วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 1/25 (1)



พระอาจารย์
1/25 (25530427A)
27 เมษายน 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ไม่ได้ออกนอกรูปแบบ ...จริงๆ น่ะ มันเป็นการกลับเข้ามาสู่รูปแบบที่แท้จริง คือรูปแบบของกายและใจที่ไม่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ...มันมีมาตั้งแต่เกิด

เพราะนั้นถึงบอกว่าสภาวธรรม สภาวะธาตุสภาวธรรม หรือว่าความเป็นจริง มันมีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ...ไม่จำเป็นต้องไปสร้างหรือจำลอง หรือว่าไปค้นหา หรือไปทำให้มี ทำให้เป็นอะไรขึ้นมา

จิตก็มีอยู่เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็นนั่นแหละ  ไม่ต้องไปสร้างสภาวะอะไรขึ้นมาใหม่ ให้มันดูดีกว่านี้ ...เพียงแต่กลับมาเรียนรู้กับมันตามความเป็นจริงที่มันปรากฏ

แต่ว่าถ้าไม่กลับมาเรียนรู้กับมันตรงนี้ เราถือว่าหลุดแล้ว ...การปฏิบัติติดแล้ว ขัดแล้ว  การปฏิบัติไม่ต่อเนื่องแล้ว การปฏิบัติมันช้าแล้ว ...มันเสียเวลา มันออกไป

ถ้าออกนอกกายนอกจิตเมื่อไหร่ คือว่าส่งออกไปแล้ว...ออกไปด้วยอำนาจของโมหะ ด้วยอำนาจของอารมณ์ ราคะ โทสะ ...ออกไปทางช่องทางเข้าออกของจิตมีหกช่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

นี่เป็นช่องที่ไหลเข้าแล้วก็ไหลออก ...จำไว้เลย มีอยู่แค่นี้เอง หกประตู ...ถ้าเรารู้ทันอยู่หกประตูนี่ มันก็อยู่นี่แหละ มันก็กลับมาอยู่ที่กายที่จิตเราเท่านี้

เพราะนั้นเวลารู้ตัวก็ไม่ต้องไปสร้างอะไรขึ้นมา ...กลับมารู้ตรงนี้ รู้อยู่ที่ตา รู้อยู่ที่หู รู้ที่จมูก รู้ที่กาย รู้ที่ใจ รวมลงแล้วก็รู้ที่กายที่ใจ ...มันก็กลับมาในรูปแบบของธรรมชาติของจิต ของกายตามความเป็นจริง


โยม –  มันเป็นไปได้ไหมคะ ว่าชาตินี้เราเป็นไปไม่ได้ เราทำไม่ได้หรอก

พระอาจารย์  ไม่มี ... มนุษย์ทุกคนไม่ว่าใคร เกิดมา..ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ...นี่ คือความสมบูรณ์แล้ว คือความพร้อมแล้วนะ ถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้เป็นคนที่มีอาการ ๓๒ ครบ 

ไม่ใช่ออธิสติกนะ ไม่ใช่บ้าใบ้เสียสตินะ...พวกนี้เป็นกรรมวิบาก ...เพราะนั้นถ้ามนุษย์ปกติธรรมดาทุกคนที่เกิดมา มีศักยภาพทุกคน....ที่จะเข้าถึงนิพพานได้ในชาตินี้ บอกให้เลย

แต่ที่มันไปไม่รอด เพราะเหล่านี้คือ...มันถูกความปรุงแต่งของสังขารนี่ดัก มันจะเป็นตัวดัก ...แล้วก็ความเชื่อต่างๆ นานา ...เออ อันนั้นบ้าง อันนี้บ้าง คนนั้นพูดอย่างนั้น คนนี้พูดอย่างนี้  

มันก็วิจารณ์กันไป วิจารณ์กันมา  ให้ความเห็นกันไป ให้ความเห็นกันมา  แล้วก็เอาความเห็นหลากหลายนั่นมา ...จากที่เรามองเห็นแล้วก็มาตีความเอาเองอะไรมั่ง เป็นความเห็นตัวเองขึ้นมาใหม่ 

เหล่านี้ก็ทำให้เกิดการท้อถอย การหยุดการเจริญภาวนา การหยุดการสร้างสติสัมปชัญญะ ...มันเป็นตัวขัดขวาง มันทำให้ไปไม่รอด เพราะไอ้ตัวพวกนี้ เข้าใจมั้ย

แต่ว่าในศักยภาพของมนุษย์ที่เกิดมาเป็นคน...พร้อมอยู่แล้ว พร้อมอยู่ทุกคนเลย...ถ้าทำจริงๆ ...แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องให้ความสำคัญกับความคิดมาก ไม่ต้องไปเชื่ออะไรมันมาก ...แค่รู้ ๆๆๆ ไป

ในชาตินี้ได้ทุกคน ได้ทุกคนเลย ...ไม่ต้องอ้างบุญอ้างบารมี อ้างเคยทำมามากเคยทำมาน้อยหรือเปล่าไม่รู้ อันนี้ไม่เกี่ยว มองไม่เห็น ไม่รู้  อย่าไปเชื่อ

จะไปเที่ยวถามหมอดู ถามพระองค์นั้นที่มีญาณ ที่มีตาทิพย์ตาอะไร ...มันก็เหมือนกับเรื่องยกเมฆน่ะ มันก็จะไปสร้างความเชื่อของเราขึ้นมาอีกน่ะ

จริงรึเปล่า เราเห็นจริงรึเปล่า เขาเห็นจริงรึเปล่า มีใครตอบได้ ...เข้าใจมั้ย จะเห็นยังไงมันก็เห็นตามความเชื่อความเห็นอย่างนั้น จริงรึเปล่าไม่มีใครตอบได้ 

เพราะนั้นความคิดเห็นต่างๆ ทั้งของเรา ทั้งของรอบข้าง ...แค่รู้มันเฉยๆ แค่รู้เฉยๆ แค่นั้นเอง ...พระพุทธเจ้าจึงวางหลัก ให้อยู่ในหลักของความเป็นกลาง ไม่ใช่สุดโต่ง

สุดโต่ง...นี่เชื่อแล้วนะ  พอเชื่อปุ๊บ เห็นมั้ย มันมีเวทนา มีความรู้สึกตามมา ...แล้วเราก็จะไปจมอยู่กับ เวทนา ไปผูกเป็นตัวเป็นตนกับเวทนา เสียใจ ดีใจ ท้อใจ คับแค้น แน่น เป็นทุกข์ ...อยู่ในวังวนอันนี้

มันก็ครอบความเป็นอิสระของจิตไปโดยปริยาย ...เอาเราเข้าไปผูกพันกับอารมณ์ตามความเชื่อนั้น ๆ  ทั้งความเชื่อของเรา ทั้งความเชื่อของคนอื่น ทั้งคำพูดของเรา ทั้งคำพูดของคนอื่น

พวกนี้ มันจึงกลายเป็นบ่วงที่ร้อยรัดจิต..ซึ่งมันกำลังก้าวเดินอยู่ในมรรคาแห่งมรรค หรือครรลองแห่งมรรค 

เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้แล้วก็ปล่อย หรือว่ารู้แล้วก็ผ่าน ...ให้ความสำคัญกับมันให้น้อยที่สุด หรืออย่างน้อยก็ให้น้อยกว่าที่เคยให้...ว่างั้นเถอะ  ก็...เออ ช่างมัน ...เออ เรื่องนั้น ช่างมัน ...อย่างนี้ไปก่อน

คือวิถีของใจ วิถีของจิต วิถีของกาย ...เราบอกว่ารูปแบบของกายของใจนี่ มันเป็นครรลองแห่งมรรคโดยปริยาย มันดำเนินไปของมันอยู่แล้ว

แต่ที่มันไปติด ไปค้าง ไปข้อง ไปคาอยู่นี่ ...มันไปข้องกับอุปาทานขันธ์ คือการไปให้ความหมายมั่นต่อความคิด ต่อความจำ ต่อผัสสะ ต่อรูป ต่อนาม ทั้งภายในภายนอก
 
อันนี้มันเลยเป็นเหมือนกับตัวที่ไปขวางกั้นทางดำเนินแห่งมรรคของจิต เป็นเครื่องกีดขวาง เป็นเหมือนกำแพง ...เนี่ย ก็ต้องทะลุกำแพงพวกนี้ออกไป

คือไม่ต้องไปทำลาย ไม่ต้องทำลายความคิด ไม่ต้องทำลายความเห็น ...แค่ไม่เชื่อมันแค่นั้นแหละ มันก็หลุดแล้ว หลุดออกจากบ่วงพันธนาการ

หรือว่าภาษาพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าบ่วงมาร ...เคยได้ยินคำว่าบ่วงมารไหม สมัยเวลาจะตรัสรู้ท่านก็ยังต่อสู้กับพญามารทั้งสาม ราคะ โทสะ โมหะ

อันนี้คือความปรุงแต่งในจิตของท่านนั่นแหละ เมื่อยหน่อย ลำบากหน่อย .. เฮ้อ ไปเป็นจักรพรรดิซะดีกว่ามั้ง จะได้ครอบครองโลกแล้วก็สอนโลกได้’ นั่น... ก็ยังมีอารมณ์อาการพวกนี้

เพราะฉะนั้นเวลาท่านสำเร็จมรรคผลนิพพาน ตรัสรู้ ได้สัมมาสัมพุทธะแล้ว ท่านก็มาพิจารณาธรรม การปฏิบัติธรรมของท่าน ท่านก็จึงเห็น ถึงได้เปรียบเทียบว่า...พวกนี้เรียกว่าขันธมาร เป็นขันธมาร  

คือมารนี่ ไม่ใช่มารภายนอกอย่างเดียว มารภายในของเรานี่แหละ ...ความคิด ความปรุงแต่ง ความจำได้หมายรู้ ความอยากได้ ความเชื่อ ความเห็น

อะไรพวกนี้ เป็นขันธมาร เป็นพญามารที่มาคอยตัดรอน...ไม่ให้เราก้าวเดินไปในครรลองแห่งมรรค 

ไม่ต้องโทษคนอื่น ไม่ต้องโทษวาสนาบารมี ไม่ต้องโทษอันนั้นโทษอันนี้ ...ไอ้ตัวที่กำลังคิดโทษ นั่นแหละไอ้ตัวความปรุงแต่ง...ไม่ใช่ความจริง

แต่เวลามันคิดน่ะ เราจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง เรียกว่าน่าจะจริงอย่างนั้นเลยแหละ ...นั่นมันคิดเอาเอง แล้วมันก็เชื่อความคิดของมันอย่างนั้นน่ะ

ตรงนี้แหละที่ท่านเรียกว่าทิฏฐิสวะ ซึ่งบังเกิดจากอาสวะ หรืออวิชชาสวะ  เกิดมาจากความไม่รู้ที่มันหมักหมมอยู่ ...มันก็ออกมาเป็นความเชื่อ ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยความไม่รู้ 

แล้วเพราะอย่างนั้น มันเชื่อว่าอย่างนั้นจริงจัง ...มันก็เกิดความรู้สึกที่ถดถอยน่ะ ท้อแท้ในทาน ...พอมันเริ่มเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นแล้ว มันจะออกในอาการที่เรียกว่าอันธพาล 

จิตมันก็เริ่มพาลพาโลโฉเกแล้ว ... "ช่างหัวมัน กูจะทำทำไม ไม่เอา ไม่ทำแล้ว ไม่ปฏิบัติอะไรแล้ว" ... เห็นมั้ย มันจะพาให้ครรลองแห่งมรรคมืดมนไป

แต่ถ้าเรารู้กับมัน แค่รู้กับเห็นเฉยๆ ...เออ อยากคิด-คิดไป มีความเห็นอะไรขึ้นมาก็..เออ มันก็ว่าของมันอย่างนั้นไป เรื่องของมัน ช่างมัน ...ก็ไม่รู้ล่ะ ทำต่อไป ทำต่อไปเหอะ

อย่าเอาความคิดมาเป็นอารมณ์ อย่าเอาความเห็นมาเป็นอารมณ์ ...แค่สักแต่ว่า ...เออ มันคิดอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ มันแค่ความคิด ก็เป็นสักแต่ว่าความคิด ความเห็นก็สักแต่ว่าความเห็น

มันไม่มีตัวไม่มีตนอะไรหรอก เพราะฉะนั้น...อย่าจริงจัง ไม่อย่างนั้นเราจะถูกมันหลอก หลอก...หลอกเพื่อให้ไปเกิด เดี๋ยวนี้ก็หลอก ...แล้วก็ยังจะให้มันหลอกอีกต่อไป

ถ้าเราไม่เท่าทัน...ว่ามันเป็นแค่อาการ ประเดี๋ยวประด๋าวๆ เดี๋ยวมันก็หายไป ...เนี่ย มันไม่ใช่ว่ามาปลูกฝัง หรือว่ามั่นคงถาวรในจิตอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้นหรอก

เพียงแต่ว่ามันมีอาการซ้ำซาก ซ้ำซาก...ด้วยความไม่รู้ ...เพราะความไม่รู้มันซ้ำซาก มันสะสมด้วยความซ้ำซาก ความเชื่อก็ออกมาซ้ำซากอย่างนั้นแหละ 

อย่าเบื่อที่มันจะคิดอีก อย่าเบื่อที่มันจะมีความเห็นเช่นนี้ ...ก็รู้ไป "ไม่ถึงก็ไม่ถึง" ... มันบอกว่าไม่ถึง  ก็เออ ไม่ถึงก็ไม่ถึง ...จบ ไม่ต้องคิดอะไรมาก 

ไม่ต้องคิดต่อว่าจะทำอะไรต่อ หรือยังไงต่อ หรือเราจะเลิกดีไหม หรือเราจะเปลี่ยนวิธีไหม หรือเราจะทำอย่างนั้นดีกว่ามั้ย ...นี่คิดต่ออีกแล้ว ..ก็ เออ ไม่ถึงก็ไม่ถึง ก็จะดูต่อไป 

มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ ๆ แค่นี้ ...กลับมา กลับมาอยู่ที่หลักเดิมให้ได้  ต้องจับหลักให้ถูก หลักคือตรงไหน ...หลักคือมีอะไรเกิดขึ้นให้รู้ แล้วรู้เฉย ๆ แค่นี้คือกลับมาหลักก่อน

อาจจะเป็นหลักที่เกิดจากความเชื่อก็ตาม เกิดจากฟังครูบาอาจารย์บอกให้จับหลักนี้ไว้ก็ตาม เป็นความเชื่ออันหนึ่งก็ตาม ...แต่ก็ยังเป็นความเชื่อที่จะเป็นไปเพื่อต่อต้าน ต่อสู้กับขันธมาร เป็นอาวุธอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้นความเชื่อนี่ ท่านจึงจัดอยู่ในอินทรีย์พละ หรือเป็นตัวที่ให้กำลังในการก้าวไปในองค์อริยมรรค คืออินทรีย์ 5 เริ่มต้นด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

อาศัยศรัทธาความเชื่อในครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำ หรือว่าพูดแบบมีเหตุมีผล หรือพูดแล้วน่าเลื่อมใส น่าเข้าใจ ...ก็ยึดถือความเชื่อนี้ไว้ก่อน เป็นอุบาย เป็นกำลัง ...มันก็เป็นกำลัง

เพราะนั้นตัวอินทรีย์พละ...คือกำลัง เป็นพละ ๕ ที่จะให้มันก้าวเดินต่อไปในองค์อริยมรรคได้รอบ ...ให้มีกำลังของศรัทธา...ในการเชื่อว่าให้กลับมาอยู่ในหลักบ่อยๆ 

อะไรเกิดขึ้นก็ได้อย่าไปห้าม ไม่ได้ห้าม ห้ามไม่ได้ ความคิดก็ห้ามไม่ได้ ความเชื่อก็ห้ามไม่ได้ ...แต่ว่าให้กลับมารู้ ว่ามันมีเกิดขึ้นอย่างนั้นๆ  กลับมารู้  อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรเกิดขึ้นก็เห็น ไว้ก่อนแค่นั้นเอง

มันก็จะสะสมกำลัง ...กำลังจิต กำลังใจ ก็จะเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ท้อถอย ...มันก็เกิดความเพียร ขยัน  มีอะไรก็รู้ ไม่มีอะไรก็รู้  ได้ก็รู้ ไม่ได้ก็รู้ ไม่ได้อะไรก็รู้

ทำแล้วไม่มีอะไรก็รู้ ทำแล้วเหมือนเดิมก็รู้ ทำแล้วแย่ลงก็รู้ ...รู้มันเข้าไป ๆ  ไม่ต้องคิดต่อ ไม่ต้องหาทางอื่น อย่าออกไปนอกนี้ อย่าออกนอกหลักนี้ แค่นั้นเอง แล้วก็เก็บเกี่ยวผลไป

จนกว่ามันจะได้ผลแบบที่...เออ อันนี้สุก อันนี้หวาน ...อันไหนผลมันยังฝาดอยู่ ผลมันยังสุกๆ ดิบๆ มันก็ยังรสชาติยังไม่กลมกล่อม หรือว่ารสชาติมันยังไม่เป็นที่ถูกปากถูกใจ ก็อย่าไปโลภ

อย่าไปโลภะ อย่าไปอยากได้ในผลนั้นๆ หรือผลที่..มันก็คิดถึงผลที่เราอยากจะได้  แค่นั้นเอง ...ก็ยอมรับไป ถึงจะฝาดๆ สุกๆ ดิบๆ เดี๋ยวมันก็หวาน เมื่อมันได้เวลาของมัน

เดี๋ยวมันงอมเมื่อไหร่ เดี๋ยวมันก็สุก ก็กินได้อร่อย ถูกปากถูกลิ้น อย่างนี้ ...จิตใจก็สบายผ่อนคลายขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้นๆ แล้วก็จะเห็นตามความเป็นจริงมากขึ้นๆ 

สุดท้ายที่เราไปเชื่อความคิดเราก็ตาม ความเห็นเราก็ตาม ความปรุงแต่งเราก็ตาม ...ถึงเราไม่ได้บูชา มันก็เหมือนกับบูชามันเหมือนกับเทพเจ้า คือหลงในความคิด หลงในความเห็น

นี่ถ้าในใจมันมีธูป มีเทียน มีศาลบูชา นี่มันยกขึ้นกราบไหว้แล้ว ยกย่องเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งพาอาศัยมาตลอด ...ทั้งที่ท่านให้เข้าใจความหมายว่าถึงพระไตรสรณคมน์

แต่ตอนนี้เราไม่ถึงพระไตรสรณะโดยแท้จริง ไม่เอาไตรสรณะคมน์เป็นที่พึ่ง ...กลับไปพึ่งผี พึ่งมาร พึ่งขันธมาร ไปผูกตายขายขาดกับมัน ...มันขึ้นเราก็ขึ้น มันว่าลง..เราก็ลง อย่างนี้

นี่เขาเรียกว่าไม่มีที่พึ่ง ไปพึ่งพาอาศัยกับไอ้ผีๆ สางๆ  ...คำว่าผีสางคืออะไร ...คือไอ้สิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน เข้าใจมั้ย ไอ้มารทั้งหลาย สังขารมารเหล่านี้ มันไม่มีตัวไม่มีตน 

แต่เราไปบูชายกย่องความคิดของเจ้าของ ยกย่องความเห็นของเจ้าของ ...แล้วก็วิ่งไปหาความเห็นที่มันดูเหมือนกับความเห็นของเรา แล้วก็ไปยกย่องคนที่มีความเห็นเหมือนกับเรา

มันก็แบ่งกันไปอย่างนี้ เกิดเป็นลัทธิ เกิดเป็นสายแนวทางการปฏิบัติตามความเห็นนั้นๆ ที่ดูคล้ายคลึงกลมกลืนกัน ...พอจัดแล้ว สรุปกันแล้วก็สุมหัวกันรวมกันว่า "กูถูกเว้ย ต้องทำอย่างนี้เว้ย"

มันเป็นเรื่องของการที่ว่าไม่ถึงไตรสรณคมน์  ...ถ้าถึงไตรสรณคมน์แล้ว เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ...ก็จะเข้าใจใน ตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงน่ะ  

พระพุทธเจ้านี่ไม่ใช่เป็นรูปอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นรูปปั้นหรือรูปพระพุทธรูป หรือรูปเป็นคนที่มีปุริสลักษณะ ...อันนั้นเป็นฉาก เป็นฉากบัง หรือม่านที่ห่อ เหมือนผ้าที่คลุม เสื้อผ้าที่สวมใส่ 

พระธรรมก็เหมือนกัน ...ความหมายของธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่ภาษา ไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่การเรียบเรียงเป็นประโยค หรือเป็นปิฎก เป็นกอง เป็นหมวด เป็นหมู่ เป็นวลี เป็นวัจนะ ก็ไม่ใช่ธรรมที่แท้จริง  

พระสงฆ์ก็เฉกเช่นเดียวกับพุทธะ..พุทธเจ้า ...แต่ความหมายของพุทธ ธรรม สงฆ์ ที่เป็นอันเดียวกัน หรือเป็นเรื่องเดียวกัน ...ความหมายจริงๆ ก็คือใจต่างหาก 

ตรงนั้นแหละ  พระพุทธเจ้าก็เป็นพระพุทธเจ้าที่ใจนะ ...ไม่ได้เป็นที่รูปลักษณ์ หรือการกระทำนะ 

พระธรรมก็ไม่ได้ว่าเป็นความหมายของธรรมคือความหมายของภาษาหรือความคิดความเห็น หรือเหตุหรือผลอะไร  ...แต่คือความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่มีตัวไม่มีตน

พระอริยสงฆ์ก็เฉกเช่นเดียวกัน ...นี่แหละเราจะถึงที่พึ่งที่แท้จริง ถึงไตรสรณคมน์ที่แท้จริง ...ก็ต้องกลับมาที่ใจ กลับมารู้อยู่ที่ใจ กลับมาเห็นใจของเราเท่านั้นเอง

เราถึงจะฝ่าด่านของมาร ขันธมาร หรือรูปขันธ์ นามขันธ์  ...อันนี้คือรูปขันธ์ของเราเองด้วย และมันยังมีรูปขันธ์ข้างนอกอีก ใช่มั้ย มันก็ยังเป็นตัวที่กีดขวาง ขวางกั้น 

กั้นทั้งในทางที่เขามาทำให้เรา กั้นทั้งในทางที่..ในแง่ที่เราไปทำกับเขา ...กั้นทั้งในแง่ที่ต่างคนต่างดึงกัน  ผูกกัน รักกัน สมัครสมาน สมัครสามัคคี ยึดมั่นถือมั่น เกาะเกี่ยวกัน มีเยื่อมีใยให้กัน  

นี่ เราจะต้องฝ่าขันธมารนี่หลายช่วง ...ทั้งภายนอกและภายใน


(ต่อแทร็ก 1/25  ช่วง 2)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น