วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/33 (2)


พระอาจารย์
1/33 (25530526C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/33  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ว่าอาการของจิต ถ้าเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าพล้อบๆ แพล้บๆ ปุ๊บ รู้แล้วปุ๊บก็หายไป ไม่เป็นไร มันก็มี ...แต่บางอย่างรู้แล้วมันเสือกไม่หายนี่สิ ไอ้นี่คือปัญหา

แล้วเราอยากจะรู้ต่อ อยากจะเห็นว่าเมื่อไหร่มันจะดับวะ ...คือจะเห็นความดับไป จะได้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ ...เห็นมั้ย มันอยากแล้ว มันอยาก มันรู้แบบจงใจแล้ว

ถ้ารู้แบบจงใจนี่ ที่จะให้เห็นอะไรเป็นอะไร มากขึ้นน้อยลงยังไง อาการที่สุดคือยังไง หรือมันมาจากไหน จะหาเหตุหาผลกับมันยังไง ...ท่านเรียกว่าเพ่งหมด

บางทีครูบาอาจารย์บอกรู้เพ่ง รู้เผลอ เดี๋ยวก็เพ่งเดี๋ยวก็เผลอ ...ไอ้พวกเราก็หาใหญ่ อะไรคือเพ่ง อะไรคือเผลอ อะไรคือรู้ แยกไม่ออกอีก ...เพ่งหมดแหละ บอกให้เลย

เพราะถ้าเราไปตั้งอกตั้งใจดูมันนี่แหละเพ่งแล้ว ...เพราะนั้นสตินี่ แค่รู้เฉยๆ รู้เบา รู้นิดเดียวก่อน แล้วถอยมาตั้งอยู่กับกายก่อนซะ แล้วก็แอบดูนิดนึง

ถ้าเปรียบเทียบให้ฟัง...เหมือนกับมีแมวกับหนู แมวเฝ้าอยู่หน้ารูหนู ให้แมวตัวนี้เฝ้าดูว่า คอยดูหนู มันจะออกจากรูเมื่อไหร่ หรือดูหนูจะเข้ารู หรือดูว่าที่ออกจากรูนี่ นอกจากหนูแล้วจะมีอะไร

นี่คือหน้าที่ที่เขาให้แมวนี่เฝ้าดูอยู่ ...แมวมันก็ทำหน้าที่ของมัน คือมันก็นั่งเฝ้าดูอยู่หน้ารู อะไรออกมามันก็ดู มันก็รู้ หนูออกไปกี่ตัว ...อันนี้คือแมวที่ดี แมวที่รู้จักหน้าที่ ไม่เกินหน้าที่เข้าใจมั้ย

แล้วมันมีแมวอีกตัวหนึ่ง เขาก็ให้มันทำหน้าที่นี้ ...แต่มันทำเกิน มันทำเกินหน้าที่...คือมันดูไปๆ เออ หนูออก เออ หนูเข้า เออ หนูออก แล้วมันเริ่ม..พอหนูออกไปแล้วมันเริ่มหันไปมองหนู

เพราะว่าไอ้ตอนที่หนูเข้าหนูออกไป...กูดูไม่ชัดว่ะ ไม่รู้ว่ามันเป็นหนูตัวผู้หรือหนูตัวเมีย  เมื่อกี้ดูแวบๆ มันผ่านไปนี่ ไม่รู้ว่ามันหนูสีอะไร ตัวใหญ่รึเปล่า แก่รึเปล่า หรือว่าเด็ก

มันก็เลยอยากจะดูชัดๆ นั่น มันหันไปมองแล้ว ดูตามไปแล้ว ละเลยหน้าที่ที่เขาให้ทำแล้ว ...ไม่ดูรูนี้แล้วนะ หันไปดูหนูที่มันออกไป จะเอาความชัด

แล้วดูซิว่ามันจะไปตายที่ไหน แล้วมันจะตายท่าไหนด้วยกาลกริยาอย่างไร ถูกตีตาย ถูกกับดักหนู หรือแก่ตายเอง ...คราวนี้ดูไป มันก็ไปเรื่อยๆ ไอ้แมวตัวนี้มันก็อยากดูมากขึ้นให้ชัด

เพราะมันออกไปไกลแล้ว มันก็เดินตามไปดูเรื่อยๆ เดินตามไปๆ ...รูนี้โล่งโจ้งแล้ว ใช่มั้ย รูนี้โล่งโจ้งแล้วนะ ใครเข้าใครออกไม่รู้เลยนะ แมวมันก็ไปอยู่กับโน่นแล้ว

พอตามไปตามมาถึงที่สุด ถ้ามันไล่ทัน มันก็ตบให้ตายเลย ...แล้วมันก็ดีอกดีใจว่าหนูมันตายแล้ว เพราะกูนี่แหละ มันจะได้ไม่ต้องเข้ารูนี้อีก เข้าใจมั้ย ...แต่ที่ไหนได้ มันเข้าอีกบานเลย ตัวใหม่ๆ

หรือออกมาอีกบานเลย กระจัดกระจายอยู่แถวไหนก็ไม่รู้ ...เพราะฉะนั้นความหมายว่า หน้าที่คือให้รู้อยู่ตรงนี้ จะได้รู้ว่ามันเข้าหรือมันออกพอแล้ว ...อย่าทิ้งรูนี้ เข้าใจมั้ย อย่างนี้

เหมือนกัน "สติ" ท่านให้รู้นิดเดียว ...จริงๆ แล้วน่ะ ให้รู้ว่ามีอะไรหรือไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างนี้ มีอาการเกิดขึ้นหรือไม่มีอาการเกิดขึ้น ไม่ต้องไปดูรายละเอียดของมันหรอก

ไม่ต้องไปเพียรเพ่งจดจ่อหรือว่าเมื่อไหร่มันจะตายสักทีวะ หรือนั่งแช่งชักหักกระดูกมันระหว่างดูน่ะ “ทำไมไม่หายๆ คราวก่อนเคยหายน่ะ คราวนี้ทำไมไม่หายไปล่ะ”

เห็นมั้ย มันทำเกินหน้าที่แล้ว ...อะไรที่เป็นตัวกำหนดให้เกินหน้าที่...ความอยาก ความตรึกอยู่ในอาการนั้นๆ ..ตรงเนี้ย ท่านเรียกว่าสติตรงนั้นน่ะไม่เป็นกลางแล้ว

มันไม่เป็นกลางแล้ว มันไปมีเงื่อนไขขึ้นมา มันไปสร้างเงื่อนไขในการดู ในการรู้แล้ว...เขาจะไปยังไหน เขาจะไปเป็นยังไง เขาจะไปมากขึ้น เขาจะไปน้อยลง

หรือเขาจะไปตายที่ไหน จะไปตายกลางทาง หรือจะไปแก่ตายข้างหน้า ...เราไม่เกี่ยวแล้ว หน้าที่คือเรารู้ว่าหนูออกไป มีอาการนี้เกิดขึ้น...พอแล้ว

แต่อุบายที่จะให้รู้เฉยๆ เบื้องต้น...เรายังตั้งหลักไม่ได้ เรายังตั้งมั่นไม่ได้ที่จะรู้เฉยๆ ...เพราะเรายังไม่เข้าใจเลยว่ารู้เฉยๆ รู้ยังไง ...ก็ถึงถาม รู้กายมั้ย เห็นกายเฉยๆ มั้ย  

แล้วรู้เฉยๆ เป็นยังไง เข้าใจมั้ย รู้กายเฉยๆ เป็นยังไง เห็นกายเฉยๆ เป็นยังไง ...เห็นแบบไม่ยินดียินร้ายน่ะ เห็นเฉยๆ เห็นเป็นปกติ เห็นเป็นธรรมดา 

เห็นมั้ย ถามก็ไม่รู้จะพูดยังไง ...เพราะมันไม่มีอารมณ์ในกายนี้เลย ไม่มีว่าดีหรือไม่ดี ไม่มีว่าถูกหรือว่าผิด ...เห็นมั้ย นี่เรียกว่าสติที่เข้าไปรู้ตรงนี้ เป็นกลางกับกายแล้ว

เมื่อรู้กาย เป็นกลางกับกายบ่อยๆ ..สติภายในนี่มันจะจดจำสภาวะได้ จดจำสภาวะของการที่ว่ารู้เป็นกลางๆ หรือว่ารู้ปกติอย่างนี้...มันจะจดจำ ชัดเจนแล้ว

เวลามีอะไรเกิดขึ้นภายในที่เป็นอาการทางจิต มันก็จะจดจำสภาวะที่รู้กายปกตินี่มารู้จิตปกติ ว่ารู้ปกติเหมือนกับรู้กายปกติน่ะรู้ยังไง ต้องเอาสติไปตั้งอย่างไรที่จะเป็นรู้กลางๆ

เห็นมั้ย ถ้าไม่กลางเมื่อไหร่...ถอย เข้าใจมั้ย ...นี่ เริ่มเข้าไปพัวพัน เริ่มไปปรุงแต่งต่อ เริ่มไปหาเหตุหาผล เริ่มมีคำอธิบาย เริ่มจะมีอย่างนั้นอย่างนี้

เริ่มไปฟื้นอดีตขึ้นมา เริ่มไปฟื้นความทรงจำ ฟังอาจารย์องค์ไหนมา ฟังสภาวะคนนั้นคนนี้มา เริ่มฟื้น นี่ ...ถอย มันเริ่มถูกชักจูงให้ออกไปแล้ว ด้วยความปรุงแต่ง

กลับมารู้กลางๆ กับกายก่อน ตั้งมั่นก่อนๆ ช่างมัน มันจะอยู่มันจะไป เราจะไม่เห็นรายละเอียดว่ามันจะมากขึ้น มันจะน้อยลง ...เราละตรงนั้นเลย เราละอาการนั้นเลย

ละนี่ไม่ได้หมายความว่าดับนะ ...ละคือไม่ต้องไปยุ่งกับมันแล้ว คือมาให้ความสำคัญหรือว่าเอาสติมาตั้งอยู่ที่กายแทน ...มันจะหัวหกก้นขวิดขนาดไหน ปล่อยเลย ไม่ต้องรู้เลย

แล้วแอบแตะนิดๆ เข้าไปหยั่งนิดๆ  คอยรู้...อ้อ มันยังฟาดหัวฟาดหางอยู่  อ้อ มันยังดีอยู่  อ้อ มันยังมากขึ้น  อ้อ มันยังน้อยลง หรืออะไรก็ตามแล้วแต่อาการของมัน ...แค่แตะนิดนึงแล้วถอยออกมา

จนชำนาญๆ ...สลับไปสลับมาอย่างนี้ จนชำนาญ จนเข้าใจ จนชัดเจน ...จิตมันจะเข้าใจในความหมายของคำว่ารู้กลางๆ ยังไง รู้เพ่งยังไง รู้แล้วไป รู้แล้วอยู่ มันจะแยกแยะออก

คราวนี้ไม่ต้องไปถามใครแล้ว เข้าใจมั้ย มันจะต้องไม่ถามใครแล้ว ให้คนอธิบายสิบคนมันก็จะอธิบายไม่ตรง ...หรือฟังอธิบายเราแล้วยังไม่ชัดเจน ไปนั่งถามคนข้างๆ

“เธอเพ่งรึเปล่า แล้วอย่างไรถึงชัด ฉันดูอย่างนี้ เธอดูอย่างนี้ อย่างไหนเรียกว่าเพ่ง อย่างไหนเรียกว่าไม่เพ่ง” ...มันเริ่มมีข้อมูลหลากหลายแล้ว ลังเลแล้วนะ สงสัยแล้วนะ

วิธีแก้สงสัยคือ...ไม่สงสัย อย่าไปสงสัย อย่าไปหา ...กลับมารู้ตรงนี้เลย รู้ตรงนี้เลย ตรงนี้คือกายนี้เลย เข้าใจมั้ย พอรู้ตรงนี้ปุ๊บ สงสัยๆ ช่างหัวมัน เห็นมั้ย

อย่าไปสนใจ อย่าไปหาเหตุหาผลกับความสงสัยหรือแก้ความสงสัย ...รู้ตรงนี้ก่อน กลับมารู้ตรงนี้ก่อน โง่เข้าไปเหอะ ไม่ต้องรู้อะไรหรอก ช่างหัวมัน ...รู้ตรงนี้ให้ได้ก่อน ให้มันตั้งมั่น

ความสงสัยก็ไม่เที่ยงโดยธรรมชาติของมัน เดี๋ยวมันก็คลายเองแหละ พอมาดูอีกที อ้าว ไม่สงสัยแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไร บอกให้เลย มันก็หายสงสัย ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไร

เพราะความสงสัยมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ โดยธรรมชาติมันเป็นสภาวะหนึ่งของอาการ แค่เนี้ย

แล้วถ้าเกิดอาการนี้ เราก็พยายามอยู่อย่างนี้ อยู่อย่างนี้ ไม่ต้องไปเอาที่สุดของมันอยู่ตรงไหน ...มันดูไม่ได้หรอก ในขั้นตอนของการปฏิบัติเริ่มต้นนี่

ไม่งั้นมันจะจมไปกับอาการของจิต โดยที่ว่า “เอ๊ะ ก็เราก็รู้อยู่น่ะ ก็เราก็รู้อยู่เห็นอยู่ แต่ทำไมมันมากขึ้นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ” อย่างเนี้ย หรือไปเรื่อยไม่รู้จักจบ

บางคนน่ะบอกว่า นอน ดิฉันนอนดูค่ะ ก่อนหลับดิฉันก็นอนดูจิตค่ะ แล้วก็นอนดูความคิดไปค่ะ ทั้งคืนเลย ไม่หลับเลยค่ะ ...มันดูได้ตลอดทั้งคืนบอกให้เลย ถ้าดูความคิดน่ะนะ เข้าใจมั้ย

คือมันไหลตาม คือมันไม่รู้อยู่ มันรู้แล้วไปกับความคิด ไปในรายละเอียดของความคิดนั้นๆ ...พอไปถึงขนาดนั้นแล้วก็หงุดหงิดแล้ว เริ่มหงุดหงิดแล้ว หงุดหงิดๆ รำคาญ

แล้วก็เริ่มตำหนิตัวเอง “เอ๊ะ ทำไม ดูผิดรึเปล่า” อย่างนั้นอย่างนี้ ...แล้วก็เริ่มสงสัย แล้วก็เริ่มท้อ แล้วก็บอก เอ๊อะ ไม่ทำแล้ว ขี้เกียจแล้วกู ...มันจะเป็นอย่างนั้นไป

เพราะนั้นในหลักของสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้พูดแค่ดูจิตอย่างเดียวนะ ท่านพูดไว้ตั้ง ๔ อย่าง กาย เวทนา จิต ธรรม ...แต่เราบอกให้เลย ไอ้เวทนา ไอ้ธรรมนี่ กะไอ้จิตนี่ ดูทีไรนี่...หลุด บอกให้เลย

แต่กายนี่ ลองแยกดูด้วยตัวเอง เราจะรู้ พอดูแล้วมันสามารถตั้งมั่นได้โดยที่ไม่ยินดียินร้ายเท่าไหร่ และในขณะที่เรารู้กาย มันก็จะเห็นเวทนาของกาย

แล้วก็จะเห็นความแปรปรวนของเวทนาไปในตัวอยู่แล้ว ขณะที่เห็นกายนี่มันก็รู้อยู่ว่าสบายหรือไม่สบาย เฉยๆ


โยม –  กายนี่เราดูอิริยาบถหรืออะไรก็ได้ใช่มั้ยคะ อย่างผัสสะ หรือที่มันมีลมกระทบ

พระอาจารย์ –  ใช่ การรู้กายนี่ไม่ใช่ตั้งรูปขึ้นหรือว่านึกถึงรูปกายขึ้นมา ...รู้กายจริงๆ คือกายวิญญาณ คือความสัมผัสไปในกายวิญญาณทั้งตัว เป็นก้อนๆ ทั้งตัว

ไม่ได้รู้ว่าเป็นรูปลักษณ์ยังไง หรือว่านึกเห็นภาพกายกำลังยืน กำลังเดิน ไม่ใช่นะ ...เป็นการรู้สึกของกายวิญญาณ สัมผัส โดยสติเข้าไปสัมผัสกับกายวิญญาณทั้งตัว แข็งๆ


โยม –  อย่างเดินแล้วรู้สึกแข็งๆ ที่กระทบก็ได้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เออ อาการแข็งๆ แล้วไหลไปไหลมา เคลื่อนไปไหวมา แล้วรู้อาการนั้น เนี่ย เรียกว่ารู้กาย ...ไม่ใช่เห็นรูป เป็นรูปของกาย หรือว่าสีสันวรรณะอย่างไร

อันนั้นเขาเรียกว่าเป็นรูปนิมิต ไม่ใช่กายวิญญาณ เข้าใจมั้ยเพราะนั้นสติให้รู้กายวิญญาณ ไม่ใช่รู้เป็นรูปนิมิต ถ้าเป็นรูปนิมิตก็ต้องหลับตาแล้วเห็นภาพเรากำลังนั่งอยู่อย่างนี้

แต่นั่งหลับตาแล้วไม่เห็นภาพ แต่รู้สึกตัว รู้สึกว่ากำลังนั่งอย่างนี้ ให้แยกดู ไปแยกแยะดู ...แล้วมันจะเห็นว่าให้รู้ยังไง สติให้รู้กาย กายทั้งตัว คือให้รู้ความรู้สึกของกายวิญญาณ


โยม –  สมมุติว่าถ้านั่งสมาธิแล้วก็รู้สัมผัส ลักษณะอย่างที่ท่านว่านี่ เหมือนกับพอรู้แล้วเราก็รู้สึกถึงสัมผัสตามทวารต่างๆ ...ทีนี้พอรู้ไปสักพักนึง มันเริ่มตั้งมั่น มันเหมือนกับไปอยู่ในที่ว่างนิดนึง แต่ถ้าเกิดว่าสติเรายังทันว่าเรากำลังสบาย ก็ให้รู้ตรงนั้นไป

พระอาจารย์ –  อือ รู้ตรงนั้น อย่าไปจงใจ อย่าไปกำหนด ...แต่ส่วนมากมันค่อนข้างจะไปกำหนด แล้วมันชอบ ตอนนั้นมันจะไม่ทันตรงนั้น ...แต่ถ้ารู้ว่าชอบรู้ว่ากำลังสบาย รู้ว่าพอใจกับตรงนั้น ไม่เป็นไร


โยม –  มันจะไปต่อ

พระอาจารย์ –  อือ เดี๋ยวมันจะไม่อยู่ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน ...พอเปลี่ยนแล้วอย่าเสียใจ  เสียใจก็รู้ว่าเสียใจ อยากได้มาอีก ก็รู้อีก อย่างเนี้ย เข้าใจมั้ย คือไม่มีการกำหนดหรือบังคับหรือควบคุม

แต่มันจะไม่ทันเวลาที่มันนิ่ง พอเริ่มหยุด แล้วไม่ออกไปนั้นไม่ออกไปนี้แล้ว ...จิตมันเริ่มรวมแล้ว อย่างนี้จิตเริ่มรวม..เริ่มรวมด้วยกำลัง มันจะมีความพึงพอใจเกิดขึ้น ปีติ ...ต้องให้รู้ทันว่ากำลังชอบแล้วๆ


โยม –  พอจิตไปตรงนั้น มันถอยออกมาเอง ปกติรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ปกติ มันไม่มีอะไรตั้งอยู่ชั่วอนันตนิรันดร์กาล สุดท้ายคือดับไป ...แต่เวลามันดับไป เสียใจรึเปล่า แต่ถ้าไม่เสียใจก็รู้ ถ้าเสียใจก็รู้

วางไป รู้ไป ไม่ต้องหมายความว่าจะต้องได้อะไรหรือเป็นยังไง ...แล้วแต่มันจะเป็น


(ต่อแทร็ก 1/34)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น