วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/20 (1)


พระอาจารย์
1/20 (25530404B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  แล้วในกรณีที่ พอเราเกิดจะเข้าไปกลมกลืนกับอารมณ์ที่เกิดหรือความคิดนี่ แล้วเราดึงกลับมาที่กายนี่นะครับอาจารย์ สมมุติว่าในกรณีที่เราดึงเสร็จปุ๊บ ปรากฏว่ากายนั้นอยู่ในอิริยาบถ ซึ่งอย่างสมมุติว่าเรานั่งอย่างนี้ มันเกิดมีการปวดเข่า พอดึงกลับมาที่กายปุ๊บ มันก็เข้าไปหาเวทนาอีกแล้ว เพราะว่ามันเป็นความทุกข์ ถ้าอย่างนั้นก็เลยดูเวทนาเอา หรือยังไงก็ต้องกลับมาดูที่กายครับ

พระอาจารย์ –  ระหว่างที่ดูกาย แล้วมีอะไรอยู่ในกาย ดูตรงนั้น อะไรมันเด่นชัดๆ เป็นอิริยาบถย่อย เป็นอาการย่อยในกาย เราก็ดูตรงนั้น แม้แต่การเคลื่อนไหว ...แต่ว่าดูเฉยๆ นะ


โยม –  ทีนี้พอเราดึงกลับมาที่กายเสร็จปุ๊บ เกิดเวทนามันชัด เราก็ไปดูเวทนา ไปดูความปวดนี่น่ะฮะ แล้วอย่างนี้มันก็..

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร


โยม –  เดี๋ยวสักพักไอ้ความทุกข์นั้นมันก็จะทำให้เรากลืนไปกับความทุกข์อีก เราก็ดึงกลับมาดูที่เวทนาอยู่เหมือนเดิม

พระอาจารย์ –  คือในระหว่างที่กลืนกับเวทนาไปนี่ ...ถ้ารู้ตัวนี่ ถ้ารู้ตัวเมื่อไหร่ มันก็จะคลายออกจากการเพ่งในเวทนานั้น ก็กลับมารู้ทั้งตัว รู้กายๆ รู้กายอยู่

หรือว่าเพ่งมากๆ ปวดมากๆ แล้วมันทนไม่ไหว ก็เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนๆ เปลี่ยนให้มันปรับสมดุลหน่อย ...แต่ไอ้อย่างนี้เป็นอุบายนะ เป็นอุบาย

แต่ถ้ามันชำนาญแล้ว บอกให้ ...ต่อให้เป็นเวทนาเกิดขึ้นมันก็จะเห็นเฉยๆ แล้วมันจะสังเกตเอา สังเกตเห็นกาย แล้วก็เห็นเวทนา เห็นกายด้วยและก็เห็นเวทนาในกายด้วยนะ

แล้วมันจะสังเกตเห็นว่า ระหว่างที่รู้เวทนานี่ มันมีอะไรสอดแทรก ...มันจะเห็นตัณหา เห็นความอยากหาย เห็นความอยากพ้นมัน เกิดขึ้นในขณะเดียวกันด้วย มันจะเรียนรู้ตรงนั้นเอง

แต่ถ้าเกิดว่าจิตมันไปเพ่งที่เวทนาอย่างเดียวนะ เราต้องรู้ตัวแล้วดึงกลับมากาย ...ให้เห็นทั้งคู่ เห็นระหว่างกายและเวทนาในกาย อย่างนี้

แล้วก็เห็นว่าในระหว่างที่จิตรู้เวทนาในกาย มีการกระทำอะไรเกิดขึ้น...ในระหว่างนี้ จิตมีการกระทำอะไร ...ซึ่งส่วนมากมันเป็นเรื่องของความอยาก อยากหาย เป็นหลักเลย ตัวนี้

เห็นมั้ย เวทนากายเป็นทุกข์อยู่แล้วในตัวของมัน อันนี้คือทุกข์จริง คือทุกขสัจ ...แต่ความอยากให้มันหายนั่นเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์อีกทีหนึ่งอย่างนี้

เพราะนั้นถ้าเรารู้ทันว่ามีความอยากหาย รู้ว่ามีตัณหาเกิดขึ้น แล้วเราเห็นตัณหาปุ๊บ ตัวตัณหานั้นจะดับ ...ก็จะเหลือแต่ความปวดล้วนๆ อันนี้เป็นความปวดที่เรียกว่าเป็นทุกขสัจ คือความจริง

แต่ไอ้ปวดไม่จริงนั่นดับไปแล้ว ...ไอ้ปวดไม่จริงนั่นคืออยากให้มันหายปวด นั่นคือความปวดไม่จริง คือเป็นความทะยานออกไป ...อันนั้นเป็นอุปาทาน

แต่ทุกขเวทนาอันนี้คือทุกข์จริง หนีไม่พ้นหรอก ต้องยอมรับ ...แต่จิตมันไม่ยอมรับ เนี่ย ตรงนี้คือปัญหา ซึ่งพอไม่ยอมรับมากๆ จิตเลยเพ่งเข้าไปเลย

มันเพ่งเพื่ออะไร ...จุดมุ่งหมายของมันคือเพ่งเข้าไปเพื่อทำลาย จะทำลายเวทนา เพราะมันต่อต้าน ลึกๆ น่ะมันต่อต้านถ้าอย่างนั้นปุ๊บ ต้องรู้ตัว ถอยออกมา

สติตั้งมั่นว่าเราจมกับเวทนาแล้ว ก็ถอยมารู้ทั้งตัว ...รู้ทั้งตัวปั๊บ เวทนาก็ยังเห็นอยู่ขณะนั้น และเห็นว่าเรามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเวทนา ...ตรงนี้คือส่วนเกิน ไม่ปกติ จิตไม่ปกติแล้ว เป็นอย่างนี้


โยม –  อย่างที่ว่าให้ได้แนวอย่างนี้นี่นะฮะ แล้วก็อย่างอาจารย์ว่าคราวที่แล้วก็คือดูไปเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  ดีแล้วๆ ถ้ามันพิสูจน์ได้ หรือว่ารู้สึกได้ว่าความยึดมั่นถือมั่นหรือว่าความที่ไปอยู่กับอารมณ์ต่างมันสั้นลงหรือน้อยลง ...นี่ได้ผลแล้ว ผลคือตรงนั้น

ใครจะว่าถูก-ผิดยังไงไม่รู้ล่ะ แต่ว่าเราจางคลายจากความหมายมั่นในอาการของจิต หรืออาการภายนอกก็ตาม หรือเรื่องราว หรืออะไรที่เคยเป็นปัญหาก็ตาม

แล้วเรารู้สึกว่ามันน้อยลง ...ทั้งที่ว่ามันก็เท่าเดิม แต่รู้สึกว่า...เอ๊ เราดูเป็นเรื่องเบาๆ ไปแล้ว ...นี่ดีแล้ว ถือว่าดีขึ้นแล้ว

ใครจะว่าถูก ใครจะว่าทำไม่ถูก หรือใครว่าจะละจะเลิกอะไรไม่ได้ กิเลสยังมี จะเลิกจะถอนไม่ได้ ...ไม่ต้องฟังเลย ไม่ต้องสงสัย  เอาผลที่เห็นในปัจจุบันน่ะ ตัวเองพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง

ใครจะมาบอกว่าถูก ใครจะมาบอกว่าผิดไม่ได้ ใครจะมายกหรือใครจะมาถองทุบเราก็ไม่รู้สึกหรอก ให้ตั้งมั่นอยู่กับกองนี้ ...ความเป็นจริงน่ะมันรู้ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

คนอื่นเขาก็พูดกันไป ถูกมั่งผิดมั่ง ใครก็พูดได้ เอาแต่งภาษาดีๆ หน่อย ดูน่าเชื่อถือหน่อย มันก็พาจิตเราก็คล้อยเคลิ้มไปตามบัญญัติภาษาไปได้

แต่ความเป็นจริงคือความเป็นจริง มันมีมันเห็นอยู่แล้ว เป็นตัวพิสูจน์ที่ตัวของตัวเอง ...พระพุทธเจ้าถึงบอก...ธรรมของท่านท้าให้พิสูจน์

พิสูจน์ยังไง ...ไม่ใช่พิสูจน์ด้วยคำพูด ไม่ใช่พิสูจน์ด้วยตำรา ...พิสูจน์ด้วยกายวาจาจิตของคนนั้นแหละ เป็นปัจจัตตัง...ตัวของตัว

กายของเราเองมีอยู่ จิตของเราเองก็มีอยู่ การรับรู้ผัสสะของแต่ละคนมีอยู่ ...รับรู้แล้วเป็นยังไง ตาเห็นแล้วเป็นยังไง มากขึ้นหรือน้อยลง

ถ้ายิ่งมากขึ้นๆๆ ให้รู้ไว้เลย...แย่ ไม่ถูกแล้ว ...ถ้าน้อยลงหรือธรรมดา หรือว่าต่างคนต่างอยู่ ให้รู้ไว้เลยว่า...นั่นแหละคือเป้าหมาย

เป็นเป้าหมายที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เข้าใจ ทำความเข้าใจกับมัน แล้วไม่ไหลตามมัน ไม่ไปเป็นจริงเป็นจังกับมัน ...ความจางคลายมันก็เกิดขึ้น

เพราะนั้นว่าการดูจิต การฝึกสติ การฝึกสติปัฏฐาน มันไม่ได้เหมือนกับว่าการละ ตัดแบบขาดๆๆ ...แต่มันเป็นการจางคลาย ค่อยๆ จาง ค่อยๆ คลาย ...มันไปทำความเจือจาง

เหมือนน้ำที่มันปนเปื้อน แล้วมันค่อยๆ แยกออก เอาสีออก เอาสารแขวงลอยออก เอากิ่งไม้ ใบไม้ ตะกอน ออกก่อน ค่อยๆ เอาออกไป มันก็ดูดีขึ้น

แล้วจากนั้นก็ทำการแยกสีออกไม่ให้มันมาปนเปื้อนน้ำ แยกออกทีละนิดๆ มันก็ค่อยๆ จางลงๆ จางจนถึงกับว่ามันไม่มีอะไรจะแยกแล้ว เข้าใจมั้ย ...คือมันเป็นใจล้วนๆ แล้ว เป็นความบริสุทธิ์ของใจ

มันจะรู้เองว่าไม่มีอะไรแล้ว มันแยกจนไม่รู้จะแยกอะไรอีกแล้ว ...ตรงนั้นน่ะ มันจะรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรือพยากรณ์ ไม่ต้องไปถามว่าภูมิอยู่ตรงไหนขั้นอยู่ตรงไหน

ดูไปจนกว่ามันไม่มีอะไรให้ดูน่ะ เข้าใจมั้ย มันไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจะสงสัยน่ะ...คือดูจนไม่รู้จะดูอะไร เพราะมันไม่มีอะไร

คือมันไม่ไปคาไม่ไปสงสัย ไม่ไปข้องหรือว่าสงสัยลังเล ว่าเอ๊ะ อ๊ะ เอ เห็นมั้ย นี้คือความไม่รู้ยังค้างอยู่ ...ดูมันไป จนทะลุน่ะ มันทะลุหมด มันไม่มีอะไรเลย อะไรก็ได้น่ะ...แล้วพั้บนี่ขาดเลย

ไม่ไปหยุดหรืออยู่ หรือมีการหยุด ...นี่เขาเรียกว่า...รู้แรกคือวิตก เห็นต่อมานี่วิจารณ์ เข้าใจมั้ย มันจะมีวิจารณ์ อย่างว่า...เอ ยังจะต้องศึกษากับมันรึเปล่า

เพราะนั้นว่า จิตของพระอรหันต์นี่ ท่านไม่มีหรอก ...ไม่มีอะไร ...ไม่มีสติเลย ไม่มีสัมปชัญญะเลย (หัวเราะ) คือไม่สนใจอะไรแล้ว เข้าใจมั้ย ผ่านหมดๆ

รู้เมื่อไหร่ พั่บ ไม่มีปัญหาเลย เข้าใจมั้ย ...ไม่จำเป็นจะต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เรามีอะไรรึเปล่า ไม่จำเป็นน่ะ ไม่มีความหมายทั้งสิ้น

จะทำอะไรก็ได้ จะมีอารมณ์ก็ได้ อยากด่า ด่าๆๆๆๆ พอรู้ เออจบ...จบ หายเลย หายตรงนั้น หายแบบไม่มีร่องรอย เหมือนรอยเท้าในอากาศ

แต่ของพวกเรามันรอยเท้าแบบหล่อปูนน่ะ เหยียบพั้บ กูฝากรอยเท้าไว้บนผืนดิน ...มันเป็นร่องรอย ไอ้นี่ตีนมึ้ง ไอ้นี่ตีนกู ฮื่อ มันทิ้งรอยไว้ เข้าใจมั้ย ไม่ใช่ไปแบบเปล่าๆ

แต่จิตของพระอรหันต์จิตของพระอริยะนี่ ท่านเดินไปในอากาศ เดินน่ะเดินจริงนะ แต่ไม่มีร่องรอยนะ ไม่มี จับต้องไม่ได้เลย เพราะไม่มีน่ะ

ในการกระทำของท่าน ท่านก็ทำแบบไม่มีเจตนา ใจเปล่าๆ ล้วนๆ ไม่มีอวิชชาไม่มีอาสวะ หรืออนุสัยเคลือบแฝงหรือเป็นอีแอบและแอบส่งออกมา เข้าใจมั้ย เป็นใจเปล่าๆ ...เพราะนั้นขันธ์ท่านจึงบริสุทธิ์


โยม –  หมายความว่าถ้าท่านด่า ก็คือคนที่ถูกด่านั่นสมควรจะโดนด่าด้วยคำด่านั้น

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง


โยม –  ก็ไม่มีบวกไม่มีลบ ไม่มีเกินไม่มีขาด ตรงๆ อย่างนี้

พระอาจารย์ –  อือฮึ นอกจากไอ้คนฟังน่ะมันบวกมันลบเอง แต่ท่านด่า...คือด่าแล้วด่าเลย จบแล้วจบเลย เข้าใจมั้ย


โยม –  ซึ่งถ้าสมมุติคนนั้นเลวจริง สมมุติเลวสิบส่วน ถูกด่าสิบส่วนก็เรียกว่าสมน้ำสมเนื้อกัน แต่ถ้าเกิดว่า ...สมมุติเฉยๆ นะฮะ ไม่ใช่โยมดูหมิ่นพระอรหันต์ 

สมมุติว่ามีคนมาบอกพระอรหันต์ว่า ลูกศิษย์คนนี้ไม่ดี ...เกิดเขาดี แล้วคนมาบอก ท่านจะคิดว่าคนนี้ไม่ดี แล้วท่านด่าไป ด่าคนที่เขาว่าไม่ดี แต่ท่านด่าแบบไม่ยึดมั่น อันนี้ก็ถือว่าก็ไม่มีกรรมเกิดขึ้น

พระอาจารย์ –  ไม่มีผลแล้ว ไม่มีผล ...คือพระอรหันต์ไม่ใช่สัพพัญญูนะ มีสิทธิ์ มีสิทธิ์ทั้งนั้นแหละที่จะผิด ที่จะพลาด ด่าคนพลาดยังมี ไม่จำเป็นว่าท่านจะรู้หมด

ท่านไม่ใช่พระพุทธเจ้านี่ ท่านไม่ใช่ว่ารู้ได้ทุกเรื่อง นี้ใช่นี้ไม่ใช่ ด่าคนผิดยังมีเลย ก็มันได้รับข้อมูลมาอย่างนี้ นี่ยังเป็นได้ ...แต่ว่าจบแล้วจบเลย จบคือจบ

แต่ไอ้คนถูกด่านั้นน่ะจบ-ไม่จบอีกเรื่องนึงแล้ว จะไปยึดมั่นถือมั่นอะไร ...แต่ท่านพอรู้ว่าเขาดี ก็เออ ดีๆ จบแล้ว มันด่าไปแล้ว เอาคืนไม่ได้แล้ว จิตท่านนั่นมันหมดปัญหา

เพราะนั้นคำพูดของพระอรหันต์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะศักดิ์สิทธิ์ไปซะทีเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ...พวกเราอย่าไปยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป

บางครั้งนะพวกเราไปเอาคำพูดท่านเป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์เลยอย่างนี้ ...ตรงนี้คือความขัดแย้ง จะเกิดความแตกแยกโดยไม่รู้ตัวโดยชาวพุทธ มันจึงแบ่งเป็นสำนักๆ อย่างนี้


โยม –  ก็คือคนฟังนี่แหละ ไปฟังแล้วตีความไปเองก็เลยอย่างนี้

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ...แต่ตัวท่านก็คือธรรมชาติของท่าน  คำพูด ความคิด ความเห็น...มีหมดนะ แล้วมันเป็นตามสันดานหรืออุปนิสัยของจิต ท่านเรียกว่าวาสนา

มันตายตัว มันเป็นลักษณะอย่างนี้ ที่จะไปทางนี้อยู่ตลอด มันก็จะเป็นอย่างนี้ ...ท่านไม่สามารถจะปรับให้หมดเหมือนเปลี่ยนเป็นคนใหม่ได้...ไม่ใช่ ...มีทำได้คนเดียวคือพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง

นอกนั้นยังคงไว้ซึ่งวาสนาเดิมหมด วาสนาของจิต ...มันเหมือนลายเซ็นน่ะ ซิกเนเจอร์ประจำตัว มันเป็นอย่างนี้ ...อย่างดูหน้าปุ๊บนี่เห็นเลย แค่เห็นหลังไวๆ รู้เลยว่าเป็นพระองค์ไหน เข้าใจมั้ย

คือมันมีร่องรอยให้เห็นน่ะ เป็นสัญลักษณ์ ...แค่ฟังเสียงนี่รู้เลยว่าองค์นี้ จดจำได้เลย ...เห็นมั้ยว่ามันมีความแตกต่างกันในอุปนิสัยคำพูดหรือว่าการกระทำ

นี่คือที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าวาสนา ละไม่ได้ ละไม่ได้เลยนะ ...แต่มันไม่มีผล มันไม่มีผลเป็นบุญเป็นบาป เป็นบวกเป็นลบ

แต่ถ้าตราบใดยังเป็นปุถุชนคนเราก็มีวาสนาทั้งนั้น แต่วาสนาของพวกเรามีผลเป็นบวกเป็นลบ ...เพราะเรามีความหมายมั่นกับมัน เป็นจริงจัง ยังให้เป็นตัวตนกับการกระทำพูดคิดอยู่

แต่ลักษณะของพระอรหันต์ท่านไม่มีความหมายมั่นในการกระทำนั้นๆ ...แต่ไม่ละ การกระทำนั้นละไม่ได้ ...เหมือนกับเรามีกาย รู้อยู่ว่ากายเป็นทุกข์ เราไม่สามารถจะหนีกายนี้ได้เลย

นี่ จนกว่าจะตาย ต้องอยู่กับมัน แก้ไม่ได้ด้วย ใช่มั้ย จะให้มันขาวกว่านี้ ดำกว่านี้ ให้นิ้วมันสั้นลงกว่านี้ ให้นิ้วยาวกว่านี้ ให้นิ้วมากขึ้น ทำไม่ได้แล้ว ...เหมือนกัน นี่คือประจำ...กรรมประจำตัว

แต่พระพุทธเจ้า เห็นมั้ย ปุริสสลักษณะ กายวาจาพร้อมหมด ...กายนี่ถือว่าบริบูรณ์ในความเป็นมนุษย์ที่สุดแล้ว เลิศ เป็นเลิศ เป็นปุริสลักษณะแปดสิบประการ

นี่ลักษณะของมหาบุรุษ ของความพิเศษของมนุษย์ที่จะรวมได้สมบูรณ์ที่สุดในความเป็นมนุษย์ ...นี่คือพระพุทธเจ้า คือทางกายนี่พร้อมหมดเลย ด้วยอนุพยัญชนะแปดสิบ

แล้วก็โดยใจ โดยวาสนาท่านนี่...หมดจด คือความหมดจด  จับไม่ได้หรอก จับไม่ได้เลยว่านี่เป็นพระพุทธเจ้า บอกให้เลย ...เดินไปเดินมานี่คนยังไม่รู้ก็ได้

คือท่านจะเป็นยังไงก็ได้น่ะ จับต้องไม่ได้เลยว่าลักษณะที่แท้จริงในอาการของพระพุทธเจ้าคืออะไร เป็นคนยังไง ...ท่านจะเป็นอย่างที่ทุกคนควรจะต้องเป็น หรือจะควรเป็น ตามเหตุและปัจจัยล้วนๆ เลย ทำได้หมด

นี่ ทำได้คนเดียวคือคนนี้ ..นอกนั้นลงมาทำไม่ได้ เป็นอย่างเดิมๆ นี่ เห็นเมื่อไหร่ แค่เงายังรู้เลยว่าเป็นใคร ...คือมันมีลายเซ็นน่ะ เข้าใจมั้ย เป็นอย่างนั้น

แต่พระพุทธเจ้านี่ไม่ได้เลย เป็นภาวะที่เป็นสุคะโต ไปมาไร้ร่องรอย แล้วก็จับต้องไม่ได้ หมดจดจริงๆ

เพราะนั้นบางทีพวกเราไม่เข้าใจน่ะ ...ที่พูดนี่ไม่ใช่อะไรนะ พูดให้เข้าใจว่า มันเป็นสัญลักษณ์ ไม่ต้องไปแก้มัน บางทีพวกเราก็เพียรละเหลือเกินน่ะตรงนี้

จะปรับให้มันดี ให้มัน...เหมือนกับจะหล่อหลอมให้มันเป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่องของกายวาจาจิต หรือว่าความสมบูรณ์ เพอร์เฟ็ค หรือว่าหมดจด

คือหมายความว่าเรียบกริบเหมือนผ้าพับไว้อย่างนี้ จิตจะต้องเนี้ยบอย่างนี้ เลยทิ้งอาการที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ...เพราะนั้นเราถึงบอกว่า ธรรมชาติของจิต เรียนรู้ธรรมชาติของจิต


(ต่อแทร็ก 1/20  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น