วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/27 (1)



พระอาจารย์
1/27 (25530428A)
28 เมษายน 2553
(ช่วง 1)



(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ทำงานอยู่รึเปล่า

โยม –  รับราชการครูค่ะ

พระอาจารย์ –  อยู่จังหวัดไหน    

โยม –  สมุทรสาครเจ้าค่ะ   

พระอาจารย์ –  แล้วเป็นไงบ้างล่ะ การปฏิบัติ   

โยม –  ก็โดยส่วนรวมแล้วก็จะปวดขา ปวดหลัง ปวดแขนน่ะค่ะ จะเป็นอย่างนี้แบบทุกรอบ ถ้าไม่เป็นนี่ก็จะน้อยมาก จะปวดท้ายๆ ชั่วโมง  สมมุติว่ากำหนดไว้ห้าสิบนาที ก็จะท้ายๆ ที่กำหนดไว้ก็จะปวดเยอะมาก  แล้วอาจารย์เขาก็บอกว่าใช้วิธีกำหนดก็ได้ หรือว่าถ้าทนไม่ไหวจริงๆ ก็ขยับเปลี่ยนท่า ...แล้วน่าจะมีวิธีอื่นไหมเจ้าคะ   

พระอาจารย์ –  แล้วผลเป็นยังไง 

โยม –  ผล ก็รู้สึกว่า...ก็นิ่งขึ้นมาบ้างๆ  แต่ถ้ากลับไปทำงานนี่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเจอสภาวธรรมมาแล้วจะช่วยอะไรได้บ้างไหมเจ้าค่ะ 


พระอาจารย์ –  แล้วโยมนี่ล่ะ   

โยม 2 –  ตอนนี้โยมกำลังดูช่วงที่ว่าดูท้องตัวเองอยู่ค่ะ ว่ายังปวดเหมือนตอนที่ปฏิบัติอยู่รึเปล่า     

พระอาจารย์ –  เลยกังวล ...แล้วโยมนี่ก็สงสัย นั่งยังไงไม่เมื่อย   

โยม –  เจ้าค่ะนั่งแล้วจะปวด ปวดแขน   

พระอาจารย์ –  ไอ้ที่น่าสงสัยกว่า คือถ้านั่งแล้วไม่เมื่อยน่ะ (หัวเราะ) ...นั่งแล้วเมื่อยนี่ ไม่น่าสงสัยหรอก มันเป็นธรรมดา ...แต่จิตของเราเกิดไม่ยอมรับเมื่อไหร่ อันนั้นน่ะผิดธรรมดา

ทำไมเราไม่ไปสนใจตรงจิตที่เราไปขยับที่จะไปยุ่งกับมันน่ะ ปัญหามันอยู่ตรงนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มันเมื่อยหรือไม่เมื่อยนะ ...ปัญหามันอยู่ที่ “เราไม่อยากเมื่อย” รึเปล่า หือ   

โยม –  ก็คือใจมันก็คิดว่า จะหมดเวลาหรือยังเจ้าค่ะ  


พระอาจารย์ –  เพราะนั้นน่ะ ถ้าเรามีสติรู้มัน เห็นตามความเป็นจริงนี่ เราจะรู้ว่า ทุกข์นี่มันเกิดจากอะไร ...คือพวกเราเข้าใจว่า เมื่อยเป็นทุกข์ ปวดเป็นทุกข์

แต่ในความเป็นจริงน่ะ มันยังมีอีกทุกข์นึง ที่มันซ้อนอยู่ในทุกข์ของเมื่อยน่ะ ซึ่งพวกเราไม่เห็น ...แต่ถ้าเราจะแก้ที่ทุกข์ของความเมื่อยน่ะ อันนั้นน่ะเขาเรียกว่ามันแก้ไม่ถูกจุด มันแก้ในสิ่งที่แก้ไม่ได้

พระพุทธเจ้าสอนว่า ถ้าจะแก้...ให้แก้ในสิ่งที่แก้ได้ คือไอ้ทุกข์ที่มันซ้อนอยู่ตรงนั้น หรือว่าเหตุที่เกิดทุกข์จริงๆ ตัวที่มันทำให้เกิดทุกข์จริงๆ ตัวที่ซ้อนกันอยู่นี่คือเรื่องของความอยากกับความไม่อยาก

จริงๆ สองอาการนี่เหมือนกันหมด คือเราไปเพียรเพ่งอยู่ที่อาการ หรือว่าไปปรารภที่อาการ ...ไม่ได้กลับมาปรารภที่ใจ หรือว่าต้นตอของมัน

แต่ถ้ากลับมาปรารภนี่ จะรู้ว่าอาการทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันเป็นเรื่องของเวทนา...มันเป็นเพียงแค่สิ่งหนึ่งที่ถูกรู้เท่านั้นเอง มันไม่ใช่ต้นเหตุ

เพราะนั้นตัวเวทนาหรือสิ่งที่ถูกรู้นี่  ถ้าเราเข้าใจ...ด้วยการยอมรับๆ ...เข้าใจด้วยการยอมรับ  ไม่ใช่เข้าใจที่ว่าทำไมมันถึงไม่ดับ ทำไมมันถึงยังอยู่ ทำไมมันถึงไม่ไปไหน หรือว่าเป็นเพราะอะไรมันถึงเป็นอย่างนี้

มันไม่ใช่เข้าใจด้วยความยอมรับในวิธีนั้น แต่ยอมรับว่ามันคืออาการที่ปรากฏตามความเป็นจริง ...จะพอใจก็ตาม จะไม่พอใจก็ตาม  แต่เมื่อมันเกิดแล้ว ก็มองให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

เพราะนั้น ถ้าเราเข้าใจหรือว่ายอมรับในเบื้องต้นว่าเหตุของทุกข์ อาการของทุกข์ ไม่ว่าจะอะไร ก็เรียกว่าทุกข์เหมือนกัน อาการจะดูเหมือนแตกต่าง อย่างคนหนึ่งปวดที่ท้อง คนหนึ่งปวดที่ขา อย่างนี้

มันก็คือเวทนาหนึ่ง เป็นอาการของขันธ์อันหนึ่งที่ปรากฏ ถ้าเข้าใจแล้วยอมรับมันซะ แค่เนี้ย เราจะเข้าใจว่ามันต้องเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา

แล้วกลับมาปรารภอยู่ที่..ผู้ที่รู้น่ะ...ตรงไหน ใคร เป็นผู้ที่รู้ว่าปวด ใครเป็นผู้ที่รู้ว่าหนัก ตรงไหนล่ะ ...ถ้ากลับมาปรารภตรงนั้น มันจะเห็นทุกข์อีกตัวหนึ่ง ที่มันเกิดซ้อนอยู่ตรงนั้น

คือความไม่พอใจ ความอยากหรือความไม่อยาก ...ถ้าปรารภตรงที่รู้อยู่นี่ มันจะเห็นอาการอีกอาการหนึ่ง ที่มันแสดงปรากฏการณ์ตรงนั้นขึ้นมาว่า..อยากหรือไม่อยาก

ตรงนั้นน่ะ ถ้าเราเห็นตรงนั้น ...ความที่ทะยานออกมาของจิตนี่ มันจะระงับลง ...ไม่ว่าจะทะยานออกมาในการที่จะไปแทรกแซง แก้ไข ทำให้มันมากขึ้นหรือว่าน้อยลง

นี่ มันจะระงับหรือว่าดับ หรือว่าเบาลง ตรงนี้ถึงเรียกว่าการเข้าไปแก้ทุกข์หรือว่าเห็น ...จริงๆ แล้วไม่เรียกว่าแก้ทุกข์หรอก แต่ว่าเข้าไปเห็นว่าเหตุที่เกิดทุกข์อีกตัวหนึ่งนั้นน่ะ มันอยู่ตรงไหน

การที่เราเข้าไปเห็นเหตุให้เกิดทุกข์อีกตัวหนึ่งนั่นแหละ ที่พระพุทธเจ้าสอนมาทั้งหมดนี่ เพื่อให้เข้าไปเห็นตรงนั้น แล้วก็ไม่ตามมันออกมา แล้วก็ไม่ให้กำลังมัน

เพราะนั้น กำลังของมันหรือว่าการตามมันออกมานี่ อาการของมันก็คือความคิด หรือว่าความปรุงต่อ ความปรุงแต่ง ...ตรงนี้เกิดจากการที่เราไม่เห็น เกิดจากการที่เราไม่เท่าทันความอยากและไม่อยากตรงนี้

มันก็จะส่งออกมาเป็นกระแสของความคิด หรือว่าความปรุงแต่ง ในการที่ว่าจะไปแทรกแซงหรือไปแก้ไขอาการทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะอึดอัดคับข้อง กังวล เสียใจ ดีใจ เจ็บปวด ร้อนหนาว ไม่สบาย เป็นทุกข์ทั้งกายทั้งใจ  

เพราะฉะนั้น ถ้ายอมรับและเข้าใจว่าขันธ์นี่เป็นทุกข์ รูปขันธ์นี่เป็นทุกข์ นามขันธ์นี่ก็ทุกข์ ...ขันธ์..ถ้าพูดว่าขันธ์นี่ คือหมายความถึงขันธ์ทั้งห้า รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

พวกนี้เรียกว่าขันธ์ ขึ้นชื่อว่าขันธ์แล้ว ท่านเรียกว่าทุกข์ หรืออีกนัยหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็พูดว่า ภาราหเว ปัญจักขันธา คือขันธ์มันเป็นทุกข์โดยธรรมชาติของมัน

ตัวของขันธ์นี่ หรือว่าตัวของรูปนามนี่ ถ้าแยกออกไปสั้นๆ อย่างที่เราเคยพูดภาษากันก็ว่ารูปและนาม ...ธรรมชาติของรูปและนามตามความเป็นจริงเขาคือตัวทุกข์อยู่แล้ว

แต่ถ้านักปฏิบัติไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับ ไม่เห็นตามความเป็นจริงว่า รูปและนามนี่ ตัวของมันนี่เป็นทุกข์อยู่แล้ว ทุกข์มาตั้งแต่เกิด ทุกข์มาตั้งแต่ก่อนเกิด ที่มีนาม

พอมันจับรูปได้ หรือสร้างรูปด้วยการเกิดมา จับธาตุทั้ง ๔ มารวมกันแล้วออกมาจากท้องแม่ นี่ มันทุกข์ตั้งแต่จับรูปแล้วหรือมีรูปขึ้นมาแล้ว

ทีนี้ พอมาเริ่มปฏิบัติปั๊บ ด้วยความปรารถนาลึกๆ ของทุกคน..มันมี โดยเข้าใจว่าปฏิบัติแล้วจะพ้นทุกข์ หรือจะดับทุกข์ ก็เลยเน้นการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงนี่เพื่อจะดับทุกข์ตามที่เราเข้าใจ หรือว่าไปดับทุกข์ของขันธ์

ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามันดับไม่ได้ เพราะมันเป็นความจริงที่มันจะต้องแสดงตัวตนของมันที่แท้จริง ว่าตัวของมันโดยธรรมชาติอยู่แล้วคือทุกข์ ควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นดั่งที่เราต้องการหรือไม่ต้องการ

ถ้าเราเข้าใจหรือยอมรับขันธ์ตามความเป็นจริงในระดับหนึ่งแล้ว เวลามันมีอาการอะไรแสดงขึ้นมาหรือปรากฏขึ้นมา ตรงนี้...มันก็จะเห็น เท่าทัน เข้าใจและยอมรับ

แต่ถ้าปัญญาน้อยหรือไม่มีปัญญา พอมีอาการอะไรทั้งรูปและนามปรากฏ  อาการทางรูป...ส่วนมากก็จะรู้อยู่ที่ทุกข์ ไม่สบายกาย ร้อนหนาว เจ็บปวด

อะไรอย่างนี้ถือว่าอาการของรูปปรากฏออกมาเป็นเวทนา หรือถ้าอาการของนามก็เกิดเป็นทุกข์ในลักษณะที่ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ วิตกกังวลอย่างนั้นอย่างนี้ โทสะ โกรธ

พออาการเหล่านี้ปรากฏปุ๊บ ด้วยความที่ว่าปัญญาไม่รู้เท่าทัน หรือว่าไม่ยอมรับ หรือว่าไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่ยอมรับตามความเป็นจริงปุ๊บนี่ มันจะกระโดดเข้าไปเล่นด้วย 

คือกระโดดเพื่อเข้าไปปกป้อง หรือกระโดดเพื่อจะทำให้มันเป็นดั่งที่เราตั้งเป้าเอาไว้ ตรงนี้ เรียกว่ามันกระทำไปด้วยความที่ว่าไม่เห็นตามความเป็นจริง หรือว่าทำไปด้วยความโง่ของจิตที่ไม่รู้

เลยเข้าใจว่า เมื่อทุกข์เกิดแล้วเราจะต้องไปแก้มัน ไม่ให้มันเกิด ไม่ให้มันตั้งอยู่ได้ หรือให้มันดับไปเร็วที่สุด นั่น เราก็จะคิดว่าเก่ง เราก็คิดว่าถูก

เราก็คิดว่านี่แหละผลของการปฏิบัติธรรม คือจะต้องดับทุกข์แก้ทุกข์ได้เร็วไว ทันทีทันใด จึงจะเรียกว่าได้ผล แล้วก็เพียรพยายามเข้ามาปฏิบัติธรรมมากขึ้นๆ เพื่อจะหาวิธีไปเอาชนะมัน

แต่การปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง ที่ตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน...จริงๆ ท่านสอนว่า เรื่องทุกข์นี่ ท่านให้วางนะ ...เข้าใจคำว่าวางทุกข์ไหม วิธีวางทุกข์ก็คือไม่สนใจกับมัน

อะไรจะเกิด อะไรจะตั้งอยู่ อะไรจะดับไป อะไรจะเกิดขึ้นใหม่ แค่รู้เฉยๆ รู้เฉยๆ ...แล้วให้สังเกตว่า อะไรที่มันไม่ยอมเฉย ตรงนั้น ถ้ามันไม่เฉย หรือไม่ยอมรับมันเมื่อไหร่ มันจะมีอาการดีดดิ้น

ตรงนั้นแหละ ท่านให้มาศึกษา สติให้เข้ามารู้ตรงนั้น จิตที่มันหวั่นไหว อาการที่มันหวั่นไหว อาการที่มันส่ายแส่ อาการที่มันกระเทือน อาการที่มันดิ้นรน อาการที่มันทะยาน เห็นมั้ย ตรงนั้น

ถ้าดูตามอาการโดยไม่ต้องมีภาษาพูด มันจะเป็นอาการที่แกว่ง ดิ้น กระเทือน กระสับกระส่าย ไหว ไม่ตั้งมั่น ...ตรงนั้นแหละ ถ้าเราจับอยู่ตรงนั้น หรือว่าดู สังเกตอาการนั้น มันจะดับทุกข์ตามความเป็นจริงได้

แต่ทุกข์นี่ไม่ดับนะ ทุกข์ทางกายยังไงก็ไม่ดับ  หรืออารมณ์น่ะ เดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นมาใหม่ได้ ดับไปชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เกิดใหม่ได้ ...แต่ว่าไม่สนใจ หรือว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาการของรูปและนาม

ถ้าจิตมันเข้าใจตรงจุดนี้ว่าอาการทุกข์ที่แท้จริงนี่ ทุกข์ตามความหมายที่พระพุทธเจ้าให้เห็น แล้วก็ดับตามความเป็นจริงนี่ ที่เห็นแล้วมันจะดับตามความเป็นจริงได้ คือทุกข์อุปาทาน

ถ้าเข้าใจตรงจุดนี้ หรือเข้าไปสู่ความดับทุกข์อุปาทานแล้วนี่ ...ไอ้ทุกข์ของรูปและนาม มันเห็นเป็นเรื่องธรรมดาได้ ยอมรับได้มากขึ้น ...ความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมองเห็นเป็นเรื่องปกติ

ไม่ใช่เป็นเรื่องของศัตรูที่เราจะต้องไปฆ่าฟันหรือเอาชนะกัน เพราะยังไงๆ มันก็ต้องเจ็บต้องปวด ยังไงๆ มันต้องแตกต้องดับเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ไม่ดับวันนี้อีกไม่ถึงร้อยปียังไงก็ตาย ยังไงก็ไม่เหลือ

มันก็จะมองแบบยอมรับได้ จิตมันจะมีความเข้าใจว่ามันมีทุกข์ตรงนี้ แล้วมันแก้ตรงนี้...มันแก้ตรงนี้แก้อยู่ที่ใจ ละอยู่ที่ใจ ละความอยากกับละความไม่อยาก เป็นหลักเลย..หลักอยู่ตรงนี้

เราไม่รู้หรอกวิธีการปฏิบัติสายไหน กำหนดอย่างไร ผิด-ถูกเราไม่รู้ แต่รู้ว่าถ้ามันเข้ามาดับทุกข์ตรงนี้ได้ เข้ามาเห็นทุกข์ตามความเป็นจริงที่มันซ้อนทุกข์ภายนอกอยู่นี่


แล้วเข้าไปรู้เท่าทัน เห็นอาการพวกนี้ แล้วอาการพวกนี้มันเกิดความเบา จางคลาย  แล้วก็ยอมรับในทุกสิ่งตามความเป็นจริงได้มากขึ้น ...เราถือว่าการปฏิบัตินั้นตรงเป้าที่พระพุทธเจ้าท่านสอนแล้ว


(ต่อแทร็ก 1/27  ช่วง 2)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น