วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/18 (1)


พระอาจารย์
1/18 (25530403B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 เมษายน 25553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กนี้แบ่งโพสต์ 2 ช่วงบทความค่ะ)

โยม –  อย่างนั้นฌานสมาบัติ จะช่วยอะไรในเชิงสติได้ไหมคะ คือกรณีที่ท่านเดินสมาธิมาถึงระดับนึงแล้วนี่ แล้วก็หันมาเจริญสติต่อ

พระอาจารย์ –  หมายความว่ายังไงล่ะ


โยม –  ในเชิงของการที่ฝึกสมาธิมาจนได้ฌาน แล้วฌานนั้นจะเข้ามาช่วยอะไรในเชิงของการมาเดินวิปัสสนาญาณต่อ

พระอาจารย์ –  โยมฟังนะ อย่างที่โยมพูดนี่ โยมยังไม่เข้าใจ นะ... ในหลักการปฏิบัติ มีเจโตวิมุติล้วนๆ หนึ่ง ปัญญาล้วนๆ หนึ่ง แล้วยังมีเจโตกึ่งปัญญาอีกหนึ่ง มีสามลักษณะนะ

ลักษณะของเจโตวิมุติล้วนๆ นี่ จะไม่มีการพิจารณาอะไรเลย จะไม่มีการพิจารณากายเลย จะไม่มีการพิจารณาเป็นอสุภะกรรมฐานเลย ...ลักษณะอย่างนี้จะดำเนินในจิตล้วนๆ 

ด้วยการนั่งสมาธิ นั่งเข้าฌานล้วนๆ เลย ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สมาบัติ ๘ นะ เพิ่นจะเข้าในลักษณะของสมาบัติ ... เพิ่นจะเข้าในสายของสมาบัติล้วนๆ เลย 

คือเดินในจิตล้วนๆ ด้วยการกำหนดจิตล้วนๆ เอาความสงบเป็นรากฐานล้วนๆ ...ลักษณะนี้จะไม่ถอยเลย จะไม่ถอยจิตออกมาพิจารณาอะไรทั้งสิ้น จะไม่มาสร้างสติภายนอกอะไรทั้งสิ้น

แต่ลักษณะของเจโตวิมุติล้วนๆ นี่ จะอาศัยเห็นความเกิด-ดับของสมาบัติ ระหว่างรูปฌานหนึ่งดับ แล้วไปเป็นรูปฌานสอง รูปฌานสองดับแล้วมาเป็นรูปฌานสาม 

บางทีรูปฌานสามดับแล้วลงมาเป็นรูปฌานหนึ่ง หรือรูปฌานหนึ่งแล้วกระโดดไปเป็นรูปฌานสี่ หรือรูปฌานดับแล้วเกิดไปเป็นอรูปฌานหนึ่ง

เห็นไหม เพิ่นจะไปเป็นสติที่เห็นไตรลักษณ์ในสมาบัติล้วนๆ เลย ...จะไม่อาศัยการพิจารณาอะไรเลย  เห็นไปเรื่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ จนจิตเห็นไตรลักษณ์ในสมาบัติ 

ระหว่างการข้ามสมาบัติ กระโดดข้ามกันไปข้ามกันมา สลับกัน เห็นความไม่เที่ยง การไม่คงอยู่ของสมาบัติต่างๆ  ของสภาวะจิตในรูปฌานหนึ่งกับสองนี่ต่างกัน จะเป็นรูปฌานสองได้ รูปฌานหนึ่งต้องดับ

นี่ เขาเรียกว่าพิจารณาภายในล้วนๆ เรื่องของเจโตล้วนๆ เลย เจโตจิตล้วนๆ เลย  จนเต็มกำลังพั้บ จิตจะรวมไปดับถึงเนวะ เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ ตรงนั้นถึงจะเรียกว่านิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่ ๙

เมื่อเข้าถึงสมาบัติที่ ๙ นี่ดับหมดเลย นี่เข้าถึงนิโรธ จิตจะเข้าไปดับเลย เข้าไปดับความเห็นผิด ความเป็นตัวเป็นตนของสมาบัติหรือรูปสมาบัติหรืออรูปสมาบัติ 

แล้วจะออก ถอนจากสมาบัติ ท่านเรียกว่าผละสมาบัติ พอเข้าถึงผละสมาบัตินี่ นี่คือสภาวะจิตของอนาคามีเลย เข้าใจมั้ย เป็นอย่างนี้ นี่คือเจโตวิมุติล้วนๆ …ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีแล้ว

แล้วยังมี เจโตกึ่งปัญญาวิมุติ  เนี่ย ต้นสายใหญ่คือหลวงปู่มั่น นี่คือสายนี้ทั้งหมดเลย... ลักษณะนี้ดำเนินจิตอยู่ กึ่งเจโต กึ่งปัญญา 

เข้าสมาธิอยู่ ทำจิตรวมอยู่  แต่ถอย ถอนจิตออกมา เวลาจิตหมดกำลัง เพิ่นไม่กลับไปกำหนดกำลังซ้ำ หรือว่าเพื่อข้ามไปสู่สมาบัติที่สูงกว่า

พอสงบแล้วถอนปั๊บ ระหว่างจิตรู้ รับรู้ว่าเป็นแค่ขณิกะหรืออุปจาระ ตรงนี้จิตจะมีการปรุงแต่ง อาศัยเอาความปรุงแต่งนี้มาปรุงแต่งเรื่องกายกับจิต เอามาพิจารณา เข้าใจมั้ย 

เอามาพิจารณากายกับจิต ในแง่ไหนก็ได้ แยกแยะก็ได้ ทำความละเอียดกับมันก็ได้ ดูความไม่สวยไม่งามก็ได้ ดูความไม่มีตัวไม่มีตนก็ได้ ดูความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาก็ได้ 

ถอยมา อาศัยจินตาเข้าประกอบ นี่เรียกว่าเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หลังจากเข้าสมถกรรมฐาน ทำงาน ...กรรมฐานแปลว่างาน ที่เป็นที่ตั้งของจิต สมถกรรมฐานที่ตั้งของจิตก็คือความสงบ เป็นงาน ทำงาน

เมื่อจิตเลิกทำงานในความสงบ ถอยออกมาเป็นวิปัสสนากรรมฐาน คือการพิจารณา


โยม –  ใช้มันมาเป็นกำลังในการพิจารณา

พระอาจารย์ –  ถ้าอย่างโยมนี่ ให้ถึงคิดถึงกาย คิดได้ไม่ถึงห้านาที มันไปคิดถึงกายคนอื่นแล้ว เข้าใจมั้ย 

แต่ว่าถ้าด้วยกำลังที่มันมั่นคงตั้งมั่น เป็นสมาธิ เวลาถอยออกปุ๊บ มันสามารถจะรวมอยู่ได้ช่วงหนึ่ง ระยะหนึ่ง สามารถจะจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วมันสามารถจะพิจารณาได้ชัดเจน

ตรงเนี้ย ท่านอาศัยตรงเนี้ย แล้วท่านพิจารณาไปซ้ำๆ ...ถ้าพิจารณาปั๊บ พิจารณาไปๆ ปุ๊บ คล้อยตาม เชื่อตามที่เราตั้งเป้าไว้ ก็พิจารณาต่อไป

แต่ถ้าพิจารณาไปเริ่มไม่ชัดเจน เริ่มไม่คล้อยตามแล้ว เริ่มเป็นของสวยอีกแล้ว จะมองเป็นอสุภะทำไมยังเป็นสุภะอยู่ เพิ่นจะต้องถอยจิตกลับมา เข้าสมถกรรมฐานใหม่ มารวมจิตใหม่ให้มีกำลังมากขึ้น แล้วค่อยไปพิจารณาซ้ำ

ท่านจะทำซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ซ้ำซากอย่างนี้ สลับกันไป ระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน แล้วมันจะมีที่สุดของมัน มันจะเป็นที่สุดของวิปัสสนากรรมฐาน 

ถ้าพิจารณากายไป ถ้าเป็นในแง่ของอสุภะ ที่สุดของอสุภะปุ๊บนี่ มันจะเห็นนิมิตเป็นอสุภะไปหมดเลย


โยม –  มีการม้างกายอย่างนี้เหรอเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  เออ ม้างกายก็ได้ แยกกาย แยกธาตุแยกขันธ์ แยกออกมาเป็นดินน้ำไฟลม ได้หมด แยกออกมาเป็นส่วน เนื้อกองนึง หนังเอาไว้กองนึง ตับไตไส้เอาไว้กองนึง น้ำเลือดหนองไว้กองนึง 

เนี่ย แยกเป็นส่วนๆ อย่างนี้ อันนี้เรียกว่าแยกกาย พิจารณาแง่ไหนได้หมด หรือในแง่อสุภะก็ให้เปื่อยเน่าอย่างนี้  พิจารณาซ้ำไปซ้ำมา จนกำลังเต็มที่ เริ่มเต็มที่นี่ 

อย่างเวลาเราคิด เวลาเราคิดถึงใครนี่ เห็นภาพมั้ย เห็นภาพคนนั้นใช่ไหม อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นอุคคหนิมิต ระหว่างที่พิจารณานี่ก็พิจารณาด้วยอุคคหนิมิต เป็นนิมิตที่สร้างอิมเมจในจิตขึ้นมา

แต่ว่าเมื่อเต็มกำลังของวิปัสสนากรรมฐานเมื่อไหร่ อุคคหมิมิตจะทวีความเข้มข้นขึ้นหรือว่าชัดเจนขึ้น จนท่านเรียกว่าเป็นปฏิภาคนิมิต คือเหมือนเห็นกับตาเลย 

มันไม่ใช่แค่นึกหรือว่าน้อมให้เห็นภาพ แต่มันเห็นเลยนี่ จิตนี่เห็นเลย ...เพราะนั้นเมื่อเป็นปฏิภาคเมื่อไหร่ หลับตาลืมตา เห็นเป็นกระดูก เน่า ดูปุ๊บ กำหนด จ่อเข้าไปนี่ พั่บๆๆ

เพราะนั้นเมื่อเห็นรูปขนาดนี้ เป็นปฏิภาคแล้วนี่นะ เพราะนั้นระหว่างนี้นี่ไม่ต้องถามอารมณ์ ราคะไม่ต้องถาม ไม่เกิดหรอก ไม่มีหรอก  พอใจ-ไม่พอใจไม่มีหรอก 

มันเป็นอุเบกขาตลอด แล้วก็มีความเบื่อหน่าย เบื่อแบบไม่อยาก


โยม –  ถ้าอย่างนี้เทียบเป็นญาณ ญาณที่เท่าไหร่คะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องเทียบญาณเลย เข้าใจมั้ย  เพราะลักษณะวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน จะไม่เรียกเป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่เอาขั้นของวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนาภูมิมาเกี่ยวเลย 

เป็นเรื่องของจิตเห็นจิตรู้ล้วนๆ ...แต่กำลังที่สุดของปฏิภาคนิมิตนี่ ดับ เห็นเน่าเปื่อย เห็นจนเป็นกระดูกแล้ว กระดูกนี่จะเริ่มสลายแล้ว จะเริ่มแตก  พอแตกปุ๊บ รูปนี่ไม่คงอยู่แล้ว 

พอดู ...จิตนี่เห็นคนปุ๊บนี่มันแยกๆๆๆ พึ่บ หายเลย ดับเลย รูปดับเลย ...แต่รูปจริงๆ ยังอยู่นะ แต่ที่จิตเห็นนี่ดับหมด ดับเลย หาความเป็นรูปไม่มี  

แล้วมันไม่เห็นแค่รูปคน รูปสัตว์ ตาเห็นวัตถุสิ่งของนี่ จิตกระทบอายตนะปั๊บ ดับพึ่บเลย เข้าใจมั้ย ดับพึ่บๆๆๆ หมด จนดับทั้งโลกธาตุ คือจะเห็นความดับไปทั้งโลกธาตุ

แต่กิเลสยังไม่ดับนะ บอกให้นะ ยังไม่ดับเลย ...มันเป็นแค่ความเห็นของจิตด้วยกำลังที่เป็นมหัคคตจิต มหัครจิต หรือยังอยู่แค่อุบาย ...เพราะเราทำขึ้น เข้าใจมั้ย 

เราทำขึ้นด้วยการน้อมจิตไปเรื่อยๆๆๆ แล้วสร้างเสริมกำลังความเห็น สร้างความเห็นขึ้นมาลบสัญญาเก่า สร้างสัญญาใหม่ขึ้นมาให้เห็นต้องเป็นอย่างนั้น แล้วจิตมันจะดำเนินไปตามครรลองนี้


โยม –  เมื่อกี้ที่ท่านบอกว่าแยกธาตุน่ะค่ะ เห็นเป็นเลือดเห็นเป็นอะไรนี่ คิดไปเองหรือว่า...

พระอาจารย์ –  คิดสิ แรกๆ ต้องมีจินตามยปัญญาก่อน คือใช้คิดน้อมไปเรื่อยๆ แล้วมันจึงเกิดเป็นปฏิภาค  ถ้าเป็นปฏิภาคนี่ไม่ได้คิดแล้ว มันแยกออกให้เอง  

เหมือนกับเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เหมือนกันกับที่เราดูจิตน่ะ เรารู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม แต่จิตเขาเห็นหรือไม่เห็นนั่นอีกเรื่องนึง เข้าใจมั้ย เขายอมรับหรือไม่ยอมรับนั่นอีกเรื่องนึงเหมือนกัน


โยม (อีกคน)  แล้วจากอุบายเมื่อสักครู่ แล้วท่านดำเนินยังไงต่อครับ

พระอาจารย์ –  พอดับพึ่บหมดแล้ว พิจารณาอะไรไม่ได้แล้ว ไม่รู้จะพิจารณาอะไร ...พิจารณาตรงไหน...ดับหมด พิจารณาอันไหน...ไม่มี...หมด  รูปก็ไม่มีนามก็ไม่มี ดับหมด

มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ดับ ...อะไรไม่ดับ ... ใจ ... กลับมาถึงใจ ไม่ดับ ไม่เกิด  พิจารณายังไงก็ไม่ดับ มันรู้อยู่ตลอด มันเห็นเป็นดวงจิต โด่ เป็นเอกเทศอย่างนั้นเลย เป็นก้อนเป็นดวง 

ตรงนั้นน่ะจึงจะเริ่มเกิดวิปัสสนาญาณ


โยม –  น่าจะเป็นเรื่องยากนะเจ้าคะ

โยม –  ค่อยมาพิจารณาเอาหรือครับ

พระอาจารย์ –  ไม่พิจารณาแล้ว เลิกพิจารณาแล้ว


โยม –  อ๋อ มันอัตโนมัติ

พระอาจารย์ –  เออ มันเริ่ม...เริ่มเข้ามาเห็นไตรลักษณ์ของสิ่งที่มากระทบจิตแล้ว ตรงนี้ถึงจะเริ่ม ...จิตเริ่มเห็นไตรลักษณ์แล้ว

แต่ที่ทำมาทั้งหมดนี่...เกิดจากการกระทำ เข้าใจไหม เป็นอุบาย ...เข้าใจคำว่าอุบายหรือยัง กะไอ้ที่ว่าปัญญาวิมุตินี่ เข้าใจไหม ว่าจุดของปัญญาวิมุติอยู่ตรงไหน

ถึงจุดนี้เมื่อไหร่ มันจะไปลบความหมายของคำว่าปัญญาวิมุติ หรือเจโตวิมุติทันที คือมันจะรวมเป็นหนึ่ง จะไม่มีว่า...ตรงนี้อาการอย่างนี้คือเจโตวิมุติหรือปัญญาวิมุติ 

เพราะมันเป็นเรื่องเดียวแล้ว เรื่องเดียวกัน ...สุดท้ายคือเรื่องนี้...กลับมาอยู่ที่ใจ  สุดท้ายสติท่านจะอยู่ที่ตรงนี้...ที่เดียวเท่านั้น ไม่ออกนอกนี้แล้วๆ


โยม –  แต่ในขณะที่เรากำหนดสติปัฏฐานสี่นี่ พระไตรลักษณ์จะเกิดตลอดเวลา

พระอาจารย์ –  ตลอด ...จิตจะเห็นไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา แล้วมันจะสะสมปัญญาญาณไปเรื่อยๆ จนมันเห็นว่า เนี่ย จุดตั้งต้นจาก...ศูนย์ไปหนึ่ง  แค่หนึ่งกูก็ทุกข์แล้ว  

จิตมันบอกนะ เราไม่ได้บอกนะ ...จิตมันบอกอย่างนี้ จิตมันรู้ด้วยปัจจัตตัง ถ้าออกนอกนี้ไป...ทุกข์ ออกนอกนี้ไป...ทุกข์

ลองนึกว่านี้ซิ นี้ๆๆๆ เข้าใจมั้ยถ้าออกนอก “นี้” เมื่อไหร่...ทุกข์  “นี้” คือ นี่ คือปัจจุบันนี่ มันจะอยู่ที่นี้ ที่ใจ อยู่ที่เดียว


โยม –  อย่างนี้จิตมันก็ไม่ส่งออกเลยสิคะ มันก็อยู่แต่ข้างในอย่างเดียว มันก็ดูแต่ข้างในอย่างเดียวเลย มันก็พิจารณาจุดเด่นในการทำงาน

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง


โยม –  แล้วสติมันไปครอบให้จิตมันอยู่ คือมันจะมีสติครอบจิตยาวขนาดนั้น นานขนาดนั้นเลยหรือคะ คือมันเหมือนกับเล็งตลอดเวลา

พระอาจารย์ –  มันไม่เหมือนกับที่เราคิดหรอก ขันธ์ก็ยังมีตลอด ขันธ์ก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา ความคิดความปรุงแต่งก็ยังมีตลอด เวทนาก็มี สัญญาก็มี วิญญาณก็มี รูปก็มี ...แต่เป็น “สักแต่ว่า” บอกแล้วไง เข้าใจมั้ย


เมื่อไหร่ที่มันไป...ศูนย์เป็นหนึ่ง นี่คือความหมายของอุปาทาน ...ไม่ใช่หมายความว่าความรู้หรือสิ่งที่ถูกรู้ไม่มี ...มันก็มี แต่สักแต่ว่ามี ... มันไม่ใช่เราไปมี ไม่ได้เป็นของเรา


(ต่อแทร็ก 1/18  ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น