วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/16 (3)


พระอาจารย์
1/16 (25530331B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 มีนาคม 25553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/16  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  ด้วยกระบวนการที่เห็นตามความเป็นจริงนี่ จิตเขาจดจำของเขาเอง โดยที่เราไม่รู้เลยว่ามันจำตรงไหนวะ แล้วมันจะไปเพิกถอนออกตอนไหนวะ

เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา เข้าใจมั้ย ...เขาวาง เขาวางของเขาเอง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่การวางนี่จะต้องได้รับการอนุมัติจากเราถึงจะวางได้นะ

เรายังไม่รู้เลย ยังไม่ได้อนุญาต ทำไมวางวะ ...ก็ เอ๊อะ เรายังไม่ได้อนุญาตเลยทำไมมันยังยึดล่ะ ใช่ป่าว อย่าไปมองแต่ในแง่วาง ...แล้วทำไมโยมเกิดอารมณ์ ก็ไม่ได้ต้องการให้มันเกิด ทำไมมันเกิดล่ะ

ก็ยังไม่ได้อนุญาตเลยน่ะ ทำไมมันเกิดล่ะ ใช่มั้ย ...อ้าว แล้วทำไมเวลาเขาจะวาง โยมต้องอนุญาตเขาก่อนล่ะ อย่างนี้มันคิดเข้าข้างตัวเองรึเปล่า 

จิตเขาดำเนินไปตามขั้นตอนของเขาเอง เขาไม่ได้เกี่ยวกับเราขึ้นกับเรา ไม่ได้เนื่องด้วยเรารู้หรือไม่รู้ หรือว่าเราไม่อนุญาตแล้วเขาจะไม่มีสิทธิ์จะวางได้นะ เราต้องรู้ก่อนนะมันถึงจะวางได้ ...ไม่ใช่นะ 

เขาวางเมื่อเขาพร้อมและพอ...ด้วยตัวของเขาเอง ด้วยญาณทัสนะ  ด้วยการรู้และเห็นตามความเป็นจริง

แล้วก็ไม่ใช่ว่าความเป็นจริงที่รู้อะไรเห็นอะไรเป็นข้อความยังไง เป็น subject ยังไง เป็นเรื่องราวอย่างไร มันจะต้องวางอย่างไร ต้องเห็นการวางยังไงๆ

เพราะ "เรา" นี่มันเป็นแค่ความเห็นหนึ่งเท่านั้น ความเป็นตัวเป็นตนของเรานี่ ...ไม่มี อย่าไปให้ค่าความสำคัญกับตัวเรา

มันก็แค่รู้เฉยๆ รู้เห็น รู้เห็นไป จิตน่ะเขาจะทำความเข้าใจในตัวของเขาเอง ... จิตก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง "เรา" ก็เป็นธรรมชาติหนึ่งของความเห็นหนึ่ง ต่างอันต่างมี ต่างอันต่างจริง

ธรรมชาติของจิตก็จะมี ...คือธรรมชาติของจิตเรามันมีอำนาจกิเลสเจือปนมากน้อยขนาดไหน มันก็แสดงอาการไปตามธรรมชาติของใจดวงนั้น

ก็ให้เรียนรู้ไป เอาสติปัญญามาเรียนรู้ เห็นธรรมชาติของจิตดวงนั้น ให้ฝึกเรียนรู้ไปว่า...เออ มันเป็นยังงี้ เป็นยังงี้ ๆ 

แล้วธรรมชาติของจิตเขาก็จะพัฒนาปรับความเห็น ปรับทิฏฐิสวะ ปรับกามสวะ ปรับอวิชชาสวะ ด้วยตัวของเขาเอง ..."เรา" ไม่เกี่ยวเลยนะ

อย่าไปแสวง บอกให้ อย่าไปแสวงหา ...ยอมรับเท่าที่มี เท่าที่เป็น แล้วไม่ต้องไปอะไรกับมันมากมายกว่านี้  ...ไม่มีอะไร ทำอะไร จับอะไรไม่ถูก...รู้กายลูกเดียว 

ถ้าไปหาจิต มันกังวลมากเกินไปแล้วมันส่ายแส่ซัดเซพเนจร ดิ้นหาถูก หาทางจะดูยังไง จะจับยังไง จะทำยังไงกับมัน จะเอาไว้หรือจะปัดออก หรือจะประคอง หรือมันเพ่ง

อะไรอย่างนี้ เขาเรียกว่ามันเริ่มส่ายแส่สับสนแล้ว ไม่ต้องใส่ใจมันเลย กลับมารู้กายเฉยๆ ทื่อๆ โง่ๆ รู้เฉยๆ เลย จนมันระงับ ตั้งมั่นดีแล้วนี่ แล้วจะเห็น

มันจะแยกแยะออกเอง ว่านี่...อ๋อ มันมีแค่นี้  ...อาการ คืออาการ จิตคือรู้เฉยๆ อาการคืออาการ ไม่มีว่าอันนั้นใช่ อันนี้ไม่ใช่

ทุกอย่างคืออาการที่รู้น่ะ ไม่มีว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี อันนี้ถูกอันนี้ผิดน่ะ ทุกอย่างคืออาการทั้งหมด ...นี่มันจะค่อยๆ ทำความชัดเจนของมันในสติที่มันชัดเจนในการรู้เฉยๆ ของมัน

เพราะนั้นจับอะไรไม่ถูก รู้อะไรไม่ได้ เห็นอะไรไม่ชัด...รู้กายเข้าไปก่อน  เห็นกาย เห็นเป็นก้อนๆ นี่แหละ เวลาขยับก็ให้เห็นว่ามันขยับ  

คือจะไปดูจิตโดยตรงนี่...อย่างพวกเรานี่มันไม่ได้ เข้าใจมั้ย เพราะมันมีภาระที่จะต้องทำ มีงานการ 

มันจะมาเป็นแบบปฏิบัติโดยตรงหรือว่ากำหนดที่จิต หรือว่าตั้งสติอยู่ที่ฐานของใจหรือว่าฐานของจิตของธรรมโดยตรงนี่มันยากสำหรับคนทั่วไป

ก็เอาแบบง่ายๆ เอาเป็นว่าส่วนใหญ่ก็ให้เน้นที่กาย มันง่ายที่สุด ...เพราะว่ามันสามารถรู้กาย เห็นกายแล้วสามารถทำการงานไปด้วยได้ 

มันจะง่ายกว่ารู้จิตแล้วก็ทำงานไปด้วย เพราะการรู้ใจและอาการของจิตนี่ทำงานไม่ค่อยได้ สำหรับโยม(ฆราวาส)นะ


โยม –  มันหายหมดแล้ว

พระอาจารย์ –  เออ โดนคาบไปกินหมด ด้วยความปรุงแต่ง ด้วยอายตนะที่เราต้องมี ต้องทำการงานอะไรนี่ 

แต่ถ้าเราเอาสติมาตั้งอยู่กับกายถึงอิริยาบถมันสามารถทำได้ทุกอย่าง ...ให้สังเกตดูว่าความยากง่ายของสติที่ตั้งอยู่กับกายแล้วทำงาน กับสติที่ตั้งอยู่กับใจแล้วทำงาน จะเห็นว่าอันไหนมันหลุดง่ายกว่ากัน

ถ้าเรามาตั้งอยู่กับกาย จะรู้ได้เป็นช่วง เห็นเป็นกอบเป็นกำกว่า ...ไม่งั้นอยู่ที่ใจแล้วจะเพียรดันทุรังอยู่ที่ใจ ยังไงก็หลง ยังไงก็หาย แล้วก็อยู่แค่นั้นแหละ

แต่ถ้าเวลาเรากลับมาอยู่บ้าน อยู่คนเดียว หมดภาระหน้าที่การงานไม่มีอะไรแล้ว นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ อันนี้ก็ปรารภที่ใจโดยตรงได้ เห็นได้ตลอดน่ะ ก็เห็นเบาๆ ไป 

ก็ดูเหมือนกับที่เห็นกายเป็นปกติอย่างนี้ มันก็มีช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการปรารภใจเฉยๆ ได้โดยตรง

แต่ถ้าเวลาทำมาหากินทำงานทำการ กำลังต้อนรับแขกกำลังพูดคุยนี่ ยังไงก็ต้องอยู่ที่กายน่ะ ถ้าไปรู้ที่ใจนี่...หลุดหมด คุยกับคนนี่ก็หลุดแล้ว คุยกับแขกต้อนรับแขก "สวัสดีค่ะ" นี่ก็หลุดแล้ว ไม่มีอยู่หรอก

แล้วก็พอเห็นไอ้นู่นมาไอ้นี่มาแว้บ จิตก็ไหลไปตามที่เราเห็น ไหลไปตามที่เราได้ยินแล้ว ...แต่ว่าถ้าสติมันตั้งมั่นได้มั่นคงแล้วนี่ มันจะทัน มันจะทันหมด..ทันอาการผิดปกติในจิตเลย

แต่ตอนนี้มันผิดไปจนไม่รู้กี่ผิดแล้ว...มันยังไม่รู้เลย มันหลุดไปกี่รอบแล้ว...ไม่รู้เลย  นี่มันสะสมความผิดปกติไปมาก กว่าจะมารู้ทีมันนาน
 
แต่ว่าถ้ารู้อย่างนี้...อย่างน้อยให้มันเห็นกายอยู่ มันไปไหนไม่ไกลหรอก มันอยู่ในแวดวงนี้ ...พอผิดปกติแรงๆ ปั๊บ มันจะเริ่มสะดุดใจขึ้น จะเริ่มเอ๊ะใจขึ้น มันจะ เอ๊อะ นั่น ง่ายขึ้น ในอาการของจิต

เหมือนกับตีกรอบ เอากายนี่เป็นกรอบ ตีกรอบให้มันอยู่ในกาย ...แต่จิต เวลาเราตีกรอบให้จิต มันตีกรอบไม่ค่อยได้ ไหลไปเรื่อยเปื่อย

ออกทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางปากก็ได้ เห็นมั้ย จิตมันออกได้ทั้งนั้นน่ะ ...แต่พอเอาสติมาตีกรอบอยู่ที่กาย มันไม่ออกนอกกาย

ซึ่งพอตั้งใจดูจิต ส่วนมากเพ่งหมดแหละ ...เพราะว่าพอมันเห็นอะไรชัดเจนขึ้น หรือว่าอารมณ์อะไรที่มันเด่นขึ้นมาปุ๊บ มันจะจดจ่อแล้ว

มันจะมีเจตนากลายๆ ที่จะเข้าไปเพ่งให้มันหายไป ..รอวันดับ ดูแบบ เมื่อไหร่มันจะดับสักที อย่างนั้นมันมีเป้า มันไม่เป็นกลางสักเท่าไหร่


โยม –  แต่พอดูกายแล้วมันจะเห็น

พระอาจารย์ –  มันจะปรับสมดุลของมันให้เป็นปกติมากขึ้น


โยม –  ปรับสมดุลของการดูให้เป็นปกติ

พระอาจารย์ –  ให้สังเกตดูสิ กายนี่มันธรรมดาใช่มั้ย เป็นปกติอยู่แล้วนี่ นั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ ...เขาไม่มีดี เขาไม่มีว่าไม่ดี เราไม่ต้องไปทำอะไร เขาก็เฉยๆ เราก็รู้เฉยๆ อย่างนี้

แล้วมันจะคุ้นเคยกับการที่ว่ารู้แบบปกติหรือว่ารู้กลางๆ นี่รู้ยังไง ...เวลาอาการที่เกิดขึ้นปรากฏขึ้นทางใจก็จะรู้สึกอย่างเดียวกับที่รู้ทางกาย

คือ รู้ธรรมดา เห็นธรรมดา เห็นแบบธรรมดา ...มากก็ได้น้อยก็ได้ เกิดอีกก็ได้ หรือมันไม่ดับก็ได้ อย่างนี้ มันสามารถจะให้เป็นธรรมดาได้แล้ว

แต่เวลาถ้าเราไม่มีสติ ความตั้งมั่นไม่เกิด ไม่มีสมาธิความตั้งมั่นปุ๊บ มันจะกระโดดเข้าไปกระทำ ส่ายแส่ ...เนี่ยคือการไหว สติก็ไหว สมาธิก็ไหว ปัญญาก็ไหว 

มันเบี่ยงเบนไปตามความเห็นความเชื่อหมดแล้ว ว่า... "ต้องอย่างนั้นดีกว่า ต้องอย่างนี้ดีกว่า" ...แล้วเราไม่ทันเลยว่าเรากำลังคิดอยู่กำลังปรุงอยู่


โยม –  คนเรานี่สามารถดูกายไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้เท่าทันจิตแล้วก็ไม่เป็นไรใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร


โยม –  หนูไม่ต้องไปเครียดกับมันเลยว่าหนูดูจิตไม่ออกเลย แต่ดูกายได้ตลอดเลย

พระอาจารย์ –  ดูกายได้  เออ ไม่เป็นไร ...สุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน บอกให้เลย ไม่งั้นพระพุทธเจ้าไม่ตั้งเป็นสติปัฏฐานสี่หรอก ...คือสุดท้าย ให้อยู่ในแวดวงนี้สี่อย่าง

สตินี่สามารถตั้งได้และเข้าถึงธรรมได้ นี่ เข้าถึงความเป็นกลางของมัชฌิมาปฏิปทาได้ ...ก็ไม่ได้ดูกายอย่างเดียว ดูจิตอย่างเดียว หรือดูธรรมอย่างเดียว

 ดูไป ...อะไรก็ได้ แล้วแต่ว่าจะชำนาญ หรือว่าอะไรกำหนดสติแล้วมันสามารถไปตั้งอยู่ได้ อันนั้นน่ะดีหมดแหละ  ถ้าอยู่ที่ใจได้ก็ไม่ต้องมาดูกายหรอก

แต่ถ้าอยู่ไม่ได้สติไม่ตั้ง มีแต่หลงกับหายกับเผลอกับเพลิน รู้ทีไรก็รู้ได้แป๊บนึง หายไปครึ่งชั่วโมง รู้แป๊บนึงหายไปทั้งวันอย่างนี้ ยังดันทุรังต่อ ไม่มีทางชนะมันหรอก

ก็มารู้กาย...ลองดู มันเหมาะอยู่แล้วกายนี่ ...เพราะถ้ารู้ใจได้ จับแล้วมันอยู่หมัด สติตั้งได้เห็นได้ เราก็จะให้ดูตรงนั้นโดยตรงเลย จะไม่มาสอนให้รู้กายหรอก


โยม –  มันไม่ได้หรอก มันไปไม่ได้

พระอาจารย์ –  แล้วเราจะไม่เน้นกับการมานั่ง(สมาธิ)อย่างนี้ เพราะอันนี้มันเป็นการสร้างรูปแบบขึ้นมา สร้างสภาวะขึ้นมา เพราะนั่นมันจะไม่รู้กายกับจิตเป็นธรรมชาติ หรือว่าเป็นธรรมดาหรือเป็นปกติ

มันกลับไปสร้างความผิดปกติทางกาย แล้วมันจะเคยกับมานะหรือทิฏฐิว่าถ้าไม่สร้างความผิดปกตินี้จิตจะไม่ดี


โยม –  จิตมันต่างกันจริงๆ อ่ะค่ะ พอเวลาจะกระโจนไปทำตามรูปแบบนี่ มันรู้สึกเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา แบบเป็นเรื่องเป็นราวมากเลย

พระอาจารย์ –  ก็นี่แหละ ที่บอกให้เห็น...ให้เห็นตามความเป็นจริง คือให้เห็นกันเอง มันจะเข้าใจเองว่า...ทำแล้วไม่ทำ มันได้กับไม่ได้ แล้วมันต่างกันยังไง ...ก็ให้เห็นแค่นี้ ไม่ต้องไปอะไรมากมาย

มันก็เห็นว่าเป็นอย่างนี้ ไม่เห็นมันต้องรู้เลยว่าเรียกว่าอะไรหรือคืออะไร อะไรเกิดอะไรดับ ...แต่มันเข้าใจ ใช่มั้ย เห็นแล้วมันเข้าใจ


โยม (อีกคน)  งั้นถาม หลวงพ่อครับ รู้กาย หลวงพ่อเคยพูดประมาณว่ามันไม่มีชื่อ มันไม่บอกว่าเป็นอะไร ...สภาพมันเป็นยังไงนะครับ สมมุติว่าผมจะเอาไปบอกคนที่ไม่เคยรู้จักว่ารู้กายเป็นยังไง

พระอาจารย์ –  ก็รู้ว่าเป็นก้อนๆ แท่งๆ หนาๆ หนักๆ อย่างนี้ ...รู้กายจริงๆ น่ะ ไม่ต้องบอกด้วยซ้ำกำลังนั่ง กำลังยืน กำลังเดิน คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันกำลังอยู่ในอาการเรียกว่าอะไร


โยม –  มันแค่รู้สึกตัว

พระอาจารย์ –  เออ แค่รู้ตัวเป็นก้อนๆ กำลังอยู่ในอาการอย่างนี้ มันอยู่ทรงอย่างนี้ เป็นวัตถุที่ทรงอยู่อย่างนี้ เข้าใจมั้ย

ถ้ารู้กายจริงๆ น่ะนะ ไม่ใช่มารู้ว่านั่งหนอ นั่งนะ กำลังนั่งๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ...ให้รู้ความรู้สึกทั้งตัวเป็นก้อนๆ กำลังไหวหรือว่ากำลังนิ่ง หรือกำลังเคลื่อนหรือกำลังขยับ

คือมันเป็น.... รู้กายจริงๆ คือกายวิญญาณ เข้าใจมั้ย คือความรู้สึกทางกาย หนักๆ หน่วงๆ เบาๆ ร้อน แข็ง อย่างนี้เรียกว่า รู้กาย  

ไม่ใช่เอาสติไปรู้แล้วก็รู้ว่ามีกระดูกมีหนังมีเอ็น อย่างนั้นไม่ใช่ ให้รู้ความรู้สึกทางกาย เรียกว่ารู้กาย รู้ในลักษณะของสติปัฏฐาน


.................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น