วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/19 (3)


พระอาจารย์
1/19 (25530404A)
4 เมษายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/19  ช่วง 2

โยม –  บางทีก็รู้ตามหลัง

พระอาจารย์ –  เออ ถ้ารู้ตามหลังนี่ ตรงนี้จะเสวยทุกข์แล้ว จะมีวิบาก...จะมีวิบากตามมา  

แต่ว่าถ้ารู้ขณะแรก โดยทันเห็นขณะแรก ปุ๊บนี่ จะไม่มี เข้าใจมั้ย มันจะดับ ...ซึ่งถ้าดับแล้ว ถ้ายังมีความคิดความเห็นตามมา แล้วเราเห็นต่ออย่างนี้ ตรงนี้จะเป็นความเห็นเปล่าๆ ...ให้สังเกตดูนะ


โยม –  มันแค่มีเบาๆ นิดๆ แต่ก็ไม่อะไรกับมัน

พระอาจารย์ –  เออ มันจะเป็นแค่ความปรุงแต่งเปล่าๆ ...แต่ถ้าไม่เห็น หรือไม่ชัดตรงขณะแรกปุ๊บ ความเห็นต่อมานี่ จะสุข-จะทุกข์มาก คือจะเข้าไปมีตัวตน เป็นเรื่องเป็นราวเป็นจริงเป็นจังออกมา


โยม –  ไปอินกับมันแล้ว

พระอาจารย์ –  กว่าจะรู้ ไปรู้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในอารมณ์นี้ปุ๊บนี่ มันผูกพันมานานนะ มันสร้างเรื่องจากจิตแรกนี่มานานแล้ว สร้างเรื่องเป็นตัวเป็นตนๆ เป็นดี-ไม่ดี ใช่-ไม่ใช่ อยู่นานแล้ว 

แล้วพอมารู้ตรงนี้ปั๊บ เห็นมั้ย ตรงนี้คือวิบากนะ ...ไอ้ตรงนี้ต้องรับผลแล้ว รับผลเป็นสุขเป็นทุกข์แล้วนะ


โยม –  ไม่รู้ตัวด้วย

พระอาจารย์ –  แล้วพอรู้ตรงนี้ มันจะไม่ดับ เข้าใจรึยัง มันยังมีอารมณ์ค้างอยู่ ...เออ ก็จะเห็นทุกข์นี้ตั้งอยู่ หรือว่าสุขนี้ตั้งอยู่ ตามผลจากที่เราผูกเป็นเรื่องเป็นราวด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ทัน ...ตรงนี้ต้องเสวยลูกเดียว

เพราะนั้นพระพุทธเจ้าถึงบอกไงว่า...ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ...อันนี้หนีไม่พ้นเลย


โยม –  ต้องรู้ทุกข์

พระอาจารย์ –  รู้เฉยๆ ด้วยนะ รู้เฉยๆ ...อย่าไปแก้ อย่าไปดับ อย่าไปตัด อย่าไปเพิ่ม อย่าไปลดอะไร ...เพราะนี่เป็นผลที่เราโง่เอง เราผูกพันด้วยอุปาทานเอง ปรุงแต่งเองด้วยความไม่รู้เท่าทันมัน 

เพราะนั้น ก็ต้องเสวยผลเองแหละ...โดยการรู้เฉยๆ ...พอรู้เฉยๆ ปั๊บ มันจะหมดกำลังของมันเองอยู่แล้ว ในตัวของมัน ถ้าเราไม่ไปเพิ่มหรือไปอะไรกับมัน

ก็เหมือนกับหม้อน้ำร้อนน่ะ เราไปต้มน้ำไว้ ตั้งใจจะต้ม...เอาว่านานเท่าไหร่ล่ะ ใช่ไหม นานเท่าไหร่ เอาสักครึ่งชั่วโมงค่อยมารู้ตัว...เออ มาตั้งน้ำร้อนทำไมวะเนี่ย เอาลงดีกว่า 

แต่ยังไงๆ น้ำที่ต้มมันก็ต้องร้อน ใช่ป่าว จะร้อนมากร้อนน้อย อยู่ที่ตั้งไว้นานเท่าไหร่ล่ะ อยู่ที่เราไปตั้งไว้นานรึเปล่า ...ถ้าตั้งนานนี่ ก็กว่ามันจะเย็นน่ะ มันก็มีเวลาตายตัวอยู่แล้ว 

แต่ถ้ายังหงุดหงิดรำคาญอย่างนู้นอย่างนี้ ไปยุ่งกับมันเมื่อไหร่นี่ ...ก็เหมือนกับ...เอาไปตั้งไฟใหม่บ้าง หรือเดี๋ยวก็ไปเอาน้ำร้อนอื่นมาเติมบ้าง เอาน้ำเย็นมาเติมบ้าง

นีี่ เริ่มสับสนแล้ว เริ่มกังวล เริ่มลังเลสงสัย เริ่มหา... "เอ๊ มันดับจริงรึไม่จริง เราทำให้มันดับรึเปล่า" อย่างนี้ ...เริ่มแล้ว วิจิกิจฉาเริ่มเกิด ลังเลสงสัยเริ่มเกิด 

และเมื่อเริ่มสงสัยลังเลมากขึ้นปุ๊บ มันก็อดไม่ได้ที่จะต้องมีการกระทำอะไรขึ้นมา ...เห็นมั้ย สักกายเริ่มส่งผลแล้ว...ให้เราจะต้องไปยุ่งกับมัน 

เราจะต้องไปทำอะไร เราจะต้องไปแก้จิต เราจะต้องไปหาวิธีทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราถูกรึเปล่า เราผิดรึเปล่า เห็นมั้ย สักกายเกิด วิจิกิจฉาก็เกิด สีลัพพตะก็เกิด

สีลัพพตะคือการกระทำอย่าง...เขาว่าอย่างนั้นดีอย่างนี้ถูก เขาว่าต้องอย่างนี้ อาจารย์ว่าอย่างนี้ หรือเราอ่านมา คิดดีแล้ว ควรต้องมีวิธีการอย่างนั้นอย่างนี้ ...เห็นมั้ย สังโยชน์เบื้องต้นร้อยรัดทันที...เกิดมาใหม่เลย

แต่ถ้ารู้เฉยๆ นี่ไม่มีปัญหา ใช่มั้ย ...อดทนหน่อย ต้องอดทนนะ ต้องอดทนกับมันแล้ว เพราะธรรมทนต่อการพิสูจน์อยู่แล้ว ...พิสูจน์ว่าอะไร...ว่ามันไม่เที่ยง ตั้งอยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็ดับไป

แต่เวลาอดทนน่ะ มันจะมีว่า “ทำไมมันไม่ดับซะทีวะๆ ทำไมมันอยู่นานจัง” นี่ มันต้องอดทนจริงๆ เข้าใจมั้ย ...เพราะนั้น ถ้าสติไม่เป็นกลางจริงๆ มันอดไม่ได้ที่จะเข้าไปแทรกแซงน่ะ  

ตรงนี้ถ้าอดไม่ได้...ให้เรียกเอาสติมาอยู่ตรงนี้...ที่กาย แล้วแอบดูมัน ...คือมันจะมีการแค่รู้เบาๆ แค่หยั่งเบาๆ ..."อ้อ ยังอยู่" ดูอีก "อ้อ เริ่มน้อยลง" กลับมาดูอีก "เออ เริ่มธรรมดา" อย่างนี้...เป็นอุบายอย่างหนึ่ง

จริงๆ การฝึกสตินี่ ถือว่าเป็นอุบายทั้งนั้นแหละ ...เพราะจริงๆ มหาสตินี่ไม่มีการกระทำ สติ...จิตแรกที่รู้อ่ะนะ ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจรู้เลยนะนั่นน่ะ มันรู้เองเลย อย่างนั้นน่ะ

แต่มันจะรู้เองได้นี่ก็ด้วยการที่ทำไว้บ่อยๆ มันถึงจะมีน่ะ ...ถ้าคนทั่วไปไม่มีทางน่ะ และมันจะแยกแยะอะไรไม่ออก แยกอะไรไม่ถูกเลย 

ถ้าไม่มีการฝึก หรือเรียนรู้ หรือว่ามีประสบการณ์ในการดูการเห็น...การรู้การเห็นตัวของเรา จิตของเราบ่อยๆ อย่างนี้ ...มันจะไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วมันจะถูกชักนำง่ายๆ ด้วยการที่ว่าความไม่รู้นี่แหละ 

ใครบอกใครพูดยังไง พูดในทางธรรมก็ไปทางธรรม พูดในทางทำชั่วทำไม่ดีก็ชักจูงได้ง่าย จะเป็นอย่างงั้นไป จะหลงง่าย เพราะมันพร้อมที่จะหลงอยู่แล้ว

แต่ที่เรากลับมารู้กลับมาเห็น จริงๆ มันมีแค่นี้เอง ...การดูนี่ ดูกายดูจิต อยู่แค่นี้ สลับกันไปสลับกันมา จนกว่าจะเข้าใจคำว่าปกติ รู้แบบปกติ รู้ธรรมดา รู้เฉยๆ รู้แล้วไม่ไปกับมัน รู้แล้วไม่ขึ้น-ไม่ลงกับมัน 

แต่ถ้ารู้แล้วยังขึ้น-ลงกับจิต...ก็รู้กายซะ ...กายไม่ขึ้น กายไม่ลง กายเป็นแท่งๆ กายมันโง่ๆ กายเป็นไอ้บอดไอ้ใบ้อยู่แล้ว มันไม่มีหือไม่มีอือ ...แต่จิตมันชอบหือชอบอือ ชอบให้มีความหมาย 

จริงๆ มันไม่มีความหมายหรอก แต่ "เรา" น่ะให้ความหมายเอง ใช่ป่าว โกรธ...อย่างนี้ เขาบอกหรือว่าเขาโกรธ ใช่ป่าว เขาไม่ได้บอกเลยนะ เราน่ะบอกเอง ...พอเราบอกเองว่าโกรธ เราเริ่มให้ค่าเป็นลบแล้ว 

เห็นมั้ย มันมีความหมาย...ในอุปาทาน มันมีฝังอยู่แล้วว่าอย่างนี้ ...จดจำมา เรียนมา ครูบาอาจารย์สอนมา ใครๆ ก็พูดว่าโกรธไม่ดี เป็นลบๆ ต้องฆ่า ต้องห้าม ต้องทำลาย อย่างเงี้ย

มันถูกปลูกฝังมา จดจำมา อุปาทานมันฝังไว้ ...พอรู้ปุ๊บ อาการเช่นนี้มันเรียกว่าโกรธ ทั้งที่ว่าตัวมันไม่ได้บอกเลยว่ามันโกรธ ...นี่ในความเป็นจริงนะ 

แต่กายนี่เขาไม่บอกไม่พูดอะไรอยู่แล้ว เห็นมั้ย มันต่างกัน ...จิตนี่เราให้ค่าไว้เยอะ เรียนรู้มาเยอะ จดจำมาเยอะ มีสัญญาอุปาทานกับมันเยอะ 

ไอ้อย่างนี้เรียกว่าสุข ไอ้อย่างนี้เรียกว่าทุกข์ อาการอย่างนี้เรียกว่าไม่สบาย อาการอย่างนี้เรียกว่าสบาย อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี ...นี่เราให้ค่าไว้หมดเลย พร้อมทุกเงื่อนเลย ไม่ว่าอาการไหนมา

พออาการไหนไม่เคยเจอมาก่อน มันมีบางอาการที่เกิดขึ้นแล้วไม่เคยเจอมา ...ตอนนี้แทนที่มันจะเฉยๆ ก็สงสัย หา เทียบเคียงใหญ่เลย หาอดีต หาตำรา เขาว่ายังไง 

เห็นไหม มันชอบเข้าไปให้ค่าให้ความหมาย ...ตรงนี้มันเป็นความคุ้นเคย ...กว่าที่จะปรับให้เป็นรู้ธรรมดา ช่างมัน อะไรก็ได้นี่ มันต้องใช้เวลาหน่อย ในการที่จะให้สติมันเป็นกลาง ปรับสติให้เป็นกลาง 

พอเป็นกลางปั๊บ มันจะสมดุล ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างมีอิสระในการดำเนิน ...มันจะขึ้น มันจะลง...จิตก็รู้เฉยๆ  จะมากขึ้นหรือจะน้อยลง...ก็รู้เฉยๆ เป็นปกติ เป็นธรรมดา

แต่ตอนนี้... มันขึ้น...เราขึ้นกับมัน มันลง...เราก็ไปลงกับมัน นี่เหนื่อยๆ ...เพราะเราไปคิดว่าจิตเป็นเรา เราเป็นจิต โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะคิดนะ แต่มันเข้าไปกลมกลืนแล้ว ...มันยากตรงนี้ 

เพราะว่าความคุ้นเคย หรือว่าอนุสัย หรือว่าความเคยชินของความไม่รู้ มันจะเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอารมณ์ เป็นอันเดียวกันกับความรู้สึก เป็นอันเดียวกันกับความคิด

ไม่ได้เห็นเลยว่า ความคิดเป็นส่วนหนึ่ง หรือรู้เป็นส่วนหนึ่ง ...พอคิดปุ๊บนี่ มันจะเป็นเราคิดเลย เป็นความคิดของเราเลย เห็นมั้ย ไม่ต้องบอกเลย พอคิดนี่...เรียกว่าความคิดของเราเลย

แล้วไอ้ความคิดของเรานี่ มันจะต้องมีความมานะขึ้นเลย...ว่าถูกหรือผิด ว่าใช่หรือไม่ใช่ ...ถ้านอกความคิดนี้ไป มันจะมีการต่อต้านหรือว่าขัดแย้งทันทีเลย 

นี่คือความหวงแหนความเป็นตัวตนของตัวเองเกิดขึ้น มันเป็นอย่างนี้ ...เราก็ต้องมาเรียนรู้เท่าทัน ให้เห็นน่ะ ให้เห็นอย่างนี้  

แต่ถ้ารู้และเห็นแล้ว ถ้าจะไปดูมันจนตลอดสายนี่ บางทีเราอินโดยไม่รู้ตัว ...ก็เฉลี่ยสติมาที่อื่นซะ และแอบดู สังเกต ใช้สังเกตเบาๆ แตะ รู้เบาๆ แล้วถอยออก แตะแล้วถอยออกมาที่กาย จนชำนาญ

ถ้าชำนาญแล้วเมื่อไหร่ มันรู้ที่จิตรู้ที่ใจได้โดยตรง...รู้ตรงๆ มันจะได้รู้ตรงๆ ที่เป็นกลาง รู้ธรรมดาๆ 

แล้วมันจะเห็นเลยว่า พอมันเริ่มจะขยับเข้าไปรวมปุ๊บ ตัวสัมปชัญญะมันจะเห็นเลยว่า ไอ้รู้นี่ เรานี่จะเข้าไปมีเข้าไปเป็นกับมันอีกแล้ว ...มันจะถอยออกๆ 

อันนี้รู้ถึงในจิตล้วนๆ นะ แต่ว่าต้องเป็นระดับที่สัมปชัญญะมากแล้ว สติแข็งแกร่งแล้ว ปัญญาเริ่มเห็นได้ระดับนึงแล้ว 

จนมันจะรู้ตัวแล้วว่าเราเริ่มเข้าไปรวมกับมัน จะเข้าไปรวมกับอารมณ์ จะเข้าไปหมายมั่นกับอารมณ์ ไปเพิ่มหรือไปลด...ปั๊บ มันจะเห็นทันที แล้วมันจะทรงได้


โยม –  อาจารย์ครับ เมื่อกี้พูดถึงเรื่องของสติกับสัมปชัญญะนี่น่ะฮะ  อาจารย์บอกว่าสตินี่คือตัวรู้ แต่ขณะที่สัมปชัญญะคือการรู้แบบต่อเนื่อง

พระอาจารย์ –  เห็น


โยม –  เห็นอย่างต่อเนื่อง ...ฉะนั้น ถ้าสมมุติว่าเราเอาการรู้ตัวมาอยู่ที่กาย แล้วเราแว้บแอบมองเข้าไปนี่ อาจารย์เคยบอกว่าเราใช้สมาธิคล้ายๆ กับขณิกะ คือชั่วขณะ มองไป  

แล้วถ้าเราพยายามที่จะทรงการเห็นอย่างต่อเนื่องคือสัมปชัญญะ อันนั้นก็ใช้ขณิกะแบบถี่ๆ อย่างนี้ หรือว่ามันจะต้องใช้...ถ้าพูดถึงเรื่องของระดับของสมาธินี่น่ะฮะ เป็นขณิกะแบบถี่ๆ หรือจะต้องเป็นอุปจาระ คือทรงความรู้ไว้

พระอาจารย์ –  ในจิตเหรอ


โยม –  ในจิตฮะ คือหมายความว่า ถ้าเราอยากจะเห็นอย่างต่อเนื่องนี่นะฮะ สัมปชัญญะนี่

พระอาจารย์ –  ก็เป็นขณิกะ จะเป็นขณิกะ ขณิกะคือเป็นธรรมดา ปกติ ...ไม่ได้ต้องไปเพิ่ม หรือว่าต้องไปกำหนด เข้าใจมั้ย 

ก็เห็นแบบธรรมดาเหมือนตาเราเห็นอย่างนี้ เหมือนกับมีอีกตานึงมองอยู่อย่างนี้ เห็นนี่ เห็นธรรมดาๆ ...ถ้าไม่ธรรมดา หมายความว่า มันเป็นขั้นที่เพ่ง จงใจ จงใจจะหน่วง


โยม –  จงใจดู

พระอาจารย์ –  จงใจดู ...ตรงนี้ถึงเรียกว่าเป็นอุปจาระ


โยม –  ฉะนั้นเราจะไม่ทรง ไม่เพ่ง

พระอาจารย์ –  ไม่ทรง ดูแบบสบายๆ เห็นแบบสบายๆ เห็นกลางๆ เห็นกลางๆ ...เพราะถ้าไปจงใจหรือไปเพ่งนี่ มันจะทำให้ความจริงนี่แปรเปลี่ยน มันจะไม่เกิดในสิ่งที่ควรจะเกิด 

มันจะไม่เห็นในสิ่ง อารมณ์ หรือว่าอัตตาที่จะเกิด ...มันจะไม่เกิด เพราะมันจะมีการหน่วงด้วยจิตที่กำหนดไว้ กำหนดด้วยอารมณ์ที่หน่วง


โยม –  ถ้าเราคิดว่าสัมปชัญญะนี่ มันเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเทียบเคียงกับสติที่อาจารย์ว่ามันรู้แว้บนึงแรกๆ นี่น่ะฮะ นั่นคือเราเรียกสติ แต่สัมปชัญญะนี่คือเราเห็นอย่างต่อเนื่องนี่ มันก็คือเอาสติไปดูอย่างถี่ๆ อย่างนั้นรึเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  จริงๆ น่ะ อันนี้มันเป็นแค่ภาษา  ในความเป็นจริงน่ะ ตัวสัมปชัญญะมันก็คือตัวสติอันหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่เน้นที่รู้ แต่มันก็รู้และเห็น  

แต่ถ้ารู้บ่อยๆ แล้วรู้เบาๆ นี่ อาการนี่มันจะเป็นทั้งรู้และเห็นไปในตัวอยู่แล้ว สติมันจะแปรเปลี่ยนเป็นสัมปชัญญะในตัวของมัน ไปพร้อมกัน ...มันจะปรับให้สตินี่เป็นกลางขึ้น เป็นกลางๆ ขึ้นไป


(ต่อแทร็ก 1/20)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น