วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/24 (3)


พระอาจารย์
1/24 (25530418B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 เมษายน 2553
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/24  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าจะดูรายละเอียดก็ได้ มันก็มีผล อานิสงส์ก็มี ...มันก็ฉลาด สามารถจะพูดอะไร อธิบายได้ 

เวลานั่งคุยนี่สังเกต บางคนคุยสภาวธรรมนี่ฟุ้งเลย เคยเห็นมั้ยคุยแบบน้ำไหลไฟดับ อธิบายสภาวธรรมละเอียดถี่ถ้วนมากมายมหาศาล ไม่มีอะไรหรอก น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง 

แต่บางคนน่ะไม่รู้ไม่เห็น ฟังอย่างเดียว  อธิบายก็พูดสั้นๆ เอาแต่เนื้อ น้ำไม่เอา เอาแต่โดยอรรถ เข้าใจมั้ย ...จริงๆ น่ะถ้าเราเอาแต่ตรงนี้เท่านั้นพอแล้ว สุดได้แล้ว รอบได้แล้ว 

ไม่ต้องไปรายละเอียดมาก อย่าซับซ้อนเกิน ...รู้ง่ายๆ รู้สบายๆ แค่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น พอแล้ว มันเกิดขึ้นพอแล้ว มันตั้งอยู่ก็พอแล้ว ...ไม่ต้องไปรู้ว่าอะไรมากมาย

ถึงบอกอยู่บ่อยๆ ว่า what when where why how เนี่ย คือวิจิกิจฉา ทั้งหมดเลย ...อย่าเอามาตั้ง

"มันอะไรวะเนี่ย" ...what  "เมื่อไหร่ จะนั่นจะนี่ซะที" ...when  "มันมาจากไหนเนี่ย" ...where  "ทำไมมันเป็นเงี้ย ทำไมไม่หายไปซะที"...why  "แล้วจะทำยังไงกับมันดี"...how  เห็นมั้ย เนี่ย คือตัววิจิกิจฉา

รู้ก็สักแต่ว่ารู้ เออๆ เออๆ ...จบ สั้น โง่เข้าไว้  ไม่รู้อะไร รู้ว่ามันมีอย่างนี้ๆๆ  แต่ไม่รู้ว่าไอ้อย่างนี้ๆ คืออะไร ...คือรู้อยู่ก็ให้ความสำคัญกับมันน้อยที่สุดน่ะ

เพราะมันจะมีบางอารมณ์ที่เราหมายมั่นเยอะ บางอารมณ์ที่เราตั้งใจจะเลิกละ...แล้วพยายามไม่ให้มันโผล่แต่แล้วดันโผล่  มันมีเยอะ ที่เราจะต้องเรียนรู้จักกับมัน

มันไม่มีปัญหากับเราน่ะ แต่เรามักมีปัญหากับมัน เข้าใจป่าว ...มันมาน่ะ มันไม่มีเจตนา  เวลามันขึ้นมาน่ะ อารมณ์  ธรรมชาติของอารมณ์หรือธรรมชาติของจิต โดยที่ปรากฏนี่ มันไม่ได้เจตนาหรอก 

มันเป็นธรรมชาติของมันตามเหตุและปัจจัยที่ปรุงแต่งอยู่แล้ว มันไม่มีปัญหาอะไรในการเกิดหรือการตั้งอยู่ ...แต่เราน่ะมีปัญหากับมัน ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง 

"มันไม่ได้อ่ะ มันไม่ใช่ อย่างนี้  ถ้ามันยังอยู่แล้วเราไปไม่ได้ อย่างเนี้ย  มาอีกแระๆ อาการเนี้ย รับไม่ได้" ...คือเราไปมีปัญหากับมันเองนะนั่นน่ะ 

เขาจะมาเขาก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเขาจะมา เขาจะไปเขาก็ไม่ต้องมาขออนุญาตเราว่า ข้าพเจ้าขอไปนะ หรือว่าต้องได้รับความยินยอมก่อนถึงจะไปได้ 

มันไม่ขึ้นอะไรกับเราเลย แล้วจะไปขึ้นอะไรกับมันล่ะ ...เรากลายเป็นตกอยู่ใต้อิทธิพลของมันซะด้วยซ้ำน่ะ นักปฏิบัติ แม้เราจะตั้งใจเลิกละหรือทำความเข้าใจแจ้งกับมัน 

กลายเป็นว่ามันแจ้งกว่าเรา เพราะมันมีอิทธิพลเหนือเรา นี่ ...เพราะนั้นก็พลิกกลับมา รู้ง่ายๆ รู้เบาๆ ไป ...ถ้ายังไปจมอยู่กับมัน ย้ายสติซะ ไม่ไปใส่ใจมัน แต่ให้รู้อยู่ที่ใดที่หนึ่งที่กาย เท่านั้น


โยม –  ถ้าผมรู้กาย มันก็ถอยออกมาได้  แต่ถ้าไปรู้จิต มันจะอ้อยอิ่งมาก จมแช่ ...เพราะมันขาดความตั้งมั่นของสมาธิใช่ไหม

พระอาจารย์ –  สัมปชัญญะมันไม่มี


โยม –  ถ้ากลับมาดูกาย มันจะช่วยได้

พระอาจารย์ –  มันจะชำนาญ มันจะจดจำสภาวะตรงที่รู้ปกติ ให้จดจำตอนรู้ปกติ ...รู้ปกติกายยังไง ให้รู้ปกติกับจิตอย่างนั้น  ให้เห็น...แล้วมันจะเห็น

แต่ตอนมันชำนาญกายแล้ว ไม่ต้องไปเห็นจิตหรอก มันจะเห็นพร้อมกันเลย ...เพราะนั้นตัวสติกับสัมปชัญญะจริงๆ ที่เป็นกลางจริงๆ ...มันจะเห็นนั่นแหละ

มันไม่อยู่ที่จิต มันไม่อยู่ที่กาย แต่มันอยู่ท่ามกลาง ...จะเห็นระหว่างกายกับจิตพร้อมกัน

แต่เบื้องต้นเรายังเห็นไม่ชำนาญ มันจะดูเหมือนว่าเราจงใจเห็นกายอยู่  แต่จริงๆ น่ะมันเห็นกายกับจิตพร้อมกัน ...พอมันชำนาญหรือว่าแข็งแกร่งดีแล้ว ปุ๊บ มันจะอยู่ตรงท่ามกลาง มัชฌิมา

สติที่เป็นกลางมันจะเห็นทั้งสองสิ่ง ทั้งนอกทั้งใน ทั้งกายทั้งจิต ทั้งโดยรวม ...มันจะเห็นทั่วหมด ทั้งอายตนะทั้งผัสสะ พร้อมกัน ไอ้นั่นเขาเรียกว่ารู้รอบเห็นรอบ

แต่เวลาพูด ถ้ายังรวมกันไม่ได้นี่  มันก็เหมือนว่า เดี๋ยวก็ดูกาย เดี๋ยวก็ดูจิต  เดี๋ยวก็ดูจิต เดี๋ยวก็ดูกาย  มันดูเหมือนแยกกัน เป็นภาษา ...แต่พอทำไปแล้วมันเข้าใจเอง

มันเป็น...ขณะที่รู้เห็นกาย เห็นจิต มันเห็นอยู่แล้ว มันเห็นพร้อมกัน ...จิตน่ะมันไม่มีหรอก ถ้าไม่มีกาย ...เพราะนั้นดูกายมันก็เห็นจิต มันอยู่ในอันเดียวกัน 

ไม่มีกายก็ไม่มีจิต ไม่มีจิตก็ไม่มีกาย มันคืออุปาทานที่เกิดขึ้นรวมกัน...ขันธ์  ขันธ์แปลว่ากอง ขันธ์ห้าแปลว่ามีอยู่ห้ากอง ...ร่างกายนี่ มีห้ากอง ที่เราเรียกขันธ์ห้า 

คือไอ้ห้ากองมันมารวมกัน จึงเรียกว่าขันธ์ห้า จะแยกออกจากกันไม่ได้ ...พอจิตเขารับรู้เรียกว่าขันธ์เกิดขึ้นแล้วครั้งนึง มันก็ไม่ว่าขันธ์ใดขันธ์หนึ่งนะ คือเป็นอุปาทานขันธ์ห้าเลย

เราคิดเรื่องหนึ่ง หรือว่าแค่ความคิดว่าเราจำอะไร หรือเห็นอะไรนี่ หรือได้ยินอะไรนี่ ...อันนั้นคืออาการของขันธ์ห้า ต้องมีการรวมกันของขันธ์ห้าแล้ว 

ไม่งั้นจะไม่มีความรู้สึกหรือความหมายขึ้นมาได้ หรือเวทนาหรือความรู้สึกใดๆ ...แค่เรารู้สึกอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแค่นี้ นั่นคืออุปาทานขันธ์ห้าเกิดเลย 

มันรวมกันทั้งรูปทั้งนาม ทั้งกายเวทนาจิตธรรม ทั้งรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ...พร้อมกัน เกิดพร้อมกัน  เวลาดับมันก็ดับพร้อมกัน ความเป็นตัวตนของขันธ์

มันจะไม่แยกแล้วอันนี้ดับ รูปดับนามไม่ดับ เวทนาดับรูปไม่ดับ อย่างนี้ดับพั่บ เพราะนั้นเวลาเกิดกับดับขณะเดียวกันเลย จะไม่มีดับอันนั้นก่อน ดับอันนี้ก่อน มันเป็นเรื่องที่ว่าอุปาทานขันธ์ หรือว่าสังขารขันธ์


โยม –  การกำหนดรู้กายนี่ รู้ยังไงครับ

พระอาจารย์ –  เห็นรึเปล่า แท่งๆ นี่  ...ไม่ต้องให้ชื่อมัน


โยม –  ก็ดูเป็นก้อนๆ ไปเท่านั้นเอง

พระอาจารย์ –  เออ แท่งๆ อย่างเนี้ย อ่อนๆ หยุ่นๆ


โยม –  แตะๆ กำหนดกายแล้วก็รู้จิตไปด้วย

พระอาจารย์ –  อือ เบาๆ อย่าให้ลืมกาย ...ถ้าอยากเห็นจิตเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ให้ส่องลงไป สังเกตดู สบายหรือไม่มีอะไร  ดูข้างในนะว่าไม่มีอะไร นั่นคืออาการของจิตที่ไม่มีอะไร


โยม –  ผมไปดูว่าไม่มีอะไร

พระอาจารย์ –  ใช่ ไม่มีอะไรคือไม่มีอารมณ์ความรู้สึก ว่างๆ นั่นแหละ  นั่นน่ะคือสภาวะนึงของนาม ที่เสวยอารมณ์ที่ไม่มี... เพราะนั้นแค่รู้เฉยๆ เท่านั้นน่ะ ไม่ต้องไปแยกแยะอะไร ให้รู้ว่าไม่มีอะไรเท่านี้


โยม –  แล้วมันจะอะไรปรากฏก็รู้

พระอาจารย์ –  ก็รู้ ...ก็รู้ไปแค่นี้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น


โยม –  ก็ปล่อยไป

พระอาจารย์ –  ก็ปล่อย...แล้วกลับมาเห็นกาย เป็นหลัก ให้มีฐานอยู่ที่กายก่อน นะ จนชำนาญ.. ถ้าชำนาญแล้ว ถ้ามันชำนาญแล้วนี่ต่อไป เราสามารถจะกำหนด

คือเวลามันวางกายได้แล้ว หรือว่าไม่เข้าไปหมายมั่นในรูปมาก หรือว่าไม่ค่อยมีปัญหากับรูป ...คือมันจะเพียรเพ่งอยู่ภายในล้วนๆ คือมันสามารถจะตั้งอยู่ที่ใจล้วนๆ เลย

มันจะวาง กำหนดอยู่ที่ภายในล้วนๆ สติจะแนบอยู่ที่ใจ ...คราวนี้มันจะไม่มาดูเหมือนตั้งอยู่ที่กาย มันจะแนบอยู่ภายในล้วนๆ แล้วจะอยู่ในที่อันเดียว

แล้วในที่อันเดียวนี่ มันไม่ได้หมายความว่า ตรงนี้หรือตรงนั้น หรือตรงไหน มันจะเป็นที่อันเดียว ...คำว่าที่อันเดียวนี่ คือไม่รู้ตรงไหน ตรงนั้นน่ะ มันคือตรงนั้นน่ะ ไม่รู้ว่าตรงไหนหรอก คือว่าที่ใจ


โยม –  เวลาเห็นกายแล้วรู้สึกว่าจิตมันเห็นการตั้งเป็นแท่งๆ แล้วมันเห็นของอื่นด้วยว่ามันเป็นเราอยู่

พระอาจารย์ –  ดูความรู้ของจิต แล้วแต่..แล้วแต่จิตมันจะมีอาการรู้อะไรของมัน ...ไม่ได้ดักรู้ ใช่ป่าว


โยม –  ครับ รู้ของตัวเองก่อนแล้วมันก็ออกไปดูตรงนั้น

พระอาจารย์ –  มันมีความเห็นยังไงก็ดูมันไป ว่ามันมีอย่างนั้นเกิดขึ้น เข้าใจยังไง ไม่ต้องไปขึ้นลงหรือว่าดีใจเสียใจกับมัน ...ให้รู้ว่าจิตมันมีความรู้อะไร แสดงความรู้อะไรออกมาแค่นั้นเอง

ถ้าตั้งใจ ถ้าอยากน่ะ มันจะลืมแล้ว หลุดแล้ว ...แต่ถ้ารู้แล้วมันเห็นของมันเอง มันจะเห็นพร้อมกัน เพราะว่ามันมีจุดนึงที่มันจะเป็นตัวยึดโยงอยู่โดยมีการปรารภที่กายก่อน

ตัวที่ปรารภ ปรารภอยู่แล้วว่าทำอะไรอยู่ มันมีคำปรารภอยู่ ...อันนั้นน่ะเป็นฐาน

แต่ถ้าขาดการปรารภ หรือการตั้งใจแล้ว จะไปรู้อะไรก็ไม่มีความหมาย และอารมณ์ก็จะไปผูกอยู่ ...มันขาดการปรารภหรือว่าขาดความตั้งใจ

เพราะนั้นจะทำอะไรทำได้หมด แต่ว่าต้องมีการปรารภกายกับใจ ...มันไม่ออกนอกกรอบ

(ถามโยม) ไงโยมผู้หญิงน่ะสงสัยมั้ย ไม่เข้าใจตรงไหน


โยม –  ครูบาอาจารย์พูดนี่ไม่สงสัยอยู่แล้ว แต่ว่าปฏิบัติไม่กี่ครั้ง

พระอาจารย์   เวลาฟังเรานี่ ระหว่างที่ฟังนี่ มันก็มีการพิจารณาตาม ดูตามเห็นตามไป อันนี้เรียกว่าเห็นด้วยจินตามยปัญญา

แต่ว่ามันจะให้ผลที่แท้จริงนี่คือว่า มันต้องอาศัยการต้องกลับไปรู้เห็นเรื่อยๆ บ่อยๆ มันจึงจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่สงสัย ...ไอ้ตอนนี้มันแค่เข้าใจในความหมาย หรือว่าโดยหลัก หรือว่าโดยภาษา

แต่ว่าต้องไปย้ำด้วยการสร้างสติสัมปชัญญะให้กลับมารู้เห็นบ่อยๆ กับอาการที่ปรากฏ  แล้วให้ทันในอาการที่ปรากฏ บ่อยๆ เนืองๆ ปั๊บ

มันจะอ๋อ มันจะเริ่มแจ้ง มันจะเริ่มเข้าใจ มันจะเริ่มเบาสบาย ...ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น อยู่กับผู้คนได้ง่ายขึ้น อยู่กับปัญหาได้ จะเห็นปัญหาน้อยลง

ทั้งที่ว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ หรือว่าปัญหาที่สุมหัวหนักอก หรือว่าแก้ไม่ตก ...มันก็จะเหมือนไม่มีปัญหาอะไรเลย

อันนั้นให้รู้ไว้เลย ผลของการปฏิบัติจะต้องเป็นอย่างนั้น ...มันจะเปลี่ยนไปในทางว่า ผ่อนคลายลง ไม่เครียด ไม่ซีเรียส ไม่จริงจัง

ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับบางเรื่องที่แต่ก่อนเราเคยรับไม่ได้ เป็นเรื่องรับไม่ได้ ต้องอย่างนั้นเท่านั้น แล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นปุ๊บนี่ ขัดอกขัดใจ ...นี่ อาการนี้มันจะน้อยลง

ถ้ามากขึ้นให้กลับมาหาเรา นะ (หัวเราะ) ...พิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง การปฏิบัติธรรมนี่


................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น