วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 1/16 (2)


พระอาจารย์
1/16 (25530331B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 มีนาคม 25553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 1/16  ช่วง 1

โยม –  พอเข้าใจแล้วเจ้าค่ะ ที่หลวงพ่อบอก ...แค่ว่าให้เห็นสภาวธรรมมันเป็นอย่างนี้นะ แล้วต่อไปเป็นอย่างนี้นะ แต่ว่าให้รู้ถี่ๆ

พระอาจารย์ –  ใช่  ให้เห็นแยก ...เพื่ออะไร ...เพื่อให้เห็นว่านี่ปกติ นี่ผิดปกติ...อาการที่ผิดปกติไป แค่นั้นเอง คือให้แยกแยะสภาวธรรมให้ออก

เราฝึกมานี่ เราบอกให้เลย เราฝึกสัมปชัญญะนี่จนสติสัมปชัญญะเรานี่เป็นเส้นตรง รู้อยู่ตลอดเห็นอยู่ตลอด เราไม่เห็นจะต้องมายึดอย่างนี้เลยนะ 


โยม –  น่าจะเป็นที่เขาพูดกันไปเองมากกว่า

พระอาจารย์ –  พูดกันไป


โยม –  คือของโยมนี่แบบว่า ต้องทำในรูปแบบเพราะจะไม่มีสมาธิ มันไม่พอ มันต้องเพิ่มกำลังของสมาธิ แรงมันน้อยเกินไป เวลาฟุ้งซ่านอย่างนี้มันจะเดินปัญญาไม่ได้จริง ใจมันไม่ตั้งมั่น อย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  การที่กลับมารู้กายเห็นกาย...ตรงนี้คือความตั้งมั่น ให้สติมาตั้งมั่น ให้กายนี่เป็นที่ตั้งของสติ ตรงนี้เรียกว่าทำให้มีสมาธิ เข้าใจมั้ย

 ฝึก ตรงนี้ ให้มั่นคง ให้สติมันมั่นคง ตั้งมั่นอยู่กับกาย ไม่วอกแวก ไม่ออกจากกายตรงนี้ถือว่าเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง

เพราะงั้นให้กลับมารู้กาย บ่อยๆ ทั้งวันนี่ อย่างนี้คือการสร้างฐานของสมาธิ คือความตั้งมั่นมากขึ้น ...แล้วมันก็จะเห็น..เห็นอาการของใจได้ โดยที่ไม่ส่ายแส่

คือแต่ก่อนเวลาเห็นใจนี่ จิตที่ไม่มีกำลังสมาธิหรือไม่ตั้งมั่นนี่มันจะส่าย มันจะส่ายแส่ เช่นว่า หงุดหงิดปุ๊บนี่ ดูแล้วก็มันจะ ..."ทำไมไม่หายซะทีวะ ทำไมมันมากขึ้นวะ"

มันจะเลือก เห็นมั้ย มันจะมีความกระวนกระวายที่จะไปคว้าอะไรใหม่ขึ้นมาทดแทน อันนี้เรียกว่ามันไม่ตั้งมั่น ...ไม่ตั้งมั่นโดยที่ว่ารู้เฉยๆ อย่างนี้ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้น นี่ ฝึก ...แล้วคราวนี้ว่ากายนี่มันเป็นที่ให้ตั้งมั่นได้ง่าย เพราะว่ากายมันไม่มีปัญหา มันไม่บอกว่าหงุดหงิด มันไม่ได้มีบอกว่าดี มันไม่ได้มีบอกว่าไม่ดี

เห็นมั้ย  พอรู้ปุ๊บ มันก็เฉยๆ ของมัน จิตก็สามารถจะตั้งมั่นอยู่กับมัน สติสามารถตั้งมั่นอยู่กับกายได้ ...ตรงนี้มันเป็นการที่ว่าสร้างความเป็นสมาธิอย่างหนึ่ง


โยม –  คือการรู้กายนี่ แล้วมากน้อยแค่ไหนมันถึงจะพอดีน่ะเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  รู้กายไปเรื่อยๆ


โยม –  ใช้คำว่ารู้กายหรือเห็นกาย

พระอาจารย์ –  เหมือนกันน่ะ ทั้งรู้ทั้งเห็นน่ะ ให้เห็น...เห็นการต่อเนื่องของกายนี่ นั่งอยู่นี่ เห็นว่ากำลังนั่งอยู่อย่างนี้ เข้าใจมั้ย


โยม –  โยมก็สังเกตเห็น คือรู้กายไปแป๊บๆ มันก็สามารถกลับมาตั้งมั่นได้

พระอาจารย์ –  แล้วก็ให้มาตั้งมั่นอยู่กับกายสิ ...ไม่ใช่แค่ตั้งมั่นได้ ... ก็ให้ตั้งมั่นอยู่กับกายนั่นแหละ ให้มันเป็นฐาน


โยม –  ก็คือว่าให้มันเป็นปกติอย่างนี้ไป

พระอาจารย์ –  อือฮึ ...อยู่กับกายเป็นฐาน ตั้งมั่นอยู่กับกายเลย


โยม –  ตรงนี้น่ะค่ะ โยมไม่เคยมีใครมาบอกให้โยมตั้งมั่นอยู่กับกายเป็นฐาน โยมได้ยินครั้งแรก

พระอาจารย์ –  หมายความว่ายังไง


โยม –  ก็คนอื่นเขาเน้นดูกาย ของโยมนี่ยังไม่เคยมีใครแนะนำว่าให้ดูกายเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เราไม่ได้เน้นอะไร แต่เราให้เอากายมาเป็นอุบายให้ตั้งมั่น ...แล้วขณะรู้กายไม่ใช่ว่าดูกายอย่างเดียว ดูใจด้วย ให้สังเกตดูด้วย

มันดูได้นี่ กำลังนั่งอยู่แล้วมีความคิดอยู่ตอนนั่งรึเปล่า หรือกังวลมั้ย อะไรมั้ย อย่างนี้ ...ก็ดูไปพร้อมกัน ก็รู้ว่ากำลังนั่งคิด อย่างนี้ ดูไป

คือให้เอากายเป็นที่ตั้ง ...แล้วมันจะรู้เองน่ะว่ามันสามารถรู้ที่ใจได้โดยตรง ...ไม่งั้นใจมันลอย นี่ ไม่ให้มันใจลอย ไม่ให้มันหาย 


โยม –  ที่หลวงพ่อบอกว่าให้รู้อยู่ตลอดเลยนี่ เป็นยังไงเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่มีคำว่าหายเลย


โยม –  เหรอเจ้าคะ โห อย่างนั้นกำลังจิตมันต้องแรงมากๆ รึเปล่าเจ้าคะ มันต้องมีสะสมฌานมารึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่แรง ก็บอกแล้วไม่ได้อะไร นี่ อยู่ที่เราขยันรู้นี่ บอกให้  เราก็รู้อิริยาบถนี่ ยืน เดิน นั่ง นอนนี่ เราก็รู้อาการยืน เดิน นั่ง นอน ขยับตัวไปขยับตัวมา 

นี่ นั่งอยู่อย่างนี้เราก็รู้อยู่ตลอดเวลาได้ ...ก็อยู่ได้ ดูเห็น ไม่ได้ลำบากอะไรนี่ เพราะกายมันตั้งมั่นอยู่แล้ว กายมันไม่มีปัญหา

แต่ถ้าเราดูจิตน่ะ ถ้าดูอาการของจิตนี่ก็เหมือนกับว่า อย่างเวลาเรามีสติแล้วรู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น เหมือนกับถ้วยชาที่มันมีน้ำเต็มเปี่ยมอย่างนี้ พอดูปุ๊บชามันก็เต็มอยู่อย่างนี้นะ  

แล้วการที่ดูโดยถือชาไว้ไม่ให้กระเพื่อมหรือกระฉอกนี่ เข้าใจมั้ย นั่นคือรู้ครั้งนึงๆ 

แล้วในวิถีประจำวันนี่ พวกเรายังต้องมีการกระทำการงาน ต้องคิด ต้องมีเหตุปัจจัยให้ต้องคิดต้องทำต้องพูดอะไรนี่ ...ปาก มือก็ทำงาน แล้วจะถือถ้วยชานี่โดยไม่กระฉอกเลยได้มั้ย

เข้าใจมั้ยว่ามันยากรึเปล่า ...สติมันไม่สามารถจะรู้แล้วกลับมาตั้งมั่นให้มันไม่กระเพื่อม ไม่กระฉอกได้ตลอดเวลา...ทั้งที่มือก็ต้องทำงาน ปากก็ต้องพูด ต้องคิดนี่

มันไม่สามารถจะมาทำให้เป็นปกติธรรมดาในการรู้การเห็นได้ตลอดหรอก อย่างนี้ ...มันยาก

แต่ว่ากายนี่มันไม่เหมือนน้ำชาที่เราต้องมาประคับประคองมันขนาดนั้น  มันมีของมันซื่อๆ อยู่แล้ว แข็งๆ อยู่แล้ว จับต้องได้ง่าย มันตั้งมั่นอยู่แล้วในตัว ในคุณสมบัติของกาย

คือมันแตกต่างกับคุณสมบัติของจิตหรืออาการของจิต...นี่มันเหมือนปรอท มันไว รู้ปุ๊บมันก็แว้บ รู้ปุ๊บมันก็แว้บ


โยม –  แล้วคือทุกคนมารู้กายได้หมดเลยหรือคะ

พระอาจารย์ –  ได้หมด ทุกคนนี่ต้องมี...จริงๆ น่ะสำคัญนะ อย่าทิ้ง...อย่าทิ้งกายนะ ทิ้งไม่ได้ เราไม่ได้สอนให้ทิ้งกาย หรือว่าไม่พิจารณากายเลยนะ

แต่ไอ้พิจารณากายนี่หมายถึงว่า...รู้กายเห็นกายนะ ไม่ใช่ว่าเอากายมายกมาเป็นประเด็นแล้วก็คิด ไม่ใช่อย่างนั้น ...แค่รู้ว่ากำลังนั่งนี่ แล้วเห็น...เห็นได้ทั้งตัว นี่เรียกว่าการพิจารณากายแล้ว

อย่างนี้แล้วมันจะมั่นคง การรู้นี่มันจะต่อเนื่อง มันจะมีการที่ว่าเห็น...ไอ้ที่ต่อเนื่องไม่ใช่รู้ต่อเนื่อง มันเห็นต่อเนื่อง มันจะมีอาการเห็นต่อเนื่อง


โยม –  แล้วมันก็ไปใช้ดูใจต่อได้เลย

พระอาจารย์ –  แล้วมันก็ดูใจได้ต่อเนื่อง มันจะมีสัมปชัญญะในใจ เห็นอาการต่อเนื่อง 

มันมีสมาธิจริงๆ คือสมาธิในปกติประจำวัน ไม่ใช่สมาธิแบบที่กำหนดเอา ตั้งอกตั้งใจอย่างนั้น ...แต่สมาธิคือความตั้งมั่น ให้สติมาตั้งมั่นอยู่กับกาย

นี่เรียกว่าการทำสมาธิอย่างหนึ่ง สติตั้งมั่น ตั้งมั่นอยู่ที่ไหนก็ได้ กาย เวทนา จิต หรือธรรม


โยม –  คือหนูก็จะรู้อยู่ที่รู้

พระอาจารย์ –  ถ้ามันรู้อย่างนั้นได้ แล้วมันไม่เผลอ หรือว่าหายไป 


โยม –  แต่ก็มีอาการหลงมากๆ อย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  ถ้ามันหลงหรือว่าจับไม่ถูก ซึ่งก็เพราะมันไม่สามารถรู้ได้ทุกขณะ ทุกสภาวะ ทุกเวลาของช่วงขณะจิต เข้าใจมั้ย

ถ้ามันจับไม่ถูกหรือจับอะไรไม่ถูก ดูอะไรไม่ชัดเจนน่ะ ...ตั้งอยู่ที่กายเลย กลับมารู้กาย เห็นกาย ให้มันมีความตั้งมั่นอยู่ที่กายก่อน

สติให้มันตั้งมั่นอยู่กับกายก่อน แล้วมันจะค่อยๆ เห็นภายในชัดเจนขึ้น มันจะเห็นได้ต่อเนื่อง


โยม –  คือมันเกื้อกูลกัน

พระอาจารย์ –  มันเป็นเรื่องเดียวกันน่ะ...สุดท้ายแล้ว


โยม –  มันจะทำให้รู้แบบตั้งมั่นอย่างที่หลวงพ่อเคยอธิบายแล้วใช่ไหม

พระอาจารย์ –  ใช่ มันจะรู้แบบไม่เข้าไปมี ไม่เข้าไปเป็น ...มันจะรู้แบบรู้เฉยๆ ...ก็พูดอยู่บ่อยๆ ว่ารู้เฉยๆ คือต่างคนต่างรู้น่ะ ต่างคนต่างอยู่


โยม –  ต่างคนต่างอยู่

พระอาจารย์ –  ใช่ อารมณ์ส่วนอารมณ์ รู้ส่วนรู้ 

แต่ตอนนี้ถ้าไม่ตั้งมั่นนะ มันจะส่าย มันจะไม่รู้เฉยๆ มันจะรู้แล้วไป รู้แล้วไปเพิ่มขึ้น รู้แล้วไปตำหนิมัน รู้แล้วไปมีความปรุงแต่งต่ออย่างนี้ มันไม่รู้เฉยๆ

แต่ถ้าเราตั้งมั่นอยู่กับกายนี่ แล้วแอบดูมัน สังเกตดูภายในไปด้วยปุ๊บนี่ เราจะรู้ว่า เออ ปกติอย่างนี้ ปกติของการรู้เฉยๆ เป็นยังไง ปกติที่รู้แบบไม่เพ่งไม่เผลอเป็นยังไง

จริงๆ น่ะ อาการทางกายก็มีได้ แต่ว่าระหว่างที่ทำทางกายนี่ก็จะมารู้ว่าอาการทางกายก็เป็นสักแต่ว่ากาย ทำไปอย่างนั้น เข้าใจมั้ย ไม่ได้ทำตามอารมณ์


โยม –  เห็นตัว คือมันไม่ได้หายไปจากใจเราอะไรอย่างนี้เลยใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  มันไม่หายหรอก แต่มันจะมีในลักษณะที่พอดี ... แต่ตอนนี้มันมีมาแบบไม่พอดี


โยม –  อ๋อ มันมีแบบที่เราผูกเลี้ยงมันไว้...มากมายก่ายกองใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ ด้วยความไม่รู้แล้วก็ความปรารถนา ความทะยานอยาก ...แต่ถ้าอย่างที่บอก มันจะมีตามธรรมชาติของจิต ไม่ใช่ด้วยความทะยานอยาก และอยู่ในความเป็นพอดี ...มันจะปรับสมดุล

ไอ้ที่นอกนั้น ไอ้ที่มีอยู่ทุกวันนี่...มันเกินนน เข้าใจมั้ย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันขาดแบบไม่มีอะไรอย่างนั้น ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยอย่างนั้น

แค่รู้...แค่รู้เฉยๆ จะมาก จะน้อย จะคงอยู่ จะตั้งอยู่ ดูเหมือนไม่ดับไป แล้วก็ดูเกิดทุกครั้ง ก็รู้กับมัน รู้เฉยๆ

ถ้ายังมีกระวนกระวาย สับสน หรือว่าจะเข้าไปแทรกแซง ...ให้มารู้กาย กลับมารู้กาย แล้วแอบดู... อือ อาการนั้นยังอยู่โว้ย..ยังอยู่ อย่างนี้เข้าใจมั้ย

ให้ดูว่าอาการมันยังมีอยู่รึเปล่า ดูไปอย่างนั้น แต่ว่าให้รู้ตัว รู้กายอยู่ แล้วดู ...จนกว่ามันจะหยุดสร้างน่ะ จนกว่ามันจะหยุดการแสวงหา จนกว่ามันจะหยุดการคาดหวัง

แล้วพอมันไม่มีการแสวงหาแล้ว มันจะเห็นยังไง มันจะออกความรู้สึกยังไง ...ก็ให้รู้กระบวนการของมันแค่นั้นแหละ

ไม่ต้องไปมีความเห็นอะไรกับมันต่อเนื่องว่าถูกหรือผิด ...แค่รู้ว่ามันมีอย่างนี้เป็นอย่างนี้ เห็นไปตลอดว่าอยู่ในอาการนี้

มันจะไม่รู้อะไรหรอกว่ามันจะเห็นไปทำไม หรือว่าแล้วมันจะเป็นธรรมได้ยังไง ...จริงๆ มันไม่มีอะไรหรอก แค่เห็นตามความเป็นจริงว่า...อาการนี่มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่ามันลดทอนอย่างไร มันไปเพิกถอนอย่างไร ในความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิน่ะ ...เราไม่รู้หรอก จิตเขารู้ของเขาเอง


(ต่อแทร็ก 1/16  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น