วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/23 (2)


พระอาจารย์
1/23 (25530418A)
18 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/23  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  จนกว่ามันจะคงความว่าชัดเจนในการวางจิตให้เป็นกลางให้เป็น แล้วมันจะเห็นว่า..ไม่ต้องทำอะไร มันไม่เกี่ยวกันอยู่แล้ว ...เพราะไม่มีขันธ์ในเรา ไม่มีเราในขันธ์ ขันธ์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์

มันเป็นเพียงอาการที่ปรากฏขึ้นชั่วคราว ไม่ได้เป็นของใครเลย เป็นธรรมชาติหนึ่งที่ปรากฏขึ้นตามเหตุและปัจจัย มีการกระทบกันระหว่างผัสสะกับอายตนะ ...อายตนะก็ติดอยู่ตามขันธ์นี่แหละ

อายตนะหก ตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่ มันเป็นประตู...ประตูของรูปขันธ์ มันติดอยู่ตรงนี้ ติดอยู่ข้างหน้า แล้วก็มีผัสสะมากระทบ มันจึงมีอาการรับรู้เกิดขึ้น 

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มันเป็นเกิดวิญญาณขึ้น ...วิญญาณก็คือส่วนหนึ่งของขันธ์ เป็นจักขุวิญญาณ เป็นโสตวิญญาณ เป็นกายวิญญาณ เป็นฆานวิญญาณ เป็นชิวหาวิญญาณ เป็นมโนวิญญาณ

วิญญาณมันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมันมีผัสสะเท่านั้น ...ถ้าไม่มีผัสสะมากระทบ วิญญาณไม่เกิด ไม่มีเสียงมานี่โสตวิญญาณไม่เกิด  แต่มันไปเกิดตอนไหน...ตาเห็น..มันไปเกิดที่จักขุวิญญาณ

นี่ พอมีเสียงมาปุ๊บ โสตวิญญาณเกิด จักขุวิญญาณดับ เห็นมั้ย นี่คืออาการของการรับรู้ของขันธ์นะ มันจะเป็นอย่างนี้ มันจะรับรู้ทีละเรื่องๆๆ ตามเหตุและปัจจัย ...มันไม่ได้เกิดพร้อมกันๆ

ตรงนี้ถึงเรียกว่า...ไม่มีเราในขันธ์ หรือว่าขันธ์ห้าไม่มีตัวไม่มีตน ...มันเป็นตัวตนชั่วคราว เข้าใจมั้ย ชั่วคราวของการเกิดขึ้นของผัสสะ 

ตัวของขันธ์มันจะทำงานในขณะที่มันมีผัสสะเท่านั้น..ที่กระทบ ...พอกระทบเสร็จปุ๊บ หมดวาระหรือว่าหมดเหตุปัจจัยแห่งการกระทบนั้น...ดับเลยนะ

เนี่ย หูฟังเสียงอยู่นี่ ...พอเสียงเราหยุดปุ๊บนี่ หูหมดหน้าที่แล้ว วิญญาณทางหูดับแล้วนะ มาอยู่ที่ตาแทนนะ มองเราอยู่นี่ ความคิดไม่มีนะ  แต่ถ้าลงไปดูที่ความคิด มีความคิดนะ จักขุวิญญาณดับนะ 

นี่ มันสลับกันอย่างนี้ เห็นมั้ย มันจะสลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ ...เพราะนั้นถึงบอกว่า ขันธ์ห้า...ไม่มีตัวไม่มีตนคงอยู่นะ ความคงอยู่ของขันธ์ห้าไม่มี 

แต่ถ้าเราไม่เห็นความเป็นจริงตรงนี้ เราจึงไปหมายมั่นว่าขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตน หรือว่ามันคงอยู่...มันยังคงอยู่

เพราะนั้นว่าการที่ให้กลับมารับรู้ เห็นในการเกิดขึ้นแต่ละครั้งๆ นี่ ...แล้วทำไมถึงบอกว่าให้เห็นว่ามีหนูออกมาทีละครั้งทีละตัว เข้าใจมั้ย 

ไม่ใช่ไปตามดูว่ามันไปไหนวะ หรือว่ามันยังอยู่อย่างไร นานขนาดไหน ...นี่คือการพยายามให้มันเป็นยืดยาวต่อเนื่อง เข้าใจมั้ย

เพราะนั้น พอรู้ว่าคิดปั๊บ รู้ว่าคิดปุ๊บ..แค่แตะว่ารู้ว่าคิดปุ๊บ แล้วมารู้ที่กายปั๊บ..นี่ มโนวิญญาณนี่ดับแล้วนะ เข้าใจยัง ...เห็นมั้ย มันสลับมาอยู่ตรงนี้ ปึ้บนี่ หยุดแล้ว

เราจะเห็นรอยต่อเห็นรอยต่อของวิญญาณมั้ย เห็นการดับไปของวิญญาณทางมโน เห็นการเกิดขึ้นของกายวิญญาณมั้ย ...อย่างนี้ต่างหาก

ถ้าเราเห็นอย่างนี้บ่อยๆ ชำนาญ เนืองๆ ...ความหมายของความเป็นเรา หรือตัวตนของเรานี่  มันจะจางลงไป ...ไม่ต้องคิดเลยนะ ไม่ต้องไปคิดด้วย ไม่ต้องไปพิจารณา ว่ามันดับยังไง มันไม่มีตัวตรงไหน 

ให้เห็น...ให้จิตมันรู้เห็นอย่างนี้ ...มันจะเข้าใจในใจของมันเอง ทีละเล็กทีละน้อย  มันจะเข้าใจแบบซึมซาบ ...ไม่ได้เข้าใจโดยจินตา หรือว่าคิดนำ หรือว่าสอนมัน...มันไม่ฟังหรอก

จิตน่ะมันจะเข้าถึงใจ หรือว่าเข้าใจได้ด้วยการรู้และเห็นเท่านั้น ...ไม่ใช่จิตจะเข้าใจโดยที่เราต้องไปทำความใจ หรือต้องบอกมัน

โยมก็เข้าใจนี่..อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช่ป่าว ...โยมก็บอกรู้นี้เป็นทุกข์ กายนี้เป็นทุกข์ จิตนี้เป็นทุกข์...รู้ใช่มั้ย ...แต่จิตมันไม่เชื่อเลย ใช่มั้ย 

รู้ขนาดไหน เรียนมาขนาดไหน จำมาขนาดไหน ...จิตมันก็ยังว่า “กูไม่เห็นมันเป็นทุกข์ยังไง กูก็ว่ามันเป็นตัวเป็นตนอยู่” ...เห็นมั้ย มันไม่เห็นเชื่อเลย ...ทำไมมันไม่เชื่อล่ะ

เพราะ "เรารู้" กับ "จิตรู้" นี่ คนละตัวกัน ...ความรู้ทางที่คิดว่าเรารู้เราเข้าใจ หรือเราเข้าใจสภาวธรรมต่างๆ เข้าใจธรรมะนู้นธรรมะนี้ ...แต่จิตมันไม่ยอมเข้าใจกับเรา เข้าใจมั้ย

บอกมันเท่าไหร่มันก็ไม่ฟังหรอก สอนเท่าไหร่มันก็ไม่เชื่อ ... มันจะเชื่อด้วยตัวของมันเอง..โดยสติสัมปชัญญะ...ที่มันเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน

ตัวนี้ต่างหาก...เห็นซ้ำซาก เห็นบ่อยๆ เห็นอยู่เป็นนิจ ...ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเห็นอะไร เราก็ไม่รู้ว่ามันเห็นรึเปล่า เข้าใจรึเปล่า เราก็ไม่รู้กับมันด้วยนะ

เพราะนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าจิตนี่มันจะวางหรือไม่วาง เราจะไม่รู้เลยว่าจิตมันเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ...เพราะตัวเรากับตัวจิตนี่ คนละตัวกัน เข้าใจมั้ย

แต่ถึงเวลาเมื่อไหร่ของมันปุ๊บ มันเข้าใจหรือว่าเต็มรอบ ...เข้าใจคำว่าเต็มรอบมั้ย ปัญญามันสั่งสมเต็มรอบ หรือว่าญาณมันหมุนครบรอบ หรือปริวัฏฏ์สิบสองของอริยสัจทั้ง ๔  เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามเหตุและปัจจัย

อย่างนี้ซ้ำซากๆ มันเต็มรอบ มันกระจ่าง มันรู้รอบ เห็นรอบแล้ว...อ๋อ แค่นี้เอง มันก็เหมือนกับ..อ้อ แค่เนี้ย ...แล้วอ๋ออะไรวะ ก็ไม่รู้ ...รู้ว่าอ๋อ แต่ไม่รู้อะไร ไม่รู้มันอ๋อทำไม ไม่รู้มันเข้าใจอะไร

แต่มันบอกเข้าใจแล้ว ...เข้าใจอะไรมันก็ไม่รู้นะ แต่มันเข้าใจน่ะ...เข้าใจแล้วมันเบา สบาย มันคลายน่ะ ...อย่างนี้เขาเรียกว่าปัญญาญาณ 

เป็นญาณ...ไม่มีคำพูดหรอก ...เป็นเรื่องของจิตล้วนๆ เลย  อันนี้เรื่องจิตล้วนๆ ...เราอาจจะไม่เข้าใจว่ามันเข้าใจอะไรวะ พูดไม่ออก อธิบายอะไรก็ไม่ได้

เพราะนั้นบางคนนี่...เข้าใจ ผมเข้าใจๆ  แต่ไม่รู้จะพูดยังไง หาคำพูดไม่ได้  ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ฟัง เรียบเรียง สังเกต  มันถึงจะแปลความหมายได้ อธิบายออกมาเป็นคำพูดได้

แต่ใจนี่มันเข้าใจหมด แค่เห็นนี่ ไม่ต้องมีความคิดเป็นภาษา ...มันเข้าใจว่ามันจริงอย่างนี้ มันรู้แต่ว่าเข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว  จริงยังไงนี่บอกไม่ถูกว่ะ ...อย่างนี้ นี่เรียกว่าปัจจัตตัง

พระพุทธเจ้าบอกว่าต้อง...ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิติ เท่านั้น ...แต่ปัจจัตตังจะเกิดขึ้น..ด้วยอย่างเดียวเท่านั้น..คือโอปนยิโก ...ด้วยการน้อมกลับมาเห็นกายใจในปัจจุบัน แค่นี้เอง

ท่านไม่ได้บอกให้คิดนะ ใช่มั้ย ...สวากขาโต ภควตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ...ไม่เห็นมีจิตตปัญโญเลย เข้าใจมั้ย ไม่เคยบอกเลยนะ

แต่ท่านให้กลับมาเห็นว่ามีอะไรอยู่ตรงนี้ ขณะนี้ ...ด้วยการน้อมเข้ามา เอหิปัสสิโก เชื้อเชิญให้เข้ามา แล้วทำความโยนิโสมนสิการ ...โยนิโสคือว่า ทำความแยบคาย

ไม่ใช่แยบคายด้วยความคิดนะ แยบคายโดยสติสัมปชัญญะให้ละเอียดแนบลงไป ...มันมีอะไรก็ใจเย็นๆ ดูเบาๆ เห็นเบาๆ อย่างนี้ ลูบไล้ทำความแยบคาย เข้าใจมั้ย

ทำความแยบคายกับอาการ ...เบาๆ แบบน้อยๆ ให้มันเรียนรู้ ...มันจะค่อยๆ ซึมซาบเข้าไปเห็นโดยรอบในอาการทั้งกาย ทั้งอาการทางใจที่เป็นนาม

แม้แต่ว่าจิตที่เราเห็นกายนี่ เราพยายามแนบให้เห็นไว้ ...ไม่มีอะไรทำนี่ ดูกายไว้ ขึ้น-ลงๆ ไล่ดู ...ไม่ต้องคิดนะ เหมือนเอาไฟฉาย ส่องขึ้น-ส่องลง อย่างนี้ เข้าใจมั้ย ไล่ขึ้น-ลง ให้เห็นเบาๆ ละเอียด

เหมือนกับลูบไล้ เอาสติสัมปชัญญะเข้ามาลูบไล้กับกาย เป็นการฝึก ให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว ...แล้วขณะนั้นมันก็จะเห็นอาการของจิตปรากฏด้วย

แล้วทุกอย่างน่ะมันจะคลี่คลาย ด้วยตัวของมันเอง ...บางทีเราจะไม่เข้าใจเลย...เอ๊ ไม่เห็นทำอะไรเลยน่ะ ทำไมมันวางได้วะ คล้ายๆ อย่างนั้น ...ไม่ได้พิจารณาอะไร ทำไมมันเข้าใจล่ะ อะไรอย่างนี้

บางทีเราสงสัย จะไปหาเหตุหาผลมารองรับอีก ไปหาใหม่อีกแล้ว ทำยังไงผิด ทำยังไงถูก แล้วทำไงเพื่อจะให้ได้ผลต่อไปข้างหน้า เนี่ย บางทีอย่างนี้ จะไปจับต้องให้ได้ ในสิ่งที่มันไม่สามารถจะไปจับต้องได้

เพราะนั้นแค่รู้โง่ๆ เข้าไปเหอะ จิตน่ะมันโง่ โง่แบบมันไม่รู้อะไร มันโง่แบบไม่ได้ดั่งใจเรา เพราะว่าเราไม่รู้อะไร เข้าใจมั้ย ...ไอ้ที่มันโง่เหมือนกับไม่ได้อะไร เพราะเราไม่รู้อะไรเลย

ไอ้เรานี่อยากรู้ ไอ้เรานี่อยากรู้อยากเห็น อยากคิด อยากถาม อยากสงสัย อยากอย่างโง้นอย่างงี้ ...ไอ้นี่ "เรา" ทั้งนั้นแหละ จิตเขาไม่ว่าอะไร จิตมันซื่อบื้อ

จิตมันแค่รู้กับเห็นในตัวของมันเองนั่นแหละ ดูเหมือนไม่เห็นอะไร ไม่รู้อะไร ไม่เข้าใจอะไร ...แต่เขาทำความแยบคาย ในสภาวะธาตุสภาวธรรมตามความเป็นจริงอยู่แล้ว

อาจจะดูเหมือนไม่ได้ผลอะไรเลย อาจจะดูเหมือนไม่เข้าใจอะไรเลย อาจจะดูเหมือนไม่น่าจะปล่อย ไม่น่าจะวางกิเลสตัวไหนได้เลย ...แบบที่เขาว่าดูจิตเฉยๆ มันจะไปละกิเลสได้ยังไงวะ

ก็จริงๆ ก็อย่างที่บอก...ไม่ได้ละกิเลส แต่เห็นกิเลสตามความเป็นจริง เข้าใจมั้ย ...เห็นกิเลสตามความเป็นจริงเมื่อไหร่น่ะ เราจะไม่เชื่อกิเลสอีกแล้ว 

ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีกิเลส แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องตามกิเลส ...มันก็มี แต่เราไม่ตาม เข้าใจรึเปล่า เพราะเห็นว่ามันก็เป็นธรรมชาติหนึ่ง

อย่างสมมุติว่าโกรธ หงุดหงิด รำคาญ ...พอเริ่มขึ้นมาปุ๊บนี่ โยมจะต้องมีอารมณ์ที่ว่าอินแล้ว เพราะมีการให้ค่า ใช่ป่าว เพราะว่าเคยเรียนมาฟังมา อาจารย์ก็สอนมานี่กิเลสโลภะโทสะโมหะ 

นี่ จำมา ...ปุ๊บนี่ พอเกิดขึ้นปุ๊บ มันทวนความได้เลย..สัญญา จำได้เลย ...ทั่วโลกก็ต้องรู้ ไอ้นี่เรียกว่าโทสะ ทั่วโลกก็ต้องรู้ว่าไอ้นี่มันเป็นกิเลส อย่างนี้

เห็นมั้ย มันเริ่มกาหัวเลย...ไม่ดี ปึ้บ เราจะต้องดิ้นรนวุ่นวายกับมันเลย ...หรือถ้าคนไม่รู้ปุ๊บ มันขึ้นมา ไม่รู้อะไรก็ตามมันเลย หรือถ้ารู้มากก็วึ้บขึ้นมา ต้องดับทันทีอย่างนี้

แต่ถ้าเราเข้าใจสภาวะตามความเป็นจริงแล้วนี่ ...มันไม่เรียกว่าเกิดกิเลส มันไม่เรียกว่าหงุดหงิด มันไม่เรียกว่าสบาย ...เพราะอะไร ...เพราะมันไม่มีชื่อ เข้าใจมั้ย

เพราะมันเป็นแค่อาการหนึ่งที่ปรากฏขึ้น  ไม่ได้ดี ไม่ได้ชั่ว ไม่ได้ถูก ไม่ได้ผิด  มันก็เหมือนลมพัดอย่างนี้ ...โยมบอกว่าลมน่ะ มันชั่วมั้ย มันแสดงความชั่วรึเปล่าล่ะลม หรือมันแสดงความดีรึเปล่า

เข้าใจมั้ย ลมก็คือลม แล้วเรามีปัญหาอะไรกับลมมั้ย ...เราจะไม่มีปัญหากับลมเลยถ้าเราไม่เกลียดลม หรือลมนั้นไม่เป็นลมที่เราให้ค่าว่ามันไม่ดี นี่ เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นกิเลสตามความเป็นจริงแล้ว มันเป็นอาการหนึ่ง มันไม่มีค่า มันก็เป็นแค่ลมพัดผ่าน เข้าใจมั้ย ...เนี่ย เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง 

แล้วยอมรับเฉพาะตามความเป็นจริง ไม่ยอมรับตามสมมุติและบัญญัติ ...กิเลสก็เลยกลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหนึ่งในจิต...เท่านั้นเอง 

หรือเป็นแค่อาการ หรือสักแต่ว่าสภาวะหนึ่ง เป็นสภาวธรรมหนึ่ง  ไม่ได้ถูก ไม่ได้ผิด ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ไม่ดี ไม่ใช่มาก ไม่ใช่น้อย ...เป็นแค่ตามเหตุและปัจจัยที่เกิดขึ้น 

ปุ๊บ พอเราไม่ให้ความสำคัญมั่นหมายกับมัน ไม่ได้ไปให้ค่าขึ้นหรือลงตามมัน ...มันก็จะหมดไปตามสภาวะอาการของมันในกฎของไตรลักษณ์เท่านั้นเอง

เพราะนั้น เขาด่ายังไง ถูกหมดเลย เข้าใจรึเปล่า ไม่ได้ละกิเลส ...ละไม่ได้ ...ก็ไม่ตั้งใจจะละอะไรน่ะ แต่ตั้งใจจะทำความเข้าใจกับมันตามความเป็นจริง

ใครจะบอกละไม่ได้ ...ละไม่ได้ก็ไม่ละ ก็เรื่องของเรา เข้าใจมั้ย ...แต่เราเข้าใจ ไม่ต้องไปหวั่นไหวหรือกลัวว่าจะต้องหันรีหันขวาง ทางนี้ผิดหรือเปล่า ต้องทำอย่างนั้นก่อนรึเปล่า ต้องอาศัยกำลังจิตก่อนมั้ย

กำลังน่ะ...เราบอกว่าอาศัยแต่ว่ากำลังของสมาธิ คือความตั้งมั่น เข้าใจมั้ย ...ไม่ใช่กำลังแบบหลับหูหลับตาสงบ แล้วก็ให้จิตเหมือนกับฉีดมอร์ฟีนหรือฉีดยาชาอัดมันเข้าไป 

คือแบบไม่ต้องรู้สึกรู้สารู้สมอะไร ฟ้าแลบฟ้าร้อง ดินถล่มดินทลาย ไม่รับรู้ผัสสะใดๆ ทั้งสิ้น ...แล้วก็บอกว่า...เอ้า ต้องเอากำลังอันนั้นก่อน

ถึงบอกว่าเอามาทำอะไร เอามาทำให้จิตตื่นเต้นรึไง เอามาทำให้ดูดีรึไง ...คือเอามายังไม่รู้เลยว่าเอามาทำอะไร...แต่ก็บอกว่าต้องเอามาก่อน ต้องใช้ประโยชน์ก่อน


(ต่อแทร็ก 1/23  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น