว เริ่มโกรธตามมันแล้ว พอรู้ว่าหงุดหงิด เราก็เริ่มหงุดหงิดตามมันแล้ว แล้วก็มากขึ้นๆๆ

เราก็นึกว่าเรารู้อยู่ ...แต่มันไม่อยู่แล้วนะ มันไหลไปแล้วนะ ไหลไปกับอารมณ์แล้ว ไปเป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์แล้ว อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่มีสมาธิ มันไม่ตั้งมั่น  

ถ้าตั้งมั่นหมายความว่าตั้งอันต่างอยู่ จะเห็นกับสิ่งที่ถูกรู้...อารมณ์ว่าโกรธหรือหงุดหงิดก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ แล้วก็เราอยู่ที่รู้ ...ต้องอยู่ที่รู้นะ ไม่ได้ไปอยู่ในสิ่งที่ถูกรู้

แต่ขณะที่เรายังไม่ชำนาญนี่ พอรู้ แรกๆ ก็ ปุ๊บ รู้อ่ะ พอเห็นว่ากำลังหงุดหงิดปั๊บ


โยม –  วิ่งตามมัน

พระอาจารย์ –  มันจะค่อยๆ เข้าไปรวมกัน แล้วก็ “ทำไมไม่หายสักทีๆ” อยู่อย่างเงี้ย นี่ ปรุงต่อไปกับมันแล้ว

ถ้าอย่างนี้เรียกว่าไหลตามมันแล้ว “รู้ไป” ไม่ใช่เรียกว่า “รู้อยู่” ไปจับรายละเอียด ไปเสาะหาว่าอะไร ทำไมถึงหงุดหงิด จะดู พยายามจะค้นหา นี่คือออกไปแล้วนะ

ก็ไม่ต้องไปรู้มันด้วยซ้ำว่ารายละเอียดมันคืออะไร มันมากมันน้อยอย่างไร มันตั้งยังไง มันมายังไง แล้วมันจะหายไปอย่างไร

นี่ มันมีความปรุงในความหมายที่จะไปเกาะแกะกับมันอยู่เรื่อย ด้วยความคุ้นเคย เคยชิน อยากจะเห็น อยากจะละ อยากจะเอาออก เห็นไหม ถ้าอย่างนี้เขาเรียกว่าสมาธิมันอ่อน

ไม่ต้องสนใจมันเลย ถ้ารู้ปุ๊บ (เสียงสัมผัส) กลับมารู้กายก่อน ให้มันมั่นคงตั้งฐานได้ แล้วค่อยแอบดูเอาเป็นระยะๆ ...ถ้ารู้กายอยู่ไม่ต้องกลัวหลง บอกให้ เหมือนกันแหละ ถึงจะไม่เห็นจิต ไม่เป็นไร

ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ใช่ไหม ก็พูดเอาเลย สติปัฏฐานหนึ่ง ใจอย่างเดียว รู้ที่ใจอย่างเดียว ใช่มั้ย นี่ทำไมท่านถึงพูดตั้ง ๔ อย่าง กาย เวทนา จิต ธรรม เห็นมั้ย

ไอ้พวกเรา พอเข้าสายดูจิต กูก็จะดูจิตลูกเดียวอันอื่นไม่ดู อันอื่นจะช้า ไปๆ มาๆ มันเลยว่าดูจิตตรงที่สุด ก็เลยเกิดการยึดมั่นถือมั่นในการดูจิต ...แต่ดูไม่เป็น เข้าใจไหม

ยังดูไม่เป็น ดูแล้วไปกับมันน่ะ ไปกับอาการ ดูแล้วไปกับอาการ แล้วก็มาว่า “ทำไมยังมาก ทำไมมันไม่กลับ ทำไมมันน้อย ทำไมมันไม่อะไร ฯ ”

เพราะเราไม่ดูเฉยๆ เข้าใจมั้ย มันออกไปตอนไหนก็ไม่รู้ ...มันยังไม่ถูก มันยังจับไม่ถูก มันยังไม่เกิดความแจ้งชัด หรือว่าปัญญาการเห็นนี่มันยังไม่เห็นตามความเป็นจริงซะทีเดียว


โยม –  แสดงว่าทุกครั้งที่ตามมันไปนี่ กลับมาดูที่กายจะเพิ่มกำลังสมาธิ

พระอาจารย์ –  จริงๆ แล้วใช่


โยม –  อย่างนี้ถ้าเราต้องการเพิ่มสมาธิก็ดูกายอย่างเดียว

พระอาจารย์ –  รู้กายทั้งวันเลยยิ่งดี เพราะกายเป็นสิ่งที่รู้ง่ายที่สุด จิตมันเป็นเหมือนปรอทน่ะ อาการของจิตน่ะมันจะไวมาก แล้วพอมันไวมากนี่ เราไม่ทัน

เวลาเราไหลไปกับมันนี่ เราจะไม่ทันมันเลยว่าเราไหลไปตอนไหน ขณะที่เห็นอยู่นี่แหละ เพราะว่าสติเรายังอ่อน สัมปชัญญะยังอ่อน


โยม –  แสดงว่าการเดินจงกรมมันก็ช่วยสิคะ


พระอาจารย์ –  ก็ช่วยได้  เพราะว่ามันทำให้กายนั้นเด่นชัดขึ้นมา


(ต่อแทร็ก 1/17  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น