วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/24 (1)


พระอาจารย์
1/24 (25530418B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  อย่างจิตนี่ เมื่อรู้แล้ว แล้วจะปล่อยวางเขาเองใช่มั้ยครับ ไม่ต้องบังคับมัน

พระอาจารย์ – ไม่ต้อง ...เหมือนเวลาโยมเลี้ยงเด็กแล้วมันมีหม้อน้ำร้อนวางอยู่ใกล้ๆ โยมสอนมัน ...เด็กหนึ่งขวบน่ะ มันรู้เรื่องมั้ย  มันไม่เชื่อ ไม่ฟัง มันก็จะไปจับของมันอยู่เรื่อย

ถ้าไปบอกมันแล้วมันไม่ฟัง แล้วเราคอยดึงมันออกๆ เนี่ย มันก็จะเข้ามาอยู่ดีน่ะ ...แต่ถ้าเราปล่อย ช่างหัวมันสิ จับก็ร้อนเอง เห็นมั้ย  มันก็ร้อน มันก็ไม่จับของมันเองแหละ

อยากจับอีก ร้อนอีกก็เรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู เห็นมั้ย มันเข็ดเอง ...ต่อไปมันไม่รู้หรอกนะว่า ร้อน-ไม่ร้อน แต่มันรู้ว่ามันเจ็บน่ะ ...มันไม่รู้ว่าถูก มันไม่รู้ว่าผิด...แต่มันรู้ว่าเจ็บน่ะ เข้าใจมั้ย

นั่นแหละ จิต...เหมือนกัน จิตมันโง่อย่างนั้นแหละ จิตมันเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้อะไร คืออวิชชา  จิตคือความไม่รู้อะไร แต่เราคิดว่ามันรู้ ...แต่มันไม่รู้อะไรหรอก

เพราะนั้นมันจะรู้ได้ด้วยปัญญาหรือญาณ หรือการเห็นตามความเป็นจริง ...มันไม่รู้ทุกข์จนกว่ามันจะเห็นทุกข์น่ะ แล้วมันจะจำ ...ต่อไปแค่น้ำร้อนวางใกล้ๆ นี่ มันกระเด็นเลยน่ะ ...กูไม่ใกล้แล้วๆ

แต่แรกๆ นี่ เข้าไปจังๆ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ อยากมีอยากเป็น ...มันรู้ด้วยความโง่ เข้าใจมั้ย เด็กโง่อย่างงั้น  เราบอกมันสอนมัน เด็กหนึ่งขวบนี่ มันไม่ฟังหรอก ฟังภาษามนุษย์ยังแยกไม่ออกเลย

เห็นมั้ย เหมือนกัน เราจะสอนจิตบอกจิตเท่าไหร่ เขาไม่เชื่อหรอก เขาไม่ฟังหรอก ...เราก็ต้องอ้างบุญอ้างบาป อ้างนั่นอ้างนี่ อ้างคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นตัวที่ให้มันกลัว แล้วมันไม่ทำ แค่นั้นเอง

เข้าใจมั้ย ก็เกิดลักษณะที่เรียกว่า หิริโอตตัปปะ คือความเกรงกลัวหรือละอายบาป ตัวนั้นน่ะเป็นตัวควบคุมให้เกิดการไม่ก้าวล่วง ละเมิดศีล ของกายวาจา แค่นั้นเอง

นี่เป็นตัวที่เขาเรียกว่า...วิขัมภนะ การละเลิกถอนกิเลสโดยการสอนมัน บอกมัน ห้ามมัน ตาห้ามดู หูห้ามสัมผัสเสียง อย่างนี้เรียกว่าวิขัมภนะ ควบคุมอินทรีย์ เพราะนั้นลักษณะนี้กิเลสมันจะไม่ค่อยกำเริบ แค่นั้นเองนะ

ขั้นที่สอง ท่านเรียกว่า ตทังควิมุติ  อันนี้คือการทำให้มันระงับ ด้วยการเพ่ง เพ่งเข้าไปๆๆ ให้จิตมันรวม แล้วก็ตัด พอจิตมันรวมสงบโดยฐานที่ตั้งมั่นปุ๊บนี่ มันตัดอายตนะหมด มันไม่รับรู้เลย

แล้วก็ถอยออกมาพิจารณา...พิจารณาในแง่ที่ตรงข้ามกัน ...ถ้าโยมพิจารณาแต่เรื่องของซากศพ โยมจะไม่เกิดราคะ  อันนี้มันเป็นธรรมที่ตรงข้ามกัน  เข้าใจมั้ย

คือเปลี่ยนสัญญาอย่างหนึ่งให้มาเป็นสัญญาอีกอย่างหนึ่ง จำได้ว่าสวย ก็สร้างความจำขึ้นมาใหม่ให้มันจำว่าอย่างนี้เรียกว่าไม่สวย อย่างเนี้ย

เพราะนั้นเมื่อมีแต่ความไม่สวยปุ๊บนี่ มันก็ไม่มีกามราคะเกิดขึ้น ก็เรียกว่าไปเปลี่ยนสัญญาซะ เพราะนั้นราคะจึงไม่เกิด นี่ ท่านเรียกว่าตทังควิมุติ

แต่เหมือนหินทับหญ้า มันยังไม่หาย ยังไม่เข้าไปตัดต้นตอรากเหง้าของกิเลสเลย แค่กด ครอบไว้ บังคับไว้ ไม่ให้มันเผยอ ไม่ให้มันออกมาสร้างความรำคาญเดือดร้อนกับผู้อื่น นี่ขั้นต้นสองอย่าง

ขั้นสุดท้ายท่านเรียกว่า สมุจเฉทวิมุติ ...อันนี้เข้าไปประหารภายในเลย คือลักษณะที่เราบอกให้เห็นตามความเป็นจริงนี่ ดูเหมือนไม่ได้พิจารณาอะไรเลย ดูเหมือนไม่ได้ทำสมาธิภาวนาอะไรเลย

แต่ให้จิตมันเข้าไปรับรู้ และเอาสติเป็นผู้ระลึก เห็นซ้ำมัน ให้จิตมันเข้าไปเห็น และเราเห็น ...เอาสติเป็นตัวทำให้จิตเห็น เข้าใจมั้ย อาจจะดูเหมือนไม่ได้อะไร อาจจะซ้ำซาก

เพราะว่าบอกแล้วว่า จิตเหมือนเด็กดื้อ จิตน่ะ เหมือนเด็กดื้อนะ มันไม่ได้ดื้อแค่ชาตินี้นะ เอาว่าอเนกชาติสังสารา คำพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ชีวิตมันคืออเนกชาติ

สังขาราที่หมุนเวียนอยู่นี่เป็นอเนกชาติ ...ถ้าขึ้นชื่อว่าอเนกชาตินี่ ไม่ต้องใส่นัมเบอร์ เข้าใจมั้ย ไม่ต้องมี หลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย หลักแสน หลักล้าน หลักโกฎิ ...มันเกินจะประมาณ

เนี่ย มันจะไม่ดื้อยังไง มันดื้อเป็นสันดานเลย เข้าใจมั้ย  สันดานของจิตที่มันทำไปเรื่อยเปื่อยน่ะ อย่างนั้นเลยแต่มันไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริงของใจ อันนี้พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านยืนยัน

ว่าธรรมชาติของใจอีกอย่างหนึ่งนะ ธรรมชาติของใจจริงๆ นี่...มันแค่รู้เฉยๆ นะ มันไม่ทำอะไรหรอก ...ไอ้ที่ทำนี่คือสิ่งที่แปลกปลอมเจือปนมันแสดงอาการออกมา แต่ไม่ใช่ใจจริงๆ แสดงนะ

เนี่ย ท่านให้แยกออกมา โดยการเอาสติสัมปชัญญะ ให้สังเกตดูสิ คอยสังเกตดู คอยสังเกตดูดีๆ แล้วจะเห็นว่ามันแยกกันยังไง ไอ้อาการออกมานี่ไม่ใช่ใจ

ใจมันแค่รู้ ใจมีธรรมชาติของใจ หรือว่าจิตเดิมจิตแท้ จิตเดิมจิตดั้งเดิมของทุกรูปนาม ท่านเรียกว่าจิตประภัสสร มันประภัสสรอยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

มีอยู่ทุกคน ทุกคนนี่ประภัสสรหมด เราก็มี พระอริยะก็มี พระพุทธเจ้าก็มี ...เหมือนกันหมดทุกคนเลย จิตดวงเดียวกันเลย ลักษณะเดียวกันเลย

แต่ตอนนี้เราไม่เห็นความประภัสสรของมัน ...เพราะไอ้พวกนี้ ไอ้สิ่งแปลกปลอม มันเจือปนแขวนลอยอยู่ ...ไอ้ตัวที่แปลกปลอมเจือปนแขวนลอยอยู่นี่ ท่านเรียกว่าอาสวะ

พระพุทธเจ้าท่านก็บัญญัตินามให้ว่า อาสวะ ...อาสวะคือความหมักหมม หมักดองด้วยความไม่รู้ มันเข้ามาเจือปนอยู่อย่างนั้น เหล่านี้แหละ

ทำให้เกิดความเห็นต่างๆ นานา  ความเชื่อต่างๆ นานา  การทะยานอยากต่างๆ นาน  การกระหายในภพต่างๆ นานา  เนี่ย มันออกมาจากอาสวะที่มันเจือปนอยู่ในใจ

เพราะนั้นท่านบอกให้สังเกต สังเกตแล้วมันจะค่อยๆ แยกออกมา...แยก ...มันจะแยกออกยังไง  พระพุทธเจ้าบอกวิธีการแยกออกคือ เดินทางอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทานะ

แล้วให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตกอยู่ใต้เงื่อนไขของไตรลักษณ์ ..เมื่อมันแยกออกมาพั้บ ไอ้สิ่งที่มันกระทำ การกระทำของมัน อาการของมัน มันไม่คงที่ มันแปรปรวน มันดับไป อย่างนี้

แยกออกมาปุ๊บแล้วเห็นว่า...อ้อ นี่ไม่ใช่ ...ดับไป มันดับไป มันไม่มีตัว มันไม่มีตน ...นี่มันจะสลายความเห็นว่า มันมี มันเป็น มันยังคงมี ...ตรงนี้มันจะล้างออก ล้างความเห็นผิดว่ายังมี ยังเป็น อยู่ในใจ

แต่เห็นตอนที่มันแยกออกมา แล้วเห็นว่าอารมณ์เกิดขึ้นแล้วดับ โกรธเกิดขึ้นตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วดับไป ราคะตั้งอยู่ชั่วคราวแล้วดับไป...นี่คืออาการ ...ก็เริ่มเห็นความไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีสาระของมัน

เพราะนั้นการที่เราไปให้ค่าว่ามันยังมียังเป็นอยู่ในใจเรา มันจะเริ่มให้ค่าน้อยลง  จิตมันเริ่มฉลาดขึ้นแล้ว มันจะเริ่มแยกออกว่า ไอ้พวกนี้ไม่ใช่ ...แล้วมันจะค่อยๆ ออกมาๆๆ

เพราะนั้นท่านให้ออกมา แล้วสิ่งที่ปรากฏมาทั้งหมด ท่านให้เห็นลงสู่ไตรลักษณ์ทั้งหมด แค่นั้นเอง ...มันจะแยกออก ค่อยๆ แยกออกมาเอง

เพราะยังมีสิ่งที่ไม่เป็นไตรลักษณ์อยู่อย่างหนึ่ง ...ในเบื้องต้นนะคือใจ เพราะใจนี่ไม่เกิดไม่ดับ ใจไม่เกิดไม่ดับ รู้เท่าไหนก็รู้เท่านั้นแหละ ใช่ป่าว

มันมีอยู่ตลอดเวลานะ รู้นี่ ไม่งั้นตายแล้ว ...มันทำเหมือนเราไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่ แต่มันรู้อยู่นะ มันมีตัวรู้อยู่ตลอดเลยนะ ...ตัวนี้ที่ว่าเป็นตัวที่ไม่เกิดไม่ดับ

แต่สุดท้ายไอ้ตัวไม่เกิดไม่ดับตัวนี้ ท่านจะต้อง...โดยปัญญาขั้นสูงสุด หรือปัญญาของพระอริยะจึงเข้าไปเห็นความดับไป หรือว่านิโรธ ...อันนั้นธรรมขั้นสูงของโลกุตระ

นั่นเป็นโลกุตรธรรม ที่ไปเห็นสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับนี่...สุดท้ายมันคือไม่มีตัวไม่มีตน คือไปเห็นตรงนั้น...ที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

แล้วเมื่อเห็นตรงนั้น สี่ครั้ง ...อ่ะ เอาสั้นๆ ว่าสี่ครั้ง เห็นอย่างนั้นสี่ครั้ง ครั้งสุดท้ายน่ะ ท่านเรียกว่าอาสวะขยญาณ ความเป็นนิโรธ ความเป็นสัญญาเวทยิตนิโรธก็บังเกิดขึ้น

แล้วก็เป็นผละสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติ ...พอออกจากผละสมาบัตินี่ก็ผละออกจากภพแล้ว จิตมันไม่มีที่ตั้งแห่งภพแล้ว สำเร็จ...จบ ภพไม่มีที่ตั้ง

อย่างว่าบ้านนี่ สมมุติว่าบ้านนี้คือภพ เราอาศัยอยู่กับบ้านใช่ไหม คุ้มกะลาหัวอยู่ เนี่ย บ้านนี้คือภพให้เราอยู่ ...แล้วเราก็ชอบสร้างบ้าน หลังนี้ไม่สวย มันไม่พอใจ มันเล็ก ...สร้างใหม่ หาใหม่

ไปเห็นคนอื่นเขามีอย่างนั้นสองชั้น ของเราชั้นเดียว โหย ดิ้นรนขวนขวายสร้างตาม มันดูดีกว่า ...พอไปอยู่ดี มีความสุข พอใจ แล้วเห็นบ้านหลังใหม่อีกข้างดันมาสร้างสี่ชั้น ...กระสันสร้างใหม่อีก

เนี่ย จิต...มันทะยานอยากอยู่ตลอด มันแสวงหาภพ คือที่อยู่ ...ที่อยู่ของอารมณ์ ที่มันเข้าไปเสวยอารมณ์นั่นแหละ นั่นแหละคือภพ เห็นมั้ย

แล้วถามว่าบ้านอย่างในโลกเรานี่ มันตั้งอยู่บนอะไร บ้านนี่ (โยมตอบ – บนดิน) ...อือ

เพราะนั้นตอนนี้เรากำลังทำลายบ้านอยู่ ...ไม่ไปสร้างบ้านใหม่ คือไม่ให้มันไปแสวงหาใช่มั้ย ยินดีพอใจเท่าที่มันมีน่ะ แล้วก็รอจนกว่ามันจะพังน่ะ เข้าใจมั้ย

นี่ล่ะคือการรู้...ยอมรับตามความเป็นจริง ไม่ออกไปแสวงหา ...จนเราคุ้นเคยกับการที่อยู่แบบไม่มีบ้านน่ะ

เพราะมีบ้านโยมก็ต้องมีทุกข์ มีบ้านโยมก็ต้องคอยดูแล แล้วเวลาโยมอยู่ในบ้าน เกิดบ้านมันพังโยมอยู่ในบ้านโยมก็เจ็บ ใช่มั้ย ...โยมจะต้องมาเรียนรู้ตรงนี้ ว่าการที่มีภพน่ะมันเป็นทุกข์ยังไง

ก็เห็นการที่อยู่ในบ้านเป็นทุกข์ยังไง แล้วไอ้ที่จะไปหาบ้านสอง-สามหลังนี่ ยิ่งทุกข์เท่าไหร่ แล้วอยู่ในบ้านก็ไม่รู้มันจะพังเมื่อไหร่แล้วทับหัวกูรึเปล่า

นั่น แล้วมันจะเริ่มทำลายบ้าน ยอมให้พังซะ ...แล้วก็ไม่สร้างบ้านใหม่ คอยระวังที่จะออกไปสร้างบ้านใหม่ขึ้นมาอีก

แต่มันยังมีโอกาสสร้างใช่มั้ย สร้างได้ใช่มั้ย ...เพราะตัวของเรายังยืนอยู่บนดิน เข้าใจมั้ย ตราบใดที่ยังมีดินน่ะ ยังมีโอกาสสร้างได้ทั้งนั้นแหละ นะ

แต่เมื่อใดที่โยมไม่มีที่ดิน โยมก็เป็นคนไร้บ้านแล้ว สร้างก็ไม่ได้ ไม่มีที่ให้สร้าง เข้าใจรึยัง ...นั่นแหละคือความหมายว่า ภพไม่มีที่ตั้ง นั่นคือความหมายของที่ว่าพระอรหันต์ไม่มีภพ ไม่มีที่ตั้งของจิต

ไอ้ตัวจิตหรือตัวใจนั่นแหละคือที่ตั้งของภพ  อาสวักขยญาณคือตัวสุดท้ายที่เข้าไปทำลายที่ตั้งแห่งภพ ...ตรงนั้นถึงเรียกว่าเป็นสมุจเฉทปรินิพพาน หรือนิพพานโดยสมุจเฉท เข้าใจมั้ย โดยสมุจเฉท

ถ้าต่ำกว่านั้นมา ยังมีที่ตั้งนะ ...พระอนาคาไม่มีบ้าน แต่ยังมีที่ตั้ง ถึงเรียกว่ามีภพเดียว ยังมีแค่ภพเดียว แต่ไม่มีบ้านนะ ...อนาคาริกหรืออนาคามี แปลว่าผู้ไม่มีบ้าน แต่ยังมีที่ตั้งแห่งภพ

ต่ำกว่านั้นมา...สามบ้าน ต่ำกว่านั้นมาอีก...เจ็ดบ้าน ต่ำกว่านั้นมาอีก...นับไม่ถ้วน ...เข้าใจว่านับไม่ถ้วนมั้ย จิตที่ไปๆ มาๆ โดยไม่มีหัวไม่มีท้ายนี่ นับไม่ถ้วนแล้วนะ

บ้านเดียว บ้านชายโสดบ้านหญิงโสดคนเดียวไม่ชอบ นั่งอยู่ตรงนี้ กายเดียวจิตเดียวไม่ชอบ ...ทำไมมันไม่ชอบ เข้าใจมั้ย จะไปโทษใครล่ะ โทษความโง่ของจิตสิ ใช่มั้ย

เดี๋ยวนี้ ขณะนี้คือปัจจุบัน นี่ถือว่าบ้านหลังเดียวแล้ว แต่ไม่ค่อยชอบน่ะ ...มันไม่มีอะไรเลย มันไม่สนุกอ่ะ มันหง่อม มันเซ็งน่ะ เห็นมั้ย มันชอบอะไรที่เพลิดเพลิน ไม่ได้ทำ ขอคิดเอาก็ยังดี ใช่มั้ย

ปรุงไปเรื่อย นั่งปรุงแล้วก็อมยิ้ม คิดถึงคนนั้นก็ยิ้ม คิดถึงคนนี้ก็ยิ้ม ...เห็นมั้ย มันพยายามหาภพ แสวงหาภพอยู่ตลอด  แล้วถ้าได้ช่องเมื่อไหร่ ทำเลย กายกรรม วจีกรรม เกิดตามมา

ทำได้ก็ได้ ถ้าทำแล้วไม่ได้ ก็ค้างไว้ เก็บไว้ก่อน เข้าซอง ...เข้าซองไว้ในใจ เข้าซองสัญญาก่อน เก็บไว้ จำไว้ เดี๋ยวถึงเวลา เดี๋ยวกูขุดขึ้นมา

เนี่ย ถามว่ากี่ภพล่ะ แค่นั่งขณะเดียวนี่ สร้างไม่รู้กี่หลังแล้ว อย่างนี้ เข้าใจมั้ย มันไม่อยู่แค่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ...สติสัมปชัญญะถึงให้กลับมารู้อยู่เฉพาะปัจจุบัน เท่าที่มี เท่าที่เป็น


(ต่อแทร็ก 1/24  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น