วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/35 (2)


พระอาจารย์
1/35 (25530526E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/35  ช่วง 1

โยม –  แต่เดี๋ยวนี้มันอยู่เปล่าๆ เยอะเกินไป

พระอาจารย์ –  ใครว่า


โยม –  ตัวเองบอกค่ะ

พระอาจารย์ –  อย่าไปเชื่อมัน อย่าไปเชื่อ “เรา” อย่าไปเชื่อ “เราว่า” อย่าไปเชื่อเราว่ามันอยู่เปล่าๆ มากไป ...ไอ้นี่คือความปรุงอันหนึ่ง มันมีความเห็นอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แล้วเราไม่รู้แล้ว ...แล้วเราก็เชื่อมันอีก


โยม –  แต่ตอนแรกคิดว่า...เอ๊ เรา ignore ปัญหาไปรึเปล่า   

พระอาจารย์ –  อย่าไปคิด ก็พูดอยู่นี่ว่าคิดอีกแล้ว เข้าใจมั้ย ...อย่าไปเชื่อความคิดนี้ความคิดนั้น มันเป็นแค่ความปรุงของจิตอย่างนึง ...จริง-ไม่จริงก็ไม่รู้ อย่าไปเชื่อ


โยม –  คือพอหลานตายแล้วไม่ร้องไห้ รู้สึกควบคุมอารมณ์ได้ว่า เออ นี่มันเกิดแก่เจ็บตาย เป็นเรื่องธรรมดา   

พระอาจารย์ –  มันเป็นยังไง รู้ยังไง...พอแล้ว  มันรู้ยังไง มันเป็นยังไง...พอแล้ว ...อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเห็นอะไร ถูกหรือผิด อย่าเอาถูกเอาผิดของบัญญัติหรือสมมุติมากำหนดจิตที่เป็นปรมัตถ์ 


โยม –  พอเวลาเราอยู่ในเหตุการณ์นั้น เราก็จัดการของมันไป  

พระอาจารย์ –  ทำได้ด้วยตัวเอง


โยม –  ตอนเรามาอยู่คนเดียว หรือมาอยู่ที่ที่วิเวก คือกลับมาถึงบ้านแล้วอย่างนี้ค่ะ เราก็..เอ ตกลงเราไปบังคับมันให้ไม่นึกคิด หรือไม่ให้มันเศร้า หรือไม่ให้มันร้องไห้ หรืออะไรหรือเปล่า 

พระอาจารย์ –  นั่นแหละคือกำลังปรุงแต่งอยู่ หาถูกหาผิด 


โยม –  ค่ะ แต่จิตมันก็ทำงานของมันดีอยู่แล้ว   

พระอาจารย์ –  มันดีอยู่แล้ว มันพอดีของมันอยู่แล้ว


โยม –  ไปหาเรื่องโทษมันอีก  

พระอาจารย์ –  โยมดู...นี่ เรายกแก้ววางอย่างนี้ ผิดรึเปล่า หรือว่าถูกมันอยู่ตรงนี้  


โยม –  ค่ะ อ๋อ สาธุค่ะ 

พระอาจารย์ –  ความเป็นจริงเขาบอกอะไรมั้ย ...เข้าใจมั้ย คนนึงบอกว่าถูกก็ได้ อีกคนบอกว่าผิดก็ได้ ...แต่ถามว่าความเป็นจริงเขาบอกมั้ย

ให้ดูตามความเป็นจริง ไม่ใช่ดูตามความเห็นของเรา หรือของใคร ...อย่าเชื่อใคร จิตเขาบอก เขาแสดงธรรมตามความเป็นจริงอยู่แล้ว ...เรามักจะเกิน เรามักจะขาด เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นกลับมาที่ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร ไม่ได้อะไร โง่ท่าเดียว บอกให้เลยแต่ไอ้ความอวดรู้ อยากฉลาด อยากตรง อยากชัด อยากใช่ นั่นน่ะมันมี


โยม –  กลัวผิด   

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย ชื่อก็บอกแล้วว่ากลัวผิด แล้วก็มีความปรุงออกมา เป็นภาษา เป็นบัญญัติ ...แล้วเราก็เชื่อหมดแหละ  "เรา" เหมือนควายที่พร้อมจะให้ถูกจูง ด้วยความคิดและความปรุง


โยม –  กิเลส  

พระอาจารย์ –  แน่นอน ตลอดเวลาด้วย ...เรารู้ทันมัน เดี๋ยวมันจะฉลาดขึ้นหนึ่งสเต็ป บอกให้เลย  ตอนนี้เราบอกแล้ว มันเริ่มมีเล่ห์เหลี่ยมที่จะไปปรุงในทางที่จะไม่ให้เราทันมันอีกแล้ว คอยดูสิ

มันจะหลุดไปรอดมาอยู่อย่างนี้...เพราะนั้นสติเท่านั้นที่จะเข้าไปเท่าทัน ...แล้วบอกให้ ถ้าเท่าทันแล้วต้องกล้าที่จะทิ้งมัน...กล้ามั้ยล่ะ กล้าที่จะทิ้งมั้ยความเห็นว่าเราถูกเราผิดน่ะ หรือว่าใช่หรือไม่ใช่อยู่นี่ 

กล้ามั้ยที่จะทิ้งความคิดความรู้สึกตรงนี้...ด้วยความที่ว่าไม่ต้องสนใจมันเลย ...มารู้ตรงนี้ รู้เดี๋ยวนี้ รู้อย่างนี้ เท่านั้นเอง ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน


โยม –  แต่บางทีมันแอบมา    

พระอาจารย์ –  แอบก็..รู้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละ ...ถ้ารู้แล้วต้องทิ้ง อย่าอ้อยอิ่ง อย่าให้มันเอิบอาบ อย่าให้มันซาบซ่านออกมาเป็นความหมาย คำพูดหรือความเห็น

ไม่อย่างนั้นมันจะพาเราไปแจ๊ดๆ แล้วก็ทำนั่นทำนี่ ไปเมาท์กัน คุยกัน...แต่ละคนนี่ คุยกันเรื่องสภาวธรรม เรื่อยเปื่อยไปหมด อะไรก็ไม่รู้   


โยม –  แต่บางทีมันก็ โอเค อยู่กับธรรมะก็ดีกว่าไปอย่างอื่น

พระอาจารย์ –  ก็ได้ ...แต่เราบอกให้ จิตมักจะมีอย่างหนึ่งคือข้ออ้าง มันจะมีข้ออ้างมาสนับสนุนการกระทำคำพูดของมันว่า "กูดี กูยังดีอยู่" ...มันเป็นตัวที่มาปลอบประโลมจิต

แล้วก็มาทำให้เรามีอาการอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอ เพราะนั้นบอกแล้ว อวิชชาปัจจยาสังขารา ...สำคัญนะ

ถ้าไม่เท่าทันสังขารเมื่อไหร่ มันคาบไปกินหมด โดยอภิปุญญาภิสังขารมาร เทวบุตรมาร สังขารมาร เป็นมารที่มากางกั้นการรู้ตามความเป็นจริงทั้งหมดเลย

ขันธมาร...ท่านเรียกขันธ์ ท่านเปรียบเทียบขันธ์ ท่านเรียกว่าเป็นขันธมารนะ เป็นมารที่มาฉุดรั้งปกปิด ...เลื่อนลอย ทำให้เคลื่อนคล้อยไป ด้วยขันธ์นี่แหละ ขันธ์ทั้งห้านี่แหละ

เพราะนั้นตั้งแต่รูปยันนาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไป ...พอมันปรากฏหรือว่าปรุงขึ้นมา หรือว่าจับนั่นผสมนี่ขึ้นมาเป็นความหมาย มีความหมายขึ้นมา

มันกระโดดปั๊บงับเลย เหมือนปลางับเหยื่อเลย ...จริงจังไปหมด ด้วยอำนาจของทิฏฐิสวะ หรือความเห็นผิดที่ออกมาจากอาสวะภายใน

เมื่อเกิดเป็นความเห็นที่เรียกว่าทิฏฐิสวะขึ้นมา มันจะเกิดกามาสวะขึ้นมา คือทะยานไปหาอารมณ์ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ เพื่อให้เกิดเวทนาใดเวทนาหนึ่ง

เห็นมั้ย เริ่มต้นจากทิฏฐิสวะก่อน ด้วยความเศร้าหมอง ด้วยความเห็นนี่แหละ มันจะเกิดไปหากามาสวะในอารมณ์ ...มันเริ่มอิมเมจขึ้นแล้ว ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วสุข ถ้าทำอย่างนี้แล้วทุกข์

ถ้าทำอย่างนี้สุขน้อย ถ้าทำอย่างนี้สุขมาก ถ้าทำอย่างนี้ได้ธรรมสูง ถ้าทำอย่างนี้ได้ธรรมต่ำ ถ้าทำอย่างนี้ได้ธรรมที่ละเอียดประณีต ...มันเริ่มมีเวทนาที่มันคาดหมายเอาไว้ด้วยกามาสวะ

เมื่อให้ความเห็นของทิฏฐิสวะ กับกามาสวะมากขึ้นๆๆ  มันเกื้อกูลกันๆ ด้วยความคิด ความเห็น ความเชื่อ ...เมื่อเชื่อปุ๊บ มันจะเกิดภวาสวะ...ภวาสวะแปลว่า ความทะยานไปในภพนั้นๆ

คือมีการเริ่มเข้าไปกระทำแล้ว เริ่มเข้าไปกระทำแล้ว ...จิตมันจึงมีการแสวงหาภพอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มาทดแทนไอ้ตอนนี้ที่ไม่มีอะไร หรือปัจจุบันนี่

มันเซ็งอ่ะ มันเซ็ง มันไม่เห็นมีอะไรให้ดู มันน่าเบื่อ เออ มันน่าเบื่อ ...เพราะว่าเราคุ้นเคยกับสีสัน กับความตื่นเต้นเร้าใจ กับอารมณ์ที่มันมีรสชาติของชีวิต ชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องมีรสชาติ

อารมณ์พวกนี้คือรสชาติที่มาปรุงแต่งจิต...สีสัน พวกนี้ แล้วเราคุ้นเคยกับสีสันมาตั้งแต่เกิด พอเริ่มมาปฏิบัติแล้วอยู่เฉยๆ บ่ดาย อยู่เฉยๆ บื้อๆ ทื่อๆ ...มันเริ่มหง่อมแล้ว

มันเริ่มหง่าวแล้ว มันเริ่มเหงาแล้ว มันเริ่มเซ็งแล้ว มันก็เริ่มมีความปรุงแต่งมาสนับสนุนซัพพอร์ทว่า ไอ้นี่ไม่ได้อะไร ไอ้นี่จะแย่ ไอ้นี่จะอย่างนั้นอย่างนี้

มันจะเกิดอาการตัณหาเข้ามาสอดแทรก มันจะปรุงได้ทั้งเป็นอภิสังขาร หรือปรุงได้ในส่วนของสังขารจิต ...ต้นตอมาจากอาสวะ ด้วยการสร้างความเห็นใดความเห็นหนึ่งขึ้นมา


โยม –  แล้วถ้าเกิดว่าเราอยาก สมมุติว่าอยากทำบุญ อยากใส่บาตร อยากไปกราบครูบาอาจารย์อะไรอย่างนี้คะ อันนี้คือ...

พระอาจารย์ –  ก็เป็นกิเลสทั้งนั้นแหละ...แต่ทำไปเหอะ ...พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า บาปอย่าทำ ทำแต่บุญ ถึงแม้ไอ้ทำแต่บุญน่ะมันก็คือกิเลส...แต่ว่าท่านอนุญาต เพราะมันมีอานิสงส์

แต่สุดท้ายคือชำระจิตให้บริสุทธิ์ ...ตอนนี้เราถึงขั้นตอนที่ต้องเน้น จะเน้นเอาตรงไหนล่ะ เข้าใจคำว่าไปเน้นมั้ย หรือว่าเห็นสาระสำคัญสูงสุด

เมื่อเราให้สาระสูงสุดตรงที่ทำจิตให้บริสุทธิ์ หรือว่าปัญญาเป็นที่สุดของปัญญา เราจะให้ค่าหรือให้ความสำคัญกับสาระขั้นกลางขั้นต่ำน้อยลง


โยม –  หรือควบคู่กันไป

พระอาจารย์ –  ให้มันควบคู่กันไปก็ได้ 

แต่ว่าพอควบคู่กันไปด้วยการชำระจิตให้บริสุทธิ์นี่ บอกให้เลย มันจะทำแบบตามเหตุปัจจัยซะมากกว่า ไม่ได้ทำไปแบบ..ถ้าไม่ได้ทำแล้วกินไม่ได้นอนไม่หลับ ประมาณนั้น

แต่ไอ้ทำก็ทำ แต่ไม่ใช่ทำแล้วว่า อู้ย ชาติหน้าขอให้รวยๆ ...จะไม่มีความปรารถนา หรือว่าทำเพื่อให้คนเขาเคารพยกย่องด้วยการนับถือ หรือว่าปรารถนาจะได้บุญเป็นที่ตั้ง

แต่ทำเพราะว่าเป็นบุญ (หัวเราะ) ไม่รู้ทำยังไง ก็ทำไปอย่างงั้นน่ะ ...มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้มากขึ้น แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าต้องทำอย่างนี้หรือไม่ทำ

ถ้าปัญญามันถูกชำระมากขึ้นแล้วนะ จิตมันถูกชำระให้ขาวรอบมากขึ้นแล้วนะ บาปก็ไม่ทำ บุญก็ละ  คือพูดง่ายๆ กูก็ละทั้งบุญ แล้วกูก็ละทั้งบาป ...ไม่งั้นจิตไม่ขาวรอบ บอกให้นะ

จิตจะขาวรอบนี่ไม่ใช่ขาวรอบด้วยบุญนะ หรือว่าขาวรอบแล้วยังมีบุญ ...มันบริสุทธิ์แล้ว ขึ้นชื่อว่าบริสุทธิ์แล้วนี่ มันจะมีอะไรแขวนลอยอยู่ในนั้นได้มั้ย

อย่าว่าแต่บาปเลย บุญก็ไม่มี ...ไม่มีแม้แต่อณูหนึ่งแห่งความปรารถนา หรือการปรารภ ...บอกแล้วไง คำว่าหมดจด ขาวรอบคือความหมดจด


โยม –  แล้วปุถุชนที่ยังไม่ได้บวช แล้วเรามีจิตที่อยาก เช่นการทำห้องน้ำวัด ห้องน้ำสาธารณะอย่างนี้ค่ะ ที่เราคิดว่าถ้าเราทำเราคิดว่าคนจะได้ใช้ประโยชน์ ...อันนี้คือการปรุงรึเปล่าเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ปรุง 


โยม –  ที่เราอยากทำ  

พระอาจารย์ –  ก็ทำ


โยม –  เราอยากให้มีห้องน้ำ มีเมรุเผาศพ  

พระอาจารย์ –  กุศล ...เออ ก็ดี ก็ทำ ทำไป 


(ต่อแทร็ก 1/35  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น