วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 1/32 (2)


พระอาจารย์
1/32 (25530526B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 พฤษภาคม 2553
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 1/32  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นการเห็นแต่ละครั้งในการไหวของจิต หรือการจะเอานั่นเอานี่ จะอย่างนั้นจะอย่างนี้  อย่างนี้ได้ อย่างนี้ไม่ได้ ...นี่ มันจะเกิดอาการแบ่งแยกขึ้นแล้ว

มันมีเหตุภายใน มันมีเป็นเหตุภายในที่ผลักดัน ทะยานออกมา ให้ไปไขว่คว้า นั่น...มันจะกลับเข้ามาแก้ตรงเหตุนั้น ถอดถอนออก ...ด้วยการรู้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ ในอาการที่ปรากฏที่เกิดความผิดปกติ

เพราะนั้นไอ้ที่มันเห็นบ่อยๆ หรือว่าเห็นผิดปกติแล้วรู้ทันขณะนั้นบ่อยๆ มันจะเป็นการคัดกรองเอาสิ่งที่มันเจือปนภายในใจออก

สิ่งที่เจือปนภายในใจ ตรงนั้นน่ะ ท่านเรียกว่าเหตุ ...มันจะเข้าไปแก้ที่เหตุภายในคือต้นตอของการผิดปกตินั้น

คือสมมุติว่าเราเห็นความผิดปกตินี่ เราจะหาไม่เห็นเลยนะ ทำไมมันถึงผิดปกติ ...อย่าหานะ อย่าหา ถ้าหานี่เป็นเรื่องของตัณหาแล้วนะ ...เพราะนั้นแค่รู้เฉยๆ นี่ มันเข้าไปถอดถอนแล้ว เข้าไปแก้ที่เหตุแล้ว

เพราะอะไร ทำไมถึงหาไม่เห็น ทำไมถึงไม่ให้หา ...เพราะใจเป็นปรมัตถ์ เข้าใจมั้ย ใจเป็นปรมัตถ์ ใจไม่ใช่ส่วนที่เป็นสมมุติหรือบัญญัติ หรือว่าจับต้องได้ หรือว่ามองเห็น หรือว่ามีสัญลักษณ์โดยชัดเจน

แต่ใจ เนื้อของใจ หรือว่าที่เป็นปรมัตถ์นี่ คืออาการที่ไร้รูปไร้นาม เราไม่สามารถเอาอะไรไปหยั่ง หรือไปแยก หรือไปถอนได้ หรือไปถอดเหมือนกับเสื้อผ้า

เหมือนกับเสื้อผ้านี่จับต้องได้ มันเห็นได้ปุ๊บ ไม่ชอบมันก็เปลี่ยน ก็ถอดได้ใช่มั้ย ไม่ชอบสีนี้ หาเสื้อตัวใหม่ หรือว่าแก้ออกก็ได้ หรือจะใส่มากก็ได้ เห็นมั้ย

แต่ใจ ภาวะที่แท้จริงของใจมันเป็นปรมัตถ์ ไม่มีรูปไม่มีนาม ...เพราะนั้นการที่เราจะเข้าไปว่ามันอยู่ตรงไหน มันมายังไง มันเกิดตรงไหน ...ไม่มีทางเห็นเลยนะ จะไม่เห็นเลย

แต่ในขณะที่เราแค่รู้ทันตรงเนี้ย ตัวญาณเท่านั้น...มันรู้แล้ว มันเอาออก มันชำระ มันคลายในตัวเหตุของมันอยู่แล้ว

ไม่ต้องไปฟุ้งซ่าน ไม่ต้องไปว่าเห็นนั่นแล้ว จะต้องเห็นอย่างนี้ หรือเร็วกว่านี้ หรือว่าต้องให้ละเอียดกว่านี้ ...มันดีที่สุดได้แค่นั้นเอง ได้แค่ตรงนั้นน่ะ

เพราะว่าตรงจุดนั้นน่ะ ไม่ได้กอปรด้วยการกระทำแล้ว ...เพราะนั้นถ้ายังจะคิดไปทำให้มันดีกว่านั้น ละเอียดกว่านั้น เร็วกว่านั้นน่ะ นี่ เริ่มไปปรุงแต่งจิตอีกแล้ว เริ่มไปกระทำอีกแล้ว

เพราะนั้นแค่รู้เป็นธรรมดาอย่างนี้ มันค่อยๆ คลายออก มันคลายออก


ผู้ถาม –  ก็ดูครับ ดูไม่ได้เข้าใจมันเลย

พระอาจารย์ –  มันเร็วที่สุดเท่านี้ บอกแล้วไง ไอ้เรารู้กับไอ้จิตรู้นี่คนละตัวกัน ไอ้เราเข้าใจกับจิตเข้าใจนี่คนละตัวกัน นะ ...เราเข้าใจ แต่จิตไม่เข้าใจน่ะ หรือจิตเข้าใจแต่เราไม่เข้าใจน่ะ

ไม่จำเป็นเลยนะ ขอให้จิตเข้าใจ เราไม่เข้าใจนี่ไม่สำคัญเลย ...จิตเขารู้เอง เขาละเอง  ทั้งๆ ที่ว่าเราน่ะไม่รู้เลยว่ามันรู้อะไร ละอะไรวะ อย่างนี้

ไม่ต้องไปเอาความรู้ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจอะไร แค่นั้นเอง ...จิตมันแค่เห็นแค่นี้ แค่เห็น เห็นอาการทั้งหลายทั้งปวงแค่นี้ ...มันเข้าใจในตัวของมันเอง

ทั้งๆ ที่ว่า เรานี่ไม่เข้าใจเลย เราไม่รู้อะไรเลย เราไม่รู้รายละเอียดอะไรเลยว่ามันมายังไง มันไปยังไง เราจะไม่สามารถพูดออกมาเป็นคำพูดด้วยความเข้าใจ


โยม –  หลวงพ่อเจ้าคะ ที่เรามีความสุข สบายใจ ก็เพราะว่าเราทิ้งมันได้ไวกว่าคนปกติที่ไม่ได้ภาวนาใช่รึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  เป็นสุขที่เกิดขึ้นเองรึเปล่าล่ะ


โยม –  มันก็เป็นความสุขเรื่อยๆ เปื่อยๆ แล้วมันมีความเบากว่าเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  จริงๆ ไม่เรียกว่ามันเป็นความสุขหรอก เขาเรียกว่าเป็นอาการที่เรียกว่าเบิกบาน ไม่ถึงกับเรียกว่าสุขหรอก มันก็เป็นปกติธรรมดา ใช่มั้ย

ในความเป็นปกติธรรมดานี่มันจะมีความเบาบางจางคลาย แล้วก็เบิกบานลึกๆ อยู่อย่างนี้ ...ให้มันสั้นลง ให้ความคิดมันสั้นลง จนมีความคิดแค่ขณะหนึ่งน่ะ ก็ไม่คิดแล้ว

ตรงนั้นน่ะ แล้วจะรู้ว่าความเบิกบานของใจจริงๆ น่ะคืออะไร


ผู้ถาม –  หลวงพ่อครับ แล้วที่ว่า “ความสุขเสมอความสงบไม่มี” นี่

พระอาจารย์ –  เป็นเรื่องของสมาธิ เรื่องของสมถะ เป็นสุขในสมาธิ

แต่ในโพชฌงค์ ในโพชฌงค์ ๗ ในโพธิปักขิยธรรมนี่ มันรวมถึงโพชฌงค์ ๗ ด้วย อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ พวกนี้ มันจะมีธรรมส่วนหนึ่งที่เรียกว่า "ปัสสัทธิ"

ถ้าจิตที่เจริญอยู่ในองค์มรรคนี่ หรือว่าจิตที่เป็นกลางอยู่นี่ เรียกว่าเจริญ มีครบหมดในโพธิปักขิยธรรม เข้าใจมั้ย โพธิปักขิยธรรมนี่คือ ภาวะที่เราพูด แค่คำว่าจิตเป็นกลาง หรือว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

นี่รวมองค์ธรรมทั้งหมดเลย เพราะพระพุทธเจ้าท่านจำแนกออกมานะ ท่านจำแนกออกมาเป็นโพธิปักขิยธรรมที่กลมกลืนอยู่ในนั้นแหละ มีพร้อมบริบูรณ์หมด

เพราะนั้นในโพธิปักขิยธรรมนี่ ไม่มีคำว่าสุขเลย แต่ท่านใช้...มีคำว่าเรียกว่าปัสสัทธิ เป็นปัสสัทธิของจิต ปัสสัทธินี่คือความอิ่มเอิบ


ผู้ถาม –  ไม่ใช่ความสุข

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ความสุข เป็นความเบาที่เกิดจากกายปัสสัทธิ จิตปัสสัทธิ คือความเบาบาง ความเบา แต่มีความไม่ใช่สุข ท่านใช้คำว่า...ปัสสัทธิ

ท่านเรียกว่าปัสสัทธิ คือความเบากายเบาใจ อิ่มเอิบซาบซ่าน เบิกบานนั่นน่ะ เป็นลักษณะนั้น เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์


โยม –  แต่โยมใช้หลักโพชฌงค์ ๗ นี่มาวัดการภาวนา

พระอาจารย์ –  อือ


โยม –  ปัสสัทธิมันมีอัตโนมัติไหม ถ้าอย่างนี้

พระอาจารย์ –  คืออย่าไปแยกแยะออกมาด้วยความคิดหรือว่าพิจารณาอะไร ...เหมือนอย่างที่เราบอกนี่ เข้าใจมั้ยว่า จิตเป็นกลาง จิตปกติ ในความหมายนี้คือรวมหมดทั้งโพธิปักขิยธรรมแล้ว

แต่ว่าเราจะไม่มาแยกเลยว่านี่คือนั่น นั่นคือนี่ ...ไม่งั้นพอเรามาดูแล้วเราก็จะคอยจับผิดมันอยู่เรื่อย ว่านี่จะเรียกว่าอะไร เป็นอย่างนี้ใช่ไหม อาการอย่างนี้ๆ จะหาอยู่เรื่อย

เป็นอย่างนั้นใช่มั้ย จะอย่างนี้ใช่มั้ย อันนั้นอันนี้ขาดตกบกพร่องตรงไหน ...กลายเป็นความกังวล บางทีกังวลนะ ถ้าจดจ่อมากๆ หรือพิจารณาพวกนี้มากๆ นี่ มันกลายเป็นเพียรเพ่งไป ...ก็ให้มารู้กลางๆ


ผู้ถาม –  รู้มากแล้วเสียเวลา พ่อหลวง..น่ะ ไม่ค่อยรู้อะไรเลยงั้นน่ะ สักพักเดี๋ยวเขา...เออ เข้าใจ

พระอาจารย์ –  ใช่ อย่างนั้นเขาจะเข้าใจอะไรได้ลึกซึ้งมากขึ้น


ผู้ถาม –  คือเมื่อก่อนตอนแรกเขาชวนผมไปนั่งภาวนาอยู่ข้างบน หลังจากทำวัตรตอนสองทุ่ม ประมาณสองชั่วโมงทุกวันๆ  ตอนหลังไม่เอาเลย เลิก มาฟังหลวงพ่อเท่านั้น กลับไปนี่ไม่เอาเลย หยุด

พระอาจารย์ –  พระมาฟังเรา แทนที่จะบวชนาน กลับสึกเร็ว (หัวเราะกัน) ไอ้ที่ตั้งใจบวชจริงๆ จังๆ ...เลิก ...สึกหมดเลย

อย่าเอาอะไรมาเป็นพันธนาการ หรือว่าไปกฎเกณฑ์กำหนด ไม่งั้นเราจะไปติดบ่วง ไปติดบ่วงกับชื่อคำนั้นๆ หรือว่าสมมุติธรรมนั้นๆ


ผู้ถาม –  บางทีต้องทิ้งเลย ที่อ่านๆ มา ไม่งั้นมันเอามาตรึก เอามาคิด เอามาเปรียบเทียบ แต่คนที่รู้น้อยๆ นี่ บางทีไปเร็วนะครับ

พระอาจารย์ –  รู้มากทุกข์มาก รู้น้อยทุกข์น้อย ไม่รู้อะไรก็...เร็ว ...แต่ว่าพวกเรานี่อยู่ในฐานะที่ไม่รู้อะไรไม่ได้ เพราะมันต้องรับรู้ อดไม่ได้ที่ต้องรู้ ห้ามเท่าไหร่ก็ต้องรู้ มันเข้าถึงตลอด

แต่ว่าจะรู้ยังไงให้เป็น นะ ...ก็ต้องมาแก้ ก็ต้องมาเท่าทัน โดยที่ว่ารู้ให้เป็น ...คือรู้แล้วไม่แบกหาม รู้แล้วไม่เก็บมาเป็นจารีตประจำใจ หรือว่ารู้แล้วเก็บมาเป็นกฎหมายประจำจิต อย่างนี้

ไม่อย่างนั้น มันจะกลายเป็นความรู้นั้นน่ะกลับกลายเป็นอาวุธ...ที่ไม่ใช่อาวุธฆ่ากิเลส แต่เป็นอาวุธมาทิ่มแทงเราเอง (หัวเราะ)

ถ้าอย่างนั้นต้องแยกแยะออก กับบางเรื่องบางราว มันเกิดความกระจ่างขึ้นจากการที่ว่าอ่านหรืออะไร ...แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องอาศัยเหมือนกัน เข้าใจเหมือนกันกับคนนั้นคนนี้ทุกเรื่องไป


ผู้ถาม –  ธรรมะนี้เป็นปัจจัตตังจริงๆ ครับ ตัวใครตัวมัน ไม่เหมือนกัน

พระอาจารย์ –  ใช่ ...มันจะเหมือนที่สุด ที่ไม่มีทางเถียงได้เลย คือจุดเดียวเท่านั้นคือใจ รู้ แล้วก็ดับลงที่ใจ เข้าใจมั้ย

คือมันจะมีจุดเดียวที่เหมือนกันหมด คือจุดที่ไม่มีอะไรเลยตรงรู้ รู้ก็ไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ก็ไม่มีตรงนั้น คือตรงนั้นแหละถึงจะเรียกว่าเถียงไม่ออก หรือพูดเรื่องเดียวกัน

แต่ถ้ายังพูดตามความรู้นี่ มันจะเกิดความคลาดเคลื่อน


(ต่อแทร็ก 1/33)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น