วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/17 (1)



พระอาจารย์
1/17 (25530403A)
4 เมษายน 25553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้ยาวมากๆ ขอแบ่งช่วงเป็นการโพสต์เป็น 4 บทความนะคะ)

พระอาจารย์ –  พระพุทธเจ้า...ท่านมองไกล ท่านมองกว้าง ท่านไม่มองแคบๆ เพียงแค่เฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม

ศาสนาท่านประกาศไว้กับสัตว์โลก ท่านไม่ได้ให้เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งด้วยซ้ำ ไม่ได้หมายความว่าคนมานับถือศาสนาพุทธเท่านั้นนะ ...ท่านบอกว่าประกาศกับสัตว์โลกน่ะ มนุษย์ทั้งโลก

เพราะอะไร ...แค่นั่งอยู่...รู้มั้ยว่านั่ง คิด...รู้มั้ยว่าคิด คนอิสลามมานั่งนี่ ถามเขาดูว่านั่งแล้วเขารู้มั้ยว่านั่ง โกรธรู้มั้ยว่าโกรธ เข้าใจมั้ย รู้ได้เหมือนกันมั้ย พุทธ คริสต์ อิสลาม นี่ เป็นอารมณ์ธรรมดาของสัตว์โลกรึเปล่า

เนี่ย ถ้าเจริญด้วยปัญญานี่ จะไม่มีว่าแบ่งชนชั้นวรรณะเลย จะไม่มีเป็นเฉพาะว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ...มันเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งมีทุกคนไม่ว่าศาสนาไหน ว่างั้นเถอะ  โลภโกรธหลงมีเหมือนกันหมด

เราไม่ต้องเรียกชื่อว่าโลภโกรธหลงด้วยซ้ำ ถามว่าเป็นยังไง รู้สึกยังไง มันก็จะตอบได้ด้วยตัวของมันเองว่าอาการนี้เรียกว่าอะไรตามภาษาแล้วแต่จะบัญญัติของเขาไป

ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ต้องว่าอะไรน่ะ รู้ก็ตาม-ไม่รู้ก็ตามโดยบัญญัติหรือสมมุติ ...แต่ให้รู้ว่ามันมีอย่างนี้เกิดขึ้น เอาสติเข้าไปดู แล้วก็เห็น แล้วก็ดูต่อไปว่ามันจะเป็นอย่างไร แค่นั้นเอง

เพราะนั้นการปฏิบัติ ศาสนาพุทธจึงเป็นสาธารณะ เป็นกลาง เป็นของกลางของสัตว์โลก ...ไม่ได้เฉพาะพวกทำกรรมฐาน ไม่ได้เฉพาะพระหรือแม่ชี

ไม่ใช่เฉพาะผู้ต้องมาอยู่คนเดียว เลิกกับผัวเลิกกับเมีย หรือออกจากการงานมาตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเอาเป็นเอาตาย ต้องเคร่งครัดในศีลวัตร ใส่บาตรทำบุญให้ทาน

อันนั้นมันธรรมเนียม เข้าใจคำว่าธรรมเนียมมั้ย มันเป็นการที่ว่า...เหมือนเป็น Accessory น่ะ ...เพื่อให้อะไร  เพื่อให้ศาสนาในรูปแบบนั้นดำรงอยู่ถึงห้าพันปี

ถ้าไม่มีลักษณะการปฏิบัติหรือว่าพระเณรชีอุบาสกอุบาสิกา ศาสนาพุทธก็ไม่สามารถจะยืนได้ถึงห้าพันปี ท่านจึงมาฝากไว้กับอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุภิกษุณีนี่ เพื่อให้ธำรงศาสนาไว้ในลักษณะของรูปแบบ

แต่คำสอนของท่าน ท่านไม่ได้จำเพาะแค่นี้ แค่อุบาสกอุบาสิกา ภิกษุภิกษุณี  ...ฝรั่งมังค่านี่ที่มาหาเราก็เยอะ ไม่ได้นับถือพุทธด้วย ก็ยังฟังได้ และน้อมได้ ไปปฏิบัติได้ เข้าใจได้ 

ไม่ต้องใส่บาตรเลย ไม่ต้องไหว้พระเลย ทำไม มันจะรู้ไม่ได้รึไง มันจะรู้ได้เฉพาะคนใส่บาตรรึไง มันจะรู้ได้นี่ต้องปวารณาเป็นพุทธมามกะหรือ ใช่ไหม อันนี้คือพูดแบบตรงๆ ง่ายๆ 

เราไม่ต้องมาแบ่งอะไรกันแหละ ความเป็นจริงมีเหมือนกันหมดไม่ว่าชาติไหนศาสนาไหน เด็กผู้ใหญ่ จะมีความเชื่อ ทิฏฐิอย่างไหนก็ตาม แต่โลภโกรธหลงมันมี และความอยาก-ความไม่อยาก มันรู้จักทุกคน

แล้วก็ไม่ต้องว่าต้องทำพิธีอะไรในการที่จะไปกำจัดหรือทำลาย ...แต่ท่านให้เห็นความเป็นจริงของอาการทั้งหลายทั้งปวง ว่ามันอย่างไร มันตั้งอยู่อย่างไร แล้วสุดท้ายของการตั้งอยู่ของมันน่ะคืออะไร

ถ้าดูแบบจิตเป็นกลางๆ นะ ไม่ต้องไปเอาพิธีรีตอง หรือเอาความเห็นเข้าไปสอดแทรก หรือเอาทิฏฐิเข้าไปสอดแทรก ว่าจะต้องอย่างนั้น หรือว่าจะต้องเป็นอย่างนี้หรือเปล่า 

ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ นี่ ก็จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าการันตีว่า มันดับไปเอง ...สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้หรอก ไม่มีคำว่าถาวร

อันเนี้ย ถ้าเห็นอย่างเนี้ยตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่ไปปรุงต่อ ไม่ไปเพิ่ม ไม่ไปลดกับมัน ...ก็จะเห็นธรรมตามความเป็นจริง

จะเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์หรือชาวอิสลาม ...ถ้าเห็นอย่างนี้ มันเรียกว่ามีปัญญาแล้วแหละ มีปัญญาทั้งนั้นแหละ ถ้าเห็นแค่นี้ แล้วเห็นบ่อยๆ เห็นซ้ำซาก เห็นเรื่อยๆ

เห็นมันซ้ำซากเข้าไปเถอะ ...“เรา” อาจจะไม่เข้าใจ เราอาจจะไม่ยอมรับ แต่จิตที่เห็นนี่เขายอมรับ ... “เรา” ไม่เกี่ยว ...บางเรื่องนี่ เราไม่รู้ไม่เข้าใจกับมันด้วยซ้ำ แต่จิตมันมีความเข้าใจในตัวของมันเอง 

ตรงนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าปัจจัตตัง ...คำว่าปัจจัตตังเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ ไม่ใช่ “เรา” เข้าไปปัจจัตตัง  “เรา” ไม่ปัจจัตตังหรอก เราจะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม แต่จิตมันไม่เอาแล้ว ...อยากจะทำ แต่จิตบอกไม่เอาน่ะ

เห็นมั้ย บางอารมณ์บางเรื่อง สมมุติโลกเขาบอกต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ เราก็ว่าน่าจะทำอย่างนั้น แต่พอจะทำจริงๆ จิตมันไม่ยอมน่ะ จิตมันไม่เอา ไม่รู้จะทำทำไม มันไม่เอา จิตมันถอยออกอย่างนี้

นั่นแหละคือความเห็นของจิตเอง มันจะเกิดด้วยปัจจัตตัง...เข้าไปทำลายความเห็นผิดในตัวของจิตเอง ด้วยการที่จิตดวงนี้...เห็นซ้ำซาก

เห็นอะไรซ้ำซาก ...เห็นว่ามันชั่วคราว  มีอะไรเกิดขึ้น อยากได้ก็ตาม ไม่อยากได้ก็ตาม พอใจก็ตาม ไม่พอใจก็ตาม เห็นเฉยๆ รู้เฉยๆ ...สุดท้ายแล้วก็คือ มันหมดไปเองน่ะ

อยากได้ขนาดไหน เอ้า อยากให้จิตดีขนาดไหน ทำเข้าไป เอ้าลองทำเข้าไป ทำๆๆ  สมมุติว่าได้ ...ได้ขึ้นมานี่ อยากให้มันอยู่ บอกให้มันอยู่ซิ มันอยู่ให้แค่ไหน เห็นไหม เอาอะไรไม่อยู่หรอก

เห็นเข้าไปอย่างนี้ จิตมันจะเรียนรู้ จิตเขาเรียนรู้ด้วยเห็น รู้และเห็นตามความเป็นจริง ... “เรา” จะยอมรับหรือไม่ยอมรับไม่รู้ล่ะ แต่จิตเขาเริ่มยอมรับแล้ว...ด้วยปัจจัตตัง

พอมันเต็มรอบ เต็มที่ เต็มกำลังของมัน เนี่ย ...เราไม่ต้องถามว่าเมื่อไหร่ เวลาไหน วันไหน ...ไม่มีเวล่ำเวลา อกาลิโกๆ ไม่มีกาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล

เรียนรู้สะสมปัญญาไปเรื่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ ...มาร้อยครั้งก็จะเห็นร้อยครั้ง มันจะซ้ำซาก มันจะไม่หมดไม่สิ้น ก็จะเห็นซ้ำซากไม่หมดไม่สิ้น ...จะไปกลัวทำไม 

ถึงมันอยู่ ก็ไม่ต้องไปชิงละ ชิงตัด ชิงอะไร ...มันไม่ละก็ไม่ละ ออกมาอีกก็รู้อีก ไม่ทำอะไรเลย เข้าใจไหม โดยการที่ว่าต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ 

แล้วเราถอยแล้วเราไม่จับไม่ต้องอะไรเลย มันยังมีผล จิตเขาก็เรียนรู้ด้วยปัญญา เขาสะสม จนพอเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกๆๆ มันเริ่มเบื่อหน่าย ...กูจะเอาไปทำไม จิตมันจะรู้สึกว่า แล้วกูจะไปยุ่งกับมันทำไม 

เพราะขวนขวาย ดิ้นรน ทะยาน ได้มาก็แค่นั้นแหละ สุดท้ายก็หลุดมือ สุดท้ายก็หายไป สุดท้ายก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะทุกข์ ไม่ว่าจะหมายเอาว่าเป็นสุข ไม่ว่าจะหมายว่าดี-ไม่ดี ไม่ว่าจะหมายว่าถูกว่าผิด 

มันไม่เคยคงอยู่หรอก ...นี่คือความจริงที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็น ให้จิตมันเห็นนะ 

พวกเราจะเห็น...ทุกคนนี่ ที่พูดไปนี่ มันก็เข้าใจทั้งนั้นแหละ คือ “เรา” เข้าใจ แต่จิตยังไม่เข้าใจ มันยังไม่มีการยอมรับ มันยังมีมิจฉาทิฏฐิ มันยังมีความไม่รู้ปกปิดอยู่

ก็ทำให้มันรู้เข้าไปเรื่อยๆ แล้วมันฉลาดเอง จิตเขาฉลาดเอง เราอาจไม่ฉลาดตามจิตหรอก หรือเราอาจฉลาดเกินจิต รู้มากกว่าก็ตาม แต่จิตเขาไม่ยอมรู้ด้วยน่ะ 


โยม –  แล้วทำยังไงให้มันรู้ด้วยล่ะคะ

พระอาจารย์ –  เอ้า ก็ดูไปเรื่อยๆ นี่แหละ  สตินี่ ดูความเป็นจริงเรื่อยๆ จะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม


โยม –  ถ้าเกิดเราดู มันไม่ดูอ่ะ มันไม่สนใจ เราดูแล้วมันแบบ มัน negative มันออกไปที่อื่น มันไม่สนใจ ไม่อยากดูน่ะ ความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้น มันต้านน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  อย่างนี้ก็เรียกว่า เราก็ต้องทวน...ทวน ทวนกลับมาดู


โยม –  ทวนกลับมาดู ...ถ้าเกิดเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ก็ตั้งใจดูอีกอย่างนั้นหรือคะ

พระอาจารย์ –  ต้องตั้งใจดู อย่าปล่อยปละละเลยๆ อย่าขี้เกียจ อย่าขี้เกียจดู (โยมหัวเราะ) เพราะเวลาดูแล้วมันจะฝืน มันจะฝืด มันจะอึดอัด


โยม –  มันบีบรัดตัว

พระอาจารย์ –  เพราะความทะยานอยากมันแรง มันคุ้นเคยกับความที่ว่า...จิตที่ไม่รู้อะไรมันทำไปตามอารมณ์ มันสบายใจน่ะ มันเหมือนไม่มีอะไรขัดขวางมันน่ะ

แต่พอเราเริ่มดูปุ๊บ มันจะมีอาการหยุด เข้าใจมั้ย พอรู้ปุ๊บมันจะหยุด หยุด ...เหมือนกำลังกินข้าวเพลินๆ มันๆ แล้วมีอะไรมาขัดจังหวะน่ะ แหม มันต้องลุกไปทำนู่นทำนี่  เข้าใจไหม

เห็นไหม มันไม่ต่อเนื่องของความทะยานออกไป อย่างนี้...เราจะต้องทวน


โยม –  หมายถึงว่ามันฟุ้งซ่านใช่มั้ย

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง คือมันไหลไปตามความปรุงแต่ง เพราะว่าความปรุงแต่งนี่มันออกมาจากความไม่รู้นะ ...ไม่รู้อะไร ...คือไม่รู้ว่ามันปรุงแต่งไปเพื่ออะไร

มันปรุงแต่งเพื่อไปหาเวทนาใหม่ ความรู้สึกใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดี๋ยวนี้ คือพูดง่ายๆ อย่างเดี๋ยวนี้ นั่งอยู่รู้อยู่ในปัจจุบันนี่เรียกว่าภพปัจจุบัน ปัจจุบันภพ 

คือปัจจุบันจิตปัจจุบันกาย ตอนนี้คือหนึ่งภพ ปัจจุบันนี่มีหนึ่งภพ ...แต่พอดูปุ๊บ จิต...ด้วยความไม่รู้ว่าไอ้นี่ เดี๋ยวก็เปลี่ยนไป ภพนี่เปลี่ยนไป  

แต่มันดูแล้วมันเป็นอย่างนี้ ดูแล้วมันก็เห็นอยู่อย่างนี้ มันคิดว่าน่าจะมีอารมณ์ที่ดีกว่านี้ ...จิตมันก็เลยมีการปรุงต่อ ปรุงหา หาว่าทำอย่างไร จิตจะวางอย่างไร แล้วมันจะมีความรู้สึกที่ดีกว่าตรงนี้

เห็นมั้ย มันหนีภพนี้ จะไปสร้างภพใหม่ไว้รองรับ ด้วยความไม่รู้ว่า...ไอ้ภพที่มันออกไปหานี่ ถึงทำหรือได้มา เดี๋ยวมันก็ดับไป เข้าใจไหม ...เพราะมันไม่เห็นว่าไอ้ที่กำลังหาอยู่น่ะ จริงๆ ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ


โยม –  แต่คิดไว้สวยก่อน

พระอาจารย์ –  มันคิดว่าถ้าได้อย่างนั้นแล้วมันจะมีความรู้สึกที่ดีกว่านี้ เห็นไหม มันเข้าไปเสวยเวทนาในลมๆ แล้งๆ  แล้วความเป็นตัวตน เกิดตรงนี้ เป็นตัวเป็นตน เป็นเรื่องเป็นราว นี่คือความเป็นตัวตน 

เห็นความปรุงแต่งเป็นตัวเป็นตน แล้วไม่รู้ว่ามันไม่มีตัวไม่มีตน อันนี้เขาเรียกว่าปรุงไปด้วยความไม่รู้ ด้วยความคุ้นเคย เคยชิน...ไม่ต้องสอน มันเป็นเอง ใช่มั้ย ทุกคนเลย มันเป็นอย่างนี้ 

ไปตายเอาดาบหน้าหมดแหละ ...เดี๋ยวนี้ไม่ชอบ ปัจจุบันธรรมดา เรียบๆ ง่ายๆ ไม่มีอะไร เฉยๆ เซ็ง เหงา เบื่อ ไม่รู้จะดูอะไร ...เห็นไหม พยายามหนีแล้วๆ เข้าใจไหม ไม่ยอมรับความจริงในปัจจุบัน


โยม –  แล้วอย่างกรณีที่เป็นบุพเพนิวาสนุสติญาณหรือญาณหยั่งรู้ มันเกิดได้อย่างไรคะ คือแบบปฏิบัติจนกระทั่งถึงจุดนึงซึ่งเราสามารถ

พระอาจารย์ –  ลักษณะของเจโตวิมุติ จะสำเร็จด้วย หนึ่ง วิชชา ๓ เป็นอย่างต่ำ สอง อภิญญา ๖ สาม ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อันนี้เป็นเรื่องของกำลังจิตเป็นฐาน

แต่ปัญญาวิมุติ เป็นไปในลักษณะ...ถ้าพูดแบบพระพุทธเจ้าท่านบอก..."แห้งแล้ง"  คือไม่มีอะไร ไม่ได้อะไรเลย เข้าใจมั้ยคือไม่มีอะไร ไม่รู้อะไรหรอก 


โยม –  แล้วเขาจะได้ญาณมั้ยค่ะ เขาจะได้ญาณหยั่งรู้รึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ไอ้ปุพเพฯ อย่างนี้เหรอ ไม่มี จะไม่มีอะไรเลย


โยม –  ไม่มีของเล่น

พระอาจารย์ –  ไม่มี จะไม่มี เข้าใจมั้ย ...ถ้าอยากได้ สมาธิเยอะๆ เข้าใจไหม พวกนี้


โยม –  แต่มันใช้เวลามากกว่าใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช้เวลามาก บอกให้เลยว่า...ข้ามชาติ  ถ้าชาตินี้ไม่พอหรอก ด้วยกำลังตอนนี้ของพวกเรานะ บอกให้เลย ...ที่ท่านได้กันแต่ละองค์ๆ ท่านสะสม สะสมมาเรื่อยๆ

แต่พวกเราเวลานี้ ถามว่าจะไปทางปัญญาวิมุติหรือเจโตวิมุติ ...ไม่ต้องถาม เราจะบอกให้เลย นั่งสมาธิแล้วยังมานั่งเอาล่อเอาเถิดกับสงบอยู่รึเปล่า หรือสงบได้ตลอดเวลาดั่งใจนึกมั้ย 

เนี่ย จะรู้ได้เลยว่ากำลังเราพอมั้ย ...แล้วมีอุบายที่จะเท่าทันมั้ยในการที่ว่าจะฉลาดพอที่จะเท่าทันจิตในการควบคุมให้มันอยู่กับที่...แต่ละวันแต่ละครั้งน่ะ จิต วันนี้สงบ พรุ่งนี้ไม่สงบ  


(ต่อแทร็ก 1/17  ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น