วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/32 (1)


พระอาจารย์
1/32 (25530526B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ ที่โยมเล่าเรื่องภาวนานี่โอเคอยู่ใช่ไหมคะ ก็ทำไปเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  อือ ให้ระวังความปรุงแต่ง ...ในความลักษณะที่ว่าหงุดหงิดได้ก็หงุดหงิดไป ไม่ต้องไปห้าม หรือว่าแก้ความหงุดหงิด ...แต่ให้ระวังความปรุงแต่ง

อย่าไปคิด อย่าไปคิดหาเหตุหาผล หาจับผิดจับถูก ทำไมถึงอย่างนั้น หาจับแพะชนแกะ ...พวกนี้ ต้องทัน แล้วเลิกคิด ไม่คิดตามมันไป

ส่วนอารมณ์ ความหงุดหงิด ขุ่น มัว เศร้า หมอง พวกนี้ไม่ต้องแก้ รู้เฉยๆ ได้ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน อยากมีก็มีไป อยากตั้งก็ตั้งไป ...แต่เรื่องของสังขารความปรุงแต่งนี่ อย่าเอามาปน

ไม่งั้นอารมณ์มันจะยิ่งตั้งอยู่ต่อเนื่อง ไม่รู้จักจบ มันจะฟุ้งซ่านไปเรื่อยน่ะ ...แล้วมันจะออกพาลแล้ว มันพาลไปเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว คนนั้นคนนี้เข้าใกล้ก็หงุดหงิดไปหมด มันขัดหูขัดตาไปหมด อะไรอย่างนี้ 

ถ้าปล่อยให้มันคิดไปเรื่อยเปื่อยน่ะ มันเหมือนเอาไฟไปสุม มันเหมือนกับเร่งเอาฟืนไปสุมน่ะ ความคิดปรุงแต่งนี่...ทั้งในแง่บวกแล้วก็แง่ลบน่ะ

พยายาม...ถึงบอกทุกคนว่าพยายามคิดให้น้อย ไม่ใช่เอะอะๆ อะไรก็คิด  เอะอะๆ อะไรก็หาเหตุหาผล  เอะอะๆ อะไรก็ไปพิจารณาถึงเหตุการณ์นั้นนี้ว่าอย่างนั้นอย่างนี้

แต่ถ้าเท่าทันหรือว่าความคิดน้อยลงนี่ ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็จะเป็นไปตามเหตุและปัจจัยเอง แล้วก็เรียนรู้กับมันอย่างนั้น

แต่ความคิดน่ะมันทำให้เปลี่ยนระบบสมดุล ...เพราะพอเดี๋ยวมันคิดไปข้างหน้าปุ๊บ มันจะมีการกระทำตามนั้นออกไป 

(หยุดช่วงมีพระภิกษุเข้ามาร่วมฟัง)


ผู้ถาม –  มาฟัง ไม่มีปัญหาอะไรครับ ฟังเฉยๆ

พระอาจารย์ –  ยิ่งอยู่ยิ่งไม่ต้องทำอะไรมากขึ้น ใช่มั้ย ยิ่งอยู่ยิ่งง่ายๆ ขึ้น ...ว่าแต่อย่าจริงจัง อย่าไปเอาจริงเอาจังอะไร บวชสบายๆ อยู่เรียนรู้ไป


ผู้ถาม –  เฉยมากขึ้นครับ

พระอาจารย์ –  เป็นปกติ เรียนรู้ความเป็นปกติ

จริงๆ รูปแบบของพระ อย่างที่ผมพูดน่ะ พระพุทธเจ้าท่านวางมาตรฐานการบวช หรือมาตรฐานการดำเนินของพระนี่ เพื่อให้กลับมาเรียนรู้ความเป็นปกติเรียบง่าย ธรรมดา

ถ้าชีวิตจริงๆ แล้วนี่ แค่นี้ก็พอแล้ว อยู่ได้ ไม่ต้องขวนขวายหรือว่าดิ้นรนทะยานอยากอะไร ในความเป็นกลาง แค่นี้ ปัจจัย ๔ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยา ที่อยู่อาศัย อยู่แค่นี้

ก็สามารถจะดำรงชีวิตได้โดยการปฏิบัติธรรม นี่ กลับเป็นปัจจัยให้เกิดความปกติเรียบง่ายมากขึ้นๆ ยิ่งเป็นปกติเรียบง่ายมากขึ้นเท่าไหร่ ความเห็นจริง ยอมรับความเป็นจริง มันจะมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าเราทำให้มันพิเศษ ประหลาด มหัศจรรย์ หรือว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ...ถ้าเพิ่มไอ้พวกนี้เข้าไปนี่ มันจะเป็นตัวขัดขวาง โดยปริยาย เป็นตัวปิดบังโดยปริยาย

เป็นตัวทำให้เราเกิดความไขว้เขว ทำให้เกิดความลังเล เกิดความเข้าไปมีเข้าไปเป็นพวกนี้ ...สภาวธรรมก็จะถูกเบี่ยงเบนไป ไปตามคนละทิศคนละทางของการกระทำแต่ละอย่าง

แล้วเราก็จะไปจับเอาผลของการกระทำนั้นๆ น่ะ มาเป็นที่พึ่ง ถ้าไปจับผลของการกระทำต่างๆ นานา ที่ทำขึ้นมา มาเป็นที่พึ่งนี่ บอกให้เลยว่า มันจะค่อยๆ ออกนอกไตรสรณคมน์มากขึ้นๆ

ออกนอกพุทธะ ออกนอกธรรมะ ออกนอกสังฆะ หรือพูดโดยรวม พุทธะ ธรรมะ สังฆะ หรือไตรสรณคมน์ที่แท้จริง ก็คืออริยมรรค ก็คือองค์มรรค

ถ้าอยู่ในองค์มรรคอยู่ตลอด หรือด้วยจิตที่เป็นกลาง ปกติธรรมดา ตั้งมั่นอยู่ในความเป็นกลาง ปกติธรรมดานี่ ...ลักษณะนี้คืออยู่ในองค์มรรคตลอดเลย

แล้วผลที่สุด จิตที่อยู่ในองค์มรรคอยู่ตลอด มันก็เข้าไปสู่ความเป็นไตรสรณคมน์ เข้าถึงพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ที่เป็นหัวใจ หรือว่าเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธเจ้าที่ต้องการ

หรือว่าเป้าหมายสูงสุด...ก็คือเป้าหมายที่เป็นจุดสุดท้ายของการเกิดการตาย หรือว่าถ้าตายก็เรียกว่าตายครั้งนี้คือครั้งสุดท้าย ...นั่นน่ะคือเป้าหมาย

แต่ถ้าออกนอกนี้ไปนี่ ไม่เอาที่พุทธะเป็นสรณะ ไม่เอาธรรมะเป็นสรณะ ไม่เอาสังฆะเป็นสรณะแล้ว มันเอาไอ้สิ่งที่มันอยากได้ อยากมี อยากเป็น...เป็นสรณะ

นั่งสมาธิแล้วต้องอย่างนั้น ทำความเพียรเยอะๆ แล้วจิตจะเป็นอย่างนั้น อดข้าวเจ็ดวัน สิบวัน แล้วเดี๋ยวมันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้  ถ้าเราปิดวาจาซะอย่างนั้น แล้วจะเป็นอย่างนี้

นี่ มันเอาพวกนี้ เอาผลที่ได้จากการประกอบกระทำมาเป็นที่พึ่ง แล้วก็เหมาเอาเองว่าสิ่งที่ทำน่ะเรียกว่าสภาวธรรม 

แต่มันไม่ใช่สภาวธรรมที่แท้จริง เพราะเป็นสภาวะที่ประกอบกระทำขึ้นมาด้วยความจงใจหรือเจตนา

ตรงนี้ คนที่มีปัญญาน้อยหรือว่าคนที่ไม่มีปัญญา จะแยกไม่ออก ว่าสภาวธรรมที่จริง กับสภาวะที่ทำขึ้น มันต่างกันยังไง ...มันจะเกิดอาการแบบเหมา...เหมารวมหมด กูได้ กูมี กูเป็น แล้วก็ยึด

ถ้าทำขึ้นมา..ไม่มีใครไม่ยึดหรอก บอกให้เลย ...ก็หามากับมือน่ะสภาวะนี้  เหมือนหาเงินน่ะ หาเงินก็ได้เงิน ก็คิดว่าเงินนี้ได้มาเพราะเรา

นี่เห็นมั้ย มันต้องยึดอยู่แล้วว่าเงินนี่เป็นสมบัติของเราน่ะ ใครจะมาช่วงชิงวิ่งราวไป มันก็มีอาการเสียดาย มันก็มีอาการที่ไม่ยอมรับ มันก็มีอาการที่หวงแหน

มันก็มีอาการที่จะสะสมมากขึ้นๆ เห็นมั้ย ผลแห่งการกระทำ แล้วมันเอาผลของการกระทำมาเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ นี่...เราถือว่าออกนอกไตรสรณคมน์แล้ว

แต่ถ้าประกอบด้วยการอยู่ในองค์มรรคสม่ำเสมอ ด้วยจิตที่เป็นกลาง หรือว่ารับรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ แล้วก็วางกายวาจาจิตของเราเป็นปกติธรรมดา...ไม่ขาดไม่เกิน

อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ จะปรากฏยังไง จะไม่ปรากฏอะไร นั่งทั้งวันแล้วก็ไม่ได้อะไร จิตก็ยังเหมือนเดิม อะไรอย่างนี้ ...ต้องรับรู้กับอาการนี้ด้วยจิตที่สงบสันติ

ตรงเนี้ย เนี่ย เราถือว่าเป้าหมายสุดท้ายของการที่จิตดำเนินอยู่ในความเป็นกลางอย่างนี้ ...ก็จะเข้าถึงความหมายของคำว่า พุทธะ เข้าถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่าธรรมะ หรือสภาวธรรม

เข้าถึงความหมายของการเป็นสังฆะ คืออริยจิต หรือว่าโลกุตรจิต ตรงนั้น...มันไม่ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ด้วยการทำ หรือไม่ทำ

แต่ว่าเบื้องต้นน่ะ ของคนนักปฏิบัติ มันจะตั้งเป้าหมายว่า จะถึงได้ต้องทำเยอะๆ ทำให้ได้ แล้วก็รักษาสิ่งนั้นไว้จนที่สุดแห่งการได้มา ...แต่ว่าแรกๆ พวกเราก็ต้องทำ แต่ว่าให้ทำสติ

ไม่ได้ให้ทำอย่างอื่น เข้าใจมั้ย ไม่ได้ให้ทำเพื่อให้ได้ผลอย่างอื่นเลย ...ทำสติ หรือว่าตั้งสติ ประกอบสติ เจริญสติ ขึ้นมาเนืองๆ ...มันจึงเป็นปัจจัยต่อเนื่องให้เกิดศีลสมาธิและปัญญา

ถ้าไม่มีการเจริญสติ ศีลไม่เกิด สมาธิไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ...ศีลไม่เกิดคือมันจะไม่เป็นปกติได้เลย ...เพราะนั้นสติจึงเป็นตัวให้เกิดศีลด้วย

เมื่อมีความเป็นปกติเนืองๆ ผิดปกติเมื่อไหร่ก็รู้ๆ  แล้วไม่เอา ไม่ต่อ รู้เฉยๆ สติก็ระลึกรู้ ...มันก็จะปรับความผิดปกติ ไม่ต่อเนื่องออกไปให้มันมากขึ้น จิตก็จะคืนสู่ความเป็นปกติ

เพราะนั้นศีลหรือความปกตินี่ จึงอยู่ได้ด้วยปัจจัยของสติ ...เมื่อมันมีสติ มีความเป็นปกติอยู่เนืองๆ หรือว่าเป็นปัจจุบันธรรม มีสติรู้ปกติของจิตเป็นปัจจุบันธรรม เป็นธรรมภายในของจิตของปัจจุบันนั้นๆ

สมาธิและปัญญาก็เกิดขึ้นตรงนั้น ความตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันธรรมก็จะปรากฏอยู่ตรงนั้น ก็จะตั้งอยู่ในปัจจุบันนั้นๆ ...ปัญญาก็จะเกิด เมื่อเกิดอาการหวั่นไหว ส่ายแส่ ไหลไปไหลมาตามขันธ์ภายนอกที่มากระทบ


ผู้ถาม –  อ๋อ ปัญญานี่คือตรงที่เรารู้ 

พระอาจารย์ –  รู้ทันตรงนั้น


ผู้ถาม –  รู้ว่ามีอาการกระเพื่อมของจิต

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละปัญญาที่แท้จริงคือแค่นั้นเอง

เพราะนั้นไอ้ที่เราอยากรู้อยากเห็นอะไร อยากเข้าใจอะไรน่ะ...ไม่ใช่นะ อันนั้นไม่ใช่ปัญญาจริงๆ เป็นแค่จินตามยปัญญา หรือความคิดหรือความเข้าใจ


ผู้ถาม –  แต่พอรู้สึกนี่ก็จะมองออก มีสติปุ๊บนี่

พระอาจารย์ –  จิตมันจะปรับสมดุลให้เป็นปกติ


ผู้ถาม –  ให้มันเป็นศีลมากขึ้นเรื่อยๆ

พระอาจารย์ – จะกลับเป็นปกติมากขึ้นๆ

เมื่อมันเห็นโดยรอบ เห็นเท่าทันในทุกกระบวนการของการสัมผัสสัมพันธ์กันระหว่างขันธ์ภายใน กับขันธ์ภายนอก ทั้งที่มีวิญญาณครอง ทั้งที่ไม่มีวิญญาณครอง

ปัญญามันก็จะชำระสิ่งที่...อะไรเป็นเหตุให้เกิดการหวั่นไหว อะไรเป็นเหตุให้เกิดการส่ายแส่ ...ตรงนั้นปัญญามันจะเริ่มเห็นของมันไปเองว่าไอ้ที่อยู่ภายในใจนี่มันเป็นเหตุให้เกิดตัณหาขึ้นมา


(ต่อแทร็ก 1/32  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น