วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/23 (1)



พระอาจารย์
1/23 (25530418A)
18 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  โยมนี่ไม่เคยมาใช่มั้ย  สองคนนี่ยังไม่เคยมา ...เป็นไงภาวนา

โยม –  ก็ขึ้นลงบ้างครับ แต่ช่วงหลังเวลาดูก็รู้สึกว่าเหมือนมันแยกกันชัดขึ้นเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  มันไม่ต่อเนื่อง

โยม –  ครับ ไม่ต่อเนื่อง

พระอาจารย์ –  มันขาดการต่อเนื่อง ทำเป็นพักๆ ...พอพักมันก็จะเกิดความมัว 

ส่วนมากปัญหาใหญ่ของนักดูจิต มักจะเกิดความไม่ต่อเนื่อง เพราะว่ามันไม่สามารถจะเห็นอาการของจิตได้เป็นระยะพอสมควรให้มันต่อเนื่องกัน ...พอตั้งใจจะดูมันปั๊บ ก็กลายเป็นเพ่งไป พอไม่ดูก็หาย 

แล้วมันก็เป็นจังหวะที่เราต้องทำงาน ...เพราะนั้นระหว่างที่เราทำงาน มันก็จะถูกสิ่งเร้าภายนอกดึงจิต
แล้วตรงนั้นที่เราจะหลุด ขาด หาย ...มันขาดการต่อเนื่องตรงนั้นแหละ 

พอกลับมาดู ตั้งใจดู เริ่มตั้งใจดูปั๊บก็เพ่ง มันก็ไปชัดตอนนั้น พอชัดก็ไหลไปตามอาการ เนี่ย...กว่าจะวางจังหวะ หรือว่าจับได้ถูกว่ารู้เบาๆ ยังไง รู้เฉยๆ ยังไง 

มันก็เลยยังไม่ชัดเจนในอาการนั้นว่ารู้ที่เป็นกลาง หรือว่าสติที่เป็นกลางมันเป็นยังไงน่ะ 

อันนี้เป็นปัญหาเบื้องต้น..เกือบทุกคน คือความไม่ต่อเนื่อง ...แล้วก็สติมันแรงไป เวลาตั้งใจจะดูจริงก็แรง พอไม่ตั้งใจจะดูก็หลุดอีก มีสองอย่าง...ไม่แรงก็หลุด

เพราะนั้นมันก็เลยเกิดอาการที่รู้สึกว่าขึ้นๆ ลงๆ ได้มั่งไม่ได้มั่ง  บางทีจับสภาวะได้ บางทีก็เข้าใจสภาวะ บางทีก็ไปจมในสภาวะหรือว่าหายก็หายไปเลย

เพราะนั้นลักษณะพวกอย่างนี้ ตัวที่สำคัญจริงๆ คือจิตมันไม่มีอาการของความตั้งมั่น มันไม่ตั้งมั่นพอ ...ความหมายของคำว่าตั้งมั่นก็คือความหมายของคำว่าสมาธิ

สมาธิในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงความสงบ สมาธิในที่นี้คือหมายถึงความตั้งมั่นของจิต ...มันยังมีอาการส่ายแส่ มันไม่เป็นกลาง หรือไม่อยู่ที่ตัวรู้เฉยๆ  เพราะว่ามันจะออกไปให้ความหมายมั่นกับสิ่งที่ถูกรู้ มันก็ไหลไปตาม

ถ้าเราเปรียบเทียบก็เหมือนกับมีรูหนูอยู่รูหนึ่ง แล้วมีแมวอยู่ตัวหนึ่ง  แมวนี่มันคอยเฝ้าอยู่ที่หน้ารูหนู แล้วก็คอยจ้องดูหนูที่จะออกจากรู  พอหนูออกจากรู แมวก็จะเห็นว่าหนูออกจากรู นะ

แต่คราวนี้ว่า ตอนแรกก็ตั้งใจดูหนูอยู่หรอก..ว่าหนูจะออกจากรูกี่ตัว มีอะไรออกมา นอกจากหนูแล้วมีอะไรออกมาจากรูนั้น ...แต่พอมันเห็นหนูออกมาปุ๊บนี่ มันก็เริ่มให้ความสนใจกับหนูมากขึ้น 

เมื่อให้ความสนใจกับหนูมากขึ้นปุ๊บ...มันไม่ดูที่ปากรูแล้ว มันหันไปดูหนูๆ  เดี๋ยวก็หันตรงนี้ เดี๋ยวก็หันตามดูหนูออกไป นี่ ไปดูที่ตัวหนู 

ดูไปดูมา มันเริ่มสงสัยหนูว่าลักษณะหนูมันเป็นยังไง ตัวใหญ่รึเปล่า สีอะไร เมื่อกี้มองไม่ทัน  เอ๊ะ ตัวผู้หรือตัวเมีย ...ชักสงสัย ก็เลยค่อยๆ ตามไปดูหนูซะ ...ดูไม่ชัดก็ตบให้มันตายซะจะได้ดู

แต่ว่านี่คือออกจากปากรูหนูไปแล้วนะ ...แล้วระหว่างที่ออกมานี่ หนูมันออกไปกี่ตัวก็ไม่รู้นะ แล้วมีอะไรเข้าไปในรูหนูก็ไม่รู้อีกนะ เข้าใจมั้ย

เข้าใจความหมายของคำว่า “ตั้งมั่น” มั้ย ..เข้าใจคำว่า “ส่งออก” มั้ย ..เข้าใจว่า “ตามออกไป” มั้ย ...ก็รู้เหมือนกันนะนี่ แต่รู้ไป..กับรู้อยู่ ...แยกกันออกมั้ย

ถ้ารู้อยู่นี่...ก็รู้ด้วยความตั้งมั่นอยู่ตรงนี้ ...สิ่งที่โผล่มา..มันจะไปไหนมาไหน มันจะสีอะไร มันจะตัวใหญ่ตัวเล็ก มันจะเป็นหนูหรือแมลงสาบ...ไม่รู้อ่ะ ...รู้ว่านี่ไอ้นี่ออกไปแล้ว หรือไอ้นี่เข้าไป...แค่นั้น เข้าใจมั้ย

สติที่แท้จริง คือรู้แค่นี้เองๆ ...ไม่ต้องรู้อะไร ว่ามันคืออะไร มาจากไหน แล้วมันจะไปไหน มันจะตายตอนไหน ...มันจะไปตายที่ไหนก็เรื่องของมัน ตามอายุขัยของมัน

เราไม่มีหน้าที่จะไปทำให้มันเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องของมัน ตามเหตุปัจจัยของกรรมและวิบาก ...เราไม่ได้เป็นเพชฌฆาต จะไปตามไล่ฆ่าหนูหรือฆ่าอะไร หรือฆ่าเพราะกลัวว่าหนูมันจะกลับมาอีก

ใช่ไหม มันกลัว..กลัวอารมณ์ที่เกิดมาใหม่ ก็เลยต้องรีบดับมันซะก่อน หรือความรู้สึก หรืออะไรก็ตาม ...ก็เลยมีการประกอบกระทำ ไม่เป็นผู้ดูที่ดี ...ไม่เป็นกลาง ยังเลือกที่จะทำ

คือตอนแรกเราดูอยู่เฉยๆ แต่ว่ามันไม่ตั้งมั่น มันไหลออกไปแล้ว ...และขณะที่ไหลไป เราไม่รู้ว่าไหลตามมัน นี่ ลักษณะนี้ ปุ๊บ แล้วมันจะจมไปกับสิ่งที่ถูกรู้ ...สิ่งที่ถูกรู้กับรู้เลยกลายเป็นอันเดียวกัน

ตรงนั้นน่ะ เริ่มมัวแล้ว เริ่มลังเลแล้ว..เอ๊ะ ทำไมจางลง  ทำไมแต่ก่อนเคยดับ เดี๋ยวนี้ทำไมไม่ดับ ...มันก็ลังเลแล้ว ...นี่เป็นอาการจากที่ว่า เกิดจากจิตไม่ตั้งมั่น หรือว่าสมาธิไม่ตั้งมั่น

เพราะฉะนั้น คำว่าสติปัฏฐานนี่ มันไม่ได้หมายถึงว่ามีอยู่ฐานเดียว แต่ท่านพูดไว้ถึง ๔ ฐาน ใช่ป่าว สติปัฏฐานมี ๔ ใช่มั้ย ...ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๑ นะ สติปัฏฐานไม่ใช่แค่ดูจิตอย่างเดียว กายก็มี ใช่มั้ย

เพราะฉะนั้น ถ้ามันมีอาการลักษณะนี้...จับอะไรไม่ได้ หลงมาก ลืมมาก รู้แป๊บนึงก็หายๆ ...ให้กลับมารู้กายซะ  ให้มารู้..แล้วก็เห็นกาย  รู้..แล้วเห็นกาย

เข้าใจคำว่ารู้แล้วเห็นมั้ย ...รู้ว่าจิตอยู่ตรงนี้อยู่กับกาย แล้วเห็นมั้ยว่ากำลังนั่งอยู่ เห็นมั้ย ...ถ้าเห็นน่ะมันจะต่อเนื่องใช่มั้ย เห็นว่ากำลังนั่งอยู่ยังไง แล้วระหว่างนั่งมีการเคลื่อนไหวมั้ย หรือนั่งนิ่งๆ

อย่างนี้ มันก็เป็นการรู้เห็นโดยต่อเนื่องกับกาย อย่างนี้เรียกว่าทำให้จิตกลับมาตั้งมั่นอยู่กับกายก่อน นะ ให้มาตั้งมั่นอยู่กับกาย แล้วให้มีการต่อเนื่องโดยที่การต่อเนื่องนั้น ต่อเนื่องโดยสัมปชัญญะ

ตัวสัมปชัญญะคือเห็นน่ะ เห็นว่ากำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ยังไม่ได้ไปไหนก็ยังเห็นอยู่น่ะ ใช่ป่าว ...สติน่ะหมายความว่ารู้ขณะแรก  เมื่อกี้ไม่รู้...ตอนนี้รู้อยู่กับกายแล้ว 

นี่ รู้แรกนี่เรียกว่าสติเกิดแล้ว ...แล้วก็มีอาการเห็นว่ากำลังนั่งอยู่  อย่างนี้เรียกว่าเกิดพร้อมกันทั้งสติและสัมปชัญญะ เป็นการฝึกให้เกิดสัมปชัญญะไปในตัวด้วย นี่นะ

แล้วไม่ต้องทำอะไร รู้เห็นกายเฉยๆ  ไม่ต้องว่า ไม่ต้องคิด ไม่ต้องดูอะไรให้มันลึกซึ้ง ...ก็รู้ธรรมดาของแท่งๆ ก้อนๆ อย่างนี้ ไม่ต้องบอกว่าเป็นหญิงเป็นชาย ไม่ต้องบอกว่ามันสวยไม่สวย

นั่นมันเรื่องของความปรุงแต่งแล้ว..ไม่เอา ...รู้เฉยๆ อย่างนี้ รู้สึกเป็นแค่อาการหนึ่งที่กำลังยิบยับๆ หรือว่าตั้งอยู่ธรรมดาอย่างนี้ ...นี่ ให้กลับมาตั้งหลักที่กาย

และในขณะที่ตั้งหลักที่กาย เราก็แอบดู..แอบดูจิตด้วย เห็นมั้ย ใช้ลักษณะของการแอบดู หรือหยั่ง หรือว่าแตะ เข้าใจมั้ย ...เบาๆ พอแล้ว อ้อ..มีอะไร อ้อ..ไม่มีอะไร

อ้อ..เครียด อ้อ..กังวล อ้อ..เป็นทุกข์ อ้อ..สบาย อ้อ..เป็นสุข อ้อ..ฟุ้งซ่าน  มันคิดหรือไม่คิด หรือไม่มีอะไร ...แค่รู้เฉยๆ แล้วก็ถอยออก ถอยออกมาอยู่ที่กาย รู้กายไป อย่างนี้ เข้าใจมั้ย

ถ้าลักษณะนี้จิตมันจะอยู่ต่อเนื่อง สติสัมปชัญญะมันจะต่อเนื่อง แล้วมันจะเข้าไปเห็นจิตเหมือนกับเป็นแมวจ้องหนู ไม่ใช่แมวไล่จับหนู ...แมวจ้องหนูกับแมวไล่จับหนู..ไม่เหมือนกันนะ

แต่ถ้าเราดูจิตเฉยๆ ตรงๆ  บางครั้งเราแยกไม่ออกว่าอะไรคือจ้อง อะไรคือจับ เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้าอยู่ตรงนี้แล้วแตะๆ แล้วให้สังเกตดู แล้วจดจำสภาวะที่สติมันแนบกับกายอย่างไร เห็นกายอย่างไร

นี่เห็นปกติ เห็นเฉยๆ อย่างไร จดจำไว้ จดจำสภาวะนั้นไว้ ...แล้วเอาสภาวะนั้นมาเห็นจิต เข้าใจมั้ย เพื่อให้มันเกิดความชำนาญที่จะเกิดสัมปชัญญะในจิต แล้วมันจะขยับไปเห็นเรื่องของนาม

ถ้าเบลอ ถ้าปน ถ้าสับสนรวมกันเมื่อไหร่ ...ถอยกลับมาตั้งหลักที่กาย รู้กายเห็นกายๆ ก่อน ไม่ต้องกลัว ...เพราะขณะที่รู้กายเห็นกาย มันก็สามารถเห็นจิตได้ นิดนึง มันเห็นอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวหรอก

อย่าไปเอาตรงๆ เพราะว่ากำลังของสติสัมปชัญญะพวกเรายังไม่แกร่ง แล้วยังมีสิ่งเร้าภายนอก ...แล้วปรากฏการณ์ในจิตหรืออาการของจิตนี่ พวกเรามักจะมีความหมายมั่นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

อย่างเช่น หงุดหงิดนี่ ...พอเห็นว่าหงุดหงิดปุ๊บนี่ มันรู้เลยว่าอย่างนี้คือลบ ใช่มั้ย ...เพราะลึกๆ น่ะมันมีความอยากที่จะปัดออก หรือจะทำยังไงให้มันน้อยลง

เนี่ย คือมันจะมีความหมายมั่นมาเร้าให้เราไปประกอบกระทำกับอาการที่ปรากฏต่อหน้า ...แล้วเราจะค่อยๆ คล้อยไปโดยไม่รู้ตัว มันจะดึงให้เราเข้าไปประกอบกระทำ หรือเข้าไปแทรกแซง

ด้วยการผลักออกบ้าง ...หรืออารมณ์ไหนที่สบาย มีความสุข เราก็ค่อนข้างจะชอบ..ลึกๆ คือมีความพอใจนะ ติดใจ ก็พยายามดึงเอาไว้ รักษามัน ...นี่ก็คือการแทรกแซงโดยไม่รู้ตัว ...มันไม่รู้เฉยๆ เหมือนแมวที่เฝ้าดูหนู

เพราะนั้นถ้าเกิดอาการนี้ หรือเริ่มสงสัยว่า...เอ๊ เราเข้าไปยุ่งกับมันรึเปล่า เราไปจัดการ ไปแทรกแซงมันรึเปล่า ...ถ้ายังไม่ชัดเจน ให้มาตั้งหลัก ตั้งหลักสมาธิก่อน ตั้งมั่นกับกาย

เพราะกายนี่ เห็นมั้ย พอเรานั่งอยู่รู้กับกายนี่ กายมันไม่มีปัญหาอะไร ใช่มั้ย ...กายมันเฉยๆ กายมันไม่เป็นดีไม่เป็นชั่ว กายไม่เป็นถูกไม่เป็นผิด กายก็คือเป็นก้อนๆ อย่างนี้

เราไม่ค่อยให้ความหมายอะไรกับมัน มันก็ไม่ค่อยมีความหมายอะไรกับเราสักเท่าไหร่ ถ้าเราไม่คิดนะ เข้าใจมั้ย ...เพราะนั้นเมื่อเราเอาสติมารู้กายเห็นกายปั๊บนี่ เราค่อนข้างจะวางสติที่เป็นกลางได้ 

ตรงนี้เราถึงบอกให้จดจำสภาวะที่สติเป็นกลางไว้ ...แล้วเมื่อไปเห็นอาการในจิต ให้ใช้การวางสติ ในระนาบความเข้ม ความหนัก ความเบา ความแรง หรือการอยู่เฉยๆ ของสติเหมือนกันกับที่เรามารู้เห็นกาย ตรงนี้

เมื่อตรงนี้ปุ๊บ ถ้าเราเข้าใจหรือว่าปรับสมดุลตรงนี้ได้ปุ๊บ ...เราจะเห็นตรงนี้ทั้งกายและจิตพร้อมกัน โดยอาการที่เป็นธรรมดา โดยที่ไม่เข้าไปยุ่ง

แต่เห็นเป็นสักแต่ว่า หรือว่าเป็นเรื่องของกาย เรื่องของจิต ...อาการที่เราจะเข้าไปแทรกแซง จะน้อยลงๆ  ...ความเป็นเรา ก็จะเห็นความไม่เป็นเราในการที่เข้าไปรู้เฉยๆ

ไม่งั้นก็กลายเป็น “เรารู้”  ...ไอ้ที่มันไปนี่เพราะ “เรา” เข้าใจมั้ย  เราจะไปทำอะไรกับมัน อย่างเนี้ย ...ตรงนี้คือไปตามสิ่งนั้นธรรมนั้น ที่จะเข้าไปประกอบกระทำหรือไม่ประกอบกระทำ

กลับมารู้กายเห็นกายบ่อยๆ ให้มันคุ้นเคยกับคำว่าปกติ..เห็นปกติ รู้ปกติ เห็นปกติอย่างไร ...แล้วเวลามีอาการในจิตเกิดขึ้น ก็ให้รู้ปกติเห็นปกติเหมือนอย่างเราเห็นกายอย่างนี้

ตรงนั้นน่ะเราจะเริ่มชัดเจน ...ชัดเจนตรงไหน  ชัดเจนตรงที่ว่าสติที่เป็นกลางคืออะไร อย่างไรเรียกว่ามัชฌิมา อย่างไรเรียกว่ารู้แบบไม่แทรกแซง หรือเรียกว่ารู้เปล่าๆ รู้เฉยๆ หรือว่าสักแต่ว่ารู้ 

รู้ก็สักแต่ว่ารู้ ...ไม่ใช่ว่ารู้อะไร หรือว่าคืออะไร หรือไปหาความหมาย หรือว่าไปทำลายอะไร

ต่างอันต่างอิสระในการที่เขาจะดำเนินไปตามเหตุและปัจจัยของอาการที่ปรากฏ ...ตัวรู้ก็เป็นอิสระในการดำรงไว้ซึ่งธรรมชาติของรู้ ของจิตรู้ อย่างนั้น

แล้วทุกอย่างมันก็จะค่อยๆ คลี่คลาย  ทุกอย่างมันก็จะเห็นว่า...มันแยกกันโดยชัดเจน ไม่ได้เป็นของใคร ไม่ได้ผูกติดกันเลย ไม่มีอาการเชื่อมต่อกันตรงไหน 

มันเป็นเพียงอาการที่ปรากฏขึ้นตามเหตุและปัจจัย มันไม่มีการเชื่อมต่อกันเลย ...แต่ไอ้ตรงที่ว่าเราไปเชื่อมต่อ...นี่คือความเข้าไปหมายมั่น หรือว่าความไม่รู้นี่ 

แล้วเข้าไปคว้าว่า...เป็นเรื่องของเรา เป็นของของเรา เป็นอาการของเรา เป็นกายของเรา เป็นจิตของเรา เป็นอารมณ์ของเรา เป็นเวทนาของเรา เป็นสุขของเรา ...เราเป็นสุข เราเป็นทุกข์

ตรงนี้คือการเชื่อม หรือเข้าไปพัวพัน เข้าไปหมายมั่น เข้าไปติด เข้าไปข้องแวะ ...แล้วเราไม่รู้ว่าเราไปแวะมันตรงไหน เราไปข้องมันอย่างไร แค่นั้นเอง ...เราก็ถอยออกไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะปล่อยยังไง


(ต่อแทร็ก 1/23  ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น