วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/33 (1)


พระอาจารย์
1/33 (25530526C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  สองคนนี่ ฝึกกันมานานรึยัง


โยม –  ตอนนี้เจริญมรณานุสติอยู่ตลอด เพราะเพื่อนๆ ไปกัน  แต่อยู่บ้านก็สวดมนต์ค่ะ ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น สวดมนต์เย็นทำวัตรเช้าทุกวัน ปกติมนุษย์เจ้าค่ะ ...ถือว่าดีหรือว่าร้าย หรือว่าเฉยๆ

พระอาจารย์ –  อือ มันน่ะเป็นปกติ แต่เราน่ะไม่ค่อยเป็นปกติกับมัน ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ...แล้วเวลามันไม่เป็นปกติแล้วเราก็ไม่รู้กับมัน ก็เรียกว่าหลง หลงไปกับมัน


โยม –  ตลอดเลยค่ะ

พระอาจารย์ –  อันนี้คือปัญหา ...เพราะนั้นการปฏิบัติก็ต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ คือมันหลงตอนไหนต้องรู้น่ะ


โยม –  คือบางทีก็ไปไกล

พระอาจารย์ –  อือ จะไกล จะสั้น จะเร็ว จะช้า รู้แล้วก็ต้องรู้ ยังไงก็ต้องรู้ ...รู้แล้วก็จบตรงนั้น เข้าใจมั้ย แล้วก็พยายามให้ต่อเนื่องของการรู้ไป แค่นั้นเอง

หลักการปฏิบัติก็มีอยู่แค่นี้ ...ไม่ใช่ว่าไปทำอะไรขึ้นมาใหม่ ก็กลับมาเรียนรู้ตรงนี้ ให้เท่าทันอาการที่มันหลงไป

แต่ในลักษณะที่ว่าถ้าเราไปจดจ่อที่จิตโดยตรงอย่างนี้ จะไปจับสังเกตที่จิตที่คอยหลง หรือว่าหายไปนานอะไรอย่างนี้ ...มันจะจับยาก

เพราะมันมีเรื่องราวมากมายที่หลอกล่อให้จิตเราไหลออกไปตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ทำมาหากิน ทำงานทำการ อะไรพวกนี้ ...มันจะหายง่าย แล้วจะดูไม่ทัน

ก็ลักษณะนี้ ในลักษณะที่คนทั่วไปที่ยังต้องข้องแวะกับผู้คน การงาน ครอบครัว ปัญหาร้อยแปดพันเก้านี่ อย่างน้อยให้กลับมารู้กายด้วย ...รู้กายด้วยมันจะง่ายขึ้นหน่อย คือไม่หายนาน เข้าใจมั้ย

ถ้าดูจิต พอรู้จิตปุ๊บ เดี๋ยวก็หายแล้ว หายแล้วก็หายเลย  บางทีก็ครึ่งวันกว่าจะรู้ อาการพวกนี้ ...นักปฏิบัติมันจะ..พอรู้แล้วมันจะขี้เกียจรู้ต่อ รู้แค่ครั้งเดียวก็เหนื่อยแล้ว

แล้วก็พอรู้แล้วมันก็...การขยันรู้ต่อเนื่องมันไม่มี ทางจิตน่ะนะ แต่คราวนี้ว่าถ้าเรามารู้กายซะบ้าง เห็นกายนี่ มันจะอยู่ได้นานขึ้น เข้าใจมั้ย คือรู้อิริยาบถน่ะ ยืนเดินนั่งนอน กำลังทำอะไรอยู่ 

ถ้าง่ายๆ เลย ไม่ต้องคิดอะไรมาก...ท่องไว้ “ทำอะไรอยู่” ...ท่องเข้าไป ท่องเข้าไว้ เดิน ทำงานอะไรอยู่ ขับรถขับรา กำลังพูด กำลังกิน ถามตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ อย่างเนี้ย

พอถามว่า “กำลังทำอะไรอยู่ๆ” แล้วก็กลับมาดูเลย ยืน เดิน นั่ง นอน ขยับเขยื้อน เคลื่อนไหวอะไร ดีใจ เสียใจ กำลังเป็นยังไง ...เนี่ย คือเอามาเป็นอุบายได้ ท่องไว้ ดีกว่าท่องพุทโธ

ท่องเป็นภาษาไทย “ทำอะไรอยู่ๆ” เป็นการเตือนให้กลับมามีสติ ...แล้วก็ให้อยู่กับกาย ว่าเออ ยืนก็ยืน นิ่ง ไหว ขยับ ไม่ขยับ ...ดูอย่างนี้ มันจึงจะเกิดความต่อเนื่อง

ที่เราไม่เห็นผล หรือว่าต้องเทียวไปเทียวมาอยู่อย่างนี้ เพราะมันไม่ต่อเนื่อง ...ผลที่มันเกิดขึ้นหรือความเข้าใจภายในของเรานี่ มันจึงไม่แข็งแกร่ง

หรือว่าไม่สามารถจะดูว่ามันก้าวหน้าหรือถอยหลังยังไง มันมีแต่ว่าขาดๆ วิ่นๆ น่ะ ...แล้วก็ต้องมาอาศัยกำลังใจจากครูบาอาจารย์ เพื่อให้เกิดการฮึด ลูกฮึด

ไปหาครูบาอาจารย์ พอออกจากครูบาอาจารย์นี่ ขยันดูจัง เริ่มขยัน เริ่มใส่อกใส่ใจ ...แล้วเดี๋ยวสักพักหนึ่งก็ค่อยๆ จางๆๆๆ หายออกไป  แล้วก็ความเลือน ความขี้เกียจ ความไม่ต่อเนื่องก็เริ่มมา

เพราะนั้นต้องฝึกให้มันต่อเนื่อง ...แต่ว่าจะต่อเนื่องทางจิตนี่มันจะยาก เห็นต่อเนื่องในจิตหรือว่าอาการของจิต มันจะยาก ...เพราะพอตั้งใจดูจิตปั๊บ มันจะเพ่ง มันจะกลายเป็นอาการเพ่งไปแล้ว

แต่ถ้ารู้กาย รู้อยู่ดูอยู่ เห็นมั้ย กำลังนั่ง เห็นกายมั้ย ...รู้มั้ยขยับ...รู้นะ นิ่งก็รู้นะ อย่างเนี้ย เห็นมั้ย เป็นยังไงๆ รู้อะไรในกายนี้มั่ง รู้อะไร เห็นอะไร ...เงียบ

เห็นมั้ย เห็นอะไรมั้ย เห็นว่าเงียบมั้ย เห็นกายตามความเป็นจริงมั้ย เห็นมั้ย มันไม่มีอะไรหรอก ...มันไม่มีอะไร เพราะมันไม่มีอะไร มันเป็นแค่อะไรก็ไม่รู้

เห็นมั้ย เวลาให้หาคำตอบน่ะหาไม่ออกเลยกับกายนี่ ...หญิงก็ไม่ใช่ ชายก็ไม่ใช่ สัตว์ก็ไม่ใช่ บุคคลก็ไม่ใช่ มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ เป็นแค่สิ่งหนึ่ง

เห็นธรรมดาอย่างนี้ เราก็จะเห็นกายตามความเป็นจริง ...แล้วมันก็จะเห็นการเคลื่อน การไหว เลื่อนไปเลื่อนมาของอาการ...มันสามารถต่อเนื่องได้ จะไม่ค่อยมีอาการที่ยินดียินร้ายเกิดขึ้น

แต่ถ้าจิต ถ้าเราดู รู้ ว่าดีหรือไม่ดี หรือมีอารมณ์ หรือมีอารมณ์มาก หรือมีอารมณ์น้อย...รู้แรกเฉย รู้แรกน่ะเป็นกลาง แต่พอดูไปเรื่อยๆ แล้ว ...มันชักไม่กลางแล้วโว้ย

มันชักมี “ทำไมถึงมาก ทำไมไม่จบ ทำไมไม่หมด ทำไมไม่ดับ” อย่างเนี้ย มันเริ่มเข้าไปแล้ว มันเริ่มเข้าไป ...เพราะเราไปหมายมั่นในอาการของจิตมาก โดยธรรมชาตินะของคนทั่วไป

มันจะแบ่ง มันจะแบ่งเป็นดี-ไม่ดี ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ ในอาการที่มันแสดงในจิตนั่นแหละ ...พอเรารู้ปุ๊บน่ะ จิตมันไม่มีความตั้งมั่น ถ้าไม่ตั้งมั่นแล้วมันจะมีอุปาทานไปตามที่เราให้ค่า ว่าดีหรือไม่ดี

เมื่อมีการให้ค่าหรือว่าตั้งเป้าขึ้นมาปั๊บนี่ มันจะมีการกระทำภายใน...ดูก็เพื่อให้ดับ ดูก็เพื่อให้มันน้อยลง ดูก็เพื่อไม่ให้มันเกิด ...เห็นมั้ย มันดูด้วยการมีเป้า

สติมันกลายเป็นสติที่มีโลภะเข้ามาแทรก จากความอยาก...โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยนะ ทั้งที่ดูจิตอยู่นี่ ...แล้วมันจะไปเรื่อยๆ น่ะ เข้าไปในอารมณ์นั้นเรื่อยๆ

เพราะนั้นการดูจึงไม่เกิดการดูที่เรียกว่า ดูแบบเป็นกลาง หรือสติที่เข้าไประลึกรู้ จึงเรียกว่าไม่ได้ระลึกรู้ด้วยสติที่เป็นกลาง ...มันไปทำให้สิ่งที่รู้นี่เบี่ยงเบน ด้วยการแทรกแซง

แต่เราไม่รู้ว่าเราไปแทรกแซงยังไง เราก็คิดว่าเราไม่ได้แทรกแซงมัน ...แต่จริงๆ มันยังมีอาการเข้าไปแทรกแซงมัน

เพราะนั้นในลักษณะที่รู้ภายใน หรือว่าสติรู้กับอาการของจิตนี่ ...ถ้าไปเน้นอยู่ที่จิตอย่างเดียว หรือรู้ที่จิตอย่างเดียวนี่ สุดท้ายมันจะกลายเป็นการปรุงแต่งโดยไม่รู้ตัวเลย ...คือรู้ออกไป มันไม่มีการรู้อยู่เลย

แต่ที่เราพูดขึ้นมาให้รู้กาย เห็นมั้ย มันสามารถจะรู้เฉยๆ ได้ รู้แบบไม่ยินดียินร้ายได้ รู้แบบปกติเห็นกายเป็นปกติ ไม่เรียกว่าดีหรือไม่ดี ...มันจะเห็นได้ต่อเนื่อง นะ จิตมันจะเกิดความเป็นปกติกับกายได้

สติน่ะเป็นปกติอยู่กับกายได้ ตั้งมั่นอยู่กับกายได้ แต่ถ้าไปอยู่กับจิต หรืออาการของจิตปุ๊บนี่ มันจะไม่ค่อยตั้งมั่น เพราะมันจะหวั่นไหวไปกับสิ่งที่ถูกรู้...เพราะการให้ค่าในสิ่งที่ถูกรู้นั้นๆ

แต่ถ้าเรามาฝึกให้เฉลี่ย กลับมารู้กายบ้าง รู้กายบ้างรู้จิตบ้างๆ สลับไปสลับมา ...จริงๆ มันรู้พร้อมกันไม่ได้หรอกกายกับจิต เดี๋ยวก็รู้กาย เดี๋ยวก็รู้จิต

พอรู้กายดูกายเห็นกายปุ๊บ มีอาการทางจิตเกิดขึ้น หรือว่ามีอารมณ์ใดเกิดขึ้น รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น...นิดเดียวพอแล้ว ไม่ต้องไปดูนาน อย่าไปแช่ อย่าไปดูแช่ เดี๋ยวเพ่ง

ดูแค่รู้ว่า...อ้อ หงุดหงิด ขุ่น มัว ฟุ้งซ่าน ...จริงๆ ไม่ต้องพูดด้วยซ้ำ หรือไม่ต้องบอกว่าคืออะไรด้วยซ้ำ มันแค่มีอาการ อ้อ มีอย่างนี้ๆ ...ปุ๊บ ถอยเลย เข้าใจมั้ย

แค่รู้แตะๆ แล้วก็ถอยออกมาอยู่ที่กาย ถอยออกมา อ้อ รู้ว่ากำลังยืน ทำอะไรๆ ให้รู้กาย...นี่ ออกมาแล้ว แล้วก็ค่อยๆ แอบดู นิดนึง มีอะไรหรือไม่มีอะไรภายใน พอแล้ว ช่างมัน แล้วก็มารู้กายไป

พยายามให้มันได้หลัก ตั้งหลักให้ได้ก่อน ตั้งหลักของสติให้มันมั่นคงก่อน ให้จิตมันตั้งมั่นให้มั่นคง ต่อไปเวลาอาการของจิต เราจะได้เห็นได้ต่อเนื่อง โดยที่เราไม่ส่าย ไม่หวั่นไหว ไม่เข้าไปหมายมั่นในอาการของจิต

จากนั้นมันก็จะเริ่มเห็นอาการของจิตนี่ แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดา ...แต่ถ้าดูด้วยจิตที่ไม่ตั้งมั่น มันดูปุ๊บ มันจะหาความไม่เป็นธรรมดาอยู่เรื่อย

เข้าใจมั้ย มันจะเข้าไปหา มันจะเข้าไปทำ เนี่ย เขาเรียกว่าสมาธิมันไม่ตั้งมั่น ...ถ้าลักษณะอย่างนี้ มันจะเกิดอาการฟุ้งซ่าน ...แล้วก็สมมุติว่าฟุ้งซ่าน เอ้า รู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วก็ดู รู้อยู่กับฟุ้งซ่าน

รู้เข้าไปเหอะ เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่านมากขึ้น บอกให้เลย ...หรือรู้ว่าโกรธๆ เดี๋ยวยิ่งหน้าแดงขึ้นๆๆ น่ะ ทำไมเป็นอย่างนี้น่ะ เข้าใจมั้ย ทำไมรู้แล้วมันมากขึ้นล่ะ

แต่จริงๆ ในลักษณะของสติ ท่านให้รู้แค่นิดเดียว พอแล้ว ...ในลักษณะเบื้องต้นของผู้ฝึกนะ ไม่ให้รู้ต่อเนื่อง หมายความว่า ไม่ให้ไปแช่ๆ เข้าใจมั้ย เข้าไปแช่แล้วไหลหมด ไปปรุงโดยไม่รู้ตัว

เพราะนั้นพอรู้ว่าโกรธ รู้ว่าโกรธปุ๊บนี่ ให้รู้ลงมาเลยว่ายืนเดินนั่งนอนอยู่ ให้ถอยลงมารู้ที่กาย เอาสติย้ายสติมาตั้งมั่นที่กายซะ แล้วก็คอยแอบดู เหลือบๆ ดู

"ยังโกรธอยู่โว้ย ...เออะ น้อยลง ...เออ หายไปแล้ว" อย่างนี้ เข้าใจมั้ย รู้แค่นิดเดียว รู้ข้างในนิดเดียว ...แล้วก็ถอยมารู้กาย อาการโดยรวมของกาย สลับไปสลับมา

จนมันเข้าใจความหมายของคำว่าจิตตั้งมั่น หรือรู้แบบเป็นกลาง หรือรู้แบบไม่มีเงื่อนไข มันจะต้องเข้าใจก่อนว่า สติที่รู้โดยไม่มีเงื่อนไขคือยังไง

แต่ถ้าเรายังรู้ปกติ หรือรู้แบบไม่มีเงื่อนไขไม่เป็น ...พอไปตั้งสติตรงอาการของจิตปั๊บนี่...ไหล จะเข้าไปหมายมั่น

เพราะมันไม่ตั้งมั่น มันมีเงื่อนไข หรือมีโลภะเข้ามาแฝง หรือมีความจงใจ หรือมีเจตนา หรือมีความปรารถนาในการเห็นนั้นๆ ...แล้วมันจะพา ฉุดกระชากให้เราเข้าไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่จิตรู้

แต่ถ้าเป็นอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ นี่ หรืออาการเล็กๆ น้อยๆ นี่ ไม่หนักหนารุนแรง ...พอรู้ปุ๊บ ช่วงเวลาระยะหนึ่ง ถ้ารู้เฉยๆ ปุ๊บ มันก็จะค่อยๆ หายไป

แต่ถ้าอารมณ์ที่ขุ่นมัว ฟุ้งซ่านนานๆ นี่ อย่าแช่นะ อย่าไปรู้ว่าที่สุดของมันคือจบยังไง...มันจะไหลลูกเดียว นะ ...ถอย ถอยก่อน ถอยมาอยู่กับกาย ไม่เสียหาย ดูจิตดูกายสลับกันไป

แล้วก็ดูกายแล้วก็อยู่กับกาย เอาสติส่วนใหญ่มาตั้งมั่นอยู่กับกายซะ แล้วก็แอบดูเป็นระยะๆ ...อ้อ ยังฟุ้งซ่าน อ้อ ยังฟุ้งซ่านอยู่ ช่างมัน แล้วก็ไม่ต้องยุ่งกับมัน

อยากฟุ้ง..ฟุ้งไป ไม่เกี่ยว แต่รู้กับกายอยู่ เป็นฐาน เหมือนกับจับหลักไว้ เข้าใจมั้ย ไม่ยุ่งกับความฟุ้งซ่าน ...มันจะฟุ้งข้ามคืนก็ไม่สนใจ แต่รู้อยู่

ออกมาดูกี่ทีก็ยังฟุ้งๆ ช่างมัน มารู้กายอยู่เป็นฐาน ...อย่างเนี้ย มันถึงจะค่อยๆ เห็น มาดูอีกครั้ง อ้อ ไม่มีแล้ว ไม่มีก็ไม่มีแล้ว...ช่างมัน อย่างนี้ แล้วก็รู้ไป


(ต่อแทร็ก 1/33  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น