วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/24 (2)


พระอาจารย์
1/24 (25530418B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
18 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/24  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ต้องอดทนยอมรับมันตรงนี้ก่อน ให้พอใจเท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น ไม่ว่าอะไรน่ะ ...จะเป็นกระต๊อบ จะเป็นตึก หรือจะเป็นกระท่อมโกโรโกโส เข้าใจมั้ย ...ดีที่สุดแล้วตรงนี้

ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ของเรานี่ ภาวะตรงนี้ พอดีที่สุดแล้ว เข้าใจมั้ย ...อย่าออกไป อย่าออกนอกนี้ อย่าหาใหม่ อย่าทำขึ้นมาใหม่ ...อยู่ตรงนี้...เพื่อให้เห็นความไม่คงอยู่ของมัน

เดี๋ยวมันก็จะมีบ้านหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนอีกแล้ว เพราะตราบใดที่เรายังไม่หมดซึ่งอาสวะ มันก็หาเรื่องสร้างอยู่ตลอด มันมีอยู่ตลอด เป็นธรรมดา...ถือว่าเป็นธรรมดานะ ไม่ผิดนะ

แต่ต้องยอมรับความธรรมดานั้นให้ได้ ...อย่าหนี อย่าผลัก อย่าปฏิเสธ แค่นั้นเอง ...คือยอมรับตามความเป็นจริงในปัจจุบัน แม้มันจะไม่มีอะไร

เช่นว่ากลับมารู้เห็นปัจจุบันของสิ่งเหล่านี้ มันธรรมดา ไม่ได้เลิศเลอวิเศษอย่างที่เราเคยผ่านมา หรือว่าเคยมีอย่างนั้นนิดนึง หรือว่าเหมือนกับตามที่เราคิดเอา

หรือเหมือนกับตามที่อาจารย์สอนมา ได้ยินได้ฟังตามตำรามา ว่าจิตน่าจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ ...แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีอะไรเลย ธรรมดามากๆ ดูเหมือนไร้สาระสิ้นดี

จงยินดี แล้วก็รู้มันเฉยๆ ...แล้วก็จะเห็นว่า เดี๋ยวบ้านหลังนี้มันจะพัง แล้วมันจะมีสร้างบ้านอีก 

แล้วจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยู่กับมันเดี๋ยวนี้ มันก็ไร้สาระ มันก็ไม่มีอะไรวิเศษขึ้นมา หามาได้มา มันก็เหมือนอย่างนี้ แค่นี้เอง ...นี่ มันเริ่มแล้ว เริ่มไม่อยากจะสร้างบ้านใหม่อีกแล้ว 

เริ่มจะไม่ขวนขวาย ดิ้นรน ทะยานไป แสวงหา ไปเพิ่มหลังเล็กหลังน้อย หรือว่าเพิ่มในความฝัน อะไรก็ตาม ...แม้แต่บ้านที่มันจะสร้างแบบวิจิตรเลิศหรูที่สุดของมัน คือบ้านของนิพพานก็ไม่เอา

เพราะนิพพานในความคิดก็คือความฝัน เป็นบ้านที่เราสร้างไว้ เป็นภพที่เราสร้างไว้ โดยจินตนาการ หรือว่าสังขารปรุงแต่งทั้งหมดเลย ไม่ใช่นิพพานตามความเป็นจริง

ถ้าอยากรู้ว่าคนไม่มีบ้านเป็นยังไง ให้สังเกตตอนที่เวลามันดับ เวลาที่รู้หรือมีอะไรเกิดขึ้น พอเห็นแล้วดับ นั่นแหละ เห็นความไม่มีตัวตนตรงนั้นแหละ ความที่ไม่มี เป็นผู้ไร้บ้าน ตรงนั้น

มันไม่มีอะไร สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไร ...ไอ้ที่ว่ามีๆ เป็นๆ  มันมี แล้วก็มันเป็น..บนความไม่มีอะไร  ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนความที่ไม่มีอะไร ...แล้วจะไปหาอะไรมา

จิตมันก็จะเริ่มคลายออกจากตัณหา คือความทะยานออกไป  คลายออกจากความหมายมั่น คือความเข้าไปยึด เข้าไปสร้างเป็นเป้าหมาย ...นั่นคืออุปาทาน มันจะทะลายหรือว่าคลายออก จางลง

มันก็กลับมารู้อยู่ตรงนี้ เท่าที่ตาเห็น เท่าที่หูได้ยินเสียง เท่าที่ลิ้นรับรสอยู่เดี๋ยวนี้ เท่าที่จมูกได้กลิ่นอยู่ตรงนี้ เท่าที่กายสัมผัสกับอากาศโดยรอบ เท่าที่ใจมันอยู่ตรงนี้ ฟังอยู่ตรงนี้ คิดอยู่ตรงนี้

เห็นมั้ย กรอบมันจะสั้นลง แคบลง ...กลับมาอยู่ตรงที่เดียว อยู่กายอันเดียว จิตอันเดียว อายตนะเดียว ทุกอย่างจะสั้นลงหมด ไม่มียืดเยื้อ ไม่มีเยิ่นเย้อ ไม่มียืดยาว ไม่มีข้างหน้าไม่มีข้างหลัง

มีแต่ตรงนี้ ที่นี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ...ไม่ออกนอกนี้ จำไว้ หลักของสติ ไม่ออกนอก "นี้"  รู้ตรงนี้...เห็นตรงนี้ๆ ที่ผ่านมา ไม่ต้องไปรู้มันอีกแล้ว ที่ยังไม่เห็นก็อย่าไปอยากเห็น

สภาวะที่ผ่านมา จำได้ แค่จำ จบแล้วไม่ต้องใส่ใจ ...สภาวะที่มีอยู่ข้างหน้า ไม่ต้องไปคำนึง ไม่ต้องไปคาด อย่าไปสร้างวิมานในอากาศ เดี๋ยวฉันจะเป็นอย่างงั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้

นั่งฝันหวาน จนจิตเกินธรรมดา คิด โห จิตเราเลิศ ต่อไปจะต้องอย่างนั้น จะต้องอย่างนี้ ...ให้ทัน ไม่เอา ยอมรับเดี๋ยวนี้ ...โง่เข้าไว้ ไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร อยู่ไปอย่างนี้ แค่นี้

แล้วโยมทั้งหลายก็จะเป็นผู้ที่มีบ้านหลังเดียว เป็นบ้านหลังเดียวโดยถาวร จนบ้านหลังเดียวเป็นนิจ แล้วบ้านหลังนั้นโยมก็จะเห็นความผุพังเสื่อมสลายไป แล้วโยมก็จะทิ้งบ้านโดยสิ้นเชิง

แล้วโยมก็จะเบื่อตัวเองที่อยู่บนดิน แล้วโยมก็จะเห็นว่ามันทำให้กูมีอยู่ แค่นั้นเอง ...มันก็จะเรียนรู้จากตรงนั้นๆ ตรงนี้ๆๆๆ เรื่อยๆ จนมันไม่มีคือไม่มี หาความมีไม่มี

ตรงนั้นน่ะจบ งานที่จะต้องทำ จบแล้ว สติที่จะต้องใช้ จบแล้ว  ปัญญาที่จะต้องมาเห็นอะไรก็ไม่รู้จะเห็นอะไรอีกแล้ว ...ตอนนั้นถึงเรียกว่าหมดการงาน ไม่มีงานให้ทำ

แต่เดี๋ยวนี้เรายังต้องมีงาน ในการกลับมารู้ ...เพราะถ้าไม่ทำถ้าไม่รู้อยู่ตรงนี้ เดี๋ยวมันไปรู้ตรงนู้น ไม่รู้กายใจของเรา มันชอบไปรู้กายคนนั้นจิตคนโน้น

กายตัวเองไม่ค่อยรู้ ...ไปรู้กับลูก ไปรู้กับผัว ไปรู้กับเมีย ไปรู้กับเพื่อน ไปรู้กับคนร่วมงาน ไปรู้กับเสื้อแดงเสื้อเหลือง ไปรู้กับทหาร ...มันไปรู้หลายเกิน

พระพุทธเจ้าบอกให้รู้แค่ขันธ์ห้า ...ไม่เอาขันธ์สิบ ขันธ์ห้าร้อย ขันธ์พันหนึ่ง อย่าไปยุ่งกับขันธ์ผู้อื่น ...ขันธ์เจ้าของนี่ยังไม่เห็นไม่ดู ยังไม่แจ้งเลย จะไปแจ้งคนอื่น

“ทำไมมันถึงทำอย่างนี้วะ”...นี่ เออ ไปยุ่งกับมันทำไม ใช่มั้ย ...คนเราต้องรู้ตัวเราให้รอบก่อน แล้วถ้ารู้ตัวเรารอบ ขันธ์เรารอบแล้วนี่ ขันธ์ผู้อื่นเรื่องเล็กน้อย มันจะเข้าใจไปเอง

แต่ถ้ายังไม่เข้าใจแล้ว มันจะมั่วไปหมด แล้วจะหงุดหงิดรำคาญ แล้วจะนั่งตีอกชกหัว นั่งขัดอกขัดใจ นั่งหัวเราะคนเดียว หรือนั่งตบมือกระทืบเท้าไป ทำอะไรไปเรื่อยเปื่อย เหมือนคนไร้สติ

กลับมาอยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ แล้วมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนมายา แค่นั้นเอง อย่าไปจริงจัง กลับมาเห็นตามความเป็นจริงของเรานั่นแหละ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น สั้นขึ้น เร็วขึ้นเอง

ไอ้ที่เราอยากได้เร็วนี่ แต่การกระทำมันพาให้ช้า มันส่งออกนอกไป ...กลับมาตรงนี้ ไม่รู้อะไรนี่แหละ กายนี่ รู้เฉยๆ กับกายนี่ เห็นมั้ย มันไม่มีปากมีเสียงอะไรหรอก

ชายก็ไม่ใช่ หญิงก็ไม่ใช่ สวยก็ไม่ว่า ไม่สวยก็ไม่ว่า ดีมันก็ไม่บอก ไม่ดีมันก็ไม่บอก เป็นคนมันยังไม่พูดเลยว่ามันเป็นคน เออ หรือเป็นสัตว์ มันก็ไม่ได้บอกว่าเป็นสัตว์ อย่างนี้

ถ้ารู้กายตามความเป็นจริง จะเห็นเลยว่ากายนี้ไม่ใช่อะไร ไม่ได้เป็นอะไร มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ แค่นั้นเองจริงๆ ...นี่ ถ้าดูจริงๆ นะ เราจะเห็นกายไม่ใช่กาย จะเห็นกายสักแต่ว่ากาย

ไม่ใช่ ต้องไปเห็นว่า อ๋อ ไอ้นี่ขนนะ อ๋อ ไอ้นี่ผมนะ ...แม้แต่นั่งมันยังไม่บอกว่านั่งเลย มันยังไม่รู้เลยว่ามันนั่ง  เห็นมั้ย ใครว่านั่งล่ะ...นั่นอีกตัวนึงแล้ว นั่นเป็นเรื่องของนามว่า กายไม่ว่า

นั่นเป็นเรื่องของบัญญัติขึ้นมา จดจำแล้ว ขันธ์ปรุงแต่งแล้ว อวิชชาปัจจยาสังขารา จำไว้...ประเด็นแรกเลย ก่อนมันจะเริ่มมีเรื่องราวอะไรได้ ที่ออกมาจากความไม่รู้ของจิตหรือว่าอวิชชา

ออกมาครั้งแรกคือสังขารา ความหมายของคำว่าสังขารา คือความปรุงแต่ง ...ถ้ามันมีการปรุงแต่งหรือจับมาผสมกันเมื่อไหร่ มันจะเป็นเรื่อง ถึงเป็นเรื่องขึ้นมาได้

เอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมาผสมกันให้เป็นเรื่อง นั่นท่านเรียกว่าสังขาราหรือว่าขันธ์ปรุงแต่ง จำไว้ ...เพราะนั้นที่ออกมาจากอวิชชา ท่านเรียกว่าสังขาราหมด

สังขาราออกมาจากอวิชชาซึ่งแปลว่าความไม่รู้ ...เพราะนั้นสิ่งที่ออกมาจากความไม่รู้...อย่าเชื่อ เข้าใจมั้ย อย่าไปจริงจัง  มันหลอก เข้าใจว่ามันหลอกมั้ย

มันเอาจับเล็กผสมน้อย จับเอาความจำในอดีต อารมณ์ในอดีต ความรู้สึกในอดีตมาผสมกับอารมณ์ที่มันคะเนไปข้างหน้า ผสมกับความรู้สึกที่เราจะเสวยไปข้างหน้า

จากรูปในอดีตมาผสมกับรูปข้างหน้าที่มันวาดไว้ แล้วมันก็ว่าสวย แล้วเอาภาษามาใส่เติมเข้ามา แล้วมันก็ว่าต้องเป็นอย่างนี้...ตัดสินขึ้นมา เชื่อเลยๆ เข้าใจมั้ย

มันเชื่อด้วยอะไร เชื่อด้วยพิษอาสวะ พิษอาสวะที่เกิดจากความไม่รู้ มันเกิดความเชื่อ เห็นมั้ย พอเชื่อปั๊บ มันจะมีการแสวงหา ...ตัดสินแล้วอ่ะ ว่าสวย จะต้องไปหา

ต้องไปคุย ต้องไปเสพ ทำความใกล้ชิดด้วยการกระทำ เกิดเป็นภวาสวะ ไขว่คว้าหาภพ ...เพื่ออะไร เพื่อให้เกิดกามสวะ ได้เสพทางผัสสะ เห็นมั้ย เนี่ย มันวนเวียนอย่างนี้

แต่ว่าจำไว้จุดนึงว่า จุดเริ่มต้นของมันคือ อวิชชา ปัจจยา สังขารา คือความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งในจิต ...ถ้าเราจับประเด็นนี้ ประเด็นแรกได้ พั้บนี่ มันจะจบในที่อันเดียวๆ

ไม่ใช่ไปจบที่รูป ไม่ใช่ไปจบที่อารมณ์ ไม่ใช่ไปจบที่ความรู้สึก ไม่ใช่ไปจบที่ว่าต้องไปพิจารณาให้เห็นความเกิด ความดับ ความไม่เที่ยง เข้าใจมั้ย

เข้าใจคำว่าแมวดักหนูไหม ทำยังไง ...ไม่ต้องไปอะไรมากมายหรอก เอาโง่ตรงนี้ แต่ให้รู้ความโง่ตรงนี้ ว่ากำลังจะทำอะไร มีอะไรเกิดขึ้น พั่บ...จบแล้ว 

มันจบทั้งกระบวนการ นะ จากที่อวิชชาปัจจยาสังขารา มันรู้อะไร มันทำอะไร มันสร้างอะไร ...ให้รู้ว่ามันทำอะไรตรงนั้นก่อน มันจะเห็นตั้งแต่ต้น 

อย่างอื่นมันจะปัจจยาออกมาเป็นนามรูป ปัจจยาสฬายตนะ ปัจจยาเป็นผัสสะ ปัจจยาเป็นชาติชราพยาธิ อุปาทาน ตัณหา เวทนา สัญญา ...ไม่ต้องไปบัญญัติอะไรกับมันมากมายหรอก เสียเวลา 

ไม่งั้นเราก็ต้องมาพิจารณาไล่เลียงกันว่า นั่นคือนี่ นี่คือนั่น โอ้ย ปวดหัว ...กลายเป็นไหลตามมันไปเลย

แล้วเมื่อเราเท่าทันอยู่ตรงนี้ ขณะแรกที่เกิดๆ กำลังจะปรุง กำลังจะมี กำลังจะเป็นอะไร ...รู้ปุ๊บ ไม่ว่ามันจะเป็นแล้ว มีแล้ว มากขึ้นน้อยลงอะไรก็ตาม ...ให้รู้ตรงนั้นละตรงนั้นเลย

ละตรงนั้นคือ...ไม่ต้องใส่ใจมัน แค่นั้นเอง เข้าใจรึยัง  ไม่ใช่ละคือดูไปจนกว่ามันจะละ...ไม่ใช่ ...รู้ว่า เออ มันเกิดขึ้น..เออ จบเลย นั่นล่ะใช่ ที่บอกว่าให้รู้เบาๆ รู้แตะๆ

ไม่ใช่รู้แบบเอาจริงเอาจังแบบว่าเพียรเพ่ง หรือว่าใส่ใจเอาจริงเอาจัง ...ใส่ใจคือว่าอย่าลืม แค่นั้นเอง  แต่ไม่ต้องไปจับรายละเอียดกับมันหรอก แค่นั้นเอง

เพราะนั้นรู้แล้วรีบวาง รู้แล้ววางๆ  ไม่ใช่รู้แล้วเอา นะ... เพราะนั้นรู้เฉยๆ นี่มันจะวางเลย ผ่านเลย อย่างเนี้ย นั่นล่ะ มันดูเหมือนโง่ไง ดูเหมือนไม่เข้าใจอะไร

เพราะนั้นดูไปดูมาเวลาทำงานนี่ บางอาการที่เกิดในจิตน่ะ เกิดขึ้นปั๊บ..ผ่านปุ๊บ  อะไรวะ ไม่รู้เลย ยังไม่ทันตั้งชื่อให้เลยวุ้ย ไปแล้ว อย่างเนี้ย เป็นอย่างนั้นจริงๆ

แล้วไม่ต้องใส่ใจเลยว่ามันจะชื่ออะไร โคตรเหง้ามาจากไหน ตรงกับตามตำรามั้ย หรือเปล่า อย่างนี้ ไม่ใส่ใจเลย พึ่บๆ ...ไม่ทันแยกแยะอะไรเลย มันไปแล้ว อย่างเนี้ย แล้วไม่ใส่ใจเลย

อย่าสงสัยๆ อย่าไปเก็บมาคิด อย่าไปหาในสิ่งที่มันล่วงไปแล้ว เหมือนโยมนั่งรถมานี่ โยมผ่านมานี่ เห็นป้ายข้างทางมั้ย เยอะแยะเลย 

ถ้าโยมจอดแวะดูว่าป้ายนี้มันเขียนว่าอะไร ทุกป้ายนี่ โยมมาไม่ถึงอยู่แล้ว ...แต่โยมเห็นนะป้ายน่ะ ผ่าน แต่ไม่รู้หรอกว่ามันเขียนอะไร เออๆ สักแต่ว่าเห็นน่ะ ...เข้าใจคำว่าสักแต่ว่าเห็นรึยัง

เนี่ย แล้วก็โยมก็เดินไปเรื่อยน่ะ  ไม่ติด ไม่ข้อง ไม่แวะ ไม่เสียเวลา ...จะไปรู้มันทำไม มันไม่มีประโยชน์มากมายนักหรอก  เพราะจุดหมายคือขับบนถนนให้ตรงทาง แล้วก็ให้ถึง แค่นั้นเอง

คือแค่นั้นเอง ...อะไรที่อยู่ข้างทาง รายละเอียดปลีกย่อย เราไม่จำเป็นจะต้องไปทำความเข้าใจรายละเอียดมากมายหรอก ...ไม่ใช่ว่าเฮ้ย ซอยนั้นเว้ย ซอยๆ ...ก็เข้าไปทุกซอยรึเปล่า

มันแวะไปดูว่าซอยนี้มีอะไร เราจะต้องพิสูจน์ทราบ ต้องทำความแจ้งซะก่อน ...มันก็แจ้งอยู่ รู้ได้อยู่ ...แต่จะเอากี่ชาติล่ะๆ กว่าจะแจ้งทุกป้ายทุกซอยนั่น

พระพุทธเจ้าน่ะ สี่อสงไขยแสนมหากัป ...นี่ท่านแวะทุกซอย แวะหมด ทำความเข้าใจ ทำความเรียนรู้ ทำความแยบคายกับทุกสิ่งที่มาสัมผัสกับจิตท่าน ...นั่นคือวิสัยของพุทธะ

ไอ้เรามันพวกสาวกเวไนย  แล้วก็ไม่ใช่ปัจเจกพุทธะ สาวกเวไนยล้วนๆ  แล้วไม่ใช่อสีติ ...ไม่ต้องใส่ใจเรื่องอะไรที่มันจะต้องไปรู้อะไรมากมายเกินกว่าที่ว่าเกิด รู้แล้วผ่านเลย

แค่ว่ามันเกิดขึ้น ตั้ง แล้วก็ดับไป..จบ ...ไม่ต้องว่า...อะไรมันตั้งอยู่วะ ไอ้ที่ตั้งอยู่คืออะไร พ่อแม่มันคือใคร  ทำไมมึงมา ทำไมมึงไม่ไป ทำไมมึงต้องอยู่นาน ทำไมมึงไม่ไปเร็ว เข้าใจป่าว

คือเราไปมีปัญหาไอ้ตอนมันตั้งอยู่น่ะ ...นั่นแหละ เขาเรียกว่าเนิ่นช้า เข้าใจมั้ย


(ต่อแทร็ก 1/24  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น