วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/21



พระอาจารย์
1/21 (25530415A)
15 เมษายน 2553


โยม –  สติมันมีอยู่ตลอดรึเปล่าพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ไม่มีนะ


โยม –  ต้องทำใช่ไหมฮะ

พระอาจารย์ –  ใช่ ...เบื้องต้นต้องเจริญนะ สตินี่ ต้องสร้างขึ้นมา ...แต่ว่าสร้างอย่างไรที่เป็นธรรมชาติที่สุด  คือไม่แรงเกินไป ไม่จงใจจนเกินไป ไม่เพ่งจนเกินไป

พอดีๆ น่ะ พอดีที่มันจะมีและก็ไม่ลืมน่ะ พอดี...มันก้ำกึ่งมาก ที่มันจะเป็นกลาง ซึ่งมันต้องอาศัยความเคยชินและประสบการณ์ในการ...รู้ไปเรื่อยๆ รู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ

รู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ ...แล้วมันจะรู้ว่า รู้อย่างนี้เป็นรู้แบบกลางๆ รู้แบบเป็นธรรมชาติของสติที่แท้จริง ที่มันจะเห็นความเป็นจริงได้สมดุล


โยม –  แล้วถ้าทำบ่อยๆ มันจะมีเองมั้ย

พระอาจารย์ –  เมื่อถึงเวลาที่มันเต็มรอบของมันแล้วนี่  มันจะมีของมันเอง ในลักษณะที่เรียกว่า...รู้ทันจิตแรก รู้เท่าทันในขณะที่จิตแรก 

เช่นว่า ตาเห็นรูปปั๊บนี่ พอรับรู้ปั๊บขณะแรกนี่ แล้วมีอะไรเกิดขึ้นขณะแรกเลย ...มันจะเกิดภาวะที่เรียกว่า “รู้ทัน” เลย  ...รู้โดยอัตโนมัติ 

นี่ รู้ในขณะอารมณ์แรกที่เกิด จะเห็นอาการเกิดครั้งแรกของขันธ์ หรือว่าการเกิดครั้งแรกของอุปาทานขันธ์ ...จะเห็นตรงนั้น 

แล้วก็...ถ้ามันเห็นในขณะแรกที่เกิดอุปาทานขันธ์ หรือว่าการสร้างขันธ์ขึ้นมาในจิตนี่ มันจะเห็นความดับไปเลย มันจะเห็นความดับไปของอุปาทานตรงนั้น...ดับ หรือว่าเห็นความดับไปของอัตตาอุปาทาน 

แต่ว่าตัวขันธ์นี่ก็ยังดำเนินต่อ ...ตรงนี้มันพูดยาก มันต้องเรียนรู้ไปแล้วเห็นเอง ...ถ้าจดจำแล้วคิดตามนี่...ยุ่ง ถ้าจดจำแล้วไปทำตาม...ยุ่ง นะ ...ก็อย่าไปจำ พูดให้ฟัง


โยม –  มันต้องเป็นเอง

พระอาจารย์ –  มันจะต้องเป็นเองอย่างนั้นนะ ...คือว่าพอพูดว่าจิตแรก...แค่นี้ก็งงแล้ว เข้าใจมั้ย ไปหาจิตแรกอยู่นั่นแหละ  เราจะไม่รู้เลยว่าจิตแรกคือตรงไหน

เพราะว่าสติถ้ายังไม่ถึงพร้อมหรือว่าไม่รู้รอบแล้วนี่ ...มันจะแยกไม่ออก ระหว่างจิตแรกคืออะไร


โยม –  มันรู้ก็เลยไปแล้ว

พระอาจารย์ –  ส่วนมากไปจิต สาม สี่ แปด สิบ ร้อย สองร้อย สามร้อย มันไม่แรกแล้ว ...แต่ถ้าถึงจิตแรกแล้วมันจะชัดเลยนะ  ถ้าทันจิตแรกปั๊บดับปุ๊บเลย  

แต่ถ้า..เอาง่ายๆ ถ้ารู้ปั๊บแล้วยังต่อไปเรื่อยนี่ แสดงว่าขณะนั้นมันเป็นอุปาทานขันธ์แล้ว ...เพราะงั้นสติในระหว่างนี้ให้รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปสนใจมันเลย

รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปสนใจ บอกให้เลย ไม่ต้องไปสนใจเนื้อถ้อยกระทงความของมันเลย ...เพราะมันเป็นวิบากหรือเป็นผล เข้าใจมั้ย อุปาทานขันธ์นี่ มันไม่มีประโยชน์โพชผลอะไรแล้ว 

มันมีแต่เรื่องหนักหัว ถ้าไปเห็นมัน เข้าใจกับมัน หรือว่ารู้มันน่ะ ...ไม่จำเป็น แค่รู้แล้วก็...ทิ้งได้ก็ทิ้ง  ถ้ามันยังขยับไปต่ออีก...ก็รู้อีก


โยม –  บางทีมันก็ไปพยายามจะเข้าใจน่ะครับ

พระอาจารย์ – นั่นแหละ ปัญหาอยู่ตรงนั้นแหละ...คือมันมีทิฏฐิ  ...คืออาสวะนี่มันมีหลายตัว นี่ที่เรียกว่าทิฏฐิสวะ เข้าใจมั้ย  คือมีความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือว่าเชื่อมั่นในความเห็นของตัวเอง

เพราะฉะนั้นมันจะไปพยายามทำให้เกิด...ให้มีความเห็นที่มันต้องการให้เห็นน่ะ มันมีความเชื่ออย่างนั้น แล้วมันไม่ยอมทิ้งไอ้ตัวทิฏฐิสวะนี่ 

มันก็เข้าไปทำให้เกิดความเข้าใจ เข้าไปเพื่อเห็นรายละเอียดแล้วจะเกิดความเข้าใจ ...มันจะเกิดความเชื่อของมันขึ้นมา แล้วมันไม่ยอมทิ้งความเชื่อนั้นๆ 

ก็ให้รู้ทัน ๆ รู้ทันบ่อยๆ ...บอกแล้ว ถ้ารู้ไม่ทันแล้วมันจะไหลไปเรื่อยแหละ ...เพราะนั้น วิธีง่ายๆ ...ย้ายซะ ย้ายสติมารู้ที่อื่น... มารู้ที่กาย 

เช่น สมมติว่าโยมกำลังทำงานหรืออะไรก็ตาม แล้วมีอารมณ์แรงๆ เกิดขึ้น แล้วรู้ว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น...หงุดหงิด รำคาญ...เมื่อเห็นแล้วมันจะมีอาการต่อเนื่อง ...แล้วรู้ว่ามันจะไหล เราจะไหลไปกับมัน

ให้สังเกตดู ...ถ้าอย่างนั้นน่ะให้เปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนอิริยาบถหรือย้าย...ย้ายที่รู้ตรงนั้นน่ะ ...แล้วจับความเคลื่อนไหว มาจับความเคลื่อนไหวทางกายซะ    

แต่ถ้าเราไปสังเกตอารมณ์ต่อเนื่องนะ มันจะยิ่งมากขึ้น ๆ นะ ...เพราะว่าสติปัญญาของเรามันไม่สามารถจะแยกสิ่งที่ถูกรู้กับสิ่งที่รู้ได้โดยชัดเจน ...มันมีการเข้าไป

(เสียงโยมส่วนหนึ่งกราบลาและขอพร)

จิตดี...ทุกอย่างดีหมด  จิตไม่ดี...ทุกอย่างไม่ดีหมด ...มันอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ภายนอกทั้งหมดน่ะ เรารับกับสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มันอยู่ที่เราเป็นตัวชักนำมาเป็นหลัก...เป็นปัจจัยหลักเลยนะ 

ส่วนไอ้ที่ไม่ดีเล็กๆ น้อยๆ ที่มันเข้ามา...ถ้าแม้ว่าจิตใจเราดีก็ถือว่าเป็นปัจจัยไม่ใช่เพราะอะไร  อย่าคิดว่าจะต้องอะไรอย่างนั้น  ถ้าไม่ดีก็ถือว่าเป็นเครื่องสงเคราะห์จิตไป แล้วก็พยายามรู้แล้วก็วาง แค่นั้นเอง 

ก็นั่นแหละเราเรียกว่าจิตดี  ซึ่งไม่ใช่จิตที่เอาแต่สงบนิ่งเยือกเย็นนะ ...แต่ว่าจิตดีคือจิตที่ไม่เอาอะไร ไม่กังวล ไม่เครียด ไม่ซีเรียส อะไรก็ได้

อย่างนั้นถึงเรียกว่าจิตดี จิตเลิศ จิตประเสริฐ  จิตพร้อม ...คำว่าจิตพร้อมนี่...ถึงพร้อม เพราะจิตที่ถึงพร้อมนี่ ...พร้อมยังไง ...พร้อมที่จะเจออะไรก็ได้  ถึงเรียกว่า "พร้อม" เข้าใจรึเปล่า

ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ ไม่มีอะไรก็ได้ มากก็ได้ น้อยก็ได้ นานก็ได้ สั้นก็ได้ เห็นมั้ย หนักก็ได้ เบาก็ได้ เห็นมั้ย ถึงพร้อม จิตถึงพร้อม พร้อมกับทุกสิ่ง พร้อมกับทุกเหตุและปัจจัย โดยไม่เบือนหน้าหนีน่ะ

นั่นแหละ เขาเรียกว่าจิตเลิศจิตประเสริฐ จิตไม่มีพิษมีภัย แล้วก็จิตไม่เป็นพิษเป็นภัยกับทุกสิ่ง ไม่ต่อต้าน ไม่ปฏิเสธ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ...เอ้า พูดไปพูดมานี่จิตพระอรหันต์นี่หว่า (โยมหัวเราะกัน)

นั่นแหละ ก็ให้พยายามเข้าใจ แล้วทุกอย่างจะเป็นไปของมันเอง กับภายนอกมันจะเกิดความพร้อมเอง ...ทำใจให้พร้อม...พร้อมที่จะรับทุกสิ่ง 

นั่นแหละ แก้ได้หมดๆ รับได้หมด ทุกสิ่งที่ถาโถมเข้ามา ทั้งที่คาดถึง ทั้งที่คาดไม่ถึง ...ไม่ต้องพึ่งอะไร พึ่งใจเรานั่นแหละ ใจนี้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง ...ถ้าพึ่งใจตัวเองไม่ได้ ก็ไม่รู้จะภาวนาไปทำไม  

มีปัญหาอะไร...ถามใจ  มีปัญหาอะไร...แก้ที่ใจ ...แก้ไม่ได้ก็อยู่กับมันนั่นแหละ มันออกเองแหละ มีทางออกอยู่ตรงนั้นเองแหละ ...อย่าไปหาทางออกที่อื่น 

ทางอื่นน่ะเป็นทางที่ให้ติดแล้วก็ข้อง เป็นทางที่ให้เราลุ่มหลง ...มันก็ได้เป็นครั้งเป็นคราว แล้วเราก็ลุ่มหลงในทางออกนั้นๆ 

ไปหาหมอดูมั่ง หาคนปัดเป่าเคราะห์ให้มั่ง ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้แล้วจะเบาขึ้น ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วมันจะไม่เกิดเรื่องอย่างนี้ ...มันเป็นเรื่องที่เกิดจากการล่อลวงน่ะ ไปให้เขาล่อลวง

ทั้งที่ว่าแท้จริงมันแก้อยู่ที่เดียวเท่านั้นคือที่ใจของเรา ...ยอมรับมันซะ อะไรที่เกิดขึ้นก็ยอมรับ แล้วก็ศึกษามัน สำเหนียกกับมัน 

ว่าอะไรคืออะไร มันทุกข์ตรงไหน อะไรเป็นทุกข์กันแน่ เราไปทุกข์กับมัน หรือมันมาทำให้เราทุกข์ ...ตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อน แล้วจะเข้าใจ 

ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะเขาไม่ทำให้เราทุกข์หรอก ...เราน่ะไปทุกข์กับมัน เราน่ะไปผูกพันมัน เราน่ะไปยึดถือมันเป็นอารมณ์ อันนี้ต่างหาก ...เพราะ “เรา” นั่นแหละเป็นต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์  

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแค่ปัจจัย...เป็นปัจจัยไม่ใช่เหตุ ...เหตุที่แท้จริงสุดท้ายคือใจที่รู้ แต่ว่ามันรู้ไม่เป็น มันรู้ยึด รู้ถือ รู้เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ รู้แล้วต้องแก้ รู้แล้วต้องอย่างนั้น รู้แล้วต้องอย่างนี้ ...มันรู้ไม่จริง 

ถ้ารู้จริงๆ น่ะ รู้เฉยๆ นะ ทุกสิ่งทุกอย่างแก้ได้หมด ...แล้วมันก็จะผ่านไป สุดท้ายก็ผ่านไป 

สุดท้ายก็ไม่มีอะไร ...ได้มาก็หมดไป มากก็หมด น้อยก็หมด พอใจก็หมด ไม่พอใจก็หมด ได้ดั่งใจก็หมด ไม่ได้ดั่งใจก็หมด ...สุดท้ายมันไม่เหลืออะไรเลย 

อย่าไปคิดว่ามันช้า อย่าไปคิดว่ารับไม่ได้ ...ได้หมดแหละ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แค่นั้นเอง ...เอาตัวรอดแค่นี้ รอดได้หมด รอดได้ทุกภพเลยแหละ ถ้าเอาตัวรอดแบบนี้ 

แต่ถ้ายังพึ่งอยู่นะ ยังพึ่งอันนั้นอันนี้ พึ่งสิ่งนั้นพึ่งสิ่งนี้ พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พึ่งศาสตร์ต่างๆ  มันหาความแน่นอนไม่ได้ ...ได้มั่งไม่ได้มั่ง แก้ได้มั่งแก้ไม่ได้มั่ง มากขึ้นบ้าง น้อยลงบ้าง

แล้วก็หากันไปเรื่อยไม่รู้จักจบ มันจะไม่มีคำว่าจบ ...แต่ถ้าแก้ที่ใจแล้วจบ  มันจะจบตรงนี้แหละ ต้องให้จบตรงนี้แหละ อย่าไปจบข้างหน้า อย่าไปจบที่อื่น จบให้ได้ที่นี่ 

ต้องเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในพระธรรม เชื่อมั่นในพระอริยสงฆ์  ท่านให้กลับมาแก้ที่ใจ รู้ที่ใจ ละที่ใจ ...แก้ได้หมด แก้ได้หมดอนันตาจักรวาล 

ปัญหาถาโถมหนักหน่วงขนาดไหน แม้แต่วัฏสงสารที่เรียกว่าอเนกชาติหาจุดที่จบไม่ได้...ยังมาจบที่นี่เลย  เห็นไหม อานิสงส์แห่งธรรม อานิสงส์แห่งสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้นี่มีคุณค่ามาก

เพราะนั้นพวกเราอย่าหนีธรรม อย่าหนีธรรม อย่าหนีคำสอนท่าน ไปหาที่พึ่งอื่นเป็นสรณะ ...ใจนั่นแหละเป็นสรณะ รู้ตรงนั้น อยู่ตรงนั้นแหละ  

ถ้ามันว่าจะตาย ถ้ามันว่ารับไม่ไหว ให้มันตายตรงนั้นแหละ...แก้ได้หมด ... รอด...สุดท้ายนะรอด


(ต่อแทร็ก 1/22)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น