วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/17 (3)


พระอาจารย์
1/17 (25530403A)
4 เมษายน 25553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/17  ช่วง 2

โยม –  แล้วพระอาจารย์คะ หนูเป็นคนโลกส่วนตัวสูงมาก คือเห็นอะไรแล้วแบบ ฉันอยากอยู่คนเดียว มันเป็นอาการที่ผิดปกติไหมคะ จากการที่เราทำมาแบบนี้

พระอาจารย์ –  ไม่ผิดหรอก มันเป็นมาตั้งแต่เกิด


โยม –  ช่วงหลังมันเป็นมากกว่าเดิมเยอะเลยนะคะ

พระอาจารย์ –  ช่างมัน


โยม –  มันผิดปกติในสังคมค่ะ (หัวเราะกัน)

พระอาจารย์ –  คิดเอาเอง เราคิดเอาเอง ...มันเป็นการคิดเอาเอง นะ เราไปให้ความหมายเอาเอง ว่าเกิดความแตกแยกหรือว่าแตกต่าง

แต่ถ้าเราไม่มีความหมายนะ มันไม่มีอะไรหรอก ...สายตาหรือว่าการกระทำคำพูดของผู้คน ไม่มีความหมายเลย

แต่เราไปเชื่อในความหมายนั้นๆ จึงเห็นความแตกต่าง แล้วก็มาเป็นตัวเป็นตน ...จริงๆ มันเป็นแค่อาการ อาการสักแต่ว่าอาการ

อย่าไปว่ามันถูก อย่าไปว่ามันผิด อย่าไปบอกว่าใช่ อย่าไปบอกว่าไม่ใช่ อย่าไปบอกว่ามาก อย่าไปบอกว่าน้อย ...เขาไม่เคยบอกอะไรทั้งสิ้น

อะไรที่มันบอก หือ ...ความไม่รู้ ความไม่รู้มาจากไหน...อวิชชา  อวิชชามาจากไหน อวิชชามันมีหลายอย่าง กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐิสวะ และก็อวิชชาสวะ  

เนี่ย ความไม่รู้นี่ เขาเรียกว่าเป็นอาสวะ หมักหมม นอนเนื่อง เจือปน เจือปนอยู่ในใจ กามาสวะ จิตเศร้าหมองไปตามผัสสะด้วยความไม่รู้ว่า ผัสสะนี้ มันแค่เนี้ย (เสียงสัมผัสกาย) ...ไม่มีอะไร 

มีแต่อาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ...โดยธรรมชาติเขาไม่มีความหมาย  แต่เราไปมีความหมายตามผัสสะ ...นี่เรียกว่ากามาสวะ

เมื่อมีกามาสวะปุ๊บ มันก็จะมีภวาสวะ อยากก็ตาม ไม่อยากก็ตาม ไปตามผัสสะนั้นๆ ...ด้วยความคิดว่าผัสสะนั้นเป็นตัวเป็นตน อันนี้เรียกว่าภวาสวะก็เกิด

เมื่อมีภวาสวะปุ๊บ มันก็มีทิฏฐิสวะ คือไอ้ที่มันตั้งอยู่นี่ เรามีความเห็นกับมันยังไง ถูก-ผิด มาก-น้อย ใช่-ไม่ใช่ ดี-ไม่ดี 

เนี่ย เห็นมั้ย เป็นความเห็นต่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นด้วยทิฏฐิสวะ แต่เป็นทิฏฐิสวะที่ไม่รู้จริงนะ เข้าใจไหม ซึ่งรากเหง้าของมันก็คืออวิชชาสวะ คือความไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันจริงรึเปล่า หรือมันไม่จริง เข้าใจมั้ย


โยม –  แล้วเกิดมันขึ้นมาแล้วเราบอก "ไม่เชื่อ" อย่างนี้

พระอาจารย์ –  ได้ ก็เป็นอุบาย ...ก็เป็นอุบายที่เราบอก แต่จิตเขายังเชื่อของเขาอย่างนั้นน่ะ เข้าใจมั้ย  เข้าใจรึยัง ว่าไอ้ “เรา” บอก กับ “จิต” บอกนี่ คนละตัวกัน คนละเรื่องกันนะ

ไอ้เราก็เป็นทิฏฐิสวะหนึ่ง เป็นความเห็นว่าเป็น “เราว่า” ไอ้ที่ตั้งอยู่นี่ “เราว่าดี” ...แต่จิตเขาไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี อันนี้ต่างหาก เข้าใจรึยัง  

จิตเขาไม่ยอมรับน่ะ ก็เขายังเชื่อของเขาอย่างนั้นหรือไม่เชื่ออย่างนั้นน่ะ อันนี้เป็นรากเหง้าของมัน


โยม –  กว่ามันจะออกมานี่เป็นชาติมั้ยคะ

พระอาจารย์ –  เป็น...เป็นตลอดเวลา ทุกคนเลยนะ ในความคิดนี่ จิตนี่สร้างภพไม่รู้จักเท่าไหร่ในขณะที่นั่งอยู่อย่างนี้ จิตที่ปรุงไปแล้วหมายมั่น มีความมีเวทนา มีความรู้สึกรับรู้ในสิ่งที่ยังไม่เกิด

นี่ พวกนี้คือภพและชาติ ...เป็นชาติ แล้วก็เป็นชรา พยาธิ มรณะ เพราะว่ามันไม่ได้มาแล้วเป็นทุกข์ ตลอดเวลาเลย สลับกันไป สลับกันมา มีสุขบ้างทุกข์บ้างๆ 

คิดไปเองทั้งนั้น ด้วยความปรุงแต่ง ด้วยความไม่รู้ มันปรุงออกมาด้วยความไม่รู้ อยากจะหานั่น อยากจะเป็นอย่างนี้ อยากจะเป็นธรรมที่ดีกว่านี้ อยากจะได้ธรรมที่สูงกว่านี้ 

พวกนี้เป็นความไม่รู้ทั้งสิ้น คิดว่าอย่างนั้นดีกว่าอย่างนี้ ตรงนั้นดีกว่าตรงนี้หมดน่ะ ไอ้ตรงนี้ไม่ชอบๆ เดี๋ยวนี้ไม่ชอบ มันจะออกนอกนี้ตลอด ออกนอกภพของปัจจุบันภพ 

หนี หนีทุกข์ ตรงนี้ทุกข์ เนี่ย ทุกข์ ...จะหาสุขลูกเดียวน่ะ ด้วยความโง่เง่าของจิต ว่าสุขจะดีกว่าตรงนี้ ทั้งๆ ที่พอได้มาปุ๊บ ...แล้วมันก็หายไป

นี่ไม่เห็น ไม่เห็นไอ้ตัวนี้บ่อยๆ ไอ้ที่อยากได้มาแล้วหายไปน่ะ ... ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะจะไม่เห็นตรงนี้ ...เมื่อไม่เห็นตรงนี้ จิตจะไม่ยอมรับความเป็นจริงอันนี้ 

ทำไมถึงต้องให้มีสติ เข้าใจรึยัง ...เพื่อให้จิตมันเรียนรู้ มันจะได้ฉลาดขึ้นบ้าง ...รู้ด้วยอะไร รู้ด้วยวิชชา วิชชาแปลว่ารู้ อวิชชาแปลว่าไม่รู้

นี่ ทั้งวันนี่ไม่รู้ ทำไปด้วยความไม่รู้ คิดไปด้วยความไม่รู้ ปรุงแต่งไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลง มัวเมา หลับหูหลับตา มืดบอด ซึม เศร้าหมอง ขุ่นมัว ทำอะไรไปก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวทั้งหมด 

นี่ มันเป็นตัวปกปิด ยิ่งมาปกปิดความรู้ว่า...มันเกิดยังไง มันตั้งอยู่อย่างไร แล้วมันดับไปอย่างไร

ก็แค่ให้กลับมารู้บ่อยๆ อยากได้มา อยากได้ เออ ดูๆๆ ได้มาแล้วเป็นยังไง เออ ดับไป ดับ...ได้อีก...ดับ ได้อีก...ดับอีกๆ ...ดูซิ จิตมันยังอยากเอาขนาดไหนล่ะ จนกว่านิพพิทาญาณจะเกิด


โยม –  นิพพิทาเป็นยังไงคะ

พระอาจารย์ –  เบื่อ เบื่อ กูไม่เอาอีกแล้วๆ ...จิตมันบอกนะ ไม่ใช่ "เรา" บอกนะ เราอยากไปแต่จิตไม่ไปอ่ะ เนี่ย มันเบื่อแล้ว เบื่อที่จะคิด เบื่อที่จะปรุงไปลมๆ แล้งๆ คิดไปแบบเลื่อนลอยนี่ไม่มีอีกแล้ว

เพราะไม่รู้จะคิดทำไม เพราะไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ...คิดจนตายนี่ นั่งคิด พอไปถึงวาระจริงนี่ ไม่เหมือนกับที่เราคิดหรอก บอกให้เลย แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้


โยม –  อาการอย่างนี้มันไม่ได้เบื่อตลอดเวลาใช่มั้ยคะ มันเป็นบางเรื่องที่เราเคยเห็นว่ามันออกไปแล้ว แล้วมันจะปรับของมันเป็นบางเรื่อง ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เข้าใจคำว่า "วิมุติ" ไหม เข้าใจคำว่า "วิโมกข์" ไหม 

ถ้าลักษณะอย่างนี้เป็นครั้งคราว เขาเรียกว่าวิโมกข์  อาศัยวิโมกข์แต่ละครั้งๆ ไปบ่อยๆ มันจะเกิดวิมุติ คือทั้งหมดเลย ตลอด ทุกเรื่องราว ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นญาณทัสสนะที่เป็นญาณวิมุติทัสสนะ


โยม –  มันจะเบื่อขนาดเลิกปฏิบัติมั้ยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  มันไม่ใช่ว่าเลิกปฏิบัติ มันเบื่อ หมายความว่า จิตมันเบื่อที่จะออกไปทะยานอยากหาอะไร  
การปฏิบัติจริงๆ มันไม่มีหรอก เพราะมันจะไม่มีการกระทำ เข้าใจมั้ย ยิ่งไม่กระทำเท่าไหร่นั่นแหละ มันคือการปฏิบัติโดยตรงอยู่แล้ว

เพราะนั้นมันจะเลิกการปฏิบัติ ...ก็จริงน่ะ เข้าใจไหม คือจะเลิกการกระทำ จิตจะหยุดการกระทำโดยปริยายเลย จะอยู่ในที่อันเดียว


โยม (อีกคน) –  พอมีสตินานมากขึ้นอย่างนั้นเหรอคะ

โยม  คือความหมายของโยมหมายความว่า คือจะไม่เอาแล้ว เบื่อขนาดที่แบบ...อะไรก็ไม่เอา

พระอาจารย์ –  มันไม่ได้เบื่ออย่างนั้น ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่าเบื่อๆ อยากๆ เบื่อแบบรับไม่ได้ เบื่อแบบมีโทสะ เบื่อแบบมีปฏิฆะ เบื่อแบบว่าอยู่ร่วมกันไม่ได้


โยม –  งั้นการเบื่อแบบนี้ก็คือเบื่อที่จะก้าวต่อไป หมายถึงว่าเบื่อที่จะเป็นจุดที่จะก้าวต่อไป หมายถึงเบื่อแบบนิพพิทาญาณนี่เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เบื่อแบบนิพพิทาญาณนี่หมายความว่า เบื่อแล้วอยู่ร่วมกันได้


โยม – แบบที่จะก้าวในธรรมะ ที่ก้าวเขยิบขึ้นอย่างนั้นใช่ไหมคะ

โยม (อีกคน) หมายถึงปล่อยวางใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เออ มันก็คืออาการนั้นน่ะ เบื่อคือไม่ไปเอามัน แต่ว่าสามารถอยู่กับมันได้  เช่นว่า เบื่อร่างกาย เบื่อที่จะไปยุ่งกับมันอีกแล้ว เพราะว่าแค่นั้นน่ะ ไม่รู้จะไปทำอะไรกับมัน

เบื่อ  แต่โยมไม่สามารถละทิ้งร่างกายได้ ใช่มั้ย ไม่อย่างนั้นโยมก็ต้องไม่อยู่กับมันแล้วสิ ถ้าเบื่ออย่างนั้นน่ะ ถ้าเบื่อแบบอยู่ร่วมกันไม่ได้ โยมก็ต้องฆ่าตัวตายแล้ว เพราะเบื่อร่างกายเต็มที

แต่นิพพิทาไม่ใช่เบื่อแบบนี้ มันเบื่อแบบ เออ แต่อยู่ด้วยกันแบบสันติน่ะ เข้าใจไหม มันจะไม่มีการเลิกละหรือว่าปัดออกไป สามารถอยู่ด้วยกันโดยเป็นกลาง แล้วก็ด้วยสันติ  

สันติและเป็นกลาง นี่ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่ามัชฌิมา คือเป็นกลางต่อทุกสรรพสิ่ง โดยไม่มีข้อแม้ โดยไม่มีเงื่อนไข ...ไม่มีเงื่อนไข

แต่ก่อนที่มันจะมีอาการที่ยอมรับได้อย่างนี้ มันจะต้องมีอาการเบื่อ ในการที่มันเข้าไปมีเงื่อนไข เข้าไปมีข้อแม้ นี่หน้าเราดำ รับไม่ได้ ต้องทำให้ขาวขึ้น อะไรอย่างนี้ เห็นมั้ย มันมีข้อแม้กับร่างกาย มันมีเงื่อนไข

แต่พอไปนานๆ ปุ๊บ มันจะเห็นว่าไอ้การกระทำอย่างนี้ มันเบื่อ มันเบื่อที่จะไปทำซ้ำแล้วซ้ำอีก สุดท้ายก็ควบคุมไม่ได้ อย่างนี้มันเบื่อ มันเบื่อที่จะต้องไปยุ่งกับมันน่ะ เข้าใจมั้ย 

แต่ก็ต้องยอมรับมันนะ แล้วก็ยอมรับมันนะ แต่เบื่อที่จะไปทำอะไรกับมัน เข้าใจรึยัง อย่างนี้เรียกว่านิพพิทา ในการจะไปเพิ่ม ไปลด ไปต่อ ไปเติม ไปตัด ไปรักษา ไปประคองอย่างนี้ 

มันจะหยุดการกระทำอย่างนั้น ต้องเบื่อก่อน ...จิตมันจะเบื่อน้อยๆ ไม่ใช่เบื่อแบบ อยากฆ่าตัวตาย เบื่อแบบอยู่ร่วมกันไม่ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น

นิพพิทานี่เป็นอารมณ์ที่ละเอียด เป็นอารมณ์ที่ละเอียด แต่ว่าจะเบื่อแบบคลายออก 


โยม –  ถ้าเกิดอย่างเช่นว่ามีคนมานินทาเราบ่อยๆ แล้วมีคนเอาเรื่องมาเล่าให้เราฟัง แล้วเราเห็นอย่างนี้ซ้ำๆ เราเบื่อ ไม่อยากฟัง อย่างนี้ถือว่าเป็น...

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่นิพพิทา ...ไอ้นี่เป็นโทสะ เป็นการปฏิเสธนะ เห็นมั้ย มันมีความไม่อยากอยู่ ไม่อยากรับรู้ มันเบื่อแบบ ไม่อยากเห็นมันน่ะ ไม่อยากให้ผัสสะนี้กระทบอีก ...มันไม่เป็นกลางนะนั่นน่ะ


โยม –  แต่ถ้าเกิดเป็นนิพพิทาก็คือฟังมันไป แต่ไม่ได้สนใจมัน

พระอาจารย์ –  เฉยๆ จะเป็นเฉยๆ จะมีความหน่ายๆ แค่นั้นเอง หน่ายในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่หน่ายเพราะเสียงพูด แต่หน่ายเพราะซ้ำซากอย่างนี้ เพราะมันควบคุมไม่ได้และห้ามไม่ได้

แล้วเราต้องเจอกับมัน อยู่กับทุกข์ เห็นทุกข์อยู่โดยที่ว่าไม่สามารถหนีมันได้ นี่คือนิพพิทา แต่ว่าสามารถอยู่กับมันได้ด้วยจิตที่เป็นกลาง ...ก็ยอมรับ แต่ว่าไม่ไปทุกข์กับมัน เพราะว่ามันเป็นความเป็นจริง

แต่ว่าไอ้เบื่อแบบนี้เขาเรียกว่าโทสะ เบื่อแบบหนี ฉันไม่เอาเธอ ผัวกับเมียเลิกกันนี่ ด้วยนิพพิทาเหรอ  เวลามันทะเลาะกัน ฉันนิพพิทาเธอ เธอนิพพิทาฉัน ต่างคนต่างเบื่อหน่าย แล้วขอหย่าเลย 

อันนี้เขาเรียกว่าเบื่อหน่ายแบบโลก เข้าใจไหม เบื่อแบบอยู่ร่วมกันไม่ได้ ...แต่เบื่อหน่ายนิพพิทาไม่ใช่อย่างนั้น เบื่อแต่ต้องอยู่กับมัน โดยสันติ ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นสุขกับมัน เป็นกลาง อะไรก็ได้ อย่างเนี้ย


โยม –  เบื่อแบบมีปัญญาใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ ไม่ใช่เบื่อแบบโง่ๆ เบื่อแบบฉันเลิกกับเธอแล้วฉันจะหาใหม่ อะไรอย่างนี้ ...นี่มันมีการแสวงหาภพอยู่ ให้สังเกตดู มันหาภพที่มันไม่รับรู้ ว่าอย่างนั้นมันดีกว่า 

มันมีการเปรียบเทียบ ...นี่เกิดจากความปรุงแต่งของจิต ทุกอย่างน่ะเป็นเรื่องจากความปรุงแต่งของจิตทั้งหมด เป็นทิฏฐิสวะ เป็นกามาสวะ เป็นภวาสวะ ด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้น


(ต่อแทร็ก 1/17  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น