วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/20 (2)


พระอาจารย์
1/20 (25530404B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/20  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นธรรมชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อุปนิสัยไม่เหมือนกัน ลักษณะนิสัยของธรรมชาติเดิมของจิต คือจิตแรกนี่

อย่างสมมุติว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ แล้วมีผู้ชายสองคนเดินมาเห็นผู้หญิง ...นี่ จิตแรกจะไม่เหมือนกัน ความรู้สึกจะไม่เหมือนกัน ด้วยอัตตาแรกเลยอย่างนี้ ...ตรงนั้นคือความแตกต่างของอุปนิสัยหรือวาสนา

แล้วไอ้จิตแรกตัวนี้มันจะมีตลอด...มีตลอดเลย...มีตลอดจนตายนะ ...พระอรหันต์ก็มี เพราะท่านจะรู้กับบัญญัติและสมมุติอยู่ตลอด แต่ท่านรู้แค่นี้ เข้าใจมั้ย ความเป็นจริง


โยม –  เพราะเราอยู่ในโลก

พระอาจารย์ –   ใช่ มันต้องสมดุลกัน ...ถ้าไม่รู้อะไรหรือไม่มีความหมายความเห็นเลยนี่ มันแยกแยะไม่ออกเลย เข้าใจมั้ย โยมมานั่งข้างเราก็ได้ เราไปนั่งกับโยมก็ยังได้ จับต้องก็ได้ จะไม่มีหญิง-ชาย ใช่มั้ย

ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่มีแก่ไม่มีหนุ่ม ไม่มีอะไรเลย เห็นมั้ย ถ้าไม่มีอะไรเลยคือรู้แบบเห็นแล้วว่างๆ หรืออะไรเป็นว่าง ไม่มีบัญญัติไม่มีสมมุติ ...นี่ เริ่มมั่วแล้ว อยู่กันมั่วไปหมดเลย จับอะไรไม่ได้แล้ว ใช่มั้ย

แต่ท่านรู้ ท่านมีอารมณ์ ท่านมีความรู้สึก ท่านมีเวทนาแรกอยู่แล้ว...เป็นธรรมดา ถือเป็นธรรมดาเลย...ไม่ถูก ไม่ผิด...แต่จริง แต่มันเป็นความจริง

อย่าไปบอกว่าผิด อย่าไปบอกว่าถูก แต่มันเป็นความจริงที่ปรากฏขึ้น มันเป็นความพอดี ...แต่ความพอดีตรงนั้น ท่านเห็นแล้ว...มันดับไปทุกคราวเลย ทุกคราว อัตตาตัวนี้เกิดขึ้นพอรับรู้แล้วก็ดับไป

เข้าใจความหมายว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ มั้ย...ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ...เนี่ย ต้องอาศัยตนตัวนี้เป็นที่สุดของทุกข์เลย เป็นที่สุดของความดับทุกข์ 

ก็ต้องอาศัยเรียนรู้ตนตัวนี้ อัตตาตัวนี้แหละ จึงจะเห็นความเป็นอนัตตาของจิต จึงเห็นอนันตาจักรวาล จึงเห็นอนันตมหาสุญญตา ถึงเห็นทุกสรรพสิ่ง เป็นความไม่มี


โยม –  เมื่อก่อนรู้แต่เป็นเปลือกๆ ไม่เข้าใจเท่าไหร่

พระอาจารย์ –  อือ พอจิตเห็นแล้ว เห็นมั้ย มันจะเริ่มเข้าใจ...เข้าถึงใจ คำว่าเข้าใจน่ะ


โยม –  เข้าถึงใจ

พระอาจารย์ –  เออ ไม่ใช่เข้าใจแบบที่หัวสมอง มันเข้าถึงใจ เข้าไปเห็นในใจ นี่ มันคนละเรื่องกันเลย ...มันเข้าใจแล้ว คำพูดร้อยคำนี่ ไม่เท่ากับเข้าใจหนึ่งขณะ

คำพูดล้านคำนี่ ไม่เท่าจิตเข้าถึงใจได้ขณะหนึ่งในเรื่องนั้นๆ บอกให้เลย มันอธิบายความได้มากกว่าล้านคำอีก ...นี่คือคำว่าปัจจัตตัง จำเพาะจิตจริงๆ  รู้จำเพาะจิตแค่นั้นเอง

เพราะนั้นไอ้ที่แต่ก่อนเราจะต้องแสวงหาความรู้ความเข้าใจมากมาย ...สุดท้ายเราจะต้องทิ้งให้หมด เพราะนั่นมันแค่บัญญัติ สมมุติ ความคาดคะเน ประมาณ ประเมิน 

แต่นั่นยังไม่ใช่ธรรมที่แท้จริง มันปรุงขึ้นมาเป็นสังขารธรรม ...เพราะนั้นน่ะ สัพเพ ธัมมา อนัตตา  สัพเพ สังขารา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่มีตัวมีตนอะไร ไม่จริงไม่จัง 

อย่าไปจริงจังมั่นหมายในสิ่งที่เป็นสังขาร เป็นแค่ความปรุงแต่งอย่างหนึ่งแค่นั้นเอง ...อาจจะดูเหมือนเป็นธรรม ดูเหมือนเรียกว่าธรรม แต่จริงๆ มันเป็นสังขารธรรม

ถ้าธรรมตามความเป็นจริงน่ะ ไม่มีคำพูด ไม่มีความหมาย  นี่...(เสียงของกระทบกัน) เห็นมั้ย เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร จะเรียกยังไงก็ได้...glass แก้ว ขวด อะไรก็ได้แล้วแต่เราจะเรียกชื่อเข้าไป

แต่ถ้าบอกว่าจริงๆ เขาคืออะไร ...ไม่มีว่าอะไรน่ะ เห็นมั้ย ความเป็นจริงเขาไม่มี เขาไม่ได้เป็น ไม่มีความหมาย ไม่มีคำพูด ใช่มั้ย ไม่มีภาษาเลย

แล้วเหมือนกันมั้ยนี่ ...เห็นมั้ย เขาเหมือนกันตรงนี้ แต่ว่าแตกต่างในอัตลักษณ์หรือรูปลักษณ์ที่เราเห็น ...แต่ในความเหมือนกันนี่คือไม่มีความหมาย

นี่คือเหมือนกันในแง่เดียวกันหมด เฉกเช่นสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน เข้าใจรึยัง ความหมายว่า...ทุกสรรพสิ่งคือหนึ่งเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างหรือไม่ได้แบ่งแยก

เขาไม่ได้แบ่งแยกเลย ...แล้วใครแบ่งแยก หือ ..."เรา" น่ะ เรามาสมมุติเอา บัญญัติเอา นี่ ถึงได้ว่ามันแตกต่างโดยอัตลักษณ์ โดยสัญลักษณ์ โดยรูปลักษณ์ภายนอก

ที่ตาเราเห็น หูเราได้ยินเสียง ลิ้นเราลิ้มรส เราก็มาจำแนกออกเป็นบัญญัติ ว่านี่คือนั่น นั่นคือนี่ มันต่างกัน มันเหมือนกัน ...มันเปรียบเทียบแล้วตัดสินว่ามันอันเดียว หรือไม่ใช่อันเดียวกัน

แต่ในความเหมือนกันของเขาในความเป็นจริง คือไม่มีอะไร ...ตรงนี้ ท่านเรียกว่าสุญญตา คือความว่าง ทุกสิ่งทุกอย่างนี่มันอยู่บนความว่าง มันมีอยู่บนความว่าง

สุดท้ายแล้วมันไม่มี สุดท้ายความเป็นตัวของมันน่ะมันไม่มี เพราะมันอยู่บนความว่างเปล่า มันมีขึ้นแค่ตามเหตุและปัจจัยเท่านั้นเอง ...“เรา” นี่มีขึ้นแค่ตามเหตุและปัจจัย แค่นั้นเอง 

แต่ละคนๆ มันมีเหตุปัจจัย ก็ตั้งอยู่แค่ชั่วคราว ...แล้วมันตั้งอยู่บนอะไร ตั้งอยู่บนความไม่มีอะไรอยู่แล้ว แม้แต่ขณะที่มันตั้งอยู่ ในตัวของมันเองก็ไม่มีความตั้งอยู่

การรับรู้ของจิต มันจะรับรู้เป็นเรื่องๆๆๆ ...รู้ที่ตา...หูนี่ไม่ได้ยินนะ  ถ้ารู้ที่หู...ตานี่ไม่เห็นนะ  ถ้ารู้ที่จิตนี่ หูตาดับแล้วนะ พอรู้ที่กายนี่ไม่รู้ที่ใจแล้วนะ ไม่รู้ที่ความคิดแล้วนะ

เห็นมั้ย จริงๆ แล้ว...การรับรู้นี่ มันจะรับรู้ได้ทีละหนึ่งๆๆ ทีละหนึ่งผัสสะ ...แต่มันเร็ว มันกระโดดไปมา จนดูเหมือนมันเกิดขึ้นพร้อมกัน...ผัสสะทั้งหก ตอนนี้มันเลยเห็นว่ามันมีตัวตนเป็นผู้รับผัสสะทั้งตัว

แต่จริงๆ น่ะการรับรู้ของกายวิญญาณ ของมโนวิญญาณ ของจิตวิญญาณ ของโสตวิญญาณ ของจักขุวิญญาณ มันเกิดขึ้นทีละขณะๆ ...ทีละขณะตามทีละอายตนะ

ตรงนี้ที่พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าไม่มีขันธ์ หรือว่าขันธ์น่ะไม่มีตัวตน ...คือรูปขันธ์นามขันธ์จริงๆ ไม่มีตัวตน  เพราะมันเกิดขึ้นแล้วมันดับทันที...แล้วมาเกิดใหม่ 

เห็นมั้ย มันไม่มีร่องรอยเลยนะ ...แต่ว่ามันเกิดเร็ว จนดูเหมือนว่าเห็นทั้งตัวยังเกิดขึ้นพร้อมกัน หูได้ยิน ตาเห็นรูป ใจก็กำลังคิดตาม ...มันดูเหมือนเกิดขณะเดียวกันเลย

เนี่ย ตัวนี้คือความต่อเนื่อง ...ตัวความต่อเนื่องนี่จึงเป็นตัวที่ปิดบังความว่างหรือว่าความไม่มีตัวตน 

สติ...มันจึงเป็นตัวที่จำแนกหรือแยก...ของความว่าไอ้นี่เกิดขึ้น ไอ้นี่ไม่เกิดขึ้น ไอ้นี่เกิด ไอ้นี่ดับ ...มันจะเห็นรอยต่อ จะเห็นช่องว่าง เห็นความว่าง...ระหว่างความเกิดอันหนึ่ง ดับอันหนึ่งแล้วถึงเกิดอีกอัน 

มันจึงไปเห็นความไม่มีตัวตนของขันธ์ จนเห็นว่าขันธ์นี่สุดท้าย มันคือความว่างเปล่า มันเกิดขึ้นแค่ขณะๆๆๆ เกิดแล้วก็ดับไปๆ เป็นขณะไป

แต่ด้วยอำนาจแห่งวิบาก หรือปัจจัยวิบาก มันจึงเกิดความต่อเนื่อง...ร้อยปี แปดสิบปี เจ็บสิบปี มันถึงดับทีเดียว ...ตอนนั้นมันไม่ต่อเนื่องแล้วก็ดับ...คือตาย

แต่จิตยังไม่เห็นความเป็นจริง มันไม่ยอมรับ มันยังคิดว่าต้องหาอะไรมาทำต่อ ...มันจึงไปก่อเกิดวิบากใหม่ขึ้นมา...ไปควานเอาธาตุมารวมกันใหม่

นี่จะให้เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไรก็ตาม...ตามแต่วิบากมันจะพาเอามาก่อเกิดให้มีรูป...มหาภูตรูปมารวมกันใหม่ แล้วก็มาต่อเนื่องวนเวียนอย่างนี้

เพราะนั้นปัญญาคือพอรู้เข้าใจปุ๊บนี่ มันจะเห็นความไร้สาระของขันธ์ว่า...จริงๆ แล้วไอ้ที่ว่าเราเป็นใครนี่ ไม่มีอะไร เป็นแค่การรับรู้ขณะหนึ่งๆๆ ของอายตนะทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ...แต่มันเร็วๆ 

เพราะนั้นการที่จะให้เราเห็นจุดรอยต่อของมัน สติจึงเป็นตัวที่แยกให้เห็นความไม่มีสันตติ 

การที่เราไม่มีสติเห็นนี่ มันเป็นการรวมกันใช่มั้ย มันต่อเนื่องกันไปหมดเลย มันจึงไม่เห็นอาการที่มันเกิดขึ้นแล้วดับ หรืออะไรเกิดขึ้นแล้วดับ เนี่ย อย่างนี้

เมื่อสติเข้าไปเห็น ความเกิดตั้งอยู่แล้วดับไปบ่อยๆ มันจะเห็นรอยต่อ ว่าการรับรู้นี่ มันรับรู้ได้ขณะหนึ่ง ไม่ใช่เหมือนกับว่า ระหว่างเราฟังแล้วเราเห็นไปพร้อมกัน ฟังแล้วยังคิดได้อีก ได้ยินแล้วยังคิดได้อีก

จริงๆ แล้วน่ะ ขณะได้ยินไม่ได้คิดนะ ขณะที่คิดก็ไม่ได้ยินนะ จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้น ผัสสะรับได้ครั้งเดียว ...มันเกิดไม่ได้พร้อมกันหรอก


โยม –  เมื่อกี้ที่พูดถึงอัตตาอุปาทาน สมมุติว่ามีคนหนึ่ง แล้วเราเห็นปั๊บนี่ มันก็เกิดเป็นความรู้สึกแล้ว ฉะนั้นถ้าสติเราไวนี่ มันควรจะต้องไปทันตอนที่เป็นผัสสะ ถูกมั้ยฮะ

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  มันจะกระเถิบไปก่อนหน้านี้อีกขั้น คือตอนนั้นยังไม่มีความรู้สึก คือยังไม่มีการปรุงแต่ง ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พระอาจารย์ –  ถึงบอกแล้วไงว่า นี่เป็นธรรมแห่งการเตรียมพร้อม ...คือมันจะต้องอยู่ในฐานของความเป็นปกติ เข้าใจมั้ย หรือว่าเป็นกลาง ...พระพุทธเจ้าถึงบอกว่ามัชฌิมาปฏิปทา

คือมรรค หรือว่าทางเดิน หรือว่าทางอยู่ คืออยู่ด้วยความเป็นกลาง ...ระหว่างเป็นกลางก่อนจะรับรู้ มันไม่มีอะไรใช่มั้ย พอเห็นปุ๊บมันมีใช่มั้ย มีความหมายขึ้นมา ...นี่ มันเริ่มผิดปกติ

แต่ว่าถ้าไม่ได้อยู่ตรงนี้ ที่เป็นกลางนี่ ...จะไม่เห็นหรอก จะไม่เห็นทัน...จะไม่เห็นทันตอนที่ผิดปกติ

เพราะระหว่างที่มันอยู่นี่น่ะ มันอยู่กับความผิดปกติอยู่แล้ว มันจะไปเห็นความผิดปกติยังไง ...ก็ตัวมันผิดปกติน่ะ มันจะแยกแยะออกได้อย่างไร ใช่ป่าว

เพราะนั้นจะต้องอยู่ในฐานของมัชฌิมา...นี่ไง มรรค หรือพระพุทธเจ้าบอกว่า...จิตเป็นกลาง 

จิตเป็นกลางนี่ถือว่าเป็นฐานปกติ แล้วมันจึงเห็นว่าผิดปกติอย่างไร ...ขณะแรกที่ผิดปกตินั่นแหละ ตัวนั้นตัวแรกอัตตาแรกของจิตเกิดทันที

แต่เพราะว่ามันจะผิดปกติตลอดเวลาอยู่แล้ว ...ถ้าไม่อยู่ในฐานของปกติ มันจะไม่เห็นว่าจากปกติ...แล้วผิดปกติ ต่างกันตรงไหน ...ก็ต้องเห็นตรงเนี้ย มันถึงจะแยกออกๆ


โยม –  เพราะฉะนั้น จากศูนย์-ไปหนึ่ง ที่อาจารย์ว่านี่ มันก็จะต้องไปเห็น  มันจะไม่ใกล้แบบว่า สมมุติว่าอายตนะภายนอกกระทบภายใน เกิดวิญญาณขึ้นทางทวารใดทวารหนึ่ง มันจะไม่ใกล้ขนาดนั้น ใช่ไหมฮะ มันจะต้องถอยมาอีก เลยมาอีกนิดนึง

พระอาจารย์ –  ถอย


โยม –  คือมีความผิดปกติเกิดขึ้น แล้วศูนย์-หนึ่งนี่ คือตรงนั้น

พระอาจารย์ –  อือ มันจะต้องอยู่ในฐานของปกติกายกับใจ ไม่ใช่ไปคอยอยู่ตรงนี้ เข้าใจมั้ย ไม่ใช่ไปคอยเพ่งแล้วก็คอยจดจ้อง ...เห็นมั้ย มันมีความเจตนาแล้ว มีความตั้งใจ มีอาการเพ่งแล้ว

เหมือนกับ รู้หนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ พวกนี้ ยุบหนอพองหนอพวกนี้ เข้าใจว่าเจริญวิปัสสนา จริงๆ เป็นอาการเพ่งนะ เป็นการกำหนดรู้ ตั้งใจรู้ ดักรู้ ดักที่จะรู้

แต่นี่ไม่ได้ดักรู้ ...แต่ว่าเป็นธรรมแห่งการเตรียมพร้อม เตรียมพร้อมที่จะรับรู้ เมื่อมันมี อย่างนี้...มันเป็นธรรมชาติกว่านะ เห็นมั้ย เห็นความเป็นปกติธรรมดา 

พระพุทธเจ้าบอกให้กลาง ต้องอยู่ในฐานความเป็นกลางตลอด ...พระอริยะทุกองค์อยู่ในฐานนี้หมดเลย เป็นมัชฌิมา จิตปกติไม่มีการกระทำ ไม่มีคำว่าจงใจหรือเจตนาแรงๆ

แต่ธรรมดานี่มันมีอยู่แล้ว เพียงเราไม่ทำอะไรนี่ก็ธรรมดาแล้ว นั่งอยู่ก็นั่งธรรมดาเห็นมั้ย จิตที่เราไม่ได้กำหนดอะไรเป็นฐาน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิต จิตมันก็มีการไหวไปไหวมา เป็นธรรมดาอยู่แล้ว

นี่คืออาการของจิตปกติอยู่แล้ว ไม่ผิดอะไร  ...อย่าไปทำให้มันไม่มีอะไร ปกติไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอะไรนะ มันมี...แต่ว่าเป็นปกติ


โยม –  เป็นธรรมชาติ ปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติ

พระอาจารย์ –  อือฮึ


โยม –  ฉะนั้น พอมีของไม่ดีผ่านมาปุ๊บ สติแรกปุ๊บ สมมุติว่าอัตตาอุปาทานที่เกิด มันก็จะเป็นอัตตาอุปาทานเชิงลบที่เกิดขึ้น เราก็แค่รู้ทันว่ามันเป็นอย่างนั้น

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  ที่ผ่านมา พอเจอที่เราชอบปุ๊บ ขึ้นมาเป็นบวก แล้วก็รู้ทัน

พระอาจารย์ –  อือ เราไม่ต้องไปห้าม เราไม่ต้องไปขัดแย้งมัน เราไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนมัน อันนี้คือเพราะอะไร ...มันไม่มีเจตนาเลยน่ะ มันเป็นของมันอย่างนั้นน่ะ ห้ามไม่ได้ ใช่มั้ย

เราเห็นเลยใช่มั้ย ห้ามไม่ได้คืออะไร ...คือมันเป็นอนัตตา ไม่ได้เป็นของใครน่ะ ...ถ้าเราบอกแล้วมันฟัง ห้ามมันได้ นี่ มันจะต้องเห็นอีกอย่างนึงสิ เห็นอย่างที่เราต้องการให้มันเห็นสิ ใช่มั้ย

เพราะนั้นขณะที่เรารู้เฉยๆ น่ะ เราจะเห็นว่าจิตเป็นอนัตตาอย่างไร ...แล้วจะเห็นความไม่คงอยู่ของมันทันที คือความดับไปในขณะที่เห็นแรก

เพราะนั้นที่สุดของทุกข์ ของมหาสตินี่ อยู่แค่หนึ่งขณะ ...แต่ที่สุดของทุกข์ของสติปัฏฐานนี่คือ...แล้วแต่ว่าตั้งน้ำร้อนไว้นานแค่ไหน ก็ต้องเสวยทุกข์เท่าที่รู้ เท่าที่ปล่อยให้มันทุกข์น่ะ ใช่ป่าว


โยม –  คือไม่รู้ตัว

พระอาจารย์ –  พอรู้เมื่อไหร่ ...ก็คุณผูกไว้เท่าไหร่ล่ะ คุณผูกไว้กี่เงื่อนล่ะกว่าจะรู้...เอ๊อะ เราผูกเงื่อนไว้ หันไปดู โหย ยาวเหยียดเลย ไม่รู้กี่ปมแล้วกู (หัวเราะกัน)

ก็ต้องคอยแก้ปมอยู่แล้ว เข้าใจมั้ย แล้วแต่ว่าแต่ละเงื่อนแต่ละปม ผูกไว้ยังไง แค่ไหน ...เป็นเรื่องของตัวเองล้วนๆ โทษใครไม่ได้นะ โทษใครไม่ได้เลย

แต่ถ้าเป็นมหาสตินี่ มีแค่หนึ่งขณะ ทุกข์มีแค่หนึ่งขณะ เกิดและดับพร้อมกัน เหตุปัจจัยอยู่ที่อันเดียวกัน ...เพราะนั้นจิตตรงนั้นถึงจะเรียกว่าเป็น รู้ที่ใจ...ละที่ใจ

ถ้าอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา หรือเห็นอาการพวกนี้เป็นธรรมดา หรือเป็นปกติ หรือจิตหนึ่ง ...นั่นน่ะคือความหมายของคำว่า...อนาคามี เป็นผู้ที่ไม่มีภพ คือมีแค่ภพเดียว แล้วก็ไม่มีภพ


โยม (อีกคน)  เป็นยังไงนะคะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  ขณะที่เกิดน่ะ นั่นเรียกว่าหนึ่งภพ  ขณะที่จิตรับรู้นี่คืออาการรับรู้แล้วมีความรู้สึกแรกนั่นแหละ ...นั่นแหละคือภพ


โยม –  เห็นภพเกิด แล้วก็ดับเลย

พระอาจารย์ –  อือ


โยม   ที่อาจารย์บอกว่า พวกเราเสวยภพอยู่แล้ว ก็คืออย่างนี้ใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  เออ มันมีอยู่แล้ว ...แต่ว่าพวกเรานี่ไม่มีแค่ภพเดียว


โยม –  สองสามสี่ห้า

พระอาจารย์ –  ใช่ มันปรุงต่อและให้ความหมายต่อไปนี่ หลายภพหลายชาติเลยในขณะนั้นน่ะ ...แล้วมันมากมายมหาศาล จิตน่ะมันหาภพอยู่ตลอด มีภพมีความหมายอยู่ตลอด


(ต่อแทร็ก 1/20  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น