วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/26 (1)


พระอาจารย์
1/26 (25530427B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  เป็นผู้หญิงนี่มันลำบากทุกอย่างเลยนะเจ้าคะ (ฟังไม่ชัด) ...เมื่อเข้าสู่การปฏิบัติภาวนา

พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่า ถ้ายิ่งเป็นรูปแบบของนักบวชเท่าไหร่ มันจะมีปัญหาเยอะ ...จะมีปัญหาที่เราคิดไม่ถึง มองไม่เห็นอีกเยอะ...โดยเฉพาะนักบวชหญิง

เพราะนั้นน่ะ การมาอยู่ร่วมกันกับหมู่นักบวชหญิงนี่  ธรรมดาผู้หญิงคนเดียวนี่ก็ยุ่งแล้ว ...ถ้าผู้หญิงรวมกันสองคนนี่ ก็เรียกว่าโลกแทบแตกไปครึ่งนึงแล้ว (หัวเราะกัน)

ต่อให้เป็นนักปฏิบัติก็เถอะ ...แค่ผู้หญิงรวมกันสองคน นั่งอยู่ นอนอยู่ห้องเดียวกันนี่ โลกแตกไปครึ่งโลกแล้ว ...แล้วถ้าอยู่กันเป็นกลุ่มนะ มัน...มันไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก

กับการที่เราอยู่ลำพัง เข้าใจมั้ย มีเวลาไปมีเวลามา ...ไปก็ไป ไม่ไปก็ไม่ไป อยู่คนเดียวก็อยู่คนเดียวได้

แต่ถ้าไปอยู่ในที่จำเพาะที่จะต้องเจอหน้ากันทุกวัน ซ้ำซากนี่ ...แล้วกำลังจิต กำลังปัญญาของพวกเราจะเท่ากันมั้ยล่ะ ...สุดท้ายก็ทำยังไง...หนี มันจะหนีออกไป

แล้วก็เปลี่ยนที่ไปเรื่อย หาที่ใหม่ อ้างว่าไม่สัปปายะแล้ว อ้างว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็หาเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ ...เราบอกให้เลย ทุกที่น่ะ...เหมือนกันๆ


โยม –  ก็แสวงหามาเยอะแล้วน่ะค่ะหลวงพ่อ แต่ก่อนก็ไปเกือบทุกที่

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละ เหมือนกันหมดแหละ ทุกที่ ...นิสัยคนมันก็เหมือนเดิมกันหมดแหละ มันไม่ได้ว่าตรงไหนจะดีกว่า-ไม่ดีกว่าในสถานที่

เพราะนั้นการที่เราอยู่โดยลำพัง หรือโดยเป็นอิสระนี่ เราว่ามันตรงที่สุดแล้ว เข้าใจมั้ย ...นี่หมายถึงตรงที่ความเป็นอิสระออกจากรูปแบบนั่นน่ะ

อย่างที่เมื่อกี้เราก็พูดบอกไปแล้ว...ว่า รูปแบบที่แท้จริง...คือไม่มีรูปแบบ ...แต่ว่าเป็นรูปแบบของกายและใจตามความเป็นจริงต่างหาก 

นี่ มันจะเข้าสู่ความเป็นจริงของกายและใจ  ...ไม่ใช่เข้าไปจริงตามที่ว่าต้องให้กายและใจเป็นยังไง  อันนั้นเป็นอุบาย เป็นแค่อุบาย ไม่ใช่รูปแบบตามความเป็นจริง

แล้วพอเข้าไปจมปลักกับรูปแบบที่เราสร้างขึ้นมาปุ๊บ...ติดนะ มันติด ...แล้วมานะเกิด ทิฏฐิเกิด ความเห็นเกิด ความเห็นแบ่งแยกเกิด ...มันเกิดความเห็นแบ่งแยก

เห็นคนใส่สี  เห็นคนใส่ขาว เห็นคนโกนหัว-ไม่โกนหัว...เห็นมั้ย เกิดความเปรียบเทียบ สูงต่ำดำขาว ดีชั่ว มากมาย ...มันจะมีอะไรมากมายตามมาที่ต้องเรียนรู้ 

แล้วบางคนรับได้ไม่ทัน ก็ออกไปด้วยความเบื่อเลย ท้อถอยเลย หนีเลย ...บอกแล้ว ถ้ามันหวังไว้มากนะ เข้าไปเจอแล้วไม่ได้อย่างที่คิดนะ กลายเป็นพาลแล้ว


โยม –  มันก็มีความฝันไว้ว่า อนาคตจะมีสักวัดหนึ่งที่คนดูจิตมารวมกัน สร้างวัดอยู่รวมกัน

พระอาจารย์ –  เหอะ ต่อให้คนดูจิตมารวมกัน ก็มีปัญหา บอกให้เลย ไปดูเหอะ ...อย่านึกว่าวัดอาจารย์ปราโมทย์ไม่มีปัญหานะ  ปัญหาที่อาจารย์ปราโมทย์เจอ ก็ไอ้คนดูจิตนี่แหละ ใช่รึเปล่าล่ะ 

เพราะนั้น ถ้าให้เราแนะนำ ก็อยู่คนเดียว เข้าใจมั้ย อยู่วิเวก ...เข้าใจคำว่าวิเวกมั้ย อยู่คนเดียว แต่ไม่ต้องถึงกับว่าไปอยู่ในป่าลึกคนเดียว ...ก็อยู่ในที่ที่มันควร 

เป็นผู้หญิง..มันลำบาก ...ก็อยู่ในที่ที่ควร พอสมควร หรือใกล้วัดใกล้วา หรือใกล้ครูบาอาจารย์อะไรก็ได้ ...คือให้ปลีกออกมา อย่าเข้าไปจมกับวังวนของรูปแบบจนเกินไป

แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธหรือว่าต่อต้านเขาน่ะ ...เพียงแต่ว่าลักษณะนี้จะเป็นอิสระ คือบอกแล้วว่าอันนี้มันอยู่ที่ความตั้งใจ เข้าใจมั้ย ...คือความตั้งใจจะบวชนี่มีอยู่แล้ว 

เพราะนั้นไม่ต้องกลัวว่าเราจะหลุด ถ้าเราอยู่คนเดียว แล้วไม่มีอะไรคอยควบคุมเรา เข้าใจมั้ย ถ้าไม่หลุดแล้วมั่นใจในตัวเอง ...เพราะว่ามันมีความปรารถนาลึกๆ ผลักดันอยู่แล้ว 

แต่ว่าไอ้ความคิดของพวกเรามันก็เข้าใจว่าจะต้องเป็นนักบวชเท่านั้น เข้าใจมั้ย เหมือนว่าต้องมีเครื่องแบบ ต้องใส่เครื่องแบบ มีสถานที่อยู่โยง มีสถานี

แต่ถ้าอยู่อย่างนี้ ถือว่าเป็นสุญญาคาร ถือว่าเป็นวิเวก สันโดษ เป็นอิสระโดยธรรมชาติ ...จะทำอะไรก็ทำ จะไปไหนก็ได้ จะแต่งขาวก็ได้ แก้ผ้าก็ได้ ไม่ใส่อะไรก็ได้

เห็นมั้ย ทำไมจะต้องไปอยู่กับประเพณีนิยม หรือว่าค่านิยม โดยที่ว่า...ที่เรามาเรียนรู้กันนี่ ก็เพื่อออกมาจากมันอยู่แล้ว ใช่ป่าว สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา

เวลาเราเข้าไปจมกับกลุ่ม หรือว่าไปจมกับสังคมมากๆ ไปคลุกคลี หรือไปผูกพันมากๆ  จะไปเจอกับเรื่องพวกนี้...สงสัย ลังเล แล้วก็เพ่งโทษกันอยู่นั่นน่ะ

เดี๋ยวก็ตำหนิคนนั้น เดี๋ยวก็ตำหนิคนนี้  คนนั้นมันกินน้อย คนนี้มันกินมาก คนนี้ทำไมกินแล้วไม่ล้างจาน คนนี้กินแล้วล้างไม่สะอาด...มันมีปัญหาไปหมด บอกให้เลยนะ

แต่การแค่อยู่ลำพัง ถ้าจะตั้งสัจจะก็ตั้งได้ ในลักษณะที่ว่า จะไม่มีผัว จะไม่มีเมีย จะไม่มีลูก จะไม่มีนั่นนี่ ...ไอ้อย่างนี้ตั้งได้ ไม่มีปัญหาเท่าไหร่หรอก เข้าใจมั้ย ก็ตั้งได้

เพื่ออะไร ...เพื่อให้มันเป็นอิสระก่อน ไม่ตกไหลไปตามอำนาจของกิเลส ...เหมือนกับเราตั้งศีลประจำตัวของเรา แต่ไม่ได้เป็นศีลวินัยหรือศีลบัญญัติตามที่มีมา เช่นว่าต้องกินข้าวมื้อเดียว ต้องถือศีลห้าอย่างนั้น

แต่ให้มันเป็นศีลสัจจะที่เหมาะแก่การดำเนินชีวิตโดยอิสระ ไม่ผูกพันพัวพัน ...อาจจะดูไม่เหมือนศีลคนอื่นก็ได้ แต่ถืออย่างนี้แล้วมันสบายใจ ถือแล้วมันไม่ออกไปหาอะไรมาเป็นภาระ อย่างนี้ ถือเป็นสัจจะได้

แล้วต่อไปมันก็จะทิ้งหมดน่ะ สัจจะทั้งหลาย ...อยู่แบบมีก็ได้ ไม่มีก็ได้  เห็นมั้ย จะมี-ไม่มีอะไรก็ได้ ถึงเวลานั้นน่ะ มันไม่ได้ปฏิเสธอะไร ...แต่ถึงเวลาจริงๆ ตามความเป็นจริงแล้วนี่ มันจะไม่มีอะไรหรอก

แต่ว่าเบื้องต้นน่ะ เราก็ต้องอาศัยศีลนี่เป็นตัวป้องกันภายนอก ด้วยสัจจะ ...ซึ่งศีลนี่เราไม่ได้กำหนดว่ามีแค่ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ สองร้อยยี่สิบเจ็ดเท่านั้น อย่างนั้น

ศีลสัจจะมันตามแต่นิสัยปัจจัยของบุคคลนั้นๆ เช่น นิสัยเราเป็นคนช่างพูด นิสัยเราเป็นคนชอบสมาคมสังสรรค์พบปะบุคคล ไปอยู่คนเดียวเราต้องตั้งสัจจะเลยว่าเราจะไม่พบคน อะไรอย่างนี้

หรือว่าเราจะพบคนน้อยลง หรือเราจะพบได้เท่าที่มีมา ...นี่ อย่างนี้ๆ เพื่อมาแก้กัน เข้าใจมั้ย ...มันอาจจะไม่มีที่ในบัญญัติ แต่มันเป็นศีลที่มันมากำราบภายในตัวเอง

ต้องเรียนรู้ เข้าใจตัวของเราเอง แล้วมันถึงจะปรารภสัจจะนั้นได้ ...คือไม่ได้สัจจะตามความนึกอยากทำก็ทำ หรือเขาว่าดี ต้องนั่งอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ...อันนั้นเป็นการลูบคลำในวัตรและศีลเอาเอง

แม้ว่าแรกๆ มันก็ต้องอาศัยพวกนี้ก่อนบ้าง แต่อย่าจริงจังมาก ...สุดท้ายแล้วมันจะทิ้งหมดแหละ มันจะอยู่ด้วยความเป็นอิสระของกายและจิตจริงๆ

ไม่งั้นเราก็จะยังเหมือนกับอยู่ในกรงขัง อยู่ในกรอบของพันธนาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ...ซึ่งว่าเราก็สร้างได้กรอบพันธนาการนี่ แต่สร้างให้มันเป็นแบบเบาๆ อะลุ้มอล่วย ...คืออย่าไปซีเรียสกับศีลพวกนี้

แต่กลับคืนสู่ธรรมชาติของความเป็นอิสระ ที่มีการเฝ้ารู้ดูเห็นอยู่เนืองๆ ...ตรงนี้ มันจะมีวิถีของมันจำเพาะ วิถีนั้นจะเกิดจำเพาะเลย เป็นวิถีที่เลือกไม่ได้ ...เหมือนกับเป็นไฟท์บังคับเลย

มันจะต้องวางลงในวิถีนี้เท่านั้น ...ตรงนั้นน่ะ จะเอาสัจจะ จะเอาการควบคุม หรือจะเอาคนอื่นบอกว่าถูกบอกว่าผิดมาใส่ ...มันกระเด็นออกหมด มันจะไม่เข้ามาแทรกแซง

มันจะวาง มันจะมีวิถีของกาย วิถีชีวิต วิถีของจิตโดยอิสระ...ที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น และไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย ...ตรงนั้นน่ะถึงจะเรียกว่ามัชฌิมา

เพราะนั้นมัชฌิมาของแต่ละคน วิถีของแต่ละคน เส้นทางของแต่ละคนนี่ จึงไม่ตรงกัน ไม่เหมือนกัน ไม่เป็นแนวเดียวกันด้วย ...แต่รวมอยู่ในหลักที่ว่า ไม่เบียดเบียน...ไม่เบียดเบียนและสันติ

แต่ไม่ใช่วิถีกูนะ ...คือกูไปตีหัวคนอื่นเขาไปทั่วแล้วก็ว่าเป็นวิถีกู อย่างนี้ไม่ใช่ เข้าใจมั้ย มันยังมีการเบียดเบียน..ยังมี ...ให้รู้ไว้เลยอันนั้นเป็นวิถีที่กอปรด้วยอัตตาตัวตน หรือกอปรด้วยอุปาทาน 

หรือว่าวิถีที่มองแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก พวกนี้ ...มันต้องอาศัยการเรียนรู้เท่านั้นแหละ  มันจะพูดหรือว่าจะมาบอกให้ชัดเจนว่า คุณจะต้องเป็นอย่างนี้ๆ นะ เหมือนหมอดูเขาทำนายไม่ได้ 

หรืออย่างว่าพระองค์ไหนที่มีเจโตหรือว่ามีอนาคตังสญาณว่า โยมนี่อีกห้าปีสิบปีจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ หรืออย่างนี้มีเมียมีผัวไม่ได้หรอก นั่น มันไม่ใช่การทำนายอย่างนั้น เข้าใจมั้ย

มันจะไม่มีบอกให้ชัดเจนแน่ใจอย่างนั้น  แต่มันจะค่อยๆ เป็นไปๆ ...แล้วก็เราก็เรียนรู้ในความเป็นไปเป็นมาของมัน...ตลอด ระหว่างนี้ เป็นปัจจุบันๆ ไป

เรียนรู้แล้วก็ปรับ ปรับสมดุลของกาย-จิตภายใน ปรับขันธ์ภายในให้มาสัมผัสสัมพันธ์กับขันธ์ภายนอก อย่างไรที่เป็นกลางที่สุดกับดวงจิตของเรานี่


(ต่อแทร็ก 1/26  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น