วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/26 (2)


พระอาจารย์
1/26 (25530427B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27 เมษายน 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/26  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะดวงจิตของแต่ละคนพื้นฐานไม่เหมือนกัน วาสนาไม่เหมือนกัน อุปนิสัยไม่เหมือนกัน ...แม้จะเป็นต้นตอเดียวกันก็ตาม แต่ไอ้สิ่งที่เป็นวิบากของขันธ์น่ะไม่เหมือนกัน

หน้ามันยังไม่เหมือนกันเลย ใช่ไหม จิตจะเหมือนกันได้ยังไง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีหนักเบาอย่างไรนี่มันแตกต่างกันอยู่แล้ว ในความคุ้นเคย การที่สะสม

พวกนั้นมันเป็นเนื้อของจิต ไม่ใช่ใจที่แท้จริง มันจึงมีสูงต่ำดำขาว หรือรูปลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของจิตดวงนั้นๆ ...มันจึงมีวิถีเฉพาะตน ไม่เหมือนกัน

แต่ว่าโดยองค์รวมคือจะเป็นสันติ สันติ...ไม่มีประโยชน์เป็นหลัก ...แต่คนอื่นมอง หรือด้วยสายตาคนอื่นอาจจะดูประหลาด...เอ๊ะ ดูดีมั่ง ดูไม่ดีมั่ง อันนั้นเป็นเรื่องของคนอื่นมอง

นั่นเขาเบียดเบียนตัวเขาเองนะอย่างนั้น เราไม่ถือว่าการกระทำของเราเบียดเบียน อันนั้นเขาคิดไปเอง ช่วยไม่ได้ แก้ไม่ได้ 

และท่านไม่แก้ด้วย ท่านจะไม่แก้ตามเขาว่าด้วย ...มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอิสระในการเป็นไป

เพราะว่ามันจะเป็นความสมดุลของจิตที่มันจะเข้าไปเจริญปัญญา ด้วยความเป็นกลางมากขึ้นๆๆ ...มันไม่ใช่ว่าความเป็นกลางที่เราสร้างขึ้น...ไม่ใช่

แต่มันเป็นความเป็นกลางด้วยความพร้อม ด้วยความพอดี ด้วยความสมดุล...จิตมันก็จะรู้ได้ ...เข้ามาถึงกลางภายในๆ ตรงนี้เรียกว่ามันเกิดสัปปายะที่เลือกไม่ได้ขึ้นมาเอง

ไม่ใช่ว่าเราไปเลือกอะไรเอาเองก่อน ด้วยการคิดเอา คาดเอา คะเนเอา หวังเอาว่า ...นี่ ความน่าจะเป็น พวกนี้เป็นความฝันหมด เป็นมายาของจิต อย่าไปเชื่อ อย่าไปให้ความสำคัญมาก 

คิดก็รู้ว่าคิด คิดอีกรู้อีกๆ ซ้ำซากอยู่ตรงนั้น แล้วมันจะค่อยๆ มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของความคิด ...เพราะนั้นที่คิดจะอยู่เป็นรูปของนักบวชตายตัว หรืออะไรนี่ มันไม่น่าหรอก ...อยู่คนเดียวอย่างนี้ดีกว่า


โยม –  แล้วทำไมหลวงพ่อมีความแน่วแน่จังเลยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  โหย มันไม่มีน่ะ...อาการกระวนกระวาย ทะเยอทะยาน กระหายในอารมณ์อย่างที่พวกเราคิดแล้ว


โยม –  ไม่ใช่ค่ะ หมายถึงแต่ก่อน ที่ยังเป็นฆราวาสเหมือนพวกหนูอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  มันมีเหตุปัจจัยของมัน นะ เราไม่คิดอยากจะบวชหรอก จริงๆ แต่มันมีเหตุปัจจัยบีบคั้นหลายเรื่อง จนมีความรู้สึกว่า โลกนี่ทั้งโลก ไม่มีที่เท่าฝ่าตีนให้เราเหยียบ

ทุกอย่าง มันเป็นความทุกข์ในจิต ด้วยเหตุปัจจัยภายนอกด้วย มันผสมรวมกัน ตรงนั้นน่ะ จิตมันมีความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมาเองเลยว่า นี่ ทั้งแผ่นดินนี่ ที่เท่าฝ่าตีนเรายืนนี่ไม่มีเลย

พอความเห็นนั้นปรากฏหรือขึ้นมา มันก็มีความเห็นขึ้นมาว่า “บวช...เป็นพระอย่างเดียว” ว่าอย่างนั้น ...พอความรู้สึกว่าบวชหรือเป็นพระขึ้นมาปั๊บ ความทุกข์ตรงนั้นหายหมดเลยนะ

เพราะนั้นจิตมันจึงเกิดความแน่วแน่ตรงนั้นเกิดขึ้น ...แล้วคืนนั้นเอง คืนที่เราตัดสินใจว่าจะลาออกจากงาน จะบวช ...คืนนั้นเราฝัน 

เราฝันว่า เรานี่เดินเข้าไปหลักประหาร แล้วมีเพชฌฆาตถือดาบอยู่ แล้วก็เดินไปนั่งที่ตรงหลักประหาร แล้วก็บอกว่า เอ้า ตัดคอ เพชฌฆาตที่ถือดาบก็เงื้อดาบนะ แล้วก็บอก จะตัดแล้วนะ เราก็บอก เออ ตัด 

มันพูดว่าจะตัดแล้วนะๆ อยู่สามครั้งน่ะ เราก็บอกว่า มึงจะตัดก็ตัดซะทีเถอะว่ะ พอครั้งที่สามว่าจะตัดแล้วนะ มันพูดยังไม่ทันขาดคำเลย คอขาดฉั๊วะ (หัวเราะ) ...นี่ ฝัน ...ก็ตั้งแต่นั้นมาก็ตั้งใจจะบวช

แต่ว่าปัจจัยสะสมมันก็มี คือเราชอบการปฏิบัติภาวนามาตั้งแต่เด็ก นั่งสมาธิภาวนามาตั้งแต่อายุหก-เจ็ดขวบแล้ว อยากเป็นพระอรหันต์ อยากสำเร็จ อยากพ้นทุกข์อะไรอย่างนี้ มันมี ความคิดอย่างนั้นสะสมมา 

แต่ว่าการใช้ชีวิตความเป็นอยู่มันก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย เข้าใจมั้ย เพราะว่าชีวิตเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยน่ะ การทำงานทำการ ...มันก็มีทำกรรมไว้กับผู้คน ด้วยความมุ่งมั่น 

มุ่งมั่นอะไร ...มุ่งมั่นเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ เอากฎหมายเป็นมาตรฐาน ไม่มีคำว่าเมตตาปราณี แต่ถือเอาความถูกต้อง ถือให้โลกนี้เป็นสีเขียว ถือให้โลกนี้คือ “ต้องดีกว่านี้” ...นี่แหละ ปัญหาใหญ่เลยแหละ

เพราะนั้นความคิด ความเห็น ความอยาก หรือความปรารถนาที่ตั้งเอาไว้นี่...กับความเป็นจริงที่มันจะเป็นไป หรือดำเนินไปนี่ ...มันไม่ตรงกันหรอก

ถึงเวลาตามเหตุปัจจัยอันควร มันจะเป็นไปอย่างไร ก็ต้องยอมรับมัน ...แต่ว่าไม่ใช่เอาความคิดเป็นตัวนำ หรือว่าตั้งไว้ว่า “ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้  ไม่อย่างนั้น ไม่อย่างนี้” 

ไม่ต้องเลือกวิถีชีวิตหรอก  กรรมมันเป็นตัวผลักดันอยู่แล้ว...กัมมปัจจัย 

เพราะนั้นถ้าเราอยู่ได้ ถ้าเข้าใจได้ปุ๊บนี่ กาย วาจา จิตเรา...คือที่ตั้งแห่งธรรมอยู่แล้ว เป็นธรรมอยู่แล้ว  ไม่ต้องไปสร้างอะไรขึ้นมาใหม่หรอก

ขาดอย่างเดียว มันขาดอยู่อย่างเดียว ...ขาดสติสัมปชัญญะ ...แล้วไม่ต้องมาคิดมาอ้างว่าต้องเป็นที่ตรงนั้นถึงสติดี ต้องทำงานอย่างนี้สติถึงจะดีกว่า ...อย่ามีข้ออ้าง

ไอ้ที่ทำไม่ได้ ไอ้ที่มีไม่ได้ ตรงนั้นน่ะต้องทำให้ได้ เข้าใจมั้ย ...เราต้องรู้ว่าตรงไหนที่มันขาด ตรงไหนที่มันหลุด  อาการไหนที่มันขาด อาการไหนที่มันหลุดจากสติ

มันจะหลุดซ้ำซากอยู่ตรงนั้นแหละ มันจะขาดก็ขาดซ้ำซากอยู่ในอาการนั้นแหละ ทำ-พูด-คิด อย่างนั้น เวลากินรึ เวลาคุยรึเปล่า หรือเวลาทำงานอย่างนั้น

หรือเวลาขับรถ หรือเวลานอน หรือเวลาเดินไปเดินมา หรือเวลาพูดเวลาคุย หรือเวลาเล่นเน็ท หรือเวลาอะไรอย่างนี้ ...เราจะต้องรู้เลย เวลาไหนเป็นเวลาที่เราขาดหรือหลง

เพราะมันจะหลงซ้ำซากอยู่ตรงนั้นน่ะ ขาดสติก็จะขาดซ้ำซากอยู่ตรงนั้นน่ะ เพราะนั้นไม่ต้องหนีด้วยการไปเปลี่ยน หรือไปอยู่ที่อื่นแล้วถึงจะมีสติได้ ...มันต้องแก้ตรงจุดที่มันบอดนั่นแหละ

ก็ต้องตั้งใจน่ะ มันต้องตั้งใจกว่าเวลาอื่นที่บางช่วงหรือบางเวลาที่สติมันเกิด นั่นไม่ต้องไปใส่ใจกับมันมากหรอก มันมีของมันประจำตรงนั้นแหละ

ไอ้เวลาที่เราต้องตั้งใจมากๆ คือไอ้เวลาที่มันเผลออยู่ประจำอยู่ตรงนั้นต่างหากน่ะ ...เช่นบางคนนี่จะเผลอเวลาพูด อย่างนี้ ก็ต้องใส่ใจตอนพูด ต้องตั้งใจให้ดี

ก่อนจะพูด...รู้ ระหว่างพูด...รู้ พูดเสร็จแล้ว...รู้ ...ไม่ใช่ ก่อนพูดก็ไม่รู้ ระหว่างพูดก็ไม่รู้ พูดจบแล้วก็ไม่รู้

กว่าจะมารู้นี่ อีกชั่วโมงสองชั่วโมงถึงรู้ว่าเมื่อกี้ด่าเขาไป  แล้วเมื่อกี้พูดอะไรไปไม่รู้ สงสัยเขาเจ็บใจรึเปล่าไม่รู้ พึ่งมาคิดได้ตอนหลัง เพิ่งมารู้ได้อย่างนี้ เห็นมั้ย

เพราะนั้นมันจะซ้ำซากอยู่ในอาการนั้นแหละ สติที่จะหลงก็จะหลงตรงนั้น  หายก็จะหายอยู่ตรงนั้นแหละ

พอเรามาทบทวนก็เลยเกิดความปรุงแต่งใหม่ว่า “เอ เราจะต้องเปลี่ยนวิถีใหม่แล้ว เราจะต้องเปลี่ยนชีวิตใหม่ ต้องออกจากผู้คนแล้วอย่างนี้”


โยม –  ใช่ค่ะ

พระอาจารย์ –  เงื่อนมันเกิดตรงไหน ต้องแก้ตรงเงื่อน ...ไม่ใช่เงื่อนนี้มันเกิดตรงนี้ แล้วไปผูกเงื่อนใหม่ แล้วเข้าใจว่าเงื่อนใหม่ที่เราไปผูก จะแก้ได้ง่ายกว่า เข้าใจมั้ย ...เงื่อนมันมีอยู่ตรงไหน ต้องแก้ตรงนั้นน่ะ


โยม –  มันอยู่ตรงไหนล่ะคะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  เอ้า ก็ตรงที่เราหลง ...ตรงไหนล่ะ


โยม –  แล้วเราไปอยู่กับผู้คนน่ะค่ะ เขาฟุ้งกันน่ะ เราก็ไปกับเขาน่ะค่ะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ก็ตรงนั้น ...ก็ต้องรู้ตรงนั้น ก็ต้องมาสร้างสติตรงนั้น


โยม –  เราก็คิดตามอย่างที่เขาพูด

พระอาจารย์ –  มันทำได้ เราบอกแล้วว่า...จะคิดก็ได้ จะพูดก็ได้ จะอะไรก็ได้...ถ้ารู้กายเห็นกายอยู่ มันมีอยู่ได้ เข้าใจมั้ย


โยม –  หูย ยากมากค่ะ

พระอาจารย์ –  ไม่ยาก-ไม่ง่ายน่ะ มันอยู่ที่การฝึก ...ควายวัวหมานี่เขายังฝึกได้ คนทำไมจะฝึกไม่ได้

ฝึกนี่... จิตที่อบรมดีแล้ว...จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง  จิตที่อบรมดีแล้วนำสุขมาให้ ...ถ้าจิตที่ไม่มีการฝึก ไม่มีการอบรม มันไม่มีทางหรอก

เราไปคิดว่า...จะต้องไปอบรมในสถานที่เช่นนี้ ไปใช้วิถีชีวิตอย่างนี้ จึงจะดีกว่า น่าจะดีกว่า ...มันเป็นแค่ความปรุงของจิต แล้วก็มีความอยาก ...มันหลอกอยู่ตลอด

มันหลอกทำไม ...หลอกเพื่อจะให้ทิ้งสติที่มีอยู่ ให้หลงซ้ำซากๆ อยู่ตรงนี้น่ะ


.....................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น