วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/23 (3)


พระอาจารย์
1/23 (25530418A)
18 เมษายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/23  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เอ้า มันก็ใช้ได้ แต่ว่าไม่ค่อยเอามาใช้กัน ...ท่านให้เอามาใช้ คือหมายความว่าใช้ในอุบายขั้นต่อไป 

นี่อุบายขั้นต้น...รวมจิตให้ตั้งมั่น สงบ มีสมาธิแข็งแกร่ง ...แล้วก็นำเอาไปใช้ประโยชน์ในขั้นต่อไป คือออกมาพิจารณา...กายก็ได้ จิตก็ได้ พิจารณามันเข้าไป 

จะพิจารณาเป็นธาตุสี่ ดินน้ำไฟลม เป็นอสุภะอสุภัง เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของที่สกปรก เป็นของที่เน่าเปื่อย เป็นของที่ไม่สวยไม่งาม เนี่ย ก็มาทำประโยชน์ขั้นนี้ 

นี่เป็นอุบายในการพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงตามที่เราอยากจะให้มันเห็นยังไง ...อยากให้มันเห็นเป็นธาตุ ก็พิจารณาให้แง่ของธาตุ อยากจะเห็นมันสกปรกก็พิจารณาในแง่ของอสุภะ 

อยากจะเห็นความไม่เที่ยงก็พิจารณาความไม่เที่ยง ความที่มันเกิดแก่เจ็บตาย อย่างนี้ ...มันจะต้องมีการน้อมให้ไปพิจารณาในแง่ใดแง่หนึ่งขึ้นมา อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นประโยชน์ในขั้นต่อไป

แต่ถ้าในลักษณะที่เราเจริญสติสัมปชัญญะอย่างนี้ มีอยู่ ๔ อย่างเท่านั้นเอง คือรู้...กาย เวทนา จิต ธรรม...ในปัจจุบัน ตามความเป็นจริง ...อันนี้โดยรายละเอียด ... ถ้าโดยย่อก็..กายกับใจ 

เวทนาจิตธรรมคือส่วนของนาม ก็คือใจ ...เหมือนกัน..ก็กลับมาอยู่สองอย่าง เราก็รู้กายรู้ใจ เราไม่ได้ออกนอกหลักเลย ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลย ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางเลย

แล้วการเจริญสติสัมปชัญญะ พระพุทธเจ้าท่านยังยืนยันว่า...อย่างโง่ที่สุดน่ะ ๗ ปี คือไอ้ประเภทที่ไม่ได้มีวาสนาบารมีอะไร มาเริ่มต้นเอานี่ ๗ ปี..๗ ปีได้อริยมรรค  อย่างกลางๆ ท่านก็ว่า ๗ เดือน  อย่างเร็วสุดท่านบอกว่า ๗ วันเท่านั้นแหละ

เพราะนั้นน่ะ...มั่นใจ ...ดูเข้าไปเหอะ ดูเข้าไปแบบโง่ๆ อย่างนี้แหละ ...ไม่รู้อะไร ไม่ละอะไรนี่แหละ ... "เรา" น่ะไม่รู้ แต่จิตมันรู้ ...บอกให้เลย 

ถึงเวลามันเต็มรอบเมื่อไหร่ มันจะ "อ๋อ" แค่นั้นแหละ  มันมีแค่คำเดียว "อ๋อ" นิดเดียว สบายแล้ว ...แต่ก็ต้องหลายนิดนะ ไม่ใช่นิดครั้งเดียว หลายๆ ครั้ง บ่อยๆ แต่ละเรื่อง จนมันเต็มรอบ หรือว่ารวม

ความหมายของคำว่ารวม..รวมคือยังไง คือรวมทุกแง่ ทุกปัจจัย ทุกเหตุและปัจจัยมาเป็นอันเดียวกัน 

เช่นว่า "เอ๊ะ ทำไมอาการนี้เกิดเราต้องวางจิตอย่างนี้ แล้วพออาการนั้นเกิดเราจะต้องวางจิตอย่างนั้น" ทั้งที่ว่าอย่างนี้มันก็เป็น "อาการ" เหมือนกัน เข้าใจมั้ย

มันยังเห็นว่า...มันยังแตกต่าง ใช่ป่าว ...ว่าบางครั้งทำไมต้องอย่างนี้ บางครั้งทำไมต้องอย่างนั้น บางครั้งต้องอย่างงี้ๆๆ ...มันยังไม่เป็นวิธีเดียวกันน่ะ เพราะมันมีวิธีอยู่

จนกว่ามันไม่มีวิธีน่ะ มันจะเห็นว่าทุกอย่างน่ะมันเรื่องเดียวกัน ...แล้วตรงนั้นเขาเรียกว่าเข้ามาอยู่ที่หลัก แล้วมีอยู่หลักเดียวเท่านั้น ตรงนั้นเรียกว่าขั้นสุดท้ายของการทำลายความสงสัย 

ถ้ายัง...เอ๊ะ ทำไมคราวนี้รู้อย่างนี้แล้วมันเป็นอย่างนั้น ทำไมรู้อย่างนี้แล้วมันเป็นอย่างนี้ ...นี่คือหมายความว่ามันยังไม่เข้าตรงที่หลัก มันยังมีดูเหมือนหลายอย่าง

ดูเหมือนต้องวางจิตไม่เหมือนกัน จะต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ...จนกว่าถึงที่สุดของมันแล้วปุ๊บนี่ มันจะรวมลงเป็นหนึ่ง คือไม่แตกต่างกันเลย

ไม่ว่ากาย ไม่ว่าเวทนา ไม่ว่าจิตไปติดในกาย จิตไปติดในเวทนา จิตในธรรม อาการในจิต ...มันจะเป็นเหมือนกันหมดเลย นะ แค่บอกว่ารู้เฉยๆ ปุ๊บนี่...ต่างอันต่างแยก ทันทีเลย

แค่รู้ปุ๊บ พั้บเลย...รู้ปุ๊บ พั้บเลย  ไม่มีการเข้าไปเกลือกกลั้ว หรือว่าไปข้อง ไปจับ ไปติด ไม่มีว่าเราจะต้องไปหาทางแกะออกมา หรือไปทำอะไรออกมา

คือมันแค่รู้เฉยๆ พั้บๆๆ  ไม่ว่าอะไร..มันรู้ปั๊บ ปึ๊บ..แยกออกได้หมดทุกอย่าง เหมือนกันหมด ...คือเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้กับสิ่งที่รู้ แค่นั้นเอง พึ้บ พั้บ อย่างนี้ ...มันมีอย่างเดียว เหมือนกันหมดทุกเรื่อง

แตกต่างกันแค่รูปลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของสิ่งที่ถูกรู้ ...แต่เป็นเหมือนกัน แค่รู้ โดยสติเข้ามาทำความเป็นกลาง รู้ด้วยจิตเป็นกลาง ปกติ...ปั๊บ มันพึ้บเลย

แต่ตอนนี้เรารู้ปั๊บ มันไม่พึ้บโว้ย ...เพราะมันไม่กลาง ยังไม่กลาง ยังไม่มัชฌิมา ยังไม่เป็นปกติ ...มันยังมีการรู้แล้วยังอ้อยอิ่ง รู้แล้วยังอดไม่ได้ที่จะแตะๆ  รู้แล้วยัง...เอ๊ ต้องอย่างงั้น ต้องอย่างงี้

เข้าใจมั้ย มันเลยยังไม่ออกมาโดยสมบูรณ์ บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ อย่างเนี้ย ...มันยังสงสัยอยู่ ใช่มั้ย มันไม่เหมือนกันน่ะ ...สงสัยๆ ก็รู้เฉยๆ  สงสัยก็รู้เฉยๆ...จบ

แล้วดูไปเรื่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ  จนกว่ามันเต็มพร้อมน่ะ เข้าใจมั้ย ...พอเต็มพร้อมปุ๊บ ทุกเรื่องนี่เป็นเรื่องเดียวกันหมด แค่รู้พึ้บ..ก็พั้บ  ก็พึ้บ-พั้บๆๆ ...มันเข้าไปปนกันเมื่อไหร่ รู้ปุ๊บ พึ้บออก

อย่างเนี้ย ถึงเรียกว่าอยู่ในหลักเดียว มีหลักเดียว เห็นหลักแล้ว ...ตรงนี้ ถึงเรียกว่าจิตเป็นหนึ่ง จิตหนึ่ง เห็นจิตหนึ่งแล้ว เห็นเอกายนมัคโคแล้ว คือทางสายเอกแล้ว คือมีทางเดียวเท่านั้น

ถ้ามีวิธี...มันก็มีหลายวิธี ... ถ้าไม่มีวิธี...มันมีวิธีเดียว เข้าใจมั้ย คือไม่มีวิธี มันจะไม่มีวิธี ...แค่รู้ 

แต่ถ้ายังมีวิธี มันจะบอกว่าต้องทำอย่างนั้น ยังต้องทำอย่างนี้ หรือไม่ทำอย่างนั้น หรือต้องอย่างนี้  ไอ้นี่มาก ไอ้นี่น้อย ...เห็นมั้ย นั่นคือวิธี ...ถ้ามีวิธีน่ะ มันหลากหลาย มันจึงไม่เสมอกัน

แต่ถ้าหมดวิธีเมื่อไหร่ พั้บนี่ มันจะเห็นเลย...ทางสายเดียว มีทางเดียวเท่านั้นน่ะ ทางเดียวเท่านั้น...คือแค่รู้ แค่รู้เฉยๆ นี่แหละ โง่ๆ นี่แหละ รู้พั้บ ออกเลยๆ ออกเองเลย

ไม่ต้องทำเลยนะ ...เป็นธรรมชาติของการที่มันไม่ผสมกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว พอรู้ด้วยสติที่เป็นธรรมชาติหรือเป็นกลางปุ๊บ ด้วยสติที่พร้อมด้วยญาณและทัสสนะ เต็มพร้อมเมื่อไหร่

รู้ปั๊บมันแยกทันที ...ไม่มีคำว่าเกลือกกลั้ว ไม่มีคำว่าเข้าไปมีเข้าไปเป็น ไม่ว่าจะรวมกัน เผลอไปนานขนาดไหน หายไปกับมันนานขนาดไหน...พอรู้ปุ๊บนี่ ออกเลย

อย่างนั้น ถึงจะเรียกว่าอริยมรรค หรือสัมมาสติ นะ ...ไม่ใช่สติปัฏฐาน ...ถ้าสติปัฏฐาน บางทีเรารู้แล้วเรายังอ้อยอิ่งอยู่ เรารู้แล้วยังจมอยู่กับมัน

รู้ว่าโกรธนี่ พอรู้ว่าโกรธปั๊บนี่ ...เริ่มปนเข้าไปแล้ว เข้าไปอ้อยอิ่ง เข้าไปพัวพัน ไปเอาถูกเอาผิดอะไรกับมันอยู่นั่น ไปมีปัญหากับมันอยู่นั่น แล้วพยายามไปทำให้ไม่มีปัญหากับมันอยู่นั่น เข้าใจมั้ย

สองอย่าง...ไม่มีปัญหากับมัน ก็พยายามทำให้ไม่มีปัญหากับมัน ...คือมันทำทั้งคู่น่ะ บอกให้เลย คือไปให้ความใส่ใจกับมัน แค่นั้นเอง

เพราะนั้นอุบายง่ายๆ บอกแล้ว...รู้สั้นๆ  รู้ปั๊บ ถ้ามันยังดื้อ...ออกไปรู้ที่อื่นซะ ไม่ต้องใส่ใจ ไม่ต้องใส่ใจมันเลย  แล้วก็แอบดูมัน แล้วจะรู้...เออ ถ้าเราไม่ใส่ใจมันเมื่อไหร่ปุ๊บ มันไม่อยู่เลย

นี่ สังเกตดูนะ ให้สังเกตดู ...พอเราย้ายสติมาตั้งมั่น ตั้งหลักอยู่ที่กาย  อย่าไปใส่ใจหรือว่าติดตามเฝ้าดูอาการ คือเราอยากดูว่าต่อไปมันจะเป็นยังไง มันจะดับตอนไหน ใช่มั้ย ...นั่นล่ะเพ่ง

เหมือนกับเราพยายามดูว่าที่ออกรูมานี่...หนูตัวเมียหรือหนูตัวผู้ แล้วมันจะแก่ตายเมื่ออายุเท่าไหร่ ...คือออกจากฐานแล้ว ฐานใจแล้ว ออกจากฐาน ...ก็แค่รู้เฉยๆ ว่ามันมีอยู่

เพราะนั้นถ้าเรารู้ปุ๊บ พั้บนี่ เราจะเห็นกระบวนการของการเสื่อมสลายของมัน..ตรงนี้ ...แล้วมันจะ "อ้อ"  จับเทคนิค เริ่มจับเทคนิคถูกแล้ว คือจะเริ่มรู้รอบมากขึ้นแล้ว ว่ารู้อย่างไร

รู้เป็นแล้ว เริ่มที่จะรู้เป็นแล้ว เริ่มจะรู้เข้าใจความหมายของพระพุทธเจ้าที่ว่า...รู้กลางๆ น่ะรู้ยังไง อะไรที่เรียกว่ามัชฌิมา  ทำไมพระพุทธเจ้าถึงยืนยันย้ำนักย้ำหนาว่า ต้องอยู่ในหลักของมัชฌิมา

แล้วเราก็พยายามหามัชฌิมา ไม่รู้มัชฌิมามันอยู่ตรงไหน  พยายามทำมัชฌิมา ก็ไม่รู้จะทำได้ยังไง ก็บอกแล้ว ถ้าทำน่ะมันไม่ใช่ มันไม่ใช่การกระทำ

แต่ให้รู้เทคนิคอย่างนี้ แล้วศึกษา สังเกต ...อาศัยการสังเกตดู สลับไปสลับมา ...อย่าทิ้งกาย อย่าเอาแต่จิต เดี๋ยวมันจะติด ติดในการเพียรเพ่ง ...เพราะมันมีเป้า มันตั้งเป้า 

มันจดจ่อ มันจงใจ มันมีเจตนา เนี่ย อาการที่พูดมาทั้งหมดนี่คือเพ่ง เพ่งแล้ว  แม้จะเพ่งเบาๆ ก็เหอะ ...มันเข้ามาทำให้แปรปรวนโดยการกระทำ เพราะนั้นมันยากที่จะว่าแก้ยังไง

คนชอบมาถามว่า จะแก้ยังไง ...ก็เพ่งก็รู้ว่าเพ่ง แล้วก็ไม่ไปเพ่ง ...คือรู้ว่าเพ่งแล้วก็ไม่ไปสนใจมัน แค่นั้นเอง  คือถอยออกมาเลย แค่นั้นเอง  คือไม่ต้องไปใส่ใจมัน แค่นั้นแหละ มันก็หยุดเพ่งแล้ว

แต่ถ้ายังไปทำยังไงให้มันหายเพ่ง มันก็ยิ่งเพ่งดับเบิ้ลเพ่งน่ะ เข้าใจมั้ย... ก็ยุ่งอะไรกับมันนักหนาล่ะ  ก็ช่างหัวมันปะไร แค่นั้นมันถอยแล้ว มันถอยออกมาแล้ว

ก็มารู้ที่อื่นสิ มาดูกาย ดูไป ทำอะไรทำไปทำมา ให้มันมีสติกับที่อื่น ...แล้วอาการพวกนั้นมันละการเพ่งทันทีแล้วตรงนั้น เปลี่ยน ย้าย  มันไม่ใช่ศพคนตายซะเมื่อไหร่ จะต้องให้ไปอยู่กับมันตลอด

เพราะนั้นสติ...มันว่องไวไหวพริบ ยืดหยุ่น เหนียวแน่น อ่อนโยน นี่คืออาการของสติ-สมาธินะ ...ไม่ใช่ทึบ ทื่อมะลื่อตื้อ ผูกตรงไหนก็ผูกตายกันอยู่ตรงนั้น 

ไอ้นั่นเรียกว่าสมาธิแบบหินทิ้งดิ่งน่ะ เอาหินโยนลงน้ำนี่จมลูกเดียว เข้าใจป่าว สมาธิไม่ใช่อย่างนั้น สติไม่ใช่อย่างนั้น ...มันคล่องแคล่ว ว่องไว ไหวพริบ ชำนาญ ฉับพลัน กระฉับกระเฉง ตื่น 

เห็นมั้ย สังเกตสิ อาการของจิตที่มันเบา มันสบาย มันมีอาการกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ว่องไว ...ไม่ใช่ทื่อ ซึม จนมัว เบลอ สะลึมสะลืออย่างนี้ 

อาการเหมือนอาการทิ้งดิ่ง ดิ่งพสุธาลงนรกลูกเดียว..จมน่ะ มันจมๆ มันหาย ...พอไป..ไม่หายไปกับอารมณ์ก็หายไปกับผัสสะ เพ่งไปเพ่งมาก็ไปเลย หลุดออกนอกกรอบแล้ว

จับให้มันได้ สลับไปสลับมาในฐานทั้งสี่ แยกออกก็เป็นสอง...กายกับใจ รู้กายสบายๆ แล้วเวลาเรารู้กาย เวลาทำงาน เราจะเอามาใช้ได้ง่ายขึ้น ทำอะไรก็รู้ได้นี่...กายน่ะ

พูดก็ยังรู้ได้ เห็นปากขยับๆ ก็ได้ นั่งเขียนหนังสือก็รู้ว่ากำลังนั่งได้ใช่มั้ย ...คือเวลาเราเขียนหนังสือจิตมันไม่ค่อยอยู่หรอก สติมันไม่รู้อยู่ตรงไหน เวลาอ่านหนังสืออีก 

นี่ ดูสิ ดูจิตเป็นมั้ยตอนอ่านหนังสือ เห็นมั้ย ไม่รู้จะดูอันไหน ...พอดูจิตอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง พออ่านหนังสือก็ลืมดูจิตไป เห็นมั้ย มันยังเฉลี่ยไม่ถูก บางครั้ง

เพราะนั้นว่า จริงๆ น่ะ การอ่าน ถ้าจมกับหนังสือ...จมไป แต่ว่าให้เห็นกาย แอบๆ รู้กายกำลังนั่งอยู่  เวลาอ่านไปๆ แล้วจะเห็นกายเบาๆ ...รู้ ถือว่ามีการรู้เห็นตัวอยู่เวลานั่ง 

สติสัมปชัญญะ มีเบาๆ อยู่กับนั่ง อ่านก็อ่านไป ...แล้วสังเกตเวลามันว้อบแว้บๆ วูบวาบ  จะสังเกตเห็นอาการวูบวาบในจิตตามตัวหนังสือ มันจะเห็นอาการวูบวาบแค่นั้นแหละ

แต่มันจะต้องมีฐานกาย ฐานของสติสัมปชัญญะอยู่ตรงที่ใดที่หนึ่ง แล้วมาเห็นอาการภายในที่มันวูบวาบ ในการที่เราให้ความสำคัญ ให้ตั้งใจอยู่กับการอ่าน หรือการทำงาน หรือทำอะไรก็ตาม ...มันจะใช้ได้

แต่ถ้าจดจ่ออยู่ที่จิตอย่างเดียวนี่...หลุด บอกให้ หลุดง่ายที่สุดเลย หลุดหายทั้งวัน แทบไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ...พออยู่ปุ๊บก็ได้ชั่วคราวด้วยการเพ่ง หรือประคอง ประคองสติ จะถืออาการนั้นเป็นหลัก

คราวนี้อาศัยว่าพวกเรานี่มีความขยันหน่อย ก็ประคองบ่อยมากขึ้น นะ ...ถ้าคนขี้เกียจ ประคองได้วันละครั้งสองครั้งก็เบื่อแล้ว ขี้เกียจทำ มันจะเบื่อแล้วขี้เกียจขึ้นมา

เพราะนั้นปรับให้มันเป็นกลางๆ มากขึ้น ด้วยการมาตั้งดูกาย เห็นกาย ...แล้วใช้ลักษณะของการแอบดูจิต หยั่ง หยั่ง แตะๆ นิดนึง เอาสติแนบ ให้มันรู้รอบ...แล้วเห็น

เห็นกาย กำลังยืน กำลังเคลื่อนไหว กำลังนิ่ง กำลังขยับ...ในอนุพยัญชนะในกาย ขยับบ้าง อะไรบ้าง อย่างนี้ ...แล้วก็ดูอิริยาบถใหญ่ ยืนเดินนั่งนอน ก็ให้เห็นนานๆ เห็นต่อเนื่อง อย่างนี้มันจะเกิดการต่อเนื่อง

แล้วเห็นอาการในจิต...เป็นแค่แมวเฝ้าหนู ไม่ใช่แมวไล่จับหนู  แค่นั้นพอแล้ว ...ไม่ใช่ว่าจะต้องดูรายละเอียดทุกเม็ดอย่างนี้ คือมัน "รู้ไป" แล้ว...ว่ามันคืออะไร

คือจริงๆ ไม่ต้องเอาเนื้อถ้อยกระทงความ ...เพราะมันเป็นเรื่องของปัจจัยที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นว่ามันจะไปดับยังไง ดับเมื่อไหร่ หรือมันจะอยู่นานหรืออยู่ไม่นาน 

ไม่สำคัญนะ เพราะยังไงมันก็ดับอยู่แล้ว ...ขอให้รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น แค่นั้นเอง...พอแล้ว


(ต่อแทร็ก 1/24)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น