วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/19 (1)



พระอาจารย์
1/19 (25530404A)
4 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เอ้า นั่งให้สบายๆ

โยม –  มากราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ ที่เมตตาสอนใน mp3 นี่ ที่อัดเสียงพระอาจารย์ให้ไปฟังกัน ...หนูก็เอาไปเปิดฟังเพิ่มเติมค่ะ ก็ช่วยได้เยอะในเรื่องการภาวนา

พระอาจารย์ –  ภาวนาจริงๆ บอกแล้วว่า มันไม่ได้ยากเย็นอะไรหรอก มันเป็นการกลับมาเรียนรู้ตัวเองทั้งหมดเลย  สภาวะธาตุสภาวธรรมมันมีอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ขณะนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่รู้มัน ตามความเป็นจริงของมัน

เพราะนั้นเบื้องต้นเวลาที่พวกเรายังไม่เข้าใจการปฏิบัติ ก็มักจะไปพยายามหาสภาวะธาตุสภาวธรรมใหม่ แล้วเอามาเรียนรู้ ตามที่เราเข้าใจ ด้วยการจดจำ ด้วยการฟังมา

ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเห็นอย่างนี้ จะต้องเห็นว่ากายเป็นอย่างนั้น จะต้องเห็นกายเป็นอย่างนี้ ...เนี่ย มันเป็นการที่ไปคว้าเอาหรือไปสร้างสภาวะขึ้นมาใหม่ มันก็เลยกลายเป็นว่าไม่เห็นความเป็นจริงที่มันมีอยู่

แต่ถ้าเข้าใจแล้วนี่  ความเป็นจริง...การปฏิบัติธรรมมันไม่ได้เป็นการไปสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการกลับมาเรียนรู้ของเก่าที่มี ที่เป็นอยู่นั่นเอง 

เหมือนขณะนี้กายก็มีอยู่ตลอดเวลา...เดี๋ยวนี้ก็มี ...ไม่ต้องไปดูกายอันใหม่ หรือว่าไปทำกายให้จะต้องเป็นยังไง ก็ไม่ต้องไปรู้อย่างนั้น ...รู้ว่าตอนนี้เห็นยังไง

จิตก็เหมือนกัน ขณะนี้เป็นยังไง ให้เห็นอยู่ตรงนี้ ...คือให้มันมีก่อนค่อยดู ไม่มีก็ไม่มีอะไร ...เมื่อมันเปลี่ยนไป มีอารมณ์เกิดขึ้น มีความต้องการหรือไม่ต้องการเกิดขึ้น ก็ให้เห็นขณะนั้น เรียนรู้กับสิ่งที่ปรากฏตรงนั้น

แล้วก็จะเห็นความเป็นจริงต่อมาเองว่า...สุดท้ายน่ะ ความเป็นจริง...ที่สุดของความเป็นจริงก็คือว่า มันตั้งอยู่ไม่ได้ มันไม่มีความถาวร มันไม่มีความเสถียร มันไม่มีความคงอยู่ ...มันเป็นแค่ชั่วคราว สุดท้ายก็ไม่มีอะไร คือดับไป

ทุกอย่างต้องกลับมาให้เห็นน่ะ ว่าสุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรจริงๆ ...เพราะนั้นว่าเมื่อเราเห็นว่าสุดท้ายมันไม่มีอะไร หรือว่ามันต้องดับไป หรือว่ามันไม่คงอยู่ 

เมื่อเห็นอย่างนี้บ่อยๆ เห็นอยู่เนืองๆ เห็นอยู่ประจำ จิตมันจะคลายออก ...คลายออกจากอะไร ...คลายออกจากการแสวงหา...แสวงหาของใหม่ แสวงหาอารมณ์ใหม่ แสวงหาเวทนาใหม่

แต่ถ้ายังไม่เห็นว่า ไอ้ที่เราแสวงหาแล้วทุกอย่างทั้งหมดนี่มันมีความเสื่อมไป ดับไป ...มันก็ไม่หมดความอยาก


โยม –  ยังไม่หยุด

พระอาจารย์ –  มันยังไม่หยุดที่อยากจะหาต่อไป ...เพราะมันไม่รู้  มันก็คิดว่ามีแต่ได้กับได้ ได้แล้วกูก็จะเสวยกับมัน ได้แล้วก็จะดี...ดีขึ้นๆ  

แต่มันไม่เห็นว่า...ไอ้ที่หามาแทบเป็นแทบตาย สร้างขึ้นมาแทบเป็นแทบตาย ขวนขวาย กระวนกระวาย ดิ้นรนเพื่อให้ได้มา...สุดท้ายแล้วมันได้แค่นิดเดียว แล้วก็ดับไป ...จิตมันเลยไม่รู้จักพอ


โยม –  ทะยานตลอดเวลา

พระอาจารย์ –  จิตมันเลยมีแต่ความหิวโหย...หิวโหยอารมณ์ หิวโหยความรู้สึก หิวโหยเวทนาต่างๆ ...ซึ่งไม่มีใครหาเวทนาทุกข์หรอก มันก็เอาแต่สุข เอาแต่ความสนุก สบาย พอใจ 

แต่ว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ชอบ ไม่พอ มันรู้สึกมันต้องมีอะไรดีกว่านี้ ...เช่นมีเงินร้อยก็ว่า "ถ้ามีสักพันเราจะรู้สึกดี"  พอถึงพันปุ๊บก็ว่า "ได้สักหมื่นน่าจะดีกว่า" ...เห็นมั้ย ความทะยานของกิเลส ของตัณหานี่ 

มีพันเอาล้าน ได้ล้านเอาสิบล้านยี่สิบล้าน ...นี่ คือมันจะแสวงหาที่มันยิ่งกว่าๆ...ด้วยความไม่รู้ว่าได้มาแล้ว...สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไร สุดท้ายสิบล้านก็สิบล้าน...หมด ไม่เหลือ มันไม่สามารถจะอยู่ได้ 

เพราะมันเป็นของแค่ได้มาชั่วคราวแค่นั้นเอง มันไม่คงอยู่กับเราหรอก ...จะรักษามันขนาดไหนก็เถอะ ทุกอย่างมันมีการแปรเปลี่ยนได้ตลอดอยู่แล้ว  

แต่เราไม่รู้ว่ามันมีความแปรเปลี่ยน แต่เรากลัวความแปรเปลี่ยน ...เรากลัว เราก็เลยพยายามจะหนีมัน ด้วยการสะสม...สะสมไว้ก่อน

นี่คือความไม่รู้ของจิต ...จิตจึงไม่หยุด หรือจึงไม่รู้จักคำว่าพอ หรือไม่รู้จักคำว่าพอดี หรือไม่รู้จักคำว่าเท่าที่มี...เท่าที่เป็น ...เราจะไม่คุ้นเคยกับคำนี้เลย 

พอพูดถึงเรื่องว่า พอดีเท่าที่มีเท่าที่เป็น สันโดษ พอ พอเพียง  มันจะรู้สึกว่า...เอ๊ มันดูเหมือนงอมืองอตีน ดูเหมือนไม่มีประโยชน์หรือว่าไร้ประโยชน์ซะ ...มันเป็นอย่างนั้น

คือมันเป็นการคุ้นเคยในการที่ว่า แสวงหาอยู่ หิวโหย กระหาย ทะยายอยากอยู่ตลอดเวลา ...ซึ่งในความทะยานอยาก มันมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลาในการแสวงหา  

แต่มันละเลย เพิกเฉย ไม่ใส่ใจ ไม่มาเรียนรู้ว่า...ไอ้ที่ทะยานอยากไปนั้นน่ะ มันต้องวิ่งไปในเส้นทางแห่งทุกข์ตลอดเลย ...เพราะได้มาก็ต้องหวงแหนรักษา

รักษาไว้ก็เป็นทุกข์นะ เพราะกลัวว่ามันจะหมดไป กลัวมันจะหายไป ...ความสุขนี่ ได้มาปุ๊บ กลัวความสุขนี้จะหายไป ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะหวงแหนไว้ 

พอหวงแหนแล้วสุดท้ายรักษาไว้ไม่ได้ มันดันหมดไป หรือเสื่อมไป หายไป ก็เกิดความอาลัย เสียดาย ...ก็เริ่มหิวโหยใหม่แล้ว เห็นมั้ย เกิดจากความไม่เท่าทัน ไม่เท่าทันความอยาก แล้วก็ตามมัน

นี่ต้องกลับมาเรียนรู้พื้นฐานของจิตมันเป็นอย่างนี้ แล้วจะรู้ว่าจิตมันจะแสวงหาทุกข์อยู่ตลอดเลยอย่างนี้ เนี่ย คือเหตุให้เกิดทุกข์...อยู่แค่นี้เอง ...แต่เราไม่เห็น 

ถ้าไม่เห็นมันก็ไม่รู้ ไม่รู้มันก็ไม่ยอมปรับเปลี่ยน ...ใครสอนใครบอก มันไม่ฟังไม่เชื่อหรอก หรืออ่านธรรมเอาประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็ไม่เอาแล้ว ...มันเข้าใจแค่ตอนนั้น แต่เวลาใช้ในชีวิตจริงมันไม่เชื่อแล้ว  

มันมีความคุ้นเคยที่จะเป็นอย่างนี้ แล้วมันมีความพอใจลึกๆ ในการดำเนินชีวิตอย่างนี้ ดำเนินจิตอย่างนี้ ...นี่คือความติดข้องที่ดูเหมือน ...ถ้าภาษาทั่วไปเขาก็ว่าดูเหมือนสัญชาตญาณของมนุษย์


โยม –  มันสะสมมานาน

พระอาจารย์ –  แต่พระพุทธเจ้าบอกว่านี่ไม่ใช่สัญชาตญาณนะ ...มันเป็นความที่ว่าคุ้นเคยและก็เคยชินในการทำซ้ำซากอย่างนี้ เก็บจนเป็นนิสัย 

เป็นความคุ้นเคยจนเป็นสันดานของจิตที่มันแอบแฝงอยู่ ...มันเป็นอีแอบน่ะ มันมาเคลือบแฝงภายในจิต เราเลยโมเมๆ ว่าจิตเป็นอย่างนี้ เข้าใจมั้ย

พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่นะ ใจไม่ใช่อย่างนี้นะ ใจเป็นอีกอาการนึง ...ใจมันเป็นแค่ธรรมชาติของรู้เฉยๆ หรือว่าธรรมชาติที่รู้เปล่าๆ ไม่มีอะไรเคลือบแฝง ไม่มีอะไรจริงๆ แค่รู้เฉยๆ ...ตรงนี้ต่างหาก

พระพุทธเจ้าจึงมาสอนให้รู้จักแยกแยะออก...แยกแยะไอ้สิ่งที่มันแปลกปลอม ปนเปื้อนใจ หรือว่าแขวนลอยอยู่ในใจนี่ออกไป ...เรียกว่ากรอง กรองเอาอนุสัย กรองเอาอาสวะออก แยกออกจากใจ

วิธีแยกก็ไม่มีอะไร แค่รู้...โกรธ...รู้ว่าโกรธ เห็นมั้ย นี่แยกออกเป็นสองอย่างแล้ว โกรธเป็นสิ่งหนึ่ง รู้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ...สบายรู้ว่าสบาย เห็นมั้ย สบายเป็นอย่างนึง รู้เป็นอย่างนึง ...เห็นมั้ย มันคนละตัวกันแล้ว

แต่ถ้าไม่รู้ ...สบายยยย เห็นมั้ย ไม่มีรู้ ...มันเป็นหนึ่งเดียวเลยนะ ดูเหมือนกลมกลืนกันเลย เรากับสบายเป็นอันเดียวกันเลย ใจเราสบายก็ว่าใจสบาย ...ใช่มั้ย  

แต่ถ้าเรารู้ว่าสบายเมื่อไหร่ สบายกลายเป็นสิ่งหนึ่ง รู้เป็นสิ่งหนึ่ง นี่แยกออก ...แต่ว่าเราจะต้องแยกบ่อยๆ


โยม –  ต้องขยัน ต้องอดทนด้วย

พระอาจารย์ –  ต้องขยัน เพราะอะไร ...เพราะมันคุ้นเคยที่จะเข้าไปกลมกลืนกับมัน ไปกลมกลืนกับอารมณ์ ไปกลมกลืนกับความคิด ไปกลมกลืนกับความรู้สึก 

เป็นหนึ่งเดียวกับมัน เรากับมันเป็นอันเดียวกัน มันเลยเป็นจริงเป็นจังในอารมณ์ ...อารมณ์เป็นเรา เราเป็นอารมณ์  ความสุขเป็นเรา เราเป็นความสุข ...มันไม่ได้เห็นเลยว่า มันคนละตัวกัน มันไม่ใช่

แต่ถ้าเราแยกออกมา เราจะเห็นว่า...ถ้ารู้ว่าสุข ถ้ารู้ว่าทุกข์ ถ้ารู้ว่าสบาย ถ้ารู้ว่าไม่สบาย ...เราจะเห็นตรงนี้แปรเปลี่ยน แต่ตัวรู้นี้ไม่เปลี่ยน ใช่ไหม รู้ไม่เปลี่ยนนะ 

รู้นี่ไม่เคยเปลี่ยนนะ รู้นี่ไม่มีเพิ่มนะ ไม่มีลดลงนะ มันมีเท่าเก่าน่ะ ใช่มั้ย ไม่ไปไหนอ่ะ เป็นรู้ที่ไม่เกิดไม่ดับ ดูเท่าไหร่มันก็รู้อันนั้น รู้อันเดิมน่ะ รู้แบบเดิมน่ะ มันมีรู้ตัวเดียว เห็นไหม ตัวนี้คือรู้ที่ไม่เกิดไม่ดับ

แต่มันยังไม่ใช่ใจนะ ...แล้วต่อไปมันจะเริ่มเข้าไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่าใจที่แท้จริง มันจะเป็นเอกภาพยิ่งกว่านี้ เป็นอิสรภาพของมันยิ่งกว่านี้ 

มันจะเป็นลักษณะที่ไร้ร่องรอย ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่อาการรู้เปล่าๆ แล้วไม่มีที่ตั้ง ไม่มีรูปพรรณสัณฐาน ไม่มีประมาณ ...แต่รู้ของพวกเรานี่ ยังมีอยู่ตรงนี้


โยม –  มันมีที่ตั้ง

พระอาจารย์ –  อะฮะ ยังมี สามารถคะเนเอาได้ว่านี่คือรู้ นะ ...แต่ใจจริงๆ น่ะ จะไม่อยู่ตรงนี้เลย จะไม่อยู่แค่ตรงนี้...ภายใน ที่รู้สึกว่าเป็นภายใน


โยม –  มันเปิดกว้างรึเปล่าคะ มันคล้ายๆ เปิดกว้าง

พระอาจารย์ –  ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต เรียกว่าเป็นอัปปมัญญา ...ใจจริงๆ จึงเรียกว่าเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง ใจที่แท้จริงน่ะนะ เป็นกลางกับสรรพสิ่ง ...ไม่ใช่แค่เฉพาะตรงนี้หรือภายในนี้ 

แต่มันจะเรียนรู้เข้าไปเรื่อยๆ ...แค่รู้นี่แหละ ตายอยู่กับรู้นี่แหละ ไม่ต้องกลัวหรอก วิธีการปฏิบัติไม่ได้ออกนอกเหนือจากรู้นี้เลย

เพราะนั้น...อะไรๆ ก็รู้ เข้าใจมั้ย อะไรก็รู้...เกิดขึ้นก็รู้ ตั้งอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ ...หรือเคยดับไปก็รู้  เพราะไอ้ตอนดับไปไม่รู้ มันมารู้ตอนที่ดับไปตั้งนานแล้ว ...นี่ ก็ยังรู้ได้ (หัวเราะ) 

เพราะไม่รู้ทันตอนที่มันกำลังดับ แต่มารู้ตอน...เออ เมื่อกี้ดับไปแล้ว ...ก็ยังดี ขอให้รู้ไปเถอะ รู้ไปได้ทั้งนั้น แค่นั้นแหละ อะไรๆ ก็รู้

แต่คราวนี้พวกเรามันจะติดว่าไม่ขยันรู้ ...คือสติอ่อน เพราะมีเหตุจูงใจเยอะ...ทำงาน พูด คุย สังคม สังสรรค์ ไปมาหาสู่ ต้องมีกิจกรรม ต้องมีความคิด...เหล่านี้ เห็นมั้ย มันเลยละทิ้งการระลึกรู้ไป ...ตรงนี้คือปัญหา

แต่ก็มีอุบาย ...หมายความว่าถ้ามันรู้บ่อยๆ ไม่ทัน ให้มารู้กายก็ได้ เข้าใจมั้ย เพราะกายนี่ มันจะเห็นชัดกว่าจิต ...ทำอะไรอยู่ จะพูดจะคุยมันก็มี ดูปุ๊บก็เห็นกาย ...เห็นอาการของกายได้ ใช่ไหม


โยม –  ค่ะ ขยับปุ๊บก็รู้ได้

พระอาจารย์ –  ถึงไม่มีอะไร นั่งอยู่ก็เห็น ว่ากายกำลังนั่งเฉยๆ ยืนก็ยืนเฉยๆ ...พอนั่งเฉยๆ แล้วดูว่าอิริยาบถย่อยมันเป็นยังไง กระพริบตา กลืนน้ำลาย ขยับ เกา อย่างนี้ เห็นไหม

เพราะบางทีดูจิตมันดูไม่ทันน่ะ แล้วมันขี้เกียจดู พอดูปุ๊บไม่มีอะไรก็หายแล้ว มาดูนิดๆ หน่อยๆ  แล้วมันจะมาจดจ่อต่อเมื่อมันมีอารมณ์ชัดเจน พอมีอารมณ์ชัดเจนมาเริ่มดูปุ๊บ ส่วนมากมันจะเป็นการเพ่ง


โยม –  กลายเป็นตั้งใจ

พระอาจารย์ –  ก็ตั้งใจแบบ...จะไปหาว่ามันคืออะไร แล้วมันจะไปยังไงต่อไป อย่างนี้ มันจะมีเป้าประสงค์ มันเป็นการเพ่งในตัว มันไม่รู้แบบเป็นกลาง 

เพราะนั้นลักษณะนี้ มันจะไม่รู้แบบกลางๆ มันจะไม่รู้โดยสติที่ไปรู้แบบรู้เป็นกลางๆ หรือรู้ธรรมดา หรือรู้เฉยๆ ...มันก็เลยเข้าไปมีเข้าไปเป็นด้วย

นอกจากบางเรื่องเท่านั้นที่เล็กๆ น้อยๆ ...ซึ่งถ้าเล็กๆ น้อยๆ เราดูปุ๊บแล้วเห็นเฉยๆ  แล้วมันจะหายไป อย่างนี้ มันไม่มีอะไรต่อเนื่อง 

แต่ถ้าเป็นอารมณ์ที่ยาวหรือนานเนื่อง เช่นฟุ้งซ่าน ...เราดูว่าฟุ้งซ่าน พอเราดูปุ๊บนี่ มันจะยิ่งฟุ้งซ่าน ...อย่างนี้มันต่อเนื่อง ดูแล้วเราเข้าไปหมายมั่นไปในตัวเลย 

อย่างนี้เรียกว่าเรารู้แล้วมันไม่รู้เฉยๆ รู้แล้วมันเข้าไปหมายมั่น รู้แล้วเข้าไปมีเข้าไปเป็น หรือเข้าไปไม่มีไม่เป็นในเป้าประสงค์แห่งการรู้นั้นๆ 

นอกจากอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านมาปั๊บ พล้อบแพล้บๆ ...ซึ่งพอเรารู้ปุ๊บ นี่ เดี๋ยวก็หายไป เพราะเราไม่ค่อยใส่ใจ แล้วเหตุปัจจัยมันสั้น มันนิดเดียว


แต่บางเหตุปัจจัยที่มันเกิดขึ้น อาการในจิตบางอย่าง...เช่นความขุ่น เศร้า หมอง วิตก กังวล สงสัย...อะไรพวกนี้บางทีมันอยู่ยาว ...พอเรายิ่งดูปุ๊บมันยิ่งมากขึ้นๆ หรือยิ่งเครียด  

นี่เพราะเราเข้าไปมีเข้าไปเป็นโดยไม่รู้ตัว คือสติมันยังไม่เป็นกลางจริงๆ ...ซึ่งอาการอย่างนี้เกิดได้ทั่วไป เป็นธรรมดา สำหรับนักปฏิบัติ


(ต่อแทร็ก 1/19  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น