วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/19 (2)


พระอาจารย์
1/19 (25530404A)
4 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/19  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ที่สอนไว้ก็คือ...ถ้าเกิดว่าเริ่มเครียด เริ่มกังวล หรือเริ่มเข้าไปมากขึ้นๆ อย่างนี้ ...ให้กลับมารู้กายเลย แยกสติกลับมาตั้งอยู่ที่กายซะ ดูว่ากำลังยืนเดินนั่งนอนซะ  

แล้วแอบดู...ใช้ลักษณะแอบดู เข้าใจมั้ย รู้กายแต่แอบดู สังเกต หยั่ง เข้าไปหยั่ง...อ้อ ยังฟุ้งซ่านอยู่เว้ย แล้วก็รู้กายอีก  เดี๋ยวแอบดูอีก ยังฟุ้งซ่านอยู่ก็ตาม ...แต่อย่าทิ้ง อย่าทิ้งการระลึกรู้

แต่ว่าเน้นให้มาระลึกรู้อยู่ที่กายซะ เป็นหลักเป็นฐาน ...เพราะว่าฐานน่ะมี ๔ ฐาน สติปัฏฐาน กาย เวทนา จิต ธรรม ...นี่พูดสองอย่าง กายกับจิตนะ กายเป็นรูป ...เวทนา จิต ธรรม ส่วนมากเป็นนาม

ซึ่งถ้าเป็นส่วนนามเมื่อไหร่นี่...มันไวมาก มันไม่ทัน มันจะไม่ทัน มันจะพล้อบแพล้บๆ แล้วเราจะให้ความหมายมั่นกับมันมาก 

เช่นว่าพอมีอาการอะไรเกิดขึ้นปั๊บนี่ มันเริ่มเข้าไปวินิจฉัยเลย...ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ มาก-น้อย ดี-ไม่ดี ...แล้วต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ตามมาแล้ว เข้าใจมั้ย

แต่กายนี่ พอรู้กายปุ๊บ เห็นมั้ย กายมันไม่มีว่า ไม่มีความหมายอะไรเท่าไหร่ มันไม่ได้บอกว่ามันดีมันชั่ว มันถูกมันผิด มันมากมันน้อย เห็นมั้ย กายมันจะเป็นทื่อๆ แท่งๆ ก้อนๆ อย่างนี้ มันไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี

เพราะนั้นสติ พอมารู้กายปุ๊บ มันค่อนข้างจะเป็นกลางแล้ว เริ่มจะรู้เฉยๆ แล้ว เห็นมั้ย เห็นกายก็เห็นธรรมดา เห็นปกติ มันไม่ได้เดือดร้อนอะไร ...ก็รู้เฉยๆ ไม่เห็นมีอะไรอย่างนี้ 

สติตรงนี้มันจึงเป็นสติที่ปกติแล้ว คือรู้เฉยๆ ...แล้วค่อยๆ ฝึกรู้เฉยๆ บ่อยๆ กับกาย ...แล้วแอบดูจิตเฉยๆ เข้าใจมั้ย เออ มันจะเริ่มรู้แล้วว่ารู้จิตเฉยๆ ยังไง 

ไม่ใช่ว่ารู้แล้ว...เอ๊อะ ต้องอย่างนั้นนะ ต้องอย่างนี้นะ ...อย่างนี้นี่มันไม่รู้เฉยนะ มันรู้แล้วไป เรียกว่ารู้ไปไม่ได้รู้อยู่ ...แต่ถ้ารู้อยู่แล้วมันจะต่างคนต่างอยู่

อย่างที่เราบอกว่า...สบายแล้วรู้ว่าสบาย นี่ ต่างคนต่างอยู่ ...แต่ว่าสบาย รู้ว่าสบายแล้วเข้าไปคลอเคลีย นั่น รู้แรกน่ะแยก แต่ดูไปนานๆ มันเข้าไปแล้ว 

หรืออย่างทุกข์...รู้แรกปั๊บ รู้ว่าทุกข์ ...แล้วก็เริ่มผลักแล้วๆ อย่างนี้ มันเริ่มมีอาการตามหลังมา ด้วยความไม่รู้เท่าทันว่ามีการกระทำแล้ว จิตมีการกระทำ รู้นั้นมีการกระทำออกมาแล้ว 

จึงต้องแอบ...แอบดู หยั่งๆ มันจะแค่แตะๆ เข้ามารู้แตะๆ แต่ว่ามาตั้งฐานที่กายอย่างนี้ ...จนเริ่มชำนาญ พอเริ่มชำนาญว่ารู้ปกติ...สติที่เป็นปกติ หรือสติที่เป็นธรรมชาติ ที่รู้กลางๆ รู้เฉยๆ นี่เป็นอย่างไร 

แล้วมันจะชำนาญขึ้นในการรู้ใจ รู้อาการของจิตแบบปกติ ต่อไปก็ไม่ต้องอยู่กับกายแล้ว ...ถ้าอย่างนั้น มันก็จะเริ่มดูปุ๊บก็จะเห็นต่างอันต่างอยู่...อาการส่วนอาการ รู้ส่วนรู้อย่างนี้

แม้แต่จะเป็นปกติ ไม่มีอะไร ...พอกลับมาดูปุ๊บ ไม่เห็นมีอะไรให้ดู  มันก็จะเห็นความไม่มีอะไร เป็นธรรมดา ...มันจะมาเห็นได้ต่อเนื่องอย่างนี้

เพราะนั้นถ้าฝึกให้กลับมารู้กายบ่อยๆ เหมือนกับว่า...อ่ะ โยมไม่รู้เนื้อรู้ตัว หายไปปุ๊บนะ แล้วกลับมารู้ตัว ...พอกลับมารู้ตัวปุ๊บ มันรู้ตัวแรก...กลับมารู้ว่ารู้  

รู้แรกนี่ เขาเรียกว่าสติเกิด เข้าใจมั้ย การระลึกรู้เกิด ...แล้วก็เอาสติมาระลึกรู้อยู่กับกายซะก่อน เป็นฐาน นี่ เห็นจิตครั้งแรกก็เห็นกายเลย ...รู้แรกนี่เรียกว่าสติ 

แล้วเห็นไหมว่ากำลังทำอะไรอยู่ ...พอเห็นกายกำลังนั่งยืนเดินนอนนี่  กำลังนั่งอยู่เป็นช่วงอย่างนี้...เห็น เห็นอยู่ ยังนั่งอยู่ๆๆ อย่างนี้ มันเห็นใช่มั้ย ...อาการที่เห็นต่อเนื่องอยู่อย่างนี้ ตัวนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ 

คือมันเห็นต่อเนื่อง เห็นว่ากำลังนั่งอยู่ ยังไม่ได้ขยับเขยื้อน หรือว่าขยับเขยื้อนก็เห็น ...เพราะนั้นการที่มันจะเห็นต่อเนื่องนี่ ไม่ใช่เห็นด้วยสติ เข้าใจรึยัง มันเห็นด้วยสัมปชัญญะ...คือมันจะเห็น

แต่ว่าสติน่ะเป็นรู้แรก เข้าใจรึยัง ...ครั้งแรกน่ะที่รู้ ...ลืม หาย แล้วรู้ นั่นสติ ...แล้วพอรู้ปุ๊บ ถ้าไม่มีสัมปชัญญะ เดี๋ยวหาย เดี๋ยวหายใหม่ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวเผลอ เพลิน

เวลาพวกเราดูจิตจะเป็นอย่างนี้ พอกลับมาดูจิตปั๊บ รู้ว่า...เออ ไม่มีอะไร ...พอรู้ว่าไม่มีอะไร ทิ้งเลย มันจะทิ้งเลย หายเลย ไม่เห็นต่อ เข้าใจไหม ...เพราะมันไม่มีสัมปชัญญะในจิต ไม่มีการเห็นๆ 

แล้วมันก็ไม่ขยันมาระลึกรู้ต่อเนื่อง ...จริงๆ น่ะถ้าระลึกรู้ต่อเนื่อง มันจะพัฒนาขึ้นเป็นสัมปชัญญะในจิตเองอยู่แล้ว ...แต่มันไม่ทำต่อเนื่อง ไม่ขยันรู้ๆ สร้างสติต่อเนื่อง

จึงต้องมาสร้างเป็นอุบายใหม่ ให้สติมาตั้งฐานกับกายซะ แล้วให้เห็น มันจะเห็นได้ชัดเจนกว่า เห็นอาการต่อเนื่องของยืน เดิน นั่ง นอน ...มันเป็นช่วง ใช่ไหม  

จากที่เห็นขณะๆ ขณะหนึ่งในจิต ก็จะเห็นแล้วก็เป็นช่วงไป ยืนเดินนั่งนอนก็เป็นช่วง ...พอเห็นไปปุ๊บ พอสัมปชัญญะเริ่มอ่อนลง มันจะเริ่มมีอะไรมาเร้า มันก็จะเริ่มบางลง หาย จางไป ...ก็รู้ใหม่ๆ 

รู้ใหม่ปุ๊บ เมื่อกี้หายไปแล้ว ไปทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ กำลังคุยหรืออะไรก็ตาม ลืมไปแล้ว ...ก็กลับมารู้ตัวว่ากำลังยืน กำลังทำอะไร แล้วก็เห็นว่ากำลังทำอาการอะไรต่อเนื่องไปอย่างนี้ 

แล้วก็ขณะรู้กายเห็นกาย ก็แอบดูจิตไปพร้อมกัน...ให้เห็น...เพราะนั้นมันจึงเห็นทั้งกายทั้งจิตน่ะ ...ไม่ใช่พอบอกว่าดูจิตกัน มันเลยไปเน้นที่ดูจิต แล้วมันจะหลุด มันจะลอย มันจะหาเป้าไม่มีน่ะ

เลื่อนลอย...กลายเป็นจิตเลื่อนลอย แล้วกลับมารู้ครั้งนึงๆๆ อย่างนี้ ...ถ้ามันขยันรู้ก็ดี แต่มันไม่ขยันน่ะ วันหนึ่งได้แค่กี่ครั้งเอง ...แต่ถ้าจะให้มันได้ผล มันก็ต้องเห็นต่อเนื่องด้วยสัมปชัญญะ ด้วยทั้งรู้และเห็น


โยม –  หนูก็คิดเอง ตอนหนูทำ...เหมือนที่อาจารย์ไกด์ไว้น่ะค่ะ  บางทีหนูหลงไป หนูก็กลับมา อ่ะ ยืนเดินนั่ง หนูทำเอง เพราะเคยทำแล้วรู้สึกว่าอย่างนี้รู้ตัว...เหมือนที่อาจารย์บอกน่ะค่ะ “กำลังทำอะไรอยู่”

พระอาจารย์ –  อือๆ ดีแล้ว


โยม –  แต่ว่าต้องขยันอย่างที่บอกน่ะค่ะ ต้องหมั่นรู้บ่อยๆ

พระอาจารย์ –  หมั่นรู้บ่อยๆ ...เพราะสัมปชัญญะถ้าไม่แข็งแกร่ง มันก็จะอ่อนตัวลงไปเรื่อยๆ 

เพราะว่าเราต้องมีกิจกรรมอยู่แล้ว มีสิ่งเร้าอยู่แล้ว ...ไหนจะลูกเต้า ไหนจะเพื่อน ไหนจะเรื่องงาน มันจะต้องคิด มันจะต้องไปถึงอดีตอนาคตอยู่ตลอดเวลา ...สติสัมปชัญญะมันก็จะจางลงไปๆ

ก็ระลึกใหม่ รู้ใหม่ ...รู้ใหม่แล้วก็ให้มันแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนมันเป็นธรรมชาติหรือเป็นปกติในการรู้อยู่สม่ำเสมอ เนืองๆ ...มันจะเป็นนิสัย 

การสร้างทำบ่อยๆ มันก็เหมือนกับหมอผ่าตัดน่ะ ผ่าตัดครั้งแรกนี่มันเคอะเขิน ไม่ชำนาญ ยังเงอะๆ งะๆ ...ทำไปเรื่อยๆ แล้วนี่มันแทบจะหลับตาผ่าได้เลยน่ะ 

นี่มันชำนาญมาก คุ้นเคย เป็นเรื่องธรรมดา ปกติ มันจะเป็นอย่างนั้น


โยม –  ใช่ค่ะ เมื่อก่อนหนูก็ทำไม่ค่อยเป็นน่ะค่ะ  แต่พอตอนหลังแค่เดิน ขยับ ก็รู้ตัวแล้ว  บางทีแค่ยืน ก็แป๊บนึงก็รู้ว่ายืนเลยค่ะ หนูก็ว่ามันแปลกดี

พระอาจารย์ –  มันเป็นความชำนาญ เขาเรียกว่าเป็นวสี  เมื่อทำบ่อยๆ ก็เกิดความชำนาญ ...แล้วไอ้ความชำนาญนี่ท่านเรียกว่าอาจิณกรรม 

ซึ่งกิเลสมันก็เป็นอาจิณกรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน ...คือความคุ้นเคยกับความไม่รู้เป็นอาจิณกรรม เป็นผลของอาจิณกรรมที่เราสะสมด้วยความไม่รู้มานาน

เพราะอย่างที่ไม่ต้องรู้ตัวเลยนี่ มันก็ทำได้หมดทั้งวัน ทำงานก็ได้ ขับรถก็ได้ ไม่รู้ตัวก็ทำได้ ...มันจะทำได้ด้วยอาจิณกรรม ด้วยความคุ้นเคย เป็นนิสัย ...นี่เป็นกรรมที่เป็นอาจิณกรรม

เมื่อเราฝึกรู้บ่อยๆ ดู เห็นบ่อยๆ มันก็เป็นการสร้างอาจิณกรรมใหม่ขึ้นมา...มาลบล้างอาจิณกรรมเก่าที่มันคุ้นเคยกับความไม่รู้ ...ต่อไปทำอะไรก็รู้ มีอะไรปุ๊บปั๊บๆ มันรู้ก่อนเลย กลับมารู้เลยๆ เห็นเลยมีอะไรเกิดขึ้น

ปัญญามันจะเกิดขึ้นจริงๆ ต้องอาศัยการเห็นนะ ...รู้อย่างเดียวไม่พอนะ ต้องทั้งรู้และเห็น ...ระหว่างนั่งอยู่แล้วมีอะไรเกิดขึ้น เห็นมั้ย เมื่อย-ไม่เมื่อย ...เกิด ตั้งอยู่ แล้วดับไป ต้องเห็นอยู่ ในระหว่างที่อะไรตั้งอยู่ 

เหมือนกันกับอาการของจิต รู้ว่าสบาย รู้ว่าไม่สบาย รู้ว่าทุกข์ รู้ว่าทุกข์อยู่ เห็นอยู่ว่าทุกข์ ...แล้วจะเห็นว่าในขณะที่ทุกข์นี่ มีอะไรเข้ามาแทรก  มี “เรา” เข้าไปกระทำอะไรมั้ย มีเหตุปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกมั้ย 

แล้วจะเห็นว่ามันขึ้นหรือมันลง ...มันจะต้องอาศัยการเห็นนะ ถึงจะเห็นความแปรปรวนของการตั้งอยู่ หรือเห็นการเข้ามาแทรกแซงในระหว่างที่มันตั้งอยู่

แต่ถ้ารู้ขณะเดียวๆ นี่ มันก็แค่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น หรืออะไรตั้งอยู่ หรืออะไรดับไปแค่นั้น ...แต่จะไม่เห็นกระบวนการระหว่างนั้นเลย  

เพราะนั้นตัวที่เห็นกระบวนการที่เข้ามาสอดแทรก เข้ามาเป็นปัจจัยให้เพิ่ม เป็นปัจจัยให้คงอยู่ เป็นปัจจัยให้ลดลงนี่ ...มันต้องอาศัยการเห็นพร้อมด้วย...รู้พร้อมทั้งเห็น จึงเรียกว่าญาณทัสสนะ

รู้เรียกว่าญาณ หยั่งรู้  ทัสสนะแปลว่าเห็น ...ญาณทัสสนะนี่จึงจะเรียกว่าเป็นปัญญาญาณ  ตรงนี้ถึงจะเห็นตามความเป็นจริงแล้วยอมรับ...เริ่มจะยอมรับความเป็นจริง 

เพราะมันจะเห็นกระบวนการของจิตว่ามันเป็นยังไง ที่มาที่ไปของมันยังไง ทำไมมันถึงตั้งอยู่ได้ อะไรเป็นปัจจัยให้มันตั้งอยู่นาน อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้มันดับ

เราจะเห็นเลยว่า ถ้าเราไม่ยุ่งอะไรกับมันเลย เห็นเฉยๆ เนี่ยนะ สั้นที่สุดแล้ว แต่ถ้าระหว่างที่เราเห็นอยู่นี่ แล้วมีการกระทำอะไรก็ตาม จงใจหรือไม่จงใจก็ตาม... เราจะเห็นการต่อเนื่องมากขึ้นอย่างนี้เป็นธรรมดา 

เราจะเห็นอย่างนี้ เรียนรู้กับมันตรงนี้ รู้กับเห็นๆ ตามความเป็นจริงของมัน ...เมื่อมันรู้กับเห็น มันจะเข้าใจแล้ว ...อ๋อ มันจะเริ่มอ๋อแล้ว เริ่มอ๋อๆ ...แค่ อ๋อ แค่นี้ ทิ้งแล้ว...มันเริ่มทิ้งการกระทำเลย


โยม –  ใช่ค่ะ บางที่รู้ว่า...เอาแล้ว ทุกข์มาแล้ว

พระอาจารย์ –  เออ มันจะรู้ก่อนเลย แล้วมันจะไม่เอา


โยม –  ใช่ มันจะคลายเลยค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นแค่รู้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร มันจะคลายออกเอง ...จนถึงที่สุด เรียกว่าเป็นรู้ในขณะแรก รู้และเห็นในขณะแรก...ของการเกิดของผัสสะ ของการกระทบของอายตนะ 

นี่ ไม่ว่าจะเป็นตาหูจมูกลิ้นกาย แม้กระทั่งใจ ...ขณะแรกที่เกิด...แล้วรู้และเห็นตรงนี้ ...จะเห็นความดับไปพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน ทั้งเกิดและดับจะพร้อมกัน ...ตรงเนี้ย เข้าใจมั้ย ศูนย์กับหนึ่งๆๆ

ตรงนี้ถึงจะเรียกว่า...จิตแรกที่เกิด ...และอาการที่รู้เห็นตรงจิตแรกที่เกิดนี่ ตรงนี้ถึงจะเรียกว่ามหาสติ ...มหาสติคือตรงนี้ เข้าใจมั้ย 

เพราะขณะที่จิตแรกเกิดนี่ มันยังไม่ทันมีอะไร ยังไม่ทันจะเป็นอะไรหรอก มันก็เป็นแค่ความรู้สึกแรก ...เหมือนกับโยมนั่งอยู่แล้วมีคนเดินมา แล้วโยมหันไปเจอปุ๊บ...มันจะมีความรู้สึกรับรู้แรก แล้วมันจะมีอารมณ์แรกเลย


โยม –  ใช่ค่ะ แป๊บมา

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ตรงนั้น พอเห็นปุ๊บ จะดับทันทีเลยนะ ตรงนั้นจะดับทันที ...ตรงนี้ถึงเรียกมหาสติ


โยม –  บางทีมันกระทบปุ๊บ ความเป็นอัตตามันก็โผล่มา แบบเป็นตัวเราโผล่ขึ้นมา

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  ไอ้จิตที่จริงๆ ของเรานี่มันโผล่มา เราก็ไม่ได้อะไรมัน มันก็โผล่ขึ้นมา

พระอาจารย์ –  เออ ที่ต้องการให้เห็น คือให้เห็นตัวนี้ ...คือให้เห็นจิตแรก หรือว่าที่เรียกว่าอัตตาแรกนี่ ...ตัวนี้ท่านเรียกว่าอัตตาอุปาทาน 

อัตตาอุปาทาน คืออัตตาของจิตที่แท้จริง คือความเป็นตัวตนของจิตที่แท้จริง ของอุปาทาน เรียกว่าอัตตา ...เป็นธรรมชาติที่เราไม่มีเจตนา ใช่มั้ยๆ


โยม –  จริงๆ หน้าตาน่าเกลียดมากเลย

พระอาจารย์ –  มันขึ้นมาเอง...เป็นอัตตาดั้งเดิมเลย ตัวตนที่แท้จริง ...แต่พอเห็นในขณะแรก ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันนะ เห็นปุ๊บ มันจะดับทันทีเลย ...รู้ทันแล้วมันจะดับทันทีเลย ขณะเดียวนั่นน่ะ ดับเลย

ไอ้ที่เห็นว่าดับไปนี่ เห็นอะไรดับ ...เห็นอัตตาดับ เห็นความเป็นตัวเป็นตนดับ เข้าใจมั้ย ...ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าเห็นจิตเป็นอนัตตา เห็นความเป็นอนัตตาของจิตของใจ 

ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าเห็นความไม่มีตัวตนของใจ นี่...ดับ มันจะเห็น...เข้าไปทำลายความเป็นตัวตน


โยม –  หลวงพ่อคะ มันจะโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยธรรมชาติของมันเลยหรือ

พระอาจารย์ –  ธรรมชาติ ...ถ้าเราฝึกสติสัมปชัญญะอยู่เรื่อยๆ เข้าใจมั้ย ...คือจิตมันจะต้องอยู่ในฐานของความเป็นปกติ ระหว่างเราธรรมดานี่แหละ แล้วพอเห็นอะไรปุ๊บแล้วมันจะกระโดดขึ้นเลย อย่างนี้

แต่ถ้าไม่ทันนะ ถ้าปล่อยปละละเลยนะ พอกระโดดขึ้นก็ไม่เห็นนะ  มันจะมีการปรุงแต่งต่อเนื่อง “อย่างนั้นมันมาทำไม อย่างนี้มันมาจากไหน มาทำไม” ...นี่ เริ่มใส่อุปาทานขึ้นมาแล้ว


(ต่อแทร็ก 1/19  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น