วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/20 (3)


พระอาจารย์
1/20 (25530404B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 เมษายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/20  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเป็นพระอริยะท่านเรียกว่าอยู่แค่มหาสติน่ะ มีแค่จิตเดียว รู้แค่ขณะเดียว มีความหมายแค่ขณะเดียว แล้วก็ดับเลย ...ตรงนี้ท่านถึงเรียกว่าเป็นอนาคา...อนาคามี

เพราะว่าอนาคามี คืออนาคาริก  อนาคาริกแปลเป็นไทยว่าผู้ไม่มีบ้าน เข้าใจมั้ย ...แต่ยังมีการรับรู้ นั่นเรียกว่าภพเดียว แต่เป็นพระอรหันต์นี่ ไม่มีภพ จะไม่มีแล้ว จะไม่มี จะไม่มีที่ตั้งแห่งภพ

เพราะฉะนั้น ท่านไม่จำเป็นต้องรับรู้เลย (หัวเราะ) คือเป็นอิสระ อิสระจริงๆ คือไม่มีแล้วนะ ไม่มีคำว่าจะต้องรู้อะไรหรือจะต้องไปตั้งใจใส่ใจกับอะไร ...คือท่านหมดแล้ว 

แล้วที่จะหมดจริงๆ นี่ อันนี้ทำเอาไม่ได้นะ  มันเป็นของมันเองเลย ...มันเป็นเอง คือจิตจะทิ้งภพเลย ทิ้งหมด ไม่มีการตั้งใจรับรู้หรือว่าจะต้องรู้อะไร

แต่ว่าลักษณะพระอนาคานี้...ท่านยังต้องรู้ ท่านยังต้องมีที่ตั้ง จะต้องไปทำลายที่ตั้งแห่งรู้...คือใจ  มันยังมีใจรู้อยู่นะ ยังมีความสำคัญของใจรู้อยู่

ตรงนั้นน่ะคือภพใหญ่ คือมหาภพ ...คือเป็นภพแรกหรือว่าจิตเดิม หรือว่าจิตประภัสสร หรือว่าจิตบริสุทธิ์ หรือว่าใจ หรือว่าจิตแรก

แต่ว่าถึงภาวะของพระอรหันต์คือหมายความว่า ท่านสามารถเข้าไปทำลายที่ตั้งแห่งใจ หรือว่าเข้าไปทำใจให้เป็นนิโรธ...ดับ ดับภพของใจ 

จนสุดท้ายแล้วที่ตั้งใจนี่ไม่มีที่ตั้งนะ มันรวมกันแค่วิบากขันธ์ให้ประคับประคองกันอยู่ให้ถึงวาระอายุขัยเท่านั้นเอง อยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป เป็นอย่างนั้น เรียกว่าประคองกันไป

คือความเป็นใจไม่สามารถตั้งอยู่ได้แล้ว มันมีแค่เป็นภารกิจชั่วคราว...ร้อยปี ห้าสิบปี ยังอยู่ก็ประคองขันธ์กันไป ...แต่หมดแล้วคือพั่บ หาที่อยู่ไม่มีแล้ว 

ใจก็ไม่มีที่ตั้งแล้ว พร้อมกัน...ดับขันธ์ ...เคยได้ยินมั้ยว่าดับขันธ์ มันไม่ใช่ดับแค่รูปขันธ์ นามขันธ์ก็ดับ ใจที่เป็นฐานของนามขันธ์ก็ดับ ...เรียกว่าดับโดยสิ้นเชิง

แต่ของพวกเรานี่รูปดับ...นามไม่ดับ ใจไม่ดับ ใจยังก่อภพใหม่ หารูปใหม่ ...วิบากก็จะส่งผลไปตามกรรมปัจจัย ต่อ...ต่อเนื่องกันไป

เพราะนั้นว่า แค่เรียนรู้เท่านี้...พอแล้ว ...ใครเขาว่าดูไปแล้วมันจะละยังไง เพิกถอนยังไง  ดูไปเหอะ ถอนไม่ได้ก็ดูไปเหอะ ก็บอกว่า...อะไรๆ เกิดขึ้นให้รู้ ...รู้ไปเหอะ แก้ปัญหาได้หมด

ผิดมั้ย สงสัยมั้ย...รู้  มันว่าจะทำอย่างอื่นดีมั้ย อันนั้นใช่มั้ย จะทำอย่างนี้ดีมั้ย...รู้เข้าไป ...อะไรเกิดขึ้นก็รู้เข้าไปเหอะ มันแก้ให้เอง มันจะปรับสมดุลให้เอง

สุดท้ายแล้วไอ้ที่รู้นี่ดับหมดแหละ มันมาแค่ชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าว หาโน่นหานี่ทำไปรู้ไป ไม่มีอะไรหรอก ...รู้เฉยๆ เอารู้เข้าไปแก้ รู้เฉยๆ สุดท้ายมันตั้งอยู่ไม่ได้หรอกไอ้สิ่งที่ถูกรู้น่ะ 

ความอยากมี อยากเป็น  คิดว่าอย่างนั้น คิดว่าอย่างนี้  เดี๋ยวก็หายไปหมดแหละ ...ไอ้พวกความคิดล่องลอยเลื่อนลอยทั้งหลาย มันเป็นแค่นั้นเอง อย่าไปจริงจังอะไร

ใครว่าถูก ว่าดี ว่าผิด ว่าใช่ แค่ฟังข้างหูปุ๊บ ดับไปแล้ว ...ที่อยู่ที่ใจเป็นสัญญา รู้อีกๆๆ ขึ้นมาก็รู้ๆ  มันไม่มีอะไรตั้งอยู่หรอก ไม่มีอะไรคงอยู่หรอก

อย่าไปคิดว่าจะดีจะร้ายกับมัน หรือมันจะทำให้เราดี หรือมันทำให้เราร้าย ...อันนั้นเป็นเรื่องของความหมายมั่นเอาเองแค่นั้นแหละ

ก็อย่าไปหมายมั่นเท่านั้นเอง ละได้ก็ได้ ละไม่ได้ก็ไม่ได้ ...มันก็ไม่เห็นเป็นอะไร มันก็เป็นแค่ความคิด ...ความเป็นจริงก็มีอยู่ตรงนี้

บอกแล้ว ความปรุงแต่งของจิตน่ะมันพิสดาร...พิสดาร หาทางไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ มันซับซ้อนมากขึ้นๆ

เพราะนั้นว่า พวกเราเวลารับรู้ข่าวสาร เวลารับรู้เรื่องพวกนี้ ต้องกลับมาปรารภที่ใจ...เป็นยังไง  พอใจ เสียใจ หรือดีใจ หงุดหงิด รำคาญ หรือธรรมดา เฉยๆ

พวกนี้แก้ไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ใช่มั้ย ยังไงก็ต้องมีน่ะ จะไปบอกให้หยุด...เขาก็จะทำ มีปัญหาอะไรมั้ยล่ะ ...เราต้องกลับมาปรารภอยู่ตรงนี้ ยินดียินร้ายเกิดขึ้นไหม หรือธรรมดา ...เออ ดูมันไป แค่นั้นเอง

คอยระวังเท่าทันอยู่ที่ใจ ไม่ต้องไปเดือดร้อนมากเกินไป  หน้าที่อย่างเดียว...แค่รับรู้ ผัสสะ ยังไงก็ปิดไม่ได้ผัสสะ อายตนะนี่ปิดไม่ได้หรอก กันไม่ได้หรอก แก้ไม่ได้ ห้ามไม่ได้

แต่ตรงนี้ต่างหากที่ปรับได้ แก้ได้ ระวังได้ ดูแลมันได้ ...รู้อะไร เห็นอะไร ได้ยินอะไร กลับมาปรารภที่ใจ...เป็นอย่างไร ดู สังเกตดู แล้วจะเห็นว่าไอ้ตรงนี้ก็เปลี่ยนไป ...สุดท้ายแล้วก็คือว่าไม่มีอะไรนะ มันจะวางได้เอง


โยม –  ทุกคนจะมีกรรมของใครของมันอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปแทรกแซง

พระอาจารย์ –  ใช่ กรรมมากกรรมน้อย อยู่ที่เจตนาของเขา


โยม –  อย่างเราเป็นแม่อย่างนี้ หรือเราเป็นลูกก็ตาม เราก็ทำตามหน้าที่ คือถ้าเขาทำอะไรไม่ถูก เราก็ทำตามหน้าที่...ให้เต็มที่ก็พอ

พระอาจารย์ –  อือ คาดหวังอะไรไม่ได้


โยม –  ไม่ต้องคาดหวัง ไม่ต้องแทรกแซงเขามาก

พระอาจารย์ –  สมัยหลวงปู่ท่านอยู่นะ มีพระองค์นึงมาบวช จะขอมาบวช แล้วปัญหาคือว่าแม่ไม่ยอมให้บวช ...คือธรรมดาของนักบวชนี่ จะบวชเขาจะต้องมีให้พ่อแม่อนุญาต 

มันก็ติดตรงนี้ว่าแม่ไม่อนุญาต คือเหลือแม่คนเดียว ไม่ยอมให้บวช ก็มาหาหลวงปู่ โยมก็ว่าแม่ไม่ยอมเซ็นให้บวชนี่จะทำยังไง อยากจะบวชก็ไม่ได้บวช แม่ไม่ยอม จะพูดยังไงให้ฟัง

หลวงปู่บอกว่า “ช่างแม่มัน” (หัวเราะกัน) “มานี่ จะเซ็นให้เอง” ท่านบอกว่า มันเป็นแม่แค่เก้าเดือน มันอุ้มท้องเป็นแม่นี่ มันควบคุมเราได้เพียงแค่เก้าเดือน ออกจากท้องแม่มาแล้วนี่ มันไม่สามารถควบคุมกันได้แล้ว 

คือนี่พูดแบบความเป็นจริง จริงๆ เลยนะ ...คือท่านพูดให้เห็นว่า บางทีไอ้เรื่องจารีตประเพณีบัญญัติหรือสมมุตินี่ มันกลายเป็นตัวที่ห้ามมรรคผลโดยปริยายเลย เข้าใจมั้ย เพราะเราไปยึดมั่นกับไอ้ความหมายแค่นี้

หลวงปู่บอก เซ็นเข้าไปเหอะ แม่ไม่เขียนก็เขียนไปเถอะ ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวแม่เขาก็ค่อยปรับจิตปรับใจได้เอง อะไรอย่างนี้ ...ซึ่งมันอาจจะดูปฏิวัติหรือว่าโต้แย้งขัดแย้งกับจารีตประเพณีอะไรก็ตาม 

แต่ในความเป็นจริงนี่ บางทีมันก็ต้องอย่างนี้ ...เรื่องของธรรมเรื่องของความเป็นจริงบางทีมันก็ยากที่จะเอาโดยจารีตหรือที่จะเอาความเข้าใจหรือการยอมรับของทุกฝ่าย บางทีภูมิปัญญานี่มันคนละระดับกัน

แต่ถ้าเราไปกังวล เกรงใจ เอาเรื่องของความถูกต้อง ความที่สังคมเขาว่ากันอย่างนั้นอย่างนี้...มาเป็นตัวผูกมัดพันธนาการก็ไม่ได้ ...มันติดขัดหันรีหันขวางไปไม่ถูกหรอก บางทีนะ

เพราะนั้นอะไรก็ตาม...กลับมาปรารภที่ใจ ดูใจเป็นหลัก ว่าจิตเราเป็นกลางมั้ย เรามีเจตนามั้ย มีเจตนาเป็นกุศลหรือไม่อย่างไร ...ตรงนี้ดูที่เจตนา แล้วกลับมาปรารภที่ใจ

การกระทำออกไป เราถือว่าบริสุทธิ์หมดแหละ ดีหมดแหละ ...แต่คนรับเขาจะคิดยังไง เราห้ามเขาไม่ได้อยู่แล้ว มันอยู่ที่ภูมิปัญญา คนรอบข้างของเรา

แต่ว่าการทำพูดคิด ถ้ามีสติเราจะรู้เลยว่า เราทำด้วยเจตนาอะไร...นี่ รู้อยู่แล้ว ...มันเป็นตัวที่ทำให้เรายืนได้ไม่ต้องก้มหน้าอายใครน่ะ เข้าใจมั้ย มันจะรู้ได้ด้วยตัวเอง

มันมีความกล้าหาญน่ะ ในการที่จะรับ...แม้แต่ว่าคนเขาจะก่นด่า คนเขาจะยกยอก็ตาม ...มันรู้อยู่แล้วว่าการกระทำคำพูดของเราเป็นไปด้วยอะไร หลอกตัวเองไม่ได้หรอก ไม่ต้องกังวล

บางที เราก็อย่าไปติดเรื่องของค่านิยม ประเพณี หรือว่าคำพูด หรือว่าอะไร ข้อวัตรข้อห้ามอะไรต่างๆ จนเกินไป มันกลายเป็นเหมือนกับวัวพันหลักน่ะ

มันจะดึงไปหมด ขัดไปหมดแหละ ติดขัดไปหมด ความว่า...ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง มันต้องอย่างนั้น มันไม่น่าอย่างนั้น อะไรพวกนี้ หลายอย่าง ถ้าเราไปกังวล

เพราะนั้นตัดสินใจ ถ้าทำก็ทำไป ก็ปรารภอยู่ที่ใจเป็นยังไงขณะที่ทำ ดีแล้ว ทำเลย ไม่มีปัญหา ...เพราะว่ามันจะเป็นกลาง ไม่มีอกุศลจิตเป็นตัวนำ ไม่มีอะไรหรอก ใครจะว่ายังไงไม่มีปัญหา


โยม –  วันนี้กระจ่าง โชคดีที่ได้มาฟัง

พระอาจารย์ –  โชค...โชคอีกแล้ว ...ไม่มีโชคนะ ตามเหตุปัจจัย ...ไม่มีโชค ไม่มีบังเอิญ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุปัจจัย 

จะมาได้นี่ต้องนั่งรถมา ต้องเดินทางมา เห็นมั้ย มันต้องมีการประกอบกระทำ มีการจงใจ มีเจตนา มันมีหลายสิ่งหลายอย่าง มันมีการปรารภ เห็นมั้ย ไม่มีโชค ไม่เกี่ยวเลย


โยม –  หนูเคยพาแม่มาแล้วไม่เจอพระอาจารย์ เฉียดไปนิดเดียว

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย มันเลือกไม่ได้...เหตุปัจจัย


โยม –  หนูอยากให้แม่ได้มีโอกาสมากราบพระอาจารย์ค่ะ เพราะว่าก็ยังเห็นท่านยังติดข้องอยู่

พระอาจารย์ –  อือ ตามเหตุปัจจัย ...มีอะไรอีกมั้ย สงสัยอะไรมั้ย


โยม –  ท่านครับ อย่างเจโตวิมุตินี่ พอพั้บออกมาแล้วนี่ อย่างต่ำพระอนาคา หรือว่าจะขึ้นไปสู่พระอรหันต์ก็ได้ใช่ไหมครับ ...แล้วก็อย่างท่านบอกว่าพระอนาคานี่อยู่ในภพ ภพแรก อยู่ที่หนึ่ง แล้วก็ดับ แต่ก็มีปรุงต่อเป็นสักแต่ว่าใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ –  อือฮึ ขันธ์มันมีอยู่ตลอด หนีไม่พ้นหรอก ขันธ์นี่...ในระหว่างมีชีวิตอยู่ ไม่สามารถดับขันธ์ได้เลย ไม่สามารถดับได้ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเลยแหละ ขันธ์ห้ามีครบ

พระอรหันต์ก็มีครบ ความคิดมี ความรู้สึกมี เวทนามี รูปมี เจ็บปวดแสบร้อน เหนื่อยมี หิวมี กระหายมี พอใจมี ไม่พอใจมี ...มีหมดๆ แต่มีแล้วดับได้เป็นปกติ

มีแบบปกติ ไม่ได้มีแบบผิดปกติ เท่านั้นเอง เป็นธรรมดาของขันธ์ เรื่องนี้เป็นธรรมดา เป็นวิบากขันธ์ นามก็เป็นวิบากขันธ์ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พวกนี้ก็เป็นวิบากขันธ์หมด

เมื่อมีรูปนี้จะต้องมีอาการอย่างนี้แหละ เป็นธรรมดา  ไม่เห็นว่าเป็นถูกหรือเป็นผิด แต่เห็นว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ มันเป็นเช่นนั้นเองๆ ...ยอมรับได้หมด แค่นั้นเอง 

แต่เจโตวิมุติ...สมัยนี้ไม่มีแล้ว


โยม –  มันไม่อำนวยแล้วหรือครับ

พระอาจารย์ –  อือ เหตุปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้อ


โยม (อีกคน) เจโตคืออะไรคะ

พระอาจารย์ –  คือการสำเร็จพระอรหันต์ หรือว่าสำเร็จเป็นพระอริยะโดยการกำหนดจิตล้วนๆ หมายความว่ากำหนดสมาธิล้วนๆ ไม่มีการพิจารณาเลย ไม่มีการเจริญสติเลย

นั่งหลับตาแล้วกำหนดเข้าสมาบัติล้วนๆ เรียกว่าเจโตวิมุติล้วนๆ ...ซึ่งในยุคสมัยปัจจุบันนี้ไม่มี ยากมาก เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเหตุปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้อ

สมัยพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ แล้วท่านส่องดูครั้งแรกว่า มีใครจะฟังธรรมได้ แล้วได้ผลเร็วที่สุด ท่านก็มองเห็นเลยว่าอาจารย์ท่านนี่แหละ...อาฬารดาบสกับอุทกดาบส

สองท่านนี้เป็นอาจารย์ที่สอนพระพุทธเจ้าให้บำเพ็ญตบะ เพื่อเข้าสู่อรูปคือความไม่มีไม่เป็น ความว่าง ความดับของความว่าง นั่นคือที่สุดของภูมิจิตของมนุษย์ยุคนั้นที่จะทำถึง และก็ถือว่าที่สุดของมันคือแค่นั้นเอง

เพราะนั้นถือว่าสำเร็จที่สุดคือตรงนั้น นี่ สองท่านเป็นอาจารย์ที่สอนพระพุทธเจ้าให้บำเพ็ญ แล้วเมื่อพระพุทธเจ้าบำเพ็ญจนถึงที่สุดนั้น คือพระพุทธเจ้าทำได้นะ

อาฬารดาบสได้สมาบัติที่เจ็ด อุทกดาบสได้สมาบัติที่แปด ทั้งสองคน พระพุทธเจ้าก็ได้หมด สมาบัติ ๘ ...แต่ท่านเห็นว่ามันยังไม่ถูกอยู่น่ะ มันยังไม่ใช่ๆ

ท่านจึงคลายออก แล้วก็มาบำเพ็ญทางด้านมัชฌิมาปฏิปทา วางจิตเป็นกลาง ไม่มีประกอบกระทำ แต่ว่ารับรู้แล้วก็ดู พิจารณาตามความเป็นจริง

พอท่านตรัสรู้ ท่านก็เห็นว่าอาจารย์ของท่านนี่โปรดได้สอนได้ ฟังปุ๊บนี่หลุดเลย ได้เลย  เพราะกำลังนี่พอแล้ว พูดปุ๊บนี่จะให้เห็นก้าวเข้าสู่เจโตวิมุติได้ทันที

แต่พอส่องไปดู เห็นปุ๊บท่านก็อุทานเลย “ฉิบหายแล้ว” ...เพราะอะไร ...ตายแล้ว  อาฬารดาบส อุทกดาบสตายแล้ว ไปอยู่เป็นพรหม เป็นพรหม...ถึงขั้นท่านอุทานว่า “ฉิบหายแล้ว”

เพราะอีกไม่รู้กี่พุทธกัป กว่าจะได้กลับมามีกายมีจิตใหม่ ไปเป็นอรูปที่ไม่มีทั้งกายทั้งจิตน่ะ หาจิตไม่เจอน่ะ เข้าใจมั้ย มันนานมาก หลายแสนมหากัปเลย หลายพระพุทธเจ้า หลายองค์เลย 

ไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่อุทานหรอกว่า “ฉิบหายแล้ว” ...นั่นคือถ้าพูดปุ๊บนี่ อธิบายจิตเป็นกลางปุ๊บ ให้เห็นไตรลักษณ์ในสมาบัติ จิตจะเข้าสู่นิโรธสมาบัติได้ทันที 

แล้วก็พอถอนออกมาจากผละสมาบัติตามกำลังปุ๊บนี่ ได้ถึงขั้นอรหันต์เลย ...นี่ สมัยนี้ไม่มีนะ สมัยก่อนๆ ยังมี พวกนี้จะมีฤทธิ์มาก อภิญญา ๖ ได้อภิญญา ๖


โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วอย่างพระอริยะที่เป็นพระอนาคามีนี่ค่ะ สมมติถ้าท่านตายไป ในหนังสือหนูเคยอ่านว่า จะไปอยู่บนสวรรค์ พรหมโลก

พระอาจารย์ –  เป็นพรหม อือฮึ เป็นพรหม สุทธาวาส


โยม –  แล้วจะกลับมาเกิดอีกไหม

พระอาจารย์ –  ไม่เกิดแล้ว


โยม –  ไปปฏิบัติข้างบน

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องปฏิบัติแล้ว ไปอยู่รอ...รอให้จิตมันปรับ  แล้วก็หมด...ดับ จิตก็ดับเลย หมดเลย ...เพราะว่ามันเป็นเหตุปัจจัยที่วิบากขันธ์นี่ มันไม่สามารถต่อเนื่องจนถึงความหลุดพ้นขั้นสูงสุด

คือวิบากที่อายุขัยน่ะมันสั้น อายุของขันธ์นี่มันสั้น ก็เลยทำให้จิตนี่มันไม่สมบูรณ์ มันถึงวาระรูปขันธ์ดับซะก่อน จิตยังไม่พร้อม ก็เลยต้องเสวยเป็นสุทธาวาส ...ก็รอจังหวะปรับจิตพร้อม พร้อมเมื่อไหร่ก็ดับ

พอไปถึงขั้นพระอนาคานี่ ไม่ทำอะไรแล้ว มีแค่หน้าที่รู้ดูเห็นๆ เห็นจิต อยู่ในที่อันเดียวแล้ว อยู่ในที่อันเดียวๆ ไม่ไปหาที่อื่น ไม่ออกนอกนี้แล้ว ...อยู่ตรงนี้ๆ ขณะนี้

แต่ว่าวิบากขันธ์มันสั้น เท่านั้นเอง รูปขันธ์ มันหมดวาระไปซะก่อนเอ้า พอแล้วมั้ง


....................................





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น